ถวายคืนพระราชอำนาจ – ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ : คิดให้ดีก่อนเทใจ

กระแส “ถวายคืนพระราชอำนาจ – ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” หรือที่เรียกว่า การปฏิรูปการเมืองรอบสองนั้น ช่างเป็นคำตอบที่เหมาะสมลงตัวยิ่งสำหรับ “จุดหมาย” ในกระบวนการ “ไล่ทักษิณเพื่อแผ่นดินไทย” ที่ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพยายามต่อสู้ปลุกปั้นขึ้น

ทั้งนี้เนื่องจากที่แล้วมา “เป้าหมาย” ของการออกมาไล่นายกนั้นเป็นไปด้วยความไม่ชัดเจน และนำไปสู่คำถามที่ใครๆก็ตอบยาก คือ “ถ้านายกลาออก ยิงตัวตาย หรือหนีออกนอกประเทศ แล้วจะให้ใครเป็นนายก แล้วจะทำอย่างไรต่อไปกับประเทศไทย?”

ผมเชื่ออย่างยิ่ง ว่า ถ้าใครสักคนถือไมค์ไปที่สวนลุมในวันศุกร์ แล้วไปถามว่า “หากทักษิณลาออก คุณอยากเห็นใครเป็นนายก” เชื่อว่าคำตอบส่วนใหญ่จะเป็นการอึกๆอักๆ ไม่รู้จะออกไหนดี เพราะการไล่นายกหลังการเลือกตั้งใหญ่ไม่ถึงปีนั้นมันเร็วไปจนกระทั่งทางฝ่ายค้านเองก็ยังไม่สามารถปั้นตัวแข่งขึ้นมาได้ทันในขณะนี้

ดังนั้นการชูธง “ถวายคืนพระราชอำนาจ – ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” จึงเป็นการเสนอทางออกที่ชาญฉลาด เพราะนอกจากจะฟังดูดีสมเป็นข้าแผ่นดินนักจงรักภักดีแล้ว ยังสามารถ “ซื้อเวลา” ที่จะตอบคำถามไปได้อีกว่าการเมืองหลังจากทักษิณจะเป็นไปในทางใด เพราะต้องรอทั้งกระบวนการถวายคืนพระราชอำนาจ แก้รัฐธรรมนูญเก่าเพื่อการดังกล่าว ยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เตรียมการเลือกตั้ง ฯลฯ ไม่ต่ำกว่าสองปีแหละครับ ถึงได้เห็นหน้านายกใหม่ หรือรูปแบบการเมืองใหม่

แต่แนวทางนี้มันฟังดูดีและซื้อเวลาได้ดีอย่างที่ว่า ประกอบกับมี “นักกฎหมายมหาชน” บางกลุ่ม ที่เชื่อว่าเป็น “บิดา” แห่งกฎหมายมหาชนผู้สมควรยิ่งในการชี้นำทิศทางของรัฐธรรมนูญประเทศ มุ่งจะขายไอเดียการ “ร่างรัฐธรรมนูญโดยอภิชนาชน” (Elite) ของตัวเองอยู่แล้ว เรื่องนี้เลยกลายเป็นการจับมือกันแทคทีมที่เข้าท่าและต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ เหมือนเหยินน้อยกับเอโต้แห่งบาเซโลน่า – คนนึงได้ธงไว้ตอบคนเวลาไล่ทักษิณ อีกคนได้ขายไอเดีย ไม่เพลียใจ

ผมอยากให้เราตั้งสติกันนิดหนึ่งก่อนเทใจไปกับข้อเสนอดังกล่าว ที่ฟังดูดี แต่มันจะคุ้มแล้วหรือ ? กับการที่เราจะ “ทิ้ง” รัฐธรรมนูญ (ที่ครึ่งหนึ่งเราเคยเชื่อกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเท่าที่มหาชนจะพึงร่างกันได้) รัฐธรรมนูญที่มาโดยวิธีประชาธิปไตยมากที่สุดครั้งหนึ่ง และเราใช้กันมาแปดปีแล้ว ไปสู่ “รัฐธรรมนูญที่เชื่อว่าดีกว่า” แต่ยังมองไม่เห็น เพราะมีเพียง “ข้อเสนอและกรอบ” จากนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไอ้ที่เห็นจะเป็นรูปธรรมหน่อย ก็คือวิธีการร่าง ซึ่งมุ่งเน้น “ปราชญ์” หรือเฉพาะกลุ่มคนผู้มีปัญญาในสังคมเป็นผู้กำหนด ประชาชนคนไทยมีสิทธิเพียง “เอา” หรือ “ไม่เอา” รัฐธรรมนูญแสนวิเศษที่ปราญช์ท่านร่างขึ้นมา ?

ผมขอเตือนความจำบางอย่างไว้สองสามข้อดังนี้

เราต้องไม่ลืมว่า การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เราไม่ได้เสียเฉพาะรัฐธรรมนูญไป แต่เราจะต้องทิ้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญเดิมไปด้วย และแม้กฎหมายบางฉบับไม่ใช่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญโดยสภาพ แต่มันได้ถูกร่างมาโดยมีพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เช่น กฎหมายก่อตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กร กฎหมายที่อนุวัติการตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายพวกนี้ก็อาจะจะต้องยกร่างใหม่ หรือแก้ใหม่ หากรัฐธรรมนูญใหม่มีหลักการที่เปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวจากจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

นอกจากนี้ แนวบรรทัดฐานต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญก็ดี แนวการดำเนินการขององค์กรรัฐสภาหรือฝ่ายบริหารก็ดี เป็นอันต้องทิ้งไปหมด

