Group Blog
 
All Blogs
 

มาตราการห้าม Net Settlement ... การแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด (2)

16 ก.ค. 06

ต่อจากตอนที่แล้วนะครับ เรื่องมาตราการห้าม Net Settlement ที่ทางตลาดหลักทรัพย์ออกมาโดยหวังว่าจะป้องกันการปั่นหุ้นได้ โดยคนที่จะปั่นต้องมีเงินมาซื้อขายจริงๆไม่ใช้แค่สร้างราคาแล้วขายต่อให้กับรายย่อยที่หลงเข้ามาซื้อต่อในวันนั้นๆ และจะได้เป็นการช่วยป้องกันรายย่อยไม่ให้หลงเข้ามาติดกับดักราคาของหุ้นปั่น

นั้นคือทางทฤษฎีครับ แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้น มาตราการห้าม Net Settlement นั้นแทบจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของตลาดหลักทรัพย์ได้เท่าทีควรจะเป็นเลย

เพราะหลายสาเหตุครับ หนึ่ง ในการปั่นหุ้นนั้น มีการร่วมมือกันหลายคน และมีหลายบัญชีที่ใช้ในการซื้อขาย ดังนั้นการสร้างราคาก็ยังสามารถทำได้โดยการขายไปมาจากบัญชีกลุ่มหนึ่งไปยังบัญชีของอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นการไล่ราคาพร้อมทั้งสร้างให้เกิดปริมาณการซื้อขายที่สูงจนเป็นที่ต้องตาของรายย่อย รวมทั้งหุ้นทั้งหมดก็ยังคงอยู่ภายในกลุ่มตัวเอง รวมทั้งไม่ต้องใช้เงินจริงๆมากมายนัก

สอง เมื่อราคาและปริมาณการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นที่น่าสนใจแล้ว รายย่อย รวมทั้งนักเก็งกำไรก็ (ด้วยความโลภหรือเริ่มหลงเชื่อในข่าวลือ) เข้ามาไล่ซื้อหุ้นตามแผนของคนปั่นอยู่ดี ถึงแม้ว่าจะรู้ว่าหุ้นตัวนี้อยู่ระหว่างการห้าม Net Settlement ก็ตาม เพราะราคาที่ขึ้นไปเร็วนั้นมันช่างยั่วยวนแมงเม่าเสียเหลือเกิน หรือไม่ก็ทนไม่ได้กับการที่เห็นราคาหุ้นบวกขึ้นไปปาวๆโดยที่ตัวเองไม่มีหุ้นนั้น

สาม หลังการประกาศใช้มาตราการห้าม Net Settlement นั้น ขาปั่นก็ยังคงมีทางเลือกว่าจะปั่นต่อ (โดยการโยนหุ้นไปมาระหว่างบัญชี) หรือเลิกเล่นทิ้งหุ้นให้จมดินก็ได้ แต่รายย่อยที่ซื้อหลังจากนั้น (อาจด้วยเพราะยังหลงเชื่อ) ไม่สามารถขายทิ้งได้ในวันนั้นๆหากราคาหุ้นไม่เป็นไปตามที่คาด เพราะติดเรื่องการห้าม Net Settlement นี่เอง (จริงๆแล้วทำได้ แต่รายย่อยกว่าครึ่งไม่ทราบรายละเอียด เพราะการอ่อนประชาสัมพันธ์ของตลาดเอง) สรุปคือ กลายเป็นผลร้าย รายย่อยหนีไม่ได้อีก หรือไม่ก็ระหว่างวันก็ไม่กล้าตัดสินใจซื้อ เพราะกลัวว่ากลับข้างไม่ได้

สุดท้าย และน่าจะเป็นข้อที่สำคัญที่สุด กล่าวคือการประกาศมาตราการห้าม Net Settlement นั้นมักจะทำหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นอย่างผิดปกติไปแล้ว หรือแปลอีกนัยหนึ่ง คือ จะมีการใช้หลังจากที่หุ้นได้ขึ้นไปมากแล้ว รายย่อยก็หลงซื้อเข้าไปมากแล้ว และอาจรวมทั้งขาปั่นขายทิ้งไปแล้วด้วยก็ได้

