Group Blog
 
All Blogs
 
เตือนภัย! คนที่ชอบซักแห้ง ระวังตกเป็นเป้ายุงลาย

สาธารณสุขเตือนภัยคนที่ชอบ ซักแห้ง อาจตกเป็นเป้ายุงลาย เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ พบผู้ป่วยกว่า 7,000 ราย เสียชีวิต 9 ราย คนป่วยเพิ่มอาทิตย์ละกว่า 600 ราย จำนวนคนป่วยสูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2550 ถึงร้อยละ 76 แนะประชาชนกำจัดลูกน้ำยุงลาย คว่ำภาชนะที่ไม่ใช้งาน อย่าให้มีน้ำขัง เนื่องจากไข่ยุงลายจะมีการปรับตัว ทนแล้งได้นานเกือบ 1 ปี หากมีน้ำขัง ไข่พร้อมกลายเป็นตัวยุงภายใน 1 ชั่วโมง

นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งในกว่า 50 จังหวัดขณะนี้ มีผลให้โรคบางโรคมีการก่อตัวแบบเงียบๆ ได้ โดยเฉพาะยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกและพบได้ตลอดปี จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2551 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยสะสมแล้ว 7,413 ราย โดยจำนวนเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 625 ราย ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 99 รักษาหายขาด เสียชีวิต 9 ราย ใน 8 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ภูเก็ต อ่างทอง ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร สิงห์บุรี และสมุทรปราการ

เมื่อเทียบจำนวนผู้ป่วยในช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าสถานการณ์ในปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันในปี 2550 ร้อยละ 76 ซึ่งพบผู้ป่วย 4,209 ราย เสียชีวิต 4 ราย พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากที่สุดอันดับ 1 ได้แก่ ภาคกลาง จำนวน 4,554 ราย รองลงมาได้แก่ ภาคใต้ พบ 1,325 ราย ภาคเหนือ 893 ราย และน้อยที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 641 ราย สำหรับเขตกรุงเทพมหานคร พบผู้ป่วยแล้ว 1,229 ราย

นายไชยา กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด รณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนและอาสาสมัครสาธารณสุข ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และลูกน้ำยุงลาย ทุกอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่ใช่ฤดูกาลระบาดก็ตาม เนื่องจากโรคนี้เกิดขึ้นกับคนทุกวัย และพบผู้ป่วยได้ตลอดปี ไม่เว้นแม้ในฤดูร้อน ซึ่งขาดแคลนน้ำ โดยไข่ของยุงลายจะปรับตัวไปตามสภาพอากาศที่แห้ง ทนแล้งได้นานกว่า 6 เดือน อาจถึง 1 ปี ไข่ยุงจะเกาะติดภายในภาชนะ และเมื่อมีน้ำขังในภาชนะ ไข่จะสามารถฟักตัวกลายเป็นลูกน้ำภายในเวลารวดเร็วเพียง 20 ถึง 60 นาที โดยยุงลายตัวเมียจะวางไข่ครั้งละประมาณ 100 ฟอง

ทางด้านนาย แพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการวิจัยธรรมชาติของยุงลาย พบว่ายุงชนิดนี้ไม่ชอบแสงแดด ไม่ชอบลมแรง มักออกหากินในช่วงกลางวัน หากยุงลายไม่ได้กินเลือดหรือกินไม่อิ่มในช่วงกลางวัน ก็อาจจะออกหากินในเวลาพลบค่ำได้อีก หากห้องนั้นมีแสงสว่างพอ

จากการศึกษาพฤติกรรมยุงลายในกรุงเทพฯ พบว่าจะกัดคนในช่วงเวลา 09.00-10.00 น.และ 16.00-17.00 น. ยุงดังกล่าวใช้หนวดในการดมกลิ่นคน มักชอบกัดคนที่มีเหงื่อออกมาก หรือกัดคนที่ตัวร้อนหรือมีอุณหภูมิบริเวณผิวหนังสูง รวมทั้งชอบกัดคนที่หายใจแรง โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมากับลมหายใจ จะเป็นตัวดึงดูดให้ยุงลายบินเข้ามาใกล้ๆ และยุงลายมักชอบกัดเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ชอบกัดผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ยุงยังชอบกัดคนที่ใส่เสื้อผ้าสีเข้ม เช่น สีดำ สีกรมท่า มากกว่าผู้ที่ใส่เสื้อผ้าสีขาว

“ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชนที่ไม่ชอบอาบน้ำหรือที่ชาวบ้าน เรียกกันติดปากว่า ซักแห้ง อาจตกเป็นเหยื่อของยุงลายและป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ง่ายกว่าผู้ที่อาบน้ำและ ดูแลความสะอาดร่างกาย” นายแพทย์ปราชญ์กล่าว

นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่ออีกว่า ประชาชนควรเก็บสิ่งของในบ้านเรือนให้เป็นระเบียบอยู่เสมอ เสื้อผ้าที่สวมใส่แล้ว ควรเก็บซักทันทีหรือนำไปผึ่งแดดผึ่งลมภายนอกบ้าน เพราะหากมียุงลายเล็ดลอดเข้ามาอยู่ในบ้าน บริเวณที่จะเป็นแหล่งเกาะพักของยุงลาย ส่วนมากคือราวพาดผ้า หรือตามกองเสื้อผ้าที่ใช้แล้วซึ่งมีกลิ่นเหงื่อไคล รวมทั้งมุ้ง สายไฟที่อยู่ตามมุมมืดของห้องและเครื่องเรือนต่างๆ ประชาชนควรอยู่ในที่มีลมพัดผ่าน อาจเปิดพัดลมช่วยได้และอยู่ในที่มีแสงสว่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่กล่าวมาเป็นเพียงการป้องกันที่ปลายเหตุ การป้องกันที่ต้นเหตุที่ดีที่สุดคือทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น การใช้ดินปลูกไม้ประดับแทนการใช้น้ำแช่ น้ำในจานรองกระถางต้นไม้ต้องเททิ้ง ไม่ให้เป็นที่วางไข่ยุงลาย และเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะปลูกไม้ประดับทุก 7 วัน

ที่มา manager.co.th



Create Date : 20 เมษายน 2553
Last Update : 20 เมษายน 2553 14:09:38 น. 0 comments
Counter : 252 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

DeWalt
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add DeWalt's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.