Nantana's story
Group Blog
 
All blogs
 

"สลัดหลวงพระบาง" ยำผักน้ำแห่งแม่น้ำคาน






เรื่องและภาพโดย นันทนา ปรมานุศิษฏ์

สลัดหลวงพระบาง (ຍຳ ຜັກສະຫຼັດ ຫຼວງພະບາງ) นั้นเป็นอาหารที่มีชื่อบ่งบอกถึงภูมิศาสตร์ของอาหารว่าเป็นของเมืองหลวงพระบาง แต่ที่มาของอาหารจานนี้เป็นออกจะเป็นฝรั่งมังค่า เพราะลาวนั้นตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสมากว่ากึ่งศตวรรษระหว่างค.ศ.1893-1945 จึงเป็นธรรมดาที่จะรับเอาความเป็นฝรั่งเข้ามา 

หลวงพระบางนั้นมีแม่น้ำคานไหลผ่าน มีผักจากแม่น้ำให้กินกันที่เป็นเอกลักษณ์คือสาหร่ายน้ำจืดหรือที่เรียกว่าไก หรือไค สาหร่ายน้ำจืดนั้นเขามักเอาไปทำเป็นแผ่นตากแห้งขายกันเป็นม้วนใหญ่ๆ เวลากินก็เอามาตัดเป็นแผ่นเล็กๆ แล้วนำไปทอดเป็นของกินเล่นเป็นอาหารว่าง หรือเสิร์ฟเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย

ผักอีกชนิดหนึ่งที่มีมากในหลวงพระบางคือผักน้ำ หรือวอเตอร์เครส (Watercress) ที่ขึ้นอยู่ริมน้ำคานที่มีน้ำใสไหลเย็น ผักน้ำนี้ปลูกกันมากในยุโรป และเอเซีย เข้าใจว่าฝรั่งเศสนำเข้ามาปลูกในลาว ชาวหลวงพระบางนำมาทำสลัด เรียกว่าสลัดผักน้ำ หรือถ้าใส่ผักหลายๆ อย่างเช่น ผักกาดหอม มะเขือเทศ แตงกวา ผักชี และอื่นๆ ลงไปด้วยก็เรียกว่าสลัดหลวงพระบาง 

ที่สำคัญคือผักน้ำจะขาดเสียไม่ได้ ผักน้ำอวบๆ กรอบๆ ฉุนซ่าเล็กน้อยเข้ากันดีกับน้ำสลัดแบบตะวันออกผสมตะวันตก ที่ใส่น้ำมันสลัด น้ำมะนาว น้ำปลา ซีอิ้วขาว และน้ำตาลทราย ปรุงให้มีสามรส แล้วทำให้ข้นด้วยการบี้ไข่แดงของไข่ต้มบดลงไปด้วย ใส่ไข่ต้มหั่นเป็นชิ้นลงไป บางร้านจะเห็นไข่ต้มนั้นมีแต่ไข่ขาว ก็เพราะว่าเขาเอาไข่แดงใส่ลงไปในน้ำสลัดแล้วนั่นเอง แล้วโรยด้วยถั่วลิสงคั่ว หอมเจียว กระเทียมเจียว บางสูตรก็มีใส่หมูสับรวนลงไปด้วย นับว่าถูกปากชาวเรามากกว่าน้ำสลัดแบบฝรั่งแท้ ๆ สลัดหลวงพระบางจึงเป็นแมนูยอดฮิต มีขายแทบทุกร้าน ใครไปเยือนเมืองมรดกโลกนี้ก็อย่าลืมชิม

สลัดผักน้ำนี้อาจเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากเมอร์ซิเออร์ ออกุสต์ ปาวี (August Pavie) ที่มายังหลวงพระบางตั้งแต่ปีค.ศ.1887 เขาคงดีใจที่จุดมุ่งหมายที่จะทำให้ลาวเป็นฝรั่งเศสนั้น นอกจากหลวงพระบางกลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสแล้ว อาหารลาวยังได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสอีกหลายอย่าง




 

Create Date : 24 กรกฎาคม 2560    
Last Update : 24 กรกฎาคม 2560 20:09:55 น.
Counter : 5159 Pageviews.  

