Group Blog
 
All Blogs
 

Letter From An Unknown Woman (1948) : Max Ophuls ดั่งซิมโฟนีโรแมนติคแห่งโลกภาพยนตร์



เมื่อวานผมได้อ่านรีวิวแผ่น DVD หนัง "Letter From An Unknown Woman" จากคุณปลาไหลไฟฟ้าในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post

เห็นแล้วต้องหยิบมาเขียนถึงหน่อย เพราะผมมี Soft Spot สำหรับหนังของ Max Ophuls เรื่องนี้

ค่อนข้างแปลกใจตัวเองอยู่เหมือนกันที่ชอบหนังเรื่องนี้ เพราะส่วนตัวไม่ชอบหนังเมโลดรามาที่จงใจบีบน้ำตาจนเกินไป แล้วพล็อตของหนังเรื่องนี้ก็เข้าข่าย หนังเริ่มต้นในกรุงเวียนนาปี 1900 มีหญิงสาวคนหนึ่งตกหลุมรักชายหนุ่มนักดนตรีอยู่ข้างเดียว ตอนหลังมีลูกด้วยกัน แล้วต้องจากกันไป หญิงสาวไปแต่งงานใหม่ แต่ใจยังคงรักมั่น รอวันกลับไปหาชายหนุ่มคนเดิม

ดูพล็อตแล้วเป็น Romantic Idealism อย่างมาก ทว่าคนที่ชอบ Psychological Realism อย่างผม กลับชอบหนังเรื่องนี้ ข้อแรกคือ การถ่ายทำดีมาก ทั้งมุมกล้องและฉาก งดงามเหลือเกิน ข้อสอง นักแสดงนำอย่าง โจน ฟอนเทน แสดงได้เยี่ยมยอด สีหน้าของเธอแทนร้อยหมื่นคำพูด ข้อสุดท้าย เพลงประกอบที่คลอตามเนื้อเรื่อง เลือกใช้ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว เพลง "Un Sospiro" ของฟรานซ์ ลิสต์ เข้ากับบรรยากาศโรแมนติคอันหม่นเศร้าในหนัง

ผมขอเปรียบหนังเรื่องนี้ดุจดั่งซิมโฟนีโรแมนติคแห่งโลกภาพยนตร์




 

Create Date : 18 ตุลาคม 2551    
Last Update : 18 ตุลาคม 2551 20:18:07 น.
Counter : 1154 Pageviews.  

Dostoevsky Our Contemporary : ดอสโตเยฟสกี้ในมุมมอง Archbishop



ดอสโตเยฟสกี้เป็นนักเขียนที่ผมชื่นชอบอย่างมาก ถือเป็นแรงบันดาลใจในชีวิต ล่าสุดได้อ่านรีวิวหนังสือเล่มใหม่ที่เขียนถึงดอสโตเยฟสกี้ Dostoevsky : Language, faith and fiction หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Rowan Williams ซึ่งเป็น Archbishop แห่ง Canterbury

สามารถฟังบทสัมภาษณ์มุมมองของ Archbishop ท่านนี้ได้ที่เว็บ Guardian




 

Create Date : 15 ตุลาคม 2551    
Last Update : 15 ตุลาคม 2551 14:42:08 น.
Counter : 772 Pageviews.  

Brunelleschi's Dome : The Story of the Great Cathedral in Florence บรูเนลเลสคีและโดมแห่งฟลอเรนซ์



Brunelleschi's Dome : The Story of the Great Cathedral in Florence
ผู้เขียน : Ross King
สำนักพิมพ์ Pimlico (2005), 192 หน้า


หนึ่งในความประทับใจมากที่สุดในชีวิตการเดินทางท่องเที่ยวของผม คือการได้เดินขึ้นยอดโดมของดูโอโมแห่งฟลอเรนซ์ ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันมานาน ผมฝังใจกับภาพดูโอโมแห่งฟลอเรนซ์ตั้งแต่วัยเด็ก

ในความรู้สึกส่วนตัว การเดินขึ้นยอดโดมที่นี่เหนื่อยกว่ายอดโดมของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ เพราะบันไดทางขึ้นค่อนข้างชัน มีทั้งหมด 463 ขั้น ช่วงแรกเมื่อเดินขึ้นไปประมาณ 150 ขั้น จะเป็นส่วนระเบียงซึ่งสามารถเดินวนรอบได้ บริเวณนี้เป็นฐานของโดม เมื่อมองขึ้นไปบนเพดานจะเห็นภาพวาด Last Judgement ขนาดใหญ่ของวาซารี

