All Blog
คอนเสิร์ตอาสากลางรามาฯ


คอนเสิร์ตอาสากลางรามาฯช่วยผู้ป่วย-ญาติคลายเครียด




"อโรคา ปรมา ลาภา" ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ยิ่งสังคมพัฒนามากขึ้นเท่าไร กลับมีโรคภัยรุมเร้ามากขึ้นเท่านั้น สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ขาดการออกกำลังกาย และสุขอนามัยที่ดี





ทุกวันนี้เราจึงเห็นผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาลจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเจ็บไข้ได้ป่วย แต่อีกส่วนให้ความสำคัญกับสุขภาพตัวเองมากขึ้น

คนไม่เคยไปโรงพยาบาลไม่รู้หรอกว่า การรอคิวเรียกรับการรักษานั้น นอกจากจะกินเวลานานแล้ว ยังเต็มไปด้วยความรู้สึกกระสับกระส่าย เคร่งเครียด บรรยากาศที่โรงพยาบาลเต็มไปด้วยความหดหู่ ปราศจากชีวิต ทั้งที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิต ดังนั้น รพ.รามาธิบดี ทุกวันนี้จึงมีโครงการ "คอนเสิร์ตอาสารามาธิบดี" ขึ้น

ท่ามกลางกลุ่มคนทั้งผู้ป่วยและญาติที่ปะปนอยู่หน้าห้องโอพีดี ลานโล่งเล็กๆ โต๊ะ เก้าอี้ กระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ จอโทรทัศน์พลาสมาขนาดเกินกว่า 40 นิ้วติดกับโคนเสาขนาดเขื่อง และตู้ปลาขนาดใหญ่เปิดไฟสว่างขับให้ปลาและโลกจำลองใต้ท้องน้ำดูเด่นชัดขึ้น แต่สิ่งที่ดึงดูดใจผู้คนกลับเป็นนักดนตรีเดี่ยวเปียโนหลังเล็กๆ บริเวณมุมหนึ่งของสวนที่ดูไม่เข้ากันเลยกับสถานที่แห่งนี้

เสียงเปียโนพลิ้ว สูงๆ ต่ำๆ สอดประสานรับช่วงฟังได้ว่า เป็นเพลงสุนทราภรณ์ของครูเอื้อ สุนทรสนาน บางช่วงกระแทกกระทั้นฟังดูหนักหน่วง ตามท่วงทำนองลีลาของผู้เล่น แม้จะไม่ใช่การเดี่ยว "แกรนด์ เปียโน" ในโอเปร่าเฮ้าส์ คนฟังเล่าก็ไม่ได้ใส่สูทผูกเนกไท สวมใส่ชุดราตรียาวระย้า แต่ทุกคนที่ได้ฟังก็ดูสุขใจ บางคนเผลอแอบยิ้มเมื่อถึงท่อนแยกฟังเจนหู หลายคนเพลิดเพลินกระดิกเท้าตามจังหวะดนตรีอย่างลืมตัว

เพลงจบเสียงปรบมือดังเปาะแปะ ถูกกลบด้วยเสียงประกาศเรียกผู้ป่วยอึงคะนึง สับสน ก่อนที่เพลงใหม่จะเริ่มต้นขึ้น โดยที่ผู้เล่นเองก็เหมือนกับไม่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมรอบข้าง นอกจาก "เปียโน" และ "ผู้ฟัง" ของเขา

"กิตติศักดิ์ ศรีเชาว์" อาจารย์พิเศษสอนดนตรี วัย 48 ปี เดี่ยวเปียโนมาตั้งแต่เวลา 8 โมงเช้า ตั้งแต่ฟลอร์เฟื่องฟ้า จนถึงเพ็ญโสภา จงรัก กระทั่งสนุกกันเถิดเรา ก่อนจะถูกคั่นด้วยผู้ป่วยหญิงคนหนึ่งที่เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.รามาฯ มานานหลายปีแล้วขอเพลงโปรด พร้อมกับร้องคลอเบาๆ ข้างกายชายผู้เป็นที่รัก เมื่อเพลงจบบอกขอบคุณแล้วจึงขอตัวไปพบแพทย์ตามที่ได้นัดไว้

