Chapter III : MARC
ทักทายครับ

ช่วงนี้ฟิตครับ ไอเดียกำลังบรรเจิด
*
*
*
ผมว่าน่ะครับ บรรณารักษ์นี่เป็นอาชีพที่ต้องปรับตัวสูงมาก - - และก็ปรับตัวเก่งด้วย

คือ..ต้องตามเทคโนโลยีกับองค์ความรู้ให้ทันว่างั้นเถอะ

ไม่น่าเชื่อน่ะครับที่เมื่อ 10 ปีที่แล้วห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังใช้บัตรรายการกันอยู่เลย (มีใครทันบ้างเนี่ย - - ผมหล่ะคนหนึ่งที่ััทัน เวลาหาหนังสือต้องไปที่ตู้บัตรรายการอันบะเลิ่มเ่ิทิ่ม)

ใครจะนึกหล่ะว่าบรรณารักษ์ที่ดูมีอายุ (ไม่อยากเรียกว่าแก่เลย กลัวเข้าตัว ^_^)ท่าทางเชยๆ สมัยก่อนนั้นจะกลายมาเป็นบรรณารักษ์ที่ใช้คอมพิวเตอร์คล่องเป็นไฟ ช่วยอาจารย์และนศ.ทำวิจัยผ่านทาง MSN ในสมัยนี้ได้

ผมคนหนึ่งหล่ะที่ยังแปลกใจไม่หาย คือแบบว่าไม่น่าเป็นไปได้น่ะครับ ที่บรรณารักษ์ยุคใหม่นี่มันคนละเรื่องกันกับ
บรรณารักษ์สมัยเมื่อ 10 ปีก่อนโน้นลิบลับ

*
*
*
ปัจจุบัน แทนที่เราจะหาหนังสือผ่านตู้บัตรรายการ เราใช้ WebOPAC หาแทน ซึ่งถือเป็น Module หนึ่งในระบบห้องสมุดอัตโนมัติ สามารถหารายการหนังสือผ่านอินเตอร์เน็ต (บางระบบสามารถยืมต่อผ่านเว็บได้ด้วยน่ะครับ - - เน้นแค่ยืมต่อน่ะครับ คือมีหนังสืออยู่ที่ตัวอยู่แล้ว แล้วยังอ่านไม่จบแต่ไม่มีเวลาไปคืนเองที่ห้องสมุด ก็สามารถยืมต่อผ่านเว็บไปได้เลย)

แต่รู้ไหมครับว่าไอ้ระบบห้องสมุดอัตโนมัตินี่มันมีราคาเป็นสิบสิบล้านบาทน่ะครับ

อ่านไม่ผิดหรอกครับ ราคาของระบบห้องสมุดที่เราๆ ท่านๆ ใช้อยู่นี่ราคาอย่างต่ำก็ราวๆ นี้แหล่ะครับ

ไม่รวมค่าบำรุงอีกปีละประมาณร้อยละ 10-12 ถ้าคิดง่าย ๆ ที่ 10 ล้านก็ ปีละ1 ล้าน

อันนี้ผมพูดถึงเฉพาะระบบห้องสมุดฯของต่างประเทศน่ะครับ เช่นพวก INNOPAC หรือ DYNIX ไม่ใช่ระบบฯที่บ.ในประเทศพัฒนากันเอง แล้วราคานี้เป็นราคาที่ผมทราบเมื่อหลายปีมาแล้ว ราคาอาจจะมีเพิ่มหรือลดลงจากนี้ก็ได้

เกิดคำถาม?

ทำไมมันแพงจัง - - นั่นซิน่ะ ทำไมแพงจัง ผมว่าอาจเพราะโครงสร้างของฐานข้อมูลในห้องสมุดมันค่อนข้างซับซ้อน ยอกย้อน ซ่อนเงื่อน ก็ได้ มันเลยเขียนโปรแกรมยาก ทำให้มันราคาสูง

เคยมีนศ.มาคุยเรื่องฐานข้อมูลของห้องสมุดเพื่อเขียนโปรแกรมทำโปรเจ็ค เห็นมาครั้งเดียวแล้วก็หายไปเลย สงสัยพอเจอ tag ใน MARC แค่ tag เดียวก็มึนแล้ว

มันมาอีกแล้วครับคำว่า MARC

คุ้นไหมครับว่าผมเคยเขียนถึงมันแล้ว เมื่อก่อนหน้านี้

แล้วมันคืออะไรหล่ะ?

