การมีธรรมของพระตถาคตอยู่ในโลกคือ ความสุขของโลก
Group Blog
 
All Blogs
 
ทำไมเราควรศึกษาแต่คำของพระพุทธเจ้า

ทำไมเราควรศึกษาแต่คำของพระพุทธเจ้า

ความจริงที่ต้องรู้ ๙ประการ เมื่อศึกษาพุทธศาสนา

ทรงสามารถ

1. พระองค์สามารถกำหนดสมาธินิมิตในขณะที่ทรงแสดงธรรม ทุกคำจึงไม่ผิดพลาด

อัคคิเวสนะ! เรานั้นหรือ, จำเดิมแต่เริ่มแสดง กระทั่งคำสุดท้ายแห่งการกล่าวเรื่องนั้นๆ ย่อม ตั้งไว้ซึ่งจิตในสมาธินิมิตอันเป็นภายในโดยแท้ ให้จิตดำรงอยู่ ให้จิตตั้งมั่นอยู่ กระทำให้มีความเป็น จิตเอก ดังเช่นที่คน ท. เคยได้ยินว่าเรากระทำอยู่เป็นประจำ ดังนี้ –มหาสัจจกสูตร ม.ม. ๑๒/๔๖๐/๔๓๐

2. แต่ละคำพูดเป็นอกาลิโก ถูกต้องตรงจริงไม่จำกัดกาล

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอทั้งหลาย เป็นผู้ที่เรานำไปแล้วด้วยธรรมนี้ อันเป็นธรรมที่บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง(สนฺทิฏฐิโก), เป็นธรรมให้ผลไม่จำกัดกาล (อกาลิโก), เป็นธรรมที่ควรเรียกกันมาดู (เอหิปสฺสิโก), ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว (โอปนยิโก), อันวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน (ปจฺจตฺตํ เวทตพฺโพ วิญฺญูหิ). –มหาตัณหาสังขยสูตร ม.ม. ๑๒/๔๘๕/๔๕๑,

3. คำของพระองค์ ตรงเป็นอันเดียวกันหมด

ภิกษุ ท.! นับตั้งแต่ราตรี ที่ตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จนกระทั่งถึงราตรี ที่ตถาคตปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ, ตลอดเวลาระหว่างนั้น ตถาคตได้กล่าวสอน พร่ำสอน แสดงออก ซึ่งถ้อยคำใดถ้อยคำเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเข้ากันได้โดยประการเดียวทั้งสิ้น ไม่แย้งกันเป็นประการอื่นเลย. –อิติวุ. ขุ. ๒๕/๓๒๑/๒๙๓.

ทรงห่วงใย

4. ทรงบอกเหตุแห่งความอันตรธานของคำสอนเปรียบเหมือนกลองศึก

ภิกษุ ท.! เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว : กลองศึกของกษัตริย์พวกทสารหะ๒ เรียกว่า อานกะ มีอยู่. เมื่อกลองอานกะนี้ มีแผลแตก หรือลิ, พวกกษัตริย์ทสารหะได้หาเนื้อไม้อื่นทำเป็นลิ่ม เสริมลงในรอยแตกของกลองนั้น(ทุกคราวไป) ภิกษุ ท.! เมื่อเชื่อมปะเข้าหลายครั้งหลายคราวเช่นนั้นนานเข้าก็ถึงสมัยหนึ่ง ซึ่งเนื้อไม้เดิมของตัวกลองหมดสิ้นไป เหลืออยู่แต่เนื้อไม้ที่ทำเสริมเข้าใหม่เท่านั้น ;

ภิกษุ ท.! ฉันใดก็ฉันนั้น : ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย, สุตตันตะ (คำสอน) เหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึกมีความหมายซึ่ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่. เธอจักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยหูฟัง จักไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ส่วนสุตตันตะเหล่าใด มีนักกวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสรวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก, เมื่อมีผู้นำสูตรที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เหล่านั้นมากล่าวอยู่,เธอจักฟังด้วยดี จักเงี่ยหูฟัง จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตน ควรศึกษาเล่าเรียนไป.