การเลิกรัฐธรรมนูญเก่า และจัดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ เรามีงานที่ต้องทำมากมาย และมี “ต้นทุน” กว่าแค่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั้น

และเราต้องไม่ลืมว่า กฎหมายนั้นเป็นศาสตร์ทางสังคม ที่ไม่เหมือนวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่สังคมศาสตร์อื่นๆ ที่อาจทดลองได้ในห้องทดลอง หรือทำโมเดล ตั้งสมการทดสอบ หรือจัดการทดลองกลุ่มเล็กได้ (แบบเศรษฐศาสตร์)

แต่การทดลองทางกฎหมาย มีทางเดียวไม่มีทางเลือก คือการนำกฎหมายนั้นใช้บังคับในสภาพจริง แล้วเก็บข้อมูล ข้อดี ข้อเสีย ช่องว่าง ข้อผิดพลาด ข้อที่เหมือนจะดีแต่ปฏิบัติไม่ได้ ข้อบกพร่องที่คาดไม่ถึง และนำไปสู่การตีความ อธิบาย การอุดช่องว่าง การวางบรรทัดฐานเกี่ยวกับกฎหมายนั้น รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายนั้นเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย

ขอเรียนว่าไม่มีระบบกฎหมายใดในโลกที่สมบูรณ์ทันทีเมื่อยกร่างประกาศใช้ กฎหมายทุกระบบจะต้องผ่านประสบการณ์ในการใช้ และการแก้ไข ตีความ อุดช่องว่าง ยิ่งนาน ยิ่งสมบูรณ์

ดังนั้น มันคุ้มแล้วหรือ กับการที่จะ “ทิ้ง” รัฐธรรมนูญที่เราได้ทดลองในระบบสังคมไทยและประเทศไทยมาเกือบสิบปี ทิ้งไปง่ายๆ ทั้งๆที่เรามี “ผลการทดลอง” อยู่แล้วเต็มมือ – เรารู้ช่องว่างของรัฐธรรมนูญนี้ว่ามีตรงไหน เรารู้ว่ามีข้อความตรงไหนที่กำกวมต้องตีความ เรารู้ว่าจุดใดในรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้แต่ทำไม่ได้ หรือก่อภาระและต้นทุนแก่ประเทศเกินสมควร และเรามีบรรทัดทางรัฐธรรมนูญจากศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรตามรัฐธรรมนูญมากมาย (ดีบ้าง ห่วยบ้าง ไม่เป็นไร อันดีเราเก็บ อันห่วยเราแก้)

แต่กับรัฐธรรมนูญใหม่ เราต้องทิ้งผลการทดลองเหล่านี้ไปแล้วเริ่มใหม่ทั้งหมด... กับเนื้อความของรัฐธรรมนูญที่เราไม่เห็น และยังไม่เห็นในอนาคตอันใกล้ และถึงเห็นแล้วก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า มันจะสงผลดี หรือก่อปัญหาใดๆในระบบการเมืองบ้างหรือไม่ เพราะมันไม่ได้ทดลองใช้งานในสภาพการใช้งานจริง ในสังคมที่ไม่เหมือนใครอย่างประเทศไทย

หากไม่พอใจรัฐธรรมนูญใหม่นี้จะทำอย่างไร ? และประเทศไทยเราจะเข้าสู่กระบวนการทดลองทางรัฐธรรมนูญนี้ต่อไปอีกกี่ครั้ง ?

และที่อยากจะบอกให้ไม่ลืม คือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ก็มาจาก “ต้นตำรับแนวคิด” ของนักวิชาการชั้นบรมครูท่านดังกล่าวนั่นเอง ที่เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง Constitutionalism: ทางออกของประเทศไทย ไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยข้อเสนอหลักของบรมครูท่านนั้น คือข้อเรียกร้องให้สร้าง “รัฐบาลที่เข้มแข็ง” แก้ไขความอ่อนแอของรัฐบาลระบบเก่าที่เรียกว่ารัฐบาลผสม (coalition government) ที่มีพรรคการเมืองหลายพรรคมาร่วมให้การสนับสนุนทำให้รัฐบาลผสมขาดนโยบายหลักของรัฐบาลที่ชัดเจนและแน่นอนเพราะรัฐบาลผสมจำเป็นรอมชอมในเรื่องของนโยบายและผลประโยชน์ทางการเมืองกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ความจำเป็นดังกล่าวไม่เพียงแต่จะทำให้นโยบายของรัฐบาลขาดความเป็นเอกภาพและชัดเจนเท่านั้น แต่ยังทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลไม่มีความแน่นอน... ที่เหลือโปรดหาอ่านเอาได้จากห้องสมุดกฎหมายใกล้บ้านท่าน

ในตอนนั้น แนวความคิดของบรมครูท่านนั้นได้รับการยอมรับอย่างมากในแวดวงวิชาการกฎหมายมหาชน นักศึกษากฎหมายมหาชนทุกคนต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ และเล่มอื่นๆของท่าน ส.ส.ร. ในสมัยนั้นได้นำแนวความคิดของท่านไปใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (ปี ๒๕๔๐) จนกระทั่งปรากฏแนวทางการร่างไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญจนถึงทุกวันนี้

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันร่างและประกาศใช้เสร็จใหม่ๆ นักกฎหมายในแวดวงของท่านบรมครู ต่างออกมาแซ่ซ้องสรรเสริญว่าท่านนี่แหละที่เป็น “บิดา” ผู้ทรงคุณยิ่งต่อการปฏิรูปการเมืองไทย

