Group Blog
 
All blogs
 

ส่วนลดความทุกข์



บล็อกที่แล้วพูดเรื่องสาวนักช้อปปิ้งไป หลายท่านชอบใจ ผมเลยต่อยอดให้อีกตอน

สำหรับขาช้อปทั้งหลาย สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญใส่ใจเสมอคือ
ส่วนลด สติ๊กเกอร์ คูปอง ของแถมทั้งหลาย
แต่สำหรับผม มักจะได้ประโยชน์จากเรื่องแบบนี้น้อยมาก
เพราะผมความจำสั้น มักจะลืมว่ามีคูปองลดนั่นลดนี่

ล่าสุด ผมอุตส่าห์เก็บแสตมป์โดราเอม่อนของร้านเซเว่นไว้
ได้ตั้งร้อยกว่าบาท กะว่าจะเอาไว้แลกสมาร์ทคาร์ด
มัวแต่เก็บเพลิน จนยุ่งๆ ไม่ได้เข้าร้านเซเว่นไปพักนึง
มารู้ตัวอีกทีตอนไปซื้อของแล้วไม่ได้แสตมป์ เลยถามถึง

พนักงานบอกว่า "ไม่มีแล้วพี่.. หมดเขตแล้ว".. อ่า..

แล้วไอ้ที่กองสุมๆอยู่ที่บ้านล่ะ ทำไง.. หือ.. ตาแอสตั้น

ผมเป็นแบบนี้บ่อยๆครับ ได้คูปง คูปองอะไรมา
ก็มักจะไม่มีโอกาสแลกซื้อ แลกใช้อะไร จนหมดเขตนั่นแหละ ถึงรู้ตัว

ผมเปรียบคูปอง ส่วนลดพิเศษอะไรนี่
เหมือนความสุขทางโลกนะ จะได้มาก็ต้องลงทุนลงแรง
บางทีแพงก็ยอม แถมยังมีจำกัดเวลาของความพิเศษ
เลยจากนั้นไปก็ไม่พิเศษแล้ว

ไม่ยักเหมือนการเจริญสติ วิปัสสนา ที่พวกเราเรียนๆกันอยู่
อันนี้ไม่มีหมดอายุนะ ติดตัวข้ามภพข้ามชาติไปเลย
แถมคนขี้ลืมแบบผม ก็ได้ประโยชน์ เพราะไม่ต้องคอยจำ ว่าต้องใช้เมื่อไหร่

ถึงเวลาสมควรจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน
ก็ส่งผลให้โดยไม่ต้องร้องขอ เพราะยิ่งเรียกร้อง กลับยิ่งไม่ได้
อย่างที่บางคนแอบเรียกร้องโดยไม่รู้ตัว

เช่นภาวนา หัดรู้กาย รู้จิตไปได้เดือนสองเดือน
แล้วมาถามว่า ทำไมโกรธแล้วไม่หาย ทำไมทุกข์นาน

ไม่ใช่หัดหยอดขนมครกนา จะได้หัดกันสามวันก็เป็น แหม...

อยากบอกคุณว่า การมีสติปัญญาจากวิปัสสนาที่ค่อยๆเติบโตขึ้น
จะทำหน้าที่เป็นส่วนลดทอนความทุกข์ออกไปจากใจเราทีละน้อยๆ โดยอัตโนมัติ

เคล็ดลับคือ พยายามรู้กายใจลงปัจจุบัน อย่างเป็นกลาง
มันจะได้ผลแค่ไหน ก็ยอมรับไว้นะครับ
เหมือนตอนจับคูปองมิดไนท์เซลส์ที่เซ็นทรัล
จะได้ 10% หรือ 20% ก็ช่างมันเถอะ

ยิ้มรับไว้ แล้วภาวนาไปเรื่อยๆ
เห็นความเปลี่ยนแปลงว่ากายนี้ ใจนี้ ไม่คงที่ มีภาวะมาบีบคั้นให้มันเปลี่ยน
เห็นว่ากายใจมันจะเปลี่ยน ก็เปลี่ยนของมันได้เอง
เดี๋ยวมันก็สุข เดี๋ยวมันก็ทุกข์ เราไม่ต้องสั่ง

เห็นความจริงที่ว่า..น้อย ก็เหมือนได้คูปองสัก 5% 10%
เห็นมาก ก็เหมือนได้ 20% 40% ก็ว่ากันไป

แต่ได้น้อยก็ดีกว่าไม่ได้เลยนะ ต้องท่องไว้แบบนั้น
อย่าโลภ อย่ากดดันตัวเอง

แต่อย่าประมาท เพราะมิดไนท์เซลส์ไม่ได้มีทุกวัน
แสตมป์เซเว่นยังมีวันหมดอายุฉันใด
เราก็ไม่ได้มีชีวิต เวลา และกำลังวังชาจะภาวนาตลอดกาลนานฉันนั้น

ชาติหน้า เกิดพลาดท่าเสียทีไม่ได้เป็นมนุษย์
ไม่เจอพระพุทธ พระธรรม จะลำบาก

เริ่มกันได้แล้วนะครับ





 

Create Date : 21 มีนาคม 2552    
Last Update : 21 มีนาคม 2552 21:59:44 น.
Counter : 917 Pageviews.  

