Group Blog
 
All Blogs
 
Natasha’s Dance- A Cultural History of Russia: Orlando Figes แด่รัสเซียด้วยดวงใจ Russophiles,Unite!



"The smell of the Russian earth is different, and such things are impossible to forget … A man has one birthplace, one fatherland, one country - he can have only one country - and the place of his birth is the most important factor in his life … I did not leave Russia of my own will, even though I disliked much in my Russia and in Russia generally. Yet the right to criticise Russia is mine because Russia is mine and because I love it, and I do not give any foreigner that right." - Stravinsky

สมัยเรียนมหาวิทยาลัยช่วงปีแรกเป็นปีที่ผมตะลุยอ่านวรรณกรรมรัสเซียเล่มแล้วเล่มเล่า (Crime and Punishment, The Brothers Karamazov, Anna Karenina, Fathers and Sons, Chekhov's Short Stories, Collected Tales of Gogol..) อ่านแบบต่อเนื่องหยุดไม่ได้ วรรณกรรมรัสเซียในศตวรรษที่ 19 มีมนต์เสน่ห์เพราะผูกโยงกับความคิดทางปรัชญา การเมือง และศาสนา ซึ่งต่างจากวรรณกรรมตะวันตกในยุคเดียวกัน ยกตัวอย่าง หนังสือ Madame Bovary เป็นวรรณกรรมชั้นยอด เขียนโดยอัจฉริยะที่ถักร้อยเรื่องราวได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทว่าเมื่อเราอ่าน Anna Karenina ซึ่งเป็นหนังสือชั้นยอดเช่นกัน เรารู้สึกถึงความแตกต่าง มันมีความเข้มข้นจริงจัง “High Seriousness” แฝงอยู่ เช่น ฉากที่เลวินไต่ถามความหมายของชีวิตในตอนท้ายเรื่อง

ผมไม่มีวันลืมช่วงเวลาที่อ่านวรรณกรรมรัสเซียเหล่านั้น กล่าวได้ว่า “ความรักวรรณกรรมอย่างลึกซึ้ง” เริ่มต้นจากช่วงนั้น หนังสือพวกนี้ไม่ได้เป็นแค่ “Text” แต่เป็นโลกทั้งใบ ช่วยเปิดโลกทัศน์ เปิดมิติทางปัญญาในแบบที่ไม่เคยนึกฝันมาก่อน จากความสนใจในวรรณกรรมก็แตกยอดไปสนใจศิลปะแขนงอื่น ได้ฟังดนตรีของชอสตาโควิชและโปรโกเฟียฟ ชมภาพยนตร์ของไอเซนสไตน์และทาร์คอฟสกี้

พูดถึงหนังสือแนวประวัติศาสตร์ ส่วนตัวไม่ค่อยชอบอ่านประวัติศาสตร์การเมืองการทหาร ผมชอบ Cultural History รู้สึกรื่นรมย์กับการอ่านหนังสือที่เขียนถึงศิลปิน นักคิด นักเขียน กับบริบททางประวัติศาสตร์ ออร์แลนโด ไฟเจส (Orlando Figes) อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน เป็นผู้รู้เกี่ยวกับรัสเซีย ในบทนำ Natasha’s Dance : A Cultural History of Russia (2002) เขาบอกว่า Cultural History ให้แง่มุมเชิงลึกต่อรัสเซีย ไฟเจสต้องการถ่ายทอดจิตวิญญาณของคนรัสเซีย สิ่งที่ชาวรัสเซียคิด รู้สึก ผ่านเรื่องราวทางวรรณกรรมและศิลปะ

แล้ววรรณกรรม, ดนตรี, ศิลปะ และภาพยนตร์ ของประเทศนี้น่าทึ่งขนาดไหน .. ลองดูรายชื่อบุคคลสำคัญในศตวรรษที่ 19 และศตวรรษที่ 20 .. Pushkin, Gogol, Tolstoy, Dostoevsky, Turgenev, Chekhov, Mandelstam, Akhmatova, Pasternak, Nabokov, Tchaikovsky, Rimsky-Korsakov, Rachmaninov, Stravinsky, Shostakovich, Prokofiev, Diaghilev, Kandinsky, Eisenstein, Tarkovsky และอีกมากมายที่ไม่ได้เอ่ยนาม