แต่ในวันนี้ เราได้ผลการทดลองออกมาแล้วว่า แนวทางการสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งของท่านนั้น ก่อให้เกิด “อสูร” ที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ขึ้น ตั้งแต่นั้นมา ขบวนการทวงบุญคุณประเทศก็เงียบเป็นเป่าสาก ไม่มีใครกล้าพูดถึง “ต้นตำรับแนวคิด” ที่ทดลองกันจนเป็นอสูรร้ายออกมาได้นี่กันอีกเลย

และผมขอแจ้งว่า ท่านบรมครู และนักวิชาการกลุ่มเดิมนั่นแหละครับ ที่เป็นผู้เสนอให้ “ถวายคืนพระราชอำนาจ – ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (โดยอภิชนาชน)”

ผมได้แต่เกาศีรษะ ว่า ปู่ๆ น้าๆ เขาจะทดลองทางนิติศาสตร์กับประเทศผมไปอีกเท่าไร ... ถ้าผมไม่เป็นอะไรตายไปในเร็ววัน ผม และคนรุ่นผมนี่แหละที่จะต้องเป็น “หนู” ทดลองให้ท่าน

ผมไม่ได้บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดีแล้ว เลิศแล้ว ไม่ควรแก้ไข
ผมมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทดลองมาแปดปี พบข้อเสียจำนวนมาก พอๆกับข้อดี และเป็นเวลาอันสมควรที่เราจะแก้ไขกันได้แล้ว

แต่นั่นหมายถึงการแก้ไขในจุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นจุดๆ และพัฒนาในจุดอื่นๆด้วย บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญเดิม ที่เคยผ่านการทดลองมาแล้วอย่างโชกโชนในสภาพการเมืองไทย เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่แก้ปัญหาของประเทศมากขึ้น

ผมยินดีที่จะช่วยสนับสนุนข้อเสนอของฝ่ายใดก็ตาม ที่เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างเป็นระบบ มีการวิจัยผลดีผลเสีย และนำเสนอแนวทางแก้ไข รวมทั้งอาจจะยกร่างแก้ไขเป็นตุ๊กตามาให้นักวิชาการ ผู้รู้ ประชาชนผู้สนใจถกกัน แก้กันว่า ข้อเสนอนั้นจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพียงไร และอาจจะก่อปัญหาใดๆเพิ่มหรือไม่

ดีกว่าการชี้นิ้วอย่างกราดเกรี้ยวว่ารัฐธรรมนูญนี้เลวทั้งฉบับ ล้มเหลวอย่างช่วยไม่ได้ สมควรเผาทิ้งแล้วเชิญปราชญ์ๆ มาร่างกันใหม่

ดีกว่าการชี้หน้าประชาชนว่า มึงโง่ก็อย่ามายุ่ง ให้เราคนฉลาดร่างกัน เดี๋ยวเสร็จแล้วค่อยมาดูว่าจะเอาหรือไม่เอา


ผมขอย้ำด้วยประโยคเดิมๆอีกครั้ง

แล้วจะทดลองเชิงนิติศาสตร์กันอีกกี่ที กับประเทศไทยของผม ?




 

Create Date : 28 พฤศจิกายน 2548   
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2548 9:58:20 น.   
Counter : 759 Pageviews.  

๓๖ แผนที่ชีวิตพ่อ –: เมื่อความจงรักภักดีตกเป็นเหยื่อ


ชี้แจง : ผมเขียนบทความเรื่องนี้เพื่อโพสต์เป็นกระทู้ในพันทิปไปในราวต้นเดือนกันยายน จากนั้นผมได้ทราบข่าวว่า กรณีคำ
สอนต้องสงสัยนี้ กลายมาเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกแล้ว เมื่อมูลนิธิคิงพาวเวอร์ ได้นำข้อความดังกล่าวมาพิมพ์เป็นใบแทรกไปกับสายรัด
ข้อมือ “เรารักพระเจ้าอยูหัว” จำนวนหนึ่งล้านเส้น (และแน่นอนว่าข้อความดังกล่าวก็ถูกเผยแพร่ไปหนึ่งล้านสำเนาด้วย) ผมจึงนำบทความ
นี้มาปรับปรุงแก้ไขอีกครั้ง เพื่อนำลงในเวบไซต์และลงในบล๊อก



            
มันเริ่มมาจากที่ใครสักคน คัดลอกแนวคิดในหนังสือแนวข้อคิดชีวิตฝรั่ง เล่มหนึ่ง (หนังสือ และตัวอย่างคำสอนปรากฎท้ายบทความฉบับนี้) รวมไว้สามสิบหกข้อ แล้วตั้งชื่อว่า “๓๖ แผนที่ชีวิตพ่อ”

จากนั้นด้วยการใดไม่ปรากฏ ข้อความนั้นกลายเป็นอีเมล์ที่ฟอร์เวิร์ดโต้ตอบไปมา และเมื่อใครสักคนอุตริไปเติมชื่ออีเมล์เป็นว่า “๓๖ แผนที่ชีวิตพ่อหลวง” เรื่องก็พลันบิดเบี้ยวแบบน่าใจหาย และล่าสุด ด้วยฝีมือของผู้ใดและเจตนาใดไม่ปรากฏก็กลายมาเป็น “๓๖ แผนที่ชีวิตพ่อหลวง – พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
            
