Group Blog
 
All Blogs
 

ยอมรับความจริงกันดีกว่า... [เรื่องของพระราชาผู้โทมนัสแทบขาดใจ เพราะมเหสีสุดที่รักจากไปไม่มีวันกลับ]



...“ข้าแต่มหาราช พระเทวีอุพพรี พระมเหสีนี้ได้จากพระองค์ไปแล้ว บัดนี้นาง กำลังเดินตามหลังหนอนตัวผู้ ขอพระองค์จงทอดพระเนตรเถิด”





Smiley


มงคลที่ ๓๕ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม

ยอมรับความจริงกันดีกว่า


อาสวะเหล่าใดอันระคนด้วยความเศร้าหมอง นำมาซึ่งภพใหม่ เป็นไปด้วยความทุรนทุรายมีทุกข์เป็นผล เป็นที่ตั้งชาติ ชรา มรณะต่อไป ที่ใครๆยังละไม่ได้แล้ว เรากล่าวว่า ผู้นั้นเป็นคนหลง


ทุกคนที่เกิดมาในสังสารวัฏ ต่างต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตที่เหมือนกัน คือ ความแก่ ความเจ็บและความตาย ทุกชีวิตถูกจำกัดด้วยกาลเวลา แต่ละคนมีเวลาแห่งชีวิตไม่เท่ากัน บ้างตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บ้างประสบอุบัติเหตุตายตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว บ้างตายตอนแก่ ซึ่งในยุคนี้ ส่วนใหญ่ไม่เกิน ๗๕ปี ก็ต้องจากโลกไป ส่วนผู้ใดมีอายุเกิน ๗๕ปี ถือว่าอายุยืน ฉะนั้น เมื่อเรารู้จักโลกและชีวิตไปตามความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว จงอย่าประมาทในชีวิต ให้เร่งสร้างบารมีอย่างเต็มที่ เราจะได้ก้าวไปสู่ความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บและไม่ตายอีกต่อไป


 มีพุทธศาสนสุภาษิตใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ว่า


“อาสวะเหล่าใดอันระคนด้วยความเศร้าหมอง นำมาซึ่งภพใหม่ เป็นไปด้วยความทุรนทุรายมีทุกข์เป็นผล เป็นที่ตั้งชาติ ชรา มรณะต่อไป ที่ใครๆยังละไม่ได้แล้ว เรากล่าวว่า ผู้นั้นเป็นคนหลง ดูก่อนอัคคิเวสสนะ บุคคลจะชื่อว่าเป็นคนหลง ก็เพราะยังละกิเลสอาสวะทั้งหลายไม่ได้”


 เดินหลงทางทำให้เสียเวลา แต่ยังมีโอกาสหาทางออกได้ ส่วนความหลงที่เกิดจากโมหะเข้าครอบงำจิตใจ เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงที่ยากแก่การแก้ไข เพราะคนหลงจะไม่รู้ตัวเองว่าหลง เหมือนคนเมาเหล้า ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเมา ทำอะไรก็ขาดสติ ความคิด คำพูดและการกระทำก็วิปริตไปหมด กว่าจะรู้ตัวอีกครั้ง ก็ตอนที่สร่างเมาแล้ว ซึ่งขณะเมา ก็ไม่รู้ว่าไปทำผิดพลาดอะไรไว้บ้าง ต้องมาตามแก้ไขภายหลัง คนที่หลงผิดไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษก็เช่นกัน กว่าจะรู้ตัว ก็ต่อเมื่อเสวยทุกข์ทรมานในอบายภูมิ จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ก็สายไปเสียแล้ว


เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องศึกษาความจริงของชีวิตไว้ให้ดี เพราะบางครั้งเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอาจจะเกิดขึ้นกับเรา โดยที่เราไม่ทันตั้งตัว


ดังเรื่องของพระราชาองค์หนึ่งที่ทรงโทมนัสแทบขาดใจ เพราะการจากไปไม่มีวันกลับของมเหสีสุดที่รัก ที่จะนำมาเล่าให้ได้รับฟังกันในวันนี้ เรื่องมีอยู่ว่า


Smiley


*พระเจ้าอัสสกะ ทรงครองราชสมบัติอยู่ที่พระนครปาฏลิ แคว้นกาสี พระองค์มีพระอัครมเหสีที่มีรูปโฉมงดงามทรงหลงใหลในตัวพระนางมากกว่าใครๆ ครั้นพระนางล้มป่วยและสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน พระราชาโศกเศร้าพระทัยด้วยความอาลัยรักยิ่งนัก ทรงให้นำร่างที่ไร้วิญญาณบรรจุในหีบแก้ว จากนั้นทรงรับสั่งให้หมอใช้กรรมวิธีที่จะทำให้พระศพคงสภาพอยู่ได้นานที่สุด และให้นำหีบแก้วนั้นไปวางไว้ใต้พระแท่นไสยาสน์ ด้วยความรักที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย ทำให้พระราชาอดพระกระยาหาร บรรทมกันแสงรำพึงรำพันถึงพระนางทั้งวันทั้งคืนนานถึงเจ็ดวัน


ในวันที่เจ็ด พระโพธิสัตว์เป็นดาบสทรงอภิญญา อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้เจริญอาโลกกสิณตรวจดูชมพูทวีปด้วยทิพยจักษุ เห็นพระเจ้าอัสสกะกำลังปริเทวนาการเช่นนั้น ทรงดำริว่า “หากเราไม่ไปเตือนสติ พระองค์จะต้องตรอมพระทัยสวรรคตในไม่ช้าแน่นอน”



คิดแล้ว ท่านรีบเหาะไปนั่งอยู่ในพระราชอุทยานของพระราชา มีมาณพพราหมณ์คนหนึ่งเห็นพระโพธิสัตว์ ได้เข้าไปไหว้ด้วยความเลื่อมใส พระดาบสถามมาณพพราหมณ์ว่า “พระราชาของท่านทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมดีอยู่หรือ”


มาณพกราบเรียนว่า “ที่ผ่านมาพระราชาทรงตั้งอยู่ในธรรม แต่ครั้นพระมเหสีสิ้นพระชนม์ พระองค์เอาแต่บรรทมพร่ำเพ้อรำพันถึงแต่พระนาง ขอพระคุณเจ้าได้โปรดเมตตา ชี้ทางสว่างแก่พระราชาของพวกเราด้วยเถิด”


