ขอเขียนถึงหนัง แต่ไม่ขอวิจารณ์ภาพยนตร์

ขอเขียนถึงหนัง แต่ไม่ขอวิจารณ์ภาพยนตร์



เทค 1 แอคชั่น! – ภาพ - กลางวัน ฉันนั่งโคลงเคลงอยู่ในรถกอง บ.ก. ฟรีฟอร์มฝ่ารถติดในกรุงเทพฯ

เสียง - วันก่อนฉันโชคดีมีโอกาสงดงาม ได้ติดสอยห้อยตามกองบ.ก.ฟรีฟอร์มไปสังเกตการณ์การสัมภาษณ์คุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ระหว่างทางมีเสียงพูดคุยกันเรื่องการเขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์ที่เปิดเผยเรื่องราวในหนังจนเกลี้ยงเกลาไม่เหลือหลอว่าน่าประณามหยามเหยียด เนื่องจากทำลายอรรถรสในการดูหนังไปสิ้น

ภาพ - กลางวัน ล้อรถตกหลุมเล็กๆ บนผิวถนน ร่างคนในรถกระเด้งวูบ

เสียง - แรงกระตุกจากล้อรถตกกะหลุกปกปิดอาการสะดุ้งเฮือกของฉันได้มิดชิด ก่อนหน้านี้ ฉันตั้งใจเอาไว้ว่าจะลองเขียนถึงหนังที่เพิ่งดูแล้วปลาบปลื้มอย่างแรงเรื่องนึง ฉันอยากจะเล่าความชื่นชมในตัวหนังให้คนอ่านได้รับรู้ ปัญหาอยู่ที่ว่า ฉากที่ฉันประทับใจที่สุดในเรื่องคือ ตอนจบ

ภาพ – กลางวัน (ต่อเนื่อง) ทีมบ.ก. และฉันทยอยลงจากรถในลานจอดรถของบ้านหลังหนึ่ง ต่อด้วยภาพขณะสัมภาษณ์

เสียง - ระหว่างนั่งฟังการสัมภาษณ์ มือขยับถ่ายรูปมือสวยๆ ของคุณเจ้ย ปากส่งเสียงหัวเราะประสานไปด้วยในบางช่วง ตอนที่หูได้ยินผู้กำกับภาพยนตร์อินดี้คนเก่งของเราพูดเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์สำหรับหนังอิสระ ใจฉันก็ลอยกลับไปกรุงปารีส


ภาพ – กลางคืน ฉันกับหวานใจยืนหนาวสั่นต่อคิวซื้อตั๋วหน้าโรงหนังเล็กๆ ในกรุงปารีสชื่อ บัลซัค ภาพโรงหนังในปารีส

เสียง - โรงภาพยนตร์บัลซัค ถนนบัคซัค ย่านชองเซลีเซ่ เป็นหนึ่งในโรงภาพยนตร์เล็กๆ ฉายหนังอิสระจำนวนนับร้อยโรงที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วกรุงปารีส ฉันคิดว่านอกจากปารีสแล้ว ในโลกนี้มีเมืองอื่นๆ ไม่ถึงกระหยิบมือที่เราสามารถดูหนังได้หลากหลายประเภท หนังแต่ละเรื่องเข้าฉายทีเป็นเดือนๆ หรือเป็นปีๆ มีรายการลดแลกแจกแถม ซื้อตั๋วใบที่สองลดครึ่งราคา รอบกลางวันลดครึ่งราคา ดูวันจันทร์ลดครึ่งราคา ช่วงจัดเทศกาลฤดูใบไม้ผลิแห่งโรงพยนตร์ (Printemps de cinéma) ลดไปเลยเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ เหลือสามยูโรกว่าๆ