จากนั้นความบิดเบี้ยวดังกล่าวก็บานปลายออกไปทุกที ทางหนึ่ง ฟอร์เวิร์ดเมล์ดังกล่าว (ที่เติมความจนกลายเป็นพระราชดำรัสแล้ว) ถูกนำ ไปใช้เพื่อโฆษณาจูงใจของกิจการขายตรงแบบหาลูกข่ายหลายแห่ง ด้วยในข้อความดังกล่าว มีหลายข้อที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจการนั้น เช่น
“คนไม่รักเงิน คือคนไม่รักชีวิต” หรือ “ดวงดาวอยู่สูง ถ้าอยากเก็บต้องหาบันไดสูงมาปีนป่าย” ซึ่งเข้ากับแนวคิด ของธุรกิจที่มุ่งเน้นเงินเป็นใหญ่ หรือการตะกายขึ้นที่สูงด้วย “วิธีการ” บางอย่าง บางก็ถึงกับนำไปพิมพ์ลงในหนังสือของ หน่วยงาน ขององค์กรตนเอง

ทางที่สอง มีผู้นำข้อความดังกล่าวไปพิมพ์เป็นโปสเตอร์ พร้อมพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จย่าบ้าง กับสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ บ้าง จำหน่าย หรือเผยแพร่เพื่อการบูชาเยี่ยงวัตถุมงคล – โปรดดูตัวอย่าง

36 คำสอนของพ่อ (ใคร?)


ความบิดเบี้ยวที่บานปลายนี้ ดูสมจริงสมจัง ถึงขนาดมีข้อความดังกล่าวปรากฏในเวบไซต์เป็นทางการของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสารสนเทศของประเทศ – กรมประชาสัมพันธ์ ! (ปัจจุบันทราบว่าลบไปแล้ว) หรือแม้แต่ในโรงเรียนที่ชื่อว่าโรงเรียนในวัง ยังมีผู้ปกครองนักเรียนท่านหนึ่งหยิบใบปลิวข้อความดังกล่าวที่เผยแพร่กันมาฝากผมให้ขนหัวลุกเล่น
 
หรือหลายๆท่าน คงเห็นได้ว่าในอินเทอร์เน็ทก็ดี ในกล่องจดหมายท่านก็ดี ล้วนแต่มีข้อความนี้ส่งกลับไปกลับมา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้จะมีผู้ไม่ดูดายกลุ่มหนึ่ง ได้อุตส่าห์ตรวจสอบทวนกลับไปที่สำนักพระราชวังแล้ว ว่าข้อความดังกล่าวมิใช่พระราชดำรัสจริง แต่ก็หาได้หยุดการแพร่กระจายของข้อความนี้ได้ เรายังพบอยู่เสมอในเวบบอร์ด ที่มักจะมีคนนำข้อความมาตั้งกระทู้ไว้ ในบล๊อก ในใบปลิวโฆษณา และ เมล์ดังกล่าวก็มิได้หยุดฟอร์เวิร์ด

และที่บานปลายเลยเถิดที่สุด ก็คงจะเป็นกรณีที่มูลนิธิคิงพาวเวอร์ ผู้จัดทำสายรัดข้อมือ “เรารักพระจ้าอยู่หัว” ออกจำหน่ายถวายและนำรายได้ที่ไม่หักค่าใช้จ่าย นำถวายเป็นพระราชกุศล แต่ด้วยความไม่รู้หรือมิได้ตรวจสอบ ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิคิงพาวเวอร์ ได้นำข้อความสิบเก้าข้อจากสามสิบหกข้อนั้น มาจัดพิมพ์เป็นใบปลิวพระราชดำรัส ข้อคิดในการดำรงชีวิต แนบไปกับสายรัดข้อมือนั้นด้วย เกิด เป็นกรณีถกเถียงกันขึ้นมา จนต้องมีผู้สอบทานไปยังสำนักพระราชวังอีกรอบ และได้รับคำตอบยืนยันว่า ข้อความดังกล่าวมิใช่พระราชดำรัส รวมทั้งทางเวบพันทิปเองก็มีเอกสารยืนยันจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องด้วยว่าข้อความดังกล่าวมิใช่พระราชดำรัส แต่กระนั้นจนถึงวันนี้ มูลนิธิคิงพาวเวอร์ก็มิได้ออกมาชี้แจงหรือแก้ความเข้าใจผิดดังกล่าวแต่อย่างใด


แม้จะมีผู้สอบทานกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง
            
แม้จะมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร
            
แต่ข้อความ “ข้อคิดชีวิตพ่อ (ของใคร ?)” นี้ก็ไม่เคยหยุดการแพร่กระจายของมัน
ยิ่งกว่าวิดิโอซาดาโกะ หรือไวรัสริง            

ปรากฏการณ์ดังกล่าวอธิบายอะไรได้บ้าง ?