พระดาบสโพธิสัตว์แนะนำว่า “เราสามารถคลายความโศกของพระราชาได้ เพียงแต่ท่านจะต้องไปกราบทูลพระราชาให้มาพบเราที่นี่”


มาณพรีบเข้าไปกราบทูลเรื่องราวที่ได้ไปพบพระดาบสผู้มีตาทิพย์ และขอให้พระองค์เสด็จไปสนทนาธรรมกับพระดาบส เพื่อจะได้คลายความโศกลงบ้าง พระราชาทรงดีพระทัยมาก รีบเสด็จขึ้นราชรถไปอุทยานทันที หลังจากไหว้พระโพธิสัตว์แล้ว ทรงถามว่า “ท่านดาบสผู้เจริญ ได้ยินว่าท่านมีตาทิพย์ สามารถรู้ที่เกิดของพระนางอุพพรี ข้าพเจ้าคิดถึงนางเหลือเกิน อยากทราบว่าตอนนี้พระนางยังคิดถึงข้าพเจ้าอยู่หรือไม่ และบัดนี้พระนางไปเกิดที่ไหน”



 ดาบสโพธิสัตว์ทูลตอบว่า “ข้าแต่มหาราช พระนางอุพพรีถูกวิบากกรรมมาตัดรอน ทำให้มีอายุสั้น ระหว่างมีชีวิตอยู่นั้น เนื่องจากทรงมัวเมาในรูปโฉมของตน จึงไม่ทรงทำกุศลกรรม เพื่อเป็นเสบียงบุญที่จะให้ได้เกิดในสุคติภูมิ ครั้นละโลกแล้ว จึงไปเกิดเป็นหนอนที่มูลโค” 



 พระราชาไม่ทรงเชื่อ จึงท้าให้พระดาบสนำหนอนมาให้ดูก่อน พระองค์จึงจะยอมเชื่อ พระดาบสใช้อานุภาพของท่าน บังคับให้หนอนสองตัวที่กำลังชอนไชหาอาหารอยู่ในมูลโค ออกมาปรากฏต่อหน้าพระราชา พลางทูลว่า “ข้าแต่มหาราช พระเทวีอุพพรีนี้ได้จากพระองค์ไปแล้ว บัดนี้กำลังเดินตามหลังหนอนตัวผู้ ขอพระองค์จงทอดพระเนตรเถิด”



พระราชาทอดพระเนตรแล้ว ยังไม่เชื่อว่าหนอนตัวนี้จะเป็นอดีตพระเทวีสุดที่รัก พระดาบสเห็นดังนั้นก็ทูลว่า “ถ้าเช่นนั้น อาตมาจะสนทนากับหนอนให้พระองค์ได้สดับ”


 พระดาบสถามหนอนว่า “เจ้าหนอนเอ๋ย ในอัตภาพที่แล้ว เจ้าเป็นใคร”
หนอนตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นมเหสีของพระเจ้าอัสสกะ ชื่ออุพพรีเจ้าข้า”
“ขณะนี้ พระราชาอัสสกะยังเป็นที่รักของเจ้าอยู่หรือ”



 “ท่านเจ้าข้า พระราชาเป็นพระสวามีของข้าพเจ้าในชาติก่อน ครั้งนั้นข้าพเจ้าเที่ยวชื่นชมรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กับพระราชาในอุทยานนี้เป็นประจำ แต่นี้ข้าพเจ้าอยู่ต่างภพกันแล้ว จะไปสนใจพระราชาทำไมเล่า


บัดนี้ข้าพเจ้าปรารถนาอย่างยิ่งที่จะสังหารพระเจ้าอัสสกะ เอาพระโลหิตในพระศอมาล้างเท้าของหนอนโคมัย ผู้เป็นสามีสุดที่รักของข้าพเจ้า ท่านเจ้าข้า สุขเก่าถูกสุขใหม่ครอบงำ ทุกข์เก่าถูกทุกข์ใหม่ปกปิดครอบงำ นี้เป็นธรรมดาของโลก เพราะสุขทุกข์เก่าถูกสุขทุกข์ใหม่ปกปิด ฉะนั้น หนอนโคมัยนี้จึงเป็นที่รักของข้าพเจ้า ยิ่งกว่าพระเจ้าอัสสกะร้อยเท่าพันเท่า”


    พระเจ้าอัสสกะสดับเช่นนั้น ทรงกริ้วมาก หายจากความเศร้าโศกทันที รีบรับสั่งให้นำร่างของพระเทวีไปฌาปนกิจ จากนั้นทรงก้มลงกราบพระโพธิสัตว์ด้วยความเคารพ และสำนึกในพระคุณที่ท่านมาให้สติ ทำให้พระองค์ไม่ต้องจมปลักอยู่ในความรักและความพลัดพรากอีกต่อไป


Smiley



..... เห็นไหมว่า ภพชาติที่มาเป็นกำแพงกั้นนั้น ถึงแม้จะระลึกชาติได้ก็ตาม ความรักที่เคยมี กลับต้องจืดจางไป เมื่อเกิดในภพใหม่ ย่อมต้องเรียนรู้กฎระเบียบของภพ เป็นชาวสวรรค์ก็ต้องเรียนรู้ธรรมเนียมของสวรรค์ เป็นมนุษย์ก็ต้องเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตในครอบครัว เป็นสัตว์ในอบายภูมิ ก็จำต้องเสวยวิบากกรรมที่สุดแสนจะทรมาน จนกว่าบาปกรรมที่ทำไว้จะหมดไป เขาจะไม่มีเวลามาสนใจคนที่อยู่ข้างหลังแน่นอน