"เอาะหลาม" อาหารแห่งนครหลวงพระบาง






เรื่อง และภาพโดย นันทนา ปรมานุศิษฏ์

เอาะหลาม(ເອາະຫຼາມ) เป็นอาหารเฉพาะของหลวงพระบาง ใครที่ได้ไปเยือนอย่าพลาดที่จะต้องลิ้มลองให้ได้ เพราะเอาะหลามนี้หากินไม่ได้ในเมืองอื่นๆ ชาวหลวงพระบางมักทำกันในโอกาสพิเศษเท่านั้น แต่ตามร้านอาหารมักมีเมนูนี้เป็นเมนูเด่นเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างถิ่นอย่างเราๆ

เอาะหลามมีคนเปรียบเทียบอาหารชนิดนี้กับอาหารต่างๆ ไว้ต่างกันตามแต่ประสบการณ์ และความคุ้นเคย คนเหนือบอกว่าเอาะหลามคล้ายแกงโฮะ คนอีสานบอกว่าเอาะหลามคล้ายอ่อม คนภาคกลางบอกว่าเอาะหลามคล้ายต้มจับฉ่าย สิ่งที่เป็นจุดร่วมกันคือเป็นการผสมผสานส่วนผสมหลายๆ อย่างแล้วต้มรวมกัน แต่นั่นก็เป็นการมองอย่างผิวเผินเพราะเอาะหลามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากอาหารต่างๆ ที่กล่าวไปนั้น

การปรุงเอาะหลามแต่เดิมนั้นจะใช้การหลาม คือนำส่วนผสมและเครื่องปรุงต่างๆ ใส่ลงไปในกระบอกไม้ไผ่ แล้วนำไปเผาไฟ จึงเป็นที่มาของชื่อของเอาะหลาม ลักษณะของอาหารที่ได้จะข้นๆ มีน้ำขลุกขลิก เพราะใส่ข้าวเหนียวจี่ตำลงไป สมัยนี้ก็มีการทุ่นแรงโดยการใส่แป้งข้าวเหนียวลงไปแทน นอกจากนี้ยังใส่มะเขือเปราะต้มสุกตำลงไปด้วยเพื่อเพิ่มความข้น และความหวานของน้ำแกง

ส่วนผสมของเอาะหลามได้แก่ หนังปอง (หนังควายแห้งที่ตากจนแห้งจัดแล้วขายกันเป็นมัดๆ) เอาหนังนี้ไปเผาไฟ ขูดขนให้เกลี้ยง นำไปต้มสัก 2-3 น้ำจนหนังนุ่มพอที่จะหั่นได้ ก็นำมาหั่นเป็นเส้นๆ พักรอไว้ เนื้อสัตว์จะเป็นไก่ นกกระทา หมู วัว แม้แต่ปลาก็นำมาทำได้ เนื้อสัตว์นั้นให้นำไปย่างให้สุก และฉีกหรือหั่นเป็นชิ้นพอคำ ข้าวเหนียวเอามาปั้นเป็นแผ่นกลมแล้วนำไปจี่ให้เหลืองหอมแล้วตำให้แหลก เตรียมตำเครื่องแกงซึ่งประกอบด้วยข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม และพริกรอไว้ 

สิ่งที่สำคัญคือสะค้าน (จักค้าน ตะค้านเหล็ก ตะค้านหยวก) เป็นสมุนไพรที่เป็นส่วนของเถาสะค้าน มีลักษณะเป็นไม้หั่นเป็นท่อนๆ มัดไว้เป็นกำ มักจะขายกันตามตลาดของป่าทางภาคเหนือ และอีสาน สะค้านมีกลิ่นหอม และรสเผ็ดซ่า ซึ่งทำให้เอาะหลามมีกลิ่นรสพิเศษที่แตกต่างจากอาหารชนิดอื่น เวลาใช้จะปอกเปลือกออก ใช้ส่วนที่เป็นไม้ข้างใน หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ

ส่วนผสมอื่นๆ นอกจากเนื้อสัตว์แล้วก็มีมะเขือเปราะ มะเขือพวง ถั่วฝักยาว ตำลึง ยอดพริก ใบแมงลัก ต้นหอม ผักชีลาว ผักคราด (ผักเผ็ด) และเห็ดสนุ่น (เห็ดหูหนู) เมื่อเตรียมเครื่องเคราพร้อมแล้วก็ตั้งหม้อแกงใส่น้ำเพียงเล็กน้อยใส่เครื่องแกงลงไปต้มให้เดือด ตามด้วยเนื้อสัตว์ ข้าวเหนียวตำ สะค้าน ผักอย่างไหนสุกยากก็ใส่ลงไปก่อน อย่างไหนสุกง่ายก็ใส่ทีหลัง 

ส่วนมะเขือเปราะเมื่อต้มสุกดีแล้วให้ตักขึ้นมา นำใส่ครกตำให้แหลก แล้วจึงเทกลับลงหม้อ ซึ่งจะทำให้น้ำข้นยิ่งขึ้น ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า และเกลือ ให้รสกลมกล่อมทั้งเค็ม เผ็ด ซ่า เจือความหวานจากผัก ลักษณะของเอาะหลามจะข้นๆ น้ำขลุกขลิก ทั้งแซบทั้งนัวกินเพลินจนข้าวเหนียวหมดกระติบไม่รู้ตัว




 

Create Date : 22 กรกฎาคม 2560    
Last Update : 22 กรกฎาคม 2560 15:38:47 น.
Counter : 4112 Pageviews.  

"บั๊นจร้างเนื๊อง" พิซซ่าแป้งกรอบเวียดนาม





เรื่องและภาพโดย นันทนา ปรมานุศิษฏ์

ของกินเล่นที่พบเห็นได้บ่อยๆ ที่เวียดนามโดยเฉพาะที่นครโฮจิมินห์อย่างหนึ่งคือ “บั๊นจร้างเนื้อง” (Bánh tráng nướng) ซึ่งมีความหมายว่า ใบเมี่ยงญวนย่าง บางทีก็เรียกว่า “บั๊นจร้างเนื้องดาลัท” (Bánh tráng nướng Đà Lạt) ตามชื่อเมืองดาลัท เมืองท่องเที่ยวบนภูเขาสูงทางภาคใต้ของเวียดนามที่มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี หรือชื่อเมืองอื่นๆ ตามแต่ที่มา ซึ่งแต่ละที่ก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียดของส่วนผสม แต่โดยหลักๆ แล้วแทบไม่ต่างกันค่ะ

แม่ค้าขายบั๊นจร้างเนื้องมักจะหาบไปจอดขายตามสถานที่ท่องเที่ยว สวนสาธารณะ หรือหน้าโรงเรียน เพื่อขายให้เป็นของกินเล่น ในหาบนั้นมีจะเตาถ่านพร้อม เพราะขนมชนิดนี้ต้องย่างค่ะ หรือบางทีก็ยึดที่บนฟุตบาทริมถนนเปิดเป็นร้านมีโต๊ะเก้าอี้พลาสติกเตี้ยๆ ให้นั่งกินกันไปมองผู้คนกันไปตามแบบวิถีชีวิตของคนเวียดนาม 

การทำนั้นไม่ยุ่งยาก วัตถุดิบเป็นของที่มักมีติดบ้านอยู่แล้ว ยกเว้นน้ำพริกซาเต้ หรือภาษาเวียดนามเรียกว่า “เอิ๊ตโคซาเต้” (Ớt khô satế) คือ น้ำพริกผัดที่มีส่วนผสมของพริก กระเทียม ตะไคร้ โดยนำไปโขลกหยาบๆ แล้วผัดน้ำมันปรุงรสด้วยเกลือน้ำตาล และเกลือ ทำนองเดียวกับน้ำพริกเผาของเรา เก็บใส่ขวดไว้ใช้ทำอาหารได้หลายชนิด มีบรรจุขวดสำเร็จรูปขาย ส่วนบ้านเราให้ใช้น้ำพริกเผาแทน แม้จะไม่เหมือนกันเพราะไม่มีกลิ่นตะไคร้แต่ก็พอกล้อมแกล้มได้หรือถ้าขยันหน่อยก็โขลกตะไคร้ใส่ลงไปสักครึ่งช้อนก็จะได้กลิ่นแบบเวียดขึ้นมาทันที หรือจะใช้พริกสดบดผสมกับตะไคร้สับแทนก็ได้ 