สิ่งที่สงสัย และอยากให้เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าจะแก้ปัญหาการปั่นหุ้นได้ในระยะยาว นั้นคือการตรวจสอบจนสามารถจับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างราคามาลงโทษ ทั้งปรับ และทั้งจำคุก ต้องมีการใช้กฎหมายให้เกิดขึ้นจริงๆเป็นตัวอย่างให้ดู จึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง ที่ผ่านมามีหุ้นหลายๆตัวก็เห็นการสร้างราคาชัดเจน แต่ไม่เห็นตลาดทำอะไรได้ ขบวนการปั่นหุ้นจึงยังมีอยู่ในตลาดไทยต่อไปไม่สิ้นสุดไงครับ




 

Create Date : 17 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2549 12:48:34 น.
Counter : 788 Pageviews.  

มาตราการห้าม Net Settlement ... การแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด (1)

1 ก.ค. 49

การสร้างราคาหุ้น หรือที่เรียกว่าการปั่นหุ้นนั้น เป็นสิ่งที่ทางตลาดหลักทรัพย์หาทางป้องกันแก้ไขมาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะพวกหุ้นที่ขึ้นเป็นร้อย%ในอาทิตย์ถึงสองอาทิตย์ ซึ่งหลังจากเป็นดาวเด่นอยู่สักพักนึง ก็มักจะตามดวยการลงแบบถล่มทลายในเดือนหรือสองเดือนหลังจากนั้น สร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุนที่หลงระเริงเข้าไปอย่างเจ็บช้ำ (แต่ไม่เคยเข็ด) รวมทั้งทำลายความน่าเชื่อถือของตลาดหลักทรัพย์ว่าเป็นเพียงแค่บ่อนของคนมีสตางค์เท่านั้น (ส่วนหวยใต้ดินก็เป็นบ่อนคนไม่ค่อยมีสตางค์แทน)

ทางตลาดหลักทรัพย์เองก็ดูจะมีมาตราการหลายอย่างออกมาเพื่อแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ในช่วงปีสองปีหลังนี้ มาตราการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้บ่อยที่สุดคือ การห้าม net settlement หรือ ห้ามซื้อขายหักกลบลบกันในวันเดียวกัน

มาตราการนี้เกิดจากความเชื่อของลักษณะหุ้นปั่นอยู่สองอย่าง คือ หนึ่ง หุ้นปั่นนั้นมักสร้างราคาได้ง่ายและใช้เงินไม่มาก โดยการไล่ซื้อหุ้นในช่วงเช้าหรือบ่ายต้นๆ จนราคาเพิ่มขึ้นเป็นจุดสนใจ สามารถหลอกให้แมงเม่าเข้ามาร่วมวงไล่ราคาด้วยความเชื่อว่าจะมีการปั่นหุ้นตัวนี้ หรือ การเชื่อว่าอาจมีข่าวดีที่กำลังจะประกาศออกมา ส่วนเจ้ามือนั้นก็ค่อยๆขายหุ้นทิ้งในตอนที่ราคาสูงๆ ตอนเย็นๆของวัน เพื่อจะได้หักลบกลบกับเงินที่ใช้ซื้อในตอนเช้า ทำให้ไม่ต้องใช้เงินจริงๆในการสร้างราคาหุ้นดังกล่าว

ลักษณะที่สอง คือ หุ้นปั่นแบบนี้มักมีรายย่อยใจกล้า ไม่มีเงินแต่กลับเข้าซื้อหุ้นตามด้วยการใช้ margin หรือใช้วงเงินที่สามารถขอได้ แล้ว พยายามที่จะขายให้ได้สูงกว่าที่ซื้อมาในตอยก่อนตลาดปิด ที่ต้องขายทิ้งในวันเดียวกันเพราะตนเองไม่มีเงินจริงๆไปชำระได้

ทั้งสองลักษณะนี้ทำให้การปั่นหุ้นประสบความสำเร็จ มี volume ซื้อขายเข้ามาสูงจนหุ้นเป็นที่น่าสนใจ (เตะตา) หรือที่เปรียบเทียบกันว่าเป็นการจุดกองไฟ และโดยมากมักเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายน้อยมาก่อน จู่ๆกลับมีปริมาณการซื้อขายเข้ามามาก ข่าวลือต่างๆที่สร้างหลอกกันขึ้นมาจึงดูน่าเชื่อถือ (กองไฟเริ่มโชติช่วง) ทำให้นักลงทุนรายย่อยทั่วๆไป ผู้มักจะมีความโลภเป็นทุนเดิม จึงต้องให้ความสนใจเข้ามาร่วมวงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การสร้างราคาหุ้นจึงจะประสบความสำเร็จได้ง่าย

