Nantana's story
Group Blog
 
All blogs
 

"ป่นปลา" น้ำพริกสองฝั่งโขง




น้ำพริกป่นปลา แนมผักนึ่ง-ผักสด อาหารง่ายๆ โภชนาการครบ รสชาติอร่อย ช่วยเจริญอาหาร





ผู้เขียน นันทนา ปรมานุศิษฏ์
เผยแพร่ วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2559

กลุ่มชาติพันธุ์ไทย-ลาว ที่อยู่ริมสองฝั่งโขงทั้งในประเทศไทยและประเทศลาว เรามีวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่างที่ยังคงสืบต่อมาจนปัจจุบัน ทั้งภาษา ศาสนา การแต่งกาย และอาหารที่แทบจะไม่ต่างกันเลย โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารการกินที่กินข้าวเหนียวเป็นหลักพร้อมกับกับข้าวที่ทำขึ้นง่ายๆ จากวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นตามฤดูกาล กินผักกินปลาแม่น้ำโขงเป็นหลัก

น้ำพริกหรือเครื่องจิ้มชนิดหนึ่งที่แพร่หลายอย่างมากคือ ป่นปลา ซึ่งพบว่าชาวลาวนี้กินกันมานาน ดังปรากฏอยู่ในบันทึกของเพียสิง จะเลินสิน ที่ได้จดบันทึกตำรับอาหารพระราชวังหลวงพระบางที่เขาได้คลุกคลีอยู่ในห้องเครื่องในวังหลวง ก่อนที่จะถึงแก่อนิจกรรมใน ค.ศ.1967

ในสมุดจดเล่มนั้นได้กล่าวถึง ป่นปาเลิม (ปลาเลิม) ซึ่งหมายถึงปลาเทพา อันเป็นปลาหนังจำพวกหนึ่งที่มีมากในแม่น้ำโขง เขาบอกถึงวิธีทำว่านำชิ้นปลาไปต้มกับเกลือหรือน้ำปลา มีหอม กระเทียม พริกสด และมะเขือเปราะอ่อนนำไปหมกไฟให้สุกเรียกว่าเครื่องหอม แล้วจึงตำให้เข้ากันกับเนื้อปลา เติมน้ำต้มปลาให้พอข้น ปรุงรสด้วยน้ำปลา โรยต้นหอม ผักชี และใบมะกรูดซอย กินกับแกงส้ม แตงกวาและผักแนม

ป่นปลาในปัจจุบันทำจากปลาหลายชนิดไม่จำกัดแต่ปลาแม่น้ำโขง ในยุคที่ปลาธรรมชาติหาได้ยากกว่าปลาเลี้ยงในบ่อ ป่นปลาจึงมีทั้งทำจากปลาดุก ปลาช่อน ปลานิล ปลาหมอ ไปจนถึงปลาทะเลอย่างปลาทู ปลาทูน่า จนถึงแซลมอน (สำหรับชาวไทย-ลาวโพ้นทะเล) นอกจากป่นปลาแล้วยังสามารถป่นด้วยเนื้อสัตว์ชนิดอื่น เช่น ป่นกบ ป่นเขียด ป่นแมลง หรือป่นเห็ดก็ได้

วิธีทำก็ยังคงคล้ายเดิม เพียงแต่มะเขือเปราะและใบมะกรูดจะไม่เห็นใส่กันแล้ว และมักใส่ปลาร้าเพิ่มความแซบนัว ป่นปลานี้เหมาะกับการนำข้าวเหนียวมาจิ้ม แนมกับผักนึ่งหรือผักสด จะเพิ่มไข่ต้มด้วยก็เข้ากันดี นับเป็นอาหารง่ายๆ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ และมีรสชาติอร่อยกินแล้วเจริญอาหารแท้




 

Create Date : 10 กรกฎาคม 2560    
Last Update : 10 กรกฎาคม 2560 19:42:05 น.
Counter : 1076 Pageviews.  

