Group Blog
 
All Blogs
 

กวีเกาหลี Ko Un | ปกวรรณกรรมแปลในประเทศเกาหลีใต้



The Korea Times มีบทความเกี่ยวกับกวีเกาหลี Ko Un ใน “Poet Ko Un Preaches Songs for Tomorrow.”

Ko Un is one of the most famous Korean poets. No! He is the most famous Korean poet, and has been a candidate for the Nobel Prize in Literature over the past several years. He has written 135 books in various genres ― fiction, essay, translation, drama and poetry. He is best known for his poetry.



เห็นปกวรรณกรรมแปลของประเทศเกาหลีน่าสนใจดี

เล่มแรก The Elegance of the Hedgehog วรรณกรรมร่วมสมัยที่แปลจากภาษาฝรั่งเศส เล่มนี้มีให้อ่านในภาษาเกาหลีก่อนภาษาอังกฤษด้วย



1Q84 ของ Murakami แปลวางแผงได้เร็วจริงๆ



An American Tragedy นวนิยายปี 1925 ของ Theodore Dreiser



เล่มดังของ Margaret Atwood - The Handmaid's Tale



Buddenbrooks งานชิ้นเอกอีกเล่มของ Thomas Mann



ปกรวมเรื่องสั้นของ Chekhov



Divine Comedy ของ Dante



เล่มนี้ต้องอุทานดังๆ เพราะเป็น Finnegans Wake ของ Joyce



Tropic of Cancer ของ Henry Miller ต้องใช้เป็นภาพวาด ถ้าภาพถ่ายเกรงจะติดเรท (HA)



Hiroshima Mon Amour ของ Marguerite Duras



Life & Times of Michael K ของ J.M. Coetzee



My Name Is Red ของ Pamuk



Revolutionary Road ของ Richard Yates ปกภาพจากหนัง



I, Claudius ของ Robert Graves



Le Rouge et le Noir ของ Stendhal.. ชอบๆ ใช้ภาพปกเป็นภาพวาดของฌาคส์ หลุยส์ ดาวิด



The Sound and the Fury ของ Faulkner



Les Miserables ของอูโก ฉบับสมบูรณ์ แปลออกมา 6 เล่มจบ



Love in the Time of Cholera ของ Gabriel Garcia Marquez



The New York Trilogy ของ Paul Auster



Fateless ของ Imre Kertesz .. เลข 2002 ข้างหน้าคงหมายถึงปีที่เขาได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม



The Hitchhiker's Guide to the Galaxy ของ Douglas Adams



The Road ของ Cormac McCarthy



Slaughterhouse-Five ของ Kurt Vonnegut



Solaris นวนิยายวิทยาศาสตร์ของ Stanisław Lem



Under the Sign of Saturn หนังสือรวมบทความของ Susan Sontag ที่เขียนถึง (ตามรูป) Paul Goodman - Antonin Artaud - Leni Riefenstahl - Walter Benjamin - Roland Barthes - Elias Canetti




 

Create Date : 31 สิงหาคม 2552    
Last Update : 31 สิงหาคม 2552 15:18:08 น.
Counter : 2594 Pageviews.  

ญี่ปุ่นกับยอดขาย 1 ล้านเล่มของ The Brothers Karamazov | Obituary ผู้แปล The Story of the Stone



ผมเคยได้รับรู้ข่าวหนังสือแปล The Brothers Karamazov เมื่อปี 2006 ทำยอดขายดีมากในประเทศญี่ปุ่น ตีพิมพ์แยกเป็น 5 เล่ม รวมยอดขายถึงปัจจุบันเกินกว่า 1 ล้านเล่มไปแล้ว ผู้แปลคือ Ikuo Kameyama ซึ่งมีตำแหน่ง President of Tokyo University of Foreign Studies

ทีแรกแปลกใจว่าทำไมถึงแยกเป็น 5 เล่ม เพราะคิดว่า 2-3 เล่มก็น่าจะพอ ได้อ่านบทความ The Letter as Literature's Political and Poetic Body ของ Tawada Yoko ที่เพิ่งตีพิมพ์ในเว็บเจแปนโฟกัส ถึงได้เข้าใจ

เธออธิบายว่าเพื่อให้ง่ายต่อการอ่านของคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่น ทำให้ผู้แปล The Brothers Karamazov เพิ่มย่อหน้าเข้าไป ให้อ่านง่ายขึ้น เนื่องจากคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นติดนิสัยการอ่านจากหนังสือการ์ตูน ชอบอ่านอะไรไม่ยาวเกินไป

Can the novel The Brothers Karamazov be translated in such a way that it reads smoothly and fluidly like a bestseller? I bought the new translation, read the first hundred pages, and concluded that each phrase used in it appeared easily accessible and had a good rhythm. In this book, the odors and dust of a foreign society are suppressed. The characters are readily distinguishable from one another despite their inconsistencies. Regardless of whether one values these attributes of the new translation, the difference between the new and old translations seemed to me insufficient to explain this explosive boom.