ชื่อหนังสือ “Natasha’s Dance” มาจากตอนหนึ่งในหนังสือ War and Peace ซึ่งเป็นตอนที่นางเอกนาตาชาไปหาคุณลุงที่บ้าน ในฉากนั้นมีการบรรเลงดนตรีพื้นเมืองของรัสเซียด้วยบาลาไลก้า นาตาชามาจากชนชั้นสูง ไม่เคยได้ยินบทเพลงชาวบ้านแบบนี้มาก่อน กลับลุกขึ้นมาเต้นรำเข้าจังหวะอย่างงดงาม ฉากนี้ของตอลสตอยแฝงถึง “ปมอมตะ” ของชาวรัสเซีย ระหว่างความต้องการเป็นยุโรปของชนชั้นสูง กับความเป็นรัสเซียแบบชาวบ้านชนบท

ไฟเจสเริ่มบทแรกของหนังสือโดยกล่าวถึงศตวรรษที่ 18 ของรัสเซีย ซึ่งชนชั้นนำมองเห็นความล้าหลังของประเทศเทียบกับยุโรป เมื่อมองย้อนไปยังประวัติศาสตร์ จากศตวรรษที่ 13 ถึง 15 รัสเซียอยู่ภายใต้การปกครองของมองโกล จึงถูกตัดขาดจากกระแสพัฒนาที่เกิดขึ้นในยุโรป จุดประสงค์หนึ่งที่พระเจ้าปีเตอร์มหาราชสร้างเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กก็เพื่อสร้าง “รัสเซียในแบบยุโรป” ปัญญาชนรัสเซียในยุคถัดมาต้องการสลัดทิ้ง “ความเร้นลับ – ความโบราณล้าหลังของรัสเซีย” เพื่อไปสู่ “หลักการเหตุผล – ความเจริญทันสมัยของยุโรป” ในหนังสือ The Monsters (1750) ของ Sumarokov ตัวละครเอ่ยอย่างผิดหวัง “Why was I born a Russian?” ในงานเขียนของ Fonvizin เรื่อง The Brigadier (1769) ตัวเอกกล่าวว่า “anyone who has ever been in Paris has the right not to count himself a Russian any more.” จนถึงต้นศตวรรษที่ 19 ในสมัยปุชกิน รัสเซียยังไม่มีนักเขียนเอกในระดับนานาชาติ ไม่มีวรรณกรรมชั้นยอดเหมือนประเทศยุโรปตะวันตก พวกเขาไม่ได้มองยุโรปเป็นแค่สถานที่ทางกายภาพ แต่มองเป็น Cultural Ideal ที่อยากไปให้ถึง

จุดเริ่มต้นทางวัฒนธรรมหลายอย่างของรัสเซียมาจากยุโรป ไม่ว่าจะเป็นบทกวี, ดนตรี, มหาวิทยาลัย ล้วนเกิดจากปัญญาชนของรัสเซียที่เดินทางไปศึกษาในยุโรปแล้วนำกลับมาบุกเบิก ไฟเจสเขียนได้ถูกต้องว่าศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของรัสเซีย เช่น ปุชกิน (ซึ่งเขียนบทกวีบทแรกในวัยแปดขวบด้วยภาษาฝรั่งเศส), ตอลสตอย, ตูร์เกเนฟ, ไชคอฟสกี้, สตราวินสกี้ ต่างได้รับการศึกษาวัฒนธรรมตะวันตกจากรัสเซีย พวกเขาตระหนักถึงความเป็นส่วนหนึ่งของ “European Civilization” ผลงานยิ่งใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นได้เพราะพวกเขาเป็นทั้งรัสเซียและยุโรปในคนเดียวกัน

