บันเทิง คลิป ตลก ฮา สนุก พอจะมีสาระ
 

นกกะรองทองแก้มขาว




  • นกกะรองทองแก้มขาว

  • ชื่อสามัญ Silver-eared Mesia

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Leiothrix argentauris

  • ลักษณะทั่วไป

  • พฤติกรรม

  • สถานะภาพ

  • ถิ่นอาศัย

  • อาหาร






 

Create Date : 21 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 16 มิถุนายน 2555 16:50:03 น.
Counter : 1031 Pageviews.  

อาณาจักรโยนก เชียงแสน และล้านนา

อาณาจักรโยนก เชียงแสน และล้านนา
 (พ.ศ. ๑๘๓๕–๒๔๓๕)



               ในตำนานและพงศาวดารล้านนาหลายฉบับ เล่าว่า  นานมาแล้ว (ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓)  มีพวกลัวะ หรือละว้า ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณใกล้ดอยตุง  มีปู่เจ้าลาวจกหรือลวจักราช เป็นหัวหน้า(จกคือจอบขุดดิน)    ต่อมาได้สร้างบ้านเมืองในทุ่งราบเรียกชื่อว่า “หิรัญนครเงินยางเชียงแสน”   ลูกหลานของปู่เจ้าลาวจกหรือลวจักราช   ได้ขึ้นครองเมืองต่อเนื่องกันมาหลายสิบคน และได้มีการสร้างเมืองใหม่เรียกว่า “ภูกามยาวหรือพะเยา”   มีผู้ครองเมืองต่อมาหลายคนจนถึง  ขุนเจือง (พุทธศตวรรษที่ ๑๗) และพญางำเมือง     

               อาณาจักรหิรัญนครเงินยางเชียงแสนหรืออาณาจักรเงินยางนี้ประกอบด้วย เมืองเงินยาง  เมืองไชยนารายณ์ เมืองล้านช้าง  และเมืองเชียงรุ้งในสิบสองพันนา   

             พุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๘นั้นในพงศาวดารโยนก ได้กล่าวไว้ว่า ได้เกิดชุมชนนครสุวรรณโคมคำ เมืองโยนกนาคนคร เชียงแสน และอาณาจักรล้านนาไทยขึ้น  บริเวณ  ลุ่มแม่น้ำโขง    แม่น้ำกก   แม่น้ำอิง  และแม่น้ำปิง   แม่น้ำวัง   แม่น้ำยม  แม่น้ำน่าน  ตั้งแต่สิบสองปันนาลงมาจนถึงเมืองหริภุญชัย(ลำพูน) นั้นได้มีเจ้าผู้ครองนครคนสำคัญคือ พญาสิงหนวัติ พระเจ้าพังคราช พระเจ้าพรหม และพระเจ้าเม็งรายมหาราช(ครองราชย์ที่เมืองเงินยางเมื่อ พ.ศ.๑๘๐๔)

                        พญาสิงหนวัติได้สถาปนาเมืองโยนกนาคพันธุสิงหนวัตินครขึ้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง  ดินแดนที่ราบในเมืองเชียงราย  ใน พ.ศ. ๑๑๑๗ โดยทำการแย่งชิงดินแดนมาจากพวกที่มีอิทธิพลอยู่ก่อนคือ พวกขอมดำหรือกล๋อม ที่พากันหนีไปตั้งหลักแหล่งอยู่ทางใต้บริเวณถ้ำอุโมงค์เสลานคร   พญาสิงหนวัติ ทรงรวบรวมพวกมิลักขุหรือคนป่าคนดอยเข้ามาอยู่ในอำนาจของเมืองโยนกนาคนคร มีอาณาเขตทิศเหนือจดเมืองน่าน ทิศใต้จดปากน้ำโพ ทิศตะวันออกจดแม่น้ำดำในตังเกี๋ย ทิศตะวันตกจดแม่น้ำสาละวิน มีเมืองสำคัญ คือเมืองเวียงไชยปราการ  อยู่บริเวณแม่น้ำฝางและแม่น้ำกก ดินแดนทางใต้สุดคือที่เมืองกำแพงเพชร  อาณาจักรโยนกนาคนครนี้มีพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์  เช่น  พระเจ้าพังคราช   พระเจ้าพรหม   พระเจ้าไชยสิริ    ต่อมาประมาณ พ.ศ.๑๕๕๒ อาณาจักรโยนกนาคนครในสมัยพระเจ้ามหาชัยชนะ ได้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องมาจากพนังกั้นน้ำหรือเขื่อนเหนือน้ำพังทลายลง จนทำให้ที่ตั้งเมืองกลายเป็นหนองน้ำใหญ่  (เข้าใจว่าจะเป็นบริเวณที่เรียกว่าเวียงหนองล่ม บ้านท่าข้าวเปลือก  ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากทะเลสาปเชียงแสน และบริเวณที่แม่น้ำกกต่อกับแม่น้ำโขง   ใกล้วัดพระธาตุผาเงาและพระธาตุดอยตุง  จังหวัดเชียงราย)   จนเป็นเหตุให้บรรดาราชวงศ์กษัตริย์และขุนนางของโยนกนาคนครเสียชีวิตด้วยเหตุน้ำท่วมเมืองทั้งหมด พวกชาวบ้านที่เหลือรอดชีวิตได้ประชุมปรึกษากันเลือกตั้งให้คนกลุ่มหนึ่งที่มิใช่เชื้อสายราชวงศ์ขึ้นดูแลพวกตน  เรียกว่า ขุนแต่งเมือง  และเรียกชุมชนแห่งนั้นว่า “เวียงปรึกษา”เป็นเวลาต่อไปอีก ๙๔  ปี    อาณาจักรโยนกนาคนครจึงสิ้นสุดลง

               ตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓  พระยาเม็งราย(หรือพ่อขุนมังราย)  ผู้สืบเชื้อสายมาจากผู้ครองเมืองเงินยางเชียงแสน ได้ทรงทำการรวบรวมอาณาจักรล้านนาไทยที่กระจัดกระจายให้เป็นปึกแผ่นขึ้นมาใหม่   และทำการสร้างเมืองเชียงรายเมื่อ  พ.ศ. ๑๘๐๕  ครั้งนั้นพระองค์ทรงยกทัพเข้ายึดเอาอาณาจักรหริภุญชัยจากพวกมอญเชื้อสายของพระนางจามเทวีได้ใน พ.ศ. ๑๘๓๕  แล้วทำการตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นเรียกชื่อว่า  อาณาจักรล้านนา   

              เรื่องราวของอาณาจักรแห่งนี้มีปรากฏในตำนานสุวรรณโคมคำ หิรัญนครเงินยางเชียงแสน  ตำนานพระธาตุดอยตุง   ตำนานสิงหนวัติกุมาร   ตำนานเมืองพะเยา   ตำนานเมืองเชียงใหม่และวรรณคดีล้านช้าง เรื่องท้าวฮุ่ง    หรือเจือง รวมทั้งพงศาวดารโยนก เรียบเรียงโดย  พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค)

              ศิลาจารึกที่วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ได้บันทึกไว้ว่า  พ่อขุนเม็งรายแห่งแคว้นล้านนา  พ่อขุนงำเมืองแห่งแคว้นพะเยาและพ่อขุนรามคำแหงแห่งแคว้นสุโขทัย ได้ร่วมกันวางแผนสร้างเมือง“นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่”เริ่มสร้างเมื่อวันที่๑๒เมษายนพ.ศ.๑๘๓๙ แล้วให้ย้ายเมืองหลวงของล้านนามาอยู่ที่เมืองนพบุรีนครพิงค์เชียงใหม่   

              พญาเม็งรายทรงเป็นนักรบและนักปกครองที่สามารถ ทรงขยายอาณาเขตไปครอบครอง เมืองแม่ฮ่องสอน  ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ เชียงราย จดเขตแดนเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง สิบสองพันนา ทรงครองราชย์อยู่ประมาณ ๕๐ ปี  ปัจจุบันได้สร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายอยู่กลางเมืองเชียงราย  ส่วนกษัตริย์ล้านนาองค์ต่อมาที่มีชื่อเสียงได้แก่พระเจ้าแสนภู พระองค์ทรงสร้างเมืองเชียงแสนขึ้น บนสถานที่ที่เคยเป็นเมืองเก่ามาก่อนราว พ.ศ.๑๘๗๑

               ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๑ กล่าวว่า พระเจ้าแสนภู(หลานพ่อขุนเม็งราย)ทรงสร้างเมืองเชียงแสน ทรงสร้างวัดป่าสัก และครองเมืองอยู่ ๒๕ ปี แล้วจึงไปครองเมืองเชียงใหม่ในปีพ.ศ.๑๘๕๖ หลังจากพ่อขุนเม็งราย และขุนคราม   พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๐๒๐

             ในพงศาวดารเหนือ กล่าวไว้ว่า “พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงสร้างเมืองพิษณุโลกและทรงสร้างพระพุทธชินราช  พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ(ประมาณ พ.ศ.๑๙๐๗) แล้วปลูกต้นโพธิ์สามต้นไว้ที่หล่อพระพุทธรูปสามองค์นั้นเรียกว่า โพธิ์สามเส้า