เริ่มที่คำเต็มของมันก่อนก็แล้วกัน MARC มาจากคำว่า Machine Readable Cataloging

ถ้าให้แปลตามตัวก็คือการลงรายการหนังสือที่เครื่องจักรกลสามารถอ่านได้

เครื่องจักรกลในที่นี้ก็คือคอมพิวเตอร์นั่นเอง

การที่ต้องมี MARC ก็เพื่อที่เป็นมาตรฐานสำหรับคอมพิวเตอร์ต่างประเภทกันสามารถใช้หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลทางบรรณานุกรมของทรัพยากรสารสนเทศระหว่างกันได้นั่นเอง

ถ้าคุณใช้ WebOPAC เป็นลองเข้าไปใน WebOPAC ของมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในประเทศไทยซิครับ เวลาเราหาหนังสือ นอกจากจะมีการแสดงรายละเอียดทางบรรณานุกรมแบบธรรมดาแล้วยังมีรูปแบบ MARC ด้วย

และห้องสมุดชั้นนำทั่วโลกต้องใช้ MARC กันทั้งนั้นแหล่ะครับ จนเป็นมาตรฐานอันหนึ่งในวงการห้องสมุดไปแล้ว

ถ้าให้ผมเปรียบเทียบ ก็คงเหมือนกันกับ protocol TCP/IP ในวงการคอมพิวเตอร์นั่นแหล่ะครับ

และด้วยมาตรฐานอันนี้่ผมสามารถวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศหรือลงรายการทางบรรณานุกรมของของในโลกได้หมดเลยหล่ะครับ

เพราะ MARC ไม่ได้จำกัดเฉพาะการลงรายการบรรณานุกรมของหนังสือเท่านั้นน่ะครับ แต่ยังรวมถึง ซีดีรอมไฟล์คอมพิวเตอร์ ข้อมูลในอินเตอร์เน็ต แผนที่ เทปเพลง ฯลฯ แม้กระทั่งเสื้อผ้าที่เราใส่ ถ้าจะให้ผมลง MARC ผมก็สามารถลงรายการทางบรรณานุกรมในรูปแบบ MARCได้ (ถ้าอยากจะทำ ^_^)

แล้วคราวหน้าผมจะมาว่าต่อเกี่ยว MARC ว่ามันซับซ้อนซ่อนเงื่อนขนาดไหน จนราคาระบบห้องสมุดมันถึงโค-ตะ-ระแพงระยับ

(หมายเหตุ : บทความนี้ไม่ใช่บทความทางวิชาการ กรุณาอย่านำไปอ้างอิง ^_^)



Create Date : 29 สิงหาคม 2549
Last Update : 30 สิงหาคม 2549 10:54:49 น.
Counter : 302 Pageviews.

5 comment
Chapter II : Cataloger
ทักทายครับ

ครั้งที่แล้ว ผมมีการติดค้างความหมายของบรรณารักษ์วิเคราะห์ฯ

คำเต็มๆ ของมันคือบรรณารักษ์วิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ

ถ้าในวงการมักจะเรียกว่าบรรณารักษ์ cat ที่แปลว่าแมวเหมียวนั่นแหล่ะครับ จริงๆ แล้ว มันย่อมาจาก catalogue cataloging หรือ cataloger
*
*
*
ถ้าคุณๆ เคยเข้าห้องสมุด คุยจะสังเกตว่าหนังสือแต่ละเล่มเนี่ย มันจะมีตัวเลขหรือตัวหนังสือติดอยู่ที่สันหนังสือ อันนั้นแหล่ะครับที่เขาเรียกว่า call number หรือเรียกว่าเลขเรียกหนังสือ