วิธีทำคือ นำแผ่นแป้งเปาะเปี๊ยะแบบมีงาหรือถ้าหาไม่ได้ก็ใช้แบบธรรมดาๆ ที่เราใช้ห่อเปาะเปี๊ยะญวนแล้วโรยงาเพิ่มเอา นำไปวางบนตะแกรงย่างใช้ไฟอ่อน ต่อยไข่นกกระทาลงไปแผ่นละ 2 ฟองหรือไข่ไก่ 1 ฟองแล้วเขี่ยให้ไข่แตกกระจายไปเคลือบแผ่นแป้ง 

ใส่เครื่องต่างๆ ลงไปได้แก่ หมูหยอง หอมแดงเจียว กะปิ น้ำพริกซาเต้ ซอสพริกศรีราชา นอกจากนี้แล้วยังสามารถใส่เครื่องต่างๆ เช่น เนื้อเค็มเส้น ไส้กรอก และชีส ตามสมัยนิยม โดยใส่อย่างละนิดละหน่อยแค่เพียงให้มีหน้าเคลือบบางๆ 

ใช้แปรงคนส่วนผสมทั้งหมดละเลงให้เคลือบทั่วแผ่นแป้ง โรยต้นหอมซอยผัดน้ำมัน แล้วย่างจนสุกกรอบ นำกรรไกรมาตัดเป็นชิ้นๆ หน้าตาคล้ายพิซซ่าแป้งกรอบจึงมักเรียกให้ฝรั่งเข้าใจง่ายๆ ว่าพิซซ่าเวียดนาม หรือจะห่อแบบม้วนซึ่งเรียกว่า “บั๊นจร้างเนื้องก๊วน” (Bánh Tráng Nướng Cường) ที่มีความหมายว่า ใบเมี่ยงญวนย่างม้วน 

โดยนำตะเกียบยาวๆ มาเป็นแกนแล้วม้วนเป็นแท่ง ห่อกระดาษเพื่อให้ถือกัดกินได้สะดวก ที่เวียดนามจะห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ซึ่งไม่ถูกสุขอนามัยนัก แต่การม้วนแบบนี้จะทำให้ขนมหนาและเคี้ยวยาก เราอาจจะทำแบบห่อแบบพับครึ่งประกบกัน แล้วใช้กรรไกรตัดเป็นชิ้นๆ ก็ได้ 

ของว่างชนิดนี้ทำง่ายๆ และอร่อยดีค่ะ ลองทำกันดูนะคะ




 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2560    
Last Update : 21 กรกฎาคม 2560 20:36:27 น.
Counter : 8032 Pageviews.  

"บั๊นจร้างโจร่น" ยำใบเมี่ยงญวน






เรื่องและภาพโดย นันทนา ปรมานุศิษฏ์

คนเวียดนามกินจุบกินจิบ และมีของให้กินเล่นทั้งวัน ของว่างอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมในไซ่ง่อน หรือนครโฮจิมินห์ก็คือ “บั๊นจร้างโจร่น” (Bánh tráng trộn) คือ ยำใบเมี่ยงญวน ใบเมี่ยงญวนนั้นหมายถึง แผ่นแป้งที่เราใช้ห่อปอเปี๊ยะญวนนั่นเอง ซึ่งทำจากแป้งข้าวเจ้าเป็นแผ่นกลมแล้วเอาไปตากแดดจนแห้งเก็บได้เป็นเวลานาน เราคงนึกไม่ออกว่าแผ่นแป้งนี้จะนำไปยำได้อย่างไร แต่ชาวเวียดนามเขามีความคิดสร้างสรรค์มากค่ะ 