Confessions of a Shopaholic เมื่อเราคิดว่าความสุขซื้อได้



ไม่ค่อยว่างเสียนาน พอมีเวลาปุ๊บ เลยอัพทีเดียวสองบล็อกเลย

สารภาพว่า ผมได้ยินชื่อหนังสือ "คำสารภาพของสาวนักช้อป" มานานแล้ว แต่ไม่เคยอ่าน
จนเมื่อกลายมาเป็นภาพยนตร์ ผมถึงมีโอกาสได้รู้จัก "สาวนักช้อป" คนนี้เสียที

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า นับวันคนเราก็ให้ความสำคัญกับเงินมากขึ้นเรื่อยๆ
พูดแบบนี้ไม่ได้บอกว่าเงินไม่สำคัญ เพียงแต่ผมเชื่อว่า เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด
ยิ่งไม่ใช่สิ่งสำคัญขนาดควรจะพลีกายถวายชีวิต เพื่อให้ได้มาโดยไม่มีเงื่อนไข

สักสองอาทิตย์ก่อน มีสถานีโทรทัศน์ไทย PBS ทำสารคดีเชิงข่าวเรื่องสาวไคโยตี้
บังเอิญผมไม่ได้ดูรายการนั้น แต่ผ่านตาสปอตโปรโมทเขาสองสามรอบ
มีเสียงคำสัมภาษณ์หนึ่งสะดุดใจผมมาก เป็นเสียงผู้หญิงพูดทำนองว่า..
"ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะอย่างไร เงินคือปัจจัยที่สำคัญที่สุด"

ผมวิเคราะห์ต่อไปเล่นๆว่าทำไม และอะไรทำให้เงินมีความสำคัญกับชีวิตเรามากขนาดนี้
ได้คำตอบว่า เพราะคนเรามีพื้นฐานคล้ายๆกันอย่างหนึ่ง คือเราไขว่คว้าหาความสุข
แล้วเราเชื่อว่า ความสุขเป็นสิ่งที่สามารถซื้อหาได้ด้วยเงิน

มีคำยืนยันง่ายๆอันหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ.. เคยมีคนถามครูบาอาจารย์ว่า
คนเราทำดีได้ดีจริงหรือ ทำไมคนชั่วได้ดีมีถมไป

ท่านถามกลับว่า รู้ได้ไงว่าเขาได้ดี คนถามตอบว่า.. ก็เห็นเขารวยเอารวยเอา
ท่านเลยชี้ว่า เห็นไหม.. สับสนระหว่าง "ดี" กับ "รวย" แล้วนะ

นี่สะท้อนว่า คนเราสมัยนี้คิดว่า ถ้าจะได้ดีแปลว่าต้อง "รวย" รวยแปลว่าดี
เพราะคิดว่ามีเงินเยอะก็ซื้อความสุขได้เยอะ แต่ความจริงคนรวยๆมีทุกข์เยอะไปนะครับ

ที่จริง นิยามความสุขของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน อย่างของรีเบ็คก้า บลูมวูด
ความสุขของเธอคือการได้ซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ของประดับ ไปจนถึงผ้าพันคอแบรนด์เนม

เธอบรรยายว่า เวลาที่เธอได้ซื้อของสวยๆ ดูเหมือนโลกนี้ราวจะสวยงามไปตามกัน
แต่ความรู้สึกนั้นจะดับลงหลังจากนั้นไม่นาน เธอจึงต้องเริ่มซื้อของชิ้นใหม่อีกครั้ง

ความสุขทางโลกเป็นอย่างนี้เองครับ ไม่ว่าจะใช้เงินซื้อหรือไม่ คือมันสุขได้ชั่วคราว

ผู้หญิง ถึงไม่เคยยินดีในกระเป๋าใบเดียว รองเท้าคู่เดิม ตุ้มหูคู่เก่า
ผู้ชาย ถึงไม่ค่อยยินดีในแฟนคนเดียว รถคันเดิม เครื่องเสียงชุดเก่า

เพราะความสุขที่มีจากการได้มา มันแสดงอนิจจัง มันอยู่ชั่วคราวแล้วก็จากไป
เราจึงต้องดิ้นรนหาของใหม่ มาสนองความอยากได้ใคร่มีต่อไป

อยากได้แล้วไม่ได้ ก็ทุกข์เพราะไม่สมในอยาก อยากได้แล้วได้มา ก็ทุกข์อีก
เพราะการมีอยู่ ก็เป็นภาระต้องดูแลรักษา ไม่ให้มันเสื่อมมันโทรมสูญหาย

คนมีบ้าน ก็ทุกข์เพราะบ้าน ต้องทำนุบำรุงดูแล ต้องเฝ้าระวัง ไม่ให้ขโมยขึ้น
คนมีรถ ก็ทุกข์เพราะรถ ต้องคอยขัดล้างดูแล ซ่อมแซม เติมน้ำมัน ทำประกัน เสียภาษี หาที่จอด
คนมีแฟน ก็ทุกข์เพราะแฟน ต้องคอยหวงคอยห่วงไปจนถึงคอยหึง ต้องคอยเอาใจใส่ ฯลฯ

