ปราสาทเขาพระวิหาร อาจเป็นระเบิดเวลา

โดย ธงชัย วินิจจะกูล


1.ธรรมชาติของเส้นเขตแดนแบบสมัยใหม่ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเปรียบเสมือนระเบิดเวลา

เส้นเขตแดนทุกแห่งในทุกวันนี้สืบทอดมรดกมาจากการเมืองแบบก่อนสมัยใหม่ซึ่งไม่สนใจการแบ่งพรมแดนด้วยเส้นชัดเจนต่อเนื่องไปตลอดแนว แถมยังอยู่ได้ด้วยสภาวะที่อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนซ้อนทับกำกวมเกินกว่าครึ่งของแนวพรมแดนทั้งหมดของสยาม

เขตแดนสมัยก่อนส่วนมากแค่กำหนดแนวจากจุดหนึ่งถึงอีกจุดหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องต่อกันตลอดพรมแดน บ้างเป็นแค่หลักหมาย หลายแห่งคลุมเครือ หัวเมืองชายแดนมักอ่อนน้อมต่อเจ้าหลายฝ่ายพร้อมๆ กัน ตลอดแนวพรมแดนสมัยใหม่จึงมีบริเวณที่ไม่ชัดเจนทะเลาะกันได้ไม่รู้จบอยู่เต็มไปหมด

นี่ยังไม่นับอีกปัจจัยคือ สภาพพื้นที่ ลำน้ำ ดอนทราย ชายฝั่ง แม้แต่แนวปันน้ำสามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายหลังตกลงเขตแดนไปแล้วในครั้งก่อนๆ

2.เขตแดนแบบชัดเจนและอธิปไตยเหนือดินแดนแบบไม่กำกวม เป็นความปรารถนาของโลกสมัยใหม่ เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้แค่ประมาณ 100-130 ปีมานี้เอง

การถกเถียงเรื่องเขตแดน อ้างว่าดินแดนเป็นของตนโดยไม่ตระหนักถึงประวัติศาสตร์ข้อนี้จึงเป็นปัญหายากจะแก้ให้ตกตามใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะทุกฝ่ายสามารถหาเหตุผลครึ่งๆ กลางๆ มาเข้าข้างตนเองได้ทั้งนั้น หากลามปามต่อไปก็ต้องตัดสินด้วยการใช้กำลัง ตายไปเป็นร้อยเป็นพันก็คงแก้ไม่ตกอยู่ดี

ในเมื่อเขตแดนสมัยใหม่เป็นระเบิดเวลาของความขัดแย้งรุนแรงเช่นนี้ รัฐสมัยใหม่ที่ต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติจึงใช้โต๊ะเจรจา สนธิสัญญา แผนที่

หากทะเลาะกันมากก็อาศัยคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นข้อยุติความขัดแย้งเพื่อให้รัฐสมัยใหม่อยู่ร่วมกันได้

3.เขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร อาศัยคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อปี 2505 เป็นข้อยุติ เพราะมิฉะนั้นอีกหนทางที่จะตัดสินได้ชั่วคราวคือ กำลังทหาร และชีวิตอีกไม่รู้เท่าไรต้องสูญเสียเพื่อชัยชนะเพียงชั่วคราว

ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ใดๆ ก็ไม่มีทางเป็นคำตอบสิ้นสุดสมบูรณ์ในกรณีนี้ ความเข้าใจที่ว่า สันปันน้ำเป็นมาตรการแบ่งเขตแดนที่ดีที่สุดเสมอเป็นความเข้าใจผิดๆ ตื้นเขินและไม่รับผิดชอบ ตลอดแนวพรมแดนของประเทศไทย เขตแดนหลายแห่งไม่ได้แบ่งด้วยแนวสันปันน้ำ และหากเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ทั่วไป ประเทศไทยคงต้องเสียดินแดนอีกหลายแห่ง ซึ่งทุกวันนี้เป็นของไทยด้วยเกณฑ์อื่น นับรวมกันอาจมากกว่าดินแดนเขาพระวิหารมากนัก - เอาอย่างนั้นไหมล่ะ?)

กรณีปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น หากเป็นแค่ความถูกผิดทางปฏิบัติก็ยังน่าจะหาทางออกได้ คือ ระหว่างแผนที่ - แผนผังกระบวนการขออนุมัติ ลงนาม ทำสัญญาร่วม การแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ฯลฯ แต่ขณะนี้ได้เลยเถิดเกินกว่าความถูกผิดในทางปฏิบัติเหล่านี้ไปมากแล้ว

คือ เกิดการฉวยใช้กรณีนี้เพื่อปลุกระดมโมหะของคนไทยว่าปราสาทเป็นของไทย และประเทศไทยควรเอาปราสาทคืนมาเป็นของไทย

ผู้นำพรรคการเมืองพูดเช่นนี้ชัดๆ ผู้นำพันธมิตรหลายคนพูดเช่นนี้ชัดๆหลายครั้ง ผู้มีชื่อเสียงหลายคนในสังคมไทยออกมาพูดเช่นนี้ชัดๆ ปลุกความเชื่อผิดๆ และอันตราย ปลุกชาตินิยมเพ้อเจ้ออย่างไม่รับผิดชอบ

เราควรเคารพข้อยุติที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวางไว้ เพราะกล่าวอย่างถึงที่สุด ประเทศไทยไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่ดีไปกว่ากัมพูชาในเรื่องนี้ ถึงจะรื้อฟื้นขึ้นมาก็คงไม่ชนะ เว้นเสียแต่จะส่งทหารไปตายเพื่อชัยชนะชั่วคราว

4.ความคิดความเชื่อเรื่อง "การเสียดินแดน" แพร่หลายในหมู่นักชาตินิยมขาดสติทั้งหลายในภูมิภาคนี้ (และอีกหลายแห่งในโลก)

นักชาตินิยมลาวเคยพูดว่า ลาวเสียฝั่งขวาน้ำโขง (คือภาคอีสานของไทยปัจจุบัน) ให้แก่สยาม นักชาตินิยมเขมรยังโฆษณาอยู่จนทุกวันนี้ว่า กัมพูชาเสียดินแดนให้ไทยและเวียดนามไปมากมาย สงครามระหว่างกัมพูชา-เวียดนามยุคเขมรแดงก็เพื่อเอาดินแดนเขมรบริเวณที่ราบลุ่มปากน้ำโขงคืนมานั่นเอง