Several months later I happened to have a chance to chat with a young editor from a Japanese publishing house about this new translation. He said that readers today have developed a manga or text message way of seeing, meaning that their eyes grasp one entire section of text as an image and then go on to the next. For this reason, the sections cannot be too long: ideally, no longer than would fit on the screen of a cell phone or in a single manga picture...

The editor told me that in his opinion the secret of this new translation was that an unusually large number of paragraph breaks had been added to the novel. Manga readers can read the novel by passing from paragraph to paragraph as if from one manga image to the next. They are no less intelligent than their grandparents, but they have a different organ of vision, or a different cable connecting their retinas to their brains.

A Japanese translator I spoke with several weeks later confirmed the editor’s theory. She was just translating a book for the world literature series in which the new Brothers Karamazov had also appeared, and her editor kept repeating the same sentence: Give me more paragraphs!

แต่ผมยังนึกไม่ออกว่า อย่างตอน The Grand Inquisitor หรือ Father Zossima ที่ดอสโตเยฟสกี้เขียนต่อกันยาวพรืด จะแบ่งช่วงขยายตอนให้อ่านง่ายๆได้อย่างไร



ได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของ David Hawkes จากเว็บ Guardian เขาเป็นผู้แปลวรรณกรรมชิ้นเอกของจีนคือ "ความฝันในหอแดง" โดยใช้ชื่อในฉบับสำนักพิมพ์เพนกวินว่า "The Story of the Stone"

ฉบับแปลของ Hawkes เป็นฉบับแปลครบถ้วนสมบูรณ์ ยาว 5 เล่ม เป็นหนังสือวรรณกรรมที่ผมคาดหวังว่าจะมีโอกาสได้อ่านสักครั้งในชีวิต ตอนเด็กเคยอ่านฉบับย่อ ตอนนั้นไม่ประทับใจเท่าไหร่ รู้สึกเนื้อเรื่องกระโดดข้ามไปเยอะเลย




 

Create Date : 29 สิงหาคม 2552    
Last Update : 29 สิงหาคม 2552 18:04:10 น.
Counter : 976 Pageviews.  

พรูสต์เปลี่ยนชีวิต - How Proust Can Change Your Life



วันก่อนได้เดินเล่นในร้านหนังสือ ไปที่มุมหนังสือวิทยาศาสตร์ เห็นชื่อหนังสือใหม่สะดุดตา “Proust Was a Neuroscientist” ถ้าแปลเป็นไทย “พรูสต์คือนักประสาทวิทยาศาสตร์” ผมหยิบขึ้นมาดู ผู้เขียน Jonah Lehrer ซึ่งมีพื้นฐานการศึกษาทั้งด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะ ได้เขียนถึงแง่มุมของศิลปิน 8 ท่าน ที่ได้ค้นพบความจริงเกี่ยวกับจิตใจมนุษย์ เช่น สตราวินสกี้ (ดนตรี-การฟัง), เซซานน์ (ภาพวาด-การมองเห็น), วอลต์ วิตแมน (กวี-ความรู้สึก) และแน่นอนจากชื่อปกหนังสือ มีเขียนถึง มาร์แซล พรูสต์ กับความทรงจำ

พรูสต์อีกแล้ว.. ดูเหมือนปัจจุบันแทบทุกวงการต่างพูดถึงเขาเยอะเหลือเกิน



ไม่นานมานี้มีหนังสือชื่อว่า Proust and the Squid : The Story and Science of the Reading Brain (2007) ซึ่งเกี่ยวกับการอ่านและสมองมนุษย์ เล่มนี้ก็ใช้พรูสต์เป็นชื่อปกหนังสือ



ในหนังสือของพรูสต์ได้เขียนถึงจิตรกรไว้เยอะมาก อาทิ Vermeer, Bellini, Carpaccio, Giotto ฯลฯ (ตอนที่เขาเขียนถึงภาพวาดจ็อตโตในโบสถ์สโครเวญี เมืองปาโดวา ผมนึกไปถึงเล่ม Vertigo ของ Sebald ซึ่งมีฉากบรรยายที่นี่เหมือนกัน)