พูดซื่อๆ ดิ้นรนอยากจะสุข แต่สิ่งที่ได้มากลับเป็นทุกข์ง่ายๆเสียอย่างนั้น

ในตอนท้ายเรื่อง รีเบ็คก้าเรียนรู้ว่า การได้มาซึ่งความสุขชั่วคราวที่เงินซื้อหาได้
บางทีกลับทำให้เธอต้องสูญเสียอะไรที่สำคัญยิ่งกว่าไป

ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ มองในแง่ดี ก็เหมือนโอกาสที่เราจะหยุดทบทวนชีวิตเรา
ว่า..แท้ที่จริงแล้ว เราต้องการอะไรในชีวิตกันแน่
ความสุขที่ต้องอาศัยเงิน สิ่งของนอกกาย
หรือความสุขที่หาได้โดยอาศัยสติปัญญาภายในใจของเรานี่แหละ

ไม่รวย ไม่สวย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ก็สุขได้
มีปัญหา มีหนี้ มีภาระ น่าจะทุกข์ แต่ก็ยังสุขได้

ถ้าอยากถามว่า.. วิธีสร้างสติ สร้างปัญญา ทำยังไงเหรอคุณแอสตั้น
ลองย้อนหลังไปอ่านบล็อกก่อนหน้านี้อันนึงนะครับ

สุขสันต์วันนี้ ไม่ว่าคุณจะมีเงินในกระเป๋าเท่าไหร่ก็ตามครับ




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 4 มีนาคม 2552 15:11:47 น.
Counter : 1620 Pageviews.  

เพราะสิ่งนี้มี ทุกข์จึงเกิด



(ขอบคุณคุณแป๋ว SevenDaffodils สำหรับภาพประกอบครับ)

ผมติดค้างคุณผู้อ่านที่ใช้ชื่อ "เหนื่อยใจ" ไว้ ว่าจะนำคำถามของเธอมาตอบเป็นกระทู้ใหม่
ครั้งแรกที่อ่านคำถามนี้ ผมมองเห็นลู่ทางจะอธิบายอะไรที่เป็นประโยชน์กับหลายๆท่านได้มากพอควร
ต้องขออภัยที่ผมมีภาระพัวพันหลายอย่างในช่วงนี้ เลยเพิ่งมีเวลาตอบให้วันนี้เอง

คำถาม คำตอบมีดังนี้ครับ

".....ดิฉันเป็นคนที่มีรูปสมบัติและคุณสมบัติไม่ได้น้อยหน้าใครเลยค่ะ ถ้ารู้จักแบบเพื่อนที่ไม่ใช่ทางชู้สาว จัดว่าเป็นคนที่มีบุคลิกภาพดี มีเสน่ห์พอสมควร มีหนุ่มๆมาชอบบ้างแต่มักเป็นคนที่มีครอบครัวแล้ว หรือบางทีไม่ได้มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับเรา แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงผิดหวังเรื่องความรักบ่อยๆ พอเริ่มรู้สึกทางชู้สาวกับใครก็จะมีความคาดหวังตามมาเป็นเงาซึ่งก็คือจุดเริ่มต้นของความทุกข์เลยค่ะ

เขียนมาซะนานบอกตรงๆว่าไม่รู้ว่าจะถามอะไรดีค่ะ เอาเป็นว่ารบกวนคุณแอสตันชี้แนะวิธีปฏิบัติธรรมเพื่อให้เราไม่ต้องวนเวียนมาทุกข์ซ้ำซาก หรือทุกข์น้อยลงค่ะ (แฮ่ะ ทราบอยู่เหมือนกันค่ะในขณะที่พิมพ์ว่าเรากำลังอยากออกจากทุกข์)

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ"

โดย: เหนื่อยใจ IP: 125.27.98.xxx วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2552


ผมดีใจที่คุณไม่ได้ถามอะไร นอกจากวิธีปฏิบัติธรรม
เพราะคำถาม คำตอบอื่นๆว่าด้วยความรักที่เราถามๆตอบๆกัน ตอบไปก็เท่านั้นเองครับ
จะกี่เดือนกี่ปี คำถามมันก็วนๆเวียนๆเหมียนๆเดิม เปลี่ยนไปเฉพาะตัวละครเท่านั้น

เอาเข้าจริงๆ ความรักไม่ได้เป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้เราทุกข์หรอกครับ
พระพุทธเจ้าบอกว่า เหตุแห่งทุกข์จริงๆคือ "ความไม่รู้"

พูดให้ละเอียดเฉียดความยากขึ้นนิดนึงว่า..
ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ เป็นเหตุให้เรายังต้องเวียนว่ายตายเกิด

