All Blog
ขึ้นชื่อว่าของที่ไม่รู้จักอิ่มมี ๑๖ อย่าง
บางตอนใน อรรถกถาเสนกชาดกที่ ๗ พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๕๙ หน้า ๒๖๙ ปกน้ำเงิน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๕
ขึ้นชื่อว่าของที่ไม่รู้จักอิ่มมี ๑๖ อย่าง คือ :-
๑. มหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำที่ไหลมาทุกทิศทุกทาง.
๒. ไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ.
๓. พระราชาไม่ทรงอิ่มด้วยราชสมบัติ.
๔. คนพาลไม่อิ่มด้วยบาป.
๕. หญิงไม่อิ่มด้วยของ ๓ อย่างเหล่านี้ คือ เมถุนธรรม ๑ เครื่องประดับ ๑ การคลอดบุตร ๑.
๖. พราหมณ์ไม่อิ่มด้วยมนต์.
๗. ผู้ได้ฌานไม่อิ่มด้วยวิหารสมาบัติ คือการเข้าฌาน.
๘. พระเสขบุคคลไม่อิ่มด้วยการหมดเปลืองในการให้ทาน.
๙. ผู้มักน้อยไม่อิ่มด้วยธุดงค์คุณ.
๑๐. ผู้เริ่มความเพียรแล้วไม่อิ่มด้วยการปรารภความเพียร.
๑๑. ผู้แสดงธรรม คือนักเทศน์ไม่อิ่มด้วยการสนทนาธรรม.
๑๒. ผู้กล้าหาญไม่อิ่มด้วยบริษัท.
๑๓. ผู้มีศรัทธาไม่อิ่มด้วยการอุปัฏฐากพระสงฆ์.
๑๔. ทายกไม่อิ่มด้วยการบริจาค.
๑๕. บัณฑิตไม่อิ่มด้วยการฟังธรรม.
๑๖. บริษัท ๔ ไม่อิ่มในการเฝ้าพระพุทธเจ้า.



Create Date : 04 มีนาคม 2555
Last Update : 4 มีนาคม 2555 20:17:57 น.
Counter : 927 Pageviews.

0 comment
มิคาโลปชาดก ว่าด้วยโทษของคนหัวดื้อเล่มที่ ๖๕ หน้า ๕๑ ปกน้ำเงิน หน้า ๔๕ ปกแดง
มิคาโลปชาดก ว่าด้วยโทษของคนหัวดื้อ(ปกน้ำเงิน) ว่าด้วยแร้งชื่อ มิคาโลปะ(ปกแดง) พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๖๕ หน้า ๕๑ ปกน้ำเงิน หน้า ๔๕ ปกแดง พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๕
๖. มิคาโลปชาดก ว่าด้วยโทษของคนหัวดื้อ
[๘๖๓] ดูก่อนพ่อมิคาโลปะ. พ่อไม่มีความพอใจ
ที่เจ้าบินไปอย่างนั้น ลูกเอ๋ยเจ้าบินสูงมาก เจ้า
คบหาที่ไม่ใช่ถิ่นลูกเอ๋ย.
[๘๖๔] แผ่นดินปรากฏแก่เจ้า เป็นเสมือนนา
แปลง ๔ เหลี่ยมเมื่อใด เมื่อนั้นเจ้าจงกลับลง
มา อย่าบินเลยนี้ขึ้นไป.
[๘๖๕] นกแม้เหล่าอื่นที่มีปีกเป็นยานพาหนะ
บินไปในอากาศมีอยู่ พวกมันถูกกำลังแรงของ
ลมพัดไป สำคัญตนว่า เป็นเสมือนสิ่งที่ยั่งยืน
ทั้งหลาย ได้พินาศไปแล้วมากต่อมาก.
[๘๖๖] แร้งมิคาโลปะ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของแร้ง
แต่ชื่ออปรัณผู้เป็นพ่อ บินเลยลมกาลวาตไป
ตกอยู่ในอำนาจของลมเวรัมภวาต.
[๘๖๗] เมื่อแร้งมิคาโลปะ. ไม่ปฏิบัติตามโอวาท
ทั้งลูกทั้งเมียของมันและแร้งอัน ๆ ที่เป็นลูก
น้องทั้งหมด ถึงความพินาศแล้ว.
[๘๖๘] ผู้ไม่สำนึกถึงคำสอนของผู้เฒ่าทั้งหลาย
ฉันนั้นเหมือนกัน ประพฤติเลยขอบเขตก็
เดือดร้อน ทุกคนไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระ
พุทธเจ้า จะถึงความพินาศเหมือนแร้ง
ที่ฝ่าฝืนคำสอนของพ่อ ฉะนั้น.
จบ มิคาโลปชาดกที่ ๖
อรรถกถามิคาโลปชาดกที่ ๖
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุว่ายากรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า น เม รุจิ ดังนี้.
ครั้งนั้น พระศาสดาได้ตรัสเรียกภิกษุนั้นมา แล้วตรัสถามว่าจริงหรือภิกษุ ได้ทราบว่าเธอเป็นผู้ว่ายาก ? เมื่อเธอทูลว่า จริงพระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ไม่ใช่บัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนเธอก็เป็นคนว่ายากเหมือนกัน. ก็เพราะอาศัยความเป็นผู้ว่ายาก เธอไม่เชื่อฟังคำของบัณฑิตทั้งหลายจึงถึงความย่อยยับ ในช่องทางของลมเวรัมภะ. คือ ลมงวง. แล้วได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในกำเนิดแร้ง ได้มีชื่อว่าแร้งอปรัณ มันมีหมู่แร้งห้อมล้อมอาศัยอยู่บนเขาคิชฌกูฏ. ส่วนลูกของมันชื่อมิคาโลปะ มีกำลังสมบูรณ์. มันบินสูงมาก เลยแดนของแร้งตัวอื่น ๆ ไปแร้งทั้งหลายบอกแก่พระยาแร้งว่า ลูกของท่านบินไปไกลเหลือเกิน. แร้งอปรัณได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงเรียกลูกมาถามว่า ลูกเอ๋ย ได้ยินว่าเจ้าบินสูงมากผู้บินสูงมากจักถึงความสิ้นชีวิต แล้วได้กล่าวคาถา ๓ คาถาไว้ว่า :-
ดูก่อนพ่อมิคาโลปะ พ่อไม่มีความพอใจ
ที่เจ้าบินไปอย่างนั้น ลูกเอ๋ยเจ้าบินสูงมาก เจ้า
คบหาที่ไม่ใช่ถิ่นลูกเอ๋ย. แผ่นดินปรากฏแก่
เจ้า เป็นเสมือนนาแปลง ๔ เหลี่ยม เมื่อใด
เมื่อนั้นเจ้าจงกลับลงมา อย่าบินเลยนี้ขึ้นไป.
นกแม้เหล่าอันที่มีปีกเป็นยานพาหนะ บินไป
ในอากาศมีอยู่ พวกมันถูกกำลังแรงของลมพัด
ไปสำคัญตนว่า เป็นเสมือนสิ่งที่ยั่งยืนทั้งหลาย
ได้พินาศไปแล้วมากต่อมาก.
พึงทราบวินิจฉัยในบทเหล่านั้น แร้งพ่อเรียกลูกโดยชื่อว่ามิคโลปะ. บทว่า อตุจฺจํ ตาต คจฺฉสิ ความว่า ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าบินสูงจนเลยแดนของแร้งเหล่าอื่น. แร้งพ่อบอกแดนแก่ลูก ด้วยคำนี้ว่า จตุกฺกณฺณํว เกทารํ คือ เหมือนนาแปลง ๔ เหลี่ยม. มีอธิบายไว้ว่าลูกเอ๋ย เมื่อผืนแผ่นดินใหญ่นี้เป็นเสมือนนาแปลง ๔ เหลี่ยมสำหรับเจ้า คือปรากฏเป็นเหมือนขนาดเล็กอย่างนั้น เมื่อนั้นเจ้าควรกลับ จากที่ ประมาณเท่านี้ อย่าไปเลยนี้. บทว่า สนฺติ อญฺเปิ เป็นต้น ความว่าแร้งพ่อแสดงว่า ไม่ใช่เจ้าตัวเดียวเท่านั้นไม่ไป แม้แร้งตัวอื่น ๆ ก็ทำอย่างนี้มาแล้ว. บทว่า อุกฺขิตฺตา ความว่า แม้พวกเขาบินเลยแดนของ พวกเราไป ถูกแรงลมตีสาบสูญไปแล้ว. บทว่า สสฺสตีสมา มีอธิบายว่าพวกมันสำคัญตนว่า เป็นผู้เสมอด้วยแผ่นดินและภูเขาทั้งหลายที่ยั่งยืนแม้อายุของตนมีประมาณพันปี ยังไม่เต็มบริบูรณ์ ก็พินาศไปแล้ว ใน
ฝ่ายมิคาโลปะไม่ทำตามโอวาท ไม่เชื่อฟังคำพ่อบินทะยานขึ้นเห็นเขตแดนตามที่พ่อบอกไว้แล้ว แต่ก็บินเลยเขตแดนนั้นไปให้ลม กาลวาต สิ้นไปทะลุลมแม้เหล่านั้น แล่นเข้าสู่ปากทางลมเวรัมภวาต. จึงถูกเวรัมภวาตตีมัน. มันเพียงแต่ถูกลมเหล่านั้น ก็แหลกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย อันตรธานไปในอากาศนั่นเอง. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวไว้ว่า:-
แร้งมิคาโลปะ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ
แร้งแก่ชื่ออปรัณผู้เป็นพ่อ บินเลยลมกาลวาต
ไป ตกอยู่ในอำนาจของลมเวรัมภวาต. เมื่อ
แร้งมิคาโลปะไม่ปฏิบัติตามโอวาท ทั้งลูกทั้งเมีย
ของมันและแร้งอื่น ๆ ที่เป็นลูกน้องทั้งหมดถึง
ความพินาศแล้ว. ผู้ไม่สำนึกถึงคำสอนของผู้
เฒ่าทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ประพฤติเลย
ขอบเขต ก็เดือดร้อน ทุกคนไม่ปฏิบัติตามคำ
สอนของพระพุทธเจ้า จะถึงความพินาศ
เหมือนแร้งที่ฝ่าฝืนคำสอนของพ่อฉะนั้น.
๓ คาถานี้ เป็นพระคาถาของท่านผู้รู้ยิ่งแล้ว บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุชีวิโน ได้แก่แร้งทั้งหลายที่ อาศัยแร้งมิคาโลปะนั้นเกิดภายหลัง. บทว่า อโนวาทเร ทิเช ความว่า เมื่อแร้งมิคาโลปะแม้นั้น ไม่ทำตามโอวาท แร้งเหล่านั้นบินไปกับแร้ง มิคาโลปะนั้นเลยเขตแดนไป พากันถึงความพินาศทั้งหมด. บทว่าเอวมฺปิ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แร้งนั้นถึงความพินาศแล้วฉันใด แม้ผู้ใดใครอื่น จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่เชื่อถือพระดำรัสของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ทรงอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล แม้ผู้นั้นก็จะถึงความพินาศเหมือนแร้งตัวนี้ ที่เที่ยวไปเลยเขตแดน เป็นผู้เดือดร้อน คือลำบากแล้วฉะนั้น.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาประกาศสัจธรรมแล้ว ทรงประมวลชาดกไว้ว่า แร้งมิคาโลปะ ได้แก่ภิกษุผู้ว่ายาก ส่วนแร้งอปรัณ ได้แก่เราตถาคต ฉะนั้นแล.
จบ อรรถกถามิคาโลปชาดกที่ ๖



Create Date : 01 มีนาคม 2555
Last Update : 1 มีนาคม 2555 19:43:28 น.
Counter : 345 Pageviews.