    เพราะฉะนั้น ให้ยอมรับความเป็นจริงของชีวิตว่า เรามีความพลัดพรากเป็นธรรมดา ต้องกล้าเผชิญกับความจริงที่เกิดขึ้น อย่าไปโศกเศร้าจนเกินไป ถ้าจะคิดถึง ต้องคิดถึงให้ถูกหลักวิชชา คือ คิดถึงคราใด ต้องทำบุญและอุทิศส่วนกุศลไปให้บ่อยๆ จะได้บุญทั้งตัวเราและคนที่เราคิดถึง หากคนที่เรารักกำลังมีความทุกข์ ถ้าเราได้อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้บ่อยๆ ย่อมจะคลายจากทุกข์มากมาเป็นทุกข์น้อย จากทุกข์น้อยก็จะพ้นทุกข์ หรือมีสุขน้อยก็จะสุขมาก ที่สุขอยู่แล้ว ก็จะสุขยิ่งๆขึ้นไป ทำเช่นนี้ เขาจะคิดถึงเรามากเป็นพิเศษ แต่จะให้ดีที่สุด คือ หมั่นทำใจให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ และเมื่อเราได้ศึกษาวิชชาธรรมกายแล้ว เราจะสามารถไปรู้ไปเห็นที่เกิดใหม่ของคนที่เราคิดถึงได้อีกด้วย



พระธรรมเทศนาโดย:
พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. อัสสกชาดก เล่ม ๕๗ หน้า ๓๐๔





 

Create Date : 11 สิงหาคม 2555    
Last Update : 11 สิงหาคม 2555 17:56:14 น.
Counter : 1729 Pageviews.  

ชีวิตในอุดมคติ.....เหนือจากปัญหาและสิ่งแวดล้อมที่ทุกข์ทรมาน



 

 

หากชีวิตว่างเว้น ............กายธรรม
มีอยู่ก็มืดดำ...................หม่นไหม้
เหมือนชีพถูกจองจำ......ด้วยโซ่
เกิดแก่ตายเปล่าไซร้.....โอ่ โอ้ เสียดาย


-สุนทรพ่อ-


การผึกหยุดนิ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต นอกนั้นเป็นเรื่องรองลงมา เรื่องทำมาหากินก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน แต่รองลงมา เพราะเราต้องมีปัจจัยสี่หล่อเลี้ยงสังขาร เพราะฉะนั้นทำมาหากินก็ทำไป ฝึกหยุดนิ่งก็ทำไป ให้ภารกิจกับจิตใจไปคู่กัน เราต้องทำความเข้าใจกันให้ดี ถ้าเราแจ่มแจ้งซาบซึ้งมันจะสอนตัวเองได้


แต่เดิมความรู้สึกว่าพยายามหรือฝืนที่จะทำสมาธิ ความรู้สึกนี้มันจะล่มสลายไป เพราะมีความรู้สึกว่ามันจำเป็นเหมือนลมหายใจเข้าออกที่เราต้องหายใจทุกวันเพื่อการดำรงอยู่ ชีวิตภายในก็เช่นเดียวกันจะเจริญก้าวหน้าได้ ต้องหยุดนิ่งอย่างสม่ำเสมอ


เมื่อเราทราบอันดับหนึ่ง อันดับสองแล้ว การจัดระบบระเบียบของชิวิตเราก็จะดีขึ้น ทำให้ชีวิตเราอยู่เหนือปัญหา เหนือสิ่งแวดล้อมที่มีความทุกข์ ทรมาน แล้วเราจะได้ที่พึ่งภายใน เราพึ่งตัวเราเองได้ และเป็นที่พึ่งกับผู้อื่นได้ สังคมจะเกิดความสงบร่มเย็น


เราจะมีสุขทุกวันคืนไป จนกระทั่งหมดอายุขัย ซึ่งเป็นชีวิตอุดมคติที่เศรษฐี และมหาเศรษฐี ยังต้องการแต่เขาขาดแคลนความรู้ตรงนี้ว่า อะไรจทำให้เขาเกิดความพึงพอใจสูงสุด เมื่อเขาเข้าใจว่าทรัพย์เป็นสิ่งนั้น ก็แสวงหาทรัพย์ เมื่อได้มาแล้ว ก็อยากได้อีกไม่มีที่สิ้นสุด จึงไม่เจอความพึงพอใจอันสูงสุด


ณ จุดที่หยุดนิ่ง หยุดในหยุด กลางในกลางเข้าไป จะพบสุขในสุขเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ความรู้แจ้งเพิ่มขึ้น ความไม่รู้ค่อยๆ หดหายไป เหมือนดวงอาทิตย์ผุดขึ้นในยามเช้า แสงเงินแสงทองเกิดขึ้น ความมืดก็หมดสิ้นเพราะฉะนั้นลูกต้องให้ความสำคัญกับตรงนี้นะลูกนะ หยุดกับนิ่งที่แหละสำคัญมากๆ

พระอริยเจ้าท่านมีชีวิตอย่างนี้แหละ มีสุขเพิ่มขึ้น ทุกวันทุกคืนตลอดเวลา แม้ว่าสังขารจะแก่ จะเจ็บ จะตาย แก่ก็แก่ไป ตายก็ตายไป แต่ใจเป็นสุข สุขตลอดเลย สุขด้วยวิธีการที่ประหยัดที่สุด ไม่ต้องเสียเงินทองอะไร



พระธรรมเทศนาหลวงพ่อธัมมชโย พระเทพญาณมหามุนี
เรียบเรียงจากหนังสือ ง่ายแต่ลึก

 




 

Create Date : 06 สิงหาคม 2555    
Last Update : 7 สิงหาคม 2555 11:58:09 น.
Counter : 1584 Pageviews.  

รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฺฏก : คุณสมบัติของผู้ปกครองและที่ปรึกษา [กรณีศึกษาพระเจ้ามหาวิชิตราช ]

 

บทวิเคราะห์การปกครองของพระเจ้ามหาวิชิตราช ที่จะนำเสนอในวันนี้ เป็นหัวข้อเรื่อง คุณสมบัติของผู้ปกครองประเทศและที่ปรึกษา พร้อมทั้งการพัฒนาประเทศโดยการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาจิตใจ เนื้อหาน่าสนใจ และเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ... เชิญศิกษาค่ะ

 

อ่านบทความก่อนหน้า

1.วิธีปราบโจรโดยชอบ

2.การบูชายัญที่มีผล คือการให้ทานและบำเหน็จข้าราชการ

3.วิธีแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน

 


Smiley

บทวิเคราะห์การปกครองของพระเจ้ามหาวิชิตราช

(ต่อจากตอนที่แล้ว)


คุณสมบัติของผู้ปกครองและที่ปรึกษา       

   
         จากที่ได้กล่าวถึงคุณสมบัติของพระเจ้ามหาวิชิตราช 8 ประการและคุณสมบัติของ ปุโรหิต 4 ประการซึ่งเป็นบริวารของยัญนั้น ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้ปกครองและที่ปรึกษา จะเห็นว่าพระราชานั้นมีความสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน ทั้งชาติตระกูล บุคลิก ทรัพย์สมบัติ  กองทัพ ความรู้ และทรงมีพระราชศรัทธาในการให้ทาน ส่วนปุโรหิตนั้นก็มีคุณสมบัติที่สำคัญพรั่งพร้อมสำหรับการเป็นที่ปรึกษาที่ดี คือ มีชาติตระกูลดี เป็นผู้คงแก่เรียน มีศีล และที่สำคัญท่านเป็นบัณฑิตมีปัญญาเฉียบแหลม
         

คุณสมบัติเหล่านี้มีความสำคัญมาก เพราะการจัดทำพิธีบูชามหายัญซึ่งเป็นงานใหญ่ให้สำเร็จสมบูรณ์ก็ดี หรือการบริหารประเทศให้ดำเนินไปด้วยดีนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทั้งแผ่นดิน  พระราชาในฐานะเป็นศูนย์รวมใจ จะต้องได้รับการยอมรับนับถือ ไม่มีข้อตำหนิทั้งทางกายภาพและจิตใจ เพื่อป้องกันความกินแหนงแคลงใจ การดูถูกในใจอยู่ลึกๆทั้งต่อหน้าและลับหลัง โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลระดับบน  ส่วนปุโรหิตซึ่งเป็นผู้วางแผนงานทั้งปวง ก็จะต้องมีคุณสมบัติที่กล่าวมานี้ เป็นฐานในการทำงานใหญ่ต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ 



การพัฒนาจิตใจของผู้ปกครองประเทศ 

         
          ยัญวิธี 3 ประการ คือ การให้พระราชารักษาใจให้ผ่องใส ไม่เสียดายว่าทรัพย์หมดเปลืองไป กล่าวคือ เมื่อตัดสินว่าจะให้ทานแล้ว ก็ต้องตัดใจให้ขาดจากทานนั้นด้วย จึงจะทำให้เกิดบุญมาก และที่สำคัญ ยัญวิธีนี้เป็นกุศโลบายขยายใจผู้นำให้ใหญ่ครอบคลุมทั้งประเทศ     ขยายใจผู้นำให้มีความเมตตากรุณาต่อคนทั้งแผ่นดินทั่วหน้า ไม่เห็นแก่ความสิ้นเปลือง เป็นการให้ด้วยความเต็มใจและจริงใจ 
          ประชาชนผู้รับทานก็จะสัมผัสความเต็มใจนี้ ได้จากพระพักตร์ที่ผ่องใสอันเกิดจากจิตใจที่ชื่นบานเพราะมหาทานของพระราชา จะสร้างความประทับใจแก่ประชาชนพลเมืองทั้งแผ่นดิน และส่งผลให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศร่วมกับพระราชา


          ในทางตรงข้าม หากพระราชามีความเสียดายทรัพย์ ความเสียดายในใจนี้ ก็จะปรากฏออกทางพระพักตร์ที่หม่นหมอง ประชาชนก็จะรู้ว่าพระราชาไม่ได้ให้ด้วยความเต็มใจ แต่ให้แบบเสียไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงยากที่พลเมืองจะร่วมใจกันพัฒนาประเทศ


          ปกติผู้นำที่มีตำแหน่งใหญ่แต่ใจแคบ การดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนย่อมทำไม่ทั่วถึง ประชาชนจะประสบความลำบาก ผู้นำที่ตำแหน่งเล็กแต่ใจใหญ่ ประชาชนจะประสบสุขแต่ตนเองจะเดือดร้อน ผู้นำที่ตำแหน่งเล็กและใจแคบ บ้านเมืองจะเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ส่วนผู้นำที่ตำแหน่งใหญ่และใจใหญ่ บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรือง



การพัฒนาจิตใจประชาชนด้วยการตั้งมาตรฐานคนดี

          ปุโรหิตยังให้ข้อคิดในการบริหารคนหมู่มากแก่พระราชาว่า การทำทานครั้งใหญ่ จะต้องทำใจให้หนักแน่น เพราะจะมีทั้งคนดีคนชั่วหลายเหล่าปะปนกันมารับแจกทาน ซึ่งยากจะแยกแยะได้ พระราชาจะต้องทำใจให้ได้ว่า พระองค์ตั้งใจให้เฉพาะคนดีเท่านั้น แต่ถ้ามีคนไม่ดีปะปนเข้ามา ก็ต้องทำใจให้หนักแน่น ทำใจให้กว้างใหญ่ไพศาลว่า เราจะให้โอกาสเขากลับตัวเป็นคนดีในภายหน้า


          นอกจากคุณสมบัติของคนดีคือความขยันที่กล่าวมาแล้ว คนดีจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญอีกคือ ต้องมีศีลหรือถือกุศลกรรมบถ 10 ด้วย กุศลกรรมบถที่พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลพระราชานี้ ถือเป็นการประกาศมาตรฐานคนดีในยุคนั้น เพื่อให้ผู้นำมีเกณฑ์ในการคัดคน เป็นมาตรฐานในการตั้งเป้าหมายสำหรับการพัฒนาคน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือพัฒนาประเทศชาติในด้านอื่นๆ เพราะทุกโครงการจะสำเร็จได้ด้วยดีนั้น ก็อยู่ที่คุณภาพของคน


การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาจิตใจ 

 
          พิธีบูชามหายัญของปุโรหิตของพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้น เป็นการปฏิวัติพิธีกรรมเดิมของพราหมณ์ที่ถือปฏิบัติสืบกันมาว่า จะต้องมีการฆ่าวัว แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด พิธีบูชามหายัญแบบใหม่นี้ใช้เพียง เนยใส น้ำมัน  เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย เท่านั้น ซึ่งเป็นของหาง่ายในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน และที่สำคัญทำให้หยุดทำปาณาติบาต แต่หันไปส่งเสริมเกษตรกรรมแทน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็เป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชน จึงถือได้ว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจคู่กับจิตใจคือศีลธรรม

