Group Blog
 
All blogs
 

ไปดูนกคุ่มสีที่บางพระ

17 กันยายน 2548

ได้ข่าวจากห้องบีพีมาสักสัปดาห์นึงแล้ว ว่ามีนกคุ่มสีนับสิบตัวออกหากินที่อ่างเก็บน้ำบางพระ ถิ่นของอีตาภูไท ไพรวัลย์ นักเลงนกเมืองชลฯ หลังจากรอจังหวะตาภูไทฯเสร็จงานที่ต่างจังหวัด เราก็วางแผนไปเก็บภาพทันที







นกคุ่มสี (blue-breasted quail) มีขนาดตัวประมาณ13-15ซม.เท่านั้น และมักหากินในทุ่งรกๆ จึงทำให้เห็นตัวได้ยาก ตัวผู้และตัวเมียมีสีสันแตกต่างกันมากพอสมควร คือตัวเมียจะมีสีออกน้ำตาลตุ่นๆ ขณะที่ตัวผู้จะมีสีฟ้าบริเวณหน้า หน้าอกและด้านข้างลำตัว มีท้องสีน้ำตาลแดงสดใส เส้นกลางคอสีดำหนา และมีเส้นสีดำจากปลายปากลากขนานกับแก้มแล้วลงมาบรรจบกับเส้นกลางคอ มีสร้อยคอสีขาวและสีดำตัดกันอย่างเห็นได้ชัด ตาสีแดง ขนบริเวณหลังเป็นสีน้ำตาลลายๆสลับดำ จงอยปากสีดำ ขาและเท้าสีเหลือง ตัวป้อมๆ ทานเมล็ดหญ้า มด ปลวก แมลง ตัวอ่อนและไข่ของแมลง ไส้เดือน ตั๊กแตน และสัตว์เล็กๆอื่นๆที่พบตามผิวดิน มักพบเป็นคู่หรือเป็นฝูงซึ่งอาจเป็นนกครอบครัวเดียวกัน จับคู่ทำรังวางไข่ตลอดปี แต่จะค่อนข้างชุกในช่วงต้นฤดูฝน เมื่อผสมพันธุ์และวางไข่จนหมดแล้ว ตัวเมียจะเริ่มกกไข่ โดยตัวเมียเป็นผู้ทำรังและกกไข่เพียงตัวเดียว ใช้เวลากกไข่ประมาณ10กว่าวัน รังทำอย่างง่ายๆบนพื้นดิน ใช้ใบหญ้ารองรัง เมื่อไข่ฟักแล้วไม่กี่ชั่วโมงลูกนกก็เดินตามแม่ออกหากินได้เลย
ส่วนตัวผู้ เมื่อตัวเมียวางไข่ ก็จะไปผสมพันธุ์กับตัวเมียอื่นๆต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะวางไข่ได้ทั้งปี นกคุ่มสีก็ยังมีปริมาณน้อยกว่านกคุ่มชนิดอื่นๆในประเทศไทย







หลังจากโขยกรถเก๋งเล็กๆลงไปในอ่างเก็บน้ำบางพระที่เรานัดพบเจ้าถิ่นได้ไม่นาน ก็เจอเข้ากับรถของตาภูไทฯ

เหมือนพระมาโปรด

เรารีบเก็บอุปกรณ์ลงจากรถ ขึ้นรถเค้าไปทันที ในขณะที่เพื่อนๆที่มารถคันอื่นอย่างวรวุฒิ ประสงค์ และน้องซิมฯยังคงมุ่งมั่นในการขับรถของตัวเองลงไปผจญภัยในอ่างบางพระที่น้ำยังไม่เต็ม แต่เต็มไปด้วยหลุมบ่อต่อไป


อย่างไรก็ตาม ไม่นาน รถของน้องซิมฯก็ตกหล่ม ต้องอาศัยรถภูไทฯดึงขึ้นมา และหลังจากนั้นก็นำรถไปจอดใกล้ๆรถเราและนั่งรถภูไทฯไปต่อ