0 comment
ว่าด้วยเรื่องความหวัง(ปกน้ำเงิน)พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯเล่มที่ ๕๙ หน้า ๕๑ ปกน้ำเงิน
ว่าด้วยเรื่องความหวัง(ปกน้ำเงิน) ว่าด้วยชื่อของนางอาสังกา (ปกแดง) พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๕๙ หน้า ๕๑ ปกน้ำเงิน หน้า ๓๖ ปกแดง พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๕
๕. อาสังกชาดก ว่าด้วยเรื่องความหวัง
[๘๕๕] เถาวัลย์ชื่ออาสาวดี เกิดในส่วนจิตรลดา-
วัน พันปีมันจึงจะออกผล ๆ หนึ่ง.
[๘๕๖] เมื่อมีผลระยะไกลถึงเพียงนั้น ทวยเทพ
ก็ยังพากันไปเยือนมันอยู่บ่อย ๆ ข้าแต่พระราชา
ขอพระองค์จงทรงจำนงหวังไว้เถิด เพราะว่า
ความหวังที่มีผลเป็นเหตุให้เกิดความสุข.
[๘๕๗] ปักษีนั้นหวังอยู่นั่นเอง นกนั้นหวังอยู่
นั่นเอง ความหวังของมันมีอยู่ไกลถึงเพียงนั้น
ก็ยังสำเร็จได้ ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์จง
ทรงจำนงหวังไว้ เพราะว่าความหวังที่มีผล
เป็นเหตุให้เกิดความสุข.
[๘๕๘] เธอให้ฉันเอิบอิ่มด้วยวาจา แต่หาให้
เอิบอิ่มด้วยสิ่งที่ควรทำไม่ เหมือนดอกหงอน
ไก่มีสีสวย แต่ไม่มีกลิ่น.
[๘๕๙] ผู้ใดไม่ให้ปันไม่เสียสละโภคะ พูดแต่
คำอ่อนหวานที่ไร้ผลในมิตรทั้งหลาย ความ
สัมพันธ์กับมิตรนั้น ของผู้นั้น จะจืดจางไป.
[๘๖๐] เพราะว่า คนควรพูดแต่สิ่งที่จะต้องทำ
ไม่ควรพูดถึงสิ่งที่ไม่ต้องทำ บัณฑิตทั้งหลาย
รู้จักคนไม่ทำดีแต่พูด.
[๘๖๑] ก็แหละกำลังพลของเราร่อยหรอแล้ว และ
สะเบียงก็ไม่มี เราสงสัยในความสิ้นชีวิตของ
ตน เชิญเถิด เราจะไปเดี๋ยวนี้แหละ.
[๘๖๒] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
สิ่งใดมีอยู่ในชื่อ สิ่งนั้นนั่นแหละเป็นชื่อของ
หม่อมฉัน ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์
จงทรงรอก่อน หม่อมฉันจะขอบอกลาบิดา.
จบ อาสังกชาดกที่ ๕
อรรถกาอาสังกชาดกที่ ๕
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ การหลอกลวงของภรรยาเก่า จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า อาสาวตี นาน ลตา ดังนี้. เรื่องนี้จักมีแจ้งชัดในอินทริยชาดกข้างหน้า.
แต่ในที่นี้ พระศาสดา ตรัสกะภิกษุนั้นว่า ได้ทราบว่า คุณจะสึกจริงหรือ ?
ภิ. จริงพระพุทธเจ้าข้า.
พ. อะไรทำให้เธอสึก ?
ภิ. ภรรยาเก่า พระพุทธเจ้าข้า.
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ หญิงนี้ทำความพินาศย่อยยับ ให้เธอ ไม่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อน เธอก็อาศัยหญิงนี้ ละทิ้งจตุรงคเสนา เสวยทุกข์ขนาดหนักอยู่ในท้องที่ป่าหิมพานต์ เป็น
เวลา ๓ ปี แล้วได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์สมบัติอยู่ในนคร พาราณสี พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในสกุลพราหมณ์ ที่บ้านกาสิกะเติบใหญ่แล้วได้รับการศึกษาที่เมืองตักกศิลา บวชเป็นฤาษี มีหัวมันและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร ให้อภิญญาและสมาบัติ เกิดขึ้นแล้วอยู่ในท้องถิ่นป่าหิมพานต์. เวลานั้นสัตวโลกตนหนึ่งถึงพร้อมด้วยบุญ จุติจากดาวดึงสพิภพ เกิดเป็นเด็กหญิงที่กลีบบัวกลีบหนึ่งในสระบัว ณ ที่นั้น เมื่อดอกบัวเหลืองเหี่ยวร่วงโรยลงไป ดอกบัวดอกนั้น ยังกลีบพองท้องป่องอยู่นั่นแหละไม่โรย. ท่านดาบสได้มายังสระบัวนั้น เพื่ออาบน้ำ เห็นดอกบัวดอกนั้น คิดว่า เมื่อดอกบัวดอกอื่นๆ ร่วงโรยไปแล้ว แต่ดอกนี้ยังคงกลีบพองท้องป่องอยู่ จะมีเหตุอะไรหนอ ? แล้วผลัดผ้าอาบน้ำลงไปเปิดดูดอกบัวดอกนั้น เห็นเด็กหญิงคนนั้นแล้ว เกิดความสำคัญขึ้นว่า เป็นลูกสาว นำมายังบรรณศาลาเลี้ยงดูไว้. ต่อมานางอายุได้ ๑๖ ขวบ มีรูปร่างสวยงามเลอโฉมเกินผิวพรรณมนุษย์ แต่ไม่ถึงผิวพรรณเทวดา. ครั้งนั้น ท้าวสักกะได้เสด็จมาสู่ที่อุปฐากพระโพธิสัตว์. ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นนาง จึงตรัสถามว่า หญิงนี้มาจากไหน ? ทรงสดับทำนองที่ได้มาแล้วตรัสถามว่า ควรจะได้อะไรสำหรับหญิงนี้ ? ท่านดาบส
ทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า ควรจะได้เนรมิตปราสาท แก้วผลึกเพื่อเป็นที่อยู่ และการจัดแจงที่นอนทิพย์ เครื่องประดับประดา วัตถาภรณ์ และโภชนะอันเป็นทิพย์ให้. ท้าวสักกะทรงสดับคำนั้นแล้วตรัสว่า ดีแล้วพระคุณเจ้า แล้วได้ทรงเนรมิตปราสาทแก้วผลึกให้เป็น ที่อยู่ของนาง เสร็จแล้วทรงเนรมิตร ที่นอนทิพย์ เครื่องประดับประดา วัตถาภรณ์ และข้าวน้ำอันเป็นทิพย์ให้. ปราสาทนั้น เวลานางขึ้น ก็ลดต่ำลงมาสถิตอยู่ที่พื้นดิน แต่เวลานางลงแล้ว ก็เลื่อนขึ้นไปลอยอยู่บนอากาศ. นางทำวัตรปฏิบัติพระโพธิสัตว์อยู่ในปราสาท. พรานป่าคนหนึ่ง เห็นนางเข้าจึงเรียนถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ หญิงคนนี้เป็นอะไรของพระคุณเจ้า. ได้ทราบว่าเป็นธิดา จึงไปยังเมืองพาราณสี ทูล
ในหลวงว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นธิดาของดาบสรูปหนึ่ง มีรูปร่างอย่างนี้ คือสวยงามในท้องที่ป่าหิมพานต์. พระองค์ทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงสนพระทัย
เพราะเกี่ยวข้องกับการได้ทรงสดับข่าวนั่นเอง จึงให้พรานป่าเป็นผู้นำทางเสด็จไปยังที่นั้น ด้วยจตุรงคเสนา ทรงตั้งค่ายไว้แล้ว ทรงพาพรานป่าไป มีหมู่อำมาตย์ห้อมล้อม เสด็จเข้าไปยังอาศรมบท ทรงไหว้พระ
มหาสัตว์แล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง ตรัสว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่าหญิง เป็นมลทินของพรหมจรรย์ โยมจะเลี้ยงดู ธิดาของพระคุณเจ้า.
ส่วนพระโพธิสัตว์ได้ตั้งชื่อให้กุมาริกานั้นว่า อาสังกากุมารี เพราะว่าท่านแคลงใจว่า อะไรหนออยู่ในดอกบัวนั้น แล้วจึงลงน้ำไปเอาขึ้นมา.
ท่านไม่ทูลพระราชานั้นตรง ๆ ว่า มหาบพิตรจงรับเอานางนี้ไปแต่ทูลว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์เมื่อทรงทราบชื่อของกุมาริกาคนนี้แล้วจงทรงรับเอาไปเถิด.
พระองค์ทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญเมื่อพระคุณเจ้าบอกโยมก็จักรู้.
พระโพธิสัตว์ ทูลว่า อาตมาภาพจะไม่ทูลบอกมหาบพิตร ขอให้มหาบพิตรทรงทราบนามด้วยกำลังพระปัญญาของมหาบพิตรเอง แล้วทรงรับเอาไปเถิด.
พระราชาทรงรับคำท่านแล้ว จำเดิมแต่นั้นมา จึงทรงใคร่ครวญดูชื่อของนางพร้อมด้วยอำมาตย์ทั้งหลายว่า หญิงนี้ชื่ออะไรหนอ ?
พระองค์ทรงกำหนดชื่อไว้หลายชื่อที่รู้กันยาก แล้วตรัสบอกกับพระโพธิสัตว์ว่า จักเป็นชื่อโน้น จักเป็นชื่อโน้น. พระโพธิสัตว์ทรง
สดับคำนั้นแล้ว ก็ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ชื่ออย่างนี้. ลำดับนั้น เมื่อพระราชาทรงใคร่ครวญดูชื่ออยู่นั่นแหละ กาลเวลาได้ล่วงไป ๑ ปีแล้ว. ครั้งนั้น สัตว์ร้ายทั้งหลายมีสิงห์โตเป็นต้น ตระครุบช้าง ม้า และมนุษย์ทั้งหลายกิน. อันตรายจากสัตว์เลื้อยคลานก็มี. อันตรายจากเหลือบก็มี. คนทั้งหลายลำบากเพราะตายกันไปมาก. จึงพระราชาทรงกริ้วแล้วคิดว่า เราจักมีความต้องการทำไม ด้วยหญิงนี้. ตรัสบอกพระโพธิสัตว์แล้วก็เสด็จไป. วันนั้นอาสังกากุมาริกา เปิดหน้าต่างแก้วผลึกแล้วได้ยืนแสดงตัวให้เห็น. พระราชาทอดพระเนตรเห็นนางแล้วตรัสว่าเราไม่อาจจะรู้จักชื่อของเธอได้ เธอจงอยู่ที่ป่าหิมพานต์ไปเถิดนะ พวกฉันจักไปละ. นางจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์จะเสด็จไปที่ไหนจึงจะได้ผู้หญิงเช่นหม่อมฉัน ขอพระองค์ทรงสดับคำของหม่อมฉัน เถาวัลย์ ชื่ออาสาวดี มีอยู่ที่จิตรลดาวัน ในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ น้ำทิพย์เกิดขึ้น ภายในผลของมัน เทพยดาทั้งหลายดื่มน้ำนั้นครั้งเดียว นอนเมาอยู่บนที่นอนทิพย์ถึง ๔ เดือน แต่เถาอาสาวดีนั้น หนึ่งพันปี จึงจะออกผลพวกเทพบุตรที่เป็นนักเลงสุรา คิดว่า พวกเราจักได้ผลจากเถาอาสาวดีนี้จึงยับยั้งความกระหายในการดื่มน้ำทิพย์ไว้ พากันไปดูเถานั้นเนือง ๆ ว่ายังปลอดภัยอยู่หรือ ? ตลอดพันปี. ส่วนพระองค์ปีเดียวเท่านั้นเอง ก็ท้อพระราชหฤทัยเสียแล้ว ธรรมดาความหวังที่มีผล คือความสมหวังเป็นเหตุให้เกิดความสุข ขอพระองค์อย่าทรงท้อพระราชหฤทัยเลย ดังนี้
แล้วกล่าวคาถา ๓ คาถาว่า :-
เถาวัลย์ชื่ออาสาวดี เกิดในสวนจิตรลดาวัน
พันปีมันจึงจะออกผล ๆ หนึ่ง เมื่อมีผล
ระยะไกลถึงเพียงนั้น ทวยเทพยังพากันไป
เยือนมันอยู่บ่อย ๆ ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์
จงทรงจำนงหวังไว้เถิด เพราะความหวังที่มีผล
เป็นเหตุให้เกิดความสุข. นกนั้นหวังอยู่นั่นเอง
ความหวังของมัน มีอยู่ไกลถึงเพียงนั้น ก็ยัง
สำเร็จได้. ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์จงทรง
จำนงหวังไว้เถิด เพราะความหวังที่มีผล เป็น