นักชาตินิยมกัมพูชายังคงผลิตแผนที่การเสียดินแดนของกัมพูชาเผยแพร่แก่ชาวเขมรให้คิดเจ็บแค้นว่าไทยและเวียดนามเอาดินแดนของเขาไป

นักชาตินิยมไทยผลิตแผนที่ไทยเสียดินแดนเช่นกัน ทั้งแผนที่และประวัติศาสตร์การเสียดินแดนยังเป็นเรื่องสำคัญในหลักสูตรอบรมสั่งสอนคนไทยตลอดมาหลายชั่วคน อยู่ในสมองของคนไทยทั้งประเทศจนไม่เคยสงสัยเลยสักนิดว่า การเสียดินแดนเป็นแค่การตีความประวัติศาสตร์เข้าข้างตัวเองของนักชาตินิยมไทย

การเสียดินแดน ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่เชื่อกันอย่างหัวปักหัวปำในอีกหลายประเทศ รวมทั้งจีน เวียดนาม ปากีสถาน ฯลฯ เสียดินแดนกันทั้งนั้น เพราะประวัติศาสตร์ฝ่ายตัวเองเขียนไว้อย่างนั้น

เพราะความคิดเรื่องการเสียดินแดนเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์อันทรงพลังเพื่อปลุกเร้าค้ำจุนลัทธิชาตินิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการต่อสู้ทางการเมืองภายในประเทศ คราใดที่การปลุกระดมเรื่องการเสียดินแดนนำไปสู่การสู้รบแย่งชิงดินแดนจริงๆ ความหายนะสูงมากทุกครั้ง

แต่แทบไม่มีสักกรณีเดียวที่นักชาตินิยมผู้จุดกระแสการเสียดินแดนจะไปออกรบในแนวหน้าเพื่อเอาดินแดนคืนมา

5.ลัทธิชาตินิยมของไทย อยู่บนฐานความเชื่อสำคัญๆ จำนวนหนึ่งที่มีพลังก่อให้เกิดโทสะและโมหะได้ง่ายมาก ทั้งๆ ที่อาจจะไม่เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ หรือเป็นประวัติศาสตร์แบบทึกทักเข้าข้างตัวเอง

แต่คนไทยก็เชื่อกันอย่างหัวปักหัวปำ

ความเชื่อเรื่องการเสียดินแดนเป็นหนึ่งในเรื่องพรรค์นั้น ความเชื่อนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความทรงจำผิดๆ ของประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมด แต่ความเชื่อเรื่องนี้เป็นปัจจัยที่จำเป็นมาก เพื่อค้ำจุนลัทธิชาตินิยมของไทย

ถ้าไม่มีความเชื่อเรื่องเสียดินแดน ลัทธิชาตินิยมไทยอาจพังครืน จึงจำเป็นต้องกรอกหัวประชากรด้วยความทรงจำผิดๆ ทำบ่อยๆ มากๆ จนประชากรเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงอย่างไม่ต้องสงสัยไร้ข้อโต้แย้ง

6."ไฟ" ของลัทธิชาตินิยมยังคงอันตรายดังที่เป็นมาตลอด

ยังคงเป็นอาวุธที่น่ากลัวในการเมืองไทยในปัจจุบัน ไม่ต่างจากที่เป็นมาตลอด

พันธมิตรและสื่อมวลชนที่มีแต่ความรักชาติแต่ขาดสติปัญญา กำลังทำสิ่งเดียวกันกับที่พวกเขาเคยประณามชาวเขมรเมื่อคราวนักชาตินิยมเขมรปลุกกระแสต่อต้านประเทศไทยเมื่อปี 2548

ชาตินิยมก็เหมือนกับไฟ เราไม่ควรเล่นกับมันเพราะอันตราย หากสุมกันเข้าไปจนควบคุมไม่ได้ กว่าจะรู้ตัวก็มักจะสายเสียแล้ว

บางคนช่วยสุมไฟชาตินิยมจนคุโชน กล่าวว่าคนไทยยังชาตินิยมไม่พอ ประวัติศาสตร์ไทยยังชาตินิยมไม่พอ แล้วตบท้ายว่า "แต่ต้องสันตินะ สันตินะ" นับเป็นการปัดความรับผิดชอบล่วงหน้าอย่างน่าสมเพชในกรณีที่ไฟชาตินิยมลุกลามปามเกินควบคุมได้้
"ไฟ" ชาตินิยม เป็นบ่อเกิดของโทสะ โมหะ ตามคำสอนของพุทธศาสนา เป็นไฟของอวิชชาชนิดร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่ง

7.อย่าเล่นกับไฟอย่างไร้ความรับผิดชอบ หากไม่กล้านำหน้าออกไปรบ ก็อย่าสุมไฟ

หากพวกชาตินิยมไร้สติ ต้องการเอาเขตแดนที่มีปัญหาทั้งหลายมาเป็นของไทย มีเขตแดนอีกนับร้อยแห่งให้เลือกที่จะส่งทหารไปตาย แต่ลงท้ายรับรองได้เลยว่าไม่มีทางยุติข้อขัดแย้งได้ด้วยกำลังทหาร

ยังจำกรณีพิพาทไทย-ลาว เมื่อต้นปี 2531 เพื่อยึดเนิน 1428 ได้หรือไม่? เนินเขาที่แทบไม่มีผู้คนอาศัยอยู่และเป็นที่รู้จักด้วยตัวเลขบนแผนที่ทหารเป็นเหตุให้ไทยสูญเสียทหารไปหลายร้อยคน ยังจำกันได้หรือไม่?