อ่างเก็บน้ำบางพระกว้างใหญ่มาก ถ้าเราไม่รู้จักทางและเดินทางไปเองอาจลำบากหลายประการ อย่างแรกถ้ารถติดหล่ม ก็ต้องเตรียมสตางค์ไว้หลายพันบาท เพราะชาวบ้านที่นั่นค่าแรงในการช่วยนำรถขึ้นค่อนข้างแพง ถ้าไม่ติดหล่ม เราก็อาจหานกไม่พบด้วยความไม่คุ้นชิน โดยเฉพาะเมื่อมาหานกที่ค่อนข้างหาตัวยาก (เพราะอยู่ในที่รกๆ)อย่างในวันนี้







วันนี้ ที่อ่างฯนกดีทีเดียว ทั้งที่บินมาให้ถ่ายภาพ และที่ต้องเข้าไปค้นหา ทั้งนกนางนวลแกลบ นกกระทุง นกเด้าลมเหลือง นกยางโทนใหญ่ นกกาน้ำเล็ก นกอีเสือสีน้ำตาล นกยอดข้าวหางแพนลาย นกคุ่มอืดเล็ก เป็นต้น ฝนไม่ตก มีแดด มีลม และมีเพื่อนคอเดียวกัน ทั้งถ่ายภาพนก และดูนกนับยี่สิบคนได้ จุดมุ่งหมายของทุกคนอยู่ที่นกคุ่มสีที่คุณสาวน้อยร้อยชั่งนำมาภาพแปะไว้ที่บีพี







ช่วงกลางวันแดดเปรี้ยง หลายคนได้แต่ซ้อมมือกับนกบินทั้งหลายอย่างนกนางนวลแกลบ นกกาน้ำ นกกระทุง นกยางโทนใหญ่ และนั่งคุยกันไป โดยหัวข้อใหญ่ใจความอยู่ที่การตายของนกตะกรามที่ตาภูไทได้ไปเห็นและถ่ายภาพคนที่ยิงนกตะกรามตายมาได้ น่าสะเทือนใจตรงที่เค้าเล่าว่าเจอกันกับนกตัวนี้สามวัน เมื่อวันที่โดนยิง เค้าไม่บินหนี(บินไม่ได้เพราะถูกยิงปีก) แต่วิ่งหนีมาทางภูไทฯ รู้สึกเหมือนกับว่าเค้ามาขอความช่วยเหลือ แต่ที่สุดก็ทำได้แค่บอกให้ใครๆรู้ว่าเค้าตายเพราะใคร โดยที่ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ ได้แต่หวังว่าข่าวนี้จะช่วยทำให้คนหันมาให้ความสนใจกับชีวิตอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์บ้าง คนที่ยิงบอกแค่ว่า เห็นว่าแปลกเลยอยากยิงให้บาดเจ็บจะได้จับง่ายๆ และเอาไปเลี้ยง ฟังดูมันขัดแย้งเสียเหลือเกิน







พอบ่ายคล้อย เข้าประมาณ 4 โมงเย็นเราก็เริ่มออกปฏิบัติการหานก แต่หาไม่เจอหรอก ในที่สุดก็ถอดใจออกมารออยู่ที่จุดๆหนึ่ง เฝ้าให้เค้าออกมาเอง


ด้วยสายตาหลายสิบคู่ที่เฝ้ามอง ในที่สุดก็มีคนเห็นว่าเค้าออกมาแล้ว จากนั้นปฏิบัติการเข้าหานกก็เกิดขึ้น เนื่องจากทุกคนต้องการเห็นนก และนกกลัวที่จะเห็นคนเข้าใกล้ มากกว่ากลัวที่จะเห็นรถ นักดูนกและคนถ่ายภาพก็เลยขึ้นรถไปด้วยกัน วิ่งเข้าไปสี่ห้าคัน ลัดเลาะเข้าใกล้นกซึ่งเดินหากินอย่างไม่สนอกสนใจอะไร ถ้ารถเบียดมาก็หลบเลี่ยงไปทางนั้นทางนี้ แต่ปากก็หาอาหารกินไปเรื่อยๆจนกลัวว่าเค้าจะท้องแตกเหลือเกิน ทำให้งานนี้ทุกคนได้เข้าใกล้ชิดนกมาก มากขนาดที่ว่าไม่ว่ากล้องมือถือ กล้องคอมแพ็ค ล้วนถูกงัดออกมาเก็บภาพน่ารักๆของเขาทั้งสิ้น