แม่ค้าที่ขาย “บั๊นจร้างโจร่น” มักจะหาบขายอยู่แถวสวนสาธารณะ หรือหน้าโรงเรียน แม้แต่แถวๆ หน้าอาคารสำนักงานสมัยใหม่ คนที่ไปพักผ่อนในสวนก็มักซื้อติดมือไปนั่งกินเล่น หลังเลิกเรียนเด็กนักเรียนก็ชอบซื้อกินรองท้องแก้หิว เช่นเดียวกับสาวออฟฟิตทั้งหลาย เพื่อนร่วมงานของฉันก็เช่นกัน พอสักบ่าย 3 ก็จะแวบหายไปแล้วโผล่มาด้วยถุงยำ 3-4 ถุง ตามแต่จำนวนคนฝากซื้อ บั๊นจร้างโจร่นจะใส่มาในถุงพลาสติกรัดหนังยาง มีไม้เสียบลูกชิ้นให้คู่หนึ่งเอาไว้คีบแทนตะเกียบ เวลาจะกินก็เขย่าๆ ขยำๆ ถุงให้เครื่องเข้ากันแล้วคีบใส่ปากอย่างเอร็ดอร่อย นับเป็นของกินเล่นที่อร่อยและมีคุณค่าครบถ้วน

เขาจะเอาใบเมี่ยงแห้งๆ นี้มาตัดเป็นเส้นๆ เอาต้นหอมซอยมาผัดน้ำมัน เจียวหอมแดง ถั่วลิสงจะคั่วหรือทอดก็ตามสะดวก ใส่ไข่นกกระทาต้ม กุ้งแห้ง ปลาหมึกเส้น เนื้อเค็มเส้น ผักแพว มะม่วงเปรี้ยวซอย กากหมูเจียว น้ำพริกซาเต้ แล้วเคี่ยวน้ำมะขามเปียกผสมกับน้ำปลาและน้ำตาลชิมให้มีสามรส ใส่เกลือป่นกุ้งแห้ง เครื่องเคราต่างๆ นี้เราคุ้นเคยกันดียกเว้นเกลือป่นกุ้งแห้งและน้ำพริกซาเต้ที่บ้านเราไม่มี เกลือป่นกุ้งแห้งเรียกว่า “มุ้ยโตม” (Muối Tôm) ซึ่งมักเรียกว่า “มุ้ยโตมเตยนินท์” (Muối Tôm Tây Ninh) ตามชื่อเมืองเตยนินท์ที่มีชื่อเสียงในการทำเกลือป่นกุ้งแห้งซึ่งก็คือ การเอาเกลือไปป่นรวมกับกุ้งแห้งมีลักษณะเป็นผงหรือเป็นเกล็ดบรรจุกระปุกขายไว้ใช้ปรุงรสอาหาร 

ส่วนน้ำพริกซาเต๊ หรือที่ชาวเวียดเรียกว่า “เอิ๊ตโคซาเต้” (Ớt khô satế) คือ น้ำพริกผัดที่มีส่วนผสมของพริก กระเทียม ตะไคร้ โดยนำไปโขลกหยาบๆ แล้วผัดน้ำมันปรุงรสด้วยเกลือน้ำตาล และเกลือ ทำนองเดียวกับน้ำพริกเผาของเรา เก็บใส่ขวดไว้ใช้ทำอาหารได้หลายชนิด มีบรรจุขวดสำเร็จรูปขาย ส่วนบ้านเราให้ใช้น้ำพริกเผาแทนได้ แม้จะไม่เหมือนกันเพราะไม่มีกลิ่นตะไคร้แต่ก็พอกล้อมแกล้มได้

เมื่อมีเครื่องครบก็ใส่ทุกอย่างอย่างละนิดละหน่อย ปิดท้ายด้วยน้ำมะขามสามรส น้ำพริกซาเต๊ และโรยเกลือป่นกุ้งแห้ง คลุกเคล้าให้เข้ากันเคี้ยวมันๆ เพลินจนหยุดไม่ได้ค่ะ




 

Create Date : 20 กรกฎาคม 2560    
Last Update : 20 กรกฎาคม 2560 10:24:14 น.
Counter : 3558 Pageviews.  

