Group Blog
 
All blogs
 

ธรรมรัฐ - ธรรมราชา : ธรรมาภิบาลพุทธ (ตอน ๘)


เรียบเรียงโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณทิต


พุทธธรรมาภิบาลกลุ่มต่อไปที่จะพูดถึงในวันนี้ เป็นกลุ่มที่ว่าด้วย

ความถูกต้องเที่ยงธรรม ที่ผู้นำการเมือง และผู้นำองค์กรต่าง ๆ

ต้องมีประกอบด้วย เว้นจากอคติ ๔ มีศีล มีอาชวะ

และยึดอวิโรธนะผู้นำที่มีความถูกต้องเที่ยงธรรมต้องมีจิตใจที่มั่นคง

หนักแน่น ไม่มีความลำเอียงเพราะอคติ ๔ ประการ คือ

๑. ลำเอียงเพราะชอบ ที่เรียกว่า ฉันทาคติ

๒. ลำเอียงเพราะชัง หรือ โทสาคติ

๓. ลำเอียงเพราะหลงหรือเขลา อันเป็น โมหาคติ

๔. ลำเอียงเพราะกลัว หรือ ภยาคติ

หลายคนนึกว่าหลักปราศจากอคตินี้ ใช้สำหรับผู้พิพากษาหรือตุลาการเท่านั้น

ความจริงหลักนี้เป็นเสาเอกของผู้พิพากษาก็จริง

แต่ผู้นำประเทศหรือองค์กรก็ต้องมีธรรมะข้อนี้ด้วย

เพราะผู้นำมีอำนาจตัดสินใจให้คุณให้โทษคนได้

ดังนั้น ถ้าผู้นำมีความลำเอียงด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งแล้ว

การตัดสินใจก็จะไม่มีความเที่ยงธรรม และผู้รับผลกระทบก็คือผู้ตาม

และผลกระทบนี้อาจรุนแรงถึงเกิดสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเลยทีเดียว

ดังเช่นที่ปรากฏในรามเกียรติ์ ที่ทศกัณฐ์เจ้าเมืองลงกาหลงรักนางสีดา

แล้วไปลักตัวนางสีดามา จนพระรามตามมาทำสงครามชิงตัวกลับ

รบกันจนโคตรวงศ์พงศาตายเกือบหมด นี่ไม่ใช่เพราะความรักและโมหะ

คือความเขลาของผู้นำดอกหรือ? แม้แต่เรื่องสงครามเมืองทรอย

ที่คนทั้งเมืองต้องรบกับทัพกรีกก็เพราะฉันทาคติของเจ้าชายปารีส

ลูกเจ้าเมืองทรอยนั้นเอง ที่ทำให้คนทั้งเมืองเดือดร้อนถึงกับถูกฆ่าเผาทั้งเมือง!

พุทธธรรมาภิบาลข้อนี้ เน้นที่ความเที่ยงตรง เที่ยงธรรมในจิตใจผู้นำ

แต่ฝรั่งสมัยใหม่เขาเน้นตรงสาเหตุที่จะทำให้เกิดความลำเอียง

เขาจึงห้ามผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปตัดสินใจในเรื่องที่ตนมีส่วนได้เสีย

เพื่อป้องกันความขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม

ที่ตำแหน่งนั้น ๆ ต้องดูแลรักษา ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินบ่อย ๆ

ว่าเรื่องนี้เป็น conflict of interest ห้ามคนที่มีส่วนได้เสียตัดสินใจ

ถ้าทำไปก็จะทำให้การตัดสินใจนั้นเสียไป เหมือนที่ศาลปกครอง

เคยเพิกถอนการแปรรูป กฟผ. โดยมีเหตุผลข้อหนึ่งว่า

กรรมการที่อยู่ในการแปรรูปมีส่วนได้เสียสำคัญ

ทำให้การตัดสินใจไม่เที่ยงธรรม

ถ้าพิจารณาเช่นนี้ เราจะเห็นได้ว่าหลักปราศจากอคติของพุทธ

กับหลักห้ามมีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ก็คือเรื่องเดียวกันนั้นเอง!

นอกจากไม่มีอคติแล้ว ผู้นำประเทศยังต้องมี ศีล

ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์อธิบายว่า หมายถึง “รักษาความสุจริต

คือประพฤติดีงาม สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริต

รักษากิตติคุณ ประพฤติให้ควรเป็นตัวอย่าง

และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ผู้ใดจะดูแคลน”

หลักที่ผู้นำต้องมีศีลนี้ ต้องเข้าใจว่ามีความหมายอย่างกว้าง

คือ มีศีลตามหลักศาสนา เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ และต้องมีศีลของบ้านเมืองด้วย

คือต้องไม่ทำผิดกฎหมายด้วย หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ

ผู้นำต้องมีความมั่นคงใน ศีลธรรม (morality) และ นิติธรรม (rule of law)

คือไม่ทำผิดทั้งหลักศาสนา หลักศีลธรรมและหลักกฎหมาย

พุทธธรรมาภิบาลข้อนี้ตรงกับหลักธรรมาภิบาลของฝรั่ง

ที่เน้นความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและนิติธรรมนั่นเอง

หลักข้อต่อไปที่จะทำให้ผู้นำตัดสินด้วยความเที่ยงธรรม

ก็คือหลัก อาชวะ (honesty) ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์

สรุปว่า “ปฏิบัติภาระโดยซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา

ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน”