"ข้าวส้มไทใหญ่" ข้าวปั้นชาติพันธุ์







ผู้เขียน นันทนา ปรมานุศิษฏ์

เผยแพร่ วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2560

“ข้าวส้ม” ของชาวไทใหญ่นั้นคือ การหุงข้าวเจ้าให้สุกแล้วนำไปคลุกกับมะเขือเทศลูกเล็กๆ ที่เรียกว่ามะเขือส้ม เพราะมีรสเปรี้ยวกว่ามะเขือเทศพันธุ์อื่นๆ โดยใช้รสเปรี้ยวหวานธรรมชาติจากมะเขือเทศ เพิ่มโปรตีนด้วยการใส่เนื้อปลาแม่น้ำลงไปคลุกให้เข้ากัน หรือจะใส่มันฝรั่งต้มสุกแล้วบดลงไปด้วยกันก็ได้ แล้วปั้นเป็นลูก เป็นข้าวปั้นเวอร์ชั่นไทใหญ่ที่ให้คุณค่าทางอาหารพร้อมสรรพทั้งความเก๋เข้ากับยุคสมัย

วิธีทำ เริ่มจากการเจียวกระเทียมให้เหลืองหอม แล้วใส่ผงขมิ้นลงไปผัดให้มีสีสัน ตักเอากระเทียมแยกออกมา แล้วใส่มะเขือเทศและเนื้อปลาหรือหมูสับลงไปผัดในน้ำมันกระเทียมเจียว ตรงนี้ถ้าใครไม่สะดวกในการใช้เนื้อปลาจะใส่กุ้งแห้งป่นแทนก็ได้หรือจะใส่ทุกอย่างก็ยิ่งอร่อย สำหรับคนกินมังสวิรัติยังสามารถพลิกแพลงใส่เห็ดแทนได้ด้วย เติมน้ำนิดหน่อย ปรุงรสด้วยเกลือหรือน้ำปลา ผัดจนมะเขือเทศและเนื้อปลาสุก จึงตักเอาเนื้อปลามาแกะเอาก้างและลอกหนังออก

จากนั้นหาชามโคมมา 1 ใบ ตักข้าวสวยใส่แล้วใส่มะเขือเทศและเนื้อปลาลงไปคลุกให้เข้ากัน ถ้าจะใส่มันฝรั่งบดด้วยก็ใส่ลงไปคลุกตอนนี้ พร้อมกับน้ำจากการผัดเครื่อง ปรุงรสด้วยเกลือ ชิมรสตามชอบ เมื่อได้รสชาติถูกปากแล้วก็ปั้นเป็นลูกกลมขนาดใหญ่ เล็ก ตามชอบ หรือจะใส่พิมพ์กดเป็นทรงเก๋ๆ ได้ตามความพอใจ

จัดเรียงข้าวส้มใส่จานให้สวยงาม โรยด้วยกระเทียมเจียวและต้นหอมซอย สำหรับเวอร์ชั่นไทใหญ่แท้ จะขาดถั่วเน่าไม่ได้ ให้นำถั่วเน่าแข็บไปปิ้งไฟแล้วป่นมาโรยหน้า เคียงด้วยพริกแห้งทอด ผักสดต่างๆ ตามชอบ ที่เข้ากันดีได้แก่ กระเทียมสด หอมแดง ต้นหอม ผักชี แตงกวา รากชู แคบหมู และถั่วเน่าแข็บปิ้ง จะกินเพียงเท่านี้หรือกินกับกับข้าวอื่นอย่างจิ้นลุง ไก่อุ๊บ หรือแกงฮังเลก็เข้ากันดี

ข้าวส้มนี้ เป็นของไทใหญ่ในเมืองไทยนิยมกินกันมากในหมู่ที่มีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่มาก เช่น ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

https://www.sentangsedtee.com/featured/article_37037




 

Create Date : 08 กรกฎาคม 2560    
Last Update : 8 กรกฎาคม 2560 21:10:42 น.
Counter : 1944 Pageviews.  

