Group Blog
 
All Blogs
 
"มะเร็งปากมดลูก" ป้องกันได้ !

ในแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง ชนิดนี้ 2.7 แสนคน ...นี่เป็นสถานการณ์-เป็นตัวเลขที่น่ากลัวทีเดียว เป็นสถานการณ์-ตัวเลขเกี่ยวกับ มะเร็งปากมดลูก ในประเทศไทยแพทย์ไทยก็กำลังเร่งสู้กับมันเต็มที่

ทั้งนี้ โรงพยาบาลศิริราช เป็นหนึ่งในสถานพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการรักษาพยาบาล คนไทยจากทั่วทุกสารทิศที่เจ็บไข้ได้ป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รวมถึง มะเร็งปากมดลูก

“การรักษามะเร็งปากมดลูกของแพทย์ทั่วโลกจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั่วโลกจะมีการติดตามการรักษาของแพทย์เฉพาะทางด้านนี้เป็น ประจำ และในประเทศไทยก็มีการประชุมแพทย์กันสม่ำเสมอ” ...เป็นการระบุของ ผศ.นพ.ชัยรัตน์ ลีลาพัฒนดิษฐ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

ผศ.นพ.ชัยรัตน์ ยังให้ความรู้ความเข้าใจว่า... ประเทศไทยมีคนเป็นมะเร็งปากมดลูกปีละประมาณ 6,000 คน เสียชีวิตปีละประมาณ 3,000 คน

โดยมะเร็งปากมดลูกจะแบ่งระยะเหมือนกับการรักษามะเร็งอื่น ๆ แบ่งออกเป็นระยะตั้งแต่ 0-4 กล่าวคือ... ระยะ 0 คือเซลล์มะเร็งยังไม่กระจาย วิธีรักษาคือ ผ่าตัดเล็ก ซึ่งใช้เวลาเพียง 15 นาที และตรวจติดตามอาการ การรักษาระยะนี้ได้ผลเกือบ 100%

ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งอยู่ที่ปากมดลูก การรักษาคือผ่าตัดใหญ่ ผ่าตัดมดลูก เลาะต่อมน้ำเหลืองในเชิงกราน ซึ่งได้ผลดีถึง 80%

ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งกระจายออกจากปากมดลูก โดยยังไม่ไปไกลมาก แต่ก็ไม่สามารถผ่าตัดได้ ต้องรักษาด้วยการฉายรังสี และการให้เคมีบำบัด (คีโม) ได้ผลราว 60%,

ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งกระจายชิดเชิงกราน การรักษาคือใช้รังสีรักษา และการให้เคมีบำบัด การรักษาระยะนี้ได้ผลประมาณ 20-30% โดยที่ระยะ 2 - ระยะ 3 นี้จะให้คีโมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 5 สัปดาห์ และฉายแสงทุกวันเป็นเวลา 5 สัปดาห์เช่นกัน

ส่วนระยะที่ 4 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งกระจายทั่วร่างกาย การรักษาคือการให้คีโม และรักษาตามอาการ โดยหวังผลได้เพียง 5-10% และโอกาสรอดน้อยมาก แต่ก็ไม่แน่ โดยมีผู้ป่วยบางรายสามารถอยู่ต่อได้นานถึง 1-2 ปี จึงเสียชีวิต

“ในระยะที่ 2 แม้ 60% จะหาย แต่อีก 40% ยังมีโอกาสเกิดขึ้นมาใหม่อีก ซึ่ง 40% ตรงนี้รักษายากมาก โอกาสหาย 5-10% เท่านั้น เพราะจะดื้อยา ผู้ป่วยต้องระมัดระวังให้ดี”

กับการป้องกันมะเร็งปากมดลูกนั้น ผศ.นพ.ชัยรัตน์บอกว่า... ผู้ที่เสี่ยงต่อการป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกคือสตรีที่มีเพศสัมพันธ์หรือมีคู่ นอนมาก มีลูกมากตั้งแต่อายุยังน้อย และปัจจุบันก็พบอีกปัจจัยที่สำคัญคือการติดเชื้อหูดหงอนไก่บางชนิด ซึ่งอาจจะฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสหูดหงอนไก่ ฉีด 3 เข็ม ค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 กว่าบาท และการป้องกันแบบที่สองคือการตรวจแปปสเมียร์ คือการเช็กมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการตรวจภายใน ซึ่งเมื่อพบก็ทำการรักษาตามอาการ “ยิ่งพบเร็ว พบในระยะแรก ๆ การรักษาก็จะง่าย และหวังผลได้สูง”

“ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน คือการตรวจดีเอ็นเอของไวรัส HPV ซึ่งใครไม่มีก็จะมั่นใจได้ว่าไม่มีโรคมะเร็งปากมดลูก” ...ผศ.นพ.ชัยรัตน์ระบุ

ด้าน รศ.พญ.เยาวลักษณ์ ชาญศิลป์ ภาควิชารังสีรักษา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ก็ให้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมว่า... การรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยรังสีรักษาหรือการฉายแสง สามารถใช้ได้ในทุกระยะของโรค แต่มักใช้เป็นการรักษาหลักในระยะที่ 2 คือมะเร็งลุกลามออกนอกมดลูกและกระจายสู่ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งรักษาด้วยการผ่าตัดไม่ได้ โดยรังสีรักษาประกอบด้วยการฉายรังสีหรือที่มักเรียกกันว่าฉายแสง ใช้รังสีเอ็กซ์หรือรังสีแกมมา ร่วมกับการสอดใส่แร่หรือสารกัมมันตรังสี ผ่านทางช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูก

การรักษาด้วยรังสีใช้เวลาประมาณ 6-7 สัปดาห์ ร่วมกับการให้เคมีบำบัด ซึ่งอาจให้สัปดาห์ละครั้ง หรือทุก 3-4 สัปดาห์ แล้วแต่ชนิดของยา ซึ่งเคมีบำบัดเป็นการรักษาเสริมเพื่อเพิ่มการทำลายเซลล์มะเร็ง ทำให้การฉายแสงได้ผลดีขึ้น ไม่ใช่การรักษาหลักของมะเร็งปากมดลูก แต่อาจใช้ร่วมกับการผ่าตัดโดยให้นำก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดก้อนลง ทำให้ผ่าตัดได้ดีขึ้น หรือให้พร้อมการฉายรังสี เพื่อเพิ่มผลการตอบสนองต่อรังสี และควบคุมโรคได้ดีขึ้น การใช้เคมีบำบัดอย่างเดียวให้ผลเพียงลดอาการได้ระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด

“มะเร็งปากมดลูกป้องกันและรักษาได้ การตรวจแปปสเมียร์ปีละครั้งอาจทำให้พบเซลล์ที่เริ่มผิดปกติและสามารถรักษา ให้กลับมาเป็นปกติได้ หรือแม้จะเป็นมะเร็งแล้ว ก็ยังให้ผลการรักษาที่ดี”

รศ.พญ.เยาวลักษณ์บอกอีกว่า... ปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคนี้เพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยอายุน้อยลง ซึ่งอาจสัมพันธ์กับวิถีชีวิตสมัยใหม่ คือมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย บางคนมีคู่นอนหลายคน และ “แม้จะเป็นโรคที่ป้องกัน-รักษาได้ แต่อัตราการตายในไทยก็ยังค่อนข้างสูง” เพราะผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่ออยู่ในระยะลุกลามแล้ว เพราะอาการมะเร็งปากมดลูกคือตกขาว หรือมีเลือดออก ซึ่งคล้ายอาการทั่วไปที่สตรีคุ้นเคย จึงนิ่งนอนใจ

“ผู้หญิงที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้วจึงควรได้รับการตรวจแปป สเมียร์ปีละครั้ง ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง” ...รศ.พญ.เยาวลักษณ์กล่าว

ก็เป็นข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่ฝากไว้สำหรับหญิงไทย

มะเร็งปากมดลูก ป้องกัน-รักษาได้...แต่ ตายเยอะ

สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะ หญิงไทยยังประมาท


Create Date : 14 เมษายน 2553
Last Update : 14 เมษายน 2553 23:17:50 น. 0 comments
Counter : 226 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

DeWalt
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add DeWalt's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.