ภาพ – กลางคืน ภาพปารีสราตรี ภาพป้ายชื่อบอกโปรแกรมเป็นภาษาต่างๆ

เสียง - คืนนั้นดึกมากแล้ว อากาศเย็นไม่น้อย แต่ฉันกับหวานใจก็ไม่หวั่น เดินฝ่าความหนาวออกจากที่พัก ตั้งใจไปดูหนังเรื่อง La vies des autres หรือชื่อดั้งเดิมในภาษาเยอรมัน Das Leben der anderen โดยมีชื่อภาษาอังกฤษที่รู้จักกันทั่วโลก คือ The Lives of Others ส่วนเมืองไทยตั้งชื่อเสียหวานฉ่ำว่า วิกฤติรักแดนเบอร์ลิน (อย่าลืมใส่เอคโค่ตอนท้าย... ลิน ลิน ลิน ลิน )

ภาพ – คนรอออกจากโรงหนังที่ฉายเรื่องนี้ ภาพป้ายโฆษณาหน้าโรง ขึ้นกราฟฟิกดาวสี่ดวง ขึ้นตัวอักษรชื่อเทศกาลต่างๆ บนภาพรับรางวัล

เสียง - ลา วี เดส์ โซตร์ ฝ่าด่านความเขี้ยวทางรสนิยมของชาวฝรั่งเศส ได้รับการชื่นชมทั้งจากผู้ชมและนักวิจารณ์ให้คะแนนเป็นดาวถึงสี่ดวงเต็มๆ หนังเรื่องนี้เข้าฉายตามเทศกาลต่างๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน ที่เด่นๆ คือ รางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศจากเวทีออสการ์

      ฉันเปิดอ่านบทวิจารณ์จากหลากหลายแหล่ง ไม่เห็นมีใครพูดถึงหนังเรื่องนี้ในทางแย่ๆ เลย อย่างเลวก็แค่บอกว่าผู้กำกับหน้าใหม่คนนี้โชคดีนะ ได้นักแสดงเก่งๆ มาช่วยส่งเสริมหนังที่ตนกำกับเป็นเรื่องแรก โห... ได้นักแสดงเก่งๆ มาร่วมงานด้วยก็ไม่พ้นโดนกระแนะกระแหนแฮะ สงสัยนักวิจารณ์บางคนกลัวคนอ่านจะนึกว่าโง่ ถ้าจับผิดอะไรไม่ได้เลย

ภาพ – ตัวอย่างจากหนัง (หาดูได้ที่เวบไซต์ของหนัง)

เสียง - วิกฤติรักแดนเบอร์ลิน พาเราข้ามกำแพงไปกรุงเบอร์ลินตะวันออกในปี ค.ศ. 1984 สมัยที่เยอรมันยังแบ่งเป็นตะวันออก-ตะวันตก เมืองหลวงของประเทศทั้งสองอยู่ติดกันคั่นกลางด้วยกำแพงเบอร์ลิน ฝั่งตะวันตกเป็นดินแดนเสรีประชาธิปไตย ส่วนทางตะวันออกปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์โซเวียตนิยม


      เปิดฉากแรกเป็นการสาธิตวิธีรีดความลับของกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติ (The Ministerium für Staatssicherheit - MfS = Ministry for State Security) หรือที่เรียกย่อๆ ว่าสตาซี (STASI) หน่วยงานตำรวจลับและการข่าว ซึ่งมีหน้าที่สอดส่องดู “ความเรียบร้อย” ของประชาชนไม่ให้มีการแหกคอก บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ หรือคิดหลบหนีไปอยู่ฝั่งตะวันตก พร้อมกับเปิดตัว “พระเอก” ของเรา เขาเป็นเจ้าหน้าที่ของสตาซีชื่อแกร์ด วิสเลอร์ ซึ่งคงจะเก่งกาจเลือดเย็นถึงขนาดได้เป็นอาจารย์สอนสายลับรุ่นใหม่ๆ ไม่ต้องอะไรมาก แค่นักเรียนถามโต้แย้งนิดหน่อย พี่แกก็ติ๊กชื่อหมายหัวเด็กคนนั้นลงบนแผนผังที่นั่งทันที