 

แผนภูมิการประกอบพิธีบูชามหายัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช 

          พิธีบูชามหายัญของพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้น สามารถสรุปออกมาเป็นแผนภูมิได้ดังที่แสดงมานี้ แผนภูมินี้แตกต่างกับแผนภูมิแรก ตรงที่พระเจ้าแผ่นดินในฐานะประธานพิธีบูชามหายัญ ไม่ได้เพียงแต่นั่งสั่งการอยู่ข้างบน แต่เสด็จลงมาทำหน้าที่เป็นประธานพิธีเอง ลงมา บริจาคทานแก่พสกนิกรด้วยพระองค์เอง ลงมาอยู่ท่ามกลางประชาชนของพระองค์ จึงเป็นเหตุให้พระราชาสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจของคนทั้งแผ่นดินได้ ส่งผลให้กลุ่มผู้มีอิทธิพล 4 กลุ่มไม่อาจจะนิ่งดูดายอยู่ได้ ต้องลงมาทำกิจกรรมกับร่วมกับผู้นำด้วย จึงถือเป็นต้นแบบแห่งการปกครองด้วยวิธีจูงใจ เชิญชวนชาวเมืองให้ร่วมแรงร่วมใจ และร่วมสนับสนุนกำลังทรัพย์โดยมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับจิตใจ

          การปกครองและการแก้ปัญหาสังคมของพระเจ้ามหาวิชิตราชนี้ สอดคล้องกับ จักกวัตติสูตร ที่กล่าวแล้วในบทที่ 5  หัวข้อ "ประวัติศาสตร์โลกและมนุษยชาติŽ"กล่าวคือ ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นมีสาเหตุสำคัญอยู่ 2 ประการคือ พระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม และการบริหารจัดการเรื่องเศรษฐกิจไม่ดี เป็นเหตุให้ความขัดสนแพร่หลาย ส่งผลให้เกิดการลักขโมย และการทำผิดศีลผิดธรรมโดยประการต่างๆ ตามมา ดังนั้น เมื่อจะต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นผู้ปกครองประเทศจึงต้องตั้งอยู่ในธรรม และการบริหารจัดการเรื่องเศรษฐกิจให้ดี


          ในกูฏทันตสูตรนี้จะเห็นว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชและพราหมณ์ปุโรหิตตั้งอยู่ในธรรม คือ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงมีพระราชศรัทธา เป็นทานบดี เป็นดุจบ่อที่ลงดื่มของสมณพราหมณ์รวมทั้งประชาชนพลเมือง และทรงเป็นบัณฑิต  เฉียบแหลม ทรงพระปรีชาสามารถ เป็นต้น  ส่วนพราหมณ์ปุโรหิตก็ตั้งอยู่ในธรรมคือเป็นผู้มีศีล เป็นต้น  เมื่อมีปัญหาโจรผู้ร้ายที่เกิดขึ้นในแว่นแคว้น  พราหมณ์ปุโรหิตก็ทราบดีว่า ต้นตอของปัญหาอยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดกับกลุ่มคนในระดับล่างของสังคมเป็นหลัก ดังนั้น ปุโรหิตจึงถวายคำแนะนำให้พระราชาแก้ปัญหา ด้วยการช่วยเหลือ เศรษฐกิจแก่คนเหล่านี้ เมื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเช่นนี้ จึงทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นดับไป และส่งผลให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองในที่สุด  

 

***

กรุณาติดตามต่อในตอนหน้าค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย




 

Create Date : 05 สิงหาคม 2555    
Last Update : 6 สิงหาคม 2555 12:42:53 น.
Counter : 1861 Pageviews.  

อยู่ไกลก็เหมือนใกล้........

“ธรรมกาย คือตถาคต” ตถาคตเป็นชื่อของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่เราระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยคุณความดีทั้งหลาย จะทำให้ใจเราผูกพันกับพระพุทธองค์ ใจจะผ่องใส ถ้านึกถึงท่านทุกวัน จะทำให้ดวงจิตบริสุทธ์ขึ้นทุกวัน ดวงจิตจะถูกเปลี่ยนแปลงให้บริสุทธิ์ขึ้นทุกวัน ยิ่งสะอาดบริสุทธิ์ใจยิ่งมีอานุภาพ ความบริสุทธิ์เป็นทางมาแห่งมหากุศล ใจจะบริสุทธิ์ได้ ต้องหยุดนิ่ง เพราะฉะนั้น การทำภาวนาจึงเป็นการชำระใจให้บริสุทธิ์ได้ดีที่สุด

 
มีธรรมภาษิตที่ปรากฏใน ขุททกนิกาย อปาทาน ว่า
 
        “เอวํ อจินฺติยา พุทฺธา     พุทฺธธมฺมา อจินฺติยา
       อจินฺติเยสุ ปสนฺนานํ      วิปาโก โหตฺยจินฺติโย
 
    
 
พระพุทธเจ้าเป็นอจินไตย พระธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นอจินไตย วิบากของบุคคลผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และพระธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอจินไตย ก็เป็นอจินไตย”

 
     พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ ทรงสมบูรณ์พร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้วในทุกหนทุกแห่ง ทรงมีพระทัยยินดีในพระนิพพาน ทรงรู้แจ้งแทงตลอดในสรรพสิ่งทั้งหลาย แม้พระองค์จะพรรณนาพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกันเอง จนกาลเวลาผ่านไปนับอสงไขย ก็ยังมิอาจจะพรรณนาได้หมด
 