ส่วน กิตติศักดิ์ ยังคงเล่นเปียโนไปเรื่อยๆ จบเพลงหนึ่งก็พลิกสมุดโน้ตหาเพลงต่อไป วันนั้นกว่าจะเล่นจบก็ปาเข้าไป 9 โมงเช้า ด้วยเพลงค้างคาวกินกล้วยเรียกเสียงปรบมือยาวนับยาว โดยเฉพาะคุณป้าวัย 71 ปี ที่นั่งอยู่แถวหน้าสุดถึงกับอมยิ้มเมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรกับคอนเสิร์ตเล็กๆ นี้

"รู้สึกดีนะที่ได้ฟังดนตรีระหว่างรอแพทย์เรียกตรวจ" รอยยิ้มเล็กๆ อ่อนโยนปรากฏที่มุมปาก ทำให้ดูไม่ออกเลยว่าคุณป้าป่วยเป็นเบาหวาน

เมื่อ 6 เดือนก่อน กิตติศักดิ์ มาส่งญาติที่ป่วยเป็นโรคต้อหิน เมื่อเดินลงมาที่ลานกิจกรรมพบประกาศรับสมัครนักดนตรีอาสา ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ยามใดที่ว่างเว้นจากการสอนดนตรี เขาจะอาสามาเล่นเปียโนให้ผู้ป่วยและญาติระหว่างรอรักษาเป็นประจำ

"ผมอยากใช้วิชาชีพที่มีทำประโยชน์บ้าง" กิตติศักดิ์ บอกยิ้มๆ

เนื่องจากเป็นอาจารย์พิเศษสอนดนตรี โอกาสที่จะเล่นดนตรีตามสถานบริการหรือโรงแรมเหมือนนักดนตรีอาชีพมีน้อยมาก เมื่อมีโอกาสกิตติศักดิ์จึงอยากจะทำอะไรให้คนอื่นบ้าง โดยเฉพาะผู้ป่วยจะได้หายเครียด ไม่รู้สึกหงุดหงิดระหว่างรอ

"เขาฟังแล้วก็บอกว่าดีนะ อยากให้มีไปเรื่อยๆ" กิตติศักดิ์ อมยิ้ม ก่อนจะพูดต่อว่า "เสียงปรบมือทำให้เรารู้สึกดี มีให้ตลอด แต่ไม่รู้ว่าเวลาคนอื่นมาเล่นจะมีมากกว่าเราไหม" หยุดยิ้มและหัวเราะ

หากโครงการนี้มีต่อไปเรื่อยๆ กิตติศักดิ์ ก็ยังอยากจะทำหน้าที่นักดนตรีอาสาต่อไปเรื่อยๆ เช่นกัน ยิ่งมาเล่นดนตรีที่นี่เนิ่นนานออกไปเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกอยากจะทำให้โครงการนี้ดียิ่งขึ้นไปอีก อนาคตข้างหน้าอาจารย์พิเศษสอนดนตรีคนนี้อยากจะเล่นดนตรีการกุศลหาเงินสักก้อนไปซื้อ "แกรนด์ เปียโน" มาบริจาคให้ รพ.รามาฯ

"แกรนด์เปียโนก็เหมือนกับรถเบนซ์ ใครๆ เห็นก็อยากเล่นอยากขับ" กิตติศักดิ์ กล่าวยิ้มๆ ก่อนจะขอตัวกลับไปทำงานประจำ

โครงการคอนเสิร์ตอาสารามาธิบดี เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 โดยก่อนหน้านี้ทีมผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ได้หารือถึงโครงการที่จะทำบรรยากาศใน รพ.รามาฯ ให้ดีขึ้น กระทั่งมีโอกาสเดินทางไปดูงานที่ไต้หวัน เห็นการเล่นดนตรีในโรงพยาบาลจึงลองนำมาใช้ดู เป็นจังหวะเดียวกับ "ยงเกียรติ เกียรติเสริมสกุล" จากมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย บริจาคเปียโนให้ 1 หลัง โครงการนี้จึงเกิดขึ้น

"ตอนแรกก็คิดกันว่าจะวางเปียโนไว้ที่ไหน ในห้องประชุมนะหรือ ไม่หรอก เพราะที่เราทำก็เพื่อผู้ป่วยและญาติ ก็เลยได้ข้อสรุป ว่าเป็นลานกิจกรรมนี่แหละ" รศ.ดร.พรรณวดี พุธวัฒนะ รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพและกิจการพิเศษ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวถึงที่มา