ปีที่แล้วมีหนังสือใหม่ Paintings in Proust : A Visual Companion to In Search of Lost Time (2008) นำภาพทั้งหมดจากหนังสือ In Search of Lost Time มารวบรวมไว้ โดยมีคำบรรยายจากหนังสือประกอบ



หากจำกันได้ หนังอินดี้เรื่องดังของปี 2006 “Little Miss Sunshine” มีตัวละครชื่อว่า Frank ซึ่งเป็น scholar เชี่ยวชาญพรูสต์เป็นอันดับต้นๆของอเมริกา ในหนังมีบทสนทนาที่ Frank กล่าวถึงพรูสต์

Frank: Do you know who Marcel Proust is?

Dwayne: He's the guy you teach.

Frank: Yeah. French writer. Total loser. Never had a real job. Unrequited love affairs. Gay. Spent 20 years writing a book almost no one reads. But he's also probably the greatest writer since Shakespeare. Anyway, he uh... he gets down to the end of his life, and he looks back and decides that all those years he suffered, Those were the best years of his life, 'cause they made him who he was. All those years he was happy? You know, total waste. Didn't learn a thing. So, if you sleep until you're 18... Ah, think of the suffering you're gonna miss. I mean high school? High school-those are your prime suffering years. You don't get better suffering than that.



ไม่เพียงแต่หนังฝรั่งที่อ้างถึงพรูสต์ หากใครเคยชมหนังญี่ปุ่นของ “ชุนจิ อิวาอิ” เรื่อง “Love Letter” คงจำได้ว่า ตอนท้ายเรื่องพระเอกได้ฝากหนังสือให้นางเอกไปคืนที่ห้องสมุด เมื่อกล้องถ่ายปกหนังสือ เราจึงเห็นชื่อภาษาฝรั่งเศสเคียงข้างภาษาญี่ปุ่นว่า “A la Recherche du Temps Perdu” หนังสือของพรูสต์นั่นเอง นั่นคงเป็นเพราะหนังมีประเด็นเกี่ยวกับอดีตและความทรงจำ ซึ่งไม่มีหนังสือเล่มไหนเป็นตัวแทนได้ดีเท่าพรูสต์



ในทีวีซีรีส์ของเกาหลีเรื่อง My Lovely Samsoon มีตอนที่นางเอกได้ถามคู่สนทนาว่า เคยอ่านหนังสือของพรูสต์มั้ย แล้วเธอสาธิตฉากดังในหนังสือที่นำ Madeleine จุ่มชา โดยแนะนำให้ลองทำดู คู่สนทนาชิมแล้วบอกว่า “อร่อยดี.. ผมเคยได้ยิน แต่ไม่เคยอ่านหนังสือนะ”



In Search of Lost Time ฉบับแปลภาษาเกาหลี ที่นั่นทำเป็น 11 เล่ม ขายเป็นบ็อกเซ็ต เกาหลีเหมือนกับญี่ปุ่นและไต้หวัน ประชากรแทบไม่ต้องรู้ภาษาต่างประเทศ เพราะความรู้ส่งตรงถึงบ้าน มีหนังสือแปลดีๆให้เลือกอ่านเยอะมาก อย่างไต้หวันผมเห็นหนังสือของ Bohumil Hrabal แปลเป็นภาษาจีน ทำเป็นกล่องบ็อกเซ็ตอย่างดี บรรจุ 3 เล่ม 3 เรื่อง



Alain de Botton เคยเขียนหนังสือขายดี How Proust Can Change Your Life แต่สำหรับคนเคยอ่านพรูสต์ คงไม่ต้องการหนังสือแนะนำเล่มนี้ เพราะในเมื่อพรูสต์เปลี่ยนชีวิตของคนที่เคยอ่านแล้ว จะเสียเวลาอ่านเล่มนี้ด้วยเหตุใด?



พรูสต์ไม่ชอบ Popular Art ในหนังสือ In Search of Lost Time เขาเขียนไว้ว่า "the idea of popular art...if not actually dangerous seemed to me ridiculous." แต่ปัจจุบัน Popular Art มากมายต่างหยิบชื่อและผลงานของเขามาอ้างถึง

เหตุใดพรูสต์ นักเขียนที่เสียชีวิตไปแล้วร่วมเก้าสิบปี กลับเป็นที่พูดถึงแทบทุกวงการ?