หลังจากได้ภาพพอสมควร แสงน้อย เราก็ถอยออกมาจากทุ่งหญ้าที่นกคุ่มสีใช้เป็นแหล่งทำมาหากินด้วยความเต็มอิ่มกับภาพของเพื่อนร่วมโลกที่น่ารักที่มียังมีที่ทางหากินและอาศัยอยู่ได้บนแผ่นดินผืนเดียวกับเรา



ข้อมูลจาก //www.bird-home.com





 

Create Date : 21 กันยายน 2548    
Last Update : 21 กันยายน 2548 21:02:08 น.
Counter : 2083 Pageviews.  

ดูนกปากห่าง

วานนี้เดินทางไปทำงานแถวลำลูกกาคลอง 7 สองข้างทางเป็นทุ่งนาเขียวขจี มีนกปากห่างเป็นกลุ่มๆลงหากินในแปลงนา มองดูเป็นสีขาวๆดำๆ ตัดกับท้องนาสีเขียว ทำให้รู้สึกว่าพวกเค้าดูสดใสขึ้นมาก


นกปากห่าง Anastomus oscitans (asian openbill) เป็นนกกระสา 1 ในจำนวน 10 ชนิดที่พบในประเทศไทย และเป็นนกกระสาที่ตัวเล็กที่สุดด้วย มีความยาวจากปลายปากถึงปลายหางประมาณ 81 ซม.ลำตัวล่ำสัน คอยาว ปากใหญ่ และ ยาวราว 16.5 ซม. มีลักษณะตรง เรียบ และสันปากบนไม่มีร่อง แต่ปลายปากบนโค้งลงมาเล็กน้อย และ ปลายปากล่างก็โค้งขึ้นไปจนแตะกับปลายขอบบน ทำให้เกิด ช่องว่างระหว่างปากบนและปากล่างราว 2 ใน 3 ส่วน ของปากทางตอนปลาย เป็นลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือน นกชนิดใดในประเทศไทย ทำให้ได้ชื่อว่านกปากห่าง ตามลักษณะเด่นนี้







ช่วงเช้าวันนั้นไม่มีแดด ฝนตกปรอยๆ นกปากห่างเดินหากินอย่างสบายอารมณ์ อาหารของโปรดของเค้าคือหอยโข่ง หอยเชอรี่ แต่อาหารอื่นอย่างกบ ปู หรือแมลงตัวโตๆก็พอทานได้เช่นกัน พวกเค้าจะหากินเป็นกลุ่ม บางทีเกือบร้อยตัว ในแปลงนาแปลงหนึ่ง

โชคดีที่แปลงที่เราไปเจอ มีอยู่ประมาณ10ตัว กำลังดีแก่การนั่งมองอย่างเพลิดเพลิน







นกปากห่างเป็นนกที่ไม่เป็นที่รังเกียจของชาวนา เพราะอาหารของเค้าคือศัตรูพืชตัวฉกาจ ที่ชาวนาอาจต้องพึ่งยากำจัดหากไม่มีนกปากห่างมาช่วยจัดการ

หอยเชอรี่มีชื่อที่ไพเราะ มีไข่สีชมพูสดใส แต่ไม่เป็นที่โปรดปรานของเกษตรกรนัก เพราะแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วและกัดกินพืชน้ำทุกชนิด ประมาณกันว่าในแต่ละวัน นกปากห่าง(ทั้งหมด)สามารถหม่ำหอยเชอรี่ได้เป็นตันทีเดียว