นักลงทุนที่หลงเข้ามานี้ ก็อีกแหละ ส่วนใหญ่จะคิดเข้าข้างตัวเองว่า ตัวเองนั้นหนีทัน (ขายทิ้งทัน) หากหุ้นไม่เป็นไปอย่างที่คิด จึงไม่กลัวที่จะเข้าลุยไฟ กลายเป็นที่มาของคำว่า แมงเม่าบินเข้ากองไฟอย่างแท้จริง

เพื่อเป็นการหยุดวงจรเหล่านี้ให้จงได้ ตลาดหลักทรัพย์เรา ผู้แสดงตัวว่าเป็นผู้อยู่ข้างนักลงทุนรายย่อย ทำเพื่อปกป้องรายย่อย (ไม่ได้เพื่อป้องกันคนอื่นมาด่าตัวเองนะ) จึงออกมาตราการ การห้ามการซื้อขายกลบ-ลบในวันเดียวกัน (การห้าม net settlement) เพื่อเป็นการตัดเส้นเลือดของพวกปั่นหุ้น

โดยหวังว่า หนึ่ง หากจะปั่นหุ้นจริง ต้องใช้เงินเยอะมาก ซึ่งก็คงจะทำให้พวกนี้กล้าน้อยลง (หรือประสบความสำเร็จยากขึ้น) เอ... หรือเป็นการผลักให้พวกปั่นหุ้นไปรวมตัวกันเป็นแก๊งค์ใหญ่ขึ้นก็ไม่รู้ (พวกมาใหม่จะได้ไม่เกิด เหลือแต่พวกขาใหญ่เดิมๆ ... Oopsssss.. อิ อิ)

และสอง เป็นการตัดพวกรายย่อยใจกล้าไม่ให้เข้ามาร่วมวง เวลามีหุ้นปั่น เพราะต้องใช้เงินจริงๆในการซื้อขายละ ไม่สามารถใช้เงินลมได้ต่อไป ท้ายที่สุดพวกกลุ่มนี้ก็จะน้อยลง และ volume หุ้นเหล่านี้จะได้ไม่สูงเกินจริง เปรียบได้กับกองไฟที่ไม่สว่างมากนัก ก็ล่อแมงเม่าได้น้อย และราคาก็สร้างได้ยาก
คราวนี้ตลาดก็จะจับตาดูหุ้นที่เพิ่มขึ้นมากๆในเวลาสั่นๆ เช่น พวกหุ้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 100% ในช่วงเวลาหนึ่งถึงสองอาทิตย์ พอเจอหุ้นพวกนี้เข้า ก็จะเข้าไปใช้มาตราการ การห้ามซื้อขายหักกลบลบหนี้กันในวันเดียว เป็นการทำเพื่อปกป้องรายย่อยไม่ให้โดนหลอก และการขึ้นต่อไปต้องเกิดจากการขึ้นที่แท้จริง .... แฮ่ม !

แต่พอหุ้นลง ท่าน (แม่-ง) ไม่เห็นเคยมาดู หรือเคยออกมาตราการเหล่านี้มาช่วยรายย่อยบ้างเลย คอยดูแต่หุ้นขึ้น (ซึ่งมีรายย่อยกลุ่มหนึ่งได้และอีกกลุ่มเสีย ขณะที่หุ้นลงรายย่อยทุกกลุ่มเสียหมด แต่ขาใหญ่ได้เป็นปกติ) โดยมักจะมีเหตุผลว่ายังไม่ได้ใช้มาตราการนี้ (ตอนหุ้นลง) เพราะหุ้นยังไม่ได้เคลื่อนไหวผิดปกติ “เกินไป” เหมือนตอนหุ้นขึ้น ซึ่งเปลี่ยนแปลงเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์