หลักนี้คือหลักที่ผู้นำต้องเป็นคนตรงไปตรงมา จริงใจ

รักษาสัจจะหรือคำพูด ที่สำคัญคือไม่ทุจริต คดโกง

นอกจากนั้น ผู้นำต้องมี อวิโรธนะ (integrity)

ซึ่งหมายถึงความถูกต้องเที่ยงธรรมนั่นเอง ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์

ท่านอธิบายว่า “อวิโรธนะ มิปฏิบัติคลาดจากธรรม คือประพฤติมิให้ผิดจาก

ประศาสนธรรม อันถือประโยชน์สุขความดีงามของรัฐและราษฎร์เป็นที่ตั้ง

อันใดประชาราษฎร์ปรารถนาโดยชอบธรรมก็ไม่ขัดขืน

การใดจะเป็นไปโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนก็ไม่ขัดขวาง

วางตนเป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว

เพราะถ้อยคำดีร้าย ลาภสักการะหรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใด ๆ

สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คือความเที่ยงธรรมก็ดี

นิติธรรม คือระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง

ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามก็ดี

ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป”

หลักอวิโรธนะนี้ถ้าสรุปง่าย ๆ ก็คือผู้นำต้องยึด ความถูกต้องเที่ยงธรรม

ใครผิดก็ว่าผิด ใครถูกก็ว่าถูก ไม่ยอมให้คนทำผิด

ตัวอย่างของการยึดความถูกต้องก็เช่น การที่พันท้ายนรสิงห์เอาชีวิตของตน

รักษากฎมนเทียรบาลไว้ทั้ง ๆ ที่พระเจ้าเสือพระราชทานอภัยโทษแล้ว เป็นต้น

ถ้าผู้นำประเทศและผู้นำองค์กรมีการยึดหลักความถูกต้องเที่ยงธรรม ๔ หลักนี้

เชื่อว่า บ้านเมืองจะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข มีแต่ความสุจริต

และมีแต่คนดี ๆ ที่ปกครองบ้านเมือง.


คัดจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับ วันพุธ ที่ 19 ตุลาคม 2554

............................................

อ้างอิงจาก : //www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=630&contentID=170489




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2554    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2556 12:34:52 น.
Counter : 1699 Pageviews.  

ธรรมรัฐ - ธรรมราชา : ธรรมาภิบาลพุทธ (ตอน ๗)


เรียบเรียงโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณทิต


กระบวนการบริหาร “โดยธรรม” หรือแบบมีพุทธธรรมาภิบาลนั้น

ผมได้นำเสนอไปแล้ว ๒ ข้อ ในส่วนที่จะต้องติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น คือ

๑.การบริหารบ้านเมืองแบบปรึกษาหารือ (ปริปุจฉา)

ที่ฝรั่งเรียกว่า consultation ซึ่งบางคนแปลว่า ประชาหารือ

๒. การสื่อสารที่ดีและมีวาจาอ่อนหวาน (วาจาเปยยะ)

วันนี้จะขอเสนอพุทธธรรมาภิบาลประการที่ ๓

ซึ่งอยู่ในหมวดการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นในการบริหารบ้านเมือง

หลักข้อ ๓ นี้ คือ การอ่อนน้อมถ่อมตน (มัทวะ)

ซึ่งเป็นทศพิธราชธรรมข้อหนึ่ง ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์

อธิบายหลักข้อนี้ไว้ย่อ ๆ ว่า “มีความอ่อนโยน

คือมีอัธยาศัยไม่เย่อหยิ่งหยาบคายกระด้างถือตัว มีความงามสง่า

เกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ให้ได้ความจงรักภักดี

แต่มิขาดยำเกรง”

การอ่อนน้อมถ่อมตนทั้ง ๆ ที่เป็นผู้มีอำนาจนั้นรวมไปถึง

การที่มีผู้คัดค้านหรือตักเตือนเรื่องใด ๆ ก็ไม่มีมานะถือตัวว่าเก่งกล้า

ไม่ฟังผู้ใด แต่ต้องรับฟังแล้วนำมาพิจารณาโดยถี่ถ้วน

หลักข้อนี้ จึงเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้มีผู้กล้าเสนอความคิดเห็นดี ๆ

เพื่อผู้บริหารจะได้หยิบไปใช้ได้ และทำให้มีผู้กล้าเสนอความเห็นค้าน

ทำให้ผู้บริหารต้องรอบคอบ ไม่หุนหันพลันแล่น

ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ เมื่อเจ้านายและขุนนาง ๑๑ ราย

ทำหนังสือกราบบังคมทูลรายงานความเห็น

ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองจากราชาธิปไตยไปสู่ประชาธิปไตย

อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในปี ร.ศ. ๑๐๓ หรือ พ.ศ. ๒๔๒๗

ซึ่งเป็นปีที่ ๑๗ แห่งการเสวยราชย์

ข้อเสนอทำนองนี้ ถ้าเสนอต่อพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรงทศพิธราชธรรม

ก็เห็นจะเป็นภัยแก่ผู้เสนอ แต่ปรากฏว่า

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงรับฟัง และทรงพระราชนิพนธ์พระบรมราชาธิบาย

ทรงแถลงการแก้ไขการปกครองแผ่นดินตอบ

โดยทรงชี้ให้เห็นว่าไม่มีพระราชประสงค์ที่จะทรง

“ขัดขวางในการที่จะเสียอำนาจซึ่งเรียกว่า แอบโซลูต”

