Group Blog
 
All Blogs
 
100 ปี "Jean-Paul Sartre" Public Intellectual ที่โด่งดังที่สุดในศตวรรษที่ 20

ปี 2005 เป็นปีที่มีความสำคัญในแวดวงศิลปวัฒนธรรมหลายประการ ที่สเปนได้มีการจัดนิทรรศการเฉลิมฉลองการครบรอบ 400 ปี ของวรรณกรรมอมตะ Don Quixote ส่วนเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา The Last Intellectual อย่าง Susan Sontag ได้เสียชีวิตด้วยโรคลูคีเมีย ท่ามกลางความเสียใจของหนอนหนังสือทั่วโลก



ปีนี้ยังเป็นปีที่ครบรอบ 100 ปี ของ Jean-Paul Sartre (1905-1980) แม้ว่าบุคคลรุ่นหลังจำนวนมากไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนาม ส่วนบุคคลที่รู้จักก็ตำหนิถึงความผิดพลาดในจุดยืนทางการเมือง แต่เขาก็เป็นปัญญาชนสาธารณะชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในศตวรรษที่ 20

ลองนึกดู ถ้านึกถึง Sartre ผมจะหวนนึกถึงอะไรมั่ง : )

1. นิยายของเขา : Sartre เขียนนิยาย, เรื่องสั้น และบทละครไว้จำนวนหนึ่ง เรื่องที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด คงจะเป็น La Nausea ซึ่งเป็นเรื่องราวอันโดดเดี่ยวแปลกแยกของอังตวน โรก็องแตง Antoine Roquentin จะว่าไปแล้ว ฝีมือทางการประพันธ์ของเขาสู้ของ Camus ไม่ได้ อ่านงานเขียนของ Camus จะประทับใจมากกว่า อย่างที่มีคนเคยว่าไว้ “Sartre เป็นนักปรัชญาที่บังเอิญมาสนใจวรรณกรรม ส่วน Camus เป็นนักประพันธ์ที่บังเอิญมาสนใจปรัชญา”

2. งานเขียนทางปรัชญา : เล่มที่สร้างชื่อให้เขา คือ Being and Nothingness ซึ่งผมเองไม่เคยอ่าน นักวิจารณ์หลายคนบอกว่า Sartre ได้รับอิทธิพลมาจาก Being and Time ของมาร์ติน ไฮเด็กเกอร์

3. Existentialism : ปรัชญาที่ทำให้ Sartre โด่งดัง จนกลายเป็นกระแสนิยมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

4. ร้านกาแฟ Café de Flore : ร้านกาแฟในฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซนในปารีส เป็นร้านที่เขา, ซีโมน เดอ โบวัวร์ และเหล่าสาวกเอ็กซิสฯมานั่งถกปัญหาพูดคุยกัน ครั้งที่ผมไปเที่ยวปารีสได้เดินผ่านร้านนี้ สังเกตเห็นคนเยอะมาก และที่จัตุรัสเล็กๆข้างร้าน ใช้ชื่อให้เกียรติว่า “จัตุรัสญอง ปอล ซาร์ตร์ และ ซีโมน เดอ โบวัวร์”

5. ซีโมน เดอ โบวัวร์ : คู่ชีวิตของเขา ผู้เขียนหนังสือคลาสสิค “The Second Sex”

6. การเคลื่อนไหวทางการเมือง : ในขณะที่ Camus ไม่เชื่อว่า “มือที่เปื้อนเลือด” จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ไปสู่สังคมในอุดมคติได้ Sartre มีความเชื่อว่าเราต้องยืนอยู่บนพื้นฐานความจริง ความรุนแรงบางครั้งมิอาจเลี่ยงได้ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่เคยวิจารณ์ Mao และ Stalin ในทางลบ เขาเชื่อในการต่อสู้ปลดปล่อย ทำให้มีมิตรสหายเป็นนักปฏิวัติจำนวนมาก ซึ่งสองคนในนั้นก็คือ ฟิเดล คาสโตรและเช เกวาร่า...

เมื่อปี 1980 ที่ Sartre เสียชีวิต ชาวปารีสหลายหมื่นคนได้ร่วมเดินขบวนส่งศพเขาไปตามท้องถนน ปีนี้ครบรอบ 100 ปีเกิดของเขา รัฐบาลฝรั่งเศสจะย้ายศพของเขาไปไว้ที่โบสถ์ Pantheon ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ อาทิเช่น รุสโซ, วอลแตร์ และอูโก

ห้วงความคิดสุดท้ายเมื่อนึกถึง Sartre พลันคิดขึ้นมาว่า Public Intellectual ในปัจจุบันหายไปไหนหมด....



Create Date : 17 สิงหาคม 2548
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2551 16:08:03 น. 10 comments
Counter : 1337 Pageviews.

 
โดยส่วนตัวคิดว่าปรัชญาอัตถิภาวนิยมของซาร์ตนั้นสุดโต่งไปหน่อย

แต่โดยส่วนตัวอีกเช่นกัน ชอบนวนิยายที่กามูส์เขียนมากกว่า

อย่างไรเสีย ซาร์ตก็เป็นปราชญ์ที่เลิศล้ำ ยากนักที่จะหาใครมาเทียบเท่า


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 17 สิงหาคม 2548 เวลา:8:41:06 น.  