“จ๋าก๊าหล่าว็อง” อาหารที่คุณต้องกินก่อนตาย






เผยแพร่ วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2559
เรื่องและภาพ : นันทนา ปรมานุศิษฏ์

“จ๋าก๊าหล่าว็อง” เป็นอาหารเวียดนาม ที่ฝรั่งได้กล่าวไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า 1000 PLACES TO SEE BEFORE YOU DIE ซึ่งได้เอ่ยถึงร้านขายจ๋าก๊าหล่าว็อง ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ว่าจะต้องได้ไปลิ้มลองให้ได้ก่อนตาย แต่ก่อนนั้นกว่าจะได้กินสักทีก็ต้องไปถึงฮานอย แต่ตอนหลังมีมาเปิดที่นครโฮจิมินห์ด้วย ซึ่งเป็นลาภปากสำหรับสาวชาวใต้อย่างฉันที่จะได้กินบ่อยขึ้น

จ๋าก๊าหล่าว็องคือ ปลาทอดขมิ้น ใส่ผักสมุนไพรอย่างต้นหอม และผักชีลาว มีเครื่องเคียงมากมายเต็มโต๊ะ ทั้งผักสด พริก มะนาว ขนมจีน ข้าวเกรียบ ถั่วลิสงคั่ว และที่ขาดไม่ได้คือ กะปิน้ำกลิ่นฉุนเตะจมูก ซึ่งเป็นน้ำจิ้มของปลาทอดขมิ้นนี้ กะปิของเวียดนามมีแบบเป็นน้ำ แต่ของไทยไม่มีเราก็ผสมน้ำต้มสุกเอา เติมน้ำตาลทราย พริกขี้หนูสับ เหล้าขาว บีบมะนาวลงไป คนแรงๆ ให้เป็นฟอง

ปลาที่นิยมนำมาทำเมนูนี้เป็นปลาน้ำจืด ต้นตำรับจะต้องเป็นปลากด แต่ก็สามารถใช้ปลาชนิดอื่น เช่น ปลาช่อน ปลาดุก หรือปลานิล โดยจะนำปลามาแล่เป็นชิ้นขนาดพอคำ แล้วนำไปหมักกับข่าสดป่น ผงขมิ้น น้ำปลา และใส่น้ำมันลงไปเล็กน้อย หมักให้เข้ากันดีในตู้เย็นอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ระหว่างนี้ให้เตรียมซอยต้นหอมเป็นเส้น หั่นผักชีลาวเป็นท่อน เตรียมเอาไว้มากหน่อย ใส่เยอะๆ อร่อยดี และเตรียมเครื่องเคียงอื่นๆ ให้พร้อม

เมื่อหมักปลาได้ที่แล้วก็จะนำมาหนีบกับไม้ ย่างด้วยเตาถ่านจนสุกหอม เวลาเสิร์ฟจะนำเตา และกระทะมาตั้งที่โต๊ะ ใส่น้ำมันลงไป พอน้ำมันร้อนดีก็ใส่ปลาลงไปผัดกันที่โต๊ะเลย น้ำมันจะมีสีเหลืองจากขมิ้นที่เราหมักปลาไว้ ใส่ต้นหอมซอย และผักชีลาวลงไปผัดด้วยกัน

เวลากินจะคีบขนมจีนใส่ถ้วย คีบปลา และผัก ใส่ถั่วลิสงคั่ว ราดกะปิน้ำลงไป มีข้าวเกรียบให้เคี้ยวแกล้ม เท่านี้ก็อร่อยจนหยุดไม่ได้แล้วค่ะคุณเอ๋ย