ต้องอ่าน In Search of Lost Time ถึงจะเข้าใจ..




 

Create Date : 28 สิงหาคม 2552    
Last Update : 28 สิงหาคม 2552 19:34:33 น.
Counter : 2542 Pageviews.  

Marcel Proust : In Search of Lost Time “การแสวงหาเวลาที่สูญหายของพรูสต์”



หลังจากที่จมหายกับ “In Search of Lost Time” (A la recherche du temps perdu) ของพรูสต์มา 3 เดือนเต็ม กับความยาว 4,347 หน้า ในฉบับแปลของ Moncrieff/Kilmartin/Enright (ทั้งหมด 6 เล่ม โดยเล่ม 5 ได้รวม 2 เล่มไว้ในเล่มเดียวกัน ได้แก่ The Captive และ The Fugitive) ในที่สุดผมก็อ่านจนจบ ทัศนะต่องานเขียนชิ้นเอกเล่มนี้กระจัดกระจายเป็นหลายประเด็น ขอเขียนแยกเป็นข้อๆครับ

1) ผมนึกไม่ออกว่ามีหนังสือเล่มไหนในโลกที่ดีกว่านี้ นี่เป็นหนังสือที่เยี่ยมยอดลึกซึ้งที่สุดเท่าที่เคยอ่านมา มีหนังสืออันมากมายที่ผมรู้สึกดีเยี่ยม อาทิ The Brothers Karamazov, War and Peace, Madame Bovary, The Red and the Black, Crime and Punishment, The Magic Mountain แต่ไม่เคยรู้สึกถึงขนาดว่า “นึกไม่ออกจะมีหนังสือเล่มไหนในโลกที่ดีกว่านี้” หนังสือของพรูสต์มีความน่าหลงใหลอันพิเศษสุด เป็นมาสเตอร์พีซของมาสเตอร์พีซ เหมือน Sistine Chapel ของมิเคลันเจโล หรือซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโธเฟน

2) หนังสือเล่มนี้ให้แง่มุมอันลุ่มลึกต่อชีวิต, ธรรมชาติของความทรงจำ, กาลเวลา, ความรักความลุ่มหลง, ความตาย, ดนตรี, วรรณกรรม, ศิลปะ.. พรูสต์สอนให้เราสังเกตโลกรอบตัว สิ่งเล็กน้อยในชีวิตประจำวันที่เราอาจหลงลืมไป ประโยคอันยืดยาวของเขาถักร้อยออกมาได้อย่างงดงาม ด้วยความยาวสี่พันหน้า หนังสือของเขาดูเหมือนมีพล็อตเรื่องน้อยมาก ผู้อ่านมักคุ้นเคยการเขียนจาก “เหตุการณ์แรก” ไปสู่ “เหตุการณ์ที่สอง” แต่ในหนังสือของพรูสต์ บ่อยครั้งที่เขียนถึงสถานการณ์หนึ่งแล้วบรรยายไว้นานมาก เขาเล่าผ่านประโยคยาวๆ เจาะลึกกับรายละเอียดของชีวิต

3) นวนิยายเขียนผ่านมุมมองของบุรุษที่หนึ่ง “ผม” เป็นเสมือนกระจกสะท้อนพาผู้อ่านไปยังโลกในอดีต, วงสังคม, ศิลปะ และปรัชญา ส่วนสำคัญสุดคือหนังสือพาเราไปยังโลกแห่งความนึกคิดของผู้เล่าเรื่อง ผู้อ่านได้รับรู้สารพันเรื่องราวในจิตใจของเขา (ซึ่งเต็มไปด้วยความรัก ความสูญเสีย ความหึงหวง อารมณ์อันอ่อนไหว แทบทุกความรู้สึกของมนุษย์) ผู้เล่าเรื่องมีหัวใจที่เต็มไปด้วยความรักและศิลปะ เขาปรารถนาจะเป็นนักเขียน หนังสือทั้งหมดเป็นเรื่องราวชีวิตในอดีตก่อนที่เขาจะเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น เขาต้องเผชิญกับความรักที่ผ่านเข้ามาในชีวิต, ผู้คนในสังคม และความไม่เชื่อมั่นในความสามารถทางวรรณศิลป์ของตนเอง