 
ก็มีคนรุ่นต่อๆ มานะคะ
ถ้าคุณไม่ยึดติดว่า ต้องเป็นเอ็กซิสต็อง ฯ
เอาเข้าจริงเอ็กซิสฯ ก็อาจจะมีปัญหาในตัวมันเอง
นักคิดรุ่นต่อๆ มาก็พัฒนาแนวความคิดกันต่อไป
อย่าหยุดแค่ซาร์ส์ต สิคะ

หลังๆ ก็มีนักคิดรุ่นต่อมาอย่าง Derida
นักคิดรุ่นโพสโมเดิร์น รุ่นอื่นๆ ก็มีหลายคน
ลองหาดูนะคะ

ชอบกามูส์ มากกว่าซาร์สต์เหมือนกัน
ความสัมพันธ์ของซาร์สต์ และซีโมน ไม่อาจเรียกได้ว่า
คู่ชีวิตนะคะ เพราะทั้งคู่ไม่ชอบจำกัดเสรีภาพของตัวเอง
อาจจะเรียกว่าคู่รักได้มากกว่า


โดย: grappa วันที่: 17 สิงหาคม 2548 เวลา:8:42:53 น.  

 
พูดถึงโพสต์โมเดิร์น

My life is flooded by the Simulaclum.


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 17 สิงหาคม 2548 เวลา:8:56:58 น.  

 
ผมเองก็ชอบกามูส์มากกว่าซาร์ตร์เหมือนกัน

เห็นด้วยกับคุณ grappa ความสัมพันธ์ของซาร์ตร์และซีโมน เดอ โบวัวร์ ค่อนข้างซับซ้อน นอกจากเรื่องงานแล้วยังมีเรื่องของความรักระหว่างเธอกับ Nelson Algren อีก

ผมไม่สนใจซาร์ตร์มาเป็นสิบปี ที่เขียนบทความนี้เพราะได้อ่านบทความใน
//www.prospectmagazine.co.uk/article_details.php?id=6962

Susan Sontag เคยเอ่ยถึง Walter Benjamin ว่าเป็น The Last Intellectual ผมรู้สึกคำๆนี้เหมาะกับ Sartre ด้วยเช่นกันครับ...


โดย: BlueWhiteRed (BlueWhiteRed ) วันที่: 17 สิงหาคม 2548 เวลา:9:45:54 น.  

 
แปลว่าโลก นี้จะไม่มี Intellectual แล้วเหรอคะ
ในความคิดของเจ้าของบล็อค ไม่นา
ดิฉันว่า นักคิด ก็ยังคงทำงานอยู่นะคะ

ตอนต้นปี ได้ข่าวซูซาน ซ็อนเท็คเสียชีวิต
จากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ของอินเดีย
(ตอนนั้นเที่ยวเล่นอยู่แถบๆ หิมาลัย )
ก็ใจหายเหมือนกัน

ชอบเจ้าชายน้อยเหรอคะ
ขออนุญาติแอดบล็อคนะคะ
จะได้เข้ามาอ่านเรื่อยๆ


โดย: grappa วันที่: 17 สิงหาคม 2548 เวลา:10:01:47 น.  

 
แอดเข้าบล๊อกด้วยคนนะครับ

ผมคิดว่าที่ Susan Sontag เคยเอ่ยถึง Walter Benjamin ว่าเป็น The Last Intellectual

อาจสืบเนื่องมาจากความคิดในยุคโพสต์โมเดิร์นที่ไม่มีอะไรใหม่อีกแล้ว

ความคิดต่าง ๆ ล้วนถูกรื้อสร้างแล้วประกอบขึ้นใหม่ ทำให้ยังหาคนที่คิดอะไรแหวก ๆ ขึ้นมาเป็นประเด็นใหญ่สำคัญ เหมือนที่ มาร์กซ์ ฟรอยด์ หรือ ดาร์วิน เคยทำ

หรือคิดเห็นกันอย่างไรครับ


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 17 สิงหาคม 2548 เวลา:11:44:54 น.  

 
ใช่ครับ รากฐานความคิดในเรื่องสำคัญดูเหมือนสิ้นสุดหยุดนิ่ง เหมือนอย่างที่ฟรานซิส ฟูกูยาม่า เขียนไว้ใน The End of History ที่ได้หยิบยืมความคิดของเฮเกลมาว่า เรามาถึงจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์แล้ว


โดย: BlueWhiteRed IP: 202.12.118.36 วันที่: 18 สิงหาคม 2548 เวลา:8:51:53 น.  

 
วาทะของ Sartre ที่ว่า....man is condemned to be free....มีอิทธิพลต่อความคิดของผมไม่น้อย

แม้ว่าผมจะไม่ได้เห็นด้วยกับเขาทุกอย่าง แต่ปรัชญาของ Sartre ทำให้ผมต้องหยุด และกลับไปใคร่ครวญความคิดความเชื่อของตัวเองใหม่


โดย: das Kino วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:21:36:56 น.  

 
ในส่วนลึกของตัวตน sartre ถ่ายทอดได้อย่างชัดเจน
พฤติกรรมกับจิต กามูส์ เล่าออกมาอย่างท้าทาย
จนบ้างครั้งทำให้เราต้องละอายต่อความรู้สึกของตนเอง


โดย: อนุบาล IP: 118.172.54.116 วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:23:18:48 น.  

 
แน่หละ ฉันไม่ใช่คนตลาดอย่างการ์มูนี่
บันทึกขแงฉันของฉันถึงไม่มีใครเข้าถึงมันสักคน


โดย: โกกองแต็ง IP: 125.24.113.228 วันที่: 11 พฤษภาคม 2552 เวลา:5:58:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

BlueWhiteRed
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Friends' blogs
[Add BlueWhiteRed's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.