รวมรสโอชาครัวอาเซียน ผลงานเขียนนันทนา ปรมานุศิษฏ์ ในนิตยสารเส้นทางเศรษฐี 

"ฉันทำอาหารเพราะมีความสุขที่ได้ทำ ยิ่งได้ทำก็ยิ่งอยากจะค้นหาความหมายเบื้องหลังอาหารแต่ละจานซึ่งมักจะมีเรื่องราวชวนให้เราตื่นเต้นเสมอ เช่นเมื่อได้เจอกับของแปลกใหม่ หรือแม้แต่เป็นสิ่งเดิมๆ แต่พบในที่ซึ่งคาดไม่ถึง ยิ่งศึกษามากเท่าใดก็ยิ่งรู้ว่าฉันไม่รู้มากขึ้นทุกที เมื่อไม่รู้ก็ยิ่งอยากรู้ การผจญภัยไปในโลกของอาหาร...คือการผจญภัยในโลกกว้าง เมื่อคุณเปิดใจมากเท่าใดคุณก็จะได้สัมผัสกับโลกมากเท่านั้น" - (จากบทนำผู้เขียน โอชาอาเซียน)




 

Create Date : 11 มิถุนายน 2560    
Last Update : 12 มิถุนายน 2560 8:07:15 น.
Counter : 854 Pageviews.  

“บ่อเบี๊ย” เปาะเปี๊ยะเวียดนามของจริง







เผยแพร่ วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2559
เรื่องและภาพ : นันทนา ปรมานุศิษฏ์

คนไทยเรารู้จักเปาะเปี๊ยะเวียดนาม 2 แบบคือ แบบแรก เป็นเปาะเปี๊ยะสดที่มีชื่อภาษาเวียดนามว่า “ก๋อยก๊วน” (Gỏi cuốn) อีกชนิดคือ เปาะเปี๊ยะทอดที่รู้จักในชื่อว่า “จ๋าหย่อ” (Chả giò) ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้เขาไม่ได้เรียกว่าเปาะเปี๊ยะ แต่กลับมีอีกชนิดที่เขาเรียกว่า “บ่อเบี๊ย” (Bò bía) ซึ่งออกเสียงคล้ายกับคำว่าเปาะเปี๊ยะมากที่สุด

บ่อเบี๊ยนี้ถือว่าเป็นอาหารคนยากของชาวเวียดนาม เพราะมักจะทำเป็นห่อเล็กๆ มีไส้เป็นผักเสียส่วนใหญ่ เน้นมันแกวเป็นหลัก ใส่กุนเชียง กุ้งแห้ง และไข่เจียวหั่นฝอย ขายกันถูกๆ กินเป็นอาหารว่าง จิ้มกับน้ำจิ้มหวานๆ เค็มๆ แม้ว่าจะมีราคาถูกแต่รสชาตินั้นเกินราคาไปไกล

ชื่อที่ไทยเรียก “มันแกว” นี้สันนิษฐานได้ว่าเรารับมันชนิดนี้มาจากแกว หากสังเกตดูจะพบว่าเราไม่ใคร่ใช้มันแกวทำอาหารไทย นอกจากกินสดๆ จิ้มน้ำตาล สมัยก่อนรถผลไม้จะต้องมีมันแกวฝานเป็นแว่นใหญ่ๆ เสียบไม้ขายไม้ละบาท แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็นหรือว่าคนสมัยนี้กินไม่เป็นเสียแล้ว อีกอย่างที่เห็นคือใช้ทำทับทิมกรอบ ซึ่งก็พูดไม่ได้เต็มปากว่าเป็นของไทย เพราะหลายประเทศในอาเซียนก็มีทับทิมกรอบเหมือนกัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมมากกว่

ชาติที่ใช้มันแกวทำกับข้าวมากคือ จีน และเวียดนาม เช่น ไส้ซาลาเปา ไส้ขนมจีบ ไส้ขนมก้วย นอกจากนี้ยังนำไปผัดหรือทำแกงจืดกินเป็นกับข้าว มันแกวนั้นเมื่อทำให้สุกจะมีรสหวานขึ้นมาอีกมาก