ภิกษุ ท.! ความอันตรธานของสุตตันตะเหล่านั้น ที่เป็นคำของตถาคตเป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตาจักมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ แล. –นิทาน. สํ. ๑๖/๓๑๑/๖๗๒-๓.

ทรงแนะนำ

5. ทรงกำชับให้ศึกษาคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคำผู้อื่น

ภิกษุ ท.! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตรเป็นเรื่องแนวนอก เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสุตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.

ภิกษุ ท.! ส่วน สุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา,เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟังย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียนจึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ? ” ดังนี้. ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้. ธรรมที่ยัง ไม่ปรากฏ เธอก็ทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัย เธอก็บรรเทาลงได้.

ภิกษุ ท.! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง, หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคล ภายนอกเหล่าอื่นไม่; จัดเป็นบริษัทที่เลิศแล. -ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒,

ภ ิกษ ุ ท .! บริษ ัทสองจำ พวกเหล ่านี ้ ม ีอยู่, สองจำพวกเหล่าไหนเล่า? สองจำพวก คือ อุกกาจิตวินีตาปริสา (บริษัทอาศัยความเชื่อจากบุคคลภายนอกเป็นเครื่องนำไป) โนปฏิปุจฉาวินีตา (ไม่อาศัยการสอบสวนทบทวนกันเอาเองเป็นเครื่องนำไป) นี้อย่างหนึ่ง, และ ปฏิปุจฉาวินีตาปริสา (บริษัทอาศัยการสอบสวนทบทวนกันเอาเองเป็นเครื่องนำไป) โนอุกกาจิตวินีตา (ไม่อาศัยความเชื่อจากบุคคลภายนอกเป็นเครื่องนำไป) นี้อีกอย่างหนึ่ง.

ภิกษุ ท.! บริษัทชื่อ อุกกาจิตวินีตาปริสาโนปฏิปุจฉาวินีตา เป็นอ ย ่างไรเล ่า? ภิกษุ ท.! ในกรณ ีนี้คือ ภิกษ ุทั้งหลายในบริษัทใด, เมื่อสุตตันตะทั้งหลาย ตถาคตภาสิตา-อันเป็นตถาคตภาษิต คมฺภีรา-อันลึกซึ้ง คมฺภีรตฺถา-มีอรรถอันลึกซึ้ง โลกุตฺตรา-เป็นโลกุตตระ สุญฺ ญตปฏิสํยุตฺตา-ประกอบด้วยเรื่องสุญญตา อันบุคคลนำมากล่าวอยู่, ก็ไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟังไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และไม่สำคัญว่า เป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำ กล่าวของสาวก, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านี้มากล่าวอยู่ พวกเธอย่อมฟังด้วยดี เงี่ยหูฟังตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และสำคัญไปว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. พวกเธอเล่าเรียนธรรมอันกวีแต่งใหม่นั้นแล้ว ก็ไม่สอบถามซึ่งกันและกัน ไม่ทำ ให้ เปิดเผยแจ่มแจ้งออกมาว่า ข้อนี้พยัญชนะเป็นอย่างไร อรรถะเป็นอย่างไร ดังนี้.เธอเหล่านั้น เปิดเผยสิ่งที่ยังไม่เปิดเผยไม่ได้ ไม่หงายของที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้นได้ไม่บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย มีอย่างต่าง ๆ ได้. ภิกษุ ท.! นี้เราเรียกว่า อุกกาจิตวินีตาปริสาโนปฏิปุจฉาวินีตา.