4) พรูสต์เป็นนักเขียนที่เข้าใจถึงสิ่งเล็กสิ่งน้อยในชีวิต เขาเขียนได้อย่างงดงามถึงประสบการณ์ธรรมดาในชีวิตมนุษย์ สิ่งที่ผ่านไปในแต่ละวัน อาทิ การนอน, การทานอาหาร, การอ่านหนังสือ หรือแม้แต่การจุมพิต นี่เป็นตอนที่เขาบรรยายจุมพิตแรกของ Swann ต่อ Odette

“And in an attitude that was doubtless habitual to her, one which she knew to be appropriate to such moments and was careful not to forget to assume, she seemed to need all her strength to hold her face back, as though some invisible force were drawing it towards Swann. And it was Swann who, before she allowed it, as though in spite of herself, to fall upon his lips, held it back for a moment longer, at a little distance, between his hands. He had wanted to leave time for his mind to catch up with him, to recognize the dream which it had so long cherished and to assist in its realization, like a relative invited as a spectator when a prize is being given to a child of whom she has been especially fond. Perhaps, too, he was fixing upon the face of an Odette not yet possessed, nor even kissed by him, which he was seeing for the last time, the comprehensive gaze with which, on the day of his departure, a traveler hopes to bear away with him in memory a landscape he is leaving for ever.”

5) ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องรู้ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสในช่วงที่พรูสต์เขียนขึ้น แค่รู้ Dreyfus Affair ก็เพียงพอ ซึ่งปกติคนเคยอ่านประวัติศาสตร์ยุโรปก็จะรู้ถึง Dreyfus Affair ที่เป็นเหตุการณ์สำคัญของประเทศฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามถ้ารู้จักฝรั่งเศสในยุค Belle Epoque ก็น่าจะจินตนาการเห็นภาพชัดเจนขึ้น ยิ่งถ้าผู้อ่านเป็น Francophile จะยิ่งทวีความหลงใหลมากขึ้น

6) ผมอ่าน In Search of Lost Time ผ่านไปอย่างช้ามาก เป็นเพราะพรูสต์เขียนได้สวยงามเหลือเกิน หลายครั้งที่ผมอ่านจบย่อหน้าแล้วหวนกลับไปอ่านใหม่ในทันใด บางประโยคเขาบรรยายได้งดงามมาก บางประโยคก็แฝงนัยอันลึกซึ้งซับซ้อนจนผมต้องหวนกลับไปอ่าน พยายามเก็บสาส์นของเนื้อหาที่เขาต้องการสื่อ บางครั้งไม่ใช่อ่านทวนแค่หนเดียว อย่างเล่ม The Captive มีตอนเขียนถึงฉากที่ผู้เล่าเรื่องจ้องมอง Albertine กำลังนอนหลับไว้หลายหน้า ผมจำได้ว่าตัวเองเวียนกลับไปอ่านหลายรอบ อะไรจะลึกซึ้งสวยงามขนาดนั้น หนังสือของพรูสต์เต็มไปด้วย “ช่วงขณะอันตราตรึง” ที่ทำให้ผมต้องหยุดนิ่ง เหมือนฟังดนตรีท่อนโปรดแล้วหลุดจากกรอบของกาลเวลา

7) ผมรู้สึกว่าหลายตอนในหนังสือเป็น Essay ที่แฝงในรูปแบบนวนิยาย เส้นกั้นระหว่าง Essay และนวนิยายได้ถูกพรูสต์พังทลายสิ้น

อย่างข้อเขียนนี้ในเล่ม The Fugutive ทำให้ผมนึกถึงปาสกาลและมงแตนญ์

“Our intelligence is not the subtlest, most powerful, most appropriate instrument for grasping the truth… It is life that, little by little, case by case, enables us to observe that what is most important to our hearts or to our minds is taught us not by reasoning but by other powers. And then it is the intelligence itself which, acknowledging their superiority, abdicates to them through reasoning and consents to become their collaborator and their servant.”