โครงการนี้มีเป้าหมายใช้นักดนตรีอาสามาตั้งแต่เริ่มแรก โดย รศ.ดร.พรรณวดี ให้เหตุผลว่า ต้องการกระตุ้นและส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้คนดูแลเอาใจใส่กันด้วยหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ต้องการส่งเสริมเรื่องนี้ให้ชัดเจน ดูแลจิตใจ อารมณ์ และคำนึงถึงแต่เรื่องดีๆ อยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์หรือพยาบาล ที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องของโรงพยาบาล

วันแรกลูกชายของ รศ.ดร.พรรณวดี ซึ่งเป็นครูสอนเปียโนอาสาเข้ามาเล่นเปียโนเปิดโครงการ นับตั้งแต่นั้นก็ช่วยมาเรื่อยๆ กระทั่งมีนักดนตรีรู้ข่าวประชาสัมพันธ์ภายในโรงพยาบาลและจากปากสู่ปากบอกเล่าต่อๆ กันไป หนึ่งในนั้นคือ ทันตแพทย์หญิงสุจิตรา จิตสถาพร เมื่อได้ยินเสียงเปียโนถึงกับเดินตามเสียงจนมาพบและทราบข่าว จึงขออาสาเล่นดนตรีให้จนถึงทุกวันนี้

"ไม่ได้เล่นมานานแล้ว อยากเล่น" นั่นคือเหตุผลของทันตแพทย์หญิงสุจิตรา

ไม่เฉพาะนักเปียโนเท่านั้น คอนเสิร์ตอาสารามาธิบดี ยังมีนักดนตรีอื่นๆ อีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเดี่ยวกีตาร์ สีไวโอลิน ร้องเพลงเป็นหมู่คณะเต็มวงใหญ่ ขับกล่อมดนตรีไทยโดยคนของกรมศิลปากร หรือขับร้องเพลงไทยสากล ตลอดจนการแสดงของนักเรียน ร.ร.ปัญญาวุฒิกร ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้

ดังนั้น นักดนตรีที่นี่จึงคละเคล้ากันไป ตั้งแต่นักดนตรีอาชีพจนถึงแพทย์ หรือเด็กนักเรียนหญิงที่ยังใช้คำนำหน้าว่าเด็กหญิง

ครั้งหนึ่งขณะเริ่มโครงการเกือบจะล่ม รศ.ดร.พรรณวดี บอกว่า รู้สึกท้อแท้ใจมาก เพราะต้องประสานงานกับหลายฝ่าย แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างช่วยกันประคับประคองจนอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้

"ตอนนี้เกิดความสุขกับทุกฝ่าย นักดนตรีมาด้วยความสมัครใจ คนฟังก็พอใจ"

ความสุขที่ว่านี้แสดงออกให้เห็นทุกครั้งหลังจบการแสดง โดยเฉพาะการแสดงของเด็กๆ ร.ร.ปัญญาวุฒิกร ซึ่งจะมาเล่นดนตรีให้เดือนละครั้งเป็นประจำทุกเดือน ทั้งผู้ป่วยและเด็กๆ ต่างก็มีความสุข เหมือนทั้งสองฝ่ายจะช่วยเหลือกันและกันโดยไม่รู้ตัว

"คนไข้มีความทุกข์ พอมาเห็นเด็กๆ ที่ไม่สมบูรณ์มาเล่นดนตรีให้ฟัง เขาก็มีความสุขจนลืมความทุกข์ของตัวเอง ส่วนเด็กๆ ก็รู้สึกว่ามีคุณค่า เพราะมีคนมาชื่นชม ครูก็มาขอบคุณเรา ทั้งที่เขามาช่วยเล่นดนตรีให้เราเองแท้ๆ พอถามเด็กๆ ว่าจะมาอีกไหม พวกเขาตอบเสียงดังพร้อมกันเลยว่าจะมาอีก" รศ.ดร.พรรณวดี เล่าถึงความประทับใจ

เสียงตอบรับที่สะท้อนกลับมายังคนทำงานเหล่านี้เอง ที่ช่วยทำให้พวกเขามีกำลังใจมากขึ้น โดยเฉพาะคนภายนอกบางคนถึงกับเสนอขอบริจาคเงินช่วยเหลือ แต่คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ยืนยันว่าทำไม่ได้เพราะต้องการทำให้คนไข้เท่านั้น