เหตุให้เกิดความสุข.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสาวตี ได้แก่ เถาวัลย์ที่มีชื่ออย่างนี้ อธิบายว่า เถาวัลย์นั้นได้ชื่อนี้ เพราะเทวดาเกิดความหวังในผลของมัน. บทว่า จิตฺตลตาวเน ความว่า ในสวนที่มีชื่ออย่างนี้. ได้ ทราบว่า ในสวนนั้น รัศมีของต้นไม้และเถาวัลย์ ทำสีของร่างกายเทวดาทั้งหลายผู้เข้าไปใน วันนั้นให้วิจิตรงดงาม ด้วยเหตุนั้น สวนนั้นจึงเกิดมีชื่อว่า จิตรลดาวัน. บทว่า ปยิรุปาสนฺติ ความว่า ไปเยือนบ่อย ๆ. บทว่า อาสึเสว ความว่า จงทรงจำนงหวังเถิด คือทรงปรารถนาทีเดียว ได้แก่ จงอย่าทำกรรมคือการตัดความหวังทิ้ง.
พระราชาทรงสนพระทัยในถ้อยคำของนาง จึงทรงประชุมอำมาตย์ทั้งหลาย ทรงแสวงหาชื่อของนางโดยทรงตั้งชื่อ ๑๐ ชื่อ ได้ประทับอยู่อีกหนึ่งปี. ในชื่อทั้ง ๑๐ นั้นไม่มีชื่อของนาง เมื่อพระราชดำรัส ว่า ชื่อนี้ พระโพธิสัตว์ปฏิเสธเหมือนกัน. พระราชาจึงทรงม้าเสด็จออกไปอีก ด้วยทรงดำริว่า เราจักมีความต้องการทำไมด้วยหญิงคนนี้. ส่วนนางก็ยืนที่หน้าต่างแสดงตัวให้เห็นอีก. พระราชาทรงเห็นนางแล้วได้ตรัสว่า พวกเราไม่สามารถรู้จักชื่อเธอ เธอจงอยู่ที่ป่าหิมพานต์ไปเถิด พวกฉันจักกลับละ
อา. ข้าแต่มหาราช เหตุไหนพระองค์จึงจะเสด็จไปเสีย ?
รา. ฉันไม่สามารถจะรู้จักชื่อของเธอ.
นางทูลว่า ข้าแต่มหาราช เหตุไฉน ? พระองค์จักไม่ทรงรู้จักชื่อ ธรรมดาความหวังที่จะไม่ให้สำเร็จตามประสงค์ไม่มี ขอพระองค์ จงทรงสดับคำของหม่อมฉันก่อน ได้ทราบว่านกยางตัวหนึ่งเกาะอยู่บนยอดเขา แต่ก็ได้รับสิ่งที่ตนปรารถนา เหตุไฉนพระองค์จักไม่ได้รับ ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงยับยั้งอยู่เถิดพระเจ้าข้า. เล่าต่อ กันมาว่า นกยางตัวหนึ่งบินไปคาบเอาเหยื่อที่สระบัวแห่งหนึ่งแล้ว กลับมาซ่อนอยู่บนยอดเขา มันอยู่ที่นั้นนั่นแหละ ตลอดวันนั้น รุ่งขึ้น จึงคิดว่า เราได้เกาะอยู่อย่างสบายบนยอดเขาลูกนี้ ถ้าหากเราจะไม่ เคลื่อนย้ายไปจากที่ตรงนี้ เจ้าอยู่ที่ตรงนี้เท่านั้น คาบเอาเหยื่อดื่มน้ำแล้วอยู่ตลอดวันนี้ คงจะเจริญหนอ. จึงในวันนั้นนั่นเอง ท้าวสักกเทวราช ทรงทำการย่ำยีพวกอสูร ได้ความเป็นใหญ่ในเทวโลก ในดาวดึงส์พิภพ แล้วทรงดำริว่า ก่อนอื่นมโนรถ คือความต้องการของเราได้ถึงที่สุดแล้วมีอยู่หรือไม่ ใครอื่นที่มีมโนรถยังไม่ถึงที่สุด. ท้าวเธอทรงใคร่ครวญอยู่ก็ทรงเห็นนกยางตัวนั้น จึงทรงดำริว่า เราจักให้มโนรถของมันถึงที่สุด. แล้วได้ทรงบันดาลให้แม่น้ำสายหนึ่ง ที่อยู่ไม่ไกลจากที่ที่นกยางนั้นเกาะอยู่ เต็มไปด้วยห้วงน้ำแล้วส่งน้ำไปทางยอดเขา. นกยางเกาะอยู่ยอดเขานั้นนั่นแหละ จิกกินปลาดื่มน้ำแล้วอยู่ ณ ที่นั้นนั่นเอง ตลอดวันนั้น ภายหลังแม่น้ำก็เหือดหายไป. ข้าแต่มหาราช นกยางยังได้รับผล เพราะความหวังของตนอย่างนี้ก่อน เหตุไร ? พระองค์จักไม่ทรงได้รับดังนี้
แล้วได้กล่าวคาถาว่า อาสึสเถว ดังนี้เป็นต้น
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสึสเถว ความว่า จงหวังเถิดคือจงปรารถนาเถิด. บทว่า ปกฺขี ความว่า นกชื่อว่า ปักขี เพราะประกอบด้วยปีก. ชื่อว่าทิช เพราะเกิด ๒ ครั้ง. บทว่า ตาว ทูรคตา สติ ความว่า ขอพระองค์จงทรงดูเถิด ความที่ปลาและน้ำมี อยู่ใกล้จากยอดเขา แต่ความหวังของนกยางนั้น มีไปในระยะไกล อย่างนี้ ก็ยังเต็มได้เหมือนกัน ด้วยอานุภาพของท้าวสักกะ.
ครั้งนั้น พระราชาได้ทรงสดับคำของนางแล้ว ทรงติดพระทัยในรูป ทรงข้องพระทัยอยู่ในถ้อยคำของนาง ไม่อาจจะเสด็จไปได้ ทรงประชุมอำมาตย์ทั้งหลาย ตั้งชื่อ ๑๐๐ ชื่อ. เมื่อพระองค์ทรงแสวงหาชื่อ ๑๐๐ ชื่ออยู่ ก็ล่วงไปอีกปีหนึ่ง. ท้าวเธอเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ โดยเวลาล่วงเลยไป ๓ ปี ตรัสถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นางจักมี ชื่อโน้น จักมีชื่อนี้. ตามอำนาจของชื่อ ๑๐๐ ชื่อ. พระโพธิสัตว์ทูลว่าขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์ไม่ทรงรู้จักชื่อของนาง. ท้าวเธอตรัสว่า บัดนี้พวกกระผมจักลาไปละ. ทรงไหว้พระโพธิสัตว์แล้วเสด็จออกไป. อาสังกากุมาริกา ก็ได้ยืนพิงประตูหน้าต่างแก้วผลึก อีกนั่นแหละ. พระราชาทอดพระเนตรเห็นนางแล้ว ตรัสว่า เธอจงอยู่ไปเถิด
พวกเราจักไปละ. นางทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช เหตุไร? พระองค์จึงจักเสด็จไปเสียล่ะ. พระราชาตรัสว่า เธอให้เราอิ่มเอิบด้วยคำพูดอย่างเดียว แต่ไม่ให้อิ่มเอิบด้วยความยินดีในกาม. ๓ ปีได้ผ่านไปแล้ว สำหรับเราผู้ติดใจถ้อยคำที่อ่อนหวานของเจ้า บัดนี้ฉันจักไปละ แล้วได้ตรัส พระคาถาเหล่านี้ว่า :-
เธอให้ฉันเอิบอิ่มด้วยวาจา แต่หาให้เอิบ-
อิ่มด้วยสิ่งที่ควรทำไม่ เหมือนดอกหงอนไก่
มีสีสวยแต่ไม่มีกลิ่น ผู้ใดไม่ให้ปันไม่เสียสละ
โภคะ พูดแค่คำอ่อนหวานที่ไร้ผล ในมิตร
ทั้งหลาย ความสัมพันธ์กับมิตรนั้น ของผู้นั้น
จะจืดจางไป. เพราะว่าคนควรพูดแต่สิ่งที่จะ
ต้องทำ ไม่ควรพูดถึงสิ่งที่ไม่ต้องทำ บัณฑิต
ทั้งหลายรู้จักคนไม่ทำ ดีแต่พูด. ก็แหละกำลัง
พลของเราร่อยหลอแล้ว และสะเบียงก็ไม่มี
เราสงสัยในความสิ้นชีวิตของตน เชิญเถิด
เราจะไปเดี๋ยวนี้แหละ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺเปสิ ได้แก่ ให้อิ่มเอิบ คือให้เอิบอิ่ม. คำว่า มาลา โสเรยฺยกสฺเสว นี้เป็นเพียงหัวข้อเทศนา ของหญ้าหางช้างในกระถาง แต่พระราชาตรัสหมายถึงดอกไม้ แม้อื่น ๆ ทุกอย่างนั่นแหละ ที่มีสีสวย แต่ไม่มีกลิ่นเช่นดอกคำ ดอกว่านหางช้างและดอกชะบาเป็นต้น. ด้วยคำว่า วณฺณวนฺตา อคนฺธิกา พระราชาทรงแสดงว่าดอกของต้นโสเรยยกะเป็นต้น ให้คนอิ่มเอิบด้วยการดู เพราะมีสีสวย แต่ไม่ให้อิ่มเอิบด้วยกลิ่น เพราะไม่มีกลิ่นฉันใด เธอก็ฉันนั้น ให้เราอิ่มเอิบด้วยการทัศนา และถ้อยคำที่น่ารัก แต่ไม่ให้อิ่มเอิบด้วยสิ่งที่ควรทำ. บทว่า อททํ ความว่า น้องนางเอ๋ย ผู้ใดพูดด้วยคำหวานว่า ผมจักให้โภคทรัพย์ชื่อนี้แก่คน. แต่ไม่ให้ไม่สละโภคะนั้น ชื่อว่า สร้างคำหวานอย่างเดียวเท่านั้น มิตรสัมพันธ์ของเขากับผู้ นั้นจะเสื่อมทรุด คือต่อไม่ติดด้วยมิตรสันถวะ. บทว่า ปาเกยฺยญฺจ ความว่า น้องนางเอ๋ย เมื่อฉันติดใจคำหวานของเธออยู่ที่นี่เท่านั้น เป็นเวลา ๓ ปี ทั้งกำลังพล กล่าวคือช้างม้ารถ และพลเดินเท้า ทั้งเสบียง กล่าวคืออาหารและเบี้ยเลี้ยงคนเล่าก็ไม่มี. บทว่า สงฺเก มานุปโรธาย ความว่า เรานั้นสงสัยถึงความพินาศแห่งชีวิตของตนในที่นี้นั่นเอง เชิญ
เถิด ฉันจักไปเดี๋ยวนี้ ดังนี้.
อาสังกากุมาริกา ได้ฟังพระราชดำรัสแล้ว เมื่อจะทูลปราศรัยกับพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงทราบชื่อของหม่อมฉันเถิด ชื่อของหม่อมฉัน พระองค์ตรัสอยู่แล้วนั่นแหละ ขอพระองค์ จงทรงบอกชื่อนี้แก่บิดาของหม่อมฉัน แล้วรับเอาหม่อมฉันไปเถิด ดังนี้ แล้ว ได้ทูลว่า :-
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
สิ่งใดมีอยู่ในชื่อ สิ่งนั้นแหละเป็นชื่อของหม่อมฉัน.
ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงรอก่อน หม่อมฉันจะขอบอกลาบิดา.
คาถานั้น มีเนื้อความว่า พระราชาตรัสคำใดกะหม่อมฉัน คำว่า อาสงกานั้นนั่นแหละ เป็นชื่อของหม่อมฉัน.
พระราชา ครั้นทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงได้เสด็จไปยังสำนักของท่านดาบสทรงไหว้แล้ว ตรัสว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ธิดาของ พระคุณเจ้า ชื่อว่า อาสงกา. พระมหาสัตว์ ครั้นได้ฟังคำนั้นแล้วจึงทูลว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร เริ่มแต่เวลาที่มหาบพิตร ทรงรู้จักชื่อแล้ว ขอมหาบพิตรจงทรงรับนางไปเถิด. พระองค์ทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงไหว้พระมหาสัตว์เสด็จมายังวิมานแก้วผลึก ตรัสว่า น้องนางเอ๋ย วันนี้บิดาได้ให้น้องแก่พี่แล้ว มาเถิด เราจักไปกันเดี๋ยวนี้.
นางได้ฟังดังนี้แล้ว จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชจงทรงรอก่อน หม่อมฉัน ขอบอกบิดาก่อน แล้วลงจากปราสาทไหว้พระมหาสัตว์ ร่ำไห้ขอขมาโทษแล้วได้ไปยังราชสำนัก. พระราชาทรงพานางเสด็จไปนครพาราณสี ประทับอยู่ครองกันด้วยความรัก ทรงจำเริญด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดา. พระโพธิสัตว์ไม่เสื่อมจากฌาน คือมรณภพแล้วเกิดใน พรหมโลก.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศ สัจจะแล้วทรงประชุมชาดกไว้. ในเวลาจบสัจธรรม ภิกษุผู้กระสันจะสึก ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. นางอาสังกากุมาริกาในครั้งนั้น ได้แก่ภรรยาเก่าในปัจจุบันนี้ พระราชาได้แก่ภิกษุผู้กระสันจะสึก ส่วนดาบส ได้แก่เราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาอาสังกชาดกที่ ๕