8) ตั้งแต่เล่มแรกจนถึง Sodom and Gomorrah พรูสต์บรรยายถึงเรื่องราวชีวิตและวงสังคม โดยมีบทสนทนาแทรกไว้บ้างตามสมควร ทว่าตั้งแต่เล่ม The Captive ไปจนจบ เน้นหนักไปที่ “โลกแห่งความนึกคิด” บทบรรยายในสามเล่มสุดท้ายเต็มไปด้วยความพินิจพิเคราะห์ โดยเฉพาะเล่มสุดท้าย Time Regained นั้นสุดยอด ความรู้สึกผมเหมือนกับขึ้นถึงยอดเขาอันสูงตระหง่าน มองลงมาเห็นทัศนียภาพเบื้องล่างช่างตื่นตาตื่นใจเหลือเกิน พรูสต์นำทุกอย่างมาขมวดไว้ในเล่มสุดท้าย ซึ่งผู้เล่าเรื่องได้มองย้อนกลับไปยังชีวิตของตัวเอง กับเวลาที่คิดว่าสูญหายและไร้ค่าได้กลายเป็นวัตถุดิบในงานเขียนของเขา

9) ประโยคแรกของหนังสือเริ่มด้วยคำว่า “For a long time” และคำสุดท้ายของหนังสือคือ “Time” ประเด็นของ “เวลา” เป็นแกนเรื่องสำคัญในนวนิยายชิ้นนี้ หากคิดว่าโธมัส มันน์ เขียนถึง “ธรรมชาติของกาลเวลา” ไว้อย่างลุ่มลึกใน The Magic Mountain แล้ว พรูสต์ยิ่งขุดลึกไปกว่านั้นอีก ผมนึกถึงคำกล่าวของกามูส์ที่บอกว่า “หากอยากเป็นนักปรัชญา จงเขียนนวนิยาย” ใน “In Search of Lost Time” พรูสต์ได้เขียนถึงแง่มุมปรัชญาเกี่ยวกับ “เวลา” พูดถึง “เวลา” เรามักนึกถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่แท้จริงแล้ว “ปัจจุบัน” เป็นสิ่งสมมติ ไม่ใช่ reality ทุกวินาทีที่ผ่านไปล้วนกลายเป็นอดีต ตรงนี้พรูสต์เข้าใจดี บางตอนเหมือนเขาใช้นวนิยายไขปัญหา Metaphysics เกี่ยวกับการดำรงอยู่, ความทรงจำ และกาลเวลา

10) ในหนังสือมีตัวละคร Bergotte (นักเขียน), Elstir (จิตรกร), Berma (นักแสดงละคร), Vinteuil (นักประพันธ์ดนตรี) ซึ่งเป็นตัวแทนของศิลปะในแขนงต่างๆให้พรูสต์ได้หยิบยกมาพูดถึง ผมชอบเวลาที่เขาเขียนถึงศิลปะ ช่างลึกซึ้งจริงๆ สำหรับพรูสต์ ความรัก (ไม่ว่าระหว่างเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกัน) ไม่ใช่สิ่งจีรัง และชีวิตมนุษย์ต้องจบลงด้วยความตาย มีเพียง “ศิลปะ” (ดนตรี, วรรณกรรม, จิตรกรรรม) ที่อยู่ยั้งยืนยง เป็นสิ่งล้ำค่าที่สุดของมนุษย์

11) Graham Greene เคยบอกไว้ว่า "Proust was the greatest novelist of the twentieth century, just as Tolstoy was in the nineteenth." เป็นการเปรียบเทียบได้น่าสนใจ ส่วนตัวผมคิดว่า ตอลสตอยดูรอบด้านช่ำชองทางโลกมากกว่า เขาเขียนได้ทั้งเรื่องราวในสังคมชั้นสูง, ชาวบ้านชนบท, สงคราม ฯลฯ Scope โลกภายนอกของพรูสต์ไม่กว้างขวางเท่าตอลสตอย แต่พรูสต์เปี่ยมด้วยความเข้าใจตัวตนมนุษย์แบบลึกซึ้งสุดๆ สำหรับกลวิธีการเขียน ใน Anna Karenina และ War and Peace ตอลสตอยใช้มุมมอง omniscient สามารถสลับไปมาในจิตใจตัวละครต่างๆ (ยากมากหากนักเขียนคนนั้นไม่เก่งจริง) ส่วนพรูสต์เล่าผ่านมุมมองของบุรุษที่หนึ่ง ผมเชื่อว่าในส่วนลึกของทั้งพรูสต์และตอลสตอยมีแรงขับที่ต้องการมีชีวิตนิรันดร์ เป็นความนิรันดร์ผ่านผลงานรังสรรค์ทางศิลปะ งานของทั้งคู่จึง comprehensive และ ambitious มาก

12) พรูสต์เป็นนักเขียนที่ฉลาดมาก เขามีทั้งความละเอียดอ่อนในอารมณ์ความรู้สึก และความฉลาดล้ำลึกทางศิลปะ หานักเขียนน้อยคนในโลกที่มีพรสวรรค์แบบนี้ ผมเห็นด้วยกับจอร์จ สไตเนอร์ ที่บอกว่า

“Proust's place in intellectual life would remain eminent. He is, after Aristotle and Kant, one of the seminal thinkers on aesthetics, on the theoretical and pragmatic relations between form and meaning. His analyses of the psychosomatic texture of human emotions, of the phenomenology of experience, are of compelling philosophical interest. Even in his lifetime, it became a cliche to set "Proust on time" beside Einstein and the new Physics. "A la Recherche du Temp Perdu" is interwoven with motif of epistemology, philosophy of art (including music), and ethical debate which nevertheless have their own independent status.”