เพราะยังเกิด จึงยังมีทุกข์ เพราะมีทุกข์ จึงยังต้องเกิด
และเพราะวงจรแบบนี้ คนเราถึงเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดไม่รู้จักจบสิ้น
ชนิดที่พระพุทธเจ้าบอกว่า การเวียนว่ายในสังสารวัฎของสัตว์โลกนั้น..
"จับต้นไม่ได้ หาปลายไม่เจอ"

อ่านถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะเริ่มขนลุกเหมือนที่ผมเคยเป็น แล้วมีคำถามว่า
ถ้างั้นจะเปลี่ยนจากความ "ไม่รู้" เป็นความ "รู้" ได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ชัดเจนว่า การจะรู้แจ้งในอริยสัจ ทำได้โดยการเรียนรู้ให้แจ้งในทุกข์
มีภาษาแขกบาลีที่ผมเคยได้ยินบ่อยๆว่า "ทุกขัง อริยสัจจัง ปริญเยยัง"
อันนี้เอามาประกอบให้พอได้บรรยากาศ แต่ไม่ต้องกังวลว่าผมจะพาสวด

ในเมื่อทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้รอบ รู้ชัด หรือรู้แจ้งนั่นแหละ..
ท่านเลยเรียงลำดับอริยสัจ สี่ โดยให้ "ทุกข์" อยู่หัวแถว คือเริ่มจากทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ครูบาอาจารย์ผม ท่านบอกว่า ถ้ารู้แจ้งในทุกข์ จะเข้าใจในอริยสัจที่เหลืออีกสามตัวเอง
ไม่ต้องเหนื่อยเรียนทีละตัวจนครบ เอาแค่รู้ทุกข์ตัวเดียว ก็เหลือแหล่

เพราะแค่ "รู้ทุกข์" อย่างเดียว บางทีเราอาจต้องแหล่กันทั้งชาติเลยล่ะคุณ

ถามว่า.. แล้วจะรู้แจ้ง เข้าใจทุกข์ได้ไงอ่ะ คุณแอสตัน
ตอบว่า.. ก็ต้องมีปัญญาครับ

พระพุทธเจ้าท่านว่า.. บุคคลจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา

ถามต่อว่า.. แล้วจะไปเอาปัญญามาจากไหนล่ะคุณแอสตัน
ตอบว่า.. พระพุทธเจ้าบอกวิธีไว้ว่า ต้องเจริญสติครับ
เมื่อมีสติแท้ๆ จิตใจจะตั้งมั่น เกิดสมาธิ รู้ความจริง หรือธรรมะนั่นแหละ

โบราณท่านถึงเขียนคำว่า "สติปัญญา" โดยให้สติอยู่ข้างหน้า ปัญญาตามหลัง
หมายเหตุตัวใหญ่ๆว่า ปัญญาทางธรรม ต่างจากปัญญาทางโลกนะครับ

ทางโลกเขาสอนให้คนฟัง อ่าน แล้วคิดตาม ยิ่งคิดได้มากกว่าที่อ่านที่ฟัง ยิ่งเก่ง
แต่ทางธรรม พระท่านให้มีสติ "รู้" สถานเดียว "คิด" เมื่อไหร่ สอบตกวิชาวิปัสสนาเมื่อนั้น

ถามอีกว่า.. แล้วจะมีสติแท้ๆ ต้องทำไงล่ะคุณแอสตัน
ตอบโดยอาศัยคำสอนครูบาอาจารย์และพระพุทธเจ้าว่า เหตุใกล้ให้เกิดสติคือถิระสัญญาครับ

ถิระสัญญา แปลเป็นคำที่เด็กมัธยมเข้าใจง่ายว่า "การจดจำสภาวะได้"
อธิบายแบบให้เด็กป.หก พอเข้าใจได้ว่า ถ้าจิตมันจำสภาวะอะไรสักตัวว่า สภาวะหน้าตาแบบนี้ คือตัวนี้ๆ
มันจะเริ่มมีสติแท้ๆ จากการเห็นสภาวะ ที่เกิดโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่เพราะจงใจบังคับให้รู้

เพื่อจะให้จิตมันจำสภาวะได้ ครูบาอาจารย์ที่สอนวิปัสสนาแบบที่เริ่มด้วยการดูจิต
ท่านเลยนิยมสอนให้คอย "รู้สึกตัว" รู้ทันสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามที่เป็นจริง ณ ปัจจุบันขณะ

รู้สึกที่กายยืน เดิน นั่งนอน เมื่อชำนาญและดูเป็น จะเห็นว่ากายที่ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นส่วนหนึ่ง
ใจที่ไปรู้กายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง

รู้สึกที่ใจ ว่ามันสุข ทุกข์ หนัก เบา โกรธ กลุ้ม โล่ง ดีใจ ปลื้ม อิจฉา หดหู่ ร่าเริง
รู้เห็นว่ามันเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง มันเป็นยังไง ให้รู้ว่าเป็นอย่างนั้น

มันจะสุข จะทุกข์ ก็แค่รู้ มันจะโกรธ จะรัก ก็แค่รู้ มันจะชื่นชม หรือชิงชัง ก็แค่รู้
มันจะอึดอัด หรือโปร่งสบาย ก็แค่รู้ มันจะเบิกบานหรือซึมเซา ก็แค่รู้

