[News] โรงงานฮาร์ดดิสก์จม โอกาสเกิด "SSD - Cloud Computing"
เทคโนโลยีที่ถือว่าอาจเป็น "ตัวเลือก" ในยามที่ฮาร์ดดิสก์ขาดแคลนอย่าง "SSD" อาจจะกำลังเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ในครั้งนี้



เหตุน้ำท่วมใหญ่ในไทยครั้งนี้ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะ "อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์" ที่มีฐานผลิตในไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน ซึ่งผลจากโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตฮาร์ดดิสก์ในไทยจำเป็นต้องหยุดสายพานผลิตชั่วคราวทำให้อนาคตของอุตสาหกรรมไอทีดูเหมือนจะเริ่มมืดมน และยังเป็นจุดเริ่มต้นของราคาสินค้าที่กำลังจะพุ่งขึ้นราวกับติดจรวด
 
ขณะที่ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ "เวสเทิร์น ดิจิตอล" ยอมรับว่า อาจต้องใช้เวลา 5-8 เดือนจึงจะสามารถกลับมาเดินเครื่องผลิต และฟื้นฟูโรงงานให้กลับสู่สภาพเดิมได้

ฮาร์ดดิสก์หลบ "SSD" มาแล้ว
หากในวิกฤติยังคงมีโอกาสเสมอ ณ ที่นี้ข้ามประเด็นของทำเลที่ผลิตไปก่อน เทคโนโลยีที่ถือว่าอาจเป็น "ตัวเลือก" ในยามที่ฮาร์ดดิสก์ขาดแคลนอย่าง "SSD (โซลิด สเตท ไดร์ฟ)" ที่มีผู้ผลิตรายหลักๆ เช่น ฟิวชั่น ไอโอ, สแกนดิสก์, สเตค อิงค์ และโอซีแซด เทคโนโลยี กรุ๊ป อาจจะกำลังเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ในครั้งนี้
 
ทั้งนี้ เนื่องจาก "SSD" เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ประยุกต์ใช้แฟลช เมมโมรี่มาทำเป็นฮาร์ดดิสก์เก็บข้อมูล ซึ่งข้อดีคือกินไฟต่ำ และเข้าถึงข้อมูลได้เร็วกว่า เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้แผ่นจานหมุน หรือไม่มีส่วนที่เคลื่อนย้ายได้เหมือนกับฮาร์ดดิสก์
 
นอกจากนี้ ยังทนทานและรองรับการกระแทกได้ดีกว่า แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องราคาที่สูงกว่าฮาร์ดดิสก์ทำให้ยังไม่ได้รับความนิยมใช้งานอย่างแพร่หลาย ตลอดจนความจุที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับฮาร์ดดิสก์ปัจจุบันที่ขึ้นไปอยู่ในระดับเทราไบต์

เปลี่ยนวิกฤติเป็นตัวเร่ง
 นักวิเคราะห์จากไอเดียส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า เหตุการณ์น้ำท่วมไทยในครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลต่อผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ในประเทศ แต่ยังกระตุ้นให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบจัดเก็บข้อมูล รวมทั้งเร่งการยอมรับใช้ "SSD" อย่างแพร่หลาย
 
ก่อนหน้านี้ "สตอเรจเสิร์ช" ได้สำรวจ 20 บริษัทในอุตสาหกรรมที่ริเริ่มเทคโนโลยีดังกล่าว โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อของไอทียักษ์ใหญ่อย่าง "อีเอ็มซี" และ "อินเทล" ด้วย แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับที่จริงจังมากนัก
 
อย่างไรก็ตามหนึ่งในบริษัทที่ขึ้นชื่อด้าน SSD มากที่สุดในปัจจุบันคือ "ไวโอลิน เมมโมรี่" ได้ลงทุนไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวแล้วคิดเป็นมูลค่าถึง 440 ล้านดอลลาร์
 