13) ผมคิดว่าหากจะซาบซึ้งในคุณค่างานเขียนของพรูสต์ ต้องอ่านครบทุกเล่ม ไม่สามารถอ่านเพียงเล่มใดเล่มหนึ่งได้ เหมือนกับฟังซิมโฟนี ไม่สามารถวัดคุณค่าจากการฟังเพียง movement เดียวได้ ต้องอ่านทั้งหมดจึงจะเข้าใจความสมบูรณ์ของผลงาน นอกจากความยาวของหนังสือที่ทำให้ผู้คนมองข้ามผลงานชิ้นนี้แล้ว สำหรับคนที่ได้ลองหยิบมาอ่าน ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่จะไม่ชอบหนังสือของพรูสต์ ตรงนี้ผมเข้าใจได้ ปัจจุบันในยุคอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือที่ทุกอย่างถูกตอบสนองด้วยความรวดเร็ว ผู้คนย่อมไม่มีความอดทนต่อการอ่านงานเขียนแบบนี้ โลกของพรูสต์เป็นโลกที่ผ่านไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งต้องใช้ความอดทน ใช้ความละเมียดในการอ่าน เปรียบเหมือนการละเลียดจิบไวน์รสเลิศ ซึ่งต่างจากดื่มเบียร์ราคาถูก นั่นเป็นสาเหตุที่ผู้คนจำนวนมากพลาดคุณค่าอันเลอเลิศของวรรณกรรมชิ้นนี้

14) ข้อเสียของหนังสือเล่มนี้ก็มีเช่นกัน แต่ไม่ใช่ข้อเสียของตัวหนังสือ แต่เป็นผลกระทบจากหนังสือ ผมนึกถึงข้อเขียนของ “มงแตนญ์” ที่บอกว่าหนังสือให้คุณค่าต่อความคิดจิตใจ ทว่าละเลยในส่วนของร่างกาย หนังสือของพรูสต์ที่ทำให้ผมติดหนึบเล่มนี้ทำให้ผมขาดการไปออกกำลังกายที่ฟิตเนส จากเดิมที่เคยไปสัปดาห์ละหลายครั้ง กลายเป็นว่าตั้งแต่เริ่มอ่าน ผมโดดเป็นประจำ เลิกงานมุ่งหน้ากลับบ้านไปอ่านหนังสือแทน .. และมีอยู่วันหนึ่งที่ผมยืนอ่านบนรถไฟฟ้า BTS ตอนเช้าขณะที่ไปทำงาน อ่านเพลินจนเลยสถานีไปสองป้าย ยังดีที่วันนั้นมาทำงานทัน

15) ผมเสียดายที่ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่อายุน้อยๆ เช่น วัย 17-18 แต่มาคิดอีกที ในวัยที่เพิ่มขึ้น ได้มีประสบการณ์ชีวิตที่มากขึ้น เคยผ่านความผิดหวังในความรัก ได้พบห้วงเวลาสูญเปล่าของชีวิต เคยนั่งทบทวนอดีตที่ผ่านมาของตนเอง อาจทำให้ซาบซึ้งกับหนังสือเล่มนี้ได้ดีกว่าตอนที่อายุน้อยๆ ผมกะว่าอนาคตข้างหน้าจะหวนกลับมาอ่านงานยิ่งใหญ่ชิ้นนี้อีก อยากรู้ว่าถึงตอนนั้น ในวัยที่มากขึ้น ผมจะรู้สึกอย่างไรกับหนังสือเล่มนี้