รู้อย่างที่มันเป็น เท่าที่มันเป็น ณ ขณะนั้น รู้โดยไม่ต้องไปห้าม ไม่กดข่ม ไม่บังคับให้มันดี ให้มันเป็นอะไรทั้งนั้น

เพราะสิ่งที่เราต้องการรู้ คือ"ความจริง" ว่ากายนี้ จิตนี้มันเปลี่ยนแปลง มันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
มีทุกข์มาบีบคั้นเรื่อยๆ และมันไม่ใช่สิ่งที่อยู่ใต้อำนาจตัวตนการบังคับสั่งการของเรา

ถึงต้องปล่อยให้มันแสดงความจริงให้เราเห็น ให้เราเรียนรู้

แบบฝึกหัดง่ายๆ ที่ผมทำอยู่ทุกวัน แล้วได้ผลคือการสวดมนต์ครับ
ให้เลือกบทสวดง่ายๆ ที่คุณจำได้มาสักบทสองบท จำบทไหนไม่ได้ ก็นะโมตัสสะ ภควะโต ก็ได้นะ

จำบทไหนไม่ได้เลย ท่อง พุทโธ ธัมโม สังโฆ ยังได้เลย
แล้วลองจับเวลาสักห้านาที สวดไป แล้วคอยสังเกตว่า ในห้านาทีนั้น จิตคุณแว๊บไปคิดกีครั้ง

คิดเรื่องอะไรช่างมัน ไม่ต้องสนใจ สนแค่จำนวนการแว๊บ
ฝึกแบบนี้ทุกวัน ให้สม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละห้านาที สิบนาทีได้ยิ่งดี

ใครขยัน ไม่ต้องยาวกว่านี้ก็ได้ครับ แต่เพิ่มรอบเอา เช่นเช้าก่อนไปทำงาน
หรือตอนนั่งรถเมล์ ตอนก่อนนอน ตอนเข้าห้องน้ำ ฯลฯ สุดแต่คุณจะถนัด

แล้วระหว่างวัน คอยดูความรู้สึกในใจของคุณเอง ว่ามันเปลี่ยนแปลงขึ้นลง คงที่อย่างไร

ทำอย่างนี้สักเจ็ดวัน แล้วจะรู้สึกได้ว่า เราเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง คือสติว่องไวขึ้น
ถ้าทำครบเดือน จะเริ่มรู้สึกว่าใจมันเบาขึ้น สบายขึ้น มีความทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น

ทำครบสามเดือน คนรอบข้างจะเริ่มเห็นว่าคุณเปลี่ยนไป ชนิดที่ อย. ยังต้องรับรองมาตรฐาน

แต่ให้ระวังการ "คิดตาม" หลังการรู้ครับ เพราะส่วนมาก พอเริ่มดูจิตดูใจได้ จะหยุด "รู้" ไปคิดเอา
เช่นคิดว่า สภาวะนี้ เรียกอะไรหว่า ทำแบบนี้ถูกหรือเปล่าหว่า อันนี้รู้ หรือคิดเอาหว่า

ถ้าคุณมีอาการแบบนี้อยู่ ให้ดูลงไปว่า จิต "กำลังคิด" อยู่ซื่อๆนั่นแหละ
ผมถึงบอกบ่อยๆว่า สงสัย ให้รู้ว่าสงสัย งง ก็ให้รู้ทัน ดูตรงที่ความ "งง" นั่นแหละ

แล้วจะเห็นว่า ความสงสัยก็ไม่ใช่จิต เป็นผลิตผลจากการทำงานของจิต
ความงง ก็ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาเอง เราไม่ได้สั่ง จิตมันทำงานเอง

ดูแบบนี้ไปเรื่อยๆ จิตคุณจะสะสมปัญญาตัวหนึ่ง จากการเห็นว่า จิตไม่ใช่ตัวเรา มันทำงานได้เอง
หรือบางคนก็เห็นว่า จิตมันไม่คงที่ มันเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก มีสิ่งนั้นมากระทบ ก็เปลี่ยน มีสิ่งนี้มากระทบ ก็เปลี่ยน

จิตมันเปลี่ยนไปเพราะเหตุ และปัจจัย ไม่ได้เปลี่ยนเพราะเราสั่ง เรากำหนด
ไม่ได้เปลี่ยนเพราะเราต้องการ เราชอบ หรือไม่ชอบ

บางคนก็เห็นว่า ทุกสิ่งในชีวิต ในกาย ในใจเรา ล้วนแต่เป็น"เรื่องชั่วคราว"
สุข ก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว จิตที่ดีก็ชั่วคราว จิตแย่ๆก็ชั่วคราว ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

เห็นอะไร มุมไหน แบบไหน ก็ได้คะแนน ได้ปัญญามากขึ้นเท่านั้น
จิตยิ่งมีปัญญามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งใกล้ต่อการพ้นทุกข์มากเท่านั้น