โดย call number เนี่ย ปัจจุบันมีที่นิยมอยู่ 2 ระบบ คือ ดิวอี้ (ตัวเลขล้วน) กับรัฐสภาอเมริกัน (ตัวอักษรผสมตัวเลข) ซึ่งเจ้าทั้ง 2 ระบบนี้เขาจะแบ่งตามเนื้อหา

แล้วไอ้ call number เนี่ยแหล่ะครับที่พวกผม- - บรรณารักษ์(แมวเหมียว)ต้องเป็นผู้กำหนด ว่าหนังสือเล่มนี้ควรจะกำหนดให้เป็น call อะไร ทั้งนี้เพื่อให้หนังสือที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันได้มาอยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อให้สะดวกแก่ผู้ใช้ที่เก๋าในการใช้ห้องสมุด รู้ว่าหนังสือแนวนี้อยู่ที่เลขหมู่อะไร

และการที่จะรู้ว่าหนังสือเล่มนี้เล่มนั้นควรอยู่หมวดหมู่อะไร ก็ต้องอ่านหล่ะครับ เราจำเป็นต้องรู้ว่าหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไรก่อน พวกผมถึงจะได้วิเคราะห์มันได้ถูกว่าหนังสือเล่มนี้ควรให้เลขหมู่อะไร

พอมาถึงตอนนี้ ก็คงจะมีบางคนว่า อืม...บรรณารักษ์นี่ดีน่ะได้อ่านหนังสือสบายทั้งวัน มันก็ใช่น่ะครับว่าเราต้องอ่านหนังสือทั้งวัน แต่ปัญหาคือเราเลือกหนังสือที่เราชอบอ่านไม่ได้

คือเราจะวิเคราะห์เฉพาะหนังสือที่เราชอบอ่านอย่างเดียวไม่ได้ นั่นหมายความว่าเราต้องอ่านหนังสือทุกเล่ม เน้นน่ะครับทุกเล่ม ที่เข้ามาในห้องสมุดที่เราอยู่

มันคือวิชาชีพของพวกเราน่ะครับ ไม่ใช่งานอดิเรกที่จะมาอ่านหนังสือสบายๆ เลือกหนังสือแฟชั่นหรือนิยายอ่านเล่นมาเลือกอ่านได้

แต่มันก็จะมีคำถามตามมาว่าแล้วพวกบรรณารักษ์นี่ต้องอ่านกันทุกตัวอักษรกันเลยหรือเปล่า? - - คำตอบคือเปล่าครับ

ส่วนใหญ่บรรณารักษ์เขาก็จะแค่กวาดๆ ดูคำนำหน่อย อ่านปกหลัง หรือไม่ก็อ่านเนื้อหาสักหน่อยพอให้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับเรื่องอะไร

ใครมันจะมีเวลาว่างอ่านได้หล่ะครับ ดังคำที่ว่า so little time, so many books นั่นแหล่ะครับ

ชีวิตเราสั้นเหลือเกินที่จะสามารถอ่านหนังสือดีๆ ได้หมด ดังนั้นถ้าคุณว่างๆ กันก็ลองหาหนังสือดีๆ มาอ่านกันบ้างน่ะครับ ก่อนที่จะไม่มีเวลาอ่าน

*
*
*
มีอีกอย่างหนึ่งที่บรรดาบรรณารักษ์แมวเหมียว (ชื่อมันจะคิขุไปหรือเปล่าเนี่ย) ต้องทำอีกอย่างก็คือการให้หัวเรื่อง

หัวเรื่องคืออะไร เอาง่ายๆ แบบไม่วิชาการจ๋าจนเกินไปก็แล้วกัน หัวเรื่องคือคำที่ใช้แทนเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้น ๆ นั่นแหล่ะครับ

ช่วยให้ผู้ใช้บริการหาหนังสือได้ง่ายขึ้น (ถ้าใช้ห้องสมุดเป็น)

มีคนเคยถามผมว่าหัวเรื่องของห้องสมุดนี่บางครั้งก็ใช้คำแปลกๆ มาเป็นหัวเรื่อง ผมก็ยอมรับหล่ะน่ะว่าบางคำมันแปลกๆ แต่คำพวกนี้ผมคิดเองคนเดียวซะที่ไหนกันเล่า

