Group Blog
 
All Blogs
 

เครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตน ๔ ประการ [อารักขสูตร]



[๑๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงกระทำความไม่ประมาท คือ มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตน ในฐานะ ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุพึงกระทำความไม่ประมาท คือ มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตนว่า

จิตของเราอย่ากำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ๑
จิตของเราอย่าขัดเคืองในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ๑
จิตของเราอย่าหลงในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งวามหลง ๑
จิตของเราอย่ามัวเมาในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ๑


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล จิตของภิกษุไม่กำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดเพราะปราศจากความกำหนัด จิตของภิกษุไม่ขัดเคืองในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง เพราะปราศจากความขัดเคือง จิตของภิกษุไม่หลงในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง เพราะปราศจากความหลง จิตของภิกษุไม่มัวเมาในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา เพราะปราศจากความมัวเมา

ในกาลนั้น เธอย่อมไม่หวาดเสียวไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่ถึงความสะดุ้ง และย่อมไม่ไปแม้เพราะเหตุแห่งถ้อยคำของสมณะ ฯ


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๓๒๙๗ - ๓๓๑๑. หน้าที่ ๑๔๑ - ๑๔๒.
ขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace




 

Create Date : 10 มิถุนายน 2556    
Last Update : 10 มิถุนายน 2556 12:34:49 น.
Counter : 1369 Pageviews.  

สุขอันเป็นเลิศกว่า....[สุขวรรคที่ ๒]





[๓๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สุข
ของคฤหัสถ์ ๑ สุขเกิดแต่บรรพชา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขเกิดแต่บรรพชาเป็นเลิศ ฯ

[๓๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ
กามสุข ๑ เนกขัมมสุข ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ เนกขัมมสุขเป็นเลิศ ฯ

[๓๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สุข
เจือกิเลส ๑ สุขไม่เจือกิเลส ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้แล ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขไม่เจือกิเลสเป็นเลิศ ฯ

[๓๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สุข
มีอาสวะ ๑ สุขไม่มีอาสวะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้แล ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขไม่มีอาสวะเป็นเลิศ ฯ

[๓๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สุข
อิงอามิส ๑ สุขไม่อิงอามิส ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้แล ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขไม่อิงอามิสเป็นเลิศ ฯ

[๓๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สุข
ของพระอริยเจ้า ๑ สุขของปุถุชน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขของพระอริยเจ้าเป็นเลิศ ฯ

[๓๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ
กายิกสุข ๑ เจตสิกสุข ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ เจตสิกสุขเป็นเลิศ ฯ

[๓๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สุข
อันเกิดแต่ฌานที่ยังมีปีติ ๑ สุขอันเกิดแต่ฌานที่ไม่มีปีติ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลายสุข ๒ อย่างนี้แล บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขอันเกิดแต่ฌานไม่มีปีติเป็นเลิศ ฯ

[๓๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สุขเกิดแต่ความยินดี ๑ สุขเกิดแต่ความวางเฉย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขเกิดจากการวางเฉยเป็นเลิศ ฯ

[๓๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สุข
ที่ถึงสมาธิ ๑ สุขที่ไม่ถึงสมาธิ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้แล ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขที่ถึงสมาธิเป็นเลิศ ฯ

[๓๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สุข
เกิดแต่ฌานมีปีติเป็นอารมณ์ ๑ สุขเกิดแต่ฌานไม่มีปีติเป็นอารมณ์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขเกิดแต่ฌานไม่มีปีติเป็นอารมณ์เป็นเลิศ ฯ

[๓๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สุขที่มีความยินดีเป็นอารมณ์ ๑ สุขที่มีความวางเฉยเป็นอารมณ์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลายสุข ๒ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขที่มีความวางเฉยเป็นอารมณ์เป็นเลิศ ฯ

[๓๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สุขที่มีรูปเป็นอารมณ์ ๑ สุขที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์
เป็นเลิศ ฯ


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๒๐๘๘ - ๒๑๓๒. หน้าที่ ๙๐ - ๙๑

ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace




 

Create Date : 07 มิถุนายน 2556    
Last Update : 7 มิถุนายน 2556 12:15:28 น.
Counter : 1266 Pageviews.  

บุคคลควรเสพและไม่ควรเสพ... [เสวิสูตร ]





[๔๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ ๑. บุคคลทีไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่ ๒. บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่๓. บุคคลที่จะต้องสักการะเคารพ แล้วจึงเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเลวโดยศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ นอกจากจะเอ็นดูอนุเคราะห์กัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเช่นเดียวกับตน โดยศีล สมาธิปัญญา บุคคลเห็นปานนี้ ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร...

