เรียกมาคุยให้เขียนใบลาออก ใบลาออกมีผลหรือไม่..?
หนูเขียนใบลาออกให้เขาไปแล้ว จะฟ้องเขาได้หรือค่ะ..? คุณใจดี มีน้ำใจ ถามด้วยความรู้เสียดายที่เขียนใบลาออกให้บริษัทไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่อยากออก จึงนำความเสียดายนั้นมาปรึกษาผมว่าจะทำอะไรได้บ้าง.. เรื่องมีอยู่ว่า... คุณใจดี มีน้ำใจ ท่านนี้เป็นผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งมาหลายปี ประมาณวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ผู้บริหารแจ้งให้เขาทราบว่า ผลงานของเขาตกต่ำลงมาก ขายไม่ได้ตามเป้า ทางฝ่ายบริหารจึงมีความคิดว่าจะเปลี่ยนผู้จัดการคนใหม่มาทำหน้าที่แทนคุณใจดี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป ระหว่างนี้ขอให้คุณใจดี หยุดงานไปปรึกษาสามีก่อนได้เลยว่าจะทำอาชีพอะไรต่อ วันนี้ขอให้คืนรถประจำตำแหน่ง คืนโทรศัพท์มือถือไว้ที่บริษัทและตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป ไม่ต้องมาทำงาน หัวใจคุณใจดี ตกลงไปอยู่ที่ตาตุ่มทันที !! พอได้สติขึ้นมาบ้าง ก็ถามว่า บริษัทจะช่วยเหลือเรื่องเงินทองให้หนูบ้างไหมค่ะ? ผู้บริหารท่านนั้นบอกเขาว่าจะเสนอให้บริษัทจ่ายเงินให้ 6 เดือน จากนั้นก็บอกตามสูตรว่า เพื่อไม่ให้เสียประวัติการทำงาน และเพื่อเสนอให้ผู้บริหารพิจารณาช่วยเหลือเงินได้ง่าย จึงขอให้คุณใจดี ช่วยเขียนใบลาออกให้ด้วย และยื่นใบลาออกให้คุณใจดี เขียนให้ ใจจริงคุณใจดีไม่อยากออก ไม่อยากเขียน ยังคิดไม่ออกว่าจะไปทำงานอะไรต่อ แต่คิดว่าเขาไม่ต้องการให้ทำงานต่อ เขาจะช่วยเรื่องเงินด้วย ดีกว่าออกไปเฉย ๆ ก็เลยเขียนใบลาออกให้เขาไป จากนั้นก็คืนกุญแจรถ คืนโทรศัพท์มือถือให้อย่างว่าง่าย แล้วนั่งแท็กซี่กลับบ้าน เวลาผ่านไปแล้ว 3 เดือนกว่า ๆ เงินที่ผู้บริหารบอกว่าจะช่วยนั้นก็ยังไม่ได้ โทรหาก็บ่ายเบี่ยงบอกว่า..เจ้านายไม่อยู่..เจ้านายยังไม่อนุมัติ...ยิ่งผู้จัดการฝ่ายบุคคลชี้แจงอ้ำๆ อึ้งๆ ว่า ก็คุณใจดี ตัดสินใจเขียนใบลาออกเอง บริษัทจึงไม่จ่ายเงินให้ครับ ก็เลยแน่ใจว่า ถูกหลอกแน่แล้ว..! เอาละสิทีนี้..ความดันโลหิต ความโกรธ ความ รู้สึกเจ็บแปล๊บที่หัวใจ แน่นขึ้นมาจุกหน้าอก ขึ้นมาทันที ไปปรึกษาเจ้าหน้าที่แรงงาน ก็บอกว่า การที่ผู้บริหารพูดว่าจะเสนอให้เงินช่วยเหลือนั้นไม่มีพยาน ไม่มีหลักฐาน และบอกว่าการเขียนใบลาออกด้วยตนเอง ขณะมีสติสัมปชัญญะนั้นมีผลแล้ว จะฟ้องร้องก็ยากที่จะชนะ ตกลงว่าหนูมีโอกาสจะฟ้องเขาได้ไหมคะ อาจารย์ เธอถามอีกครั้งหลังจากเล่าจบ
ท่านทั้งหลายครับ..เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กๆ หรือบริษัทใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียงก็เกิดขึ้นไม่น้อย สิ่งที่ผู้บริหารคิดก็คือ 1. ไม่อยากเสียเงิน จะให้ใครออกทำไมต้องแถมเงินด้วย 2. กลัวเสียชื่อเสียง ที่เลิกจ้างพนักงาน ถ้ากล่อมให้เขียนใบลาออกได้ ก็บอกคนอื่นได้ว่าเขาลาออกเอง 3. คิดว่าการให้เขียนใบลาออกเอง ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิไปฟ้องศาล วิธีการผิดๆ ที่มักจะทำกัน ก็คือ เรียกเขามาคุยและกล่อมให้เขาเขียนใบลาลออกให้ ให้เหตุผลว่าเพื่อไม่ให้เสียประวัติบ้าง หรือจะให้เงินช่วยเหลือบ้าง ถ้าไม่เขียนใบลาออก ก็อาจยกเรื่องโน้น เรื่องนี้มาข่มขู่ มาตอกย้ำจนพนักงานเบื่อ ทนการกดดันไม่ไหว พอได้ใบลาออกสมใจแล้ว ก็อ้างต่อว่า ก็คุณลาออกเอง คุณมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ขณะเขียน ไม่มีใครบังคับคุณนี่ แล้วก็ตัดบทไม่คุยด้วยเอาดื้อ ๆ แบบนี้แทบทุกราย ฝ่ายบุคคลแทนที่จะเป็นคนกลางให้เหตุ ให้ผล ให้ความเป็นธรรมก็ไม่ทำ บางคนก็ร่วมขบวนการ หักคอ พนักงานด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนจบก็มี ใครที่ทำให้พนักงานออกจากงานได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงิน ถือว่าเก่ง..ยอมรับนับถือกันในทางที่ผิดๆ เจ้าหน้าที่แรงงาน (บางคน) ที่มีหน้าที่คุ้มครองลูกจ้าง ก็จำความเข้าใจแบบเก่า ๆ มาแนะนำ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีโอกาสชนะ ก็ปัดเรื่องให้พ้นตัว ไม่ช่วย เหลือลูกจ้างเท่าที่ควร มาดูเรื่องคุณใจดี กันต่อว่า คุณใจดีมีช่องทาง มีเหตุผลในการฟ้องศาลแรงงานได้เงินหรือไม่??? เรื่องนี้จะว่าไปแล้ว นายจ้างมีส่วนผิด 100 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้น ผมจะชี้ให้เห็นช่องทางดังนี้ 1. การที่ผู้บริหารเรียกคุณใจดี ไปบอกว่าจะหาผู้จัดการคนใหม่มาแทน.. บอกให้คุณใจดีเขียนใบลาออก หยุดงานไปก่อน ..ให้คืนรถ คืนโทรศัพท์ ไม่ต้องมาทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน นั้น นายจ้างมีเจตนาและแสดงเจตนาเลิกจ้างอย่างชัดเจนตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม แล้ว 2. การที่บอกว่า เขียนใบลาออกเอง ลงชื่อเอง มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ถือเป็นการลาออกเองด้วยความสมัครใจนั้น ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป ..
ลองมองความเป็นจริงว่า คุณใจดี ยังไม่ได้งานใหม่ที่ดีกว่า ยังไม่มีรายได้อื่นที่ดีกว่าอยู่ดี ๆ จะลาออกไหม? ถ้าผู้บริหารท่านนั้นไม่เรียกไปคุย ไม่บอกให้เขียนใบลาออก คุณใจดี จะควัก ใบลาออมา เขียนเองไหม? มีเงินเดือน มีรถขับ มีโทรศัพท์ใช้ อยู่ดี ๆ จะคืน จะลาออกไหม? ถ้าผู้บริหารท่านนั้นไม่บอกว่าจะช่วยเงิน 6 เดือน คุณใจดีจะลาออกง่าย ๆ ไหม?
ถ้าคำตอบทั้ง 4 ข้อว่า ไม่ ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า การลาออกนั้นผิดปกติ ไม่ธรรมดา ใบลาออกนั้น ย่อมไม่มีผล ซึ่งการกระทำของนายจ้างลักษณะเดียวกันนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานเคยพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า เป็นการเจตนาเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ให้นายจ้างจ่ายเงิน 1. ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 2. ค่าชดเชย 3. ค่าเสียหายที่เลิกจ้างไม่เป็นธรรม 4. ดอกเบี้ย ให้ลูกจ้างตามฟ้อง ตามคำพิพากษาเลขที่ 2575/2548 มาดูว่า ถ้าคุณใจดี ชนะขึ้นมา นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้คุณใจดีเท่าใด.. สมมุติว่าคุณใจดี ทำงานมา 12 ปี เงินเดือน 50,000 บาท ค่าตำแหน่ง 10,000 บาท รวม 60,000 บาท 1. ผู้บริหารบอกให้ลาออกวันที่ 28 มีนาคม โดยให้ออกวันที่ 1 เมษายน แสดงว่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดการจ่ายค่าจ้างไม่ถูกต้อง จึงต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือน คือ 120,000 บาท 2. ค่าชดเชย 300 วัน หรือ 10 เดือน เท่ากับ 600,000 บาท 3. ค่าเสียหายที่เลิกจ้างไม่เป็นธรรม สมมุติว่าคุณใจดีแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเองเสียหายจริงและศาลสั่งให้จ่าย 300,000 บาท
รวมเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้คุณใจดี ประมาณ 1,020,000 บาท บวกดอกเบี้ยอีกประมาณ 75,000 บาท ค่าทนายความอีกประมาณ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,145,000 บาท ก็มากโขอยู่.. เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่นายจ้าง ลูกจ้างที่จะฟ้องคดีกันควรระลึกถึงอย่างที่สุด ก็คือ เมื่อเป็นคดีความขึ้นมา ท่านกล้าที่จะโกหกตัวเองไหมว่าไม่ได้พูด ไม่ได้ทำ ทั้งๆ ที่กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้องแท้ๆ ท่านกล้าผิดคำสาบานในศาลต่อหน้าพระบรมสาทิส ลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างนั้นหรือ ? คนที่กล้าคิดคด ทรยศ ไม่รักษาสัจจะ ไม่มีมโนสำนึกในคุณธรรม จะเจริญรุ่งเรืองในชีวิตได้หรือ..เวรกรรมจะติดตามและเรียกร้องเอาคืนตลอดชั่วลูกหลาน ถ้าลูกจ้างชนะ นอกจากท่านจะต้องจ่ายเงิน พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแล้ว ท่านก็จะเสียชื่อเสียง เสียความเชื่อมั่น ความศรัทธา จากลูกจ้าง พนักงานของท่าน ชื่อเสียง..ความเชื่อมั่น..ความศรัทธา..3 สิ่งนี้ มีค่ากว่าเงินทอง และเมื่อเสียไปแล้ว ก็ยากที่จะได้กลับคืนมา"
ที่มา //www.easyroadtraining.com/index.php/108-case/95-charge
บีบี้ 
Create Date : 08 ตุลาคม 2552 | | |
Last Update : 8 ตุลาคม 2552 21:48:48 น. |
Counter : 1871 Pageviews. |
| |
|
|
|