"เรนดัง" อาหารที่อร่อยที่สุดในโลก





เรื่องและภาพ โดยนันทนา ปรมานุศิษฏ์

เรนดัง (Rendang) เป็นอาหารที่ชาวโลกลงมติให้ว่าเป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกจากเวปไซด์ CNN GO ในปีค.ศ. 2011หลังจากที่โค่นแชมป์เก่าอย่างแกงมัสมั่นของไทย

ว่ากันว่าเรนดังนั้นมีต้นกำเนิดจากชนกลุ่มน้อยชาวมีนังกาเบาบนเกาะสุมาตราตะวันตกซึ่งเป็นชาวมุสลิม แต่แกงเนื้อรสเข้มข้นนี้ได้แพร่หลายไปทั่วประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ รวมทั้งภาคใต้ของประเทศไทย โดยชาวมีนังกาเบาที่มาค้าขายแล้วอพยพย้ายถิ่นมายังมะละกา ได้นำเอาวัฒนธรรมการกินมาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้ด้วย

เรนดังคือ แกงเนื้อที่คล้ายแพนงเนื้อของไทย เครื่องแกงของเรนดังนี้มีส่วนผสมของพริกแห้ง หอม กระเทียม ขิง ข่า ตะไคร้ลูกผักชี ยี่หร่า ลูกจันทน์ป่น พริกไทย และแคนเดิลนัท (ใช้ถั่วแมคคาเดเมีย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ หรือถั่วลิสงแทนได้) หากจะทำอย่างง่ายๆ ก็ซื้อเครื่องแกงแพนงสำเร็จรูปก็พอกล้อมแกล้มได้

วิธีทำนั้นเริ่มจากการเอาพริกแกงมาผัดกับน้ำมันให้หอม ใส่เนื้อลงไปผัดให้เข้ากัน เติมกะทิ ใส่กระวานเทศ จันทน์แปดกลีบอบเชย ใบซาลาม (ใช้ใบกระหรี่ หรือใบกระวานแทนได้ บางสูตรใช้ใบขมิ้นสดซอยใส่แทน) และใบมะกรูด เคี่ยวไปสักระยะจึงใส่มะพร้าวคั่วลงไป ปรุงรสด้วยน้ำตาลโตนด หรือน้ำตาลมะพร้าว เกลือ และซีอิ้วดำ เคี่ยวจนเนื้อเปื่อยดี และน้ำแกงข้น อาจจะทำแบบมีน้ำขลุกขลิกไว้พอราดข้าว ซึ่งเป็นแบบที่นิยมกันในมาเลเซีย และสิงคโปร์ หรือจะเคี่ยวจนแห้งเป็นสีน้ำตาลคล้ำอย่างที่นิยมในอินโดนีเซียก็ได้ อย่างแห้งนั้นเหมาะสำหรับห่อพกพาไปกินนอกสถานที่ นอกจากจะสะดวกแล้ว แกงที่เคี่ยวจนแห้งนี้ก็สามารถเก็บไว้ได้หลายวันโดยไม่ต้องเข้าตู้เย็น เรนดังแบบแห้งนี้ถือเป็นแบบต้นตำรับของชาวมีนังกาเบา เรียกว่ามีนังเรนดัง หรือปาดังเรนดัง ( Minang rendang /Padang rendang) ซึ่งว่ากันว่าเป็นเรนดังอร่อยที่สุด

การทำเรนดังนั้นใช้เวลา และแรงงานมาก จึงมักทำกินกันในโอกาสพิเศษ และในเทศกาลสำคัญทางศาสนา เช่นวันรายออีดิลฟิตรี และอีดิลอัฎฮา