กรณีนั้นกลายเป็นเรื่องเล่าขานต่อมาในประเด็นเรื่องความสามารถของผู้นำทหารของไทยและผลประโยชน์ป่าไม้ที่เป็นชนวนให้สองฝ่ายแย่งชิงกัน รากเหง้าของปัญหาเขตแดนกลับไม่มีคนพูดถึง

รากเหง้าของปัญหาเขตแดนกรณีนั้นมาจากสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1907 ที่พยายามขีดเส้นบนพื้นที่ที่ไม่เคยมีเส้นเขตแดนชัดเจนมาก่อน ประชาชนแถวนั้นก็ปะปนผูกพันกันจนแยกไม่ได้ว่าตรงไหนไทยตรงไหนลาว แถมยังทำสนธิสัญญาก่อนการสำรวจพื้นที่ภูมิประเทศอย่างละเอียด ชื่อลำน้ำสันเขาตามสนธิสัญญากับชื่อท้องถิ่นจึงลักลั่นกันแต่ต้น

ต่อมาในกรณีพิพาทนั้น ลาวกับไทยอ้างแผนที่คนละฉบับ จากการสำรวจที่กระทำต่างกัน 60-70 ปี (เรื่องตลกคือฝ่ายไทยอ้างแผนที่ฝรั่งเศสประกอบสนธิสัญญา 1907 ที่คนไทยไม่ยอมรับและเกลียดนักหนา ส่วนฝ่ายลาวอ้างแผนที่อเมริกันซึ่งทำขึ้นช่วงสงครามถล่มเวียดนาม ลาว และกัมพูชา) ระหว่างนั้น ลำน้ำเล็กๆ ที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนก็เปลี่ยนไปทั้งชื่อท้องถิ่นและแนวลำน้ำ กล่าวคือ แนวลำน้ำเดิมแห้งขอดไป แต่เกิดแนวลำน้ำใหม่ชื่อใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่ในแผนที่ฉบับเก่า ชื่อลำน้ำสายเดิมที่เป็นเส้นเขตแดนตามแผนที่เก่าจึงเลอะเลือนไปจากความทรงจำของท้องถิ่น แนวลำน้ำที่เปลี่ยนไปย่อมหมายความว่าสันปันน้ำเปลี่ยนไปด้วย หากถือตามแผนที่คนละฉบับที่ทำกันคนละเวลา เนินที่เคยนับว่าอยู่ในแนวเขตแดนของประเทศหนึ่งก็กลับย้ายไปอยู่ในแนวเขตแดนของอีกประเทศหนึ่งแทน

แม้แต่ชื่อของลำน้ำตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ของไทยก็ยังผิดๆ ตลอดระยะกรณีพิพาท เพราะอักษรโรมันในแผนที่เก่าถูกทับด้วยเส้น contour lines ครั้นอ่านอย่างมักง่ายเอาสะดวก ไม่มีการตรวจสอบ จึงกลายเป็นชื่อใหม่ที่อาจก่อให้เกิดการทะเลาะกันใหม่ได้ในอนาคต

ทหารของสองประเทศตายไปเป็นพันคน เพื่ออะไร?

ตอบ 1.เพื่อสนองโลภะความกระหายผลประโยชน์ที่ทหารผู้เสียชีวิตไม่มีส่วนได้ด้วยสักนิด

2.เพื่อสนองชาตินิยมที่พอกพูนด้วยโทสะและโมหะจนไร้สติ ไม่ไตร่ตรองปัญหาจากประวัติศาสตร์ ไม่รู้จักธรรมชาติของพื้นที่และไม่สนใจหาความรู้ท้องถิ่น

3.เพื่อหวังเปลี่ยนชาตินิยมเบาปัญญาที่ไม่มีปัญญาพอที่จะเอาชนะแม้กระทั่งเส้น contour lines บนแผนที่ ให้กลายเป็นชัยชนะอันน่าภาคภูมิใจของชาติ

โศกนาฏกรรมอันเนื่องมาจากชาตินิยมเบาปัญญาในเรื่องเขตแดนเคยเกิดมาแล้ว จะให้เกิดอีกร้อยครั้งก็ได้ ไร้สาระยิ่งกว่ากรณีเนิน 1428 ก็ได้

แต่จะให้เกิดอีกแม้แต่ครั้งเดียวเพื่อสนองความเบาปัญญาของนักชาตินิยมทำไมกัน?

8.การใช้ปราสาทเขาพระวิหารเพื่อปลุกชาตินิยมอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่เลวร้ายกว่าคราวก่อนๆ




 

Create Date : 08 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 8 กรกฎาคม 2551 22:03:16 น.   
Counter : 390 Pageviews.  

ปราสาทเขาพระวิหาร

ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

สืบเนื่องจากการที่ประเด็นเรื่องของ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองในการโค่นล้มรัฐบาลของ นรม. สมัคร สุนทรเวช และ “ระบอบทักษิณ” เป็นปัญหาของการเมืองภายในของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ด้วย เรื่องนี้มีความสำคัญและมีความจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจที่มาและที่ไป ของเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางประวัติศาสตร์ และทางรัฐศาสตร์การเมือง ดังนั้น จึงขอบรรยายตามลำดับ ดังต่อไปนี้

(1)
“ปราสาทเขาพระวิหาร” เป็นส่วนหนึ่งของ “ประวัติศาสตร์แผลเก่า” ระหว่าง “ชาติไทย” กับ “ชาติ กัมพูชา” ระหว่าง “ลัทธิชาตินิยมไทย” และ “ลัทธิชาตินิยมกัมพูชา” แม้จะเกิดมานานเกือบ 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นบาดแผลที่ไม่หายสนิท จะปะทุพุพองขึ้นมาอีก และถูกนำมาใช้ทางการเมื่อไรก็ได้ ในด้านของสยามประเทศ(ไทย) “ปราสาทเขาพระวิหาร” เป็นส่วนหนึ่งของ “การเมือง” และ “ลัทธิชาตินิยม” ในสกุลของ “อำมาตยาเสนาธิปไตย” ที่ถูกปลุกระดมและเคยเฟื่องฟูในสมัย

สงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และถูกตอกย้ำสมัย “สงครามเย็น” ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (และก็ถูกสืบทอดโดยจอมพลถนอม กิตติขจร และบรรดานายพลและอำมาตยาธิปไตยรุ่นต่อๆมา)