ก็แหงดิครับ หุ้นขึ้นจาก 0.50 บาทไปเป็น 1.00 บาท เท่ากับหุ้นขึ้น 100% ==> ผิดปกติ แต่ถ้าหุ้นลงจาก1.00 บาทกลับมาเป็น 0.50 บาท ถือว่าหุ้นลงแค่ 50% ยังไม่ผิดปกติมากเกินไป.... อ้าววววว ทั้งๆที่หุ้นมันก็เปลี่ยนแปลงไป 0.50 บาทเหมือนกันเนี่ย อะนะ หุ้นมันจะไปลง 100% ได้ไงอะ ถ้าจะลง 100% หุ้นมันก็ต้องเหลือ 0 บาทแล้วครัาบบบบ

ถึงบอกว่าหุ้นขาลง รายย่อยไม่เคยได้รับการปกป้องใดๆจากตลาดหลักทรัพย์เลย พวกปั่นๆก็ทุบราคาหุ้นเอาปาวๆ แล้วไปซื้อกลับตอนถูกๆ ได้หุ้นคืนกลับมาหมด แถมเงินเหลืออีกเพียบไว้ไปปั่นหุ้นใหม่คราวหน้าได้อีก

ชักจะยาวเกินไป ขอแบ่งเป็นสองตอนดีกว่า ยังไม่ได้กล่าวถึงเลย ว่าทำไมมาตราการที่คิดว่าจะช่วยรายย่อยนี้ ในทางปฏิบัติแล้วไม่ได้ช่วยหรือ แก้ปัญหาได้จริงๆเลย ต่อตอนหน้านครับ ...




 

Create Date : 01 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 1 กรกฎาคม 2549 17:42:02 น.
Counter : 419 Pageviews.  

เสียดาย บริษัทไทยเบฟ (เบียร์ช้าง)

16 มิ.ย. 49

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ต้องจารึกไว้ของวงการหุ้นไทย คือการที่ บริษัท ไทยเบฟ หรือเบียร์ช้าง แม่โขง แสงโสม ฯลฯ ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เป็นอะไรที่น่าเสียดายมากๆและน่าผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นที่สุด

ที่เสียดายนี่ ไม่ใช่ว่าเสียดายที่ไม่ได้ซื้อหุ้น IPO ไทยเบฟ นะครับ ตัวบริษัทและลักษณะธุรกิจหนะ น่าสนใจจริงๆ แต่น่าซื้อหุ้นหรือเปล่ามันก็ขึ้นอยู่กับราคาที่ขายด้วยนะครับ ว่าขายแพงเกินไปหรือเปล่า เพราะฉะนั้นที่บอกว่าผิดหวังหนะ ก็คือผิดหวังกับการเสียโอกาศของเติบโตของตลาดทุนไทยไปให้กับตลาดคู่แข่งเพื่อนบ้านต่างหาก

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า เรื่องต้นทุนนั้น เป็นสิ่งสำคัญต่อความได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่ง เพราะถ้าสินค้าที่คล้ายๆกันแล้ว หากคู่แข่งมีต้นทุนที่ถูกกว่า สามารถเสนอราคาได้ต่ำกว่าเรา ลูกค้าก็จะไปซื้อของกับเขาหมด ใครจะมาซื้อของของเรา

นั้นคือเรื่องต้นทุนที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่ในปัจจุบัน มีต้นทุนอีกประเภทหนึ่งที่เริ่มมีบทบาทสำคัญเช่นกัน แต่คนไทยยังไม่ค่อยได้คำนึงถึงเท่าไร นั้นคือเรื่องต้นทุนทางการเงิน

การมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำอาจมาจากการที่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้ถูกกว่าคู่แข่ง และ/หรือ อาจหมายถึงการที่บริษัทสามารถระดมทุนได้ในต้นทุนที่ต่ำ อาทิเช่น พวกบริษัทที่ทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ตที่สามารถระดมทุนได้ ในราคาขายที่สูงมากๆด้วย (PE ณ ตอนขายเป็นหลายสิบถึงร้อยเท่าของกำไร) จากตลาดหลักทรัพย์ ก็ทำให้บริษัทเหล่านั้นสามารถให้บริการหลายอย่างที่ฟรี (จนดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้) ที่ใกล้ๆตัวก็เช่นพวก email ฟรี หรือ search engine ฟรีๆที่เราใช้ๆกันอยู่ เป็นต้น