      วิสเลอร์ได้รับมอบหมายงานพิเศษให้เป็นหัวหน้าทีมลอบฟังการสนทนาในบ้านของจอร์จ เดรย์มาน กวีนักเขียนบทละครเวทีหนุ่มใหญ่ทรงเสน่ห์ ผู้มีคู่รักเป็นนักแสดงสาวแสนสวยชื่อคริสตา-มาเรีย ด้วยเหตุผลอย่างเป็นทางการคือเขาคลุกคลีอยู่กับกลุ่มเพื่อนศิลปินนักเขียนที่ไม่ค่อยอยู่ “ในร่องในรอย” ส่วนเหตุผลไม่เป็นทางการคือรัฐมนตรีเจ้าของคำสั่งมีใจปฏิพัทธ์หลงรักคริสตา-มาเรีย และต้องการกำจัดเดรย์มาน

      จากชีวิตจืดชืดไร้สีสัน มีจิตใจถูกจำกัดแคบอยู่ในกรอบ วิสเลอร์ได้ทำความรู้จักกับโลกศิลปะวรรณกรรมและความงามของความรักอันเร้าร้อนผ่านการดักฟังและจินตนาการ จากศัตรูตัวฉกาจ กลายเป็นเทพอารักขาคอยปัดเป่าเภทภัย ช่วยปกปิดความผิดคอยบิดให้เป็นความชอบ จากตัวละครแบนๆ ไร้มิติ ผู้ชมได้เห็นด้านอ่อนไหวเกือบจะอ่อนโยนของสายลับผู้เคร่งครัด

      นี่เป็นจุดหนึ่งที่ฉันชอบ ตัวละครในหนังเรื่องนี้กลมกลึงดีมาก ทุกคนมีด้านดี-เลว แข็ง-อ่อน มีความเป็นมนุษย์ที่สามารถผิดพลาด รู้จักสำนึกและเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีใครเลวผิดปกติหรือเป็น วีรบุรุษเกินจริง

ในกรอบนี้เป็นฉากจบของเรื่อง ถ้าอยากอ่านก็ใช้ลากเมาส์อ่านเอานะคะ ใครไม่อยากอ่านก็ข้ามไปเลย

      ถึงวิสเลอร์จะพยายามช่วยเหลือปกปิดความผิดของเดรมานอย่างสุดความสามารถ แต่ยังเหลือช่องโหว่คือคริสตา-มาเรีย เธอถูกจับตัวด้วยข้อหาซื้อยาผิดกฎหมาย วิสเลอร์ถูกเรียกตัวไปรีดความลับเรื่องที่ซ่อนของเครื่องพิมพ์ดีดที่เดรมานใช้เขียนบทความเรื่องอัตราการฆ่าตัวตายเผยแพร่ในโลกตะวันตกจากเธอจนสำเร็จ คริสตา-มาเรียรู้สึกอดสูวิ่งให้รถชนตาย โดยไม่ทันรู้ว่าวิสเลอร์เก็บเครื่องพิมพ์ดีดไปแล้ว

      วิสเลอร์ถูกลดตำแหน่งไปทำงานกรมไปรษณีย์ หลังจากกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย เดรมานจึงได้รู้ว่าเคยถูกดักฟัง เขาไปค้นแฟ้มข้อมูลและได้เห็นการปกป้องจากเจ้าหน้าที่รหัส HGW XX/7 (วิสเลอร์) เดรมานเริ่มต้นเขียนหนังสืออีกครั้ง โดยอุทิศหนังสือว่า for HGW XX/7

      วิสเลอร์เข้าไปซื้อหนังสือเล่มนั้น คนขายถามว่าซื้อเป็นของขวัญหรือเปล่า เขาตอบว่า เปล่า หนังสือเล่มนี้ for me (สำหรับผมเอง)







ภาพ - หนังจบ ฉันกับหวานใจออกจากโรงหนังไปนั่งคุยกันต่อเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ในบาร์อังกฤษแถวๆ นั้น

เสียง - ฟังแล้วเหมือนดัดจริตคิดลึก แต่หนังเรื่องนี้สะกิดให้ฉันนึกถึงกรอบความคิดแบ่งพรรคแบ่งพวกของมนุษย์ ถึงแม้ในปัจจุบัน กำแพงเบอร์ลินล้มลง สงครามเย็นสิ้นสุดแล้ว แต่วงจรอุบาทว์ไม่เคยหยุดหมุน มีการสร้างกำแพงระหว่างโลกตะวันตกกับโลกอิสลามเข้ามาแทนที่ ไม่ว่าจะมีประวัติศาสตร์กี่ร้อยพันหน้าให้เห็น คนเรายังคงตัดสิน ดี-เลว ขาว-ดำ ผิด-ถูก ฆ่าฟันกันซ้ำรอยเดิมไม่เคยเรียนรู้

      เอ่อ ... ชักเครียดแฮะ

      ในอีกมุมนึง ฉันเห็นอิทธิฤทธิ์ของศิลปะวรรณกรรม รวมถึงความรู้สึกดีๆ อย่างความรักว่าสามารถช่วยกล่อมเกลา เปิดโลกทัศน์ให้ผู้เสพได้จริงๆ

      ไม่ต้องดูที่ไหนไกล ตัวฉันเองนี่แหละ

      ศิลปะแขนงภาพยนตร์เรื่องนี้ช่วยเปิดหูเปิดตาให้เห็นความงดงามของภาษาเยอรมัน ลบภาพฝังใจของฉันที่ว่าภาษาเยอรมันเป็นภาษาน่าเกลียดไม่น่าฟัง มีแต่เสียงกระโชกโฮกฮากขากๆ ถุยๆ ออกไปจนหมดสิ้น

      หนังดีเสียขนาดนี้ มีกี่ดาว ... ยกให้หมดเลยค่ะ


(ขึ้นตัวอักษร – อวสาน-)







รางวัลที่หนังเรื่องนี้ได้รับ

-2007 Academy Awards
Best Foreign Language Film winner

-Independent Spirit Awards 2007
Best Foreign Language Film

-International Film Festival Rotterdam 2007
audience award

-Los Angeles Film Critics Association Awards 2006
Best Foreign-Language Film

-European Film Awards 2006
Best Film
Best Actor: Ulrich Mühe
Best Screenwriter: Florian Henckel von Donnersmarck

-German Film Awards 2006
Best Film
Best Actor
Best Supporting Actor
Best Director
Best Cinematography
Best Production Design
Best Screenplay

-Palm Springs International Film Festival 2007
Audience Choice Award

-Vancouver International Film Festival 2006
People's Choice Award

-Montreal Festival du Nouveau Cinéma 2006
People's Choice Award

-London Film Festival 2006
Satyajit Ray Award

-Zagreb Film Festival 2006
Best Film
Audience Award

-Copenhagen International Film Festival 2006
Best Male Actor
Audience Award

-Seville Film Festival 2006
Silver Giraldillo

-Locarno International Film Festival 2006
Audience Award

-Warsaw International Film Festival 2006
Audience Award

-Bavarian Film Awards 2005
Best Actor: Ulrich Mühe
Best Newcomer Director: Florian Henckel von Donnersmarck
Best Screenplay: Florian Henckel von Donnersmarck

-VGF Producer Prize: Wiedemann & Berg




รายชื่อเทศกาลที่ไปฉาย

-Montreal Festival du Nouveau Cinema 2006
-Toronto International Film Festival 2006 (Special Presentation)

-Telluride Film Festival 2006

-Pusan International Film Festival 2006

-Vancouver International Film Festival 2006

-Locarno International Film Festival 2006 (Piazza Grande)

-London Film Festival 2006

-The Helsinki International Film Festival - Love & Anarchy 2006

-Copenhagen International Film Festival 2006

-Dubai International Film Festival 2006

-AFI Los Angeles 2006

-Sevilla Festival de Cine 2006

-Festival de Cinema do Rio 2006

-Athens 2006

-Warsaw International Film Festival 2006

-Zagreb Film Festival 2006

-Tallinn Black Nights Film Festival 2006

-Festival Internacional de Cine de Morelia 2006

-Windsor (Ontario) International Film Festival 2006

-Dublin International Film Festival 2007







Create Date : 12 พฤษภาคม 2550
Last Update : 12 พฤษภาคม 2550 19:55:07 น. 0 comments
Counter : 1043 Pageviews.

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.