           สมัยพระเจ้าติโลกราชนั้นได้ มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลกขึ้นที่วัดโพธาราม(วัดเจดีย์เจ็ดยอด)

                อาณาจักรล้านนามีภาษาพูดและอักษรเขียนของตนเอง เรียกว่าอักษรไทยยวน(ไทยโยนก) ศิลปกรรม ล้านนาที่เหลือถึงปัจจุบันมีหลายแห่ง เช่น    พระพุทธสิหิงค์    ที่เชียงใหม่   เจดีย์วัดป่าสักที่เชียงราย  เจดีย์วัดเจ็ดยอดที่เชียงใหม่  พระธาตุลำปางหลวงที่จังหวัดลำปาง  สำหรับที่เมืองเชียงแสนนั้นมีพระพุทธรูปโลหะขนาดใหญ่องค์หนึ่งชื่อพระเจ้าล้านทอง   หน้าตัก ๔ ศอกปลาย ๒ กำ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๐๓๒  โดยพระยาศรีรัชฎเงินกองเจ้าเมืองเงินยางเชียงแสน     และยังมีพระเมาฬี(ยอดผม) ของพระพุทธรูปโลหะขนาดใหญ่มากชิ้นหนึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์เชียงแสน เล่ากันว่า มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งจมน้ำอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน ปัจจุบันยังสำรวจค้นหาไม่พบ ในพ.ศ.๒๐๘๘ นั้นได้ เกิดแผ่นดินไหวในเชียงใหม่ จนทำให้ส่วนยอดของเจดีย์หลวงหักลง 

                กษัตริย์ราชวงศ์มังรายครองอาณาจักรล้านนาสืบต่อกันมาเป็นเวลา  ๒๖๒ ปี    จนถึง พ.ศ.๒๑๐๑ อาณาจักรล้านนาอ่อนแอ ในไม่ช้าก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์แห่งพม่า ต่อมาได้เปลี่ยนสลับมาขึ้นกับอาณาจักรสยามกลับไปกลับมาหลายครั้ง ครั้งสุดท้าย พ.ศ.๒๓๑๗ เมืองเชียงใหม่ได้ตกเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์ได้ทรงรวบรวมเมืองเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย   และได้มีการพัฒนาบ้านเมืองนี้ในสมัยต่อมาเช่น  พ.ศ.๒๔๖๔ ได้สร้างทางรถไฟจากกรุงเทพผ่านดอยขุนตาลถึงเชียงใหม่  และ  พ.ศ.๒๕๓๙เมืองเชียงใหม่ได้จัดงานฉลอง ๗๐๐ปี นครเชียงใหม่

                 สำหรับเหตุการณ์สำคัญนั้นคือวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ได้เกิดแผ่นดินไหวที่เชียงใหม่ ทำให้ลูกแก้วบนยอดพระธาตุดอยสุเทพตกลงมาแตก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้พระราชทานลูกแก้วดวงใหม่ไปทดแทน






 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 16 มิถุนายน 2555 16:50:36 น.
Counter : 823 Pageviews.  

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรสุโขทัย


พัฒนาการทางประวัติศาสตร์


            เขตพื้นที่ จังหวัดสุโขทัยมีผู้คนมาพักอาศัยและตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัย สมัยทวาราวดี สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
            บริเวณที่ราบตอนล่างของภาคเหนือของไทย เคยเป็นดินแดนที่มีมนุษย์มาตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากหลักฐานทางโบราณคดีพบเครื่องมือหินที่เขาขน เขากา ในเขตตำบลนครดิฐ อำเภอศรีนคร แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอย  บ้านบึงหญ้า ตำบลหนองจิก อำเภอคีรีมาศ ฯลฯ ชุมชนเหล่านี้อยู่ต่อเนื่องกัน และตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นในเวลาต่อมา จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา ได้มีการติดต่อกับดินแดนอื่นในแถบบริเวณภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมแบบทวาราวดี โดยได้พบโบราณวัตถุที่มีลักษณะคล้ายกัน ได้แก่ลูกปัด เครื่องมือสำริด เหล็ก เงินเหรียญที่มีรูปพระอาทิตย์ รวมทั้งโครงกระดูกมนุษย์ ที่แหล่งโบราณคดีวัดชมชื่นในเขตเมืองเชลียง ซึ่งมีแท่งดินเผามีลวดลาย
            จากการพบโบราณสถานในศิลปะขอมที่บ้านนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ ชาวบ้านเรียกว่า ปรางค์เขาปู่จ่า และศาลาตาผาแดง ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย แสดงว่าในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีการติดต่อกับอาณาจักรขอมแล้ว
            ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ปรากฏเรื่องการตั้งตนเป็นอิสระเพื่อปกครองสุโขทัยของกลุ่มชน ซึ่งต่อมาเป็นบรรพชนของคนไทยในปัจจุบัน



พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรสุโขทัย
            เส้นทางคมนาคมและการค้าให้กำเนิดแคว้นสุโขทัย มีเส้นทางสำคัญสองเส้นทางคือเส้นทางข้ามหุบเขา ในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ - ตะวันตกเฉียงใต้ และทิศทางตะวันออก - ตะวันตก เป็นเส้นทางเก่าแก่ใช้เดินทางกันมาแต่ครั้งโบราณ ระหว่างกลุ่มชนลุ่มแม่น้ำโขง กับกลุ่มชนลุ่มแม่น้ำน่าน และภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน
            มีกลุ่มชนลุ่มแม่น้ำโขงเคลื่อนย้ายไปตั้งถิ่นฐานบนเส้นทางสายเป็นหย่อม ๆ แล้วค่อย ๆ ทะยอยเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำน่าน บริเวณเขตจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดอุตรดิตถ์ ต่อมาได้เกิดเป็นบ้านเมือง และได้กลายเป็นประชากรส่วนหนึ่งของแคว้นสุโขทัย
            เส้นทางแรกเชื่อมโยงผู้คนจากเขตเมืองหลวงพระบาง เมืองแถน (เดียนเบียนฟู) ลงใต้สู่ปากลาย ทุ่งยั้ง เชลียง และสุโขทัย อีกสายหนึ่งคือเส้นทางจากหลวงพระบาง ปัว น่าน แพร่ สุโขทัย ตาก ไปสุดทางที่ริมฝั่งทะเลอันดามันที่มะละแหม่ง
            เส้นทางข้ามหุบเขาสายตะวันออก - ตะวันตก เริ่มจากลุ่มแม่น้ำโขงในภาคอิสานตอนบน รวมทั้งกลุ่มเมืองเวียงจันทน์ผ่านเทือกเขาภูพาน ในเขตจังหวัดอุดรธานี เข้าไปในเขตจังหวัดเลย ผ่านหุบเขาแถบอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ไปทางลำน้ำแควน้อย ซึ่งเป็นสาขาของลำน้ำน่าน ในเขตอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เมื่อถึงลำน้ำน่านแล้ว ก็ล่องไปตามลำน้ำน่าน ผ่านเข้าเขตจังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์ เข้าสู่บ้านเมืองเก่าสมัยทวาราวดี และลพบุรี บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
            ชาวไทยในภาคเหนือตอนล่างได้รวมตัวกันเป็นรัฐอิสระ มีความเจริญคู่เคียงกันมากับอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรอยุธยา มีศูนย์กลางการปกครองที่กรุงสุโขทัย ซึ่งไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง
            มีหลักฐานว่าพ่อขุนศรีนาวนำถุม ได้เป็นกษัตริย์ครองสองนคร คือทั้งเมืองสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัย มีหลักฐานพอเชื่อได้ว่าเจ้านายในตระกูลศรีนาวนำถุม มีความสัมพันธ์กับตระกูลศรีโคตรบูรณ์ในลุ่มแม่น้ำโขงของภาคอีสานตอนบน ที่มีเมืองเวียงจันทน์และเวียงคำเป็นเมืองสำคัญ นอกจากนั้นก็มีหลักฐานพอเชื่อได้ว่า ตระกูลของพ่อขุนบางกลางหาวมีเชื้อสายตระกูลเมืองน่าน และเมืองหลวงพระบาง และเชื่อมโยงไปถึงตระกูลสุพรรณบุรี ที่ครองแคว้นสุพรรณภูมิ ทางตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
            อาณาจักรสุโขทัย มีหลักฐานตั้งแต่สมัยพ่อขุนนาวนำถุม และชัดเจนขึ้นในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ่อขุนบางกลางหาว) ระหว่างปี พ.ศ.๑๗๘๑ - ๑๘๒๒ ราชวงศ์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ราชวงศ์พระร่วง) ได้ปกครองอาณาจักรสุโขทัยสืบต่อมาเป็นเวลา ๒๐๐ ปี จึงถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยา
            อาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ.๑๘๒๒ - ๑๘๔๑) ได้แผ่อาณาเขตออกไปโดยรอบ วัฒนธรรมไทยเจริญขึ้นทุกสาขา ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ซึ่งได้บ่งถึงความเจริญด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การทหาร กฎหมาย การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม พระพุทธศาสนา การประดิษฐ์อักษรไทย และอื่น ๆ