(2)
“ปราสาทเขาพระวิหาร” เป็นสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม “บรรพชนของขะแมร์กัมพูชา (ขอม) แต่โบราณ” ที่อาศัยอยู่ทั้งในกัมพูชาปัจจุบัน และในภาคอีสานของเรา ขะแมร์กัมพูชา เป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้าง “ปราสาท” ด้วยหินทรายและศิลาแลง ต่างกับชนชาติไทย ลาว มอญ พม่าที่สร้าง “ปราสาท” ด้วยอิฐและไม้ ความสามารถและความยิ่งใหญ่ของขะแมร์กัมพูชา เทียบได้กับชมพูทวีป กรีก และอียิปต์ สุดยอดของขะแมร์กัมพูชา คือ Angkor หรือ “ศรียโสธรปุระ-นครวัด-นครธม”

ขะแมร์กัมพูชา ก่อสร้างปราสาทบนเขาพระวิหารติดต่อกันมายาวหลายรัชสมัย กว่า 300 ปี ตั้งแต่กษัตริย์ “ยโสวรมันที่ 1” ถึง “สุริยวรมันที่ 1” เรื่อยมาจน “ชัยวรมันที่ 5-6” จนกระทั่งท้ายสุด “สุริยวรมันที่ 2” และ “ชัยวรมันที่ 7” จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 (หรือจากพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 หรือก่อนสมัยสุโขทัย 300 ปีนั่นเอง)
“ปราสาท เขาพระวิหาร” เป็นเสมือนเทพสถิตย์บนขุนเขาหรือ “ศรีศิขเรศร” เป็น “เพชรยอดมงกุฎ” ขององค์ศิวะเทพ (พระอิศวร) ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเทือกเขาพนมดงรัก (“พนมดงแร็ก” ในภาษาขะแมร์ แปลว่าภูเขาไม้คาน ซึ่งสูงจากพื้นดินกว่า 500 เมตร และเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 600 เมตร ปัจจุบันตั้งอยุ่ใน (เขต) จังหวัด “เปรียะวิเฮียร” (Preah Vihear) ของกัมพูชา


(3)
“ปราสาทเขาพระวิหาร” น่าจะถูกทิ้งปล่อยให้ร้างไปเมื่อหลังปี พ.ศ. 1974 (ค.ศ. 1431) คือภายหลังที่กรุงศรียโสธรปุระ (นครวัดนครธม) ของกัมพูชา “เสียกรุง” ให้แก่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยของพระเจ้าสามพระยา) ขะแมร์กัมพูชาต้องหนีย้ายเมืองหลวงไปอยู่ละแวก อุดงมีชัย และพนมเปญ ตามลำดับ และ “หนีเสือไปปะจระเข้” คือเวียดนามที่ขยายรุกเข้ามาทางใต้ปากแม่น้ำโขง

แต่ประวัติศาสตร์โบราณเรื่องนี้ ไม่ปรากฏมีในตำราประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาฯ ของไทย (หรือของเวียดนาม) ดังนั้นคนในสยามประเทศ(ไทย) ส่วนใหญ่จึงรับรู้แต่เพียงเรื่องการ “เสียกรุงศรี อยุธยา” แก่พม่า (พ.ศ. 2112 และ 2310) แต่ไม่รู้เรื่องของ “เสียกรุงศรียโสธรปุระ” (พ.ศ. 1974) ของกัมพูชา

ทั้งกัมพูชาและสยามประเทศ(ไทย) คงลืมและทิ้งร้าง “ปราสาทเขาพระวิหาร” ไปประมาณเกือบ 500 ปี จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามาล่าเมืองขึ้นในอุษาคเนย์ ได้ทั้งเวียดนาม ทั้งลาว และกัมพูชา ไปเป็น “อาณานิคม” ของตน และก็พยามยามเขมือบดินแดนของ “สยาม” สมัย ร.ศ. 112 ถึงขนาดใข้กำลังทหารเข้ายึดเมืองจันทบุรี เมืองตราด และเมืองด่านซ้าย (ในจังหวัดเลย) ไว้เป็นเครื่องต่อรองอยู่ 10 กว่าปี

(4)
จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ที่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งที่ทรงแต่งเรื่อง “ไกลบ้าน”) จึงได้ทรงลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนยกดินแดนเสียมเรียบ (อันเป็นที่ตั้งของนครวัดนครธมหรือกรุงศรียโสธรปุระ) กับพระตะบอง และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส ทั้งนี้โดยการแลก “จันทบุรี ตราด และด่านซ้าย (เลย)” กลับคืนมา (ครบรอบ 101 ปีในปี 2551 นี้)
เมื่อถึงตอนนี้นั่น แหละที่เส้นเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ทางด้านทิศตะวันออกของประเทศเรา มีพรมแดนและเส้นเขตแดนติดกัมพูชาและลาวอย่างที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน และตัวปราสาทเขาพระวิหาร ก็ถูกขีดเส้นแดนให้ตกเป็นของฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อกัมพูชาได้รับเอกราช จึงอ้างสิทธิในการครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร
กล่าวโดยย่อในสมัยของ รัชกาลที่ 5 ที่มีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นเสนาบดีมหาดไทยนั้น ฝ่าย “รัฐบาลราชาธิปไตยสยาม” ได้ยอมรับเส้นเขตแดนที่ถือว่าปราสาทเขาพระวิหาร ขึ้นอยู่กับฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันโดยสันติ และที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อเป็นหลักประกันในการรักษา “เอกราชและอธิปไตย” ส่วนใหญ่ของสยามประเทศเอาไว้

และดังนั้น เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) เมื่อทรงดำรงตำแหน่ง “อภิรัฐมนตรี” ในสมัยรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรทั้งปราสาทเขาพนมรุ้ง และปราสาทเขาพระวิหาร จึงทรงขออนุญาตฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ที่จะขึ้นไปทอดพระเนตร “ปราสาทเขาพระวิหาร” ที่อยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ของฝรั่งเศส (และนี่ ก็คือหลักฐานอย่างดีที่ทำให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ ม.จ. วงษ์มหิป ชยางกูร ทนายและผู้แทนของฝ่ายรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่อ่อนแอข้อมูลและหลักฐานจดหมายเหตุ ต้องแพ้คดีปราสาทเขาพระวิหารเมื่อ 15 มิถุนายน 2505)

