images by free.in.th
"
Group Blog
 
All blogs
 
เพี้ยน ป่วน ชวนคิด กับ Ig Nobel : อ่านเอาเรื่อง อ่านเอาฮา กับแฝดคนละฝาของรางวัลโนเบล

กระตุกต่อมขำ กระตุ้นต่อมคิด หัวเราะคิกกับอิกโนเบล แฝดคนละฝาของรางวัลโนเบล




สวัสดีค่ะ
วันนี้มีหนังสือใหม่ที่น่าสนใจมาแนะนำกันอีกเช่นเคย เป็นหนังสือเกี่ยวกับรางวัลอิกโนเบลค่ะ






เพี้ยน ป่วน ชวนคิด กับ Ig Nobel
โดย Ranai Kuga
แปลโดย ผศ. ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
หนา 200 หน้า

คิดว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อของ “รางวัลอิกโนเบล” ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อล้อเลียนรางวัลอันทรงเกียรติอย่างรางวัลโนเบลมาบ้างแล้ว

รางวัลอิกโนเบล (Ig Nobel Prize) ก่อตั้งโดย มาร์ก อับราฮัมส์ (Marc Abrahams) เริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคคลที่สร้างผลงาน เป็นคนต้นคิด หรือประดิษฐ์สิ่งแปลกใหม่ที่ทำให้ “โลกฉุกคิด พร้อมกับเสียงหัวเราะ”

แม้ว่าดูเบื้องหน้าแล้วจะออกแนวเพี้ยน ๆ ไปบ้างในสายตาของใครหลายคน (ทำนองว่าไม่มีใครเขาทำกัน) แต่ก็ใช่ว่ารางวัลนี้จะเป็นเพียงแค่รางวัลที่มอบกันขำ ๆ แบบอำกันเล่น ๆ เท่านั้นนะคะ หากได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังและที่มาที่ไปดังที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้แล้ว คงต้องเปลี่ยนความคิดกันเสียใหม่

เพราะนอกจากมันจะชวนขำ ชวนคิด ติดตลกอย่างมีสาระแล้ว ผลงานหลายชิ้นยังเปี่ยมไปด้วยคุณค่าที่สามารถต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมหรือก่อประโยชน์แก่มวลมนุษย์ได้อีกมาก หรืออย่างน้อยก็เป็นการจุดประกายให้ผู้คนได้สนใจ ได้มองเห็นวิทยาศาสตร์ในอีกแง่มุมหนึ่งที่ทั้งน่าสนุก และพบว่ามันอยู่ใกล้ตัวเรา อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา หรือแม้แต่ส่งผลต่อจิตใจของเราอีกด้วยค่ะ

อย่างเช่น รางวัลอิกโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี พ.ศ. 2547 ตกเป็นของผู้ที่ประดิษฐ์คิดค้นคาราโอเกะ ...
ฟังแล้วหลายคนคงสงสัยว่า คาราโอเกะมันไปเกี่ยวอะไรกับสันติภาพ ?

ประเด็นในการตัดสินของคณะกรรมการอยู่ที่ว่า ผลพวงจากการประดิษฐ์คาราโอเกะสามารถช่วยปลูกฝังให้ผู้คนมีความอดทนอดกลั้นต่อการที่ต้องทนฟังเสียงร้องห่วย ๆ ของบรรดาเพื่อนฝูง ส่งผลให้คนเรามีภูมิคุ้มกันต่อการมีปากเสียงทะเลาะวิวาทมากขึ้น และท้ายที่สุดย่อมส่งผลดีต่อสันติภาพของโลกมนุษย์ค่ะ
เอ่อ... อ่านแล้วทึ่งกับแนวคิดของคณะกรรมการจริง ๆ ค่ะ

นอกจาก “เพี้ยน ป่วน ชวนคิดกับ Ig Nobel” เล่มนี้จะเล่าถึงผลงานที่ได้รับรางวัลอิกโนเบล ในแง่มุมที่น่าสนใจและชวนหัวเราะแล้ว ผู้เขียนยังมีความตั้งใจที่จะชี้ให้เห็นถึงหนทางและแนวปฏิบัติในการศึกษาหรือสร้างผลงานซึ่งจะเป็นทางลัดไปสู่การคว้ารางวัลอันท้าทายนี้อีกด้วย

ไม่แน่ว่าคนที่ได้รับรางวัลอิกโนเบลคนต่อไปอาจจะเป็น “เรา” ก็ได้ค่ะ เพราะทางคณะกรรมการก็ไม่ได้กำหนดวุฒิว่าจะต้องเป็นดอกเตอร์ จบปริญญาโท หรือมีวุฒิการศึกษาใด ๆ ทั้งสิ้น จะเป็นเพศชาย เพศหญิง เป็นคนแก่หรือคนหนุ่มก็ไม่เกี่ยง อีกทั้งเรื่องเชื้อชาติก็ไม่ใช่ประเด็น สิ่งสำคัญที่สุดคือขอเพียงแค่ให้มีตัวตนที่แท้จริงก็พอ หากว่าใช้นามแฝงหรือสวมรอยเป็นสมมติบุคคลจะถูกตัดสิทธิ์ทันที

มาลองดูแนวปฏิบัติข้อแรกเป็นตัวอย่างกันสักหน่อยนะคะ

“จะต้องรับรู้เรื่องประหลาดให้เป็นเรื่องประหลาด”

