ชิ้นส่วนแห่งความทรงจำ
Group Blog
 
All Blogs
 
ว่าด้วยการทะเลาะ

ไม่มีการทะเลาะกันครั้งใดไม่เกิดมาจากความขัดแย้ง แต่ไม่ใช่ทุกความขัดแย้งที่นำมาสู่การทะเลาะ
ในเรื่องของการทะเลาะนั้น มีสองสาเหตุที่จะทำให้การทะเลาะไม่เกิดขึ้นเลยคือ การไม่ให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเลย
หรือการหาทางออกให้กับความขัดแย้งเหล่านั้น ส่วนแรกนั้นถ้ามองเผินๆ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี
เพราะไม่เสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการทะเลาะขึ้น เพราะไม่มีความขัดแย้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว
ความไม่ขัดแย้งจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อไม่มีความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นถ้าโลกไม่มีเวลา การไม่ขัดแย้งก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
หากแต่ว่าในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้นเมื่อเรารั้งแต่จะไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้น
ก็หมายความว่าเราต้านกระแสของกาลเวลาไว้ กลายเป็นการสะสมตะกอนความขัดแย้ง
จนนำมาสู่การทะเลาะที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบได้ อย่างในกรณีใหญ่ เช่นการเกิดสงคราม
การคว่ำบาตรระหว่างประเทศเป็นต้น หรือกรณีย่อย เช่นการลอบสังหาร การตัดสายสัมพันธ์เป็นต้น
ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ เมื่อเราอยู่ภายใต้กาลเวลา เราควรจะทำความเข้าใจความขัดแย้งดีกว่าหรือไม่ ว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา

เมื่อเข้าใจแล้วว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา คราวนี้ก็มาพิจารณาในประเด็นว่า ทำอย่างไรที่จะหาทางออกให้กับความขัดแย้งเหล่านั้นได้
โดยไม่ก่อให้เกิดการทะเลาะขึ้น แล้วความขัดแย้งอย่างไรจึงเกิดการทะเลาะ ความขัดแย้งที่จะก่อให้เกิดการทะเลาะ
ก็ต่อเมื่อคู่สนทนาต่างเชื่อว่าสิ่งที่ตนพูดมีคุณค่ามากกว่า ไม่ว่าจะในกรณี อำนาจ ความถูกต้อง ฯลฯ
แล้วไม่เปิดรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถคุยกันบนพื้นฐานของความคิดเห็นร่วมได้
จนนำมาสู่การทะเลาะเบาะแว้งกันในเวลาต่อมา

สำหรับการที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของคู่สนทนานั้น เมื่อฟังคร่าวๆดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆธรรมดา
แต่เอาเข้าจริงๆแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เนื่องจากว่าตัวเราเองก็อยากที่จะแสดงว่าตนเองดีกว่าอยู่เสมอๆ
ทั้งในระดับหยาบและย่อย เมื่อเกิดอาการเช่นนี้แล้ว การเปิดรับฟังก็จะไม่เกิดขึ้น การหาจุดร่วมจึงไม่มีทางเป็นไปได้
เมื่อเป็นดังนี้ เราจึงควรพิจารณาดูตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอว่าได้รับฟังสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อได้หรือไม่
แต่ก็ใช่ว่าการสนทนาจะมีแต่ฝ่ายพูดหรือฝ่ายฟังอยู่ถ่ายเดียว การสนทนานั้นจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟัง
ดังนั้นการพูดอย่างไรเล่าจึงจะไม่นำพาไปสู่การทะเลาะได้

ถ้าเปรียบว่าการพูดคือกิริยา การฟังก็คือปฏิกิริยา เมื่อครู่เราได้กล่าวถึงปฏิกิริยาไปแล้วว่าควรจะวางไว้ ณ จุดใดมิให้นำพาสู่การทะเลาะ
แต่ถ้าเมื่อเราเป็นฝ่ายกิริยา ทำอย่างไรเราจะไม่จุดชนวนการทะเลาะโดยไม่จำเป็นได้ ว่าด้วยจุดเริ่มต้นของการสนทนา
(ไม่นับประเด็นที่มีแต่ผู้พูดอยู่ฝ่ายเดียว) ถ้าผู้พูดคุยแต่เรื่องของตนเองโดยไม่สนใจฟัง ก็อาจจะทำให้ผู้ฟังรำคาญได้
แล้วถ้ายิ่งผู้พูดคุยแต่ประเด็นที่ลดคุณค่าผู้ฟังแล้ว การบาดหมางก็เกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้นการสนใจประเด็นในการพูดคุยก็สามารถสร้างความน่าพึงใจในการสนทนาได้
เช่นว่า ถ้าผู้พูดต้องการบอกอะไรซักอย่างแก่ผู้ฟัง ก็มิใช่กล่าวหาว่าเขาเลวร้ายเลย แต่สิ่งหนึ่งที่จำเป็นคือ
ถ้าเราจะแก้ไขอะไรบางอย่าง เราต้องทราบข้อมูลให้พอสำหรับปัญหานั้นๆ ดังนั้นการพูดคุยถึงสิ่งที่เขาทำนั้น
ทำด้วยเหตุผลอะไร กล่าวคือ สอบทานว่าเขานึกคิดอะไรอยู่ เพราะโดยลึกๆแล้ว มนุษย์ทุกคนถ้าไม่มีความอับจนแล้ว
ล้วนแต่ใฝ่วัฒนะ ดังนั้นเมื่อเข้าใจความใฝ่วัฒนะของเขาแล้ว ก็สามารถเจรจาว่าจะเดินไปในทิศทางไหน
เพราะความเป็นมนุษย์นั้น น้อยนักที่อยากจะเดินทางอย่างโดดเดี่ยว ดังนั้นถ้ามีผู้ร่วมรับรู้ และร่วมทุกข์ร่วมสุขแล้ว
การสนทนาเพื่อแก้ไขปัญหาก็เป็นไปในทิศทางที่คล่องตัวมากขึ้น