และทรงเห็นอันตรายเช่นเดียวกับผู้หวังดีนั้น

แต่ทรงเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะให้รัฐธรรมนูญ

เพราะแม้ทรงทดลองให้เสนาบดีประชุมปรึกษากัน ก็ไม่ค่อยได้ผล

ทรงเห็นว่าควร "ปฏิรูประบบรัฐบาล” (government reform)

และนี่เองซึ่งเป็นที่มาของการปรับระบบราชการครั้งใหญ่

จาก เวียง วัง คลัง นา อันเป็นระบบจตุสดมภ์เดิมมาเป็น

กระทรวง ทบวง กรม อันเป็นรากฐานมาจนถึงปัจจุบันนี้



นี่คือตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า ทรงรับฟังแม้จะไม่ทรงเชื่อฟัง

แต่ก็ทรงนำข้อเสนอนั้นมาปรับปรุงระบบราชการเสียใหม่

อันแสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้ปกครองรับฟังความเห็นโดยไม่ถือมานะ

ซึ่งสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลพุทธข้อนี้

ก็จะทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้อย่างแท้จริง

ลองคิดดูว่า ถ้าผู้ปกครองประเทศ ผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ

ยึดหลัก ๓ หลักในการสื่อสารกับประชาชน หรือกับคนในองค์กรก็ดี

บรรยากาศในประเทศหรือองค์กรนั้นจะน่าอยู่เพียงใด !

พุทธธรรมาภิบาล กลุ่มที่ ๒ เป็นเรื่องการใช้คนในการบริหารบ้านเมือง

หรือองค์กรนั้นไม่มีผู้บริหารคนใดทำเองได้หมดคนเดียว

แม้ในระบอบราชาธิปไตยอันถือว่าพระราชอำนาจสูงสุด

อยู่ที่พระมหากษัตริย์ เอาเข้าจริงก็ทรงบริหารโดยพระองค์เองเพียงลำพังไม่ได้

ต้องมีบรรดาเสนาพฤฒามาตย์ ครั้นบ้านเมืองพัฒนามากขึ้น

ความจำเป็นที่ต้องมีรัฐบาลมาช่วยบริหารประเทศก็ตามมา

ระบบคณะเสนาบดีจึงเกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ

เช่น ในอังกฤษก็เกิดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (Prime Minister)

ขึ้นในปี ค.ศ. ๑๗๒๑ โดย เซอร์ โรเบิร์ต วัลพอล (Sir Walpole)

เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยพระเจ้าจอร์ชที่ ๑ และ ๒ ในฝรั่งเศส

คาร์ดินัลริเชอริเออ (Cardinal Richelieu) ก็ขึ้นบริหาร

เป็นนายกรัฐมนตรีของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๓ ในปี ค.ศ. ๑๖๒๔

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเสนาบดีสภาขึ้น

คล้าย ๆ คณะรัฐมนตรีในเวลานั้น จะเห็นได้ว่าผู้ปกครอง

ต้องเลือกใช้คนเป็น การบริหารประเทศก็จะประสบความสำเร็จ

พุทธธรรมาภิบาลจึงให้ความสำคัญกับการเลือกคนดีให้ทำหน้าที่ที่เหมาะสม

ดังปรากฏในหลักราชสังคหวัตถุ ข้อปุริสเมธะ

คือฉลาดบำรุงข้าราชการด้วยการส่งเสริมคนดีให้ได้ทำหน้าที่

ที่เหมาะกับความสามารถ เข้าทำนอง “ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน”

ไม่ใช่ใช้คนเพียงเพราะสนิทสนมด้วย หรือเป็นพวกพ้องตามหลัก

“ค่าของคน อยู่ที่เป็นคนของใคร” พูดง่าย ๆ คือ

ต้อง put the right (and good) man in the right job นั่นเอง

หลักพละ ๕ ของพระมหากษัตริย์ข้อ ๓ ที่พูดถึงกำลังอันเกิดจากอำมาตย์

(อมัจจพลัง) ก็เน้นการมีข้าราชการ และที่ปรึกษาที่ทรงคุณวุฒิ

เก่งกล้าสามารถ และซื่อสัตย์สุจริต

เมื่อใช้คนดีให้ถูกตำแหน่งแห่งที่อันเหมาะสมแล้ว

ก็ต้องรู้จักคุ้มครองคนเหล่านั้นตาม หลักธรรมิการักขา

อันอยู่ในจักรวรรดิวัตร ไม่ให้คนไม่ดีมาทำร้ายได้

การใช้คนดี การใช้คนถูกกับงานและการส่งเสริมและคุ้มครองคนดีนี้

มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ใครไม่เชื่อก็ไปอ่านสามก๊กดูก็จะรู้ว่า

เล่าปี่เป็นเจ้าหางแถว ถักรองเท้าขาย สามารถผงาดขึ้นมาเป็น

“อ๋อง” ๑ ใน ๓ ก๊กแข่งกับโจโฉ และซุนกวนได้

ไม่ใช่เพราะใช้คนถูกอย่าง ขงเบ้ง กวนอู เตียวหุย หรือจูล่ง ดอกหรือ !