อย่างไรก็ตามจุดสำคัญที่ทำให้รัสเซียเริ่มสงสัยและตั้งคำถามต่อยุโรป คือการปฏิวัติฝรั่งเศส ปี 1789 ซึ่งเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในยุโรปเริ่มสั่นคลอน ตามมาด้วยเหตุการณ์ปี 1812 ที่กองทัพฝรั่งเศสภายใต้การนำของนโปเลียนต้องล่าถอยจากรัสเซีย ในครั้งนั้นทำให้เกิดกระแสการกลับคืนสู่ “ความเป็นรัสเซีย” ปัญญาชนเริ่มสนใจรากเหง้าของตนเอง เราได้เห็นความพยายามของกลุ่มคีตกวี “Mighty Five” ที่ใช้ดนตรีพื้นเมืองเข้ากับดนตรีคลาสสิค ในศตวรรษที่ 19 เกิดกลุ่ม Slavophile ที่มองสังคมยุโรปว่าเสื่อมโทรมทางศีลธรรม เจริญทางวัตถุแต่ขาดความลุ่มลึกของจิตใจ มีเพียง “จิตวิญญาณรัสเซีย” ที่จะช่วยรักษากอบกู้โลก (เห็นได้จากงานเขียนของดอสโตเยฟสกี้)

สองบทสุดท้ายของหนังสือคือบท “Russia Through the Soviet Lens” และ “Russia Abroad” กล่าวถึงศตวรรษที่ 20 ของรัสเซีย ซึ่งก็หนีไม่พ้นผลกระทบจากการเมืองต่อศิลปิน ผมเพิ่งทราบว่าก่อนฉายหนัง “Alexander Nevsky” ไอเซนสไตน์ถูกสตาลินเรียกเข้าพบเพื่อดูตัวอย่างหนัง เขาลืมฟิล์มส่วนหนึ่งไว้ แต่สตาลินดูแล้วชอบ ไม่มีใครกล้าบอกสตาลินว่าไม่ครบทุกส่วนของหนัง และจำต้องออกฉายในแบบที่ไม่ครบ .. กวีและนักเขียนจำนวนมากในรัสเซียที่ต้องเสียชีวิตในยุคสตาลิน นักเขียนอย่างซอชเชนโกได้รับจดหมาย 6,000 ฉบับในปีเดียวจากผู้อ่านทั่วรัสเซียที่เขียนมาปรึกษา หลายคนระบายความในใจอยากฆ่าตัวตายจากสภาพกดดันทางสังคม

ผมดีใจที่เห็นไฟเจสเขียนถึงยอดผู้กำกับหนัง “อังเดร ทาร์คอฟสกี้” เพราะส่วนตัวผมคิดว่าเขาเป็นคนทำหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา เขาเขียนถึงแง่มุมของหนัง Solaris, Andrei Rublev และ Stalker..

ประวัติศาสตร์รัสเซียต้องผ่านความทุกข์ยากทรมานอย่างแสนสาหัส แต่พวกเขาได้รังสรรค์สิ่งวิเศษให้กับโลกอย่างมากมาย การเมืองผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ส่วนศิลปะเป็นสิ่งที่ยืนยาวคงทนต่อกาลเวลา หนังสือเล่มนี้มอบความรื่นรมย์ให้กับผมมากทีเดียว ไฟเจสเขียนถึงกวี, นักเขียนนวนิยาย, คีตกวี, จิตรกร, ผู้กำกับหนัง เขาอ่านหนังสือเยอะ รอบรู้ สามารถสอดแทรกเกร็ดประวัติได้อย่างน่าอ่าน แม้หลายอย่างผมรู้มาก่อนแล้ว แต่การอ่านหนังสือที่เชื่อมโยงกันเช่นนี้ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เปรียบเหมือนจดจำทำนองซิมโฟนีของชอสตาโควิชได้หลายๆท่อน แต่ย่อมดีกว่าถ้าได้ฟังซิมโฟนีตั้งแต่ต้นจนจบ หนังสือ “Natasha’s Dance” ก็เปรียบดั่งซิมโฟนีชิ้นนั้น กับการตีความโดยวาทยกรที่ชื่อ “Orlando Figes”


Create Date : 17 เมษายน 2552
Last Update : 17 เมษายน 2552 19:11:28 น. 0 comments
Counter : 991 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

BlueWhiteRed
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Friends' blogs
[Add BlueWhiteRed's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.