ประวัติศาสตร์ชุมชนเมืองเชลียง
            ชะเลียง ภาษาขอมแปลว่ายืน ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ วัดศรีชุม ได้บันทึกเหตุการณ์ก่อนสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กล่าวถึงพ่อขุนนาวนำถุม เจ้าเมืองเชลียงว่า เป็นขุนในเมืองเชลียง ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ จารึกพ่อขุนรามคำแหง ได้บันทึกถึงพระราชกรณียกิจของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า ทรงสถาปนาศิลาจารึกไว้ที่วัด พระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงอีกหลักหนึ่งว่า จารึกอันหนึ่งมีในเมืองเชลียง
            เอกสารจดหมายเหตุอยุธยาได้กล่าวถึง เมือง เชลียง สุโขทัย ทุ่งย้าง บางยม สองแคว สระหลวง ชากังราว กำแพงเพชร
            ทางด้านตะวันตกของเมืองเชลียงเป็นเทือกเขาพระศรี มีวัดโบราณสร้างด้วยศิลาอยู่บนยอดเขาเทือกเขาพระศรีนี้ พระศิริมังคลาจารย์ผู้แต่งชินกาลมาลีปรณ์เมื่อ พ.ศ.๒๐๕๙ เรียกนามภูเขานี้เป็นภาษาบาลีว่า สิริบรรพต
            เมืองเชลียงมีวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองดังนี้
                -  ณ หมู่ที่ ๖ ตำบลศรีสัชนาลัย เมื่อปี พ.ศ.๑๕๐๓ - ๑๖๗๐ เป็นที่ตั้งของเมืองเชลียง
                -  สมัยสุโขทัย เรียกเมืองโบราณแห่งนี้ว่า เมืองศรีสัชนาลัย
                -  เมื่อปี พ.ศ.๒๐๐๓ - ๒๐๑๗  อาณาจักรล้านนา สมัยพระเจ้าติโลกราชเรียกเมืองโบราณแห่งนี้ว่า เมืองเชียงยืน
                -  พ.ศ.๒๐๑๗ - ๒๓๒๔  กรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรีเรียกเมืองโบราณแห่งนี้ว่า เมืองสวรรคโลก
                -  พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๓๗๘  กรุงรัตนโกสินทร์เรียกที่ตั้งจวนเจ้าเมืองโบราณ บริเวณวัดเชิงคีรี และตำบลท่าชัยว่า เมืองสวรรคโลก ปัจจุบันชาวบ้านคงเรียกว่า บ้านเมืองเก่า
                -  พ.ศ.๒๓๗๙ - ปัจจุบันเรียกที่ตั้งจวนเจ้าเมืองบริเวณหมู่บ้านวังไม้ขอนว่า เมืองสวรรคโลก ปัจจุบันคือตำบลสวรรคโลก อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
                -  พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๓๕  เรียกพื้นที่ตำบลสารจิตร ตำบลบ้านแก่ง ตำบลศรีสัชนาลัย และตำบลท่าชัยว่า เมืองวิเศษชัยสัตย์
                -  พ.ศ.๒๔๓๕ - ๒๔๗๐  พื้นที่ตำบลศรีสัชนาลัย และตำบลท่าชัย อยู่ในความปกครองของอำเภอสวรรคโลก
                -  พ.ศ.๒๔๕๖ - ๒๔๖๓  กระทรวงมหาดไทยได้เปลี่ยนชื่อตำบลเมืองเก่า เป็นตำบลศรีสัชนาลัย
                -  พ.ศ.๒๔๘๒  กระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนชื่ออำเภอหาดเสี้ยว เป็นอำเภอศรีสัชนาลัย
                -  พ.ศ.๒๕๒๖  กรมศิลปากร ประกาศจัดตั้งกลุ่มโบราณสถาน ตำบลท่าชัย ตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสวนจิตร ตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย เป็นอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย



ชุมชนอำเภอศรีสัชนาลัย
                -  พ.ศ.๒๔๒๘ - ๒๔๓๗  เรียกบริเวณบ้านปลายนา ตำบลบ้านตึกว่า เมืองด้ง
                -  พ.ศ.๒๔๓๗ - ๒๔๔๐  ปากห้วยแม่รากเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเรียกว่า อำเภอด้ง
                -  พ.ศ.๒๔๔๐ - ๒๔๖๐  ตำบลหาดเสี้ยวเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ แต่ยังคงเรียกว่า อำเภอด้ง
                -  พ.ศ.๒๔๖๐ - ๒๔๘๒  เรียกนามอำเภอตามตำบลที่ตั้งอำเภอว่า อำเภอหาดเสี้ยว
                -  พ.ศ.๒๔๘๒ - ๒๕๑๐  ใช้นามอำเภอว่าศรีสัชนาลัย และอยู่ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยเก่า ประมาณ ๑๑ กิโลเมตร ต่อมาใช้นามอำเภอว่าศรีสัชนาลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐



โบราณสถาน และสถานที่สำคัญของอำเภอศรีสัชนาลัย
  โบราณสถานก่อนที่ชุมชนไทยญวน ตำบลหาดเสี้ยว อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่กันหนาแน่น คนได้สร้างอุโบสถวัดหาดเสี้ยว เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ มีดังนี้
             -  วัดร้างสมัยสุโขทัย  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ ได้สถาปนาเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาตั้งชื่อวัดว่า วัดโบสถ์มณีราม มีอุโบสถเก่ากับพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย มีจารึกอยู่ที่ฐานพระพุทธรูป
                -  วัดร้างสมัยสุโขทัยอีกสองวัด ปัจจุบันไม่เหลือซาก
                -  วัดร้างสมัยสุโขทัยอยู่บนเขา ที่บ้านหาดสูง ปัจจุบันเป็นสำนักสงฆ์ชื่อว่า วัดภูธาตุเจดีย์
                -  วัดน้อย  อยู่ที่บ้านหาดสูง ชาวไทยพวนได้สร้างวิหารก่ออิฐถือปูนทับไปบนฐานวัดร้าง เป็นโบราณสถานสมัยสุโขทัย
                -  วัดโพธิทอง  อยู่ที่บ้านหาดสูง ชาวไทยพวนสถาปนาขึ้นเป็นวัด สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๖ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดหาดสูง
                -  วัดโพธิชัย หรือวัดโพธิไทร  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดหาดเสี้ยว จากศิลาจารึกที่ติดไว้ที่ฝาผนังอุโบสถ พบว่าอุโบสถสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๗ นับเป็นโบราณสถานสกุลช่างไทยพวน ที่เก่าแก่ที่สุดที่อยู่มาถึงปัจจุบัน กรมศิลปากรได้สำรวจและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ มีอาคาร อุโบสถ หอไตร เจดีย์ด้านทิศตะวันออก รวมสามรายการ ประตูโขงของวัด ๘ ประตู ถูกรื้อออกไปหมด ตามประเพณีไทยพวนเรียกชื่อประตูทั้งแปดทิศ และมีความหมายดังนี้
          ประตูซ้ำโกรน ทิศพายัพ หมายถึงหนู  ประตูโงนงก ทิศอุดร หมายถึงช้าง  ประตูชกเกวียน ทิศอิสาน หมายถึงวัว  ประตูเหียนแอ่น ทิศบูรพา หมายถึงครุฑ  ประตูแว่นโต ทิศอาคเนย์ หมายถึงสิงห์โต  ประตูโสภาค ทิศทักษิณ  ประตูลาภฟาน ทิศหรดี หมายถึงเสือ และประตูหารน้ำ ทิศประจิม หมายถึง พญานาค
                -  วัดบ้านใหม่  ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยมตรงกันข้ามกับวัดโบสถ์มณีราม แต่เนื่องจากกระแสน้ำเซาะตลิ่งพัง ต้องย้ายวัดลึกเข้าไปจากฝั่ง
                -  วัดเวียงชัย  ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดแม่ราก ตามชื่อหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
                -  หมู่บ้านข่า  ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านเกาะระเบียง อยู่ในเขตตำบลแม่สำ อำเภอศรีสัชนาลัย