ภิกษุ ท.! บริษัทชื่อ ปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโนอุกกาจิตวินีตา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้คือ ภิกษุทั้งหลายในบริษัทใด, เมื่อสุตตันตะทั้งหลาย ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำ ร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำ กล่าวของสาวก อันบุคคลนำมากล่าวอยู่, ก็ไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และไม่สำ คัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ส่วน สุตตันตะเหล่าใด อันเป็นตถาคตภาษิต อันลึกซึ้ง มีอรรถอันลึกซึ้ง เป็นโลกุตตระประกอบด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านี้มากล่าวอยู่ พวกเธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมเข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ควรศึกษาเล่าเรียน. พวกเธอเล่าเรียนธรรมที่เป็นตถาคตภาษิตนั้นแล้ว ก็สอบถามซึ่งกันและกัน ทำให้เปิดเผยแจ่มแจ้งออกมาว่า ข้อนี้พยัญชนะเป็น อย่างไร อรรถะเป็นอย่างไร ดังนี้. เธอเหล่านั้น เปิดเผยสิ่งที่ยังไม่เปิดเผยได้ หงายของที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้นได้ บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย มีอย่างต่าง ๆ ได้. ภิกษุ ท.! นี้เราเรียกว่าปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโนอุกกาจิตวินีตา.

ภ ิก ษ ุ ท .! เ ห ล ่า นี ้แ ล บ ร ิษ ัท ๒ จํ า พ ว ก นั ้น . ภ ิก ษ ุ ท .!บริษัทที่เลิศในบรรดาบริษัททั้งสองพวกนั้น คือบริษัทปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโน-อุกกาจิตวินีตา (บริษัทที่อาศัยการสอบสวนทบทวนกันเอาเองเป็นเครื่องนำไป :ไม่อาศัยความเชื่อจากบุคคลภายนอกเป็นเครื่องนำไป) แล. — ทุก. อํ. ๒๐/๙๑/๒๙๒.

ระวัง

6. ทรงห้ามบัญญัติเพิ่มหรือตัดทอนสิ่งที่ทรงบัญญัติไว้

ภิกษุ ท.! ภิกษุทั้งหลาย จักไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว, จักสมาทานศึกษาในสิกขาบทที่บัญญัติ ไว้แล้วอย่างเคร่งครัด อยู่เพียงใด, ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น. –สตฺตก. อํ. ๒๓/๒๑/๒๑.

อย่าหลง

7. สำนึกเสมอว่าตนเองเป็นเพียงผู้เดินตามพระองค์เท่านั้น ถึงแม้จะเป็นพระอรหันต์ผู้เลิศทางปัญญาก็ตาม

ภิกษุ ท.! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ได้ทำมรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ได้ทำ มรรคที่ยังไม่มีใครรู้ให้มีคนรู้ ได้ทำมรรคที่ยังไม่มีใครกล่าวให้ เป็นมรรคที่กล่าวกันแล้ว ตถาคตเป็นมัคคัญญู (รู้มรรค) เป็นมัคควิทู (รู้แจ้งมรรค) เป็นมัคคโกวิโท (ฉลาดในมมรค). ภิกษุ ท.! ส่วน สาวกทั้งหลายในกาลนี้ เป็นมัคคานุคา (ผู้เดินตามมรรค) เป็นผู้ตามมาในภายหลัง.

ภิกษุ ท.! นี้แล เป็นความผิดแผกแตกต่างกัน เป็นความมุ่งหมาย ที่แตกต่างกัน เป็นเครื่องกระทำให้แตกต่างกัน ระหว่างตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ กับภิกษุผู้ปัญญาวิมุตต์. — ขนฺธ. สํ. ๑๗/๘๑/๑๒๕.

คงคำสอน

8. ทรงตรัสไว้ว่าให้ทรงจำบทพยัญชนะและคำอธิบาย อย่างถูกต้อง อีกทั้งขยันถ่ายทอดบอกสอนกันต่อๆไป

ภิกษุ ท.! พวกภิกษุเล่าเรียนสูตร อันถือกันมาผิด ด้วยบทพยัญชนะที่ใช้กันผิด ; เมื่อบทและพยัญชนะใช้กันผิดแล้ว แม้ความหมายก็มีนัยอันคลาดเคลื่อน. ภิกษุ ท.! นี้ มูลกรณีที่หนึ่ง ซึ่งทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือน จนเสื่อมสูญไป