ในทำนองเดียวกัน ผู้บริหารที่ใช้คนผิดก็คิดจนตัวตายเหมือนกัน

ตัวอย่างในสามก๊กก็มีให้เห็นเช่น ตั๋งโต๊ะ เป็นต้น


คัดจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับ วันพุธ ที่ 5 ตุลาคม 2554

............................................

อ้างอิงจาก : //www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=630&contentId=167620





 

Create Date : 16 ตุลาคม 2554    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2556 12:29:07 น.
Counter : 857 Pageviews.  

ธรรมรัฐ - ธรรมราชา : ธรรมาภิบาลพุทธ (ตอน ๖)


เรียบเรียงโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณทิต


หลักธรรมาภิบาลฝรั่งนั้นให้ความสำคัญ กับ กระบวนการบริหาร

แต่พุทธธรรมาภิบาลให้ความสำคัญกับทั้งเป้าหมาย (goal)

กระบวนการ (process) และจิตใจหรือทัศนคติ ของผู้บริหาร-ผู้ปกครองด้วย!

ตอนที่แล้วผมได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าพระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญกับเป้าหมาย

ของการเผยแผ่พระศาสนาแก่ พระสาวกรุ่นแรก ๖๐ รูป

ว่าเข้าไปเพื่อ “ประโยชน์” (หิตายะ) และ “สุข” (สุขายะ) ของชนหมู่มาก

ไม่ใช่เพื่อตัวพระพุทธองค์หรือพระศาสนาเลย

เป้าหมายนี้ก็มาสะท้อนในพระปฐมบรมราชโองการ

ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันที่ว่า

“เราจะครองแผ่นดิน โดยธรรม เพื่อประโยชน์สุข แห่งมหาชนชาวสยาม”

คำว่า “โดยธรรม” นั้น เป็นทั้ง กระบวนการ และ พระราชธรรมจรรยา

(หรือถ้าจะว่าโดยศัพท์สามัญก็คือจิตใจ หรือ ทัศนคตินั่นเอง)

เราจึงเห็นได้ชัดเจนว่าพุทธธรรมาภิบาลนั้น

ให้ความสำคัญกับกระบวนการบริหารและจิตใจ

หรือทัศนคติของผู้บริหารไปพร้อม ๆ กัน

สำหรับกระบวนการบริหาร “โดยธรรม” นั้นประกอบด้วยหลักสำคัญดังนี้ คือ


๑. การบริหารแบบปรึกษาหารือ หรือถ้าจะใช้ภาษาธรรมาภิบาล

ฝรั่งก็บอกว่าการบริหารโดยการมีส่วนร่วม (participation)

หลักที่ต้องปรึกษาคนดีของธรรมาภิบาลพุทธนี้ คือหลัก “ปริปุจฉา”

คือไต่ถามโดยรอบ โดยเฉพาะกับคนดีหรือผู้ประพฤติธรรม

ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ หลักของจักรวรรดิวัตรความจริงหลักจักรวรรดิวัตรพูดถึง

“สมณพราหมณ์ปริปุจฉา” แล้วอธิบายว่าเป็นการแสวงธรรมและปัญญา

ด้วยการสนทนากับสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม

เพื่อรู้ว่าอะไรคืออกุศลกรรมจะได้ละเว้น หรือกุศลกรรมจะได้ประพฤติ ให้มาก

ดังที่พระเจ้าทัลหเนมิได้สรุปไว้ว่า “....พ่อได้ฟังคำสอนของสมณพราหมณ์

เหล่านั้นแล้ว สิ่งใดเป็นอกุศลพึงละเว้นสิ่งนั้นเสีย

สิ่งใดเป็นกุศลพึงถือมั่นสิ่งนั้นประพฤติ....” ซึ่งก็ไม่ผิด

แต่การจะตีความหลักการบริหารบ้านเมืองสมัยใหม่ว่า

ให้ผู้ปกครองไปสอบถามเรื่องดี-ชั่ว กับนักบวชก็คงจะแคบเกินไป

เพราะการบริหารบ้านเมืองสมัยใหม่จะให้เหมือนสมัยพุทธกาลคงไม่ได้

และปัญหาก็ซับซ้อนขึ้นมาก ดังนั้น การอธิบายความโดยปรับบริบท

ให้เข้ากับสภาพโลกสมัยใหม่จึงจำเป็นมาก

มิฉะนั้น หลักพุทธธรรมก็อาจเป็นเพียงหลักศาสนา

ที่ไม่อาจนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตสมัยใหม่

ความข้อนี้ปรากฏในพระราชหัตถเลขา

ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระราชวิจารณ์เทียบพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานกับมหายาน

และเรื่องสร้างพระบาทหลวงว่า

“ฉันมีความเห็น......ว่า หินยานก็ดี มหายานก็ดี

ที่จะเหลือแก่นเดิมนั้นน้อย ผู้ที่แต่งขึ้นก็แต่งไปตามความเข้าใจของตัว

และตามกาลสมัยและชั่วชั้นอายุคน....จะมี ปรินสิเปอล

คือ ข้อที่ตั้งของสาสนายังคงอยู่เท่านั้น” และทรงมีพระราชหัตถเลขา

ว่าด้วยพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ

ถึงเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ความว่า

“สาสนาไหน ๆ ก็เก่าเกินไปทุกอย่าง ที่จะเอามาลงกับประจุบันไม่ได้

เว้นไว้แต่จะตั้งขึ้นใหม่ให้อัปตูเดท แต่เราตั้งศาสนาไม่ได้

เราจึงควรวางแผนทางดำเนินให้ความสมัย แทนศาสนาที่ อัปตูเดท

จะไปเอาเรื่องที่ ๒,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้วมาเถียงกัน ป่วยการเวลาเปล่า ๆ”