           
สังคมไทย เป็นสังคมที่มีความจงรักภักดีอย่างสูงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากที่สุดประเทศหนึ่งที่ยังมีพระมหากษัตริย์อยู่ ทั้งนี้เป็นความจังรักภักดีที่ยั่งยืนเนื่องมาจากพระคุณของพระมหากษัตริย์ มิใช่พระเดชหรือเพราะความเกรงกลัว เป็นความจงรักภักดีที่บริสุทธิ์จากดวงใจ

ดำรัสใดขององค์พระมหากษัตริย์ จึงเป็นวจีศักดิ์สิทธิ์ที่อาจรับไว้ปฏิบัติเหนือเศียรเกล้าได้ทันที โดยมิจำต้องตั้งข้อสงสัย แนวพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ก็เป็นเส้นทางมงคลที่สามารถเดินตามได้ แม้ความนิยมส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนควรรับไว้พิจารณาด้วย (เช่นการเลี้ยงสุนัขพันธุ์ทาง หรือสุนัขเร่ร่อน)

แต่กระนั้นก็ยังมีผู้มีมโนทุจริต อาศัยเหตุอันตนได้รู้ว่าสังคมไทยมีลักษณะเช่นนั้น สังคมไทยที่พร้อมจะเชื่อและดำเนินรอยตามแนวของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์โดยทันที และอาศัยคุณลักษณะนี้ เพื่อการเก็บเกี่ยว “ประโยชน์” อันน่าละอาย ไม่ว่าจะเป็น ประโยชน์ทางการเงิน ทางด้านชื่อเสียง อำนาจ ความนับถือยำเกรง

ในสังคมไทยอันซับซ้อน นอกจากมี “ผู้จงรักภักดี” ผู้รักและศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสุดหัวใจโดยสุจริต แล้ว
ยังมี “นักจงรักภักดี” ที่อาศัย “ความจงรักภักดี” ของคนกลุ่มแรกเป็นเครื่องมือด้วย

กรณี ๓๖ แผนที่ชีวิตพ่อ คือกรณีศึกษาที่ดีของเรื่องนี้ การพยายามทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ข้อคิดทั้งสามสิบหกข้อนั้น เป็นข้อคิดที่เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการสร้าง "มูลค่าเพิ่ม” ต่อข้อความดังกล่าว เป็นการใส่ความน่าเชื่อถือโดยวิธีลัด – ลองคิดดูว่า หากข้อความดังกล่าวเป็นเพียง “๓๖ แผนที่ชีวิต ของนายโดนัล แมกเกรเกอร์” (นามสมมติ) เช่นนี้ ข้อความดังกล่าวจะแพร่หลายในวงกว้างเช่นนี้หรือไม่ ? และใครจะรู้ ว่าอาจจะมีใครสักคนที่เชื่อในข้อความที่ว่า “คนไม่รักเงิน คือไม่รักชีวิต” ทิ้งงานประจำที่เงินเดือนน้อยนิดไปเข้าสู่วงจรขายตรงของธุรกิจดังว่านั้น

(อันที่จริง หากใครศึกษาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงของเราดีๆ ก็คงจะแน่ใจได้ว่า คำพูดประเภท “คนไม่รักเงิน คือไม่รักชีวิต” ไม่มีทางที่จะเป็นพระราชดำรัสได้แน่)

หรือกรณีศึกษา ที่ “ความจงรักภักดี” ตกเป็นเหยื่อของผู้หาประโยชน์อันมิชอบ ก็ได้แก่การปล่อยข่าวลือในวงการต้นไม้ว่า สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ได้พระราชทานนามใหม่ให้แก่ต้นลั่นทมเป็นต้น “ลีลาวดี” ซึ่งข่าวลือดังกล่าวสร้างมูลค่าเพิ่มให้ต้นลั่นทมจนกลายเป็นต้นไม้ในกระแส ขายดิบขายดี พ่อค้าต้นไม้สบายกระเป๋า เพราะใครก็อยากปลูกต้นไม้มงคลที่ได้รับพระราชทานนามใหม่ จากสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ กันทั้งนั้น

กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่ ไม่จริง ก็มีคนได้เงินจากความเข้าใจผิดกันไปแล้ว

และไม่นับการแอบอ้างใกล้ชิดราชวงศ์ชั้นสูงเพื่อสร้างความยำเกรงในอินเทอร์เน็ท อย่างกรณีพิพาทคุณน้ำอบเมื่อหลายเดือนก่อน

ผู้เขียนอยากให้กรณีศึกษา ๓๖ แผนที่ชีวิตพ่อ เป็นบทเรียนให้แก่ผู้จงรักภักดีทั้งหลายในการตั้ง “สติ” ในการรับสื่อที่มีการอ้างถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของเรา

ผู้เขียนไม่ได้เจตนาให้ท่านตั้งข้อสงสัยใน “เนื้อความ” แต่อยากให้เรามีสติในการพิจารณา “ที่มา” ของข้อความดังกล่าว ว่ามีที่มาที่สามารถอ้างอิงได้หรือไม่ และอยากให้ใช้ความระมัดระวังในการ “ถ่ายทอดต่อ” อีกด้วย แม้การถ่ายทอด
ข้อมูลที่ผิดพลาดมิได้กระทำโดยเจตนาร้าย แต่มันก็อาจส่งผลเสียต่อบุคคลอื่น และยังเป็นการไม่บังควรอีกด้วย

เราควรตั้งสติให้ดี กับข้อความที่อ้างว่าเป็นพระราชดำรัส พระราชดำริ ที่มีที่มาไม่แน่ชัด เช่นปรากฏในใบปลิว ในฟอร์เวิร์ดเมล์ในเวบไซต์ หรือมีคนเล่ามา มีคนพูดว่า มีกระแส มีคนได้ยินมา ฯลฯ สื่อดังกล่าวไม่สามารถยืนยันได้ และเราไม่ควรปักใจเชื่อ และไม่ควรอย่างยิ่งในการถ่ายทอดต่อ จนกว่าจะยืนยันได้

แต่ถ้าเป็นพระราชดำรัส พระราชดำริ พระบรมราโชวาท ที่มีที่มาแน่นอน เช่น จากประกาศสำนักพระราชวัง หรือมีการอ้างว่าพระราชดำรัสดังกล่าวได้พระราชทานไว้ที่ไหน เมื่อไร ในวโรกาสใด เช่นนี้เป็นข่าวสารที่พึงเชื่อถือได้ และสมควรอย่างยิ่งที่จะรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมไว้พิจารณาและปฏิบัติตาม