Create Date : 01 มีนาคม 2555
Last Update : 1 มีนาคม 2555 19:39:57 น.
Counter : 369 Pageviews.

0 comment
๔. เนรุชาดก ว่าด้วยอานุภาพของเนรุบรรพตพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ ๕๙ หน้า ๔๕ ปกน้ำเงิน
๔. เนรุชาดก ว่าด้วยอานุภาพของเนรุบรรพต (ปกน้ำเงิน) ว่าด้วยเนรุบรรพต (ปกแดง) พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๕๙ หน้า ๔๕ ปกน้ำเงิน หน้า ๓๒ ปกแดง พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๕
[๘๔๙] กาป่าก็ดี ฝูงกาธรรมดาก็ดี และพวกเรา
ผู้ประเสริฐกว่านกทั้งหลายก็ดี มาถึงภูเขาลูกนี้
แล้ว เป็นเหมือนกันหมด คือมีสีเหมือนกันหมด.
[๘๕๐] ทั้งสิงห์โต ทั้งเสือ ทั้งนก หมาไน ก็
เป็นเหมือนกันหมด ภูเขานี้ชื่ออะไร ?
[๘๕๑] คนทั้งหลายรู้จักภูเขาลูกนี้ว่า ชื่อว่า เนรุ
เป็นภูเขาชั้นยอดของภูเขาทั้งหลาย สัตว์ทุก
ชนิดอยู่ในภูเขานี้สีสวยหมด.
[๘๕๒] ณ ที่ใดมีแต่ความไม่นับถือกัน การดูหมิ่น
สัตบุรุษ หรือการนับถือคนเลว ณ ที่นั้นคนมี
อำนาจไม่ควรอยู่.
[๘๕๓] แต่ในภูเขาใด เขาบูชาทั้งคนเกียจคร้าน
ทั้งคนขยัน คนกล้าหาญ ทั้งคนขลาด สัตบุรุษ
ทั้งหลาย จะไม่อยู่บนภูเขานั้นที่ไม่ทำให้แตกต่างกัน.
[๘๕๔] เขาเนรุนี้จะไม่คบคนที่เลว คนชั้นสูง
แต่คนขนาดกลาง เขาเนรุทำให้สัตว์ไม่แตก
ต่างกัน เชิญเถิดพวกเราจะละทิ้งเขาเนรุนั้นเสีย.
จบ เนรุชาดกที่ ๔
อรรถกถาเนรุชาดกที่ ๔
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า กาโกลา กากสงฺฆา จ ดังนี้.
ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้นเรียนพระกรรมฐาน ในสำนักของพระศาสดา แล้วได้ไปยังหมู่บ้านชนบทตำบลหนึ่ง. คนทั้งหลายเลื่อมใส ในอิริยาบทของท่าน ให้ท่านฉันแล้ว รับปฏิญญาท่าน สร้างบรรณศาลาในป่าให้ท่านอยู่ที่บรรณศาลานั้น และพากันถวายสักการะท่านอย่าง เหลือเฟือ. ครั้งนั้น ภิกษุอื่นซึ่งเป็นพวกสัตตวาทะได้มา ณ ที่นั้น. คนเหล่านั้นได้ฟังคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว พากันสละเถรวาททิ้ง เชื่อ ถือสัสสตวาท ถวายสักการะท่านเหล่านั้นเท่านั้น. ต่อมาพวกอุจเฉทวาทมา. พวกเขาก็พากันสละสัสสตวาททิ้งเชื่อถืออุจเฉทวาท. ต่อมาพวกอื่น ที่เป็นอเจลกวาทมา. พวกเขาก็พากันสละอุจเฉทวาททิ้ง เธอถือ อเจลกวาท. ท่านอยู่อย่างไม่สบายในสำนักของพวกคนเหล่านั้น ผู้ไม่
รู้จักคุณและมิใช่คุณ ออกพรรษาปวารนาแล้ว จึงไปยังสำนักของพระศาสดา เป็นผู้ที่พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารแล้ว เมื่อพระองค์ ตรัสถามว่า เธอจำพรรษาที่ไหน ? ทูลว่า อาศัยหมู่บ้านชายแดน
พระเจ้าข้า. ถูกตรัสถามว่า อยู่สบายดีหรือ ? จึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อยู่อย่างเป็นทุกข์ในสำนักของผู้ไม่รู้คุณและไม่ใช่คุณ. พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ บัณฑิตทั้งหลาย ในสมัยก่อน แม้เกิดในกำเนิดเดียรฉาน แม้เพียงวันเดียวก็ไม่อยู่กับคนทั้งหลายผู้ไม่ รู้คุณและมิใช่คุณ เหตุไฉนเธอจึงอยู่ในสำนักของตนที่ไม่รู้จักคุณและ มิใช่คุณของตน. ทรงเป็นผู้ที่ภิกษุนั้นทูลอ้อนวอน จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในกำเนิดสุวรรณหงส์ แม้พี่ ๆ น้อง ๆ ของเขาก็มี. พวกเขาพากันอยู่ที่เขาจิตกูฏ จิกกินข้าวสาลีที่เกิดเอง ในท้องที่ หิมพานต์. อยู่มาวันหนึ่ง พวกเขาพากันเที่ยวไปในท้องถิ่นหิมพานต์นั้น แล้วกำลังกลับมายังเขาจิตกูฏ เห็นภูเขาทองลูกหนึ่ง ชื่อว่า เนรุ ในระหว่างทางจึงได้พากันเกาะอยู่บนยอดเขานั้น. แต่สัตว์ที่อาศัยอยู่ภูเขานั้นมีทั้งนก ทั้งกระต่าย แต่สัตว์ ๔ เท้านานาชนิดในทำเล หากิน ตั้งแต่เวลาเข้าไปสู่ภูเขาจะกลายเป็นมีสีเหมือนทอง เพราะต้องแสงภูเขานั้น. พวกสุวรรณหงส์พากันเห็นแล้ว น้องสุดท้องของพระโพธิสัตว์ ไม่รู้เหตุนั้น สงสัยว่านั่นเป็นเหตุอะไรหนอ ? เมื่อจะสนทนากับพี่ชาย
จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
กาป่าก็ดี ฝูงกาธรรมดาก็ดี และพวกเรา
ผู้ประเสริฐ ว่านี้ทั้งหลายก็ดี มาถึงภูเขานี้
แล้ว เป็นเหมือนกันหมด ทั้งสิงห์โต ทั้งเสือ
ทั้งนก ทั้งหมาไน ก็เป็นเหมือนกันหมด ภูเขานี้ชื่ออะไร ?
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาโกลา ได้แก่ กาป่า นกกาเหว่า.บทว่า กากสงฺฆา ความว่า หรือฝูงกาปกติ. บทว่า ปตฺตํ วรา ความว่า ประเสริฐสุดกว่านกทั้งหลาย. บทว่า สทิสา โหม ความว่าเป็นผู้มีสีเหมือนกัน.
พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
คนทั้งหลายรู้จักภูเขาลูกนี้ว่า ชื่อว่า เนรุ
เป็นภูเขาชั้นยอดกว่าภูเขาทั้งหลาย สัตว์ทุก
ชนิดอยู่ในภูเขานี้สีสวยหมด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธ วณฺเณน ความว่า สัตว์ทั้งหลายในเนรุบรรพตนี้ เป็นผู้มีสีสวย เพราะรัศมีภูเขา .
น้องชายได้ยินคำนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถาที่เหลือว่า :-
ณ ที่ใดมีแต่ความไม่นับถือกัน การ
ดูหมิ่นสัตบุรุษ หรือการนับถือคนเลว ณ ที่นั้น
คนมีอำนาจไม่ควรอยู่. แต่ในที่ใดเขาบูชาทั้ง
คนเกียจคร้าน ทั้งคนขยัน ทั้งคนกล้าหาญ
ทั้งคนขลาด สัตบุรุษทั้งหลาย จะไปอยู่ใน
ที่นั้นที่ไม่ทำให้ไม่แปลกกัน. เขาเนรุนี้ จะไม่
คบคนที่เลว คนชั้นสูง และคนขนาดกลาง
เขาเนรุทำให้สัตว์ไม่แตกต่างกัน เชิญเถิด
พวกเราจะละทิ้งเขาเนรุนั้นเสีย.
บรรดาบทเหล่านั้น คาถาที่หนึ่งมีเนื้อความว่า ณ ที่ใดมีทั้งการ ไม่นับถือ ทั้งการดูหมิ่น หรือการปราศจากความนับถือ ด้วยอำนาจการดูหมิ่นเพราะไม่มีความนับถือ สัตบุรุษ คือ บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีลหรือมีการนับถือคนเลวหรือคนทุศีล ที่นั้นผู้มีอำนาจไม่ควรอยู่. บทว่าปูชิยา ความว่า คนเหล่านี้เป็นผู้ที่เขาบูชาแล้ว ด้วยการบูชาที่เป็นเช่นเดียวกันคือได้สักการะเสมอกันในที่นั้น. บทว่า หีนฺมุกฺกฏฺมชฺฌิเม ความว่า ผู้นี้จะไม่คบทั้งคนเลว ทั้งคนปานกลาง และคนชั้นสูง โดย ชาติ โคตร ตระกูล ท้องถิ่น ศีล อาจาระ และญาณเป็นต้น. ศัพท์ว่า หนฺท เป็นนิบาตใช้ในอรรถแห่งอุปสรรค. บทว่า ชหามเส ความว่าย่อมสลัดทิ้ง.
ก็แลหงส์ทั้ง ๒ ตัวนั้นครั้นพูดกันอย่างนี้แล้ว ได้พากันบินไปยังเขาจิตกูฏนั่นเอง.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศ สัจจะแล้วทรงประชุมชาดกไว้. ในที่สุดแห่งสัจจะ ภิกษุนั้นได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. หงส์ตัวน้องในครั้งนั้น ได้เป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนหงส์ตัวพี่ คือเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาเนรุชาดกที่ ๔



Create Date : 01 มีนาคม 2555
Last Update : 1 มีนาคม 2555 19:36:03 น.
Counter : 572 Pageviews.

0 comment
ว่าด้วยโทษของกาม (น้ำเงิน), ว่าด้วยคำสอนของพระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า (แดง) พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ
ว่าด้วยโทษของกาม (น้ำเงิน), ว่าด้วยคำสอนของพระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า (แดง) พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๕๙ หน้า ๒๔ ปกน้ำเงิน หน้า ๑๘ ปกแดง พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๕
๓. ทรีมุขชาดก ว่าด้วยโทษของกาม
[๘๔๓] กามทั้งหลายเหมือนหล่ม กามทั้งหลาย
เหมือนพุ ก็อาตมภาพได้ทูลถึงภัยนี้ ว่ามี
มูล ๓ ธุลีและควัน อาตมภาพก็ได้ถวาย
พระพรแล้ว ข้าแต่มหาบพิตรพรหมทัต ขอ
พระองศ์จงทรงละสิ่งเหล่านั้น แล้วเสด็จออกผนวชเถิด...ฯลฯ

อรรถกถาทรีมุขชาดกที่ ๓
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงปรารภ มหาภิเนษกรมณ์ จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ปงฺโกว กาม ดังนี้ เรื่องในปัจจุบันได้กล่าวไว้แล้ว ในหนหลัง.
ได้ยินว่า พระราชาทรงพระนามว่า มคธราช ครองราช สมบัติที่อยู่ในนครราชคฤห์. ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ ได้ถือกำเนิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระองค์. พระญาติทั้งหลายได้ถวาย พระนามพระองค์ว่า พรหมทัตกุมาร. ในวันที่พระราชกุมารประสูตินั่นเอง ฝ่ายบุตรของปุโรหิต ก็เกิด. ใบหน้าของเด็กนั้น สวยงามมาก เพราะเหตุนั้นญาติของเขา จึงได้ตั้งชื่อของเด็กนั้นว่า ทรีมุข. กุมารทั้ง ๒ นั้น เจริญเติบโตแล้ว ในราชตระกูลนั้นเอง. ทั้งคู่นั้น เป็นสหายรักของกัน เวลามีชนมายุ ๑๖ ชันษา ได้ไปยังเมืองตักกศิลา เรียนศิลปะทุกอย่างแล้ว พากันเที่ยวไปในตามนิคมเป็นต้น ด้วยความตั้งใจว่า จักพากันศึกษาลัทธิทุกลัทธิ และจักรู้จารีตของท้องถิ่นด้วย ถึงเมืองพาราณสี พักอยู่ที่ศาลเจ้า รุ่งเช้าพากันเข้าไปเมืองพาราณสี เพื่อภิกษา. ตนในตระกูล ๆ หนึ่ง ในเมืองพาราณสีนั้น ตั้งใจว่า พวก เราจักเลี้ยงพราหมณ์ แล้วถวายเครื่องบูชา จึงหุงข้าวปายาส แล้วปูอาสนะไว้. คนทั้งหลายเห็นคนทั้ง ๒ นั้น กำลังเที่ยวภิกขาจาร เข้าใจว่า พราหมณ์มาแล้ว จึงให้เข้าไปในบ้าน ปูผาขาวไว้สำหรับพระมหาสัตว์ ปูผ้ากัมพลแดงไว้สำหรับทรีมุขกุมาร. ทรีมุขกุมารเห็นนิมิตรนั้นแล้ว รู้ชัดว่า วันนี้สหายของเราจักเป็นพระเจ้าพาราณสี ส่วนเราจักเป็นเสนาบดี. ทั้ง ๒ ท่านบริโภค ณ นั้น แล้วรับเอาเครื่องบูชากล่าวมงคลแล้วออกไป ได้พากันไปถึงพระราชอุทยานนั้น. ในจำนวน คนทั้ง ๒ นั้น พระมหาสัตว์บรรทมแล้ว บนแผ่นศิลามงคล ส่วนทรีมุขกุมารนั่งนวดพระบาทของพระมหาสัตว์นั้น วันนั้น เป็นวันที่ ๗ แห่งการสวรรคตของพระเจ้าพาราณสี. ปุโรหิต ถวายพระเพลิงพระศพแล้ว ได้เสี่ยงบุษยราชรถในวันที่ ๗ เพราะราชสมบัติไม่มีรัชทายาท. กิจเกี่ยวกับบุษยราชรถ จักมีแจ้งชัด ในมหาชนกชาดก. บุษยราชรถ ออกจากพระนครไป มีจตุรงคเสนาห้อมล้อม พร้อมด้วยดุริยางค์หลายร้อย ประโคมขัน ถึงประตูพระราชอุทยาน. ครั้งนั้น ทรีมุขกุมาร ได้ยินเสียงดุริยางค์ แล้วคิดว่า บุษยราชรถมาแล้ว เพื่อสหายของเรา วันนี้สหายของเราจักเป็นพระราชา แล้วประทานตำแหน่งเสนาบดีแก่เรา เราจักประโยชน์อะไรด้วยการครองเรือน เราจักออกบวช ดังนี้ แล้ว จึงไม่ทูลเชิญพระโพธิสัตว์ เลยไปยังที่สมควรข้างหนึ่ง แล้วได้ยืนอยู่ในที่กำบัง. ปุโรหิตหยุดรถที่ประตูพระราชอุทยาน แล้วเข้าไปยังพระราชอุทยาน เห็นพระโพธิสัตว์บรรทมบนแผ่นศิลามงคล ตรวจดูลักษณะที่เท้าลายพระบาท แล้วทราบว่า เป็นคนมีบุญ สามารถครอง ราชสมบัติ สำหรับมหาทวีปทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒ พันเป็นบริวารได้แต่คนเช่นนี้ คงเป็นคนมีปัญญาเครื่องทรงจำ จึงได้ประโคมดุริยางค์ทั้งหมดขึ้น. พระโพธิสัตว์ตื่นบรรทมแล้ว ทรงนำผ้าสาฎกออกจากพระพักตร์ ทรงทอดพระเนตรเห็นมหาชน แล้วทรงเอาผ้าสาฎกปิด พระพักตร์อีก บรรทมหน่อยหนึ่ง ระงับความกระวนกระวาย แล้วเสด็จลุกขึ้นประทับนั่งขัดสมาธิบนแผ่นศิลา. ปุโรหิตคุกเข่าลงแล้ว ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ราชสมบัติ กำลังตกถึงพระองค์.
พ. ราชสมบัติไม่มีรัชทายาทหรือ ?
ปุ. ไม่มีพระพุทธเจ้าข้า.
พ. ถ้าอย่างนั้น ก็ดีแล้ว จึงทรงรับไว้.
ประชาชนเหล่านั้น ได้พากันทำการอภิเษก พระโพธิสัตว์นั้น ที่พระราชอุทยานนั่นอง. พระองค์มิได้ทรงรำลึกถึงทรีมุขกุมาร เพราะความมียศมา. พระองค์เสด็จขึ้นพระราชรถ มีบริวารห้อมล้อม เข้าไปสู่พระนคร ทรงการทำปทักษิณ แล้วประทับยืนที่ประตูพระราชนิเวศน์นั่นเอง ทรงพิจารณาถึงฐานันดรของอำมาตย์ทั้งหลาย แล้วเสด็จขึ้นสู่ปราสาท. ขณะนั้น ทรีมุขกุมาร คิดว่า บัดนี้ พระราชอุทยาน ว่างแล้ว จึงมานั่งที่ศิลามงคล. ลำดับนั้น ใบไม้เหลืองได้ร่วงลงมา ข้างหน้าของเขา. เขาเริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมไป ในใบไม้เหลืองนั้นนั่นเอง พิจารณาไตรลักษณ์ให้แผ่นดินกึกก้องไป พร้อมกับให้พระปัจเจกโพธิญาณเกิดขึ้น ในขณะนั้นนั่นเอง เพศคฤหัสถ์ของท่าน ก็อันตรธานไป. บาตรจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ ก็ล่องลอยมาจากอากาศ สวมที่สรีระของท่าน. ทันใดนั้นนั่นเอง ท่านก็เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งบริขาร ๘ สมบูรณ์ด้วยอิริยาบท เป็นเหมือนพระเถระผู้มีพรรษาร้อยพรรษา เหาะ ไปในอากาศด้วยฤทธิ์ ได้ไปยังเงื้อมเขา นันทมูลกะ ในท้องถิ่นป่าหิมพานต์. ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็เสวยราชสมบัติโดยธรรม. แต่เพราะเป็นผู้มียศมาก จึงทรงเป็นผู้มัวเมาด้วยยศ ไม่ทรงรำลึกถึงทรีมุขกุมาร เป็นเวลาถึง ๔๐ ปี. แต่เมื่อเวลาเลย ๔๐ ปี ผ่านไปแล้ว พระองค์ทรงรำลึกถึงเขาแล้ว จึงตรัสว่า ฉันมีสหายอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า ทรีมุข เขาอยู่ที่ไหนหนอ ? ดังนี้แล้ว มีพระราชประสงค์จะพบพระสหายนั้น. จำเดิมแต่ นั้นมา พระองค์ก็ตรัสถามหา ภายในเมืองบ้าง ท่ามกลางบริษัทบ้างว่า ทรีมุขกุมาร สหายของฉันอยู่ที่ไหน ? ผู้ใดบอกที่อยู่ของเขาแก่ฉัน ฉันจะให้ยศสูงแก่ผู้นั้น. เมื่อพระองค์ทรงระลึกถึงเขาอยู่บ่อย ๆ อย่างนี้ นั่นแหละ ปีอื่น ๆ ได้ผ่านไปถึง ๑๐ ปี. โดยเวลาผ่านไปถึง ๕๐ ปีแม้พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทรีมุข ทรงรำลึกถึงอยู่ ก็ทรงทราบว่า สหายรำลึกถึงเราอยู่แล แล้วทรงดำริว่า บัดนี้ พระโพธิสัตว์นั้น ทรงพระชรา จำเริญด้วยพระโอรสพระธิดา เราจักไปแสดงธรรมถวายให้พระองค์ทรงผนวช ดังนี้แล้ว จึงได้เสด็จมาทางอากาศ ด้วยฤทธิ์ ลงที่พระราชอุทยาน นั่งบนแผ่นศิลา เหมือนพระพุทธรูปทองคำก็ปานกัน. เจ้าหน้าที่รักษาพระราชอุทยาน เห็นท่านแล้ว เข้าไปเฝ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านมาจากที่ไหน ?
พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสตอบว่า มาจากเงื้อมเขา นันทมูลกะ
จ. ท่านเป็นใคร ?
พ. อาตมภาพ คือพระปัจเจกพุทธเจ้า ชื่อว่า ทรีมุข โยม.
จ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงรู้จักในหลวงของข้าพระองค์ทั้งหลายไหม ?
พ. รู้จักโยม เวลาเป็นคฤหัสถ์ พระองค์ทรงเป็นสหายของอาตมา.
จ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในหลวงมีพระราชประสงค์จะพบพระองค์ ข้าพระองค์ จักทูลบอกว่า พระองค์เสด็จมาแล้ว.
พ. เชิญโยม ไปทูลบอกเถิด.
จ. รับพระบัญชาแล้ว รีบด่วนไปทีเดียว ทูลในหลวงถึงความ ที่พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่แผ่นศิลาแล้ว.
ในหลวงตรัสว่า ได้ทราบว่า พระสหายของฉันมาแล้ว ฉันจักไปเยี่ยมท่าน แล้วเสด็จขึ้นรถไปยังพระราชอุทยาน พร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนมาก ไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้า ทำการปฏิสันถาร แล้วนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง. ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงทำปฏิสันถารกะพระองค์ พลางทูลคำมีอาทิว่า ขอถวายพระพร พระเจ้าพรหมทัต พระองค์ทรงเสวยราชสมบัติโดยธรรมอยู่หรือ ? ไม่ทรงลุอำนาจอคติหรือ ? ไม่ทรงเบียดเบียนประชาสัตว์ เพื่อต้องการทรัพย์หรือ ? ทรงบำเพ็ญบุญ มีทานเป็นต้นอยู่หรือ ? ดังนี้แล้ว ทูลว่าขอถวายพระพรพระเจ้าพรหมทัต พระองค์ทรงพระชราภาพแล้ว บัดนี้ เป็นสมัยของพระองค์ที่จะทรงละกาม เสด็จออกผนวชแล้ว. เมื่อจะทรงแสดงธรรมถวายพระองค์ จึงได้ทูลคาถาที่ ๑ ว่า :-
กามทั้งหลายเหมือนหล่ม กามทั้งหลาย
เหมือนพุ ก็อาตมาภาพได้ทูลภัยนี้ไว้ว่ามีมูล ๓
ธุลีและควัน อาตมาภาพก็ได้ถวายพระพรแล้ว
ข้าแต่พระเจ้าพรหมทัตมหาบพิตร ขอพระองค์
จงทรงละสิ่งเหล่านั้น เสด็จออกผนวชเถิด.
บรรดาบสเหล่านั้น บทว่า ปงฺโก พระปัจเจกพุทธเจ้า ตรัส หมายถึง พืชทั้งหลาย มีหญ้า สาหร่าย ไม้อ้อและกอหญ้าเป็นต้นที่เกิดขึ้นในน้ำ. อุปมาเหมือนหนึ่งว่า พืชเหล่านั้น ยังมีกำลังน้ำ ให้ติดอยู่ฉันใด เบญจกามคุณทั้งหลาย หรือว่า วัตถุกามและกิเลสกามทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปลัก คือปังกะ ด้วยอำนาจยังพระโยคาวจร ผู้กำลังข้ามสงสารสาคร ให้ติดข้องอยู่. เพราะว่า เทวดาก็ตาม มนุษย์ก็ตาม สัตว์เดียรฉานทั้งหลายก็ตาม ผู้ข้องแล้ว ติดแล้ว ในปลักนั้นจะลำบาก ร้องไห้ คร่ำครวญอยู่. ที่หล่มใหญ่ พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า พุ คือปลิปะ ในคำว่า ปลิโปว กามา ซึ่งสัตว์ทั้งหลายมีสุกรและเนื้อเป็นต้นก็ตาม สิ่งโตก็ตาม ช้างก็ตาม ที่ติดแล้ว ไม่สามารถจะถอนตนขึ้น แล้วไปได้, ก็วัตถุกามและกิเลสกามทั้งหลาย ท่านเรียกว่า ปลิปะ เพราะเป็นเสมือนกับพุนั้น. เพราะว่า สัตว์ทั้งหลาย ถึงจะมีบุญก็ไม่สามารถทำลายกามเหล่านั้น รีบลุกขึ้น แล้วเข้าไปสู่การบรรพชาที่ไม่มีกังวล ไม่มีปลิโพธ เป็นที่รื่นรมย์ ได้เริ่มต้น แต่เวลาติดอยู่คราวเดียว ในกามทั้งหลายเหล่านั้น. บทว่า ภยญฺจ เมตํได้แก่ ภยญฺจ เอตํ และอาตมาภาพได้กล่าวภัยนี้ ม อักษร ท่านกล่าวไว้ ด้วยสามารถแห่งการต่อบท ด้วยพยัญชนะ. บทว่า ติมูลํความว่า ไม่หวั่นไหว เหมือนตั้งมั่นอยู่ด้วยราก ๓ ราก. คำนี้ เป็นชื่อของภัยที่มีกำลัง. บทว่า ปวุตฺตํ ความว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตรขึ้นชื่อว่า กามเหล่านี้ ทั้งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพุทธสาวกทั้งหลาย ทั้งพระโพธิสัตว์ ผู้เป็นสัพพัญญูทั้งหลาย ตรัสแล้วคือทรงบอกแล้ว อธิบายว่า ทรงแสดงไว้แล้วว่า ชื่อว่าเป็นภัยมีกำลัง เพราะหมายความว่า เป็นปัจจัยแห่งภัย ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและสัมปรายิกภพ มีภัยคือการติเตียนตนเองเป็นต้น และที่เป็นไปแล้ว ด้วยสามารถแห่งกรรมกรณ์ ๓๒ ประการ และโรค ๗๘ ชนิด. อีกอย่างหนึ่ง. บทว่า ภยญฺจ เมตํ ความว่า ก็อาตมาภาพได้ทูลภัยนี้ไว้ว่ามีมูล ๓ พึงทราบเนื้อความในบทนี้ ดังที่พรรณนามานี้นั่นเอง. บทว่า รโช จ ธูโม จ ความว่า กามทั้งหลาย อาตมาภาพประกาศไว้แล้วว่าเป็นธุลีด้วย เป็นควันด้วย เพราะเป็นเช่นกับด้วยธุลีและควัน. อุปมา เหมือนหนึ่งว่า ร่างกายของชายที่อาบน้ำสะอาดแล้ว ลูบไล้และตกแต่งดีแล้ว แต่มีฝุ่นที่ละเอียดตกลงที่ร่างกาย จะมีสีคล้ำ ปราศจากความงาม ทำให้หม่นหมอง ฉันใด พระโยคาวจรทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้มาแล้ว โดยทางอากาศเหาะได้ ด้วยกำลังฤทธิ์ ปรากฏแล้ว ในโลก เหมือนพระจันทร์และพระอาทิตย์ ก็มีสีมัวหมอง ปราศจาก ความงาม เป็นผู้เศร้าหมองแล้ว เริ่มแต่เวลาที่ธุลี คือกามตกลงไปในภายในครั้งเดียว เพราะคุณความดี คือสี คุณความดี คือความงามและคุณความดี คือความบริสุทธิ์ ถูกขจัดแล้ว. อนึ่ง คนทั้งหลายแม้จะสะอาด ดีแล้ว ก็จะมีสีดำเหมือนฝาเรือน เริ่มต้นแต่เวลา ถูกควันรม ฉันใด พระโยคาวจรทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้มีญาณบริสุทธิ์เหลือเกิน ก็จะปรากฏเป็นเหมือนคนผิวดำ ท่ามกลางมหาชนทีเดียว เพราะถึงความพินาศแห่งคุณความดี เริ่มต้นแต่เวลาที่ถูกควันคือกามารมณ์ ดังนั้น กามเหล่านี้ อาตมภาพ จึงประกาศแก่มหาบพิตรว่า เป็นทั้งธุลี เป็นทั้งควัน เพราะเป็นเช่นกับด้วยธุลีและควัน เพราะฉะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า จึงทรงให้พระราชาทรงเกิดอุตสาหะในการบรรพชา ด้วยพระดำรัสว่า ข้าแต่มหาบพิตร พระราชสมภาร พรหมทัตเจ้า ขอพระองค์ จงทรงละกามเหล่านี้ ทรงผนวชเถิดพระราชา ครั้นทรงสดับคำนั้นแล้ว เมื่อจะตรัสบอกความที่
พระองค์ทรงคิดอยู่ ด้วยกิเลสทั้งหลาย จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า :-
ดูก่อนพราหมณ์ โยมทั้งกำหนัด ทั้ง
ยินดี ทั้งสยบอยู่ในกามทั้งหลาย ต้องการมี
ชีวิตอยู่ ไม่อาจละกามนั้น ที่มีรูปสะพึงกลัว
ได้ แต่โยมจักทำบุญไม่ใช่น้อย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เคธิโต ได้แก่ ถูกกายคันถะ คือ อภิชฌาผูกมัดไว้. บทว่า รตฺโต ได้แก่ ถูกราคะย้อมใจแล้ว. บทว่า อธิมุจฺฉิโต ได้แก่ สลบไสลไปมากเหลือเกิน. บทว่า กาเมสฺวาหํ ความว่า โยมยังติดอยู่ในกามทั้ง ๒. พระราชาตรัสเรียก พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้าว่า พราหมณ์. บทว่า ภึสรูปํ ได้แก่ มีรูปมีพลัง. บทว่า ตํ นุสฺสเห ความว่า โยมไม่อาจ คือไม่สามารถละกามทั้ง ๒ อย่างนั้นได้. ด้วยคำว่า ชีวิกตฺโก ปาหาตุํ พระราชาตรัสว่า โยมยัง
ต้องการความเป็นอยู่นี้ จึงไม่อาจละกามนั้นได้. บทว่า กาหามิ ปุญฺานิ ความว่า แต่โยมจักทำบุญ คือทานศีลและอุโบสถกรรม ไม่น้อย คือมาก ดังนี้. ขึ้นชื่อว่า บุคคลผู้มีกิเลสกามอย่างนี้ ไม่สามารถจะนำออกไปจากใจได้ เริ่มต้นตั้งแต่เวลาที่ติดอยู่คราวเดียว พระมหาบุรุษผู้มีจิตเศร้าหมองแล้ว เพราะกิเลสอันใดเล่า แม้เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้า ตรัสถืงคุณของบรรพชาแล้ว ก็ยังตรัสว่า โยมไม่สามารถจะ บวชได้ พระเจ้าพรหมทัตพระองค์นี้ เมื่อทรงตรวจตราดูพุทธการกธรรม ด้วยพระญาณที่เกิดขึ้นในพระองค์ แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร ทรงเห็นเนกขัมมบารมีที่ ๓ แล้ว จึงทรงสรรเสริญคุณในเนกขัมมะอย่างนี้ว่า :-
ถ้าพระองค์ปรารถนาบรรลุโพธญาณไซร้
พระองค์จงสมาทานบารมีที่ ๓ นี้ไว้ให้มั่นคง
ก่อน แล้วจึงไปสู่เนกขัมมบารมี. คนที่อยู่
ในเรือนจำมานาน ๆ ถึงความทุกข์ จะไม่ให้
ความยินดีเกิดขึ้นในเรือนจำนั้น จะแสวงหา
ทางพ้นทุกข์อย่างเดียวฉันใด พระองค์ก็เช่น
นั้นเหมือนกัน จงเห็นภพทั้งหมดเหมือนเรือน-
จำ เป็นผู้บ่ายหน้าสู่เนกขัมมะแล้ว จักบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ.
พระเจ้าพรหมทัตนั้น แม้เป็นผู้ที่พระปัจเจกพุทธเจ้า ตรัสสรรเสริญการบรรพชา แล้วถวายพระพรว่า ขอมหาบพิตร จะทรงทอดทิ้งกิเลสทั้งหลาย แล้วทรงเป็นสมณะเถิด. จึงตรัสว่า โยมไม่อาจจะทอดทิ้งกิเลสเป็นสมณะได้.
ได้ทราบว่าคนบ้าในโลกนี้มี ๘ จำพวก เพราะฉะนั้นโบราณาจารย์ จึงได้กล่าวไว้ว่า คนที่ได้สัญญาว่าเป็นบ้ามี ๘ จำพวก คือ :-
๑. บ้ากาม (กามุมฺมตฺตโก) มัวเมาในกาม คือ :-
- ตกอยู่ใต้อำนาจจิต (จิตฺตวสงฺคโต) ของผู้อื่น
- ตกอยู่ใต้อำนาจความโลภ (โลภวสงฺคโต)
๒. บ้าโกรธผู้อื่น (โกธุมฺมตฺตโก) คือ :-
- ตกอยู่ใต้อำนาจวิหึสา (วิหึสาวสงฺคโต) คนอื่น
๓ บ้าความเห็น (ทิฏฺฐุมฺมตฺตโก) บ้าทฤษฎีหรือบ้าลัทธิ
- ตกอยู่ใต้อำนาจความเข้าใจผิด (วิปลฺลาสวสงฺคโต)
๔ บ้าความหลง (โมหุมฺมตฺตโก) คือ :-
- ตกอยู่ในอำนาจความไม่รู้
๕ บ้ายักษ์ (ยกฺขุมฺมตฺตโก) คือ :-
- ตกอยู่ในอำนาจยักษ์ (ยกฺขวสงฺคโต)
๖ บ้าดีเดือด (ปิตฺตุมฺมตฺตโก) คือ :-
- ตกอยู่ในอำนาจของดี (ปิตฺตวสงฺคโต)
๗ บ้าสุรา (สุรุมฺมตฺตโก) คือ :-
- ตกอยู่ใต้อำนาจการดื่ม (ปานนวสงฺคโต)
๘. บ้าเพราะความสูญเสีย (พฺยสมุมฺมตฺตโก) คือ :-
- ตกอยู่ใต้อำนาจของความเศร้าโศก (โสกวสฺคโต)

ในจำนวนบ้า ๘ จำพวกเหล่านี้ พระมหาสัตว์ ในชาดกนี้เป็นผู้บ้ากามตกอยู่ใต้อำนาจความโลภ จึงไม่รู้คุณของบรรพชา. ถามว่า ก็โลภะนี้ ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ทำลายคุณความดี ด้วยประการ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ แต่เหตุไฉนสัตว์ทั้งหลาย จึงไม่อาจหลุดพ้นไปได้. ตอบว่า เพราะความโลภนั้นเจริญมาแล้ว โดยรวมกันเป็นเวลาหลาย แสนโกฏิกัปป์ ในสงสารที่ไม่มีใครตามพบเงื่อนต้นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้ว บัณฑิตทั้งหลาย จึงละด้วยอำนาจแห่งการพิจารณาหลายอย่าง มีอาทิว่า กามทั้งหลายมีความชื่นใจน้อย.
แม้เมื่อพระมหาสัตว์นั้นนั่นเอง ตรัสว่า โยมไม่อาจจะบวชได้ พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า ก็ไม่ทรงทอดธุระ เมื่อจะถวายพระโอวาท ให้ยิ่งขึ้นไป จึงตรัสคาถา ๒ คาถาไว้ว่า :-
ผู้ที่ถูกผู้มุ่งประโยชน์ อนุเคราะห์ด้วย
ประโยชน์เกื้อกูล กล่าวสอนอยู่ แต่ไม่ทำ
ตามคำสอน เป็นคนโง่ สำคัญว่าสิ่งนี้เท่านั้น
ประเสริฐกว่าสิ่งอื่น จะเข้าถึงครรภ์สัตว์ แล้ว ๆ
เล่า ๆ จะเข้าถึงนรก ชนิดร้ายกาจ เหล่าสัตว์
ที่ยังไม่ปราศจากราคะ ในกามทั้งหลายติดแล้ว
ในกายของตนละยังไม่ได้ ซึ่งที่ที่ไม่สะอาด
ของผู้สะอาดทั้งหลาย ที่เต็มไปด้วยมูตรและคูถ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถกามสฺส ความว่า ผู้มุ่งความเจริญ. บทว่า หิตานุกมฺปิโน ความว่า ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์ เกื้อกูล คือด้วยจิตอ่อนโยน. บทว่า โอวชฺชมาโน ได้แก่ ถูกกล่าวตักเตือนอยู่. บทว่า อิทเมว เสยฺโย ความว่า สำคัญสิ่งที่ตนยึดถือที่เป็นสิ่งไม่ประเสริฐกว่าทั้งไม่สูงสุด ว่าสิ่งนี้เท่านั้น เป็นสิ่งประเสริฐกว่าสิ่งอื่น. บทว่า มนฺโท ความว่า ผู้นั้นจะเป็นคนไม่มีความรู้ จะก้าวล่วงการอยู่ในครรภ์มารดาไปไม่ได้ อธิบายว่า จะเข้าถึงครรภ์แล้ว ๆเล่า ๆ นั่นเอง. บทว่า โส โฆรรูปํ ความว่า ขอเจริญพรมหาบพิตร คนโง่นั้น เมื่อเข้าถึงครรภ์มารดานั้น ชื่อว่า เข้าถึงนรกชนิดร้ายกาจ คือที่ทารุณโดยกำเนิด อธิบายว่า ท้องของมารดาพระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า นรก คือตรัสเรียกว่า จตุกุฏฏิกนรก คือด้านแคบ ๆ ๔ ด้าน. ในพระคาถานี้ เพราะหมายความว่า หมดความชื่นใจ. ธรรมดาว่า จตุกุฏฏิกนรก เมื่อถูกถามว่า เป็นอย่างไร ? ควรบอกว่า คือท้องมารดานั่นเอง. เพราะว่า สัตว์ที่เกิดแล้ว ในอเวจีมหานรก มีการวิ่งพล่านและ วิ่งรอบไป ๆ มา ๆ ได้ทีเดียว เพราะฉะนั้น อเวจี มหานรกนั้น จะเรียกว่า จตุกุฏฏิกนรกไม่ได้. แต่ว่า ในท้องมารดา สัตว์ที่เกิดในครรภ์ไม่อาจจะวิ่งไปตามข้างทั้ง ๔ และทางโน้นทางนี้ได้ ตลอดเวลา ๙ หรือ ๑๐ เดือน. จำต้องประสงค์เป็น ๔ ด้าน คือเป็น ๔ มุม ในโอกาสอันคับแคบ เพราะฉะนั้น นรกนั้นจึงเรียกกันว่า จตุกุฏฏิกนรก. บทว่า สุภาสุภํ ได้แก่ที่ ๆ ไม่สะอาด สำหรับพระโยคาวจรผู้สะอาดทั้งหลาย. อธิบายว่า ท้องมารดาสมมุติว่าเป็นที่ ไม่สะอาดโดยส่วนเดียว สำหรับผู้งดงามทั้งหลาย คือพระโยคาวจรกุลบุตรทั้งหลายผู้กลัวสงสาร. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวไว้ว่า :-
น่าตำหนิโดยแท้ สำหรับผู้ไม่เห็นรูปที่
ไม่น่าดู ว่าได้แก่ที่น่าดู ที่ไม่สะอาดแต่สมมติ
ว่าสะอาด ที่บริบูรณ์ด้วยซากศพต่าง ๆ แต่
ว่าเป็นรูปน่าดู. ไม่เห็นกายที่เปื่อยเน่า ที่
กระสับกระส่ายนี้ ที่มีกลิ่นเหม็นไม่สะอาด
มีการเจ็บไข้เป็นธรรมดา เป็นที่ยังทางเพื่อการ
เกิดในสุคติ ให้เสื่อมหายไปแห่งเหล่าประชา
ผู้ประมาทแล้ว สลบไสลอยู่แล้ว.
บทว่า สตฺตา ได้แก่ ผู้เกาะเกี่ยว คือส่ายไปหา หมายความว่า ติด อธิบายว่า ข้องแล้ว. บทว่า สกาเย น ชหนฺติ ความว่า ยังไม่ละทิ้ง ท้องมารดานั้น. บทว่า คิทฺธา ได้แก่ กำหนดแล้วนั่นเอง. บทว่า เย โหนฺติ ความว่า เหล่าชนผู้ไม่ปราศจากราคะในกามทั้งหลาย จะไม่ละทิ้งการอยู่ในครรภ์มารดานั้นไป. พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า ครั้นทรงแสดงถึงทุกข์ ทั้งที่มีการ ก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูลฐาน ทั้งที่มีการบริหารเป็นมูลฐานแล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงถึงทุกข์ที่มีการออกจากครรภ์เป็นมูลฐาน จึงได้ตรัสคาถาหนึ่งกับถึงคาถาไว้ว่า :-
สัตว์ทั้งหลายเลอะอุจจาระ เปื้อนเลือด
เลอะไขออกมา เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายถูกต้อง
สิ่งใด ๆ ด้วยกายอยู่ในขณะใด ในขณะนั้น
เองก็สัมผัสผองทุกข์ล้วน ๆ ที่ไม่มีความแช่ม
ชื่นเลย. อาตมาภาพเห็นแล้ว จึงได้ทูลถวาย
พระพร ไม่ได้ฟังจากผู้อื่นทูลถวายพระพร
แต่อาตมาภาพระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยมาเป็นจำนวนมาก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิฬฺเหน ลิตฺตา ความว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้เมื่อคลอดจากท้องมารดาไม่ได้ ลูบไล้ด้วยคันธชาติทั้ง ๔ ไม่ได้ประดับประดาดอกไม้ที่หอมหวลออกมาแต่เป็นผู้เปื้อนเปรอะ คือเลอะเทอะคูถเก่าเน่าออกมา. บทว่า รุหิเรน มกฺขิตา ความว่า ไม่ใช่เป็นเสมือนชะโลมด้วยจันทน์แดงออกมา แต่เปื้อนด้วยโลหิตแดงออกมา. บทว่า เสมฺเหน ลิตฺตา ความว่า ไม่ใช่ ลูบไล้ด้วยจันทน์ขาวออกมา แต่เป็นผู้เปื้อนไขเหมือนนุ่นหนา ๆ ออกมา
เพราะในเวลาผู้หญิงทั้งหลายคลอด ของไม่สะอาดทั้งหลายจะออกมา. บทว่า ตาวเท ความว่า ในสมัยนั้น. มีอธิบายว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร สัตว์เหล่านี้ในเวลาที่ออกจากท้องมารดานั้น เปื้อนคูถเป็นต้น ออกมาอย่างนี้ กระทบช่องคลอดหรือมืออยู่ ย่อมชื่อว่าสัมผัสทุกข์นั้นทั้งหมดล้วน ๆ คือที่เจือด้วยของไม่สะอาด ไม่เป็นที่ยินดี คือไม่แช่มชื่น ชั้นชื่อว่าความสุขจะไม่มีแก่สัตว์เหล่านั้น
ในสมัยนั้น. บทว่า ทิสฺวา วทามิ น หิ อญฺโต สวํ ความว่าขอถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพ เมื่อทูลถวายพระพรเท่านี้ ไม่ได้ฟังมาจากที่อื่น คือไม่ได้สดับคำนั้นของสมณะหรือพราหมณ์คนอื่นทูลถวาย อธิบายว่า แต่อาตมภาพเห็นแล้ว คือแทงตลอดแล้ว ได้แก่ทำให้ประจักษ์แล้วด้วยปัจเจกโพธิญาณของตน แล้วจึงทูลถวายพระพร.บทว่า ปุพฺเพนิวาสํ พหุกํ ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อจะทรงแสดงถึงอานุภาพของตน จึงทูลถวายพระพรคำนี้. มีอธิบายว่าขอถวายพระพรมหาบพิตร ส่วนอาตมภาพระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยมา กล่าวคือ ขันธ์ที่อยู่อาศัยมาตามลำดับในชาติก่อนมากมาย คือระลึกได้ถึง ๒ อสงไขยเศษแสนกัปป์.
บัดนี้ พระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ยิ่ง ครั้นตรัสว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ทรงสงเคราะห์พระราชาด้วยพระคาถาสุภาษิตอย่างนี้แล้ว ได้ตรัสกึ่งคาถาไว้ในตอนสุดท้ายว่า :-
พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า ทรงยังพระ-
ราชาผู้ทรงมีพระปัญญาให้ทรงรู้พระองค์ ด้วย
พระคาถาทั้งหลาย ที่เป็นภาษิตมีเนื้อความวิจิตรพิสดาร.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จิตฺราหิ ความว่า อาศัยเนื้อความหลายหลาก. บทว่า สุภาสิตาหิได้แก่ ที่ตรัสไว้ดีแล้ว. บทว่า ทรีมุโข นิชฺฌาปยี สุเมธํ. ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระทรี-มุขปัจเจกพุทธเจ้านั้น ทรงให้พระราชานั้นผู้ทรงมีพระปัญญา คือทรงมีปัญญาดี ได้แก่ มีความสามารถรู้เหตุและมิใช่เหตุ ให้ทรงรู้พระองค์คือให้ทรงสำนึกได้ อธิบายว่า ให้ทรงทำตามถ้อยคำของตน.
พระปัจเจกพุทธเจ้า ครั้นทรงแสดงโทษในกามทั้งหลาย ทรงยังพระราชาให้ทรงถือเอาถ้อยคำของตนอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร บัดนี้ พระองค์จะทรงผนวชหรือไม่ทรงผนวชก็ตามแต่ว่า อาตมาภาพได้แสดงโทษในกามทั้งหลายและอานิสงส์ในการบวชถวายมหาบพิตรแล้ว ขอมหาบพิตรจงอย่าทรงประมาท ดังนี้แล้ว ได้ทรงเหาะไปในอากาศ ทรงเหยียบกลีบเมฆเสด็จไปยังเงื้อมเขานันทมูลกะนั่นเอง เหมือนพระยาหงส์ทองฉะนั้น. พระมหาสัตว์ทรงประคอง อัญชลีที่รุ่งโรจน์ รวมทั้ง ๑๐ นิ้ว ไว้บนพระเศียรนมัสการอยู่ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นพ้นทัศนวิสัยไปแล้ว จึงตรัสสั่งให้หาพระราชบุตรพระองค์ใหญ่ คือเจ้าฟ้าใหญ่มาเฝ้า ทรงมอบราชสมบัติให้ แล้วเมื่อมหาชนกำลังร้องไห้คร่ำครวญกันอยู่ ได้ทรงละกามทั้งหลาย เสด็จไปสู่ป่าหิมพานต์ ทรงสร้างบรรณศาลา ผนวชเป็นฤาษี ไม่นานเลยก็ได้ทรงยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิดขึ้น ในเวลาสิ้นพระชนมายุก็ได้
ทรงเข้าถึงพรหมโลก.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาประกาศสัจจธรรม แล้วทรงประชุมชาดกไว้. ในเวลาจบสัจจธรรมคนทั้งหลายได้เป็นพระโสดาบันเป็นต้นมากมาย. พระราชาในครั้งนั้น ก็คือเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาทรีมุขชาดกที่ ๓