"วัตถุดิบสำหรับการผลิตไดร์ฟประเภทนี้โดยปกติแล้วจะใช้เทคโนโลยีแฟลช เมมโมรี่ และชิพSSD คอนโทรลเลอร์ แต่สิ่งสำคัญจริงๆ แล้วคือ ซอฟต์แวร์ที่จะเป็นตัวกำหนดว่า SSD แบบนี้จะใช้กับโน้ตบุ๊ค, แทบเล็ต หรือใช้กับระบบพื้นฐานสำหรับคลาวด์ คอมพิวติ้ง"
 
ตลาด SSD ในปัจจุบันยังแบ่งแยกชัดเจน โดย "ฟิวชั่น ไอโอ" และ "ไวโอลิน" จะผลิต SSD สำหรับตลาดคลาวด์ ส่วน "แซนดิสก์" ส่วนใหญ่จะเน้นตลาดหลักในกลุ่มพีซี

เปิดโอกาสสินค้าใหม่
แต่ไม่เฉพาะ "SSD" เท่านั้นที่เป็นทางเลือกใหม่สำหรับตลาดพีซีที่มีทีท่าว่าจะขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญอย่างฮาร์ดดิสก์ หากยังอาจเป็นโอกาสที่สินค้าไอทีประเภทอื่นๆ จะได้รับความสนใจมากขึ้น เช่น แทบเล็ต และมือถือ ที่ไม่ต้องใช้ฮาร์ดดิสก์ แต่ก็มีศักยภาพการทำงานที่ไม่ต่างอะไรกับพีซี

ตลอดจนการยอมรับใช้เทคโนโลยีแบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง ที่องค์กรไม่จำเป็นต้องลงทุนระบบเองทั้งหมด แต่หันมาใช้บริการระบบการจัดเก็บข้อมูลจากผู้ให้บริการต่างๆ โดยมีต้นทุนแบบจ่ายตามการใช้งานจริงเท่านั้น
 
โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตแฟลชแนนด์ชิพรายใหญ่ทั้ง "โตชิบา" ซึ่งมีโรงงาน 4 แห่งในญี่ปุ่น และ "ซัมซุง" ที่มีฐานผลิตหลักอยู่ในเกาหลีที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในไทยครั้งนี้
 
นายคริสเตียน โอเบอร์ รองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการของไอเดียส์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ผลจากการขาดแคลนฮาร์ดดิสก์อาจจะกำลังหมายถึงสัญญาณเตือนว่า องค์กรจะต้องทำไรมากขึ้นกว่าเดิม
 
เขาระบุว่า ปัจจุบันองค์กรใช้พื้นที่บนฮาร์ดดิส์เพียง 30-40% เท่านั้น ซ้ำบางอย่างยังเป็นข้อมูลซ้ำ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่องค์กรควรจะหันมาใช้ระบบการเก็บข้อมูลแบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง ที่สามารถจัดการกับข้อมูลซ้ำซ้อนได้ดีกว่าฮาร์ดดิสก์
 
นายริชาร์ด เมย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเวอร์ชวลไอดีซีเอส กล่าวว่า ภัยพิบัติธรรมชาติเช่นนี้มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทำให้องค์กรธุรกิจหลายแห่งเริ่มต้องการฮาร์ดแวร์ที่ยืดหยุ่นกับธุรกิจมากขึ้น
 
เหตุผลดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทต่างๆ เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีแบบ "อินฟรา แอส อะ เซอร์วิส" หรือโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีที่ใช้พื้นที่เก็บข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง ที่พร้อมสำหรับการใช้งาน และยืดหยุ่นสำหรับความต้องการของแต่ละบริษัทได้ดี รวมทั้งบริษัทต่างๆ ก็ยังสามารถอัพเกรด หรือดาวน์เกรด พื้นที่สำหรับเก็บข้อมูลบนคลาวด์ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ โดยไม่ต้องลงทุนเอง



Create Date : 06 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2554 16:09:12 น.
Counter : 330 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

iFreeZero
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



All Blog