เพราะการสนทนา ปรารภศีล จักมีแก่พวกเราซึ่งเป็นคนเสมอกันโดยศีลด้วย การสนทนาของเรานั้น จักเป็นถ้อยคำเป็นไปด้วย และจักเป็นความสำราญของเราด้วย การสนทนาปรารภสมาธิ จักมีแก่พวกเราซึ่งเป็นคนเสมอกันโดยสมาธิด้วย การสนทนาของเรานั้น จักเป็นถ้อยคำเป็นไปด้วย และจักเป็นความสำราญของเราด้วย การสนทนา ปรารภปัญญา จักมีแก่เราซึ่งเป็นคนเสมอกันโดยปัญญาด้วย การสนทนาของเรานั้น จักเป็นถ้อยคำเป็นไปด้วย และจักเป็นความสำราญของเราด้วย ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่จะต้องสักการะ เคารพแล้วจึงเสพคบหา เข้าไปนั่งใกล้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยิ่งโดยศีล สมาธิปัญญา บุคคลเห็นปานนี้ จักต้องสักการะเคารพแล้วจึงเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะอาการเช่นนี้ จักบำเพ็ญศีลขันธ์ที่ยังไม่สมบูรณ์ให้สมบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์ศีลขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ จักบำเพ็ญสมาธิขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์สมาธิขันธ์บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ จักบำเพ็ญปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์ปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้จึงควรสักการะเคารพ แล้วเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้

ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก

ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคผู้สุคตพระศาสดา ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลง
แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า



บุรุษคบคนเลว ย่อมเลวลง คบคนที่เสมอกัน ย่อมไม่เสื่อม
ในกาลไหนๆ คบคนที่สูงกว่า ย่อมพลันเด่นขึ้น ฉะนั้น
จึงควรคบคนที่สูงกว่าตน ดังนี้ ฯ



เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๓๒๖๙ - ๓๓๐๒. หน้าที่ ๑๔๑ - ๑๔๓.

ขอบพระคุณภาพประกอบจาก @Single Mind for Peace.




 

Create Date : 05 มิถุนายน 2556    
Last Update : 5 มิถุนายน 2556 13:13:47 น.
Counter : 1370 Pageviews.  

ห้วงบุญ ห้วงกุศล ๔ ประการ [อภิสันทสูตรที่ ๒]

[๑๕๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญ ห้วงกุศล อันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน?

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล อันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุขประการที่ ๑

อีกประการหนึ่งอริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล อันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุขประการที่ ๒

อีกประการหนึ่งอริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล อันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุขประการที่ ๓

อีกประการหนึ่งอริยสาวกมีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันไม่ติดขัด มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครอบครองเรือน นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล อันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุขประการที่ ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล อันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข ๔ประการนี้แล.


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๙๓๑๖ - ๙๓๓๑. หน้าที่ ๓๘๘ - ๓๘๙
ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace




 

Create Date : 04 มิถุนายน 2556    
Last Update : 4 มิถุนายน 2556 13:02:22 น.
Counter : 1066 Pageviews.  

เป็นไปโดยธรรมดา...[ อุปปาทสูตรที่ ๑]

[๓๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความเกิดเป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งทั้งปวงที่มีความเกิดเป็นธรรมดาคืออะไรเล่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คือ จักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส มีความเกิดเป็นธรรมดา

แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัสมีความเกิดเป็นธรรมดา แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความเกิดเป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริย-สาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในจักษุทั้งในรูป ทั้งในจักษุวิญญาณ ทั้งในจักษุสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ ทั้งในใจ ทั้งในธรรมารมณ์ ทั้งในมโนวิญญาณ ทั้งในมโนสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัดเพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้ ฯ

[๓๗] ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความแก่เป็นธรรมดา ... ฯ
[๓๘] ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความป่วยไข้เป็นธรรมดา ... ฯ
[๓๙] ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความตายเป็นธรรมดา ... ฯ
[๔๐] ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ... ฯ
[๔๑] ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ... ฯ
[๔๒] ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ... ฯ
[๔๓] ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ... ฯ
[๔๔] ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีเหตุให้เกิดเป็นธรรมดา ... ฯ
[๔๕] ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งทั้งปวงที่มีความดับไปเป็นธรรมดา คือ อะไรเล่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คือ จักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส มีความดับไปเป็นธรรมดาแม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความดับไปเป็นธรรมดา ฯลฯ

ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความดับไปเป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในจักษุทั้งในรูป ทั้งในจักษุวิญญาณ ทั้งในจักษุสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนาหรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ ทั้งในใจ ทั้งในธรรมารมณ์ ทั้งในมโนวิญญาณ ทั้งในมโนสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งในอทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้วย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว

กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘  บรรทัดที่ ๕๓๔ - ๕๘๑.  หน้าที่  ๒๕ - ๒๖.

ขอขอบพระคุณภาพประกอบจาก @Single Mind for Peace Smiley




 

Create Date : 03 มิถุนายน 2556    
Last Update : 3 มิถุนายน 2556 17:46:42 น.
Counter : 1237 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

อุ่นอาวรณ์
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add อุ่นอาวรณ์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.