วันนี้ เอาปัญหาความรัก มาตอบเรื่องการหัดภาวนา หวังว่าคงจะได้ประโยชน์
และเข้าใจหลักการเบื้องต้นมากขึ้นนะครับ

ภาวนาไปเถอะครับ ปัญหาเรื่องความรักวางไว้ก่อน ไม่ใช่งานหลักของชีวิตหรอก

เขียนยาวๆแบบนี้ หลายคนอ่านแล้วชอบใจ รู้ว่าชอบใจ ภาวนาเสร็จไปทีนึงแล้ว
หลายคนอ่านแล้วเบื่อ รู้ว่าเบื่อ งง รู้ว่า งง นี่ก็ภาวนาเสร็จแล้ว

วิปัสสนา ทำได้ง่ายๆแบบนี้นะครับ อย่าไปทำอะไรให้ยาก เหนื่อยเปล่าๆ

จนกว่าจะพบกันใหม่ในบล็อกหน้าครับ




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2552 16:11:24 น.
Counter : 2091 Pageviews.  

วาเลนไทน์อีกหนึ่งปีกับความรัก



(ขอบคุณภาพประกอบสวยๆจากคุณแป๋ว SevenDaffodils ครับ)

และแล้วก็ถึงวาเลนไทน์อีกปี..

ผมไปบันทึกเทปรายการธรรมะคนเมืองเมื่อวันมาฆบูชาที่ผ่านมา
มีพูดตลกๆกับคุณโก้ที่จัดรายการด้วยกันว่า..
พูดถึงกุมภาพันธ์ ถ้าถามว่ามีวันสำคัญอะไร ร้อยละเก้าสิบ จะบอกว่าวาเลนไทน์
แต่ส่วนมากจะลืมไปว่ามีมาฆบูชาด้วยนา

ผมพูดติดตลกไปว่า อีกสักสี่สิบปี ถ้าเด็กวัยรุ่นยุคนี้ได้เป็นนายกฯ
เราอาจจะมีวาเลนไทน์เป็นวันหยุดราชการ และสามีที่ซื้อกุหลาบให้ภรรยาอาจจะหักภาษีได้

วาเลนไทน์ เป็นวันสำคัญของฝรั่งที่มีอิทธิพลกับบ้านเรามากขึ้นทุกปี
ส่วนหนึ่งเพราะความรัก เป็นเหตุและปัจจัยแห่งสุขและทุกข์ของมนุษย์ส่วนใหญ่โดยเฉลี่ย

นักจิตวิทยาเขาบอกว่า มนุษย์มีพื้นฐานต้องการความรัก ความสนใจจากคนรอบข้าง
แต่พระพุทธเจ้า บอกว่า ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์

ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดเอาทุกข์มาใส่ตัว หาเหาใส่หัว โดยไม่เจตนา

ถามว่า ทำไมรักแล้วต้องมีทุกข์
ตอบว่า เพราะรักของปุถุชน มันเจือความอยากได้ อยากมี อยากครอบครอง
เป็นรักเพื่อจะได้รับ มากกว่าเพื่อจะให้ โดยไม่หวังอะไรตอบแทน

หลายคนที่ประกาศเจตนารมณ์ เป็นคนขอรักข้างเดียว โดยไม่หวังอะไร
ที่สุดแล้วก็ยัง "หวัง" ว่าเขาจะยินดีรับสิ่งที่เราให้ เขาจะเห็นค่าของเรา อยู่ดีแหละ

แต่ในเมื่อเรายังมีเลือดมีเนื้อ มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน
การจะวิ่งหนีความรู้สึกรักใคร่ชอบพอใครสักคน ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนจ่ายค่าไฟที่เซเว่น

ดังนั้น คำแนะนำคือ ถ้าจะรักใคร ก็อย่าลืมเจริญสติควบคู่ไปด้วย
ถ้าจะสมรัก สมรส จะได้ไม่เพลิดเพลินเจริญโลกไปเสียถ่ายเดียว
หรือถ้าจะเสื่อมรัก เสื่อมรส จะได้ไม่หดหู่ อดสูดูแห้งเหี่ยวจนเกินงาม

บางท่านอาจจะนึกขำในใจ ว่าคุณแอสตันพูดอะไรก็ลงเรื่องเจริญสติทุกที
ก็พระพุทธเจ้าบอกว่าสติ สำคัญในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ นี่นา

ใครที่เข้าใจหลักวิปัสสนาได้ถูกต้อง ตามที่พระพุทธเจ้าสอน
หัดรู้กายรู้ใจตัวเอง ด้วยสติ เห็นความจริง เห็นธรรมในกาย ในใจ
จะเกิดปัญญา เห็นว่าเรื่องทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว

สุข ก็ชั่วคราว ทุกข์ ก็ชั่วคราว
กายที่สุขก็ สุขชั่วคราว กายที่เป็นทุกข์ ก็ทุกข์ชั่วคราว
ใจที่เป็นสุข ก็สุขชั่วคราว ใจที่เป็นทุกข์ ก็ทุกข์ชั่วคราว