สำหรับเราๆท่านๆ แค่คิดก็ผิดแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเมืองไทย เมืองไทย PE อยู่สัก 9 เท่า บริษัทกำไร 100 ล้านบาท ระดมทุนได้ 900 (คิดแบบ 100% นะ) ที่ที่อื่นระดมทุนได้ 2,000 ล้านบาท (ที่สิงดโปร์ก็ PE เกือบ 20 เท่า) แค่นี้ก็แพ้กันขาดแล้ว

การพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นที่น่าสนใจลงทุนนั้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศสามารถระดมเงินด้วยต้นทุนที่ถูก และหากมีต้นทุนที่ถูก เราก็จะสามารถแข่งขันกับบริษัทในต่างประเทศได้ สิ่งหนึ่งที่ตลาดทุนเราเป็นที่น่าสนใจนั้น ก็คือ เราต้องมีขนาดใหญ่พอจนเป็นที่น่าสนใจกว่าตลาดอื่นๆที่ใกล้เคียงกัน

ดังนั้นการที่บริษัทไทยเบฟ ซึ่งเป็นบริษัทไทยเราเองแท้แต่กลับ“หลุด”ไปจากตลาดทุนไทยแถมไปเสริมให้ตลาดทุนของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งกับเราด้านนี้อยู่จึงเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง การ IPO ครั้งนี้ก็เป็น IPO ที่ใหญ่ที่สุดของตลาดทุนเขาซะด้วย เรียกว่าเอาของดีและใหญ่มากๆของเราไปประเคนให้เขาถึงที่เลย

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ บริษัทผลิตสุรารายนี้ไม่สามารถจดทะเบียนในตลาดเราได้นั้นก็มาจากเหตุผลหลักๆว่าหากเข้าจดทะเบียนในไทยแล้วจะทำให้คนไทยดื่มสุรามากขึ้น บริษัทจะมีทุนไปทำการโฆษณามากขึ้น เป็นต้น

ถึงวันนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดอย่างยิ่ง ของคนกลุ่มหนึ่ง ที่บอกว่าหวังดีต่อประเทศ แต่ขาดมุมมองอันกว้างไกลของการแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน เพราะเมื่อบริษัทต้องหนีไปจดทะเบียนที่ประเทศอื่นแล้ว ก็ไม่ได้แก้ปัญหาใดๆที่อ้างขึ้นมาทั้งสิ้น บริษัทก็ยังได้เงินทุนตามที่ต้องการ และคนไทยก็ยังดื่มสุราอยู่อย่างไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร

จริงๆแล้วการดื่มสุราของคนไทยมันไม่ได้เกี่ยวเลยสักนิดว่าบริษัทจะจดทะเบียนหรือไประดมทุนที่ไหน แถมการกระทำครั้งนี้ยังส่งผลเสียต่อตลาดทุนไทยซะเองในระยะยาว (นี่ไม่ได้พูดถึงตัวเงินค่าคอมจากการซื้อขายหุ้นที่แทนที่โบรกเกอร์ในไทยจะได้รับ กลับกลายเป็นของโบรกเกอร์ในสิงคโปร์เอาไปซะนี่)

แทนที่จะยอมให้จดทะเบียนในไทย เพื่อเป็นการขยายตลาดทุนไทยให้ใหญ่ยิ่งขึ้น และใช้โอกาสนี้ เพิ่มเงื่อนไขต่อบริษัท เช่น บริษัทจะโฆษณาไม่ได้ในช่วงเวลาที่อาจมีเยาวชนรับชมสื่ออยู่ หรือ ในทำนองให้บริษัทต้องรณรงค์ตั้งเป็นกองทุนที่ประชาสัมพันธ์ถึงผลเสียของการบริโภคสุรา เป็นต้น ซึ่งดูจากท่าทีของบริษัทแล้ว บริษัทก็น่าจะตกลงได้ด้วยดี โดยรวมน่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งฝ่ายผู้ประท้วงและผู้สนับสนุนมากกว่าครับ

*แก้ไขตัวสะกดครับ




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2549    
Last Update : 20 มิถุนายน 2549 16:30:49 น.
Counter : 920 Pageviews.  