ในช่วงที่เลี้ยงลูกน้อย นกปากห่างอาจต้องบินจากรังเป็นระยะทางถึง 100 กม. มายังทุ่งนาภาคกลางเพื่อจับหอยเชอรี่มาดึงเนื้อออกและนำกลับมาทิ้งไว้ในรังให้ลูกๆแย่งกันกินเอง โดยลูกนกปากห่างแต่ละตัวกินหอยประมาณ 1/2 กก.ต่อวัน


การที่มีปีกกว้างและแข็งแรงทำให้เค้าสามารถบินขึ้นไปติดลมบนได้ง่าย สามารถโบกปีกและร่อนไปตามกระแสลม ทำให้บินไปหาอาหาร หรืออพยพได้ไกลๆ







นกปากห่างจะบินอพยพไปตามประเทศในแถบเอเชียใต้นี้เอง มีผู้ทำการทดลองจับลูกนกที่มีอายุ 14 วันใส่ห่วงขาแล้วปล่อยไป ปล่อยลูกนกเดือนเมษายน พอเดือนกรกฎาคม ก็ไปจับลูกนกตัวนี้ได้ที่บังคลาเทศ ลูกนกที่พร้อมจะบินอพยพไปกับพ่อแม่จะต้องมีอายุราว 60 วัน แสดงว่าพวกเค้าใช้เวลาเดินทางจากวัดไผ่ล้อม ไม่ถึงเดือนก็ถึงแล้ว


ปกติแล้วนกปากห่างเป็นนกอพยพที่เข้ามาทำรังวางไข่ในประเทศไทยในช่วงหน้าแล้ง คือเดือนตุลาคมเป็นต้นไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน แต่ในช่วงนี้มีคนพบนกปากห่างหากินตามทุ่งนาภาคกลางเป็นจำนวนมาก


ช่วงนอกฤดูทำรังวางไข่ เราก็อาจพบเค้าได้ในสถานที่อื่นๆในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง ซึ่งก็จะมีนกปากห่างบินเข้าๆออกๆโดยไม่ต้องมีพาสปอร์ต วีซ่า หรือใบผ่านแดนใดๆทั้งสิ้น







ข้อมูล :

//www.bird-home.com






 

Create Date : 02 กันยายน 2548    
Last Update : 15 กรกฎาคม 2551 16:17:46 น.
Counter : 3559 Pageviews.  

ดูนกแล

ใครว่านกแล ก็คือนกแก้วเท่านั้น

สำหรับคนดูนกอย่างเราๆ นกแล หรือ นกแร(rare)เป็นนกอันมีคุณวิเศษขนานหนึ่งที่ทำให้เรามารวมตัวกันได้โดยมีการนัดหมาย เพราะจะมีการกริ๊งกร๊างส่งข่าวกันไปทั่ว

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีโทรศัพท์ยามเย็นมาชวนไปดูนกแลที่ว่าที่อ่างบางพระ แต่จะแล หรือไม่แล คนชวนก็ยังไม่ฟันธง100เปอร์เซ็นต์ แต่งานนี้เราไม่แคร์ เพราะแลไม่แล เราก็ยังไม่เคยเห็น นับว่าเป็นนกใหม่ทั้งสิ้น

ที่ว่าแล คือ นกอีก๋อยจิ๋ว (little curlew)ซึ่งไม่จิ๋วสมชื่อเพราะมีขนาดตัวถึง30ซม. มีสถานะเป็นวงสีฟ้าๆในหนังสือ A Guide to the birds of Thailand

ที่ว่าไม่แลคือ นกอีก๋อยเล็ก (wimbrel) ซึ่งก็ใหญ่กว่าจิ๋วนิโหน่ย ประมาณ 43 ซม. และมีสถานะเป็นcommon winter visitor ตามแถบชายฝั่งทั่วไทย