พอเดินต่อขึ้นไปสุดจนถึงระเบียงจุดชมวิว ผมตะลึงกับภาพเบื้องหน้า ความเหน็ดเหนื่อยได้หายเป็นปลิดทิ้ง เพราะวิวพาโนรามาข้างบนงดงามมาก มองลงไปเห็นฟลอเรนซ์ในทุกมุม ได้เห็นทั้งหอระฆังที่ออกแบบโดยจ็อตโต, โบสถ์ซานตา โครเช, ปาลาซโซเวคคิโอ, อุฟฟิซีแกลเลอรี วิวที่เห็นทอดยาวไกลข้ามแม่น้ำอาร์โนไปอีก

จำได้ว่าตัวเองชมวิวอย่างอ้อยอิ่งราวครึ่งชั่วโมง เป็นความสุข ความอิ่มเอิบใจ อยากหยุดเวลาไว้ตรงนั้น ในห้วงคำนึงได้นึกถึงการก่อสร้างโดมอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ในศตวรรษที่ 15 นี่เป็นผลงานออกแบบก่อสร้างของอัจฉริยะโดยแท้

สถาปนิกผู้สร้างโดมคือ ฟิลิปโป บรูเนลเลสคี (ค.ศ.1377-1446) เดิมทีบรูเนลเลสคีมีอาชีพเป็นช่างทองและช่างนาฬิกา ในฤดูร้อนปี ค.ศ.1400 เกิดโรคระบาดในฟลอเรนซ์ มีคนตายจำนวนมาก เพื่อเป็นการบูชาพระเจ้า พ่อค้าวาณิชแห่งฟลอเรนซ์ประกาศคัดเลือกช่างฝีมือเพื่อสร้างประตูบรอนซ์ขึ้นใหม่สำหรับ Baptistery ของโบสถ์ซาน โจวานนี โดยบรูเนสเลสคีได้เข้าประกวดแบบด้วย แต่คนที่ได้รับเลือกคือลอเรนโซ กีแบร์ติ ศิลปินผู้มีชื่อเสียงอีกคน (ในบันทึกอัตชีวประวัติของกีแบร์ติบอกว่า ตัวเองชนะการตัดสินจากคณะกรรมการโดยเอกฉันท์ ทว่ามาเน็ตติ ผู้เขียนประวัติบรูเนสเลสคีบอกว่า คณะกรรมการให้ทั้งสองคนทำงานร่วมกัน แต่บรูเนลเลสคีปฏิเสธ ไม่ยอมร่วมด้วย)

บรูเนลเลสคีผิดหวัง เขาเดินทางไปใช้ชีวิตในกรุงโรมเป็นเวลา 15 ปี ที่โรมเขาเป็นช่างนาฬิกา และใช้เวลาศึกษาสถาปัตยกรรมจากสิ่งก่อสร้างที่ตกทอดมาจากยุคโรมันโบราณ เขากลับมาฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ.1416-1417

วันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1418 ในฟลอเรนซ์มีการประกาศแข่งขันการออกแบบสร้างโดมของวิหารซานตา มาเรีย เดล ฟิออเร (ดูโอโม) โดยต้องการสร้างโดมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใครชนะจะได้เงินรางวัลถึง 200 ฟลอรินทอง ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากในยุคนั้น การแข่งขันครั้งนี้จึงดึงดูดช่างฝีมือทั่วทัสคานี บรูเนลเลสคีก็สมัครแข่งขันด้วย

สำหรับตัววิหารเริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1296 นานกว่าหนึ่งร้อยปีแล้ว จนกระทั่งปี ค.ศ.1366 ได้มีการออกแบบโดมโดย เนรี ดิ ฟิออราวันติ ซึ่งโมเดลของโดมไม่ได้เป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมแบบวิหาร Pantheon ในกรุงโรม แต่มีลักษณะค่อนข้างพุ่งชันขึ้นไปข้างบน ที่สำคัญเป็นโดมที่มีขนาดใหญ่โตมาก