อีกนิด เรื่องค่าเงินบาทกับ hedge fund

1 มิย. 49

ขอต่อเรื่องค่าเงินบาท จากตอนที่แล้วนิดนึงนะครับ

หลังผมลงความเห็นไปว่าบาทน่าจะทรงอยู่ในระดับค่อนข้างแข็งนี้ต่อไปอีกสักพักใหญ่ นอกเสียจากมีเหตุปัจจัยที่ทำให้ต่างชาติขายหุ้นทิ้งหรือ คนในประเทศที่มีเงินเป็นหมื่นๆล้านนำเงินออกไปลงทุนนอกประเทศ สองสามวันต่อมา เงินบาทก็อ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว จาก 37.5 บาทต่อ US$ ไปสู่ประมาณ 38.5 ก่อนจะกลับมายืนอยู่แถวๆ 38.0-38.2 บาท จนถึงปัจจุบัน

สาเหตุน่าจะเกิดจากเงินไหลออกจากประเทศไทยเราครับ ต่างชาติขายเงินลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท (แต่บางส่วนก็ไม่ได้ย้ายเงินออกไปนะ) โดยมีพื้นฐานมาจากการคาดการว่าเงินเฟ้อในสหรัฐจะสูง และดอกเบี้ยจะยังคงขึ้นต่อ (ต่างจากความเชื่อเดิมที่คาดว่าการขึ้นของดอกเบี้ยใกล้จะสิ้นสุดแล้ว) ค่าเงินเหรียญสหรัฐมีแนวโน้มไม่อ่อนไปกว่านี้ (ทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการเก็งกำไรค่าเงินผสม) รวมทั้งภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มว่าอาจไม่เติบโตสวยงามเท่าไร

การขายหุ้นทิ้งครั้งนี้เกิดขึ้นทั่วโลกครับ หุ้นลงกันเกือบทุกประเทศ และเป็นการลงอย่างรวดเร็วเสียด้วย ไม่ใช่เฉพาะหุ้นเท่านั้น มีการย้ายเงินลงทุนจากที่ๆมีการเก็งกำไรสูงๆ เช่น ทองคำ ทองแดง หรือธาตุอื่นๆก็มีการขายทิ้งจนราคาลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน แล้วย้ายเงินไปสู่ที่ๆมีความเสี่ยงน้อยลง เช่น ฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตร เพื่อรับหรือเก็งกำไรดอกเบี้ย

กลุ่มที่เป็นผู้นำการขายครั้งนี้ ก็คงเป็นพวกกองทุน hedge fund ต่างๆนั้นเอง

มีคนถามว่า แค่เรื่องดอกเบี้ยจะขึ้นต่อนั้น ส่งผลถึงขนาดนี้เลยเชียวหรือ จริงๆก็ต้องบอกว่าดอกเบี้ยนั้นได้ขึ้นมาแล้วระยะหนึ่ง แต่ประเด็นคือการที่ดอกเบี้ยจะขึ้นเกินกว่าที่หลายคนคาดการณ์ (หรือเรียกว่าสูงเกินกว่าระดับที่สามารถกู้ไปสร้างผลตอบแทนได้ดีพอ)ไว้ต่างหากที่เป็นประเด็น

คำถามต่อมาคือ หากดอกเบี้ยจะสูงเกินไปสัก1-2% นั้นมีผลทำให้ hedge fund ทั้งหลายต้องรีบขายหุ้นทิ้งขนาดนี้เลยหรือ ไม่น่าจะเป็นไรถึงขนาดนั้นนะ?

เรื่องนี้เราต้องเข้าใจลักษณะของ hedge fund ซะก่อนว่ามีโครงสร้างเป็นอย่างไร โดยปกติแล้วกองทุนเหล่านี้เมื่อระดมทุนได้ก้อนหนึ่ง สมมุติว่า 10 ล้านเหรียญ กองทุนเหล่านี้จะนำเงินก้อนนี้ไปค้ำประกันแล้วกู้เพิ่มเป็น 100 ล้านเหรียญ เพื่อนำมาลงทุน (อัตราส่วน 10 เท่านี่ประมาณเป็นตัวอย่างนะครับ) การกู้เป็นหลายๆเท่านี้มีขั้นตอนพอสมควร แต่ก็เป็นระบบที่สามารถทำได้ในต่างประเทศครับ