เราต้องช่วยกัน เพื่อมิให้ผู้ทุจริตอาศัยความจงรักภักดีของปวงเราชาวไทย เป็นเครื่องมือในการหากประโยชน์อันมิบังควรอีก

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งว่า “๓๖ แผนที่ชีวิตพ่อ” รวมทั้ง “ข้อคิดในการดำรงชีวิต” ที่แนบมาพร้อมกับสายรัดข้อมือเรารักพระเจ้าอยู่หัวของมูลนิธิคิงพาวเวอร์ มิใช่พระราชดำรัส กรุณาอย่าเผยแพร่ต่อ ใครมีก็ขอให้ทำลายทิ้ง หรือทำประการใดมิให้เกิดความเข้าใจผิดต่อไปเถิดครับ




 

Create Date : 24 ตุลาคม 2548   
Last Update : 24 ตุลาคม 2548 1:22:27 น.   
Counter : 1066 Pageviews.  

..Qu'il ait dit au premier ministre ???

คิดว่าชีรักพูดอะไรกับทักษิณครับ...





 

Create Date : 12 ตุลาคม 2548   
Last Update : 12 ตุลาคม 2548 9:00:06 น.   
Counter : 670 Pageviews.  

ประกาศยุติการพูดเรื่องการเมืองในบล๊อก

เนื่องจากสภาวะปัจจุบันกำลังเกิดวิกฤตการณ์แทรกแซงสื่อมวลชน

และการแทรกแซงสื่อปัจเจกชนด้วยอำนาจมืดตะลึ๊ดตื๋ออย่างเหี้ยมโหด

การแทรกแซงเนื่องมาจากกระแส “เกลียดทักษิณ – ด่าทักษิณ เพื่อแผ่นดินไทยของเรา (ตะล้าม ตะลาม)”

ในปัจจุบัน การ “ไม่ด่า” ทักษิณ ไม่ทำตัวอยู่ตรงข้ามรัฐบาลถือเป็นเรื่องผิด, เป็นคนขายตัว หรือเห็นแก่ตำแหน่งหน้าที่ เป็นลูกหาบ เป็นผู้ไม่จงรักภักดี หรือเป็นอะไรต่อมิอะไร แม้แต่ข้อหา “อยากดัง”

อย่าว่าแต่คนกระจอกๆ อย่างผมเลย ขนาดคนเคยมีคุณงามความดีและความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่ประจักษ์ เช่นท่านอาจารย์ธงทอง ยังโดนเข้าไปมิใช่น้อย

ส่วนนายกระจอกกระผมเอง มีตั้งแต่การไปลากคนจากเวบผู้จัดการมาช่วยด่าในบล๊อก ด่ากันถึงบุพการี หรือที่งี่เง่า คือพยายาม Hint ว่า รู้จักชื่อนามสกุลจริง รู้จักพ่อรู้จักแม่ผมนะว้อย ระวังปากด้วย (ก็ไอ้คนที่ใช้ชื่อเป็นหมาของพ่อผมที่ตายไปตั้งแต่ก่อนผมเกิดนั่นแหละครับ)

รวมทั้งผู้ประสงค์ดี๊.... ประสงค์ดี อุตส่าห์ลำบากลำบนก๊อปปี้ข้อความในบล็อก ไปโพสต์ไว้จนเต็มเวบผู้จัดการในช่วงเวลาหนึ่ง

ทางเวบผู้จัดการก็ใจดี๊... ใจดี ช่วยลบข้อความที่มาจากบล๊อกผมออกไปหมด โดยทิ้งไว้แต่ข้อความที่ด่าพ่อล่อแม่ผม ให้คนมาจินตนาการเอาเองว่าข้อความของผมน่าจะหยาบช้า ป่าเถื่อน ลบหลู่สถาบันจนนักจงรักภักดีทั้งหลายทนมิด๊าย มิได้

ถกกัน หรือด่ากันในเนื้อหา ผมไม่ว่าดอก แต่เล่นแบบนี้มันน่าอดสู ว่าเดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างไรกันไปหมด...

ตรงกันข้าม ใครก็ตาม เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล

ไม่ว่าจะมีอดีตมาอย่างไร
เช่น แต่ก่อนก็เป็นแค่สื่อที่เชียร์รัฐบาลแหลก หรืออดีตนักการเมืองที่ไม่ได้มีประโยชน์ดีเด่อะไร
หรืออดีตไดโนเสาร์ที่คนด่ากันทั้งเมือง

ก็พลันเป็นคนดี คนกล้า คนที่ควรเชิดชูไปได้
ดังเช่นนักจงรักภักดีหลายๆคน ที่ร้อยวันพันปี ชั่วไม่มี ดีไม่ปรากฎ (หรือบางคนประวัติอย่างเฟะ) ก็กลายเป็นอัศวินผู้ปกป้องราชบัลลังก์

โอ้ว... พระเจ้านโปเลียน มันเลี่ยนมาก ...