การทำบ่อเบี๊ยก็ไม่ยาก นำกระทะใส่น้ำมันตั้งไฟ เจียวกระเทียมให้หอม แล้วใส่มันแกวซอยเป็นเส้นๆ ลงไปผัด ในยุคที่แคร์รอตครองโลกก็หนีไม่พ้นที่จะซอยใส่ลงไปด้วยเล็กน้อยเพื่อเพิ่มสีสัน ปรุงรสด้วยเกลือผัดให้สุกแล้วพักไว้ กุนเชียงนำไปต้มจะนำมาทอดอีกทีหรือไม่ทอดก็ได้แล้วหั่นเฉียงบางๆ เจียวไข่เจียวบางๆ แล้วซอยเป็นเส้น ทอดกุ้งแห้ง เจียวหอม เจียวกระเทียม และคั่วถั่วลิสงบุบหยาบๆ เตรียมไว้

ทำน้ำจิ้มโดยนำหอมแดงซอยเจียวกับน้ำมัน ใส่ซอสฮอยซินมากหน่อย เติมน้ำส้มสายชู น้ำ น้ำตาล ชิมรสให้หวานเค็มนำเจือรสเปรี้ยวเล็กน้อย เคี่ยวให้พอข้นแล้วพักไว้

นำแผ่นแป้งเปาะเปี๊ยะเวียดนามชุบน้ำแล้วห่อใส่กุนเชียง ไข่เจียว มันแกวผัด ใบโหระพา โรยกุ้งแห้งทอด และหอมเจียว ห่อให้แน่น เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มที่เพิ่มความอร่อยด้วยการโรยกระเทียมเจียว หอมเจียว ถั่วลิสงคั่ว และพริกสดตำเพิ่มรสชาติ เครื่องขนาดนี้แค่คิดก็รู้แล้วว่าอร่อยแน่ๆ ค่ะ นับเป็นของว่างยามบ่ายที่ฉันชอบมากที่สุด



รวมรสโอชาครัวอาเซียน ผลงานเขียนนันทนา ปรมานุศิษฏ์ ในนิตยสารเส้นทางเศรษฐี 

"ฉันทำอาหารเพราะมีความสุขที่ได้ทำ ยิ่งได้ทำก็ยิ่งอยากจะค้นหาความหมายเบื้องหลังอาหารแต่ละจานซึ่งมักจะมีเรื่องราวชวนให้เราตื่นเต้นเสมอ เช่นเมื่อได้เจอกับของแปลกใหม่ หรือแม้แต่เป็นสิ่งเดิมๆ แต่พบในที่ซึ่งคาดไม่ถึง ยิ่งศึกษามากเท่าใดก็ยิ่งรู้ว่าฉันไม่รู้มากขึ้นทุกที เมื่อไม่รู้ก็ยิ่งอยากรู้ การผจญภัยไปในโลกของอาหาร...คือการผจญภัยในโลกกว้าง เมื่อคุณเปิดใจมากเท่าใดคุณก็จะได้สัมผัสกับโลกมากเท่านั้น" - (จากบทนำผู้เขียน โอชาอาเซียน)






 

Create Date : 11 มิถุนายน 2560    
Last Update : 12 มิถุนายน 2560 8:06:32 น.
Counter : 709 Pageviews.  

"ปันซิต บี๋หุ่น กีซาโด" เส้นหมี่ผัดแบบฟิลิปปิโน







เผยแพร่ วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2559

เรื่องและภาพ : นันทนา ปรมานุศิษฏ์

ฉันรู้จักอาหารฟิลิปปินส์ครั้งแรกก็นานมากแล้ว เพราะเคยได้รับเชิญจากเพื่อนชาวฟิลิปิโนให้ไปร่วมงานคริสต์มาสที่บ้าน ชาวฟิลิปิโนนั้นครอบครัวอบอุ่นรักใคร่กันมาก อย่างหนึ่งก็คงเป็นเพราะศาสนาคริสต์ที่ส่วนใหญ่เป็นนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งคริสต์ศาสนานั้นเน้นสอนในเรื่องของความรัก เขารักกันและแสดงออกให้เห็นต่างกับชาวไทยที่รักกันอยู่ในใจไม่ยอมแสดงออกเพราะเคอะเขิน หรือกลัวเสียฟอร์มก็ไม่รู้ ก็เลยไม่รู้ว่ารัก (ฮิ้ว…)

เมื่อมาได้ร่วมงานกับชาวฟิลิปิโนในภายหลังก็ยิ่งพบว่าพวกเขารักกันเหนียวแน่นมากๆ รักพวกพ้องเป็นที่สุด ก็คงเป็นเพราะพวกเขาส่วนใหญ่ทำงานอยู่นอกประเทศ ถ้าไม่รักและช่วยเหลือกันเองก็ไม่รู้จะให้ใครช่วย ไม่ได้เป็นพวกอินดี้ตัวใครตัวมันอย่างชาวไทยนี่ ฉะนั้นอย่าพยายามไปมีเรื่องกับเขาก็แล้วกัน เดี๋ยวจะหาว่าฉันไม่เตือน

อาหารในปาร์ตี้คืนนั้นมีหลายอย่างแต่ฉันจำได้อยู่อย่างเดียวนั่น คือ เส้นหมี่ผัดหน้าตาธรรมดาๆ ที่สหายชาวปินอยเรียกแบบให้ฉันเข้าใจง่ายๆ ว่า “สปาเกตตีฟิลิปปินส์” เขาเชิญชวนให้ฉันตักไปกินและโฆษณาถึงความอร่อยของมัน สายตาฉันก็จับจ้องไปที่เส้นหมี่ผัดที่อยู่ในจานใบใหญ่ที่เขากำลังกล่าวถึงพลางคิดในใจว่า สปาเกตตีที่ไหนกันนี่มันเส้นหมี่ผัดแบบจีนชัดๆ…

จากนั้นฉันก็ไม่ได้ข้องแวะกับอาหารฟิลิปปินส์อีกเลยจนกระทั่งมาสนใจเรื่องอาหารอาเซียน ทำให้ภาพเส้นหมี่ผัดจานนั้นผุดขึ้นมาอีกครั้ง และพบว่ามันคือ “ปันซิต บี๋หุ่น กีซาโด” (Pancit bihon guisado) จากชื่อก็เดาออกแล้วว่าอาหารจานนี้ได้รับอิทธิพลมาจากจีน คำว่า “ปันซิต” (Pancit/Pansit) เป็นภาษาตากาล็อก หมายถึง อาหารเส้น ซึ่งชาวปินอยนั้นได้รับเอาวัฒนธรรมการกินอาหารเส้นมาจากจีน ซึ่งอาหารเส้นของเขาหลากหลายไม่แพ้ของไทยเลย ส่วนคำว่า “บี๋หุ่น” ที่เขาเรียกหรือ “บี๋หุ้ง” (ออกเสียงแบบแต้จิ๋ว) นั้นหมายถึง เส้นหมี่สีขาวเส้นกลม มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาเส้นทั้งปวง

เครื่องที่ใส่ก็ไม่ตายตัวมีอะไรชอบกินอะไรก็ใส่ทั้งผักและเนื้อสัตว์ จะเป็นหมู ไก่ กุ้ง หรือกุนเชียงก็ได้ ผักนิยมใส่กะหล่ำปลี แคร์รอต และถั่วฝักยาว วิธีทำให้ตั้งกระทะใส่น้ำมันทุบกระเทียมลงไป ใส่เนื้อสัตว์ เส้น และผักตามลำดับ ปรุงรสด้วยน้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำตาล และพริกไทย เหมือนที่เราผัดก๋วยเตี๋ยวปกตินี่แหละ ตักใส่จานเสิร์ฟพร้อมส้มจี๊ดหรือมะนาวสักซีก คุณก็จะได้อาหารฟิลิปปินส์รสคุ้นลิ้นง่ายๆ 1 จาน