ดังนี้นจะเห็นได้ว่า หากดอกเบี้ยเพิ่มเกินกว่าที่ยอมรับได้สัก 1% ก็แปลว่าจะต้องมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 ล้านเหรียญ (คิดจากเงินกู้ 100 ล้านเหรียญ) ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถึง 10% ของเงินต้นทีเดียว (1/10) ก็เล่นกู้มาตั้งสิบเท่านิ ดังนั้นกองทุน hedge fund เหล่านี้จึงมีปัญหาอย่างมากหากดอกเบี้ยมีการขึ้นไปเกินกว่าได้ป้องกันความเสี่ยงเอาไว้ (ก็ใครจะไปหากำไรได้ 20-30% ตลอดเวลาในภาวะอย่างนี้หละ)

นั้นคือหนึ่งในที่มาของการขายเงินลงทุนทิ้งทั่วโลกช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมาครับ

ว่าจะขอพูดถึงเรื่องการที่บริษัท ไทยเบฟ หรือ เบียร์ช้าง หนีไปจดทะเบียนในตลาดต่างประเทศสักหน่อย แต่กลัวว่าเดี๋ยวจะยาวเกินไป ขอยกยอดไปไว้ตอนหน้าดีกว่าครับ




 

Create Date : 01 มิถุนายน 2549    
Last Update : 1 มิถุนายน 2549 11:51:41 น.
Counter : 294 Pageviews.  

เรื่องของค่าเงินบาทแข็ง

16 พ.ค. 2549

ค่าเงินบาทช่วงนี้แข็งตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 37 – 38 ต่อหนึ่ง เหรียญดอลล่าห์สหรัฐ ซึ่งถือว่าแข็วตัวกว่าช่วงปีที่ผ่านมา (ประมาณ 40 บาทต่อดอลล่าห์สหรัฐ) พอสมควรทีเดียว

บริษัทที่เป็นผู้ส่งสินค้าออก ย่อมเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบนี้ เพราะหากแปลงราคาขายเป็นเงินบาทแล้ว ราคาขายของสินค้าจะแพงขึ้นทันที กว่าสิบเปอร์เซ็นต์ ยิ่งเป็นพวกสินค้าเกษตรแล้ว ราคาเพิ่มขึ้น 2-3% ก็ขายแข่งกับประเทศอื่นยากแล้ว ค่าเงินเราทรงตัวอยู่ในระดับ ประมาณ 40 บาท มาหลายปีแล้ว การปรับราคาขายทำไม่ได้ง่ายๆอย่างแน่นอน

บริษัทส่งออกขนาดใหญ่อย่าง CPF อาจมีการทำป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงินไว้ระดับหนึ่ง แต่คงเป็นมาตราการที่ช่วยได้ชั่วคราว เพราะระยะยาวคงไม่ได้มีใครป้องกันความเสี่ยงไว้เยอะขนาดนั้น ส่วนบริษัทส่งออกขนาดกลางหรือขนาดเล็กยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ล่วงหน้าเลย ก็ต้องรับผลกระทบกันแบบเต็มๆ

ราคาขายที่ต้องเพิ่มขึ้นนั้น ก็ไม่สามารถส่งต่อไปยังผู้ซื้อได้ทั้งหมด เพราะหากสินค้าเราแพงขึ้น ผู้ซื้อต่างประเทศส่วนใหญ่ก็สามารถเปลี่ยนไปซื้อสินค้าแบบเดียวกับเราจากประเทศอื่นๆได้ทันที ยิ่งสินค้าเกษตรของเราส่วนใหญ่ไม่ได้มี brand เป็นของตนเองอยู่แล้วด้วย (ส่งออกภายใต้ brand ของลูกค้า) ผลกระทบสุดท้ายก็จะกลับมาหาเกษตรกรผู้ปลูกพืชหรือผู้เลี้ยงสัตว์ที่ต้องขายของไม่ได้ราคาไปเพราะสินค้าล้นตลาดในประเทศ

อย่างไรก็ตาม การแข็งขึ้นของค่าเงินบาทก็ส่งผลดีต่อคนอีกกลุ่มในประเทศเช่นเดียวกัน โดยตรงก็คือผู้นำเข้านั้นเอง เพราะจ่ายค่าสินค้าเป็นเงินบาทที่ถูกลง