ภิกษุ ท.! อีกอย่างหนึ่ง, พวกภิกษุเหล่าใด เป็นพหุสูต คล่องแคล่วในหลักพระพุทธวจนะ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา (แม่บท). ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เอาใจใส่บอกสอนใจความแห่งสูตรทั้งหลายแก่คนอื่น ๆ ; เมื่อท่านเหล่านั้นล่วงลับดับไป สูตรทั้งหลาย ก็เลยขาดผู้เป็นมูลราก (อาจารย์) ไม่มีที่อาศัยสืบไป. ภิกษุ ท.! นี้ มูลกรณีที่สาม ซึ่งทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือน จนเสื่อมสูญไป. –จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๙๘/๑๖๐

ป้องกัน

9. ทรงบอกวิธีแก้ไขความผิดเพี้ยนในคำสอน (อันเกิดจาก จำผิด อธิบายผิด ความลางเลือน ความบิดเบือนไปจากเดิม ว่าต้องทำอย่างไร)

ภิกษุ ท.! ถ้าภิกษุในธรรมวินัยนี้ จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าฟังมาแล้วได้รับมาแล้ว เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ว่านี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา, ดังนี้, พวกเธออย่าเพิ่งรับรอง, อย่าเพิ่งคัดค้าน.เธอกำหนดเนื้อความนั้นให้ดีแล้วนำไปสอบสวนในสูตร นำไปเทียบเคียงในวินัย, ถ้าลงกันไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้ พึงแน่ใจว่า นั้นไม่ใช่คำของพระผู้มีพระภาคแน่นอน ภิกษุรูปนั้นจำมาผิด, พวกเธอพึงทิ้งคำเหล่านั้นเสีย; ถ้าลงกันได้ เทียบเคียงกันได้ พึงแน่ใจว่า นั่นเป็นคำของพระผู้มีพระภาคเจ้าแน่แล้วภิกษุรูปนั้นจำมาอย่างดีแล้ว, พวกเธอพึงรับเอาไว้. นี่เป็นมหาปเทส ข้อที่หนึ่ง,

(ข้อต่อไปความอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่คำอ้าง, ข้อที่สองอ้างว่า รับฟังมาจากสงฆ์ พร้อมทั้งเถระหัวหน้า เป็นพหุสูตอยู่ในอาวาสโน้น ๆ, ข้อที่สามรับฟังมาจากพวกเถระ พหุสูต ในอารามโน้น ๆ,ข้อที่สี่รับฟังมาจากพวกเถระพหุสูต พักอยู่อาศัยอยู่ในอาวาสโน้น ๆ. แล้วทรงแสดงศีล-สมาธิ-ปัญญา โดยนัยเดียวกับที่สวนอัมพลัฏฐิกาอีกเป็นอันมาก). — มหาปรินิพพานสูตร มหา. ที. ๑๐/๑๔๔/๑๑๒

————————————

อานนท์! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า ‘ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปเสียแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา’ ดังนี้. อานนท์!พวกเธออย่าคิดดังนั้น. อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ท. ธรรมวินัยนั้น จักเป็นองค์ศาสดาของพวกเธอ ท.โดยกาลที่เราล่วงลับไปแล้ว.




Create Date : 27 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2552 12:23:37 น. 2 comments
Counter : 422 Pageviews.

 
เวลาฟังมากๆ อ่านมากๆ แล้วไม่ค่อยจะตรงกัน สุดท้ายก็ต้องหันมาอ่าน พุทธวจนะ นี่แหละเป็นที่พึ่งสุดท้าย


โดย: oddy.freebird วันที่: 3 ธันวาคม 2552 เวลา:19:01:49 น.  

 
เข้ามาอ่านครับ
พระพุทธเจ้าประเสริฐ ที่สุด ครับ


โดย: อัสติสะ วันที่: 22 ธันวาคม 2552 เวลา:17:34:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

supatra.p
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




การมีธรรมของพระตถาคตอยู่ในโลก คือ ความสุขของโลก
Friends' blogs
[Add supatra.p's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.