การเห็นความจริงแบบนี้ ซ้ำๆ บ่อยๆ เนืองๆ ต่อเนื่องกันไปชั่วเวลาหนึ่ง
จะพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา และปล่อยวางเรื่องต่างๆได้

จะรัก ก็รักได้อย่างมีสติ เข้าใจว่าคนเราเกิดมาชั่วคราว
พบกัน รักกัน แล้วที่สุดก็ต้องจากกัน จากเป็นๆบ้าง ตายจากกันบ้าง

จะเสียใจ ผิดหวัง เพราะรักขม ก็ขมอย่างมีสติ เข้าใจว่าชีวิตนี้เป็นของชั่วคราว
ทุกข์มีจริง แต่จิตที่เข้าใจทุกข์ ยอมรับ ไม่ปฏิเสธทุกข์ จะไม่แบกทุกข์

เหมือนคนฉลาด ที่เดินไปเจอขี้หมา แล้วรู้ว่าสิ่งนี้เป็นของเหม็น และไม่หยิบมาเป็นภาระ
แต่ไม่ปฏิเสธการมีอยู่นะ ยอมรับว่ามันเป็นของมันอย่างนั้นเอง

ไม่ว่าวาเลนไทน์นี้ คุณจะจัดตัวเองอยู่ในหมวดไหน
ผมก็หวังว่าคุณจะผ่านวาเลนไทน์ไปด้วยสติ

จนกว่าจะพบกันใหม่ในบล็อกหน้า ถ้าผมยังมีชีวิตอยู่นะครับ


สุขสันต์วันที่มีทั้งคนรัก คนเฉยๆ และคนเกลียดตามธรรมดาโลกครับ




 

Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2552 0:13:37 น.
Counter : 1139 Pageviews.  

ลมหนาว ความทุกข์กับสติ


(ขอบคุณภาพประกอบจากคุณแป๋ว SevenDaffodils ครับ)

ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา จัดเป็นปีใหม่ที่หลายท่านในเมืองกรุง ชอบใจมากเป็นพิเศษ
เพราะเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ที่ชาวเมืองหลวงได้ใส่เสื้อหนาวเกิน 3 วัน

แต่จะหนาวนาน สะท้านจิตขนาดไหน ธรรมชาติก็แสดงความจริงให้เราเห็น
ว่าความไม่เที่ยง ความเป็นอนิจจัง ก็ยังเป็นของอยู่คู่ธรรมชาติเสมอๆนะ

ใครจะชอบไม่ชอบ ก็ไม่รู้ล่ะ แต่ธรรมชาติเขาเป็นของเขาอย่างนั้นแหละ
คือถ้ามีเหตุ เขาก็มา หมดเหตุแล้ว เขาก็ไปนะ

หลักการนี้ แม้แต่ในการปฏิบัติธรรมก็ไม่ยกเว้นครับ
หลวงพ่อปราโมทย์ท่านเคยเตือนลูกศิษย์ว่า จิตเป็นอนัตตานะ
แปลว่ามันไม่ใช่ตัวเรา มันจึงไม่ได้อยู่ในอาณัติบัญชาของเราเสมอไปหรอกนะ

ดังนั้น จะไปคาดหวัง อยาก หรือพยายามสร้าง กำหนด บังคับให้จิตมีสติ พ้นจากทุกข์
อย่างที่ใจเราชอบ เราพอใจ เราอยาก เรายินดี ก็เป็นเรื่องที่หวังได้ยากครับ

เหมือนที่คุณแอนเขียนมาถามไว้ในสมุดเยี่ยมของผม ไว้ดังนี้ครับ

มีโอกาสแวะร้านหนังสือ และได้ไปเจอหนังสือ "ธนาคารแห่งความสุข" เตะตาเข้าพอดี ก็เลยได้ซื้อกลับมาอ่านค่ะ

ชอบตรงที่ให้ข้อคิดดี ๆ ที่บางครั้งเรามองมันไม่ออก เพราะคนเรามักมองแค่ด้านเดียวคือด้านดี ๆ เท่านั้น

ยอมรับค่ะว่ากำลังมีทุกข์และคล้ายว่าจะออกจากทุกข์นั้นได้ เพียงแต่ยังไม่มั่นใจว่าเรากำลังออกจากมันมาได้จริง ๆ หรือเพียงแค่หลอกตัวเองว่าเราไม่ทุกข์ เราอยู่ได้นะ ไม่แน่ใจจริงค่ะ
เพราะบางครั้งความรู้สึกมันก็แว่บเข้าแว่บออกตามสภาวะอารมณ์และสภาพจิตใจตอนนั้น

ก็เลยพยายามปฏิบัติให้หนักเพื่อให้สติ สมาธิ เกิดอยู่ให้นานที่สุดให้ได้ แต่บ่อยครั้งที่มันมักจะแว้บออกไปที่อื่นอยู่เรื่อย มีวิธีแนะนำให้ตั้งอยู่ได้นาน ๆ บ้างมั้ยคะ

และคำที่ว่า ถ้ามีสติ สมาธิ อยู่ตลอด ปัญญาก็จะเกิดตามมา จริงหรือไม่อย่างไรคะ

แวะมาเยี่ยมแต่กลับมีคำถามซะงั้น
ขอบคุณนะคะ ที่มีข้อคิดดีๆ มาแบ่งปันกันค่ะ


ที่จริงต้องขอบคุณมากกว่าที่แวะมาเยี่ยม แล้วฝากคำถามไว้ครับ

อ่านข้อความของคุณแล้ว ผมเห็นประเด็นที่อยากพูดถึง 3 ข้อ

ข้อแรก..พอดีคุณแอนไม่ได้ให้ข้อมูลไว้ ว่าที่บอกว่า "พยายามปฏิบัติให้หนัก" นั้นทำอย่างไรบ้าง

อนุมานเอาว่าคุณแอนเรียนมาถูกต้อง ปฏิบัติถูกทาง
ตั้งใจทำวิปัสสนาโดยไม่ได้ไปเพ่งไปติดสมถะ แต่หลงคิดว่าทำวิปัสสนาอยู่

ที่ทักไว้ตรงนี้ เพราะจากประสบการณ์ตรงของผม ถ้า "พยายามให้หนัก" เมื่อไหร่
ผมมักจะทำอะไรเกินพอดี เช่นปฏิบัติด้วยความเครียด หรือเพ่งกายจ้องจิตเป็นต้น

สอง.. เวลามีทุกข์ ส่วนมากทุกข์จะเป็นวิบาก คือผลของการทำกรรมอะไรสักอย่าง
กรรมคือการกระทำ เช่นแค่เราคิดมากฟุ้งซ่านในเรื่องที่ทำให้เราทุกข์ ก็ใช่แล้ว

ที่คุณห็นมันแว่บเข้าแว่บออก เพราะจิตเป็นอนัตตา สติเองก็เป็นอนัตตา
เราสั่งให้จิตเกิดสติตลอดเวลาไม่ได้นะครับ

ทุกข์ของเราๆท่านๆ เป็นทุกข์ทางความคิด คือคิดในเรื่องที่ไม่สบายใจ ไม่ชอบใจเลยเป็นทุกข์
บางครั้งเรารู้สึกตัว ความคิดดับ เหตุของทุกข์หมดไป ทุกข์ก็หายไปชั่วคราว

แต่เมื่อสติเป็นอนัตตา และจิตมีธรรมชาติในการคิด พอสติเกิดแว้บบนึง จิตก็กลับไปคิดอีก
ไม่กลับไปคิดเรื่องเดิมๆ ก็ไปนึกเกลียดหรือไม่ชอบใจไอ้ทุกข์ตัวก่อนหน้านั่นแหละครับ

ดังนั้น ข้อสาม.. ที่อยากบอกคือ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้เราเจริญสติ
ด้วยการบังคับให้จิตมีสติ มีสมาธิ (คือความตั้งมั่นในการรู้กาย รู้ใจ) อยู่ตลอดเวลานะครับ

เพราะผู้ที่จะมีสติตลอดเวลา ไม่เผลอ ไม่หลงเลย มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นเองครับ
ครูบาอาจารย์ของผม ท่านจึงแนะให้พวกเราเพียงแค่ คอยหมั่นรู้สึกตัว ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

พูดให้ละเอียดกว่านั้น การคอยหมั่นรู้สึกตัว ไม่ใช่เพื่อบังคับให้จิตมีสติตลอดเวลา
เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าจิตเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้(จริง)นะครับ
แต่ที่ทำได้คือ ทำเหตุที่เอื้อให้จิตมีสติ เกิดความตั้งมั่น เป็นสมาธิ เห็นความจริงของกายและใจ

อย่างที่คุณแอนเห็นว่า มันไม่เที่ยงนะ มันแว่บเข้า แว่บออกตามเหตุ คือสภาวะอารมณ์ในแต่ละช่วง
อันนั้นแหละ ถูกเป๊ะเลย ไปผิดเอาตรงที่"อยาก"บังคับให้มันเกิดนานๆ ตลอดเวลานั่นแหละ

แถมให้อีกข้อ ปัญญา เกิดเมื่อจิตมีสติ เกิดมีสมาธิตั้งมั่น เห็นกายใจตามความเป็นจริง
เน้นตรงที่ว่าตามความเป็นจริง ย่อมแปลว่าไม่ได้เกิดจากการบังคับจิตได้สำเร็จนะ
แต่ปัญญาจะเกิดเมื่อจิตเขาเห็นและยอมรับความจริงว่า
จิตไม่ใช่ตัวเรา "เรา" จึงบังคับจิตไม่ได้ จิตเขาทำงานได้เอง

ไม่แน่ใจว่าจะตอบคำถามคุณแอนไหม

แต่สุขสันต์วันที่ไม่หนาวแล้วนะครับ




 

Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2552 10:40:26 น.
Counter : 1053 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  

aston27
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 215 คน [?]




คนรู้ไม่คิด คนคิดไม่รู้
New Comments
Friends' blogs
[Add aston27's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.