หัวเรื่องนี่จะมีคณะทำงานเป็นผู้กำหนดหรือเปลี่ยนแปลงหัวเรื่อง ดังนั้นหัวเรื่องภาษาไทยในประเทศไทยค่อนข้างจะเป็นไปในแนวทางเดียวกันหมด คือใช้คำๆ เดียวกันแทนเนื้อหาลักษณะเดียวกันว่างั้นเถอะ

หัวเรื่องภาษาอังกฤษก็เหมือนกัน ก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวกันหมดเช่นกัน

แล้วหัวเรื่องมีประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการอย่างไง

สมมติน่ะครับว่าคุณเข้าห้องสมุดเพื่อต้องการหาหนังสือสักเล่มเพื่อทำรายงาน สมมติอีกนั่นแหล่ะว่าเรื่องที่คุณทำคือการทำรายงานเกี่ยวกับโรงแรม

คุณไม่รู้อะไรเลยทั้งชื่อหนังสือ หรือแม้กระทั่ง ชื่อผู้แต่ง รู้เพียงอย่างเดียวว่าคุณต้องการหาหนังสือที่เกี่ยวกับโรงแรม

จริงๆ แล้วคุณอาจใช้คำว่าโรงแรมในชื่อเรื่องก็ได้ แต่ระวังหน่อยน่ะ - - ชื่อเรื่องมันหลอกคุณได้ครับ นิยายที่มีชื่อโรงแรมมีเยอะแยะไปครับ ดังนั้นคุณอาจหลงทางกับมันได้ครับ

ต้องมาหาที่หัวเรื่องง่ายสุด หัวเรื่องโรงแรม จะรวมรวมหนังสือที่เกี่ยวกับโรงแรมไว้หมด ไม่ต้องไปคอยตีความจากชื่อเรื่องอยู่ว่ามันจะหลอกเราไหม

*
*
*

ดังนั้นจะเห็นว่าบรรณารักษ์ที่ดีเนี่ยจำเป็นต้องรู้เยอะครับ แต่อย่างที่ผมเคยบอกไปตอนต้น คือไม่จำเป็นต้องรู้ลึกแต่ให้รู้ให้กว้างเข้าไว้

แบบคนอื่นเขารวมกลุ่มกันคุยเรื่องวิชาการกันอยู่ (ไม่ใช่กำลังรวมกลุ่มนินทาน่ะครับ - - นั่นมันอีกประเด็น) บรรณารักษ์อย่างเราสามารถเข้าไปเอออออี้อ๋อได้โดยไม่น่าเกลียดว่างั้นเถอะ - - แบบทำเหมือนรู้เยอะ ^_^

อย่างในกรณีผม- - บรรณารักษ์แมวเหมียว ก็จำเป็นต้องรู้ให้เยอะเข้าไว้ ไม่งั้นจะไม่สามารถกำหนดเลขหมู่ หรือหัวเรื่องได้เลย - - หรือถ้าทำได้ มันก็มั่วไปหมด ถ้าคนวิเคราะห์ไม่มีพื้นความรู้

จริงๆ แล้วบรรณารักษ์สมัยใหม่นี่ต้องเรียนรู้ MARC อีกด้วยน่ะเนี่ย เอาไว้คราวหลังดีกว่า แล้วจะเล่าให้ฟังว่ามันคืออะไร (เอาไว้ยืดเรื่อง ^_^)

ขอทิ้งท้ายที่กฎ 2 ข้อของเชร่า (ขำๆ น่ะครับ และขออนุญาตไม่แปล)
Law #1 No cataloger will accept the work of any other cataloger.
Law #2 No cataloger will accept his/her own work six months after the cataloging.



Create Date : 25 สิงหาคม 2549
Last Update : 28 สิงหาคม 2549 9:06:08 น.
Counter : 487 Pageviews.

6 comment
Chapter I
อืม...