ในสภาวะทิ่สิทธิเสรีภาพในการ “ไม่ด่า” นายก เป็นเรื่องพึงต้องริดรอน

ผมจึงต้องทบทวนบทบาทของตัวเองใหม่

ในเมื่อผมไม่คิดด่านายกในตอนนี้ และไม่มีโครงการจะด่าในอนาคตอันใกล้

ตราบใดที่ผมมองไม่เห็นภาพ ว่าหากทักษิณมีอันถูกไล่ออกจากประเทศไปวันนี้พรุ่งนี้
ประเทศที่ “ไม่สมดุลย์” นี้จะมีทิศทางที่ดีขึ้นได้อย่างไร ?
ผมมองไม่เห็น ทั้งตัวคน และวิธีการ

ผมคิดว่า มันเปล่าประโยชน์ ที่จะถอดเสื้อที่สกปรกออก
เพื่อจะแก้ผ้าในหน้าหนาว
แทนที่จะพยายาม “ซักให้สะอาด” หรือ “หาเสื้อตัวใหม่มาใส่”


ตราบใดที่การพูดคุยเรื่องการเมืองยังมีพื้นฐานอยู่บนความเกลียดชัง และความสะใจ (เหมือนการดูมวยปล้ำ อะไรเทือกนี้)
ผมจึงเห็นว่า ไม่ใช่ภาวะอันควรต่อการพูดเรื่องการเมือง
เพราะพูดไปก็ไม่มีใครอยากฟัง

ผมเลยขออนุญาต “กระแดะ” เหมือนคอลัมนิสต์บางคนที่อยากปิดคอลัมน์ของตัวเองอยู่แล้ว แต่มาบีบน้ำหูน้ำตาว่าถูกอำนาจเถื่อนบีบให้ปิด โอ้ววว น่าสงสารเสียกระไร

ปิดส่วนการพูดคุยถึงเรื่องการเมืองอย่างชั่วคราว

ส่วนบทความเก่าๆ ท่านสามารถเข้าไปอ่านได้ในกลุ่มบล๊อก “ฉันรักนายกฯ” โดยใช้รหัสผ่าน “ilovetaksin”

ถือเป็นการกลั่นแกล้งเล็กๆน้อยๆจากผมแล้วกันนะครับ ท่านผู้ชม

สุดท้ายนี้ ผมขอให้ทุกท่าน “ติดตามการเมืองอย่างมีสติ” และ “ตำหนิอย่างมีเมตตา” ครับ.

บุญชิต ฟักมี
19 กันยายน 2548




 

Create Date : 19 กันยายน 2548   
Last Update : 19 กันยายน 2548 16:48:02 น.   
Counter : 696 Pageviews.  

ไปดูแผ่นป้ายพ่ายสมรภูมิที่ประตูชัย

ประตูชัย หรือ Arc de triomphe บนถนนชอง เอลิเซส์ ในกรุงปารีสนั้น สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิ์นโปเลียน เพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหารผู้กล้า และเพื่อฝังศพทหารนิรนาม และเป็นที่ระลึกแด่ชาวฝรั่งเศสที่ต่อสู้เพื่อสาธารณรัฐ และเสียชีวิตในสงครามต่างๆ

ฐานของประตูชัย จะมีแผ่นป้ายโลหะ เขียนข้อความระลึกถึงสงคราม (La guerre) และการสู้รบ(Les combattants) ต่างๆ ที่คร่าชีวิตชาวฝรั่งเศส

หนึ่งในแผ่นป้ายนั้น มีแผ่นหนึ่งจารึกว่า “Aux combattants d’indochine la nation reconnaisante” แปลว่า “แด่การสู้รบที่อินโดจีน ประเทศชาตินั้นยังระลึกถึง”



หลายคนอาจจะมองผ่านๆไป และแม้แต่คนไทยที่ไปเที่ยวที่ประตูชัย คงจะเพ่งเล็งกับการไปถ่ายภาพนครปารีสจากบนประตูชัย ไปชมว่าทำไมถึงเรียกจัตุรัสตรงนั้นว่า “จุตรัสดาว” (Étoile) หรือหลายๆคนอาจจะตะลึงกับศิลปะอันงดงามของการก่อสร้างประตูชัย

แต่สำหรับผม แผ่นป้ายโลหะขนาดไม่โตนักนี้มีคุณค่ามหาศาลในการ “ระลึกถึง” ว่านี่แหละ คือหลักฐานสำคัญหนึ่งในสองชิ้น ที่เป็นที่ระลึกถึงความกล้าหาญของทหารไทย !!!

คุณทราบหรือไม่ครับ ว่าหลักฐานอีกชิ้นอยู่ที่ไหน

ไม่ใกล้ไม่ไกลครับ เพราะเราก็ใช้ที่นั่นเป็นเสมือนจัตุรัสดาวของกรุงเทพฯเช่นกัน และหลายท่านอาจจะต้องไปต่อรถเมล์ หรือรถไฟฟ้ากันที่นั่นด้วย

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิครับ ...



อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และแผ่นป้าย (พ่ายสมรภูมิ) ที่ประตูชัย คือพยานที่บอกเราว่า ครั้งหนึ่ง สยามเคยรบชนะฝรั่งเศส และปลดปล่อยดินแดนอินโดจีนที่เคยเป็นของไทย กลับมาสู่แผ่นดินแม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น