โดย 2 ชนิดนี้คล้ายกันแค่ไหนก็ลองตามลิงค์ไปดู

ลิงค์นี้อีก๋อยจิ๋ว

ลิงค์นี้อีก๋อยเล็ก

ออกจากบ้านกันตั้งแต่เช้าตรู่ ไปถึงอ่างฯก็ราวๆ 8 โมงเช้า

ตามประสาคนคอเดียวกัน เมื่อเจอกันหลายๆคนก็ต้องทักกันพอหอมปากหอมคอ

จากนั้นเจ้าของสถานที่ก็ชี้เป้า ว่าน้องจิ๋วที่ว่านั้นอยู่หนใด

จากนั้นเราก็ถ่ายรูปกันอย่างเพลิดเพลิน ท่ามกลางแดด 9โมงเช้าซึ่งเปรี้ยงราวกับแดดเที่ยงวัน

เวลาผ่านไปจนเจ้านกแลของเราหม่ำอาหารตัวเล็กตัวน้อยในทุ่งหญ้าจนอิ่ม ก็บินจากไป

ใช่ บิน เท่านั้นเอง

อุแม่เจ้า!

ตะโพกขาว!

ตะโพกขาวเท่านั้นเองแหละ

หลังจากนั้นก็เกิดความปั่นป่วน โทรศัพท์สอบถามกันจ้อกแจ้กจอแจ ว่าถ้าตะโพกขาวจะเป็นน้องจิ๋วได้มั่งมั้ย เสียงจากปลายสายยืนยันมาว่า เล็ก


เอ้า เล็กก็เล็ก


ความชื่นมื่นเมื่อเช้าก็ลดดีกรีลงเล็กน้อย


เพราะหลายคนเคยเจอเจ้าwimbrel ตัวเป็นๆมาแล้วหลายครั้ง ที่อุตส่าห์ดั้นด้นมาถึงบางพระอย่างเร็วจี๋ก็เพราะความ"แล"ของlittle curlew ก็เลยเกิดอาการ เอ้อ.. ผิดหวัง... นิโน่ย


พูดถึง little curlew ( Numenius minutus ) เค้าไม่ได้เป็นนกแลเฉพาะในประเทศไทย เท่านั้น แต่เป็นนกที่มีจำนวนทั่วโลกเพียงประมาณ 200,000 ตัว ได้รับการบรรจุอยู่ใน Russian Red Data Book เป็นนกที่อาจสูญพันธุ์ได้ แม้ว่าแหล่งทำรังวางไข่ของเค้าในรัสเซียจะค่อนข้างกันดาร อยู่ห่างไกลจากการเข้าถึงของมนุษย์ก็ตาม

สำหรับประเทศไทย มีรายงานการพบเป็นนกอพยพผ่านทางภาคกลางเพียง 3 ครั้งในปี 2531 2539 และปี 2541 จากนั้นก็ไม่มีรายงานการพบอีก

แล้วจะไม่ให้ตื่นเต้นได้ยังไงไหว

สำหรับ wimbrel( Numenius phaeopus ) นั้น เป็นนกที่เป็นนกที่คนไทยได้พบบ่อยกว่ามาก เนื่องจากเป็นนกอพยพที่เราพบได้ทุกปี ตามชายฝั่งที่เป็นเลน หรือทราย เมื่อเวลาน้ำขึ้นก็จะพบเค้ายืนเกาะบนต้นโกงกาง

จริงๆแล้วนกอีก๋อยจิ๋วก็คือนกอีก๋อยเล็กย่อส่วนนั่นเอง ฝรั่งบางทีก็ยังเรียกเค้าว่า little wimbrel เล้ย..
ดังนั้นมันก็ไอเด็นกันไปได้ทั้ง 2 ทาง

จะเป็นอีก๋อยอะไรก็ช่าง

ยังไงก็ดูนกสนุกเหมือนกัน


ต่อไปเป็นภาพที่เก็บมาได้
นกอีก๋อยเล็ก









และนกกระทุงในอ่างฯ มีเยอะเชียว







ข้อมูล :

A Guide to the Birds of Thailand โดย นพ.บุญส่ง เลขะกุล และ Philip D.Round

//www.bird-home.com







 

Create Date : 29 สิงหาคม 2548    
Last Update : 17 สิงหาคม 2549 20:55:34 น.
Counter : 1383 Pageviews.  