สวัสดีชาวโลก

มันโค-ตะ-ระ เชยเลยน่ะเนี่ย

ทักทายดีกว่า สั้นๆ ง่าย ๆ เป็นคำที่ผมชอบ ตอนเขียนเมล์ถึงเพื่อน

วันก่อน (นานมากแล้วหล่ะ) อ่านวิจัยเกี่ยวกับบรรณารักษ์ว่าถ้าให้คิดถึงบรรณารักษ์ คนส่วนใหญ่คิดถึงอะไร ถ้าจำไม่ผิด มีอยู่ 5 ข้อ ได้แก่
1. Glasses ใส่แว่น
2. Single lady สาวแก่แล้วก็ต้องโสดซะด้วยซิ
3. Strict เข้มงวด

ส่วนอีก 2 ข้อจำไม่ได้แล้ว พอดีอ่านไว้นานแล้วขี้เกียจไปค้น (จริงๆ ผิดหลักบรรณารักษ์ที่ดีน่ะเนี่ย มันต้องค้น แล้วก็หามาให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ แต่อันนี้มันคือ blog ไม่ใช่บทความทางวิชาการสักหน่อยใช่ไหมคุณ)

เริ่มแรก ข้อ 2 ก็ไม่ใช่ผมแน่นอน เพราะผมเป็นผู้ชาย แล้วก็ไม่โสดซะด้วยซิ

ส่วนข้อ 1 นี่ จะถือว่าใส่ก็ได้น่ะ เพราะใส่คอนแทกส์ แต่คงไม่มีโอากาสมองลอดแว่น แบบที่คนส่วนใหญ่นึกภาพกันแน่นอน

แล้วข้อ 3 ผมคงตอบไม่ได้ ต้องให้ user เป็นคนตัดสิน และอีกอย่าง งานหลักผมก็ไม่ใช่บรรณารักษ์บริการซะด้วยซิ

สรุป (ได้ไหมเนี่ย) - - ผมว่า... ผมเป็นบรรณารักษ์ที่ไม่ค่อยเหมือนบรรดาบรรณารักษ์รุ่นพี่สักเท่าไหร ทั้งบุคลิก ความคิด ฯลฯ

มีรุ่นน้องเคยบอกผมว่า พวกผมนี่อาจารย์เรียกว่าพวกแสบซ่า ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าผมจะแสบ และซ่าตรงไหน

ไม่เคยยกพวกตีกัน ไม่เคยท้าตีท้าต่อยกับใคร แล้วมันจะแสบซ่ากันได้อย่างไง - - แปลกเหมือนกันน่ะ

อาจเป็นเพราะตอนเรียนบรรณารักษ์ผมไว้ผมยาว ยาวมากๆ แบบถ้าไม่รู้จักผม คนส่วนใหญ่คิดว่าผมเรียนศิลปะแน่นอน ตอนนั้นเหตุผลที่ไว้ผมยาวคือไม่ชอบรอตอนตัดผม กับอยากลองไว้ดู เพราะชีวิตนี้คงไม่มีโอกาสไว้ผมยาวแล้วแน่นอน ก็ลองไว้ผมยาวตอนเรียน
เลยแล้วกัน (ไม่ใช่ไว้เพราะต้องการเป็นสาวน่ะ กรุณาอย่าเข้าใจผมผิด)

ตอนปี 4 ต้องไปฝึกงาน ต้องไปตัด ช่างตัดผมถามแล้วถามอีกว่าตัดแน่นอนน่ะ (จริงๆ แล้วผมยังเก็บไว้เลยน่ะผมที่ตัดไว้ แต่อยู่ที่แฟนเก่า - - สงสัยตอนนี้คงเป็นเป็นปุ๋ยไปแล้ว)

คงเป็นเพราะบุคลิก ทำให้อาจารย์เหมาผมว่าเป็นแสบซ่า

และนั่นทำให้ผมเรียนรู้เพิ่มมาข้อหนึ่งว่า คนเราอย่าตัดสินเขาจากบุคลิกภายนอก และบุคลิกที่ดีส่งเสริมให้เราดูดี - - แฮ่ม...

