Group Blog
 
All blogs
 
ธรรมรัฐ - ธรรมราชา : จากแม่น้ำคงคาสู่เจ้าพระยานที


เรียบเรียงโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณทิต


ผมขึ้นชื่อตอนต้นของบทนี้เหมือนชื่อหนังสือ “ธรรมรัฐ-ธรรมราชา”

ของท่านราชบัณฑิตปรีชา ช้างขวัญยืน

ซึ่งผมคิดว่าถ้าใครสนใจคติเรื่องธรรมรัฐและธรรมราชาแบบตะวันออก

ก็ควรจะได้อ่านหนังสือดีเล่มนี้

ในหนังสือเล่มนี้ได้วิเคราะห์ธรรมรัฐและธรรมราชาไว้อย่างละเอียด

ตั้งแต่คติพราหมณ์ คติพุทธ เรื่อยมาจนมีการยกตัวอย่าง

พระเจ้าอโศกมหาราชว่าเป็นต้นแบบแห่งธรรมราชา

และวิเคราะห์อิทธิพลของคติธรรมราชาในประเทศไทย

ผ่านพระมหากษัตริย์ตั้งแต่พญาลิไทมาจนถึงปัจจุบัน

อันที่จริง การหารูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดให้กับสังคมมนุษย์นั้น

ถกเถียงกันมานาน ทั้งในบรรดาปราชญ์ทางตะวันตกและตะวันออก

ในตะวันตกนั้น เพลโต (Plato) ชื่นชมราชาปราชญ์ (Philosopher King)

ว่าเป็นผู้ปกครองที่ดีที่สุดเพราะเพียบพร้อมด้วยปัญญา (wisdom)

ส่วนอริสโตเติล (Aristotle) ผู้เป็นศิษย์มีความเห็นต่างจากครู

คือ ดูการปกครองที่จุดมุ่งหมายของการปกครอง

และสรุปว่าการปกครองจะโดยรูปแบบคนๆ เดียวปกครอง

หรือหมู่คณะปกครอง หรือประชาชนส่วนใหญ่ปกครอง

จะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของผู้ปกครองและหลักที่ใช้ในการปกครอง


คน ๆ เดียวปกครองและทำเพื่อคนทั้งหมดของสังคมโดยธรรม

เรียกว่าราชาธิปไตย (Royalty)

แต่ถ้าคน ๆ เดียวปกครองและทำเพื่อคนบางกลุ่ม

ก็เรียกว่า ทรราชย์ (Tyranny)


ถ้าคนที่เป็นหมู่คณะปกครองเพื่อคนทั้งหมดโดยธรรม

ก็เรียกว่า อมาตยาธิปไตย (Aristocracy)

แต่ถ้าทำเพื่อคนบางกลุ่มบางพวกโดยไม่เป็นธรรม

ก็เรียกว่า อภิชนาธิปไตย (Oligarchy)

(หมายเหตุ Blog Art19 : ตำราบางเล่มใช้คำว่า "คณาธิปไตย")


ถ้าคนส่วนใหญ่มาปกครองและทำเพื่อคนทั้งหมดโดยธรรม

ก็เรียกว่า ประชาธรรมาธิปไตย (constitutional government)

แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ปกครอง

เพื่อคนส่วนใหญ่แต่ละเลยคนส่วนน้อย

อริสโตเติลเรียกว่า ประชาธิปไตย (democracy)



จะเห็นได้ว่าอริสโตเติลดูจำนวนผู้ปกครอง กับวัตถุประสงค์

ที่ผู้ปกครองกระทำและหลักการที่ผู้ปกครองใช้

รูปแบบที่ดูจะดีที่สุด คือ ประชาธรรมาธิปไตย

คือ คนส่วนใหญ่เพื่อคนทั้งหมด

ไม่ใช่เพื่อคนส่วนใหญ่ แต่ข่มเหงคนส่วนน้อย



( หมายเหตุ Blog ART19 : แสดงว่าการปกครอง

ที่ผลประโยชน์ตกอยู่เพียงเสียงส่วนใหญ่

ไม่ใช่การปกครองที่ดีที่สุด )


และรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดคือ ทรราชย์

นี่ว่ากัน ตามความคิดของปราชญ์ตะวันตกคนสำคัญ ๒ ท่าน

แต่ถ้าจะมาว่ากันตามคติพระพุทธศาสนาแล้ว

พระพุทธองค์เคยรับสั่งไว้ใน อัคคัญสูตร ถึงกำเนิดการปกครอง

และวรรณะต่าง ๆ โดยสรุปก็คือการปกครองเกิดจาก

ความขัดแย้งอันเกิดจากการแย่งชิงทรัพยากรโดยความโลภของมนุษย์

จึงต้องมี การเลือกหัวหน้าขึ้นเรียกว่า มหาชนสมมุติ

และเมื่อเลือกให้มาแบ่งเขตสาลีเกษตร จึงเรียกว่า "กษัตริย์"

และเพราะทำความสุขใจให้ประชาชนจึงเรียกว่า "ราชา"

และวรรณะพราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็เกิดจากการสมมุติ ตาม ๆ กันมา

ทั้ง 4 วรรณะนี้ ผู้ใดประกอบกรรมเลว ก็ย่อมไปทุคติ

ผู้ใดประกอบกรรมดีก็ย่อมไปสุคติ และทรงสรุปว่า

“กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่ชนผู้ถือโคตร

ท่านผู้ถึงพร้อมถึงวิชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่เทวดาและมนุษย์”

พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือพระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า

ใครยึดวรรณะอย่างพราหมณ์ก็ต้องถือว่ากษัตริย์ดีที่สุด

แต่พระองค์ไม่เห็นด้วย พระองค์สรรเสริญผู้ประพฤติธรรม

โดยเฉพาะผู้มีวิชชาและจรณะอย่างพระพุทธองค์และพระอริยเจ้านั้น

แลประเสริฐกว่ากษัตริย์เป็นไหน ๆ อย่างไรก็ตาม

ถ้ากษัตริย์ประพฤติธรรมด้วยนั้นแหละจึงจะดีที่สุด

ใน จักกวัตติสูตร หรือ พระสูตรว่าด้วยพระเจ้าจักรพรรดิ

ซึ่งพระพุทธองค์รับสั่งถึงความดี-ชั่วของพระจักรพรรดิ

และประชาชนโดยเฉพาะ เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิมีธรรม

ก็จะเกิดรัตนะทั้ง ๗ ขึ้น คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว

แก้วมณี นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว และพระเจ้าทัลหเนมิ

ทรงประพฤติธรรมจึงเกิดแก้ว ๗ ประการ แผ่นดินก็มีความสุข

ประชาชนปราศจาก ความยากจน ความคิดร้าย ความรุนแรง

กษัตริย์ทั้ง ๗ องค์ส่งต่อจากพระเจ้าทัลหเนมิก็ประพฤติธรรม

บ้านเมืองก็ร่มเย็นแต่พอมาถึงกษัตริย์องค์ที่ ๘

ก็ไม่ประพฤติธรรม ดังนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงธรรม

จักรแก้ว ซึ่งเกิดขึ้นก่อนก็จะไม่เกิด...ที่สำคัญก็คือ

เมื่อพระราชาไม่ให้ทรัพย์แก่ผู้ไร้ทรัพย์ ความยากจนก็แผ่ขยาย

การลักทรัพย์ก็ตามมา การพูดปด การทำร้ายกันฆ่าฟันกันก็ตามมา

อายุของมนุษย์ก็จะลดลงเรื่อย ๆ จนถึงกลียุค

ที่ผู้คนฆ่าฟันกันจนตายเกือบหมด คนที่เหลือรอดก็เริ่มบำเพ็ญศีล

ประพฤติธรรมกันใหม่ จนอายุมนุษย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ไปจนถึงยุคพระศรีอาริยเมตไตรย์

ก็จะมีพระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงธรรมขึ้นอีกทรงพระนามว่าสังขะ

และท้ายที่สุดพระเจ้าจักรพรรดิก็จะออกผนวช

ในสำนักพระศรีอาริยเมตไตรย์พุทธเจ้าพระองค์นั้น !

ธรรมะอันพระเจ้าจักรพรรดิต้องปฏิบัตินั้น

คือศีล และมีหิริ โอตตัปปะ และ จักกวัตติวัตร ๔ คือ ธรรมาธิปไตย

คือทรงตัดสินทุกสิ่งด้วยธรรมหรือความถูกต้อง

ทรงคุ้มครองป้องกันโดยชอบแก่คนทั้งแผ่นดิน

มา อธรรมการะ ทรงปราบปรามการอธรรม หรือความชั่วทั้งปวง

ธนานุประทาน ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ผู้ยากไร้ สมณพราหมณ์

ปริปุจฉา แสวงปัญญาและธรรมด้วยการสนทนา

กับสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม

ดังความที่พระเจ้าทัลหเนมิทรงรับสั่งสอนราชาผู้สวามิภักดิ์ต่อพระองค์ว่า

“ ถ้าเช่นนั้นพ่อจงอาศัยธรรมเหล่านั้น สักการะธรรม

ทำความเคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม ยำเกรงธรรม

มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่

จะจัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันเป็นธรรม

ในชนภายใน ในหมู่พล ในพวกกษัตริย์ผู้เป็นอนุยนต์

ในพวกพราหมณ์และคฤหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบททั้งหลาย

ในพวกสมณพราหณ์ ในเหล่าเนื้อและนก

ดูกรพ่อ..การอธรรมอย่าให้มีได้ในแว่นแคว้นของพ่อเลย

ดูกรพ่อ..อนึ่งบุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นของพ่อ

ไม่มีทรัพย์ พ่อพึงให้ทรัพย์แก่บุคคลเหล่านั้นด้วย

ดูกรพ่อ..อนึ่งสมณพราหมณ์เหล่าใดในแว่นแคว้นของพ่อ

งดเว้นจากความเมาและความประมาท ตั้งมั่นอยู่ในขันติ

และโสรัจจะ ฝึกตนแต่ผู้เดียว สงบตนแต่ผู้เดียว

ให้ตนดับกิเลสอยู่แต่ผู้เดียว พึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น

โดยกาลอันควร แล้วไต่ถามสอบถามว่า

ท่านขอรับ กุศลคืออะไร

ท่านขอรับ อกุศลคืออะไร

กรรมมีโทษคืออะไร

กรรมไม่มีโทษคืออะไร

กรรมอะไรควรเสพ

กรรมอะไรไม่ควรเสพ

กรรมอะไรอันข้าพเจ้ากระทำอยู่

พึงมีเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน

หรือว่ากรรมอะไรที่ข้าพเจ้ากระทำอยู่

พึงมีเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน

พ่อได้ฟังคำสอนของสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว

สิ่งใดเป็นอกุศลพึงละเว้นสิ่งนั้นเสีย สิ่งใดเป็นกุศล

พึงถือมั่นสิ่งนั้นประพฤติ ดูกรพ่อ นี้แลคือจักกวัตติวัตรอันประเสริฐนั้น”


คัดจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับวันที่ 24 สิงหาคม 2554

............................................

อ้างอิงจาก //www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=630&contentID=158918





Create Date : 24 สิงหาคม 2554
Last Update : 19 พฤษภาคม 2556 12:03:01 น. 0 comments
Counter : 1181 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.