รวมรสโอชาครัวอาเซียน ผลงานเขียนนันทนา ปรมานุศิษฏ์ ในนิตยสารเส้นทางเศรษฐี 

"ฉันทำอาหารเพราะมีความสุขที่ได้ทำ ยิ่งได้ทำก็ยิ่งอยากจะค้นหาความหมายเบื้องหลังอาหารแต่ละจานซึ่งมักจะมีเรื่องราวชวนให้เราตื่นเต้นเสมอ เช่นเมื่อได้เจอกับของแปลกใหม่ หรือแม้แต่เป็นสิ่งเดิมๆ แต่พบในที่ซึ่งคาดไม่ถึง ยิ่งศึกษามากเท่าใดก็ยิ่งรู้ว่าฉันไม่รู้มากขึ้นทุกที เมื่อไม่รู้ก็ยิ่งอยากรู้ การผจญภัยไปในโลกของอาหาร...คือการผจญภัยในโลกกว้าง เมื่อคุณเปิดใจมากเท่าใดคุณก็จะได้สัมผัสกับโลกมากเท่านั้น" - (จากบทนำผู้เขียน โอชาอาเซียน)







 

Create Date : 11 มิถุนายน 2560    
Last Update : 12 มิถุนายน 2560 8:06:05 น.
Counter : 1341 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

at heart
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




ฉันเริ่มเขียนบล็อกที่นี่โดยเขียนเรื่องอาหารเกาหลีที่ใกล้ตัวก่อน โดยใช้ชื่อว่านันทนาอาจุมมา มีแฟนๆ ติดตามพอให้ชื่นใจ หลายปีมานี้ฉันหายไปจากบล็อกนี้ที่เริ่มด้วยอาหารเกาหลี เพราะต่อมาก็เขียนไปเรื่อยๆ จากอาหารเกาหลีสู่อาหารอาเซียน และสารพัดอาหาร มีผลงานหนังสือพอประมาณ ซึ่งส่วนมากก็ไม่พ้นเรื่องกิน พอเป็นเรื่องอื่นๆ ก็เลยไปเขียนที่อื่น บัดนี้เมื่อเริ่มมีงานมากขึ้นก็เลยคิดว่ากลับมาอยู่ที่นี่ดีกว่า จะได้จัดเก็บเรื่องราวต่างๆ ให้เป็นหลักแหล่ง การกลับมาของนันทนาในครั้งนี้จึงมีเรื่องราวที่หลากหลายขึ้นมิใช่แค่เรื่องอาหารเกาหลีเพียงอย่างเดียว

เรื่องวัฒนธรรมอาหารเป็นความสนใจส่วนตัว บล็อกนี้ก็ทำด้วยความรักและอยากที่จะแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้กัน ส่วนอาชีพหลักนั้นคือนักสื่อสารมวลชนที่พยายามหนีความวุ่นวายในชีวิตด้วยการรับงานเขียนเป็นหลักทั้งบทความ บทสารคดี และเรื่องราวต่างๆ ที่มักจะต้องการการค้นคว้าข้อมูล ด้วยความสนใจในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม และสังคม ซึ่งจะว่าไปแล้วก็สนใจมันเสียทุกเรื่อง

ฉันหวังว่าเราจะได้เดินทางไปด้วยกันอีกครั้งด้วยมิตรภาพที่อบอุ่นเช่นเคยนะคะ

https://www.facebook.com/gastronomylife

ประกาศ สำหรับเรื่องอาหารเกาหลีขณะนี้ถูก Photobucket เรียกค่าไถ่ที่ไปฝากรูปไว้ราคามหาโหด ฉันจึงมิอาจไปไถ่รูปตัวเองออกมาได้ ตอนนี้รูปที่ลงไว้เลยหายไปหมด ยังไม่มีทางออกค่ะ เพราะว่าเรื่องมันนานมาแล้ว เสียดายมากเพราะมีประโยชน์ต่อผู้คนมากมายโดยเฉพาะในยุคที่ไม่มีใครรู้จักอาหารเกาหลีเลย
Friends' blogs
[Add at heart's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.