เรนดังมักจะเสิร์ฟพร้อมกับข้าวสวย ข้าวต้มมัดที่เรียกว่า “กือตูปัต” (Ketupat) ซึ่งจะเป็นข้าวเจ้าห่อด้วยใบมะพร้าวสานเป็นรูปตะกร้อทรงสี่เหลี่ยม หรือข้าวเหนียวห่อด้วยใบกะพ้อสานเป็นรูปสามเหลี่ยมแล้วนำไปต้ม หรือข้าวหลามที่หุงข้าวเหนียวกับกะทิที่เรียกว่า “เลมัง” (Lemang) เวลากินก็จะหั่นข้าวหลามเป็นแว่นๆ 

เรนดังนั้นจะกินกับเครื่องเคียงต่างๆ ได้แก่ ใบมันสำปะหลังลวก ผักบุ้งลวก แกงผัก และน้ำพริกซัมบัล (Sambal) นอกจากเรนดังเนื้อวัวที่เป็นที่นิยมแล้ว เรนดังยังสามารถปรุงจากเนื้อสัตว์หลายๆ ชนิดเช่น เนื้อควาย เนื้อแกะ เนื้อแพะ ตับ เนื้อไก่ เนื้อเป็ด แม้กระทั่งไข่ 

หากมีโอกาสก็อยากให้คุณได้ลองชิมอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกนี้ สำหรับฉันแล้วมันอร่อยสมคำร่ำลือจริงๆ




 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2560    
Last Update : 19 กรกฎาคม 2560 20:45:33 น.
Counter : 4795 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

at heart
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




ฉันเริ่มเขียนบล็อกที่นี่โดยเขียนเรื่องอาหารเกาหลีที่ใกล้ตัวก่อน โดยใช้ชื่อว่านันทนาอาจุมมา มีแฟนๆ ติดตามพอให้ชื่นใจ หลายปีมานี้ฉันหายไปจากบล็อกนี้ที่เริ่มด้วยอาหารเกาหลี เพราะต่อมาก็เขียนไปเรื่อยๆ จากอาหารเกาหลีสู่อาหารอาเซียน และสารพัดอาหาร มีผลงานหนังสือพอประมาณ ซึ่งส่วนมากก็ไม่พ้นเรื่องกิน พอเป็นเรื่องอื่นๆ ก็เลยไปเขียนที่อื่น บัดนี้เมื่อเริ่มมีงานมากขึ้นก็เลยคิดว่ากลับมาอยู่ที่นี่ดีกว่า จะได้จัดเก็บเรื่องราวต่างๆ ให้เป็นหลักแหล่ง การกลับมาของนันทนาในครั้งนี้จึงมีเรื่องราวที่หลากหลายขึ้นมิใช่แค่เรื่องอาหารเกาหลีเพียงอย่างเดียว

เรื่องวัฒนธรรมอาหารเป็นความสนใจส่วนตัว บล็อกนี้ก็ทำด้วยความรักและอยากที่จะแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้กัน ส่วนอาชีพหลักนั้นคือนักสื่อสารมวลชนที่พยายามหนีความวุ่นวายในชีวิตด้วยการรับงานเขียนเป็นหลักทั้งบทความ บทสารคดี และเรื่องราวต่างๆ ที่มักจะต้องการการค้นคว้าข้อมูล ด้วยความสนใจในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม และสังคม ซึ่งจะว่าไปแล้วก็สนใจมันเสียทุกเรื่อง

ฉันหวังว่าเราจะได้เดินทางไปด้วยกันอีกครั้งด้วยมิตรภาพที่อบอุ่นเช่นเคยนะคะ

https://www.facebook.com/gastronomylife

ประกาศ สำหรับเรื่องอาหารเกาหลีขณะนี้ถูก Photobucket เรียกค่าไถ่ที่ไปฝากรูปไว้ราคามหาโหด ฉันจึงมิอาจไปไถ่รูปตัวเองออกมาได้ ตอนนี้รูปที่ลงไว้เลยหายไปหมด ยังไม่มีทางออกค่ะ เพราะว่าเรื่องมันนานมาแล้ว เสียดายมากเพราะมีประโยชน์ต่อผู้คนมากมายโดยเฉพาะในยุคที่ไม่มีใครรู้จักอาหารเกาหลีเลย
Friends' blogs
[Add at heart's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.