ลองนึกย้อนไปสมัยที่เรายังเป็นเด็ก หลายคนคงยังจำได้ว่าเคยทำให้ผู้ใหญ่ต้องปวดหัวมากแค่ไหนกับคำถามโลกแตกที่เต็มไปด้วยคำว่า “ทำไม ? ทำไม ?” ให้นำเอาความรู้สึกเก่า ๆ แบบนั้นกลับคืนมาให้ได้ค่ะ

ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามที่เรารู้สึกว่ามันพิสดาร ก็ควรที่จะสนเท่ห์กับความอัศจรรย์ของมัน แล้วรีบค้นหาคำตอบทันที แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่คำถามที่มักจะพบเห็นอยู่เป็นประจำทุกวี่วัน หรือเป็นแค่ความสงสัยธรรมดาที่ไม่มีใครสนใจที่จะค้นหาคำตอบ ก็ต้องไม่เพิกเฉยต่อคำถามธรรมดาเหล่านี้และไม่ย่อท้อที่จะค้นหาคำตอบ เพราะไม่แน่ว่ามันอาจจะเป็นการค้นพบที่ทำให้โลกตะลึงก็เป็นได้ !

ตัวอย่างผลงานที่ได้รับรางวัลเนื่องจากเงื่อนไขนี้ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากค่ะ คิดว่าหลายคนก็คงแอบมีความเชื่อแบบนี้เหมือนกัน นั่นก็คือ การรีบเก็บอาหารที่ตกพื้นขึ้นมากิน เพราะเชื่อว่าเชื้อโรคยังไม่ทันเห็น !!

ความเชื่อแบบนี้ฝรั่งเค้าก็มีเหมือนกันนะคะ ซึ่งผู้ที่พิสูจน์ความเชื่อนี้ให้เป็นที่ประจักษ์และทำการทดลองอย่างมีแบบแผนเสียด้วย เป็นเพียงสาวน้อยซึ่งเรียนอยู่ชั้น ม.ปลาย เท่านั้นเอง ! ส่งผลให้เธอคว้ารางวัลอิกโนเบล สาขาสาธารณสุข ประจำปี พ.ศ. 2547 ไปครอบครอง

อยากรู้กันแล้วใช่ไหมคะว่าผลการทดลองของเธอเป็นอย่างไร…
ผลออกมาปรากฏว่า ความเชื่อนี้ทั้งเป็นจริงและไม่เป็นจริง นั่นคือปริมาณการปนเปื้อนของเชื้อโรคไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเก็บอาหารขึ้นมาเร็วหรือช้า แต่ขึ้นอยู่กับความสะอาดของพื้นมากกว่า...

หรือรางวัลอิกโนเบล สาขาเคมี ประจำปี พ.ศ. 2548 ซึ่งผู้ได้รับรางวัลก็คือ นักวิจัยที่พยายามพิสูจน์ว่า “คนเราจะว่ายน้ำในน้ำเชื่อมได้ช้ากว่าในน้ำธรรมดาจริงหรือ ?” ซึ่งคำถามนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีนักวิทยาศาสตร์คนไหน "อุตริ" พอที่จะจำลองการทดลองแบบนี้ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ จนกระทั่งนักวิจัยผู้นี้ทำสำเร็จ และพบว่ามันแทบไม่ต่างกันเลย

ก็อย่างที่ว่ากันว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” ของแบบนี้ถ้าไม่ทดลองดูก็ไม่มีวันรู้จริงไหมคะ แต่สำหรับการทดลองแบบนี้นั้นผู้เขียนมีคำเตือนไว้ว่า “หากจะเทน้ำเชื่อมลงในสระว่ายน้ำ อย่าลืมขอใบอนุญาตก่อน!” นะคะ

นี่เป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้นนะคะ ยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวที่แม้จะออกแนวพิลึกพิลั่น แต่ก็น่าอัศจรรย์ใจ เช่น ไอศกรีมวานิลลาจากอึวัว กางเกงในกำจัดกลิ่นตด การทำให้หยุดสะอึกด้วยการนวดช่องทวาร การวิจัยเกี่ยวกับขี้สะดือ การสำรวจพฤติกรรมการแคะขี้มูก ระเบิดที่ให้ศัตรูกลายเป็นตุ๊ด ฯลฯ

และอีกหลายเรื่องราวที่อัดแน่นอยู่ในเล่ม พร้อมจะทำให้ได้ขำ และได้ฉุกคิดไปกับเหตุผลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการพิจารณามอบรางวัล และขอย้ำอีกครั้งค่ะว่า “ไม่แน่ว่าคนที่ได้รับรางวัลคนต่อไปอาจเป็น ‘เรา’ ก็ได้”
(ท้ายเล่มมีวิธีการและที่อยู่สำหรับส่งผลงานเข้าประกวดด้วยนะคะ )




========================================


เชิญชมหนังสือใหม่ของสำนักพิมพ์ ส.ส.ท. ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ ส.ส.ท.






Create Date : 30 มีนาคม 2554
Last Update : 10 กันยายน 2557 9:05:47 น. 1 comments
Counter : 1452 Pageviews.

 
ชอบมากๆ ค่ะ เล่มนี้ ชอบเรื่องการรักษามะพร้าวตกใส่หัว กับขนมปังทาเนยเป็นพิเศษค่ะ


โดย: jackfruit_k วันที่: 30 มีนาคม 2554 เวลา:14:07:40 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

textbook
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 20 คน [?]




สำนักพิมพ์ ส.ส.ท. สรรค์สร้างสาระสู่สังคม
มุ่งมั่นผลิตตำราวิชาการและหนังสือเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ การบริหารจัดการ ด้านส่งเสริมการศึกษา เพื่อการพัฒนาตนเองและองค์กร สำหรับภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม
Friends' blogs
[Add textbook's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.