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1366 ยังไม่มีใครรู้ว่า จะใช้วิธีไหนสร้างโดมที่มีขนาดใหญ่โตแบบนั้น จะนำหินทรายและหินอ่อนหนักหลายตันขึ้นไปที่สูงได้อย่างไร จะใช้อะไรรองรับน้ำหนักของโดม สิ่งนี้กลายเป็นปริศนาทางสถาปัตยกรรมแห่งยุคสมัย

บรูเนลเลสคีคือบุคคลที่มาแก้ปัญหาดังกล่าว เขาได้ออกแบบเครื่องชักรอกชนิดใหม่สำหรับการยกวัสดุหนักขึ้นที่สูงโดยใช้พลังงานจากวัว (ก่อนหน้านั้นอุปกรณ์ชักรอกใช้แรงคน) เครื่องมือนี้กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญแห่งยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา และโดมของบรูเนลเลสคีเป็นโดม 2 ชั้นซ้อนกัน ซึ่งไม่ปรากฏมากนักในยุโรปสมัยนั้น โดยที่โดมชั้นในเป็นส่วนที่ค้ำยันโดมชั้นนอก และใช้สร้างสรรค์งานจิตรกรรมฝาผนัง ส่วนโดมชั้นนอกสร้างให้สูง เพื่อให้เกิดความประทับใจ

เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ.1446 มีโอกาสได้เห็นโดมก่อสร้างเสร็จในปี ค.ศ.1436 (เหลือเฉพาะยอดปลายด้านบน) ต่างจากมิเคลันเจโลที่ไม่มีโอกาสเห็นโดมของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ความตายของบรูเนลเลสคีสร้างความเสียใจต่อชาวฟลอเรนซ์ เขาเป็นบุคคลสำคัญที่พลิกโฉมหน้าวงการสถาปัตยกรรม ก่อนหน้านั้นในยุคโบราณและยุคกลาง สถาปนิกถูกมองในสถานะที่ต่ำกว่าศิลปินแขนงอื่นๆ

รอสส์ คิง เขียนหนังสือเล่มนี้อย่างกระชับ ลื่นไหล อ่านง่าย เขาอธิบายประวัติความเป็นมาของบรูเนลเลสคีและการสร้างโดม พร้อมกับสอดแทรกบริบททางสังคมของฟลอเรนซ์ ใครวางแผนจะไปฟลอเรนซ์ และมองหาหนังสือบางๆสักเล่มอ่าน นี่เป็นหนังสือที่น่าสนใจครับ




 

Create Date : 13 ตุลาคม 2551    
Last Update : 13 ตุลาคม 2551 17:33:27 น.
Counter : 1530 Pageviews.  

Thoughts on Machiavelli



ช่วงเดือนก่อนมีบทความน่าสนใจเกี่ยวกับมาเคียเวลลีในนิตรสาร The New Yorker - “The Florentine”

และต่อมามีบทความที่เขียนถึงเขาในนิตยสารฟอร์บส์ - “Why Machiavelli Matters”

อย่างที่ทราบกันว่าหนังสือ “The Prince” นั้น มาเคียเวลลีได้อิทธิพลมาจากเซซาเร่ บอร์เจีย เจ้าผู้ครอบครองที่มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่งในยุคนั้น เขาเขียนหนังสือเพื่อมอบเป็นบรรณาการให้แก่ลอเร็นโซ เดอ เมดิชี แห่งฟลอเรนซ์ (ตอนแรกจะมอบให้จูเลียโน เดอ เมดิชี แต่ถึงแก่กรรมไปก่อน)

มาเคียเวลลีไม่ใช่นักทฤษฎีการเมือง แต่เป็นคนที่ช่างสังเกต ช่างวิเคราะห์ เขาเขียนถึงการได้มาซึ่งอำนาจ และการรักษาอำนาจอย่างคนที่รู้จริง จำตอนที่ตัวเองอ่าน “The Prince” ได้ว่า รู้สึกแปลกใจกับหนังสือที่เขียนขึ้นเมื่อ 500 ปีก่อน เพราะมีความร่วมสมัย ธรรมชาติของมนุษย์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

คนรุ่นหลังจำนวนมากที่มองหนังสือเล่มนี้ไปในทางลบ มองเป็นหนังสือที่สอนให้คนมีเล่ห์เหลี่ยม ไม่คำนึงถึงคุณธรรม เช่น ในบทที่พูดถึงการรักษาข้อตกลง มาเคียเวลลีเปรียบผู้ปกครองว่าต้องเป็นทั้งสิงโตและสุนัขจิ้งจอกในเวลาเดียวกัน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องรักษาข้อตกลงเสมอไป

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิชาการรุ่นหลังหลายท่าน มาเคียเวลลีเป็นคนที่มีจิตใจดี ไม่ได้เป็นคนชั่วร้าย เจ้าเล่ห์เพทุบาย และโดยพื้นฐานเขาเป็นคนที่นิยมรัฐมหาชน




 

Create Date : 07 ตุลาคม 2551    
Last Update : 7 ตุลาคม 2551 10:09:13 น.
Counter : 987 Pageviews.  