ดูนกป้อนลูก

กรกฎาคม 2548

พุทธมณฑล

เราไม่ได้เข้ามาที่นี่มาสัก2-3เดือนเห็นจะได้ แต่วันนี้ต้องเข้ามา เพราะสตีเฟ่น เพื่อนที่ชอบถ่ายภาพนกเป็นชีวิตจิตใจโทร.มาชวน

"คุณมาดูสิ ลูก sunbird น่ารักมากๆ เหมือนลูกโป่ง"

"เร็วๆนะ ผมจะดูไว้ให้"

แต่พอขับรถไปถึงสาย4 พี่แกเผ่นกลับบ้านแถวสาย2เพื่อเอาอุปกรณ์เสียแล้ว เพราะอดใจที่จะเก็บภาพน่ารักๆไม่ได้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พุทธมณฑลเป็นที่ที่เราใช้เป็นโรงเรียนฝึกหัดการดูนก หานก และถ่ายภาพนก และเป็นที่ที่ทำให้ได้รู้จักกับเพื่อนนักดูนกหลายท่าน รวมถึงตาสตีเฟ่นที่โทร.มาชวนในวันนี้ด้วย

ด้วยอาณาเขตกว้างขวางถึง2500ไร่ และการปลูกต้นไม้หลากหลายชนิด ทำให้พุทธมณฑลเป็นที่ที่เหมาะสมแก่การหยุดพักของนกที่ผ่านทาง และเหมาะสมแก่นกหลายชนิดที่จะทำรัง วางไข่ และเลี้ยงชีวิต

เมื่อปีที่ผ่านมา นกกินปลีอกเหลือง และนกกินปลีคอสีน้ำตาลเป็นนกที่สตีเฟ่นกับเราพากันเก็บภาพขณะที่เค้ายกพวกกันมากินน้ำหวานจากดอกไม้ต้นพู่นายพล ที่กำลังออกดอกเต็มต้น
เป็นภาระแห่งชีวิตของเค้า
แต่เป็นความเพลิดเพลินของเรา ที่ได้เฝ้าดู





และในวันนี้ หลังจากรอสตีเฟ่นมาจากบ้านสักพัก เราก็พร้อมที่จะเก็บภาพน่ารักๆของลูกโป่งน้อยๆ ที่รอพ่อแม่นำอาหารมาป้อนแล้ว

บริเวณที่เราพบพ่อแม่กินปลีเลี้ยงลูกนอกรัง หลังจากที่ลูกโตพอจะออกจากรังได้แล้ว แต่ยังบินไม่คล่องนัก คือบริเวณสวนมะม่วงก่อนข้ามสะพานไปป่าเวฬุวัน (แต่ในภาพนี่ไม่ใช่ต้นมะม่วงนี่นา)





ลูกนกกินปลีชนิดแรกที่เจอ เป็นลูกนกกินปลีอกเหลือง(olive-backed sunbird) ด้วยปากสีดำ(ที่โคนปากยังออกสีส้มๆอยู่)ที่โค้งงอ ยาว ขาดำสนิท ลูกนกจะเกาะ อยู่ที่กิ่งเดิม แต่อาจไซ้ขนบ้าง บิดขี้เกียจบ้าง และร้องเรียกพ่อ หรือแม่ให้มาป้อน เป็นระยะๆ เข้าใจว่าคงเป็นวันแรกๆที่ออกจากรัง เพราะพ่อแม่ยังมาป้อนบ่อยๆที่กิ่งที่เค้าเกาะ โดยในการป้อนนั้น ลูกนกจะอ้าปากกว้าง และพ่อ หรือแม่นกจะยื่นปากเข้าไปป้อนในปากของลูกนกและออกมาอย่างรวดเร็ว โดยท่ายืน อาจเป็นท่ายิมนาสติกท่าใดท่าหนึ่งเช่น ห้อยหัว ฉีกขา หรือยืนเกาะกิ่งตรงๆ ตามแต่กิ่งไม้จะอำนวย