อีกอย่างหนึ่งที่เป็นด้านดีของค่าเงินแข็งก็คือ ช่วยลดผลกระทบบางส่วนจากภาวะน้ำมันแพง (เพราะนำเข้าเป็นเงินไทยถูกลง) และช่วยชะลอปัญหาเงินเฟ้อของประเทศได้อย่างน้อยก็สักช่วงหนึ่ง

ประเด็นต่อไปก็คือ ค่าเงินบาทจะคงตัวอยู่ในระดับนี้นานหรือไม่ หรือจะกลับไปสู่ระดับ 40 บาทเหมือนเดิม ในมุมมองจากตลาดหุ้น (ตลาดทุน) แล้วนั้น ส่วนหนึ่งที่ค่าเงินแข็งขึ้นอย่างมากคราวนี้ก็มาจากเงินต่างชาติที่นำมาลงทุนในหุ้นไทย ถึงปัจจุบันก็เป็นแสนล้านแล้ว และยังไม่มีท่าทีว่าจะขายนำเงินกลับออกไป อีกทั้งมีการนำเงินก้อนใหญ่เข้ามา takeover บริษัทสื่อสารใหญ่ของไทยและบริษัทเหล็กอีกบริษัทหนึ่ง รวมเงินที่นำมาซื้อสองบริษัทนี้ก็อีกเป็น แสนล้านบาท ดูก็ยังเป็นเหตุผลอธิบายเรื่องค่าเงินรอบนี้ได้

เมื่อมองสภาวะปัจจุบันของธนาคารพาณิชย์ต่างๆในไทย ที่กำลังแข่งกันหาเงินฝากด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากกันอยู่ขณะนี้ ก็เป็นสัญญาณอีกอย่างหนึ่งว่ายังมีความต้องการเงินบาทอยู่สูงในตลาด ซึ่งก็น่าจะเป็นปัจจัยทำให้เงินบาทยังคงอยู่ในระดับแข็งแบบนี้ต่อไปอีกสักพัก

ทำไมทางธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เข้ามาช่วยเรื่องค่าเงินเพื่อบรรเทาปัญหาให้ผู้ส่งออกบ้าง ส่วนหนึ่งก็เพราะเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าการแข็งขึ้นของค่าเงินคราวนี้เป็นการแข็งขึ้นจากการไหลเข้าของเงินจริงๆและเป็นความต้องการเงินบาทในประเทศจริงๆ ไม่ไช่เกิดจากการเก็งกำไรค่าเงิน ซึ่งมักเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว

ประกอบกับเงินสำรองของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูง สูงกว่าช่วงเศรษฐกิจเติบโตมากๆในช่วงก่อนปี 97 เสียอีก (ปริมาณนี้ทำให้สถานะการเงินของประเทศอยู่ในภาวะมั่นคง และ/หรือเกินความจำเป็นหรือไม่?) การไปพยุงเงินบาทในตอนนี้ก็จะเป็นภาระเรื่องดอกเบี้ยให้กับประเทศไทยอีกพอสมควร จึงดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากสำหรับ ธนาคารแห่งประเทศไทยไป

มิน่าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องออกมาให้ข่าวว่าบริษัทส่งออกต่างๆควรหาทางรับมือค่าเงินในรอบนี้ ไม่ใช่หวังว่าเดี๋ยวก็จะกลับไปที่เดิม เพราะรอบนี้เป็นของจริงและดูท่าแล้วเงินบาทเราจะแข็งอยู่อย่างนี้อีกยาวนานนี่เอง ส่วนเหตุอื่นๆที่อาจทำให้เงินบาทกลับไปอ่อนได้ คงต้องรอให้ต่างชาติขายหุ้นในส่วนของแสนล้านที่ได้ซื้อไปซะก่อน (แต่ไม่ดีเพราะหุ้นตก) หรือไม่ก็คนที่ได้เงินเป็นหมื่นๆล้านจากการขายบริษัทเมื่อเร็วๆนี้ นำเงินไปซื้อดอลล่าห์หละครับ .....




 

Create Date : 16 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 16 พฤษภาคม 2549 14:05:16 น.
Counter : 359 Pageviews.  

1  2  3  4  

c-sar-salad
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add c-sar-salad's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.