(5)
กาลเวลาล่วงไปจนถึงสมัยสิ้นสุดระบอบ “ราชาธิปไตย” ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เรื่องของ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเป็นประเด็นครุกรุ่นทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง (ก่อนครั้งที่ 3 ของการ “โค่นรัฐบาลสมัคร” ในสมัยนี้) คือครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ปีกขวาของคณะราษฎร) และครั้งที่สอง สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคสงครามเย็น (ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และต่อต้านนโยบายเป็นกลางของกัมพูชาสมัยพระเจ้านโรดม สีหนุ)

ในครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเมื่อ “คณะราษฎร” ยึดอำนาจได้แล้วแม้จะโดยปราศจากความรุนแรงและนองเลือดในปีแรกก็ตาม แต่ก็ประสบปัญหาในการบริหารปกครองประเทศอย่างมาก เพราะเพียง 1 ปีต่อมาก็เกิด “กบฏบวรเดช” พ.ศ. 2476 (ที่นำด้วยพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหมของรัชกาลที่ 7 และพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ ผู้เป็นตาของพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์) เกิดการนองเลือดเป็น “สงครามกลางเมือง” และส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ถึงกับสละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2477 และประทับอยู่ที่อังกฤษจนสิ้นพระชนม์

ในท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองนั้น รัฐบาลพิบูลสงคราม หันไปพึ่ง “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” ปลุกระดมวาทกรรม “การเสียดินแดน 13 ครั้ง” ให้เกิดความ “รักชาติ” ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น

-24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลเปลี่ยนนามประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย”
-Siam เป็น Thailand
-(แล้วเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรให้เป็น “ไทยๆ” ซึ่งรวมทั้ง
-พระไทยเทวาธิราช -ธนาคารไทยพาณิชย์ -ปูนซิเมนต์ไทย)
รัฐบาล ปลุกระดมเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส (คือดินแดนที่ได้ตกลงแลกเปลี่ยนกันไปแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5) ในเดือนตุลาคม 2483 ผลักดันให้นิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาฯ และ มธก. เดินขบวนเรียกร้องดินแดน “มณฑลบูรพา” และ “ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง”

จนในที่สุดก็เกิดสงคราม ชายแดน รัฐบาลส่ง “กองกำลังบูรพา” ไปรบกับฝรั่งเศส ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่น “มหามิตรใหม่” เข้ามาไกล่เกลี่ยบีบให้ฝรั่งเศส (ซึ่งตอนนั้นเมืองแม่หรือปารีสในยุโรปอ่อนเปลี้ยถูกเยอรมนียึดครองไปเรียบ ร้อยแล้ว) จำต้องยอมยกดินแดนให้ “ไทย” สมัยพิบูลสงคราม (ทำให้นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม กระโดดข้ามยศพลโท-พลเอก กลายเป็นจอมพลคนแรกในยุคหลัง 2475)

และนี่ก็เป็นที่มาที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดินแดนทั้งเสียมเรียบ (ที่ถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆว่า จังหวัดพิบูลสงคราม) พระตะบอง ศรีโสภณ จำปาศักดิ์ (ซึ่งรวมทั้งที่อยู่ในลาว และอยู่ในบริเวณพนมดงรัก เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร และเมืองจอมกระสาน) ตลอดจนถึงไซยะบูลี (จังหวัดนี้อยู่ตรงข้ามหลวงพระบาง และถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ คือ จังหวัดลานช้าง คำว่า “ลาน” ในสมัยนั้นยังไม่มีไม้โท)

และก็ในตอนนี้นั่นแหละที่ทั้งปราสาทและ เขาพระวิหาร กลับมาสู่ความสนใจและความรับรู้ของคนไทย รัฐบาลพิบูลสงคราม ดำเนินการให้กรมศิลปากร (ซึ่งในสมัยหลังการปฏิวัติ 2475 ได้หลวงวิจิตรวาทการ นักอำมาตยาเสนาชาตินิยม มือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นอธิบดี หลวง


วิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ทั้งพูด ทั้งเขียน ทั้งแต่งเพลงแต่งละคร ปลุกใจให้รักชาติ) ได้จัดการขึ้นทะเบียนให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานของไทย โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2483 (เราไม่ทราบได้ว่าในตอนนั้น ฝรั่งเศสในอินโดจีนจะทราบเรื่องนี้ หรือประท้วงเรื่องนี้หรือไม่)

ในสมัยดังกล่าวนี้แหละ ที่รัฐบาลพิบูลสงคราม ชี้แจงต่อประชาชนว่า “ได้ปราสาทเขาพระวิหาร” มา ดังหลักฐานในหนังสือ “ประเทศไทยเรื่องการได้ดินแดนคืน” ของกองโฆษณาการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2484 สมัยนั้น มีรูปปราสาทเขาพระวิหารพิมพ์อยู่ด้วย พร้อมด้วยคำอธิบายภาพว่า “ปราสาทหินเขาพระวิหาร ซึ่งไทยได้คืนมาคราวปรับปรุงเส้นเขตแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส และทางการกำลังจัดการบูรณะให้สง่างามสมกับที่เป็นโบราณสถานสำคัญ”

(6)
สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วย “มหามิตรญี่ปุ่น” ปราชัยอย่างย่อยยับ รัฐบาลพิบูลสงครามก็ล้ม ซึ่งก็หมายถึงว่า “ไทย” จะต้องถูกปรับเป็นประเทศแพ้สงครามด้วย ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษที่เสียทั้งดินแดนและผลประโยชน์ให้กับไทย ก็ต้องการ “ปรับ” และเอาคืน

โชคดีของสยามประเทศ(ไทย) (ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อในภาษาอังกฤษกลับเป็น Siam ได้ชั่วคราว) ที่มีทั้งมหาอำนาจใหม่ คือ สหรัฐฯ สนับสนุน และมีทั้ง “ขบวนการเสรีไทย” ภายใต้การนำของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ที่กู้สถานการณ์เจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้การประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการเข้าร่วมกับญี่ปุ่น กลายเป็นโมฆะหรือ “เจ๊า” กับ “เสมอตัว” ไม่ต้องถูกปรับมากมายหรือถูกยึดเป็นเมืองขึ้นอย่างญี่ปุ่นหรือเยอรมนี