The Reluctant Mr. Darwin : David Quammen ครบรอบ 150 ปี แนวคิดบันลือโลกของดาร์วิน



The Reluctant Mr. Darwin : An Intimate Portrait of Charles Darwin and the Making of His Theory of Evolution
ผู้แต่ง : เดวิด ควอมเมน (David Quammen)
ชาร์ลส์ ดาร์วิน อัจฉริยะผู้ลังเล : ตัวตนที่แท้จริงและที่มาของทฤษฎีวิวัฒนาการ
ผู้แปล : อุทัย วงศ์ไวศยวรรณ
โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 315 หน้า


วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 150 ปี ทฤษฎีวิวัฒนาการโดยการคัดสรรทางธรรมชาติของดาร์วิน ทฤษฎีที่ริชาร์ด ดอว์กินส์ เชื่อว่าเป็น “ความคิดสำคัญที่สุดซึ่งเคยเกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์” ผมจึงถือโอกาสนี้หวนกลับไปอ่านเรื่องราวชีวิตและผลงานของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้

ชาร์ลส์ ดาร์วิน (ค.ศ. 1809-1882) ออกเดินทางสำรวจธรรมชาติเป็นระยะเวลา 5 ปี บนเรือบีเกิลของกองทัพเรือสหราชอาณาจักร ช่วงนั้นดาร์วินอยู่ในวัยเบญจเพส ได้เดินทางสำรวจและเก็บตัวอย่างสัตว์ต่างๆมากมายใน บราซิล, อุรุกวัย, อาร์เจนตินา, ชิลี, เปรู, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย และหมู่เกาะกาลาปากอส

เดวิด ควอมเมน ผู้เขียนหนังสือประวัติดาร์วินเล่มนี้ ได้เลือกที่จะเริ่มเล่าชีวิตดาร์วินหลังจากที่เขากลับมาจากการเดินทางครั้งนั้น โดยบอกว่าเพื่อให้หนังสือกระชับสั้น และการผจญภัยทางสติปัญญาในเวลาต่อมาตื่นเต้นเร้าใจกว่าการตะลอนหมู่เกาะกาลาปากอสเสียอีก

ดาร์วินเกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย เขาแทบไม่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ เพราะมีเงินรายได้จากบิดา เมื่อกลับจากการเดินทางไกล เขาได้แต่งงานกับเอ็มมา เวดจ์วูด ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่ง (สมัยนั้นนิยมแต่งงานระหว่างเครือญาติเพื่อไม่ให้เงินทองหายไปไหน) เป็นเรื่องที่น่าสนใจ สำหรับคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าอย่างเขา แต่ภรรยากลับเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่ยึดมั่นคัมภีร์ไบเบิลอย่างเคร่งครัด

แนวคิดเรื่องวิวัฒนาการโดยการคัดสรรของธรรมชาติมีอยู่ในสมุดบันทึกส่วนตัวของเขาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1838 แต่ทำไมหนังสือ “The Origin of Species” กว่าจะถูกตีพิมพ์ต้องรอไปถึงปี ค.ศ. 1859 สาเหตุยังไม่แน่ชัดนัก เขาอาจเกรงว่าทฤษฎีดังกล่าวจะสร้างความขุ่นเคืองในสังคมวิคตอเรีย? เขาอาจเกรงผลกระทบทางการเมืองจากฝ่ายก้าวหน้าที่สามารถหยิบทฤษฎีเขาไปอ้าง? เขาอาจเกรงเพื่อฝูงครูบาอาจารย์ที่เคร่งครัดในศาสนา? หรือเขาอาจลังเลใจเพราะภรรยาผู้เสื่อมใสศรัทธาในพระเจ้า?