อีกประเด็นที่ผมสนใจคือประเด็นของความหวังดี ในบางครั้งแล้วความหวังดีที่ไม่เข้าใจก็ไม่ต่างจากความมุ่งร้าย
ซ้ำแล้วความหวังดีนั้นกลับทำให้ลำบากใจอย่างลึกล้ำได้อีก ดั่งว่าผู้ได้รับจะเกิดอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะรับทราบว่าผู้ให้นั้นหวังดีจริงๆ
แต่ความหวังดีนั้นมันไม่เข้ากับสถานการณ์เอาเสียเลย จนบางครั้งอาจจะทำให้เรื่องเสียเอาได้ง่ายๆ ซ้ำร้ายยังทำให้ผู้ให้รู้สึกแย่กลับไปด้วย
กลายเป็นรู้สึกแย่ทั้งสองฝ่าย ดั่งคำว่าทำคุณบูชาโทษฉันใดฉันนั้น แล้วจะทำอย่างไรได้เล่าในเมื่อรับทราบว่ามีผู้หวังดี
หากแต่ไม่พิจารณาดูว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่ที่เรา คือจะรับความหวังดีนั้นไว้หรือไม่ หรือจะยังไม่รับในตอนนี้
ถ้าสามารถเลือกไม่รับได้ ก็ควรจะเลือกเอาไว้ เว้นเสียแต่ว่าเขาจะคะยั้นคะยอ เราก็ควรจะปฏิเสธเขาไป แต่เมื่อปฏิเสธไปนั้น
มีไม่น้อยเช่นกันที่จะรู้สึกแย่กับเราทันที (ในมุมนี้ผมมองว่าถ้าไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยๆ
เราเองก็ควรจะไม่เอาความอึดอัดแบบนี้ไปใช้กับใครด้วย) ดังนั้นการปฏิเสธของเรานั้น ถ้าสามารถคุยกันให้เข้าใจได้
ก็ควรจะคุย แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ ในบางครั้งเราก็จำเป็นต้องให้เขารู้สึกแย่กับเรากลับไป

ท้ายที่สุดไม่ว่าจะคุยกันในประเด็นใด ความจริงใจต่อกันนั้น สำคัที่สุดสำหรับการสานสัมพันธ์ แนวคิดแบบเล็งผลเลิศนั้น
ไม่สามารถสร้างไมตรีที่ดีได้ นอกเสียจากการเจรจาต่อรองเพื่อหวังผลประโยชน์ แล้วถ้าเป็นประเด็นปัญหาความขัดแย้งนั้น
การวางตัวออกมาข้างนอกปัญหา จะทำให้เรามองเห็นปัญหาในมุมมองที่กว้างขึ้น
ซ้ำยังไม่นำจิตใจไปหมกมุ่นกับปัญหาจนไม่ทำกิจการอันใดให้ปัญหานั้นผ่อนคลายตัวลง
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วความขัดแย้งก็จะไม่นำพาไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งกันได้เลย


Create Date : 09 มกราคม 2553
Last Update : 9 มกราคม 2553 21:14:19 น. 0 comments
Counter : 491 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

blueocynia
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




กาลเวลาร่องลอยคอยร่วงโรย
น้ำค้างโปรยปรอยทั่วทุกหัวระแหง
ดังความสุขทุกข์มิหลงจงสำแดง
จำต้องแปลงเปลี่ยนเรื่องเพราะเตือนความ

วันเวลาอยู่คู่ความทรงจำ ไม่ว่าทุกข์หรือสุขเพียงใด
วันเวลาเหล่านั้นจะค่อยเข้ามาสู่ความทรงจำของเราเอง
Friends' blogs
[Add blueocynia's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.