ชุมชนเมืองด้ง เมืองด้งอยู่ในเขตตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เมืองด้งได้ชื่อมาจาก เจ้าหมื่นด้ง โอรสเจ้าหมื่นโลกสามล้าน เจ้านครลำปาง ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๓ มีนามว่าเจ้าหาญแต่ท้อง เมื่อเจริญชันษาแล้วได้เป็นแม่ทัพของอาณาจักรล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้าหมื่นด้ง เจ้าเมืองนครลำปาง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๘๖ และได้รักษาการเจ้าเมืองเชียงชื่น ระหว่าง ปี พ.ศ.๒๐๐๓ - ๒๐๑๒ อีกด้วย ในห้วงเวลานี้ คงจะได้มาตั้งกองกำลังควบคุมเมืองเชลียง หรือศรีสัชนาลัย หรือเชียงชื่น ที่ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย บริเวณวัดต้นสนโพธาราม
            คำว่าเมืองด้ง ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุ พ.ศ.๒๔๒๘ ใบบอกเมืองสวรรคโลก จ.ศ.๑๒๔๗ แสดงว่าเมืองด้งคง จะได้รับการยกฐานะชุมชนบริเวณบ้านตึกขึ้นเป็นเมือง ตำแหน่งเจ้าเมืองมียศเป็นที่พระเมืองด้ง ขึ้นอยู่ในความปกครองของเมืองสวรรคโลก ชื่อเมืองด้งมีความเป็นมา ดังนี้
                -  พ.ศ.๒๐๐๓ - ๒๐๑๗ เป็นที่ตั้งกองกำลังควบคุมเมืองเชลียง หรือศรีสัชนาลัย หรือเชียงชื่นของเจ้าหมื่นด้งเจ้าเมืองนครลำปาง
                -  พ.ศ.๒๔๓๗ - ๒๔๔๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลป่างิ้ว อำเภอศรีสัชนาลัย เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอด้ง
                -  พ.ศ.๒๔๔๑ - ๒๔๕๖ ตำบลบ้านตึก เป็นที่ตั้งสาขาของที่ว่าการอำเภอด้ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย
            ชุมชนอำเภอสวรรคโลก ชุมชนตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยม ล้อมรอบด้วยวัดสว่างอารมณ์วรวิหาร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดจวน ประวัติศาสตร์ชุมชนแห่งนี้เกี่ยวข้องกับเมืองเชลียง เมืองศรีสัชนาลัย เมืองเชียงชื่น และเมืองสวรรคโลกเก่า เป็น เมืองลูกหลวงในสมัยสุโขทัย เป็นเมืองพระยามหานคร มีศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่ เท่ากับเมืองสุโขทัย เมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร และเมืองนครศรีธรรมราช ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมัยกรุงธนบุรีเจ้าเมืองสวรรคโลกเป็นเจ้าพญาสวรรคโลก ศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่ และต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๔ เจ้าเมืองสวรรคโลกเป็นที่พระสวรรคโลก
            หลังจาก ปี พ.ศ.๒๔๓๕ ทางกรุงเทพ ฯ ได้เริ่มส่งข้าราชการมาบริหารการปกครองควบคู่กับตำแหน่งขุนนางสืบตระกูล ทายาทตระกูลวิชิตนาค นามเดิมชื่อมั่งเป็นเจ้าเมืองสวรรคโลก ลำดับที่สี่ เรียงกันดังนี้
                -  พญาสวรรคโลก (นาค - ต้นตระกูลวิชิตนาค) พ.ศ.๒๓๗๘ - ๒๓๘๕
                -  พญาสวรรคโลก (นก ) ลูกพญาสวรรคโลก (นาค) พ.ศ.๒๓๘๕ - ๒๔๑๑
                -  พระยาสวรรคโลก (ด้วง) ลูกพระยาสวรรคโลก (นก) พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๓๓
                -  พระยาสวรรคโลก (มั่ง  วิชิตนาค) ลูกพระยาสวรรคโลก (ด้วง) พ.ศ.๒๔๓๓ - ๒๔๔๕
            เมืองสวรรคโลกใหม่ย้ายจากเมืองสวรรคโลกเก่ามาอยู่ที่บ้านวังไม่ขอน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๙ เมืองสวรรคโลกได้ย้ายไปสามครั้งแล้ว ตัวเมืองเดิมเป็นอย่างเมืองจริง ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำยม หรือแม่น้ำธานี มีกำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลงอย่างแน่หนา เมืองสวรรคโลกที่ว่ามาธรรมราชสร้าง เป็นเมืองเดิมทิ้งร้างแล้ว เมืองได้ลงมาตั้งใหม่ที่บ้านท่าชัย ซึ่งบัดนี้เรียกว่าเมืองเก่า อยู่ใต้เมืองเดิมลงมาคุ้งหนึ่ง ต่อมาก็ทิ้งอีก แล้วมาตั้งที่บ้านวังไม้ขอน อยู่ใต้เมืองเก่าลงไปมาก
            เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๗ ยังมิได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่ตั้งเจ้าเมือง มีแต่หลวงยกบัตรรักษาการแทนเจ้าเมืองสวรรคโลก เมืองสวรรคโลกมีเมืองขึ้นสามเมืองคือ
                เมืองบางขลัง  ปัจจุบันเป็นตำบลเมืองบางขลัง อำเภอสวรรคโลก ชื่อเมืองนี้ปรากฏตั้งแต่สมัยเชลียงแล้ว โบราณสถานสำคัญของเมืองนี้ได้แก่วัดโบสถ์เมืองบางขลัง วัดใหญ่ชัยมงคล และหอรบทุ่งเสลี่ยม เป็นต้น หลังจากปี พ.ศ.๒๕๐๑ ได้แยกพื้นที่ของเมืองบางขลังตั้งเป็นอำเภอทุ่งเสลี่ยม
                เมืองทุ่งยั้ง  อยู่ที่ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นที่ตั้งของวัดพระแท่นศิลาอาสน์ และวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองทางบางโพเป็นเมืองอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๕ ยกฐานะเมืองพิชัยจากเมืองตรีเป็นเมืองโท ตัดพื้นที่เมืองทุ่งยั้งในความปกครองของเมืองสวรรคโลก ให้อยู่ในความปกครองของเมืองพิชัยเช่นเดียวกับเมืองอุตรดิตถ์ หลังจาก ปี พ.ศ.๒๔๕๙ ได้ยกเมืองอุตรดิตถ์ขึ้นเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์ พื้นที่เมืองทุ่งยั้งจึงอยู่ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ตั้งแต่นั้นมา
                เมืองบางยม  ปัจจุบันเป็นตำบลเมืองบางยม อำเภอสวรรคโลก ปรากฏชื่อเมืองนี้ครั้งแรกในเอกสารจดหมายเหตุ พ.ศ.๒๓๘๗ ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๓๕ เมืองสวรรคโลกมีเมืองในปกครองหกเมืองคือ เมืองด้ง เมืองวิเศษชัยสัตย์ เมืองบางยม เมืองศรีนพมาศ เมืองพิรามรง และเมืองบางขลัง



ชุมชนเมืองสุโขทัยเก่า  ปัจจุบันอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง ฯ ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เจ้าเมืองสุโขทัย ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่ เท่ากับตำแหน่งสำคัญ ๘ ตำแหน่งในครั้งนั้นคือ พระมหาอุปราช เจ้าพระยามหาเสนาสมุหพระกลาโหม เจ้าพญาจักรีสมุหนายก เจ้าพญาสุรสีห์เจ้าเมืองพิษณุโลก เจ้าพญาศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองกำแพงเพชร เจ้าเมืองสวรรคโลก และเจ้าเมืองสุโขทัย
            ในสมัยธนบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระเชียงเงินเจ้าเมืองเชียงเงิน (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองตาก) เป็นผู้รั้งตำแหน่งพญาสุโขทัย
            ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระวิเชียรบุรี (ปัจจุบันเป็นชื่ออำเภอในจังหวัดเพชรบูรณ์) ดำรงตำแหน่งพญาสุโขทัย
            พ.ศ.๒๓๗๖ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้หลวงณรงอาสา กองส่วยไม้ขอนสัก บุตรพญาสุโขทัยคนเก่าเป็นเจ้าเมืองสุโขทัย
            พระยาศรีสัชนาลัย (เลี้ยง  ศิริปาละ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยคนแรก
            เมืองสุโขทัยย้ายจากเมืองเก่ามาอยู่ธานีตั้งแต่เมื่อใด ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน
            การอนุรักษ์เมืองสุโขทัยเก่าให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ จอมพล. ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ไปตรวจราชการถึงเมืองสุโขทัยเก่า พบโบราณสถานอันสำคัญอยู่ในสภาพปรักหักพัง สมควรที่จะฟื้นฟูบูรณะให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของประเทศ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะเมืองสุโขทัยเก่าขึ้นมาในปีเดียวกันนั้น ต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชรได้รับงบประมาณขุดแต่งบูรณะในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๘ - ๒๕๑๒ เป็นส่วนใหญ่
            ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ มีการใช้คำว่า อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นครั้งแรก รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาให้จังหวัดสุโขทัยมากเป็นพิเศษกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา



ชุมชนเมืองราชธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลราชธานี อำเภอเมือง ฯ ชาวบ้านเรียกกันเป็นสามัญว่า ธานี
            คำว่าธานีซึ่งเป็นชื่อตำบลอยู่ปัจจุบัน เข้าใจว่ามาจากคำว่า ทะเลหลวง ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ จารึกพ่อขุนรามคำแหงที่กล่าวว่า ด้านตะวันออกของตัวเมืองสุโขทัย เป็นที่ตั้งของทะเลหลวง ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำลำพัน แม่น้ำฝากระดาน คลองสามพวง ไหลมารวมกันเป็นทะเลหลวง แล้วไหลออกไปรวมกับแม่น้ำยมเก่าที่อำเภอกงไกรลาศ
            คำว่าธานี เป็นชื่อแม่น้ำท่าแพเดิมหรือแม่น้ำยมในปัจจุบัน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียกแม่น้ำด้านตะวันออกกำแพงเมืองสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.๒๐๐๒ ว่า แม่น้ำราชธานี
            ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๗๕ - ๒๓๗๘ ปรากฏชื่อเมืองราชธานีเป็นชื่อเมืองขึ้นของเมืองสุโขทัย
            ชื่ออำเภอเมือง ฯ มีลำดับความเป็นมาคือ ระหว่าง ปี พ.ศ.๒๔๔๒ - ๒๔๕๙ เรียกว่าอำเภอในเมือง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๐ - ๒๔๗๔ เรียกอำเภอธานี ตามชื่อตำบลธานี พ.ศ.๒๔๗๔ - ๒๔๘๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อำเภอธานีใช้ชื่ออำเภอว่า อำเภอสุโขทัยธานี จังหวัดสวรรคโลก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ กระทรวงมหาดไทยยุบ จังหวัดสวรรคโลก และอำเภอเมืองสวรรคโลก เป็นอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัยธานีจึงเปลี่ยนเป็น อำเภอเมืองสุโขทัย จนถึงปัจจุบัน




ชุมชนอำเภอศรีสำโรง  พื้นที่ของอำเภอศรีสำโรงมีชุมชนโบราณสามแห่งด้วยกัน คือ บ้านสระบัว ตำบลวังใหญ่ บ้านวังมีด (๑) ตำบลนาขุนไกร และบ้านวังมีด (๒) ตำบลขุนไกร นอกจากนี้วัดโรงฆ้อง และวัดป่าขมิ้น ตำบลเกาะตาเลี้ยง เป็นวัดโบราณอยู่ริมลำน้ำยมสายเก่า แสดงถึงการมีชุมชนในอดีตอยู่ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ด้วย
            โบราณสถานเมืองศรีสำโรง  ได้แก่ วัดสำโรงทอง อยู่ที่บ้านท่ามักกะสัง ตำบลราวต้นจันทน์ วัดโรงฆ้อง ปัจจุบันชื่อวัดวงฆ้อง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมเก่า ตำบลเกาะตาเลี้ยง เป็นวัดที่มีอายุประมาณ ๗๐๐ ปีมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุ อันได้แก่ พระพุทธรูปโบราณสี่องค์เดิมอยู่ที่วัดโบสถ์ เมืองบางขลัง ชาวบ้านได้อาราธนามาประดิษฐานที่วัดบ้านซ่าน ตำบลบ้านซ่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ ระฆังโบราณของถ้ำระฆัง ตำบลนาขุนไกร และได้นำมาถวายไว้ที่วัดบ้านซ่าน พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย อยู่ที่วัดคลองโป่ง ตำบลคลองตาล




ชุมชนอำเภอกงไกรลาศ  อยู่ที่ตำบลบ้านกร่าง อำเภอกงไกรลาศ เดิมคงจะเป็นเมืองกงครามในความปกครองของเมืองสุโขทัย และปรากฏชื่อเมืองกงไกรลาศ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
            ที่ว่าการอำเภอกงไกรลาศหลังแรกตั้งอยู่บนเกาะกง ในเขตตำบลกงในปัจจุบัน พื้นที่อำเภอกงไกรลาศมีวัดร้างมากเกือบ ๗๐ วัด เช่น วัดทุ่งเนินพยอม หรือวัดป่าแฝก อยู่ในเขตตำบลป่าแฝก มีโบราณสถานคือ ฐานวิหาร ฐานอุโบสถ กำแพงแก้ว หอไตร เตาเผาสังคโลกที่ระบายความร้อนแนวนอน



ชุมชนอำเภอคีรีมาศ  อยู่ในเขตตำบลทุ่งหลวง หนึ่งแห่งและตำบลศรีคีรีมาศอีกแห่งหนึ่ง ชื่อเมืองคีรีมาศมีปรากฏอยู่ในบันทึกวัดพระเชตุพน ตอนทำเนียบหัวเมือง ที่จัดทำขึ้นระหว่าง ปี พ.ศ.๒๓๗๕ - ๒๓๗๘ เป็นเมืองในความปกครองของเมืองสุโขทัย เจ้าเมืองเป็นที่พระคีรีมาศ



ชุมชนอำเภอบ้านด่านลานหอย  จากหลักฐานทางโบราณคดี พบคันดินและคูน้ำซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณ อยู่ในเขตตำบลวังน้ำขาวสองแห่ง จากจำนวน ๑๖ แห่งในเขตจังหวัดสุโขทัย เขาค่ายและบ้านด่าน สันนิษฐานว่า เดิมคงเป็นด่านโบราณ ระฆังโบราณที่เก็บรักษาอยู่ที่วัดสังฆาราม หรือวัดบ้านด่าน ตำบลบ้านด่าน นำมาจากถ้ำระฆังตำบลนาขุนไกร อำเภอศรีสำโรง
            ชื่อเดิมของชุมชนนี้ชื่อ บ้านด่านกับบ้านลานคอย เมื่อมีการแบ่งพื้นที่อำเภอเมืองสุโขทัย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ จึงนำเอาชื่อหมู่บ้านเก่าแก่ที่สุดมารวมกันเป็นชื่ออำเภอ แต่ชื่อลานคอยได้กลายไปเป็นลานหอย
            เขาค่าย บ้านด่าน และบ้านคอย  อยู่ระหว่างเมืองสุโขทัย และเมืองตาก เมื่อเกิดศึกพม่าที่ยกมาทางด่านแม่ละเมา ผ่านเมืองตาก เป็นหน้าที่ของเจ้าเมืองตาก จะต้องรายงานให้หมู่บ้านลานคอยทราบ แล้วหมู่บ้านลานคอยจะต้องรับส่งม้าเร็วไปรายงานบ้านด่าน บ้านด่านต้องรับส่งม้าเร็วไปส่งข่าวศึกกับเมืองสุโขทัย ให้เตรียมป้องกันเมือง สันนิษฐานว่า ถ้าทัพพม่ายกผ่านเข้ามาถึงเมืองตาก ราษฎรบ้านลานคอย และบ้านด่าน จะต้องรีบอพยพครัวเรือน และข้าวเปลือก เข้าไปอยู่ในกำแพงเมืองสุโขทัย ส่วนไพร่ชายซึ่งมีหน้าที่ต้องเป็นทหารทุกคน คงต้องเตรียมอาวุธประจำกายมาป้องกันข้าศึกอยู่บริเวณเขาค่าย ปัจจุบันบนเขาค่าย ยังคงมีกองหินก่อเป็นเชิงเทินเหลืออยู่เป็นแนวยาวตลอดภูเขา








 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 16 มิถุนายน 2555 16:50:47 น.
Counter : 832 Pageviews.  

อาณาจักรศรีวิชัย

อาณาจักรศรีวิชัย


(พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๘)


เมื่ออาณาจักรฟูนันล่มสลายลงในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ นั้น ดินแดนทางแหลมทองได้เกิดการตั้งอาณาจักรศรีวิชัย (จีนเรียก ชิลิโฟชิ หรือ คันโทลี หรือโคยิง) ขึ้นภายใต้การนำของราชวงศ์ ไศเลนทร์ มีอาณาเขตครอบคลุมแหลมมลายู  เกาะชวา  เกาะสุมาตรา  ช่องแคบมะละกา  ช่องแคบซุนดา และบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย  ทำให้อาณาจักรศรีวิชัยสามารถควบคุมเส้นทางค้าขายระหว่างจีนกับอินเดียรวมทั้งอาหรับ เปอร์เซีย และยุโรปได้


อาณาจักรศรีวิชัยนี้มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองปาเล็มบังในเกาะสุมาตราของ อินโดนีเซียขึ้นมาถึงบริเวณแหลมโพธิ์  ตำบลพุมเรียง  อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี     และเมืองท่า(ตามพรลิงค์หรือตำพะลิงค์)ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช     มีการพบศิลาจารึกภาษามาเลย์เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัยนี้ที่วัดเสมาเมือง   จังหวัดนครศรีธรรมราช  ส่วน เมืองครหิ ในสมัยศรีวิชัยนั้นเป็นเมืองท่าค้าพริก ดีปลีและพริกไทยเม็ด  โดยมีต้นหมากต้นมะพร้าวอยู่มาก  แต่ก็ยังมีความเชื่ออยู่ว่าเมืองครหินั้นไม่น่าจะใช่เมืองไชยา  กล่าวคือ ในหนังสือจู ฝาน จีน ของจีนเจา จู เกวาะ ได้ระบุชื่อเมืองต่างๆที่ขึ้นแก่อาณาจักรซัมฮุดซี หรือชาวกะ  มีชื่อเมืองเกียโลหิ   ซึ่งยุติชื่อว่าเป็นเมืองครหิ ตรงกับคำที่จารึก(ภาษาเขมร)ครหิที่อยู่บนฐานพระพุทธรูปนาคปรกสำริดองค์ใหญ่ ซึ่งพบอยู่ใกล้วัดเวียง เมืองไชยา ซึ่งเป็นสถานที่แห่งเดียวที่สุมาตราที่สั่งขึ้นมาให้อำมาตย์คลาไน ผู้ครองเมืองครหิจัดการหล่อขึ้นเมื่อพ..๑๗๒๖ ตรงกับมหาศักราช ๑๑๐๕    จึงมีข้อถกเถียงถึงว่า ครหิ นั้นเป็นการแสดงอำนาจทางเขมรหรือเกาะสุมาตรา  ซึ่งน่าจะเป็น ครหิ ที่เกิดขึ้นหลังจาก อาณาจักรศรีวิชัยล่มสลายลงแล้วหรือไปขึ้นอยู่กับเมืองตามพรลิงค์ในพ..๑๗๐๐ ดังนั้นเมืองไชยานั้นคงจะไม่ใช่เมืองครหิและน่าจะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยเสียมากกว่าเมืองปาเล็มบัง                


เมืองไชยานั้น ได้มีการสร้างเจดีย์แบบมหายาน ให้องค์เจดีย์เป็นรูปสีขระ แปลว่า แบบภูเขา คือเจดีย์ที่มียอดจำนวนมาก ตามคติให้มีพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ เช่น พระพุทธเจ้าพุทธะ  พระมัญชุศรี พุทธะ   พระญาณิพุทธะ   เป็นต้น  ซึ่งตรงกับเรื่องราวที่ว่า พระเจ้ากรุงศรีวิชัยให้สร้างไอษฎิเคหะ คือ เรือนอิฐหรือปราสาทอิฐขึ้น ๓ หลัง สำหรับประดิษฐานพระปฏิมาของ ปัทมปาณี  วัชรปาณี และมารวิชัย    ในพื้นที่เมืองไชยาแห่งนี้ พบว่านอกจากจะสร้างเจดีย์ที่พระบรมธาตุแห่งนี้แล้วยังมี เจดีย์ที่วัดแก้ว ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าแต่ชำรุด  และเจดีย์ที่วัดหลง  เดิมนั้นเหลือแต่ฐานที่อิฐที่มีลักษณะเดียวกัน     พระบรมธาตุไชยาองค์ปัจจุบันนี้ได้รับการบูรณะใหม่  เดิมนั้นเป็นเจดีย์ตั้งอยู่บนอุโมงค์ที่บรรจุหีบศิลาใบใหญ่ใส่พระบรมธาตุและสิ่งของต่างๆ เดิมที่พื้นมีรูระบายอากาศขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ ซม ๒ แห่งต่อมาได้อุดเสีย       ต่อมาแม่น้ำพาเอาดินมาถมบริเวณหมู่บ้านเวียงสูงประมาณ ๓ เมตรหรือ ๖ ศอก ส่วนพระเจดีย์นี้จมลงไปในดินประมาณเมตรครึ่ง   ต้องขุดแต่งกัน     เมืองครหิแห่งนี้หลังจากอาณาจักรศรีวิชัยหมดอำนาจลงก็ถูกทิ้งร้างมาจนถึงสมัยอยุธยา  พุทธศาสนาจึงได้ฟื้นฟูขึ้นโดยมีการสร้างพระพุทธรูปศิลาทึบขนาดใหญ่จากหินที่เขานางเอ อยู่หลังสวนโมกข์   มีอยู่ประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ องค์    


สำหรับคำว่า ไชยา นั้นน่าจะนำมาจากคำว่า ศรีวิชัย ซึ่งขุดพบศิลาจารึกพ..๑๓๑๘ ที่ระบุชื่อ พระยาศรีวิชัยนั้นว่า ศรีวิชเยนทรราชา,ศรีวิชเยศวรภูบดี และศรีวิชยนฤบดี  ที่หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินเมืองศรีวิชัย


นั่นหมายถึงศุนย์กลางอำนาจของพวกไศเรนทร(ราชาแห่งจอมเขา)อยู่ที่บริเวณเมืองไชยา ซึ่งเหมาะสมที่จะติดต่อกับอินเดียโดยเฉพาะที่เบ็งคอล  และเป็นเหตุให้พระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ที่เป็นฝีมือของช่างแบบปาละแท้เดินทางมาประดิษฐานที่เมืองไชยาได้   โดยเฉพาะการติดต่อมหาวิทยาลัยนาลันทาซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนามหายานในเบ็งคอล  จนมีความปรากฏในจารึกแผ่นทองแดงพบที่นาลันทาเมื่อพ..๑๓๙๒ ว่า ด้วยการที่ไศเรนทรอุปถัมภ์มหาวิทยาลัยแห่งนั้นไปจากไชยา   ในบริเวณเมืองไชยานั้นมีเขาน้ำร้อนเป็นภูเขาประจำวงศ์ไศเรนทรสำหรับใช้ประดิาฐานพระเป็นเจ้าตามลัทธิพราหมณ์ แม้จะมีการนับถือพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังยึดถือเป็นประเพณีการอาบน้ำร้อนที่ออกมาจากพุบนเขานั้นถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีการจัดทำสระน้ำสำหรับอาบของพระราชาตามประเพณีของอินเดีย   เรื่องนี้หากรวมไปถึงบริเวณเขานางเอ แล้วจะพบว่าหน้าถ้ำนั้นมีสระบัวขนาดใหญ่สองสระ  น่าจะมีบริเวณที่เหมาะสมให้ราชาแห่งไศเรนทรสร้างวังประทับร้อนอยู่บนเนินที่เขานี้ เพราะมองเห็นสระน้ำได้สวยงาม และหากจะทิ้งทองประจำวันลงสระตามตำนานราชาแห่งซาบากก็ทำได้


เมืองไชยาโบราณนี้เดิมเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่กว่าเมืองตามพรลิงค์(เมืองนครศรีธรรมราช)ซึ่งมีชุมชนเมืองเก่า และสร้างเจดีย์พระบรมธาตุไชยา  เจดีย์ที่วัดแก้ว  เจดีย์ที่วัดเวียง  เจดีย์ที่วัดหลง และพระอวโลกติเกศวรอย่างชวาอยู่จำนวนมากโดยเฉพาะพระอวโลกิเตศวรขนาดเท่าคนที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดี    เส้นทางติดต่อนั้นมีแม่น้ำหลวง(แม่น้ำตาปี)ไหลผ่าน เมื่อสำรวจเส้นทางน้ำพบว่าไปได้ถึงคีรีรัฐซึ่งมีทางข้ามไปลงที่แม่น้ำตะกั่วป่าได้อย่างสบาย น่าจะเป็นเส้นทางเดินของชาวอินเดียทางหนึ่ง   สำหรับเมืองตามพรลิงค์นั้นมีพระมหาธาตุองค์เดียว เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในสมัยหลัง  และมีหาดทรายแก้วกับลุ่มแม่น้ำน้อย   ประการสำคัญอ่าวบ้านดอนนั้นเป็นแหล่งที่เรือสินค้าจากจีนใช้เป็นท่าจอดเรือในสมัยโบราณได้    และรอบอ่าวบ้านดอนนั้นก็เป็นแหล่งเกษตรกรรมสำคัญ   ในจารึกพ..๑๗๗๓ ระบุว่า พระเจ้าจันทภาณุยังมีอำนาจอยู่เหนือดินแดนรอบอ่านบ้านดอน


สำหรับเมืองครหินั้นน่าจะอยู่แถวใต้เขมรลงมาทางญวน หรือแถวคอคอดกระ


พุทธศาสนาแบบมหายานเจริญรุ่งเรืองในอาณาจักรศรีวิชัย หลวงจีนอี้จิง เคยเดินทางจากเมืองกวางตุ้งประเทศจีนทางเรือของอาหรับผ่านฟูนัน    มาพักที่อาณาจักรศรีวิชัยนี้  ในเดือน ๑๑ พ.. ๑๒๑๔ เป็นเวลาสองเดือน ก่อนที่จะเดินทางต่อผ่านเมืองไทรบุรี    ผ่านหมู่เกาะคนเปลือยนิโคบาร์      ถึงเมืองท่าตามรลิปติที่อินเดีย เพื่อสืบพระพุทธศาสนา หลวงจีนอี้จิงบันทึกไว้ว่า ประชาชนทางใต้ของแหลมมลายูส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งได้อิทธิพลมาจากพ่อค้ามุสลิมอาหรับ ที่เดินทางผ่านเพื่อไปยังประเทศจีน  ศาสนาอิสลามได้เผยแผ่ไปยัง  มะละกา  กลันตัน ตรังกานู  ปาหัง และปัตตานีจนกลายเป็นรัฐอิสลามไป 


ต่อมาในพ..๑๕๖๘(.. 1025) อาณาจักรศรีวิชัยถูกอาณาจักรโจฬะ  จากอินเดียตะวันออกเฉียงใต้ ยกทัพเรือเข้าโจมตีทำให้อ่อนกำลังลง หลังจากนั้นในพ..๑๙๔๐ อาณาจักรศรีวิชัยได้ตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรมัชปาหิต  ที่มีอำนาจจากชวา


อาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงนั้นได้แผ่อำนาจลงมายังหัวเมืองต่างๆตลอดแหลมมาลายู และมีเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองสำคัญที่คอยดูแลหัวเมืองทางใต้









 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 16 มิถุนายน 2555 16:50:59 น.
Counter : 956 Pageviews.  

อาณาจักรทวารวดี



อาณาจักรทวารวดี


(พุทธศตวรรษที่ ๑๑๑๖)


ในสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๑ นั้นดินแดนอาณาจักรสุวรรณภูมิได้ถูกครอบครองโดยแคว้นอิศานปุระของอาณาจักรฟูนัน(หรือฟูนาน) และอาณาจักรเจนละ  (หรือเจินละ ซึ่งปรากฏหลักฐานว่า ขณะที่อาณาจักรฟูนันสลายตัวลงในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ นั้น ได้มีชนชาติอีกพวกหนึ่งที่แตกต่างกับชาวเจนละ ในด้านศาสนาและศิลปกรรม ได้มีอิทธิพลเข้าครอบครองดินแดนทางตะวันตกของอาณาจักรเจนละตั้งแต่เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรีขึ้นไปทางเหนือจนถึงเมืองลำพูนได้


จดหมายเหตุของภิกษุจีนชื่อเหี้ยนจั๋งหรือพระถังซัมจั๋ง(Hieun Tsing) ซึ่งเดินทางจากเมืองจีนไปประเทศอินเดียทางบก ราว พ.. ๑๑๗๒๑๑๘๘ และภิกษุจีน อี้จิง (I-Sing) ได้เดินทางอินเดียไปทางทะเลในช่วงเวลาต่อมานั้น ได้เรียกอาณาจักรใหญ่แห่งนี้ตามสำเนียงชนพื้นเมืองในอินเดียว่า โลโปตี้ หรือจุยล่อพัดดี้(ทวารวดี เป็นอาณาจักรที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองศรีเกษตร(อยู่ในพม่า)   ไปทางตะวันออกกับเมืองอิศานปุระ(อยู่ในเขมร) ปัจจุบันคือส่วนที่เป็นดินแดนภาคกลางของประเทศไทย


พงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ได้กล่าวถึงดินแดนแห่งนี้ไว้ว่า สามารถเดินเรือจากเมืองกวางตุ้งถึงอาณาจักรทวารวดีได้ในเวลา ๕ เดือน


หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑๑๓ คือเหรียญเงินเส้นผ่าศูนย์กลาง  ๑๙  ม.. พบที่นครปฐม และอู่ทองนั้น    พบว่ามีอักษรจารึกไว้ว่า ศรีทวารวดีศวรและ  มีรูปหม้อน้ำกลศอยู่อีกด้านหนึ่ง  ทำให้เชื่อได้ว่า ชนชาติมอญโบราณได้ตั้งอาณาจักรทวารวดี(บางแห่งเรียกทวาราวดี) ขึ้นในภาคกลางของดินแดนสุวรรณภูมิ และมีชุมชนเมืองสมัยทวาราวดีสำคัญหลายแห่งได้แก่     เมืองนครชัยศรี (นครปฐมโบราณ น่าจะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรในลุ่มแม่น้ำท่าจีน) เมืองอู่ทอง (จังหวัดสุพรรณบุรีในลุ่มแม่น้ำท่าจีน)   เมืองพงตึก(จังหวัดกาญจนบุรี ในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง )   เมืองละโว้(จังหวัดลพบุรีใน ลุ่มแม่น้ำลพบุรี)    เมืองคูบัว(จังหวัดราชบุรี ในลุ่มแม่น้ำแม่กลองเมืองอู่ตะเภา(บ้านอู่ตะเภา อ.มโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา) เมืองบ้านด้าย(.หนองเต่า อ.เมืองจ.อุทัยธานี ในแควตากแดด) เมืองซับจำปา(บ้านซับจำปา จังหวัดชัยนาทในลุ่มแม่น้ำป่าสัก  ) เมืองขีดขิน(อยู่ในจังหวัดสระบุรี) และบ้านคูเมือง(ที่อำเภออินทรบุรี จังหวัดสิงห์บุรี) นอกจากนั้นพบเมืองโบราณสมัยทวารวดีอีกหลายแห่ง เช่น ที่บ้านหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี  รวมทั้งหมู่บ้านในเขตอำเภอบ้านหมี่ และโคกสำโรง จังหวัดลพบุรีเป็นต้น


ชุมชนเมืองสมัยทวารวดีในภาคเหนือ พบที่เมืองจันเสน(อยู่ที่ตำบลจันเสน  อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ลุ่มแม่น้ำลพบุรี) เมืองบึงโคกช้าง (อยู่ในตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานีในแควตากแดด ลุ่มน้ำสะแกกรัง) เมืองศรีเทพ(ที่จังหวัดเพชรบูรณ์  ลุ่มแม่น้ำป่าสัก) เมืองหริภุญชัย(ที่จังหวัดลำพูนในลุ่มแม่น้ำปิง) และ เมืองบน(อยู่ที่ อำเภอพยุหคิรี จังหวัดนครสวรรค์  ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา


ชุมชนเมืองสมัยทวารวดีที่ในภาคตะวันออก  มีเมืองโบราณสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑๑๘ อยู่ที่เมืองพระรถ (อยู่ตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม  จังหวัดชลบุรี ซึ่งพบเครื่องถ้วยเปอร์เซียสีฟ้า)มีถนนโบราณติดต่อกับเมืองศรีพะโล      ซึ่งเป็นเมืองท่าสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๕๒๑  (อยู่ตำบลหนองไม้แดง  อำเภอเมืองชลบุรี  ลุ่มน้ำบางปะกง)ซึ่งพบเครื่องถ้วยจีนและญี่ปุ่นจากเตาอะริตะแบบอิมาริ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒       และติดต่อถึงเมืองสมัยทวาราวดีที่อยู่ใกล้เคียงกันเช่นเมืองศรีมโหสถ (ที่อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี)    เมืองดงละคร(ที่นครนายก)   เมืองท้าวอุทัย และ บ้านคูเมือง(จังหวัดฉะเชิงเทรา


ชุมชนเมืองสมัยทวาราวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีเมืองฟ้าแดดสงยาง หรือฟ้าแดดสูงยาง(ที่อำเภอกมลาไสยจังหวัดกาฬสินธุ์) ภูพระบาท(ที่อุดรธานี) เมืองโบราณที่พบในอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย  จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครพนม  จังหวัดสกลนครและเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว


ส่วนชุมชนเมืองสมัยทวาราวดีในภาคใต้นั้น ปรากฏว่าอิทธิพลของอาณาจักรทวาราวดีนั้นสามารถแพร่ลงไปถึงเมืองไชยา(สุราษฎร์ธานี เมือง นครศรีธรรมราช และเมืองยะรัง( ปัตตานี) ของอาณาจักรศรีวิชัยด้วย  


อาณาจักรทวารวดีนั้นจึงเป็นดินแดนเป็นของชนชาติมอญโบราณ มีศูนย์กลางที่เมืองนครปฐมโบราณ( ลุ่มแม่น้ำท่าจีนหรือนครชัยศรี) กับเมืองอู่ทองและเมืองละโว้(ลพบุรี ต่อมาได้ขยายอำนาจขึ้นไปถึงเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน  มีหลักฐานเล่าไว้ว่า ราว พ..๑๑๐๐ พระนางจามเทวี ราชธิดาของเจ้าเมืองลวปุระหรือละโว้ลพบุรี ได้อพยพผู้คนขึ้นไปตั้งเมืองหริภุญชัยที่ลำพูน  ส่วนที่เมืองนครปฐมนั้นมีการพบ พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเชื่อกันว่าบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อแรกสร้างมีลักษณะคล้ายสถูปแบบสาญจี ที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้ในอินเดีย เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ และมีการพบจารึกภาษาปัลลวะ บาลี สันสกฤต และภาษามอญ ที่บริเวณพระปฐมเจดีย์และบริเวณใกล้เคียง พบจารึกภาษามอญอักษรปัลลวะ บันทึกเรื่องการสร้างพระพุทธรูป เสาหงส์ วิหาร และแนวต้นมะพร้าวเป็นอาณาเขตพระอารามที่วัดโพธิ์ร้าง  จังหวัดนครปฐม อายุราว พ..๑๒๐๐ (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์)     และพบจารึกมอญที่ลำพูนอายุราว พ..๑๖๒๘(ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน


สำหรับเมืองอู่ทองนั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำจรเข้สามพันโบราณเป็นสาขาของแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเปลี่ยนทางเดิน ด้วยปรากฏมีเนินดินและคูเมืองโบราณเป็นรูปวงรีกว้างประมาณ ๑ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร  มีป้อมปราการก่อด้วยศิลาแลง มีการพบโบราณวัตถุอายุสมัย พ..๖๐๐๑๖๐๐ จำนวนมาก      นอกจากนี้ยังได้สำรวจพบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญอีกหลายแห่งเช่น


แหล่งโบราณคดีที่โบราณสถานคอกช้างดิน  ตำบลจรเข้สามพัน  อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรีนั้น  พบเงินเหรียญสมัยทวารวดีเป็นตรารูป แพะ สายฟ้า พระอาทิตย์ พระจันทร์ และรูปหอยสังข์  บางเหรียญจารึกอักษรปัลลวะและพบปูนปั้นรูปสตรีหลายคนเล่นดนตรีชนิดต่างๆ  เป็นต้นเป็นหลักฐานนี้ชี้ให้เห็นว่า เมืองอู่ทอง มีฐานะเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งของอาณาจักรทวารวดี 


เมืองนครไชยศรีโบราณ ซึ่งอยู่บริเวณที่ตั้งของวัดจุลประโทณ จังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน และถัดออกจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศใต้ประมาณ ๕๒ กิโลเมตรนั้นมีที่ดอน สำรวจพบคูเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยม ขนาด ๓,๖๐๐x ,๐๐๐ เมตร มีลำน้ำบางแก้วไหลผ่านกลางเมืองโบราณออกไปตัดคลองพระประโทณ ผ่านคลองพระยากง บ้านเพนียด  บ้านกลาง บ้านนางแก้ว แล้วออกสู่แม่น้ำนครไชยศรี       พบโบราณวัตถุสมัยทวารวดีจำนวนหนึ่งของเมืองนครไชยศรีโบราณแห่งนี้ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ


เมืองโบราณกำแพงแสน  จังหวัดนครปฐม  มีลักษณะคล้ายสำเภาโบราณ    ขนาดประมาณ ๓๒๕ ไร่ ( ปรากฏคันดินคูน้ำ สระน้ำและทางน้ำเก่าต่อกับห้วยยาง ปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะตื้นเขิน)


เป็นเมืองใหญ่ของอาณาจักรทวารวดีโบราณ มีวัดพระประโทณเป็นศูนย์กลาง ลักษณะเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส  มีการขุดสระน้ำขนาดต่าง ๆ  มีคลองขุดจากคลองพระประโทณผ่านไปยังดอนยายหอม ยาวประมาณ ๘ กิโลเมตร  มีเส้นทางน้ำหลายสายที่ยังปรากฏอยู่  เช่น คลองบางแก้ว คลองรังไทร และคลองรางพิกุล   เป็นต้น  


การพบศิลาสลักรูปวงล้อพระธรรมจักร์กับกวางหมอบ  เปลือกหอยทะเล สมอเรือ และสายโซ่เรือขนาดใหญ่ในเมืองนครปฐมโบราณ เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าในสมัยก่อนนั้นเมืองโบราณแห่งนี้อยู่ติดกับทะเลหรือเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรทวารวดี    ซึ่งมีการพบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปจำนวนมาก  และยังได้พุทธรูปหินทรายสลักประทับนั่งขนาดใหญ่ สมัยทวารวดี  จำนวน ๔ องค์  ที่วัดพระเมรุ  ใกล้องค์พระปฐมเจดีย์ ปัจจุบันนี้พระพุทธรูปองค์หนึ่งได้อัญเชิญไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาจังหวัดอยุธยา  องค์ที่สองอยู่ในอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์   องค์ที่สามอยู่ที่ลานประทักษิณด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ และองค์ที่สี่ อยู่ในวิหารน้อยวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดอยุธยา นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทศิลปทวารวดีสลักอยู่ในถ้ำฤาษี เขางู จังหวัดราชบุรี ด้วย 


จากหลักฐานที่พบสถาปัตยกรรมศิลปสมัยทวารวดี จากลายปูนปั้นประดับฐานเจดีย์ที่วัดพระเมรุ และเจดีย์จุลประโทณที่เมืองนครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณนั้นปรากฏว่า เป็นศิลปที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับอานันทเจดีย์ที่พุกาม  ประเทศพม่า   


นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ที่สำรวจพบเมืองโบราณ และชิ้นส่วนรูปปั้นดินเผา    ปูนปั้นลายผักกูดศิลปสมัยทวารวดีอีก เช่น ที่บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี 


ในจังหวัดเพชรบูรณ์ขุดพบธรรมจักรศิลาขนาดใหญ่ สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓๑๔ ที่เมืองโบราณศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ นั้นเป็นหลักฐานที่แสดงว่าชุมชนแห่งนี้ได้มีการนับถือศาสนาพุทธแล้ว   ส่วนหลักฐานสำคัญของพุทธศาสนาสมัยทวารวดีนั้นพบที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม เมืองฟ้าแดดสงยาง(หรือฟ้าแดดสูงยาง) อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์   ใกล้แม่น้ำชี ซึ่งพบเสมาหินจำนวนมากเป็นเสมาหินทรายสมัยทวารวดี ขนาดใหญ่อายุราว ๑,๒๐๐ ปี มีอายุเก่าแก่กว่าสมัยขอมนครวัด   ใบเสมานั้นจำหลักเรื่องพุทธประวัติโดยรับอิทธิพลมาจากศิลปแบบคุปตะของอินเดีย พบเสมาหินบางแท่งมีจารึกอักษรปัลลวะ ของอินเดียใต้ไว้ด้วย


บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท  อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี  พบภาพสลักภาพนูนสูงอยู่ในซอกผนังหินทราย เป็นพระพุทธรูปศิลปทวารวดี ประทับนั่งขัดสมาธิ ในบริเวณที่เรียกว่าถ้ำพระ เศียรพระพุทธรูปองค์นี้ถูกทำลายต่อมาได้ซ่อมแซมให้สมบูรณ์แล้ว


สำหรับดินแดนภาคใต้นั้นมีการขุดพบดินเผาลวดลายดอกบัวศิลปสมัยทวารวดีที่เมืองโบราณยะรัง    จังหวัดปัตตานี ใช้สำหรับตกแต่งโบราณสถาน 


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงการสิ้นสุดของอาณาจักรทวารวดีไว้ว่า


 “พระเจ้าอนุรุทรมหาราชแห่งเมืองพุกามประเทศพม่า   ทรงยกกองทัพเข้ามาโจมตีของอาณาจักรทวาราวดี  จนทำให้อาณาจักรทวารวดีสลายสูญไป


ต่อมาอาณาจักรขอมหลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สวรรคตใน พ.. ๑๗๓๒ อำนาจก็เริ่ทมเสื่อมลงทำให้บรรดาเมืองประเทศราชที่อยู่ในอิทธิพลของขอมต่างพากันตั้งตัวเป็นอิสระ    ดังนั้นใน    ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พ่อขุนบางกลางหาว  เจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ซึ่งได้พระนางสิขรเทวีพระธิดาขอมเป็นมเหสีและได้รับพระนามว่าขุนศรีอินทราทิตย์พร้อมพระขรรค์ชัยศรี ได้ร่วมกันทำการยึดอำนาจจากขอม  และให้พ่อขุนบางกลางหาว  สถาปนาเป็น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และประกาศตั้งอาณาจักรสุโขทัยเป็นอิสระจากการปกครองของขอม


พ่อขุนรามคำแหง พระราชโอรสของขุนศรีอินทราทิตย์ ได้ครองราชย์และทรงดัดแปลงอักษรขอมและมอญมาประดิษฐเป็นลายสือไทย


ในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงได้ระบุชื่อเมืองที่อยู่ในอำนาจของสุโขทัยหลายเมือง    ก่อนนั้นเมืองเหล่านี้เคยอยู่ในอาณาจักรทวารวดีโบราณ เช่นเมืองสุพรรณภูมิ(สุพรรณบุรี) เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองแพรก(ชัยนาท) เป็นต้น


ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พระเจ้าไชยศิริ โอรสของพระเจ้าพรหมแห่งโยนกนครทางเหนือ ถูกกษัตริย์เมืองสุธรรมวดียกกองทัพมารุกราน พระเจ้าไชยศิริสู้ไม่ได้จึงหนีข้าศึกมาเมืองกำแพงเพชร และอพยพหนีลงมาถึงดินแดนที่เคยเป็นอาณาจักรทวารวดี แล้วตั้งราชวงศ์อู่ทองขึ้น 


ต่อมา พ.. ๑๘๙๓ พระเจ้าอู่ทองทรงย้ายราชธานีจากเมืองอู่ทอง มาตั้งมั่นที่บริเวณใกล้เมืองอโยธยาเดิมที่ปละคูจาม ใกล้หนองโสน (อาจเป็นเพราะแม่น้ำจรเข้สามพันเปลี่ยนทางเดิน หรือ เกิดโรคระบาด) แล้วพระองค์ได้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นามว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาฯ








 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 16 มิถุนายน 2555 16:51:10 น.
Counter : 828 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  
 
 

tech_loso
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add tech_loso's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com