ถ้าถือตามนี้ก็แปลว่า เราจะต้องพิจารณาพุทธธรรมาภิบาล

ให้ “อัปตูเดท” (up to date) คือให้เข้ากับภาวการณ์บ้านเมืองในเวลานี้ด้วย

ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรง “revisit” ทศบารมีใหม่

โดยไม่ทรงเน้นชาติสุดท้าย คือ “เวสสันดรชาดก”

ซึ่งเน้นเรื่อง “การให้” (ทาน) และ “การรับ”

แต่ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “มหาชนก” ซึ่งเน้นเรื่อง

“ความเพียรและการพึ่งพาตนเอง” แทนเมื่อเป็นเช่นนี้

หลักสมณพราหมณ์ปริปุจฉาจึงต้องเข้าใจกว้าง

คือ ปรึกษาหารือและรับฟังคนดี ซึ่งรวมถึงนักบวชทั้งหลายด้วย

และการรับฟังนั้นก็ต้องให้ถูกเรื่อง เช่น ถ้าจะรับฟังเรื่องศาสนา

เรื่องศีลธรรมก็พึงรับฟังจากสมณพราหมณ์ แต่ถ้าจะรับฟังเรื่องเศรษฐกิจ

ก็คงต้องรับฟังจากผู้รู้หรือผู้เกี่ยวข้องให้รอบด้าน และรับฟังไม่ได้แปลว่า

“เชื่อฟัง” ก็หมายความว่า ผู้ปกครองที่ดี ต้องมีวิจารณญาณที่ถูกต้อง

คือ มีสัมมาทิฐิที่จะเลือกเชื่อในสิ่งที่ถูกด้วย


๒. การสื่อสารที่ดีและอ่อนหวาน (communication skill)

เป็นลักษณะสำคัญที่คู่กับกระบวนการบริหารแบบปรึกษาหารือ

หลักธรรมาภิบาลพุทธข้อนี้ เน้นตรงการสื่อสารด้วยวาจา

ประกอบด้วยหลักหลายหลัก อาทิ วาจาเปยยะ

อันอยู่ใน ราชสังคหวัตถุ อันหมายถึง การรู้จักพูดจาปราศรัย

ให้เกิดความเข้าใจอันดี เกิดความสามัคคี มีวาจาไพเราะพุทธธรรมาภิบาล

เน้นกระบวนการสื่อสารก็เพราะวจีกรรม คือ การกระทำด้วยวาจานั้น

มีผลมหาศาลจะสร้างหรือทำลายอะไรก็ได้

จะก่อให้เกิดสงครามหรือสร้างความสงบก็ได้ นโยบายใดจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

ก็อยู่ที่การสื่อสารนี้แหละ บางทีสิ่งที่จะทำ มีประโยชน์มาก

แต่สื่อสารไม่ดี ไม่รอบด้าน อาจถูกต่อต้านจนต้องล้มเลิกไป

สุภาษิตไทยจึงเน้นว่า

“ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา”

แล้วถ้าดูเรื่องการสื่อสารพุทธธรรมาภิบาล

ก็เน้นหลัก วจีสุจริต และ วาจาสุภาษิต ๒ ประการ

คือ ด้านละเว้น จะต้อง ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ

ไม่พูดเพ้อเจ้อ ด้านต้องทำ คือ ต้องพูดความจริง ต้องพูดสุภาพ

ต้องพูดแล้วก่อประโยชน์ ต้องพูดด้วยจิตเมตตา และต้องพูดถูกกาลเทศะ

นี่เรียกว่า “สัมมาวาจา” ตามหลักมรรคแปด

ฉะนั้น ผู้นำจึงต้องมีกระบวนการสื่อสารที่ดีตลอดเวลา

จึงจะประสบความสำเร็จในการบริหารและปกครอง

และความขัดแย้งแตกแยกก็จะไม่มีขึ้นในสังคม

ท่านผู้อ่านลองนึกดูว่า ที่บ้านเมืองขัดแย้งแบ่งฝ่ายอยู่ในเวลานี้

เกิดเพราะมิจฉาวาจาใช่หรือไม่ ?

การปรองดองที่เรียกร้องกันในวันนี้ คงต้องเริ่มที่พุทธธรรมาภิบาลข้อนี้ก่อนครับ

ถ้ายังด่ากันปาว ๆ กล่าวหากันโครม ๆ

ลองนึกดูเถิดครับว่า ปรองดองจะเกิดได้หรือไม่?.


คัดจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับ วันพุธ ที่ 28 กันยายน 2554

............................................

อ้างอิงจาก //www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=630&contentID=166030




 

Create Date : 04 ตุลาคม 2554    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2556 12:24:05 น.
Counter : 934 Pageviews.  

ธรรมรัฐ - ธรรมราชา : ธรรมาภิบาลพุทธ (ตอน ๕)


เรียบเรียงโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณทิต


ถ้าเราลองนำหลักธรรมาภิบาล (Good governance)

แบบตะวันตกมาศึกษา เราก็จะพบว่าหลักการสำคัญของธรรมาภิบาล

ของฝรั่งนั้นมีอยู่ไม่กี่หลัก กล่าวคือ หลักความโปร่งใส (Transparency)

หลักความรับผิดรับชอบ (Accountability)

หลักการมีส่วนร่วม ( Participation)

หลักนิติธรรม ( Rule of Law)

หลักการตอบสนองผู้มีส่วนได้เสีย (Responsiveness)

หลักการกระจายอำนาจ (Decentralization)

หลักคุณธรรม (Ethics)

หลักประสิทธิภาพ (Efficiency)

ประสิทธิผล (Effectiveness)

แต่ถ้าเราดูหลักธรรมาภิบาลพุทธ ซึ่งมีหลักจักรวรรดิวัตร ๔

ทศพิธราชธรรม ราชสังหควัตถุ ๔ แล้ว

เราจะเห็นได้ว่าหลักธรรมาภิบาลฝรั่งนั้น

เน้น กระบวนการ ของการบริหารเป็นหลัก

ในขณะที่หลักธรรมาภิบาลพุทธนั้น เน้นทั้ง

เป้าหมายของการปกครอง กระบวนการบริหาร

และ จิตใจ ของผู้บริหารทั้ง ๓ ประการเป้าหมายของการปกครอง

ในคติพุทธถือ “ธรรมาธิปไตย” อันเป็นหลักในจักรวรรดิวัตรข้อแรก

ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ชัดเจนว่า

“ธัมมิกประชาธิปไตย....เอาความถูกต้องเป็นใหญ่...

คือเป็นประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วยธรรม ประชาธิปไตย

ถ้าว่าประชาชนหรือคนแต่ละคนมันไม่มีศีลธรรมและมันก็วินาศ....”

อะไรคือความถูกต้อง ?

ความถูกต้องคือ “ประโยชน์” และ “สุข” ของประชาชนนั่นเอง


ดังจะเห็นได้จากพุทโธบายเมื่อครั้งพระพุทธองค์

ให้พระสาวกชุดแรก ๖๐ รูปไปเผยแผ่พระศาสนานั้น

ทรงรับสั่งว่า “จรถ ภิกขเว จาริกํ พหุชน หิตาย พหุชน สุขาย โลกานุกมฺปาย”

อันแปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย จงจาริกไป เพื่อประโยชน์

เพื่อความสุข แก่มหาชนหมู่มาก”

นี่คือความถูกต้องที่ต้องเป็นไปทั้งเพื่อประโยชน์

และเพื่อความสุขของประชาชน สิ่งใดที่เป็นประโยชน์แต่ก่อทุกข์

หรือสร้างสุขแต่ไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

พระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า

“เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุข แห่งมหาชนชาวสยาม”

ก็คือธรรมาธิปไตยนั่นเอง

นอกจากประโยชน์และสุขแล้ว “ธรรมาธิปไตย”

ยังถูกขยายด้วยจักรวรรดิวัตรข้อ ๒ และ ข้อ ๓

ก็คือ จะต้อง คุ้มครองคนดี ทุกภาคส่วน (ธรรมิการักขา)

ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ สมณะ นักปราชญ์ พ่อค้า เกษตรกร

รวมไปถึงสรรพสัตว์ทั้งปวง

สิ่งใดไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม การกดขี่ข่มเหง ความผิดชั่วร้าย

ก็ต้องปราบปรามไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดภยันตรายแก่ประชาชนคนทั่วไป

ซึ่งเป็นหลักในจักรวรรดิวัตรข้อ ๓ (มา อธรรมการ)

เราจะเห็นได้ว่า พระบรมราโชวาทที่พระราชทาน

เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒ ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖

สะท้อนหลักคุ้มครองและส่งเสริมคนดีและปราบปรามคนไม่ดี

ดังจะขออัญเชิญมา ณ ที่นี้ ความว่า

’ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและไม่ดี

ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด

การทำให้บ้านเมืองมีความเป็นปกติสุขเรียบร้อย

จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี

หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี

ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดี

ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้“

พระบรมราโชวาทนี้สอดคล้องกับหลักคุ้มครองคนดี

และปราบปรามคนชั่วในจักรวรรดิวัตรทุกประการลองนึกภาพดูนะครับว่า

ถ้าคนเลวไม่สุจริตขึ้นเป็นใหญ่ ก็ย่อมต้องส่งเสริมคนประเภทเดียวกัน

ลดหลั่นลงไปจากระดับสูงลงไปถึงระดับล่างในพื้นที่

บ้านเมืองจะเดือดร้อนเป็นไฟขนาดไหน ในทำนองกลับกัน

ถ้าคนดีมีความสุจริตขึ้นเป็นใหญ่ ก็ย่อมไม่ส่งเสริมคนชั่ว

แต่ส่งเสริมคนดีจากระดับสูงลงไปจนถึงระดับล่าง บ้านเมือง

ก็จะมีความสงบเรียบร้อยเพียงใด

นี่คือเป้าหมายของการปกครองที่เรียกว่า “ธรรมาธิปไตย”

ซึ่งฝรั่งไม่ได้เน้น แต่พระพุทธองค์เน้นเป็นพิเศษครับ!.


คัดจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับ วันพุธ ที่ 21 กันยายน 2554

............................................

อ้างอิงจาก //www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=630&contentID=163147




 

Create Date : 25 กันยายน 2554    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2556 12:19:17 น.
Counter : 958 Pageviews.  

ธรรมรัฐ - ธรรมราชา : ธรรมาภิบาลพุทธ (ตอน ๔)


เรียบเรียงโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณทิต


ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์หลาย ๆ อย่างที่ทำให้คน

เริ่มตั้งคำถามกันแล้วว่าจะมีการ “เปลี่ยนยุค” หรือไม่

เช่น การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2550

ต่อมาวิกฤติก็เกิดในยุโรปเริ่มจากกรีซ ขยายไปไอร์แลนด์

ไปโปรตุเกส วันนี้ลามมาอิตาลี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่

อันดับ 3 ของยุโรป ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจบอกว่าปีหน้า

ยุโรปจะเผชิญหน้ากับวิกฤติสุด ๆ เมื่อปัญหาลามไปถึงฝรั่งเศส

และเยอรมนี 2 พี่เบิ้มของสหภาพยุโรป

นอกจากวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว เราพบปรากฏการณ์บางอย่าง

ในทางการเมืองที่ไม่ค่อยเห็นบ่อย ๆ ในตะวันตกนั่นก็คือ

การที่วัยรุ่นเกิดความไม่พอใจ และลงมือก่อการจลาจล

โดยเริ่มในฝรั่งเศสเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีการเผารถ

และทำลายทรัพย์สินในปารีสแล้วลามไปทั่วฝรั่งเศส มาปีนี้

วัยรุ่นอังกฤษก็ก่อการจลาจลเผารถ ปล้นสะดมในลอนดอน

และเมืองใหญ่ทั่วอังกฤษนี่ยังไม่นับที่มีการเปลี่ยนแปลงในตูนิเซีย

ในอียิปต์ที่ประท้วงจนมีการปราบปรามคนตายไป 850 ศพ

ในลิเบียเกิดการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน

คนตายไปเท่าใดยังไม่มีใครนับศพ แต่คาดว่าตายเรือนหมื่น

ในซีเรียการประท้วงนำไปสู่การปราบปราม

คนตายไปกว่า 8,000 ศพแล้ว

สิ่งเหล่านี้ เป็นสัญญาณที่คนเริ่มถามกันแล้วว่า

“ยุคสมัย” กำลังเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยเฉพาะปราชญ์ตะวันตก

จำนวนหนึ่งกำลังพูดถึง “ประจิมอัสดง”

หรือในประเทศตะวันตก เช่น อเมริกาและยุโรปที่ครองโลก

มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เปรียบเหมือนอาทิตย์อัสดง

ในขณะที่เกิดปรากฏการณ์ “บูรพาอุทัย”

คือประเทศในตะวันออกไกล เช่น จีน อินเดีย

เปรียบเสมือนอาทิตย์กำลังขึ้น หรืออาทิตย์อุทัย

บางคนเริ่มพูดถึง “บูรพาภิวัตน์” (Orientalization)

แทนที่โลกาภิวัตน์ โดยพวกนี้เห็นว่า ศตวรรษนี้

เป็นยุคของประเทศทางตะวันออก เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น อาเซียน

จริงหรือไม่จริง ต้องเฝ้าดูกันต่อไป

แต่ปัญหาของการเมืองประชาธิปไตย เศรษฐกิจแบบเสรีนิยม

สังคมแบบปัจเจกชนนิยม ที่เริ่มในตะวันตกมาตั้งแต่

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และถูกแผ่ขยายโดยประเทศตะวันตก

จนอาจกลายเป็นค่านิยมของโลกทั้งโลกไปแล้วนั้น

ในตัวของมันเองเริ่มแสดงให้เห็นปัญหา ดังปรากฏในอเมริกาและยุโรป

วันนี้ การที่เราหันกลับมาสำรวจของดี ๆ ของเราในบูรพทิศ

จึงเป็นสิ่งที่ไม่เพียงสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

แต่ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่เรามีดีในบูรพารยธรรม

อาจเป็นสิ่งที่ไปอุดรูรั่วและซ่อมแซมซากปรักหักพังของตะวันตก

ได้ธรรมาภิบาลของพุทธที่เรา-ท่านกำลังช่วยกันศึกษานี้

อาจเป็นทางรอดของประชาธิปไตยเสรีนิยม แบบตะวันตก

ซึ่งเห็นชัด ๆ ว่า กำลังมีปัญหาได้! ผมจึงใคร่เชิญชวนนักคิดทั้งหลาย

ให้หันมาสำรวจ สิ่งดี ๆ ในอารยธรรมตะวันออก

แล้วช่วยกันนำเสนอความคิดเห็นดังกล่าวให้แพร่หลาย

เหมือนกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำเสนอแนวคิด

“เศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) และวันนี้

กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก

( ในวันที่ 18-19 ตุลาคม นี้

สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจ

และสังคมแห่งชาติ และมูลนิธิปรีดี พนมยงค์

ร่วมกันจัดสัมมนาระหว่างประเทศเรื่องนี้ โดยมีนักวิชาการชั้นนำ

จากทั่วโลกตอบรับเข้าร่วมเสนอเอกสารและถกเถียง

“เศรษฐกิจพอเพียง” กันหลายสิบรายแล้ว

ใครสนใจติดต่อสถาบันพระปกเกล้าได้ครับ )

พูดเกริ่นมายาว แต่จะขอสำรวจหลักธรรมาภิบาล

ตามหลักพระพุทธศาสนาต่อครับ

วันนี้จะขอพูดถึงหลักธรรมาภิบาลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

ใน โขมทุสสสูตร มีความตอนหนึ่งว่า

เนสา สภา ยตฺถ น สนฺโต สนฺโต น เต เย น มทนฺติ ธมฺมํ

แปลว่า “ที่ประชุมใดไม่มีสัตบุรุษ (คนดี) ที่ประชุมนั้นไม่ชื่อว่าสภา

เหล่าชนใดไม่พูดคำที่เป็นธรรม เหล่าชนนั้นไม่ชื่อว่าสัตบุรุษ”

ที่มาของพุทธพจน์นี้ก็คือ เมื่อพระพุทธองค์ประทับ

อยู่ที่โขมทุสสนิคมของเจ้าศากยะ แคว้นสักกะ

ทรงตรวจดูผู้ควรจะโปรดในวันนั้น ก็พบว่า

ควรโปรดพราหมณ์ และคหบดีที่มาประชุมกันในสภา

จึงเสด็จไปบิณฑบาต ฝนเกิดตก จึงทรงเข้าไปหลบฝนในสภา

โดยทรงแกล้งละเมิดกฎของสภาโดยทรงพระดำเนิน

เข้าไปกลางสภาที่กำลังประชุม โดยมิได้เข้าทางหลังหรือข้าง

ทำให้การประชุมสภาต้องหยุดลง และมีคนแสดงความไม่พอใจ

และถามพระพุทธองค์เชิงประชดประชันว่า

“คนพวกไหน ชื่อว่าสมณะโล้น

คนพวกไหน รู้จักสภาธรรม”

เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ไม่รู้จักธรรมเนียมของสภา

นี่เองจึงเป็นที่มาของพุทธพจน์ตอบไป ซึ่งเป็นเหตุให้พวกพราหมณ์

และคหบดีสรรเสริญว่า พุทธภาษิต ชัดแจ้งไพเราะยิ่งนัก

เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด

บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด

แล้วชวนกันประกาศตนเป็นพุทธศาสนิก

ท่านศาสตราจารย์พิเศษ อดิศักดิ์ ทองบุญ อธิบายไว้ในบทความ

“ศึกษาวิเคราะห์คำว่าสภาในพระไตรปิฎก :

กรณีศึกษาสภาธรรมตามแนวพุทธกับสภาไทย”

ไว้อย่างน่าสนใจมากว่า พุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า

จะเป็น “สภา” ได้ต้องเป็นที่ประชุมของ สัตบุรุษ

สัตบุรุษคือคนดีนั้นต้องมี สัปปุริสธรรม คือธรรมของคนดี 7 ประการ

คือ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน

และรู้จักบุคคลยิ่งกว่านั้นในสภาของสัตบุรุษนั้น

ต้องพูดคำที่ “เป็นธรรม” ซึ่งหมายถึงวาจาสุภาษิต

ที่มีองค์ประกอบ 5 คือ พูดจริง พูดอ่อนหวาน พูดถูกกาล

พูดเป็นประโยชน์ และพูดด้วยมีเมตตาจิต

นอกจากนั้น หากเราย้อนไปดูธรรมที่พระพุทธองค์

แสดงแก่เจ้าวัชชีผู้ปกครองแคว้นวัชชีครั้งแรก

โดยสามัคคีธรรมที่เรียกว่า ราชอปริหานิยธรรม

หลักการเพื่อความเจริญของผู้ปกครอง

บางทีก็เรียกว่า วัชชีธรรม 7 ประการคือ

1.หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

2.เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุม

ก็พร้อมเพรียงกันเลิกและพร้อมเพรียงกันทำกิจอันพึงทำ

3.ไม่ถืออำเภอใจบัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้

ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติตามวัชชีธรรม

4.เคารพนับถือผู้ใหญ่ที่ชุมชนชาววัชชีนับถือ รับฟังคำของท่านเหล่านั้น

5.ปกป้องสตรีและเด็ก มิให้ถูกข่มเหงรังแก

6.เคารพบูชาเจดีย์และสิ่งบูชาของชาววัชชีทั้งภายในและภายนอก

ไม่ละเลยการทำธรรมิกพลี

7.ให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกันอันชอบธรรม แก่พระอรหันต์

และบรรพชิตทั้งปวง เชื้อเชิญท่านที่ยังไม่มา สู่แคว้นวัชชีให้มา

ที่มาแล้ว ก็ให้อยู่โดยผาสุก


ทั้งหมดนี้ คือ ธรรมาภิบาลสำหรับการประชุมและ

การบริหารบ้านเมืองให้เจริญที่ทรงสอนมากว่า 2,500 ปีแล้ว

ยังทันสมัยอยู่เลยครับ!ฝรั่งเพิ่งมาพูดถึงการดูแลสตรีและเด็ก

เมื่อไม่ถึง 100 ปีมานี้เอง แต่พระพุทธเจ้า

พูดมากว่า 2,500 ปีแล้วนี่แหละคือ ปัญญาแห่งบูรพทิศ

ลองคิดดูว่า ถ้าท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติในสภาไทย ถือตามนี้

สภาไทยจะเป็นสภาตัวอย่างของโลกเลยเชียวแหละ!.


คัดจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับ วันพุธ ที่ 14 กันยายน 2554

............................................

อ้างอิงจาก //www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=630&contentID=163147




 

Create Date : 16 กันยายน 2554    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2556 12:15:03 น.
Counter : 927 Pageviews.  

1  2  

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.