*
*
*
ผมเป็นบรรณารักษ์วิเคราะห์ทรัพยากร

อะอ้า.... ! แล้วมันทำหน้าที่อะไรหล่ะไอ้้บรรณารักษ์วิเคราะห์ทรัพยากร

แล้วสงสัยไหมว่าไอ้คนที่นั่งให้บริการยืม-คืนตรงเคาน์เตอร์นั่นไม่ใช่บรรณารักษ์เหรอ? คนที่ให้บริการตรงเคาน์เตอร์น่ะ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ใช่บรรณารักษ์หรอกน่ะ เป็นแค่เจ้าหน้าที่ซะเป็นส่วนใหญ่ จะมีบรรณารักษ์บ้างเป็นครั้งคราวก็อาจจะเป็นตอนอยู่เวร

แหม! ไอ้การยืม-คืน นี่มันไม่จำเป็นต้องจ้างคนจบป.ตรี หรือโทมาทำหรอกจริงไหม (หลักสูตรบรรณารักษ์นี่มีปริญญาเอกน่ะครับ - - แล้วพวกเจ้าหน้าที่ยืม-คืน อย่าน้อยใจหล่ะครับ ผมแค่เปรียบเทียบให้คนทั่วไปเห็นชัดๆ แค่นั้นเอง จริงๆ แล้วกลุ่มคนพวกนี้มีหน้าที่อย่างอื่นอีกนอกจากแค่ยืม-คืน วันหลังค่อยมาเล่าให้ฟังแล้วกันว่าทำอะไรบ้าง) แค่คนจบป. 6 ก็ทำได้ ผมว่าน่ะ แค่หน้ารับแขก
หน่อย ยิงบาร์โค๊ดเป็น (ตอนนี้เริ่มมี RFID แล้ว) ก็สามารถมาทำงานตรงเคาน์เตอร์ยืม-คืนได้แล้ว

คนทั่วไปมักคิดเอาง่ายๆ เลยว่าบรรณารักษ์นี่มันสบายชมัด แค่นั่งตรงเคาน์เตอร์ให้บริการยืมคืน เป็นอันจบ เวลาอยู่เฉยๆ ก็หยิบหนังสือมาอ่านเล่น

ผมก็เคยคิดแบบนี้ จนหลวมตัวมาเป็นบรรณารักษ์นี่ไง

*
*
*
ย้อนไปสมัยเด็กๆ ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก อ่านได้แทบทุกประเภท (หนังสือโป๊ไม่ต้องอ่าน แค่ดู ^_^) เวลากินข้าวนี่ต้องมีหนังสืออ่านประกอบการกินข้าวด้วย - - ถึงขนาดนั้น

คือมีพื้นฐานเป็นคนรักการอ่านมาแต่เด็ก ว่างั้นเถอะ

ตอนประถมถ้าว่างต้องเข้าห้องสมุดโรงเรียน จนถึงป. 6 ได้เป็นกรรมการนักเรียน ฝ่ายวิชาการต้องคอยเฝ้าห้องสมุด ก็เข้าทางซิครับ ทำงานไปด้วย ได้อ่านหนังสือไปด้วย

พอมัธยมเริ่มเข้าห้องสมุดประชาชนแล้ว เห็นพี่ที่ให้บริการยืม-คืน อะโห! งานสบายน่ะพี่ แค่นั่งอยู่กับที่ ปั้มวันกำหนดคืน (สมัยก่อนยังไม่ใช้คอมฯ) เวลาไม่มีใครมาติดต่อ ก็อ่านหนังสือ สบายสุดๆ

ผมก็คิดแบบเด็กๆ น่ะครับว่าโตขึ้นน่าเป็นน่ะอาชีพนี้ เข้ากับนิสัยรักการอ่าน (และขี้เกียจ) อย่างเรายิ่งนัก

จนม.ปลาย ผมดันได้เรียนสายวิทย์ - - อย่างว่า เด็กๆ หล่ะครับ สายนี้เป็นสายบังคับ ว่าต้องเรียนสายนี้ มันเจ๋ง มันดี ที่บ้านอยากให้เรียน ตามเพื่อน ฯลฯ