สงครามอินโดจีน มีที่มาจาก ปัญหาเรื่องแม่น้ำโขงในฐานะเป็นพรมแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสซึ่งดำเนินมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เนื่องจากฝรั่งเศสไม่ตกลงเรื่องการใช้ร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ฝรั่งเศสเซ็นสัญญาสงบศึกกับเยอรมนีในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ และ สถาปนาเมืองวิชชี่ (Vichy) เป็นเมืองหลวง และมีการปกครองแบบวิชชี่ๆ (Régime vichy) ขึ้นในขณะนั้น ไทยทำสัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศสเพียง ๑๐ วัน ก่อนฝรั่งเศสแพ้เยอรมนี ในการนั้น ประชาชน นิสิต นักศึกษา ต่างเดินขบวนเรียกร้องดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืนจากฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาเครื่องบินรบของฝรั่งเศสบินมาทิ้งระเบิดเมืองนครพนม การรบระหว่างฝรั่งเศสกับไทย จึงเริ่มขึ้น ซึ่งต่อมาเรียกกันว่าสงครามอินโดจีน ฝรั่งเศสโจมตีไทยทางอรัญประเทศด้วย ไทยยกทหารเข้าไปในอินโดจีนทางด้านเขมร

ในการรบทางทะเล เกิดสงครามที่เป็นที่เลื่องลือกล่าวขานถึงความใจสู้ของราชนาวีไทย ที่เรียกว่า “ยุทธนาวีเกาะช้าง” จังหวัดตราด โดยในวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๔ อันเป็นยุทธนาวีครั้งสำคัญยิ่งของกองทัพเรือไทย ในครั้งนั้น ฝรั่งเศสส่งกำลังทางเรือ จำนวน ๗ ลำ เข้ารุกล้ำน่านน้ำไทย บริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด เพื่อจะเข้าระดมยิง หัวเมืองชายทะเลทางภาคตะวันออกของไทย เฉพาะเรือลามอตต์ปิเกต์เพียงลำเดียวก็มีจำนวนปืนและกำลังพลมากกว่ากำลังพลทั้งหมดของกำลังทางเรือไทย ซึ่งประกอบด้วย เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงชลบุรี และเรือหลวงสงขลา ที่รักษาการณ์อยู่บริเวณนั้น แม้ว่าจะเสียเปรียบในด้านกำลังรบเป็นอย่างมาก วีรชนผู้กล้าหาญของเรา ยังมีขวัญและกำลังใจอันเข้มแข็ง ได้เข้าขัดขวางผู้รุกล้ำอธิปไตยของชาติและทำการรบอย่างสุดความสามารถ ยอมสละชีพเพื่อปกป้องมาตุภูมิอย่างองอาจ จนเรือหลวงทั้ง ๓ ลำ จมลงพร้อมกับชีวิตนายทหารและทหารประจำเรือ รวมทั้งสิ้น ๓๖ นาย แต่เป็นที่น่าภูมิใจว่า ด้วยกำลังทางเรือของเราที่รักษาการณ์อยู่นั้น สามารถทำให้กองเรือรบของฝรั่งเศสได้รับความเสียหายอย่างหนัก และในที่สุดต้องล่าถอยออกไปจากน่านน้ำของไทย

หลังจากนั้น ญี่ปุ่นได้เสนอตัวเข้าไกล่เกลี่ย โดยตกลงส่งผู้แทนไปประชุมที่กรุงโตเกียว จาก อนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว ไทยได้ดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงข้ามหลวงพระบางคืน รวมทั้งทางใต้ตรงข้ามปากเซ คือ จัมปาศักดิ์ และดินแดนในเขมรที่เสียให้ฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ คืนมาด้วย

แต่น่าเสียดายว่า หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง และไทยอาจจะต้องเป็นฝ่ายแพ้สงครามเนื่องจากไปเข้ากับญี่ปุ่นทำสงครามรุกรานฝ่ายอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ทำให้ฝรั่งเศสอาศัยข้อนี้บีบบังคับว่า หากไทยไม่อยากเป็นผู้แพ้สงครามแล้ว ต้องคินดินแดนดังกล่าวคืนให้ฝรั่งเศส ทำให้ไทยเสียดินแดนเหล่านั้นกลับไปอีก

อย่างไรก็ตาม อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการสู้รบดังกล่าว

เป็น สัญลักษณ์ของ “ชัยชนะ” ที่ประเทศเล็กๆอย่างไทย มีต่อรัฐฝรั่งเศส (ชื่อในขณะนั้น)

แม้ปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่ลืมเหตุการณ์นี้ไปแล้ว และกว่าครึ่งไม่รู้ว่า อนุสาวรีย์รูปเหล็กขูดชาร์ปกลางพระนครนั้น สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสใด

แต่เมื่อใดก็ตามที่ท่านเห็นอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ...

ขอให้ระลึกถึงความกล้าหาญและเสียสละของบรรพบุรุษไทย

และขอให้รับรู้ว่า ในเหตุการณ์เดียวกันนั้น เราได้อนุสาวรีย์

แต่ฝรั่งเศส ได้เพียงแผ่นป้ายสำแดงความระลึกถึง ที่ทอดตัวบนทางเดินอย่างเงียบเหงา กลางประตูชัย ถนน ชอง เอลิเซส์

...................................................................

ข้อมูลอ้างอิง เกี่ยวกับสงครามอินโดจีน และยุทธนาวีเกาะช้าง
//www.geocities.com/Nashville/Opry/3009/history/048.htm

//kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK4/chapter9/t4-9-l2.htm#sect3

//www.navy.mi.th/sctr/navynews/2548/jan/nvn170148.php

ข้อมูลอ้างอิง เกี่ยวกับการปกครองระบอบวิชชี่

//www.pub-law.net/publaw/view.asp?PublawIDs=720




 

Create Date : 06 กรกฎาคม 2548   
Last Update : 19 กันยายน 2548 16:12:08 น.   
Counter : 2171 Pageviews.  

1  2  3  4  

Players
Location :
Aix-en-Provence France

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Players's blog to your web]