แต่รัฐบาลใหม่ของไทยที่เป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (ค่ายปรีดี พนมยงค์) ก็ต้องคืนดินแดนที่ไปยึดครองมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศสที่กล่าวข้างต้น แต่ยังรวมถึงเมืองขึ้นของอังกฤษที่รัฐบาลพิบูลสงครามยึดครองและรับมอบมา เช่น เมืองเชียงตุง เมืองพานในพม่า หรือ 4 รัฐมลายู (ที่เคยถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ อย่างสวยหรูชั่วคราวว่า “สัฐมาลัย” คือ กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และเคดะห์)

แต่ก็ในตอนนี้อีกนั่นแหละที่ระเบิดเวลา “ปราสาทเขาพระวิหาร” ถูกวางไว้อย่างเงียบๆ กล่าวคือ ตัวปราสาทหาได้ถูกคืนไปไม่ และต่อมารัฐบาลอำมาตยาเสนาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งคืนชีพมาด้วยการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ ร่วมด้วย

ช่วยกันจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายควง อภัยวงศ์) ได้ส่งกองทหารไทยให้กลับขึ้นไปตั้งมั่นและชักธงไตรรงค์อยุ่บนนั้นอีกครั้งใน ปี พ.ศ. 2497 (1954)

กล่าวได้ว่า ความห่างไกลและความกันดารของทั้งตัวภูเขาและตัวปราสาทในสมัยนั้น และเพราะการที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ต้องพะวงกับสู้รบปราบปรามขบวนการกู้ชาติของเวียดนาม กัมพูชา และลาว ก็ไม่ทำให้เรื่องของปราสาทเขาพระวิหารเป็นข่าว หรืออยู่ในความรับรู้ของผู้คนโดยทั่วๆไป

(7)
ระเบิดเวลาลูกนี้ระเบิดขึ้น เมื่อกัมพูชาได้เอกราชในปี พ.ศ. 2496 (1953) อีก 6 ปีต่อมา พระเจ้านโรดมสีหนุซึ่งทรงเป็นทั้ง “กษัตริย์และพระบิดาแห่งเอกราช” และ “นักราชาชาตินิยม” ของกัมพูชา ก็ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลโลก (International Court of Justice) เมื่อ 6 ตุลาคม 2502 (1959)
รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ที่ทำปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่งตั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เป็นทนายสู้ความ รัฐบาลสฤษดิ์ ปลุกระดมให้ประชาชน “รักชาติ” บริจาคเงินคนละ 1 บาทเพื่อสู้คดี (เข้าใจว่าเมื่อจบคดีอาจจะมีเงินหลงเหลืออยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใดประมาณ 3 ล้านบาท ค่าของเงินในสมัยนั้น เทียบได้กับก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่ท่าพระจันทร์ตอนนั้น ชามละ 3 บาท (ตอนนี้ 30 บาท) ตอนนั้นทองคำหนัก 1 บาทราคาเท่ากับ 500 บาท (ตอนนี้ 1.4 หมื่นบาท)

ศาลโลกที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ใช้เวลา 3 ปี และลงมติเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 (1962) ตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ให้ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ตกเป็นของกัมพูชา และให้รัฐบาลไทยถอนทหาร ตำรวจ ยามและเจ้าหน้าที่ออกนอกบริเวณ ศาลโลกครั้งนั้นประกอบด้วยผู้พิพากษา 12 นาย จาก 12 ประเทศ 9 ประเทศที่ออกเสียงให้กัมพูชาชนะคดี คือ โปแลนด์ ปานามา ฝรั่งเศส สหสาธารณรัฐอาหรับ อังกฤษ สหภาพโซเวียต ญี่ปุ่น เปรู และอิตาลี

ส่วนอีก 3 ประเทศ ที่ออกเสียงให้ไทย คือ อาร์เจนตินา จีน ออสเตรเลีย น่าสังเกตว่าอาร์เจนตินา คือ ประเทศที่พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกเกมคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ส่งไปเป็นทูต (ลี้ภัยการเมือง) และมีส่วนวิ่งเต้นให้อาร์เจนตินาออกเสียงให้ฝ่ายไทย ส่วนจีนนั้น คือ จีนคณะชาติ หรือไต้หวันของนายพลเจียงไคเช็ค หาใช่จีนแผ่นดินใหญ่ของเหมาเจ๋อตุงไม่ ดังนั้น ก็ต้องออกเสียงอยู่ในฝ่ายค่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็น

ว่า ไปแล้วรัฐบาลไทยแพ้คดีนี้อย่างค่อนข้างราบคาบ และคำพิพากษาของศาล ก็ยึดจากสนธิสัญญาและแผนที่ที่ทำขึ้นหลายครั้งในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 นั่นเอง แผนที่และสัญญาเหล่านั้นขีดเส้นให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอินโดจีนของ ฝรั่งเศส หาได้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์หรือสันปันน้ำ หรือทางขึ้นไม่ การกำหนดพรมแดนดังกล่าว รัฐบาลสยามในสมัยนั้นของรัชกาลที่ 5 และสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ยอมรับไปโดยปริยายโดยมิได้มีการท้วงติงแต่อย่างใด ดังนั้นผู้พิพากษาศาลโลก ก็ถือว่าการนิ่งเฉยเท่ากับเป็นการยอมรับหรือ “กฎหมายปิดปาก” ซึ่งไทยก็ต้องแพ้คดี นั่นเอง (โปรดดูสรุปย่อคำพิพากษาของศาลโลกเป็นภาษาอังกฤษได้จาก //www.icj-cij.org/docket/files/45/12821.pdf

(8)
กล่าวโดยย่อ ปราสาทเขาพระวิหาร ตกเป็นของกัมพูชาทั้งจากทางด้านประวัติศาสตร์ ทางด้านนิติศาสตร์ ข้ออ้างของฝ่ายไทยเราทางด้านภูมิศาสตร์ คือ ทางขึ้นหรือสันปันน้ำ นั้นหาได้รับการรับรองจากศาลโลกไม่ แต่คดีปราสาทเขาพระวิหาร ก็มีผลกระทบอย่างประเมินมิได้ต่อจิตวิทยาของคนไทย ที่ถูกปลุกระดมด้วยวาทกรรมของ “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” และ “การเสียดินแดน”