ถือเป็นความโชคดีของผมอย่างหนึ่งเพราะทำให้ผมรู้พื้นทางวิทยาศาสตร์เยอะพอสมควร ทำให้ผมสามารถมาวิเคราะห์หนังสือทางด้านนี้ได้ค่อนข้างดี เพราะการเป็นบรรณารักษ์เนี่ย คุณต้องรู้เยอะ แต่ส่วนส่วนใหญ่รู้ไม่ลึกหรอกครับพวกเรา ก็รู้แค่เบื้่องต้น พื้น ๆ ส่วนรายละเอียดก็จะต้องมีอ้างอิงหล่ะครับ

และอีกอย่างหนึ่งคือทำให้ผมรู้ว่าผมไม่ชอบวิชาทางด้านนี้เสียเลย คือผมมันแค่อยากรู้แค่เกร็ดของมัน หรือไม่ก็แค่อยากรู้เรื่องพื้นๆ แค่นั้นหล่ะครับ เช่นที่ว่าแอปเปิ้ลตกลงบนหัวนิวตันนี่ เพราะนิวตันไปเขย่าต้นแอปเปิ้ลเพื่อขโมยกิน จนแอปเปิ้ลตกใส่หัวหรือว่าแอบหลับแล้วต้นแอปเปิ้ลตกใส่หัวอะไรทำนองนี้มากกว่า

อย่าว่าผมอย่างโน้นอย่างนี้เลยน่ะครับ (สำหรับพวกวิชาชีพสายวิทย์ทั้งหลาย) ตอนนั้นผมหล่ะสงสัยจริงๆ ว่าเราจะใช้ไอ้พวก sin cos tan นี่ไปใช้ในชีวิตประจำวันอะไร

เราจำเป็นต้องจำลักษณะไซโกตไปทำไม (ที่แปลว่าตัวอ่อนน่ะครับ จำไม่ได้แล้วว่าเขียนอย่างไง - - บอกแล้วว่าผมน่ะรู้แค่พื้นๆ ^_^) หรือเราต้องมาดุลสมการเคมีทำไม อะไรทำนองเนี้ย (คือแบบว่าหัวไม่มาทางนี้ก็พยายามหาข้ออ้างไปเรื่อยหล่ะน่ะ)

แต่.... ผมว่าหลักสูตรการเรียนสมัยนั้น นี่มันให้จำกันอย่างเดียว ไม่มีการสอนเหตุผลมารองรับกันเลยว่าที่เราต้องทำอย่างนี้ก็เพราะอย่างนั้นน่ะ อะไรทำนองเนี้ย หรือว่าสมัยนั้นผมโง่เองก็ไม่รู้ เลยไม่ซึมซับ

เฮ้อ... (ขอถอนหายใจให้การศึกษาไทยหน่อย - -หรือถอนหายใจให้กับความโง่ของตัวเองดี) หวังว่าเดี๋ยวนี้คงเปลี่ยนไปแล้วน่ะ - - ได้แต่หวัง

ตอนเอ็นทรานซ์ก็เลยเบนเข็มมาทางสายศิลป์ จนเอ็นท์ติดสาขาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเล็กๆ แห่งหนึ่ง (บรรณารักษ์ ตรงนี้ ไม่มีการันต์น่ะครับ )

*
*
*
และต่อไป คือเรื่องราวของบรรณารักษ์คนหนึ่ง

อยากมาเล่าให้คนอื่นฟังเป็นอุทธาหรณ์ จะได้รู้ซะก่อนว่าเป็นบรรณารักษ์นี่มันต้องทำอะไรบ้าง จะได้ไม่หลวมตัวมาอย่างผม ^_^



Create Date : 25 สิงหาคม 2549
Last Update : 25 สิงหาคม 2549 11:09:39 น.
Counter : 293 Pageviews.

4 comment
1  2  3  4  

บรรน่ารัก
Location :
ภูเก็ต  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



"I have always imagined that Paradise will be a kind of library"
-Jorge Luis Borges-