วันพุธกลางสัปดาห์ก่อนเที่ยงเล็กน้อย เสียงดนตรีสากล ทั้งไวโอลินและเปียโน ดังแว่วหวานไปทั่วโรงพยาบาล ด้วยฝีมือนักดนตรีวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร สลับกับการร้องเพลง ทั้ง หงส์เหิร บุพเพสันนิวาส คนึงครวญ ศกุนตลา สร้างร้อยยิ้มและความสุขให้แก่ผู้ป่วยและญาติๆ อีกครั้ง

"ดวงดาว เถาว์หิรัญ" ข้าราชการสำนักงานสังคีต กรมศิลปากร นักร้องนำ แม้ปกติจะร้องเพลงตามงานพระราชพิธี งานสโมสร และแสดงการร้องเพลง "เพื่อมีดนตรีการ" ในโรงละครแห่งชาติแล้ว ยังปลีกเวลามาร่วมร้องเพลงที่ รพ.รามาฯ เดือนละ 2 ครั้ง

"ได้กุศลค่ะ เห็นรอยยิ้มจากคนไข้ ซึ่งหลายคนกำลังมีความทุกข์ เสียงดนตรีช่วยผ่อนคลายเขาได้บ้าง ที่น่าประทับใจก็คือมีคนไข้แอบซื้อดอกไม้มามอบให้ด้วย ส่วนอีกรายเป็นคุณยายขอเพลงบัวขาว แล้วยายก็บอกว่าเคยเป็นนักร้องมาก่อน แล้วยายก็ร่วมร้องเพลงด้วยกัน" ดวงดาว บอกพร้อมกับยิ้ม

แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ของคอนเสิร์ตเวทีเล็กๆ ไม่มีนักดนตรีชื่อก้องโลกมาเดี่ยวเปียโนหรือไวโอลิน แต่ความสุขที่ทุกคนได้รับ ทั้งผู้ป่วย ญาติ หรือแม้แต่นักดนตรีอาสาเอง กลับมีคุณค่าและพลัง ให้อีกหลายชีวิตต่อสู้กับโรคร้ายที่รุมเร้า เพื่ออยู่รอดูพระอาทิตย์ขึ้นในวันรุ่งขึ้น...อีกวันๆ

ดนตรีบำบัด

วารสารจิตวิทยาคลินิก ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2538 ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาเรื่องดนตรีกับเรื่องของสุขภาพจิตของ "จินตนา สงค์ประเสริฐ" และคณะ รพ.สวนปรุง กรมสุขภาพจิต ซึ่งศึกษาเรื่องดนตรีบำบัดกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กรีกเป็นชาติแรกที่ใช้พิณดีดรักษาโรคซึมเศร้า และปัจจุบันมีการนำดนตรีมาใช้บำบัดโรคต่างๆ ได้อย่างมีผลดียิ่ง ทั้งโรคทางกายและจิตเวช

มีการค้นพบว่าดนตรีใช้ลดอาการเจ็บปวดจากการคลอด ถอนฟัน รักษาคนที่มีความเครียด แยกตัวจากสังคม หรือแม้แต่คนพิการซ้ำซ้อนได้ดี ตลอดจนผู้ป่วยจิตเภท ผู้มีพฤติกรรมถดถอย และเหงาเศร้าได้

ขณะที่ ในรายงานดนตรีบำบัด (Music Therapy) โดย น.พ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ระบุเอาไว้ว่า ดนตรี (Music) คือ ลักษณะของเสียงที่ได้รับการจัดเรียบเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีแบบแผนและโครงสร้างชัดเจน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ 3 ด้านใหญ่ๆ คือ เพื่อความสุนทรีย์ เพื่อการบำบัดรักษา และเพื่อการศึกษา ดนตรี มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และการทำงานของสมองในหลายๆ ด้าน

จากการศึกษาวิจัยพบว่า ผลของดนตรีที่มีต่อร่างกาย สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอัตราการหายใจ อัตราการเต้นของชีพจร ความดันโลหิต การตอบสนองของม่านตา ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และการไหลเวียนเลือด ผลของดนตรีมีต่อจิตใจและสมอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ สติสัมปะชัญญะ จินตนาการ การรับรู้สภาพความเป็นจริง และการสื่อสารทางอวจนะภาษา

องค์ประกอบต่างๆ ของดนตรี ก็มีประโยชน์ที่แตกต่างกันไป เช่น

จังหวะหรือลีลา (Rhythm) ช่วยสร้างเสริมสมาธิ (Concentration) และช่วยในการผ่อนคลาย (Relax)