ขอกล่าวขยายความไว้ตรงนี้ว่าวาทกรรมของ “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” และ “การเสียดินแดน”

ถูกสร้างและ “ถูกผลิตซ้ำ” มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว เริ่มด้วยกระบวนการสร้างจิตสำนึกใหม่ว่าเขาและปราสาทพระวิหารเป็น “ของไทย” หรือขยายความการตีความประวัติศาสตร์ ให้ไทยมีความชอบธรรมในการครอบครองเขาพระวิหารยิ่งขึ้น มีการเสนอความคิดว่า “ขอมไม่ใช่เขมร” ดังนั้น เมื่อ “ขอม” มิได้เป็นบรรพบุรุษของเขมรหรือขะแมร์กัมพูชา ประเทศนั้นก็ไม่ควรมีสิทธิจะ ครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร

วิธีการตีความประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดจิตสำนึกว่าเป็น “ของไทย” แบบนี้ จะพบในงานเขียนมากมายของยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานของ ปรีดา ศรีชลาลัย, น. ณ ปากน้ำ, พลูหลวง รวมทั้งของบุคคลสำคัญที่มีงานเขียนเชิงโฆษณาชวนเชื่อ “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” เช่น “นายหนหวย” เป็นต้น และยังถูกถ่ายทอดต่อมาในวงการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีของหลายสถาบัน รวมทั้งปรากฏอยู่เป็นประจำในงานสื่อสารมวลชน นสพ. รายวัน รายการวิทยุและทีวีโดยทั่วๆไปอีกด้วย

(9)
สรุป

เรา จะเห็นได้ว่าวาทกรรมของ “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” และ “การเสียดินแดน” นั้นถูกสร้าง ถูกปลุกระดม ถูกผลิตซ้ำมาเป็นระยะเวลา 3-4 ชั่วอายุคน ฝังรากลึกมาก ดังนั้นประเด็นนี้จึงกลายเป็น “ร้อนแรง-ดุเดือด-เลือดพล่าน” จุดปุ๊บติดปั๊บขึ้นมาทันที “5 พันธมิตรฯ” ดูจะได้อาวุธใหม่และพรรคพวกเพิ่มในอันที่จะรุกรบให้แพ้ชนะกันให้เด็ดขาด นำเอาเวอร์ชั่นของ “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” มาคลุกผสมกับ “ “ราชาชาตินิยม” ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในขณะที่รัฐบาลสมัคร (ที่เป็นนอมินีทั้งของทักษิณ และเป็นนอมินีของอีกหลายๆฝ่ายหลายๆสถาบัน ที่เรามักจะคิดไม่ถึงหรือมองข้ามไป) ก็ดูจะขาดความสุขุมรอบคอบและความละเอียดอ่อนทางการทูตในการบริหารจัดการกับ ปัญหากรณีเกี่ยวกับเรื่องปราสาทและเขาพระวิหาร
ดังนั้น ในเมื่อเขาพระวิหารได้ถูกทำให้กลายเป็นการเมืองร้อนแรงเพื่อโค่นล้มรัฐบาล คำถามของเราในที่นี้ คือ

ในแง่ของการเมืองภายใน
-รัฐบาลสมัครจะล้มหรือไม่
-รัฐบาลจะยุบสภาหรือไม่
-พันธมิตรจะรุกต่อหรือต้องถอย
-จะเกิดการนองเลือดหรือไม่
-ทหารจะปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจอีกหรือไม่
หรือจะ “เกี้ยเซี้ย” รักสามัคคี สมานฉันท์ แตกต่าง หลากสีกันได้ ไม่มีเพียงแค่สีเหลือง กับสีแดง
คนไทยได้ผ่านเหตุการณ์ทั้งที่วิปโยคและปลื้มปิติกันมาแล้วเป็นเวลากว่า 70 ปี
ทั้งการปฏิวัติ 2475
ทั้งกบฏบวรเดช 2476
ทั้งรัฐประหาร 2490
ทั้งปฏิวัติ 2500-2501
ทั้งการลุกฮือ 14 ตุลาคม 2516
ทั้งการรัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519
ทั้งพฤษภาเลือด (ไม่ใช่ทมิฬ) 2535
และท้ายสุดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ประสบการณ์และเหตุการณ์ดังกล่าวพอจะเป็นตัวอย่าง เป็นบทเรียนได้หรือไม่

หรือจะต้องรอให้สึนามิทางการเมืองถล่มทับสยามประเทศ(ไทย)ของเราให้ย่อยยับลงไป

ในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ
เรื่องของเขาและปราสาทพระวิหาร
จะบานปลายไปเป็นการเมืองระหว่างไทยและกัมพูชาหรือไม่
รุนแรงจนขั้นแบบเผาสถานทูตหรือไม่
จะมีการปิดการค้าชายแดนหรือไม่
จะกลายเป็นประเด็นสาดโคลนการเมืองภายในของกัมพูชา
(ที่จะมีการเลือกตั้ง 27 กรกฏานี้) หรือไม่
หรือว่า

ทั้งไทยกับกัมพูชา จะตระหนักว่าต้องอยู่ร่วมกันโดยสันติ
ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านพรมแดนยาว 800 กม. เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน จะตกลงเสนอทั้งปราสาทและทั้งเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกร่วมกัน
บริหารจัดการและ (เอี่ยว) แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความสมานฉันท์ เพื่อคนไทย คนกัมพูชา คนลาว คนกูย คนขะแมร์อีสานใต้ คนกำหมุ คนแต้จิ๋ว คนไหหลำ คนฮกเกี้ยน คนกวางตุ้ง คนปาทาน ฯลฯ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นประชากรอันหลากหลายของรัฐชาติบนผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเน ย์นี้
คำตอบไม่น่าจะอยู่ในสายลม มิใช่หรือ




 

Create Date : 24 มิถุนายน 2551   
Last Update : 24 มิถุนายน 2551 16:30:42 น.   
Counter : 220 Pageviews.  

BOBBY

"BOBBY"
เมื่อวานก่อนพึ่งได้ดูหนังเรื่องนี้ ซึ่งจะกล่าวถึง Robert Francis Kennedy ผู้น้องของ JFK
ทำให้รู้สึกว่า...ทำไม! ทำไม! คนดีๆ ถึงอยู่ได้ไม่นานนะ...
สิ่งที่ Bobby..ได้พูดออกมาหลายๆอย่างมันโดนใจ(แอบซึ้ง) คือ เค้านึกถึง..ชาติ..
ชาติ..หมายถึง..ประชาชนทุกคนในแผ่นดิน(ซึ่งเค้าคือความหวังของคนในชาติ)
ขอกล่าวถึงคำพูดนะ

ปัญหาความรุนแรงในอเมริกา ซึ่งเป็นมลทิณของแผ่นดินแปดเปื้อนชีวิตเราทั้งหลาย
มันไม่ใช่ปัญหาของคนผิวสีใด เหยื่อของเหตุความรุนแรงมีทั้ง ผิวดำและผิวขาว
รวยและจน แก่และหนุ่ม มีชื่อเสียงและสามัญชน เขาเหล่านี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด..
เพราะเป็นมนุษย์ ไม่ว่าใคร ไม่ว่าอยู่แห่งหนไหน ทำอาชีพอะไร
ที่จะรู้ว่าใครจะเป็นเหยื่อรายต่อไป..ของการกระทำอันไร้เหตุผล
การนองเลือดมันยังดำเนินไป ดำเนินไปและดำเนินไป ในประเทศของเรานี้...ทำไม!
ความรุนแรงเคยช่วยอะไรได้มันเคยสร้างสรรค์อะไรบ้าง!
ทุกครั้งที่ชีวิตคนอเมริกันต้องจบลงด้วยน้ำมือคนอเมริกัน
ไม่ว่าจะทำไปในนามของกฎหมายหรือขัีดต่อกฎหมาย บุคคลหรือกลุ่มบุคคล
โดยเลือดเย็น โดยลุ่มหลง ด้วยการใช้ความรุนแรง หรือเพื่อตอบโต้ความรุนแรง
วันใดที่เราทำลายแก่นสารแห่งชีวิต แก่นสารที่ผู้อื่นสร้างขึ้น
โดยหวังให้เป็นหลักของตัวเขาและลูกหลาน วันใดที่ทำเช่นนี้เราทั้งชาติก็เสื่อมเกียรติ
แต่เรากลับเพิกเฉยกับความรุนแรงที่เ้กิดขึ้น มองข้ามไปซึ่งมนุษยธรรม
มองข้ามคำอ้างว่ามีอารยธรรม บ่อยครั้งที่เรานับถือ..นักเลง ..ผู้มีอิทธิพล ..ผู้มีอำนาจ
บ่อยครั้งที่เรายอมให้ผู้ ที่แสวงหาผลประโยชน์จากฝันที่แตกสลายของเพื่อนร่วมชาติ
แต่อย่างน้อยเราเห็นชัด ความรุนแรงที่ทวีความรุนแรง การกดขี่ทวีการตอบโต้
มีเพียงการชำระล้าง สังคมทั้งสังคมที่จะกำจัดโรคร้ายนี้จากจิตวิญญาณ

เมื่อสอนใครสักคนให้เกลียด ให้กลัวเพื่อนร่วมโลก หรือตราหน้าว่า..ใครคนนั้นต่ำต้อย..
อันเนื่องมากจาก..สีผิว ..หรือความเชื่อ ..หรืออุดมการณ์ทางการเมือง
เมื่อตราหน้าคนที่ต่างไปจากตนเองว่า เป็นภัยต่อเสรีภาพ เป็นภัยต่องาน เป็นภัยต่อที่อยู่
หรือเป็นภัยต่อครอบครัว นั่นเท่ากับคุณฝึกที่จะเผชิญหน้า แต่ไม่ใช่กับผู้ร่วมสังคม
แต่กับศัตรู ไม่ได้เผชิญเพื่อขอความร่วมมือ แต่เพื่อพิชิตให้พวกเค้ายอมตาม
ให้พวกเค้าเป็นทาส ในที่สุดเราได้เรียนรู้่ การที่มองผู้อื่นเป็นคนนอก คนต่างกันเพียงแค่อยู่เมืองเดียวกัน ไม่ใช่ชุมชนเดียวกัน คนที่ยอมคล้อยตามเพราะถูกบีบคั้น ไม่ใช่ด้วยศรัทธาความเชื่อ นั่นเท่ากับสร้างความกลัวขึ้นมา สร้างให้เกิดความต้องการที่จะตีจากซึ่งกันและกัน มีเพียงผู้ใช้อารมณ์ที่เผชิญกับปัญหาด้วยกำลัง

ชีวิตเราบนโลกใบนี้สั้นเกินกว่าที่จะแก้ปัญหาอันใหญ่หลวง
หรือจะปล่อยให้ปัญหานี้ลุกลามอยู่ต่อไปในดินแดนของเรา
เราไม่สามารถกำจัดปัญหานี้ด้วยโครงการ หรือด้วยมาตรการใดๆ แต่หากเพียงเราจดจำว่า
"คนเหล่านี้ใช้ชีวิตเป็นเพื่อนร่วมโลกของเรา สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ
ช่วงชีวิตเพียงสั้นๆที่ใฝ่หาเฉกเช่นเรา โอกาสที่จะใช้ชีวิตของตนท่ามกลางความสุข
ได้ในสิ่งที่ปรารถนา และประสบความสำเร็จเท่าที่ทำได้
และสายใยที่ร่วมกันนี่เอง และอุดมการณ์ที่ร่วมกันนี่เองที่จะเริ่มสอนบางสิ่งแก่เรา
อย่าน้อยเราควรที่จะได้เรียนรู้ ..มองคนที่อยู่รอบตัวของเรา เพื่อนร่วมโลกของเรา
และร่วมแรงร่วมใจให้มากขึ้นอีกสักนิด ..เพื่อสมานรอยแผลที่เกิดขึ้น
และปลุกความรู้่สึกในใจของการเป็นพี่น้อง เป็นเพื่อนร่วมชาติขึ้นมาอีกครั้ง




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2551   
Last Update : 24 มิถุนายน 2551 16:29:58 น.   
Counter : 237 Pageviews.  


chamchompoo
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add chamchompoo's blog to your web]