     เนื่องจากพระพุทธเจ้าเป็นอจินไตย พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงก็เป็นอจินไตย ผู้ฟังธรรมแล้วปฏิบัติตามย่อมได้รับผลเป็นอจินไตย ผลบุญที่เกิดขึ้นย่อมมีอานิสงส์เป็นอจินไตย  คำว่า "อจินไตย" หมายความว่า สิ่งที่ไม่ควรคิด เพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งเกินกว่าวิสัยของปุถุชนจะคิดเองได้ คือไม่สามารถจะคำนวณนับได้ว่าบุญที่เกิดขึ้นมีประมาณเท่าใด  ดังนั้นความรู้ในพระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่ของตื้นๆ เป็นธรรมที่ละเอียดลึกชึ้ง มีความลุ่มลึกเกินกว่าวิสัยของปุถุชนจะวินิจฉัย แต่อยู่ในขอบข่ายญาณทัสสนะของธรรมกายเท่านั้น

 
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสมบารมีมา ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป ตลอดระยะเวลาที่เป็นพระโพธิสัตว์ ท่านได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจสร้างบารมีโดยไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคใดๆ เป็นผู้มีปัญญาเลิศกว่าใครๆ ในอนันตจักรวาล ทรงใช้สติปัญญาความสามารถทุกอย่าง บำเพ็ญมหากุศลด้วยความชาญฉลาด เมื่อบารมีเต็มเปี่ยม ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
     ผู้ที่มีใจระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้อยู่ห่างไกลจากพระองค์เพียงใดก็ตาม ก็เสมือนอยู่ใกล้
 
     * ดังเรื่องของนาง “จูฬสุภัททา” ลูกสาวของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางเป็นผู้มีความเลื่อมใสยิ่งในพระรัตนตรัย ต่อมานางมีครอบครัวจึงต้องไปอยู่กับสามีที่เมืองสาเกต แต่ตระกูลของสามีนับถือพวกชีเปลือย เพราะเข้าใจผิดว่าพวกชีเปลือยเป็นพระอรหันต์

 
     วันหนึ่ง พ่อสามีของนางได้เชิญพวกชีเปลือย ๕๐๐ คน มารับภัตตาหารที่บ้าน ตามปกติท่านเศรษฐีเป็นผู้ใจบุญอยู่แล้ว เพียงแต่ไปเลื่อมใสในนักบวชนอกพระพุทธศาสนาด้วยเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ เมื่อพวกชีเปลือยมาบ้านแล้ว ท่านเศรษฐีจึงส่งคนให้ไปเชิญลูกสะใภ้มาถวายอาหารแก่พวกชีเปลือยทั้ง ๕๐๐ คน
 
     เมื่อนางมาถึง เห็นชีเปลือยผู้ไม่มีความละอาย แสดงอาการไม่สำรวม นางรู้ทันทีว่าบุคคลเหล่านี้ไม่ใช่พระอรหันต์ จึงพูดกับพ่อสามีว่า “คุณพ่อ นี่ไม่ใช่สมณะ ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่เป็นชีเปลือยที่ไม่มีคุณวิเศษอะไร ภายในยังรกไปด้วยกิเลสอยู่เลย” ว่าแล้วนางก็เดินกลับเข้าไปในห้องพักอย่างสงบ

 
     พวกชีเปลือยฟังดังนั้นก็รู้สึกโกรธ ต่างพากันด่าว่าท่านเศรษฐีว่า “พาลูกสะใภ้ตัวกาลกิณีเข้ามาในบ้าน หญิงอื่นในโลกนี้มีมากมาย ทำไมไม่เลือกลูกสะใภ้ดีๆ เอาหญิงอัปมงคลคนนี้มาเป็นลูกสะใภ้ทำไม” แล้วชีเปลือยทั้งหมดก็ลุกออกจากบ้านท่านเศรษฐีไปด้วยความไม่พอใจ

 
     ส่วนเศรษฐีก็เสียความรู้สึกอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ถึงกับโกรธเคืองลูกสะใภ้ เพราะท่านมีพื้นฐานใจดี จึงเข้าไปถามลูกสะใภ้ว่า “ลูกเอ๋ย ทำไมลูกจึงพูดเช่นนั้นกับพระอรหันต์ล่ะ” นางตอบว่า “คุณพ่อ ธรรมดาของพระอรหันต์ ท่านไม่ประพฤติเช่นนี้ ปกติของสมณะผู้หมดกิเลสแล้ว ท่านไม่เป็นอย่างนี้หรอก”

 
     เศรษฐีถามต่อว่า “แล้วสมณะของลูกเป็นอย่างไรล่ะ ท่านมีความประพฤติอย่างไร ลองบอกให้พ่อฟังซิ” นางตอบว่า “ท่านเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ มีใจสงบ เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมอันบริสุทธิ์ มีจักษุทอดลง พูดพอประมาณ เป็นผู้ยินดีในวิเวก มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ สมณะของลูกเป็นอย่างนี้ค่ะ”

 
     เศรษฐีฟังลูกสะใภ้พรรณนาคุณของสมณะในพระพุทธศาสนา บังเกิดความเลื่อมใส ปรารถนาจะถวายทานในวันรุ่งขึ้น จึงได้ขอร้องลูกสะใภ้ว่า “ถ้าเช่นนั้น พ่ออยากจะทำบุญกับสมณะของลูก พรุ่งนี้ขอให้ลูกนิมนต์สมณะเหล่านั้น มาที่บ้านเราด้วยเถิด”
 
     เย็นวันนั้น นางได้ถือพานดอกไม้ขึ้นไปชั้นบนสุดของปราสาท และระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย สอดส่องใจไปยังพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย แล้วโยนดอกไม้ ๘ กำ ขึ้นไปกลางอากาศ พร้อมกับอธิษฐานจิตว่า “วันพรุ่งนี้ ขอพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ได้โปรดมารับภัตตาหารที่บ้านของข้าพระองค์ด้วยเถิด”

 
     ด้วยพุทธานุภาพและด้วยความเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย ดอกไม้นั้นได้ลอยไปอยู่เบื้องบนของพระทศพล ลักษณะคล้ายเพดานดอกไม้ทิพย์ พระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงทราบทันทีว่า นางจูฬสุภัททาได้นิมนต์พระองค์ในวันรุ่งขึ้นที่บ้านของพ่อสามีในเมืองสาเกด

 
     ขณะเดียวกันนั้นเอง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้มาที่วัดพระเชตวันเพื่อนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัสกับอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า “วันพรุ่งนี้จะต้องไปฉันภัตตาหารที่บ้านนางจูฬสุภัททา” ท่านเศรษฐีสงสัยว่า ตอนนี้ลูกสาวได้ย้ายไปอยู่เมืองสาเกตแล้ว เมืองสาเกตกับเมืองสาวัตถีห่างกันกว่าร้อยโยชน์ ตนยังไม่เห็นมีใครมานิมนต์พระองค์ ทำไมพระพุทธองค์จึงตรัสว่า ได้รับนิมนต์แล้ว
 
     เพื่อคลายความสงสัย พระบรมศาสดาจึงตรัสขึ้นว่า “ถูกแล้วท่านเศรษฐี อุบาสิกาผู้เป็นสัตบุรุษ แม้อยู่ไกลถึงร้อยโยชน์ พันโยชน์ ก็ย่อมปรากฏต่อเรา เหมือนภูเขาหิมพานต์ที่ตั้งอยู่ข้างหน้า” แล้วตรัสพระคาถาว่า

 
     “เหล่าสัตบุรุษปรากฏชัดในที่ไกล เหมือนหิมวันตบรรพต ส่วนเหล่าอสัตบุรุษ อยู่ที่นั่นเองก็ไม่มีใครเห็น เหมือนลูกศรที่ยิงไปเวลากลางคืน”
 
     พระศาสดาทรงรับสั่งให้พระอานนท์ ไปนิมนต์พระภิกษุผู้ได้อภิญญา ๖ เท่านั้น เพื่อไปฉันภัตตาหารที่เมืองสาเกตในวันรุ่งขึ้น

 
     คืนนั้นเอง นางจูฬสุภัททาเกิดวิตกขึ้นว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมมีกรณียกิจมาก เราจะทราบแน่ชัดได้อย่างไร ว่าพระพุทธองค์จะเสด็จมาในวันพรุ่งนี้ ขณะนั้น ท้าวเวสสวัณมหาราชทรงรู้ถึงความวิตกของนาง และทรงรู้เรื่องการรับอาราธนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงมาบอกนางว่า “แม่นาง จงอย่าได้วิตกไปเลย พระผู้มีพระภาคเจ้ากับภิกษุสงฆ์ ทรงรับการนิมนต์ของเธอแล้ว” กล่าวจบก็หายตัวไปทันที นางได้ยินดังนั้น ก็มีใจร่าเริงยินดีมาก จึงรีบให้พวกพ้องบริวาร ช่วยกันตระเตรียมภัตตาหารในวันรุ่งขึ้นด้วยความปีติโสมนัส

 
     ยามผู้มีบุญตั้งใจจะทำความดี แม้ท้าวสักกเทวราชก็มิอาจจะอยู่นิ่งเฉยได้ ทรงเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมา แล้วรับสั่งว่า “พระบรมศาสดาและพระสาวก ๕๐๐ รูป จะเสด็จไปยังเรือนของนางจูฬสุภัททา ท่านจงรีบไปเนรมิตมณฑปสำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายเถิด”

 
     วันรุ่งขึ้น พระบรมศาสดาพร้อมด้วยเหล่าภิกษุผู้ทรงอภิญญาจำนวน ๕๐๐ รูปได้เหาะไปยังเมืองสาเกต เพียงชั่วเวลาแค่ลัดนิ้วมือเดียวก็ถึงบ้านของนางแล้ว นางและพ่อสามีพร้อมด้วยบริวาร ได้ช่วยกันถวายทานแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเหล่าพระสงฆ์สาวกด้วยความปีติปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระบรมศาสดาทำภัตกิจเสร็จแล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดท่านเศรษฐีและบริวาร จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านเศรษฐีได้ถวายอุทยานของตนให้เป็นวัดมีชื่อว่า “กาฬการาม” เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนาสืบไป
 
     เราจะเห็นได้ว่า บุคคลผู้ประพฤติธรรมมีใจระลึกถึงพระรัตนตรัยอยู่ตลอดเวลา มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ย่อมมีกระแสใจเชื่อมโยงกับพระพุทธองค์ แม้จะอยู่ไกลกันเพียงใดก็เหมือนอยู่ใกล้ ระยะทางไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการสร้างความดี  เพราะฉะนั้น ถ้าใจของเราไม่คลาดเคลื่อนจากศูนย์กลางกาย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกาย ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ห่างไกลจากพระพุทธองค์ เสมือนหนึ่งได้อยู่ใกล้ชิดท่านตลอดเวลา
 
     ดังนั้น เราควรจะระลึกถึงท่านไว้ในใจเสมอ เพื่อเป็นแบบอย่างในการสร้างบารมี เหมือนอย่างนางจูฬสุภัททาที่นึกถึงพระพุทธองค์อยู่ตลอดเวลา และยังได้เป็นกัลยาณมิตรให้แก่พ่อของสามี แนะนําในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งถ้าหากมีความเข้าใจไม่ถูกต้องในเรื่องความเชื่อแล้ว อาจจะทำให้มีความเห็นผิดได้ เพราะฉะนั้น เราต้องเข้มแข็งในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร เพราะกัลยาณมิตร คือแสงสว่างของโลกนั่นเอง

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
 
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
* มก. เล่ม ๓๕ หน้า ๗๒

 




 

Create Date : 04 สิงหาคม 2555    
Last Update : 4 สิงหาคม 2555 9:58:44 น.
Counter : 1605 Pageviews.  

เพราะส่อเสียดจึงปากเหม็น [แรงบันดาลใจจากพระไตรปิฎก]

ผู้มีผิวพรรณงาม แต่ปากมีกลิ่นเหม็น หมู่หนอนพากันไซซอน เหตุเพราะ แต่ก่อนเป็นสมรณะลามก มีวาจาชั่วช้า ผู้สำรวมกายเป็นปกติแต่ไม่สำรวมปาก

ณ ป่าประดู่ลาย
 
เปรตปากมีกลิ่นเหม็น หมู่หนอนพากันไซซอน
เปรตปากมีกลิ่นเหม็น หมู่หนอนพากันไซซอน
 
ส่อเสียดจึงปากเหม็น 
 
        (พระนารทะ) : ท่านมีผิวพรรณงามดังทิพย์ ยืนอยู่ในอากาศกลางหาว แต่ปากของท่านมีกลิ่นเหม็น หมู่หนอนพากันไซซอนก่อน เมื่อก่อนท่านทำกรรมอะไรไว้
 
       
(เปรต) : เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นสมรณะลามก มีวาจาชั่วช้ายิ่งนัก ผู้มักกำจัด (สำรวมกายเป็นปกติ)ไม่สำรวมปาก อนึ่งผิวพรรณดังทองข้าพเจ้าได้แล้วเพราะพรหมจรรย์นั้น แต่ปากของข้าพเจ้าเหม็นเน่า เพราะกล่าววาจาส่อเสียด ข้าแต่ท่านพระนารทะ รูปของข้าพเจ้านี้ท่านเห็นเองแล้ว ท่านผู้ฉลาดผู้อนุเคราะห์กล่าวไว้ว่า ท่านอย่าพูดส่อเสียดและอย่าพูดมุสา ถ้าท่านละคำส่อเสียดและคำมุสาแล้ว สำรวมวาจา ท่านจะเป็นเทพเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าไคร่
                                                                              
ปูติมุขเปตวัตถุ เล่ม ๔๙ หน้า ๒๒
 
 
                           นางเปรตผู้เปลือยกาย
                                                กุฎุมพีผู้เศร้าโศกเสียใจต่อการตายของบิดา
 
  
อุบายเตือนใจ 
 
       
 (กุฎุมพีคนหนึ่งเศร้าโศกเสียใจต่อการตายของบิดาตน ลูกชายจึงทำอุบายให้สติแก่เขา)
 
 (กุฎุมพีผู้เป็นบิดา)  : เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือ จึงเกี่ยวหญ้าอันเขียวสด แล้วบังคับโคแก่อันเป็นสัตว์ตายแล้วว่า จงกิน จงกิน อันโคตายแล้วย่อมไม่ลุกขึ้นกินหญ้าและน้ำมิใช่หรือ เจ้าเป็นทั้งคนพาลทั้งมีปัญญาทราม เหมือนคนอื่นที่ปัญญาทรามฉะนั้น
 
   (สุชาตกุมาร) : โคตัวนี้ยังมีเท้าทั้ง ๔ มีศีรษะ มีตัวพร้อมทั้งหาง นัยน์ตาก็มีอยู่ตามเดิม ข้าพเจ้าคิดว่าโคตัวนี้พึงลุกขึ้นกินหญ้าสักวันหนึ่ง ส่วนมือ เท้า กายและศีรษะของปู่ไม่ปรากฏ แต่คุณพ่อมาร้องไห้ถึงกระดูกของปู่ที่บรรจุไว้ในสถูปดิน ไม่เป็นคนโง่หรือ.
                                                                                
โคณเปตวัตถุ เล่ม ๔๙      
 
              
                      นางเปรตผู้เปลือยกาย
                                                            นางเปรตผู้เปลือยกาย
 
บุพกรรมนางเปรต
 
       
      (นางติสสา-ภรรยาหลวง) : ท่านได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจ หรือ เพราะวิบากแห่งกรรมอะไร ท่านจึงจากมนุษยโลกนี้ไปสู่เปตโลก
 
        (นางติสสา) : ท่านมีสรีระเปื้อนฝุ่นเพราะกรรมอะไร
 
        (นางเปรต) : ท่านกับฉันพากันอาบน้ำแล้วนุ่งห่มผ้าสะอาดตบแต่งร่างกายแล้ว แต่ฉันแต่งร่างกายเรียบร้อยยิ่งกว่าท่าน เมื่อฉันแลดูท่านคุยอยู่กับสามี ลำดับนั้น ความริษยาและความโกรธได้เกิดแก่ฉันเป็นอันมาก ทันใดนั้นฉันจึงกวาดเอาฝุ่นโปรยลงรดท่าน ฉันมีสรีระเปื้อนด้วยฝุ่น เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น
 
        (นางติสสา) : ท่านเป็นหิดคันไปทั่วตัวเพราะกรรมอะไร
 
        (นางเปรต) : เราทั้งสองเป็นคนหายา ได้พากันไปป่า ส่วนท่านหายามาได้ แต่ฉันนำเอาผลหมามุ่ยมา เมื่อท่านเผลอ ฉันได้โปรยหมามุ่งลงบนที่นอนของท่าน ฉันเป็นหิดคันไปทั้งตัวเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น
 
        (นางติสสา) : ท่านเป็นผู้เปลือยกายเพราะกรรมอะไร
 
        (นางเปรต) : วันหนึ่ง ได้มีการประชุมพวกมิตรสหายและญาติทั้งหลาย ส่วนท่านได้รับเชิญ แต่ฉันซึ่งสามีกับท่านไม่มีใครเชิญ เมื่อท่านเผลอฉันได้ลักผ้าของท่านซ่อนเสีย ฉันเป็นผู้เปลือยกายเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น
 
        (นางติสสา) : ท่านมีกลิ่นกายเหม็นดังคูถ เพราะกรรมอะไร
 
        (นางเปรต) : ฉันได้ลักของหอม ดอกไม้ และเครื่องลูปไล้อันมีค่ามากของท่านทิ้งลงในหลุมคูถ บาปนั้นฉันได้ทำไว้แล้ว ฉันมีกลิ่นกายเหม็นดังคูถเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น
 
        (นางติสสา) : ท่านเป็นคนยากจนเพราะกรรมอะไร
 
        (นางเปรต) : ทรัพย์สิ่งใดมีอยู่ในเรือน ทรัพย์นั้นของเราทั้งสองมีเท่า ๆ กัน เมื่อไทยธรรมมีอยู่ แต่ฉันไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน ฉันเป็นคนยากจนเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น ครั้งนั้นท่านได้ว่ากล่าวตักเตือน ห้ามไม่ให้ทำบาปกรรมว่า ท่านจะไม่ได้สุคติ เพราะกรรมอันลามก.
                                                                               
ตตาเปติวัตถุ เล่ม ๔๙ หน้า ๑๖๕




 

Create Date : 11 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 11 กรกฎาคม 2555 18:25:55 น.
Counter : 3152 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

อุ่นอาวรณ์
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add อุ่นอาวรณ์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.