การผลัดวันประกันพรุ่งของดาร์วินมาพบกับจุดสำคัญเมื่อได้รู้จักกับเพื่อนหนุ่มนามว่า อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ (ค.ศ. 1823-1913) วอลเลซได้ออกสำรวจไปยังหมู่เกาะโพ้นทะเลแถวมาเลเซีย-อินโดนีเซีย และเขียนจดหมายมาถึงดาร์วินในวันที่ 18 มิ.ย. 1858 ข้อความในจดหมายกล่าวถึง “หลักการทั่วไปในธรรมชาติ” ซึ่งพ้องกับแนวคิดที่ดาร์วินเคยคิดมาก่อน วอลเลซต้องการเผยแพร่ทฤษฎีใหม่ล่าสุดนี้ออกสู่สาธารณชน

ด้วยความกระอักกระอ่วนใจ ในวันที่ 1 ก.ค. 1858 ดาร์วินจึงนำเสนอรายงานของตัวเองและวอลเลซพร้อมกันต่อสมาคมวิทยาศาสตร์ลินเนียนแห่งกรุงลอนดอน ในห้องประชุมวันนั้นมีการอ่านทฤษฎีวิทยาศาสตร์ดังกล่าว ทฤษฎีที่ส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อโลกของเราในเวลาต่อมา

นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญของดาร์วิน ถ้าไม่มีจดหมายของวอลเลซ เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าทฤษฎีของเขาจะปรากฏออกมาหรือไม่

จดหมายของวอลเลซทำให้ดาร์วินมีกรอบความคิดใหม่ คือเลิกผลัดวันประกันพรุ่ง เลิกแนวคิดสมบูรณ์แบบนิยมที่ต้องรวบรวมข้อมูลมากมายเหมือนเขียนเป็นสารานุกรม และเลิกเป็นคนขี้กลัวในเรื่องต่างๆ หลังจากวันที่ 1 ก.ค. 1858 ดาร์วินตัดสินใจเขียน “บทย่อ” ของทฤษฎีในรูปแบบที่น่าอ่าน เดิมทีตั้งใจจะเขียนเพียง 12 หน้า เพื่อลงวารสาร แต่เขียนไปเขียนมา มีแง่มุมมากมาย ในที่สุดกลายเป็นหนังสือที่เรารู้จักกันคือ “The Origin of Species”

แม้ “The Origin of Species” เป็นหนังสือที่สดใหม่ กล้าหาญชาญชัย แต่กระนั้นหนังสือเล่มนี้ก็มีจุดบกพร่องหลายประการ อาทิ ดาร์วินเขียนกล่าวโทษไม่หยุดหย่อนว่า หนังสือหนา 500 หน้าเล่มนี้มีเนื้อที่ไม่พอ ควอมเมนวิจารณ์อย่างคมคายว่า ไม่ใช่มีเนื้อที่ไม่พอ แต่มีเวลาไม่พอต่างหาก เพราะวอลเลซสร้างความตื่นตระหนกต่อดาร์วิน ตอนนั้นเขาจึงรีบเขียนสุดชีวิตเพื่อส่งตีพิมพ์

คนทั่วไปรู้เพียงว่า ดาร์วินคิดค้น “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” ซึ่งจะว่าไปแล้ว เป็นเพียงส่วนหนึ่งในแนวคิดของเขา ทว่าหัวใจสำคัญที่แปลกใหม่และน่าหวั่นเกรงในยุคนั้น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงเชิงวิวัฒนาการ คือ “การคัดสรรโดยธรรมชาติ” (Natural Selection)

การคัดสรรโดยธรรมชาติเป็นกระบวนการที่ไม่มีเป้าหมาย มีแต่ผลลัพธ์ คัดสรรสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ออก ผลลัพธ์ที่ได้คือความสามารถในการปรับตัว โครงสร้างที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น แนวคิดนี้ตรงข้ามกับความเชื่อดั้งเดิม ผู้ที่ศรัทธาในทฤษฎีพระเจ้าสร้างโลกย่อมมองดาร์วินด้วยสายตาอันเกลียดชัง

“The Origin of Species” เป็นหนึ่งในหนังสือที่เปลี่ยนแปลงแนวคิดอย่างใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ




 

Create Date : 30 กันยายน 2551    
Last Update : 30 กันยายน 2551 9:47:57 น.
Counter : 4374 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  

BlueWhiteRed
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Friends' blogs
[Add BlueWhiteRed's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.