หลังจากบ่ายวันนั้น เราก็ได้แวะเข้าไปดูพวกเค้าอีกครั้ง พบว่าลูกนกดูโตขึ้น และพ่อแม่มาป้อนที่กิ่งเกาะน้อยลง แต่จะใช้วิธีไปหาอาหารมาล่อลูกให้บินไปหา เพื่อฝึกให้ลูกนกบินให้คล่องขึ้น







และในวันที่สองนี้เราก็ได้พบลูกนกกินปลีคอสีน้ำตาล ซึ่งพ่อแม่พามาหากินอยู่ใกล้ๆกัน ลูกนกกินปลีคอสีน้ำตาลมีปากที่สั้น ใหญ่ และตรงกว่านกกินปลีอกเหลือง และไม่ได้มีสีดำสนิท แต่จะออกน้ำตาลๆ และมีขาสีส้ม





นกที่มาป้อนลูกกินปลีคอสีน้ำตาลมีเพียงตัวเดียว คิดว่าเป็นตัวแม่ แต่กลับมีแถบที่ไหล่เล็กๆสีน้ำเงิน ซึ่งนกตัวเมียไม่มี ก็เลยไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็นพ่อหรือแม่กันแน่ อย่างไรก็ตาม ดูเค้าโทรมมากกว่าปกติมากจนน่าตกใจ เมื่อบวกกับลูกตาสีแดงของเค้าด้วยแล้ว ดูครั้งแรกคิดว่าผีนก







แต่อีกไม่นานเค้าก็คงจะมีชุดขนใหม่ๆสวยๆขึ้นมาแทนที่ และกลับมาเป็นนกน่ารักๆเช่นเคย







การได้ใช้เวลานานๆ ดูนกป้อนลูก ทำให้เราได้เห็นวิถีของชีวิตเล็กๆหลายชีวิตซึ่งแตกต่างจากมนุษย์โดยสิ้นเชิง

แต่การเอื้ออาทร ดูแล สั่งสอนลูกของพ่อแม่ การออดอ้อนขออาหารของลูก ของพวกเค้ากลับอ่อนโยน ละมุนละไมในความเป็นครอบครัวไม่แตกต่างจากสังคมความเป็นคนของเราเลย














 

Create Date : 17 สิงหาคม 2548    
Last Update : 17 สิงหาคม 2548 20:49:46 น.
Counter : 966 Pageviews.  

ดูนกเล่นน้ำที่มหาชัย

ถ้าใครคิดว่ามหาชัยจะมีแต่ตำนานรักกับท่าฉลอม

ถ้าใครคิดว่ามหาชัยมีแต่แรงงานต่างด้าว

ถ้าใครคิด(อีก)ว่ามหาชัยมีแต่อาหารทะเล

ขอบอกว่าคุณคิดถูกแล้วค่ะ



แต่มหาชัยยังมีศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนที่มีนกทะเลมากมายที่อพยพย้ายถิ่นในฤดูหนาวมาอาศัยหากิน มีทางเดินศึกษาธรรมชาติให้เดินศึกษาธรรมชาติของป่าชายเลน ที่มีปลาตีนหลายสายพันธุ์ และยังมีปูก้ามดาบ หรือปูเปี้ยว อาหารอันโอชะของนกกินเปี้ยว อีกด้วย



สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบ
ขณะนี้บรรดานกน้ำอพยพทั้งหลายได้ทยอยกันยกพลขึ้นบกที่อ่าวไทยเป็นจำนวนนับพันๆตัวแล้วนะคะ โดยบางส่วนยังอยู่ในชุดขนฤดูผสมพันธุ์ ที่มีสีสันชวนมองกว่าชุดธรรมดาๆที่พบประจำในบ้านเรา ทั้งนี้เป็นเพราะเค้าเพิ่งจะมาถึงนั่นเอง



ถ้าใครอยากดูนกน้ำในระยะที่ประชิดเล็กน้อย พอที่จะไอเด็นได้ด้วยกล้องสองตา กรุณาเช็คเวลาน้ำขึ้นน้ำลงให้ดีก่อนออกเดินทาง มิฉะนั้นอาจได้พบนก... อยู่นู่น...........ได้



ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบเหยี่ยวแดงทั้งผู้ใหญ่และเด็กในบริเวณศูนย์ศึกษาธรรมชาตินี้ โดยคาดว่าผู้ใหญ่กำลังหัดเด็กๆให้บินโฉบอาหาร(ปลา ตี น) และบางทีก็หัดโฉบนกน้ำทั้งหลายที่กำลังหากินบนพื้นน้ำอย่างเมามันให้ตกอกตกใจเล่น




เหยี่ยวแดงวัยเด็กเป็นแบบนี้





และนี่เป็นเหยี่ยวแดงวัยผู้ใหญ่ค่ะ



บรรดานกน้ำทั้งหลายเป็นที่น่าสนใจไม่น้อย แต่ด้วยเลนส์100-400ของจันทร์น้อย สอยมาไม่ได้ ต้องไปดูเองค่ะ


นกหน้าอ่าวที่มักพบแอบบินออกมาสอยปลาตีนแล้วโฉบกลับเข้าไปในป่าโกงกางคือนกกินเปี้ยวที่ช่วงนี้ค่อนข้างมอมแมม ไม่รู้ว่าเกิดจากหาอาหาร หรือมุดเข้ารังกันแน่




แต่ตัวนี้สะอาดพอสมควร แม้ปากจะเลอะสักหน่อย



นอกจากนกหน้าอ่าวที่น่าสนใจแล้ว ก็ยังมีนกในป่าโกงกาง
อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ คือนกกระจ้อยป่าโกงกาง ซึ่งมีเสียงร้องหวานใส เหมือนเสียงผิวปากยาวๆ บางทีถ้าเราลองผิวปากตามดู เค้าอาจโผล่มาดักหน้าเราไว้ก็ได้






นกกระจ้อยป่าโกงกางเป็นนกประจำถิ่น อาศัยในป่าโกงกางมีขนาดตัวแค่ประมาณ9-10ซม.เท่านั้น ท้องมีสีเหลืองปากสีดำ น่ารักมาก มักพบอยู่เป็นคู่ค่ะ




เอาหล่ะ ไปกันจนทั่วแล้ว ทีนี้เราก็มานั่งนิ่งๆแอบดูน้องนกเล่นน้ำกันดีกว่า ดาราเอกของงานก็คือ



นกแว่นตาขาวสีทองนั่นเอง

นกชนิดนี้ชอบอยู่เป็นฝูง จับแมลงตามต้นไม้ ใต้ใบไม้ ใยแมงมุม(แย่งแมงมุมกิน) แต่วันนี้เค้ามาเล่นน้ำให้เราดูในอ่างที่น้องเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ใจดีนำมาวางไว้ให้ และเปลี่ยนน้ำให้บ่อยๆ เพราะพวกเล่นกันซะน้ำกระฉอกหกหมดประจำ





นกแว่นตาขาวลงมาเล่นน้ำทีละเจ็ดแปดตัว น่ารักมาก



เมื่อลงไปเล่นน้ำจนสบายตัว ขึ้นมาก็จะหน้าตาประมาณนี้





ช่วงนี้เป็นช่วงที่นกแว่นตาขาวสีทองจับคู่ จึงมักได้เห็นภาพเบียดสนิทแนบแบบนี้ด้วย




นอกจากนกแว่นตาขาว นกอื่นๆที่มาใช้บริการอ่างนี้ก็เช่น


นกกางเขนบ้าน





นกอีแพรดแถบอกดำ





นกปรอดสวน





จริงๆแล้วอาจมีนกอื่นด้วยค่ะ แต่เวลาหมดซะก่อน เลยได้มาแค่นี้

ถ้าใครอยากดูนกในแหล่งใกล้ๆกรุงเทพฯ ก็อย่าลืมเก็บที่นี่ไว้เป็นตัวเลือกด้วยนะคะ

แล้วคุณจะรู้ว่า มหาชัยมีดี




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2548    
Last Update : 15 กรกฎาคม 2551 19:32:32 น.
Counter : 3183 Pageviews.  

1  2  3  4  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.