ระดับเสียง (Pitch) เสียงในระดับต่ำ และระดับสูงปานกลาง จะช่วยให้เกิดความรู้สึกสงบ

ความดัง (Volume/ Intensity) พบว่าเสียงที่เบานุ่มจะทำให้เกิดความสงบสุข สบายใจ ในขณะที่เสียงดังทำให้เกิดการเกร็ง กระตุกของกล้ามเนื้อได้ ความดังที่เหมาะสมจะช่วยสร้างระเบียบในการควบคุมตนเองได้ดี มีความสงบ และเกิดสมาธิ

ทำนองเพลง (Melody) ช่วยในการระบายความรู้สึกส่วนลึกของจิตใจ ทำให้เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์และลดความวิตกกังวล

การประสานเสียง (Harmony) ช่วยในการวัดระดับอารมณ์ความรู้สึกได้โดยดูจากปฏิกิริยาที่แสดงออกมาเมื่อฟังเสียงประสานต่างๆ จากบทเพลง

ถึงแม้จุดมุ่งหมายของ รพ.รามาธิบดี ที่มีต่อโครงการคอนเสิร์ตอาสาฯ จะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การใช้ดนตรีบำบัด แต่เสียงดนตรีก็ช่วยบำบัดผู้ป่วยและญาติโดยไม่รู้ตัว

กำลังใจสู่ใจอีกดวง

ร.ร.ปัญญาวุฒิกร เป็นโรงเรียนสอนเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาระดับพอเรียนได้และออทิสติก อายุ 5-18 ปี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2520 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดโรงเรียน ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนและพระราชทานนามว่า ร.ร.ปัญญาวุฒิกร เพื่อรองรับเด็กปัญญาอ่อนที่ไม่มีที่เรียน โดยมีเป้าหมายช่วยให้เด็กปัญญาอ่อนช่วยเหลือตัวเองได้ในชีวิตประจำวัน กลับไปอยู่กับครอบครัวและสังคมอย่างปกติสุข

น.ส.อรนุช ชัยพัฒน์ อาจารย์ผู้ฝึกสอนวิชาดนตรีไทย บอกว่า ร.ร.ปัญญาวุฒิกร มีโครงการคีตนาฏสัญจรมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงความสามารถและทักษะทางด้านดนตรีไทย โดยเริ่มฝึกมาตั้งแต่ปี 2543 จนประสบความสำเร็จสามารถนำเด็กออกแสดงได้ในปี 2548 มีเด็กในโครงการทั้งสิ้น 25 คน เวลาออกไปแสดงดนตรีจะไม่มีการเรียกร้องค่าใช้จ่ายใดๆ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องมีรถรับ-ส่ง อาหารและของรางวัลให้เด็ก

"ผลตอบรับในการแสดงที่ รพ.รามาฯ แต่ละครั้งถือว่าดีมาก ส่วนใหญ่จะชื่นชมว่าเป็นเด็กพิเศษ แต่มีความสามารถไม่ต่างจากเด็กปกติเลย เด็กเองก็มีความสุขทุกครั้งที่ไปแสดง พอทุกคนรู้ว่าจะได้ไปแสดงก็จะดีใจร้องไชโยๆ กันทุกคน" น.ส.อรนุช กล่าว

ทีมข่าวรายงานพิเศษ : เรื่อง

จุมพล นัททิพย์ : ภาพ

จากคอลัมน์ "เรื่องเด่นวันอาทิตย์"
นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม 2550












90.gif>




Create Date : 27 พฤษภาคม 2550
Last Update : 28 พฤษภาคม 2550 20:48:22 น.
Counter : 1949 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



บล็อกนี้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดย ชายไทยวัยสูงอายุ มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวต่างๆแบบครอบจักรวาล อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี รายการทีวี หนังสือน่าอ่าน อาหารน่ากิน ท่องเที่ยว สะสมสิ่งของ ตำนานชีวิตบุคคลน่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่า จิปาถะ
ฯลฯ เป็นต้น คำขวัญประจำบล็อก ประสบการณ์ชีวิตที่ดีในอดีต คือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน คำขวัญประจำตัวเจ้าของบล็อก "อายุเป็นเพียงตัวเลข" บรรณาธิการบริหารบล็อกคือ หนุ่มร้อยปี บล็อกนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ท่านใดเห็นว่าข้อเขียนหรือภาพประกอบในบล็อกนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ แต่โปรดอ้างอิงชื่อบล็อกนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง