Group Blog
 
All Blogs
 

สบู่เจลลี่_ส่วนผสมและอุปกรณ์







ตอนที่ 2 : เจาะลึกส่วนผสมและอุปกรณ์




ส่วนผสมในสบู่เจลลี่แบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้

1. สารก่อเจล เช่น คาร์ราจีแนน (Carrageenan) วุ้น (Agar) และเจลาติน(Gelatin) เป็นต้น

ตัวที่เหมาะกับการทำสบู่เนื้อเจลลี่มากที่สุดคือคาร์ราจีแนนเพราะให้เนื้อสบู่ที่มีความแข็งแรง และคงตัวได้ที่อุณหภูมิปกติ

2. ตัวทำละลาย เช่น น้ำกลั่น ( Distilled water) หรือ น้ำสะอาด (DI water)

3. สารชำระล้าง (Surfactants) มีหลายกลุ่มให้เลือก ถ้าต้องการทำสบู่เพื่อผิวหน้าควรเลือกประเภท non-ionic เช่น Decyl glucoside

4. สารช่วยเพิ่มความคงตัว ความใส และความชุ่มชื้นให้แก่ผิวเช่น กลีเซอรีน (Glycerine),ซอร์บิทอล (Sorbitol), โพรพิลีนไกลคอล (Propylene glycol)

ตัวที่นิยมใช้คือ กลีเซอรีน เนื่องจากหาซื้อได้ง่ายและราคาถูกกว่าตัวอื่น

5. ส่วนผสมแต่งเติมเพื่อเพิ่มคุณสมบัติเพิ่มความน่าใช้เช่น สี และกลิ่น

เราสามารถใส่สารสกัดหรือวิตามินต่างๆเข้าไปในสูตรได้ ตลอดจนสีและน้ำหอมซึ่งโดยรวมแล้วไม่ควรเกิน 5%

6. สารกันเสีย ซึ่งมีหลายชนิดควรเลือกใช้ชนิดที่ออกฤทธิ์ได้ดีที่pH กว้าง ตัวที่นิยมใช้เช่น 

    กลุ่มพาราเบน (Parabens) เช่น Methylparaben, Propyl paraben

    กลุ่มยูเรีย (Urea Derivatives) เช่น GermallPlus

    กลุ่มฟีนอล (Phenol Derivatives) เช่น Phenoxyethanol

    และกลุ่มสารกันเสียแบบธรรมชาติ (Natural Preservatives) ซึ่งควรสอบถามจากผู้จำหน่ายโดยตรง


อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้

1. เตาไฟฟ้า หรือหม้อต้ม 2 ชั้น

2. เครื่องชั่งส่วนผสม ควรเลือกแบบที่มีความละเอียด 0.1 g

3. ภาชนะปากกว้างเป็นแก้วที่ทนความร้อน หรือสแตนเลส สำหรับใส่สารละลาย2 ใบ

4. ช้อนสแตนเลส หรือไม้พายซิลิโคน

5. เทอร์โมมิเตอร์

6. ภาชนะพลาสติก หรือแม่พิมพ์ซิลิโคน สำหรับเทสบู่

7. หลอดหยดพลาสติก สำหรับหยดสี น้ำหอม


ตอนต่อไปจะเป็นวิธีทำสบู่เจลลี่แล้วนะคะ






 

Create Date : 12 มีนาคม 2560    
Last Update : 12 มีนาคม 2560 14:09:22 น.
Counter : 1287 Pageviews.  

สบู่เจลลี่เนื้อนุ่ม..ทำดีๆขายได้



ตอนที่ 1 : ทำความรู้จักสบู่เจลลี่


สบู่รูปแบบใหม่ที่กำลังจะมาแรงก็คือสบู่เจลลี่ (Jelly-liked Soap) เนื้อสบู่จะมีความยืดหยุ่นคล้ายขนมเยลลี่หรือวุ้นที่ต้องแช่ในตู้เย็น แต่สบู่เจลลี่สามารถคงรูปได้ที่อุณหภูมิปกติ ใช้ฟอกทำความสะอาดร่างกายได้เหมือนสบู่ทั่วไป แต่ให้ความรู้สึกที่นุ่มนวลกว่า เนื่องจากเนื้อสัมผัสอันอ่อนนุ่มของสบู่เจลลี่นั่นเอง

บางท่านคงได้เคยเห็นสบู่ลักษณะนี้หรือได้ลองใช้มาบ้างแล้วไม่ว่าจะเป็นสบู่เจลลี่เก๋ไก๋สไตล์ญี่ปุ่น หรือแบบเรียบง่ายสไตล์ตะวันตกก็ตาม บางท่านอาจจะสงสัยว่าสบู่แบบนี้ทำมาจากอะไร ถ้าไปหาดูในยูทูปก็จะเจอการสอนทำสบู่เจลลี่มากมาย โดยใช้ส่วนผสมที่หาได้ง่ายในบ้านหรือในครัว ซึ่งหลักๆก็คือ สบู่เหลว กับ เจลาตินผง สบู่ที่ทำจากเจลาตินให้เนื้อใสสวยงามแต่มีข้อจำกัดคือต้องอยู่ในตู้เย็นและคงตัวอยู่ไม่นาน ซึ่งน่าจะเหมาะกับทำไว้ใช้เองมากกว่า

ส่วนผสมหลักในการผลิตสบู่เจลลี่จะใช้คาร์ราจีแนน(Carrageenan) เป็นสารก่อเจล ซึ่งเป็นโพลีแซคคาไรด์สกัดจากสาหร่ายทะเลชนิดเดียวกับที่นิยมใช้ในการทำขนมหวานประเภทเยลลี่ พุดดิ้ง หรือไอศกรีม ในวงการเครื่องสำอาง คาร์ราจีแนนยังใช้เป็นสารเพิ่มความหนืดและช่วยในการคงตัวของอิมัลชันในพวกครีมหรือโลชันอีกด้วย

คาร์ราจีแนนแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้ 3 ชนิด คือ Kappa, Iota และ Lambda ตัวที่ใช้ก่อเจลได้ คือ Kappaและ Iota ส่วน Lambda ไม่มีคุณสมบัติก่อเจล

คาร์ราจีแนน สามารถละลายน้ำได้โดยต้องใช้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 70oC และการปั่นผสม เพื่อให้คาร์ราจีแนนดูดซับน้ำเต็มที่และทั่วถึง จึงจะได้เนื้อเจลที่สมบูรณ์

ตอนต่อไปจะมาเจาะลึกส่วนผสมและอุปกรณ์กันนะคะ




 

Create Date : 12 มีนาคม 2560    
Last Update : 12 มีนาคม 2560 13:48:48 น.
Counter : 4900 Pageviews.  

ประสบการณ์เรียนทำเครื่องสำอางแบบออนไลน์







FORMULA BOTANICA

สถาบันนี้เปิดสอนแบบออนไลน์อย่างเดียวตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันมีนักเรียนจากทั่วโลกมาเรียนประมาณสองพันกว่าคน หลักสูตรที่สอนก็มีหลากหลายตั้งแต่ระดับ Certificate จนถึง Diploma โดยจะเน้นการสอนทำเครื่องสำอางจากสารธรรมชาติและออร์แกนิคเท่านั้น

เมื่อเราได้จ่ายค่าลงทะเบียนแล้วจะได้รับ Password เพื่อเข้าสู่ห้องเรียนในหลักสูตรของเราซึ่งในส่วนนี้ก็จะเป็นเฉพาะแต่ละคน เนื้อหาของหลักสูตรจะแบ่งเป็นหมวดหมู่ให้เราเรียนตามขั้นตอนจะข้ามขั้นตอนไม่ได้ เพราะระบบจะล็อคไว้ไม่ให้เราเห็น โดยในหมวดหมู่หลักก็จะมีบทเรียนย่อยๆลงไปอีก เนื้อหาที่สอนจะเริ่มพื้นฐานก่อนเช่นระบบผิวหนังประกอบด้วยอะไรบ้าง มีหน้าที่อย่างไร เพื่อให้เราได้เข้าใจการทำงานของเซลล์ผิวหนัง และปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง

เนื้อหาในทางปฏิบัติจะแทรกเข้ามาเรื่อยๆโดยปูพื้นฐานมาก่อน เช่นให้เรารู้จักพวกส่วนผสมต่างๆ คุณสมบัติของสารแต่ละชนิด ปริมาณการใช้ในสูตร ข้อจำกัดการใช้ในผลิตภัณฑ์ ฯลฯ 

พอเราเรียนจบแต่ละบท จะมีการทดสอบท้ายบทถ้าเป็นแบบปรนัยก็จะประเมินด้วยระบบของเว็บให้คะแนนออกมาเลย แต่ถ้าเป็นแบบอัตนัยจะมีทีมติวเตอร์ของสถาบันมาตรวจและให้คะแนนพร้อมกับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์มากๆ

ในส่วนของปฏิบัติ เป็นสิ่งที่ท้าทายมากเพราะมันจะเสมือนการเข้าห้องทดลอง ที่เราจะต้องลองผิดลองถูกเองและต้องทำการบันทึกไว้ทุกขั้นตอน ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร นั่นคือบทเรียนทั้งสิ้น ถ้าผลออกมาดี แสดงว่าทำถูกวิธี แต่ถ้าผลออกมาไม่ดีก็ต้องจำไว้เหมือนกันเพื่อที่เราจะได้ไม่ทำอย่างนั้นอีก

การสอบในภาคปฏิบัติ คือจะมีการให้เราทดลองทำเครื่องสำอางสักชิ้นหนึ่งแล้วให้เราอธิบายว่าผลที่ได้เป็นอย่างไร จุดดีจุดด้อยในการทำของเราปัญหาที่เราเจอมีอะไรบ้างก็เขียนบรรยายไปเท่าที่ความสามารถด้านภาษาอังกฤษจะมีพอให้ติวเตอร์เขาเข้าใจ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะผ่าน

ในหลักสูตรเขาจะมี support ในด้านต่างๆให้ด้วย ตัวอย่างเช่น

- ห้องสมุดความรู้ที่เราสามารถเข้าไปโหลดข้อมูลมาเก็บไว้ได้ซึ่งจะมีพวกเอกสารวิชาการ งานวิจัย และบทความจำนวนมาก

- กลุ่มทาง facebook เพื่อให้ทุกคนเข้ามาแชร์ขอความคิดเห็น คำแนะนำ นำเสนอผลงาน นอกจากนี้ทางสถาบันยังส่งเสริมให้คนที่มาเรียนสามารถทำธุรกิจของตัวเองได้โดยยินดีจะช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในกลุ่มให้ด้วย

- มีติวเตอร์ที่พร้อมจะให้คำแนะนำ ซึ่งเราสามารถจะส่งข้อความหรือปัญหาไปถามได้เลย

- มี webinar ให้ดูและมีวิดีโอสาธิต เพื่อให้เราได้ศึกษาตามความต้องการ

ขอจบการเล่าประสบการณ์ไว้เท่านี้นะคะเดี๋ยวเรียนจบหลักสูตรแล้ว อาจจะมีอะไรมาเพิ่มเติมค่ะ




 

Create Date : 26 กรกฎาคม 2559    
Last Update : 26 กรกฎาคม 2559 0:31:15 น.
Counter : 718 Pageviews.  

เจาะลึกอุปกรณ์



ก่อนจะไปคุยเรื่องวัตถุดิบขอเจาะลึกข้อดีข้อด้อยของอุปกรณ์แต่ละชนิดกันก่อนนะคะเผื่อจะได้เป็นแนวทางว่าควรจะเลือกซื้ออุปกรณ์แบบไหนดี

อันดับแรกว่ากันที่ภาชนะ

1. ภาชนะที่ใช้ส่วนใหญ่นิยมแก้วเหมือนตามห้องปฏิบัติการทั่วไปได้แก่ Beaker ขนาดต่างๆ ควรจะเริ่มที่ขนาดเล็ก 50 ml, 80 ml, 100 ml, 250 ml ต้องมีหลายๆขนาดนะคะเพราะเวลาผสมสาร อาจจะไม่ได้ผสมลงไปพร้อมกันทีเดียว สารบางตัวมีข้อจำกัดต้องผสมกับสารนี้เท่านั้น บางตัวเป็นผงต้องละลายด้วยสารนี้ก่อน และอื่นๆ และควรจะมีเผื่อไว้สักขนาดละ 2 ใบ (เผื่อแตกค่ะ) แต่ถ้าทุนหนาจะมีมากกว่านี้ก็ตามอัธยาศัยค่ะ

2. ภาชนะที่เป็นสแตนเลสไม่ค่อยเหมาะกับการทำปริมาณน้อยๆหรือเริ่มทดลองทำ เพราะเราจะมองไม่เห็นปฏิกิริยาของสารต่างๆขณะผสมได้ชัดเจนเมื่อเทียบกับใส่ในภาชนะแก้ว ส่วนเหตุผลอื่นๆก็คือภาชนะสแตนเลสไม่ค่อยมีขนาดเล็กๆค่ะ แถมยังราคาแพงกว่าแบบแก้วอีกด้วย

3. ภาชนะพลาสติกควรจะเป็นชนิด Polypropylene ลักษณะสีขาวขุ่น เนื้อเหนียวไม่เปราะ นำมาใช้ได้นะคะหากเป็นการผสมที่ไม่ต้องใช้ความร้อน อันนี้จะมีสำรองไว้ก็ได้ค่ะ ขนาด 500 หรือ 1,000 ml

อันดับที่ 2 อุปกรณ์ตักผสม

อุปกรณ์นี้ได้แก่ ช้อนตักสารจะเป็นพลาสติก สแตนเลส ได้หมดค่ะ ควรจะมีหลายๆขนาด หลายๆแบบ เพราะตักเสร็จก็ใช้กวนได้เลยค่ะหรืออาจจะซื้อพวกแท่งแก้วสำหรับกวนสาร (stirring rod) โดยเฉพาะก็ได้ค่ะ เอาแบบสั้นๆที่เหมาะกับบีคเกอร์ของเรานะคะ และควรจะมีตะกร้อสแตนเลสขนาดเล็กไว้สำหรับผสมสาร โดยเฉพาะพวกอีมัลชั่นที่ต้องใช้ความแรงและเร็วขณะผสม ตัวนี้จะช่วยได้มากเลยค่ะ

อันดับที่ 3 เครื่องชั่ง

อันนี้สำคัญเลยค่ะขอแนะนำว่าถ้าไม่มีข้อจำกัดเรื่องเงินๆทองๆ ก็กัดฟันซื้อแบบยี่ห้อดีหน่อยสำหรับความละเอียด .1 g. สนนราคาจะอยู่ที่ประมาณสี่-ห้าพัน คิดว่าเพียงพอแล้วนะคะสำหรับการทำไว้ใช้เอง แต่ถ้ายังไม่อยากลงทุนขนาดนั้นจะซื้อหาของจีนมาใช้ก็ไม่ว่ากัน ที่ความละเอียดขนาด .1 g แค่ 5-600 บาทเองแต่ถ้ามั่นใจว่าจะขอยึดมั่นในการทำเองก็ลุยเลยค่ะ

อีกอันหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือหลอดดูดสาร (Pipette) ประหยัดสุดๆก็ใช้แบบพลาสติกขนาด 1-3 ml. ติดไว้สัก 3-4 อัน สำหรับดูดสารที่ใช้ปริมาณน้อยในส่วนผสมซึ่งไม่สะดวกต่อการชั่งน่ะค่ะ

อันดับ 4 อุปกรณ์ให้ความร้อน

ใช้เตาไฟฟ้าง่ายและประหยัดเงินดีค่ะ แบบเตาแม่เหล็กไฟฟ้าก็ดีค่ะตั้งอุณหภูมิได้แล้วก็ร้อนเร็วทันใจ หรือถ้าใครมีหม้อสุกี้อยู่แล้วก็นำมาใช้ได้เลย ข้อสำคัญเราจะไม่เอาสารใส่ในภาชนะแล้วตั้งไฟโดยตรงนะคะ แต่จะใช้ลักษณะการได้รับความร้อนผ่านน้ำอีกทีค่ะ นั่นก็คือถ้าเป็นเตาธรรมดาจะต้องมีถาดสแตนเลสใส่น้ำเพื่อรองรับภาชนะแก้วของเราอีกที ทั้งนี้เพื่อป้องกันการทำลายคุณสมบัติของสารสำคัญค่ะ

อันดับสุดท้าย เครื่องวัดอุณหภูมิและความเป็นกรด/ด่าง

ทำไมจึงต้องมีเครื่องวัด 2 ตัวนี้เพราะส่วนผสมที่เราใช้เป็นสารเคมีค่ะ ปฏิกิริยาเคมีมีหลายอย่างเกิดขึ้นโดยที่เราไม่เห็น และสัมผัสไม่ได้ซึ่งถ้าเราไม่สามารถรับรู้เราก็จะควบคุมการทำงานของมันไม่ได้ค่ะ ในการผสมสารต่างๆเพื่อทำเครื่องสำอาง โดยพื้นฐานแล้วต้องเกี่ยวข้องกับ อุณหภูมิและค่ากรด/ด่าง ซึ่งจะเข้าใจมากขึ้นเมื่อถึงขั้นตอนการเลือกวัตถุดิบ ที่จะนำมาคุยกันในคราวต่อไปค่ะ

สำหรับอุปกรณ์วัดอุณหภูมิ หรือเทอร์โมมิเตอร์ ถ้าใช้แบบแท่งแก้วมีปรอทข้างใน ราคาก็ถูกหน่อย อันนึงไม่ถึง 100 บาท แต่ถ้าแบบใช้เลเซอร์วัดและแสดงผลเป็นดิจิตอลก็จะสะดวกกว่ามากคะ เพราะไม่ต้องสัมผัสกับสารโดยตรง ของจีนก็มีนะคะ ราคาไม่ถึงพัน

ส่วนเครื่องวัดค่ากรด/ด่างของจีนก็ถูกและใช้ได้ดีเลยค่ะ ราคาประมาณ 4-500 บาทก็ลองหาซื้อกันนะคะ 





 

Create Date : 14 กรกฎาคม 2559    
Last Update : 14 กรกฎาคม 2559 21:14:33 น.
Counter : 581 Pageviews.  

เตรียมอุปกรณ์



การที่เราจะทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง นอกจากจะต้องจัดหาที่ทางให้เรียบร้อยแล้วก็จะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือมาช่วยให้การทำงานของเราบรรลุผลสำเร็จด้วยค่ะ มาดูกันนะคะว่าเครื่องมือหรืออุปกรณ์อะไรบ้างที่จำเป็นต้องมีสำหรับการทำเครื่องสำอางที่บ้าน

1. ภาชนะสำหรับใส่สารที่เราจะทำการผสม อาจจะเป็นแก้ว สแตนเลส หรือพลาสติกเนื้อดี ก็ได้ค่ะ

2. อุปกรณ์ที่เอาไว้ตัก และกวนส่วนผสม จะเป็นแก้ว สแตนเลส หรือพลาสติก ก็ได้เช่นกัน

3. เครื่องชั่งน้ำหนักสาร ควรจะมีความละเอียดเริ่มต้นที่ .1 g. เป็นอย่างน้อย แต่ถ้าได้ระดับ .01 g. ก็จะดีมากค่ะเพราะวัตถุดิบออกฤทธิ์ (Actives) จะใช้ปริมาณน้อยมากสำหรับการทำปริมาณน้อยๆ และควรมีหลอดดูดสาร (Pipette) แบบพลาสติกก็ได้ค่ะ ราคาย่อมเยาดี

4. อุปกรณ์ให้ความร้อน เช่น เตาไฟฟ้า เพราะส่วนผสมบางตัวต้องการความร้อนช่วยเร่งปฏิกิริยา

5. เครื่องมือวัดต่างๆ ที่ควรจะต้องมีคือ 2 ตัวนี้ค่ะ เครื่องวัดอุณหภูมิ (Thermometer) แบบปรอท หรือดิจิตอล และเครื่องวัดค่าความเป็นกรด/ด่าง (pH Meter) แบบแถบกระดาษ หรือดิจิตอล

เอาล่ะค่ะ ถ้าอุปกรณ์พร้อมแล้วเราจะมาเตรียมพร้อมเรื่องวัตถุดิบในตอนต่อไปนะคะ




 

Create Date : 13 กรกฎาคม 2559    
Last Update : 13 กรกฎาคม 2559 17:21:20 น.
Counter : 984 Pageviews.  

1  2  

สมาชิกหมายเลข 1136684
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เชิญเยี่ยมชม http://www.soapchalet.com หรือ http://www.facebook.com/soapchalet
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1136684's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.