16) พรูสต์บอกได้ถูกต้องว่า ข้อแตกต่างของหนังสือดีอยู่ที่ wisdom ที่เราได้รับหลังจากที่วางหนังสือเล่มนั้นลง "We feel very strongly that our own wisdom begins where that of the author leaves off." และหนังสือเล่มนี้ได้พิสูจน์ข้อความดังกล่าว ยามที่ผมอ่าน “In Search of Lost Time” ผมมองโลกของพรูสต์ด้วยสายตาของพรูสต์ เมื่อผมอ่านจบ บางทีโดยไม่รู้ตัว ผมได้มองโลกของตัวเองด้วยสายตาของพรูสต์

พรูสต์บอกไว้ว่า

“The only true voyage, the only bath in the Fountain of Youth, would be not to visit strange lands but to possess other eyes, to see the universe through the eyes of another, of a hundred others, to see the hundred universes that each of them sees, that each of them is; and this we can do with an Elstir, with a Vinteuil; with men like these we do really fly from star to star.”

17) ผมดีใจที่ในชีวิตมีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ สำหรับคนที่เคยอ่านพรูสต์ ผมปลื้มใจแทน “คุณอยู่ในกลุ่มคนที่โชคดีเหลือเกิน” และจะบอกกับคนที่ยังไม่เคยอ่านว่า “อย่าตายหากยังไม่ได้อ่านพรูสต์”




 

Create Date : 26 สิงหาคม 2552    
Last Update : 28 สิงหาคม 2552 19:36:35 น.
Counter : 8342 Pageviews.  

ตู้หนังสือใหม่กับหัวใจใบเดิม



เห็นกองหนังสือในบ้านวางระเกะระกะมานาน คิดว่าถึงเวลาที่จะหาชั้นหนังสือเพิ่มจากเดิม ช่วงหลังผมไปเดินตามสถานที่ขายเฟอร์นิเจอร์ แต่ยังไม่เจอที่ถูกใจ นึกอยากไปจ้างเขาทำเป็นพิเศษ พอเช็คราคาแล้วก็ลังเล (เกินงบที่ตั้งไว้ เนื่องจากปีนี้ได้โบนัสน้อย) เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมามีงานขายอุปกรณ์ตกแต่งบ้านที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผมไปเดินชมงาน เจอร้านหนึ่งขายตู้หนังสือราคาไม่แพง หลังจากต่อราคาพักนึง เจ้าของใจดีลดราคาให้อีก ผมจึงซื้อมา 2 ตู้ เพื่อตั้งเรียงกัน

วันเสาร์ที่ผ่านมาจึงได้โอกาสจัดการกับกองหนังสือที่วางกระจัดกระจาย ก่อนหยิบหนังสือเข้าชั้นผมมักคิดสองอย่าง อย่างแรกผมจำได้ว่าเล่มไหนเคยอ่านแล้ว เล่มไหนยังไม่ได้อ่าน บางเล่มที่ไม่เคยอ่าน พอหยิบจับพลิกไปมาก็อยากลัดคิวมาอ่านก่อนเล่มอื่น อย่างที่สองคือการเลือกวางหนังสือในชั้น ในส่วนวรรณกรรม ผมมักแยกตามประเทศ อาทิ วรรณกรรมรัสเซีย, วรรณกรรมฝรั่งเศส, วรรณกรรมเยอรมัน

พอนำหนังสือที่เคยวางสะเปะสะปะมาจัดเป็นหมวดหมู่ กวาดสายตาดูแล้วก็ประหลาดใจกับตนเองเหมือนกัน เช่น หนังสือของคาฟคา เมื่อมาวางติดกันผมจึงนึกขึ้นได้ว่ามีหนังสือของเขาหลายเล่ม (น้องสาวผมซึ่งจบเอกภาษาเยอรมันจากอักษร จุฬาฯ เคยบอกว่าผมชอบวรรณคดีมากกว่าเธอซึ่งเรียนโดยตรงเสียอีก)

ตู้หนังสือสองตู้ที่ซื้อมายังไม่เพียงพอกับหนังสือที่วางกองอยู่ บางส่วนจึงต้องวางกองต่อไป วอลเตอร์ เบนจามิน เคยบอกว่าเขามีหนังสือที่มีคุณค่าในครอบครองเพียง 1,000 เล่มก็เพียงพอ ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ผมทำไม่ได้แน่ ความอยากได้หนังสือมาครอบครองเป็นกิเลสอย่างหนึ่งที่ตัดไม่ได้จริงๆ




 

Create Date : 24 สิงหาคม 2552    
Last Update : 28 สิงหาคม 2552 19:36:04 น.
Counter : 1710 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  

BlueWhiteRed
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Friends' blogs
[Add BlueWhiteRed's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.