Create Date : 01 มีนาคม 2555
Last Update : 1 มีนาคม 2555 19:30:09 น.
Counter : 447 Pageviews.

1 comment
1  2  

shada
Location :
น้ำหนาว เพชรบูรณ์ , เกาะพงัน สุราษฯ  Ghana

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]



พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง.....พระไตรปิฏก เป็นหูที่วิเศษยิ่ง พระไตรปิฏก เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง.....พระไตรปิฏก เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง พระไตรปิฏก เป็นกายที่วิเศษยิ่ง.....พระไตรปิฏก เป็นใจที่วิเศษยิ่ง พระไตรปิฏก เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง.....พระไตรปิฏก เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง พระไตรปิฏก เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง.....พระไตรปิฏก เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง
พระไตรปิฏก เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง

ธรรมวินัยอันพระตถาคตเจ้าประกาศแล้วเปิดเผย ไม่กำบังจึงรุ่งเรือง (เล่ม ๑๐ หน้า ๔๖๕_ปกน้ำเงิน)
บัญญัติของพระพุทธเจ้า จากพระไตรปิฎกชุด 91 เล่ม ของมหามกุฎราชวิทยาลัย เล่ม 3
(ปกสีแดง หน้า 887 ปกสีน้ำเงิน หน้า 940)
พระบัญญัติ อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่ง ทอง-เงิน หรือยินดี ทอง-เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ก็ดี เป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์(นิสสัคคียปาจิตตีย์ 1 ตัว ต้องตกโรรุวนรก 1 ชั่วอายุ คือ 4,000 ปีของนรกขุมนี้ เท่ากับ 840,960,000 ล้านปีมนุษย์)

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.ให้ไว้ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535
เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภาดังต่อไปนี้ มาตรา 15 ตรี มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
...(4)รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
**หยุดทำร้ายพระพุทธศาสนา(โยมควรเรียนรู้) ทำบุญแล้วเป็นบาป ตกนรกทั้งพระและโยม
1.ตักบาตรด้วยเงินและทอง
2.ตักบาตรด้วยสิ่งของที่ต้องห้าม ข้าวสารอาหารแห้ง-ดิบ
3.ทำบุญกับพระทุศีล(ผิดศีลธรรมและไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย)รับเงิน รับทอง มีบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นของตนเอง มีบัตรเอทีเอ็ม มีบัตรเครดิต
4.ฯลฯ
จากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลไทยฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย 91 เล่ม
**ชาวพุทธทั้งหลาย ขอให้อธิษฐานเพื่อถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้
"ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงบันดาลบุญของข้าพระพุทธเจ้าให้เข้าไปรวมเป็นพระราชกุศลของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลังบุญทั้งหลาย ที่พระองค์ได้ทรงกระทำต่อพสกนิกรและราชอาณาจักร ขอบุญนั้นทั้งหมด จงเป็นพลังขับดันโรคภัยทั้งหลายที่กำลังเกิดในพระวรกายของพระองค์ให้อันตรธานไป"

จากหลักฐานเทียบเคียงของการใช้สัจอธิษฐาน ในพระไตรปิฎก 91 เล่ม ฉบับมหามกฎราชวิทยาลัย เล่ม 74 หน้า 447-479 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 มาตรา 1, 3, 341, 342 และ 343 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักสงฆ์ป่าสามแยก ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ (www.samyaek.com) ผู้มีปัญญาทั้งหลาย ขอจงพิจารณาเอาเถิด เพราะไม่บังคับให้ใครมาเชื่อหรือทำตาม เพียงแต่นำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเปิดเผย เพื่อให้ชาวพุทธปฏิบัติได้ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
ยินดีในบุญกับทุกท่านที่รวมใจกันเปิดเผยพระธรรมวินัยให้รุ่งเรือง ค่ะ

ชฎา มีโครงการ จะเปิด บ้านพักตากอากาศ ติดถนน ติดทะเล ไม่ไกลจาก ท่าเรือ ท้องศาลา บรรยากาศ เหงียบ สงบ เป็นธรรมชาติ ให้เช่าที่เกาะพงัน

"สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 ห้ามผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อความใน blog แห่งนี้ไปใช้ ทั้งโดยเผยแพร่และเพื่อการอ้างอิง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด"