Group Blog
 
All Blogs
 
ย้อนกลับไปสู่ความใหม่ : AVANT-GARDE ART

บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Art=Decode
FINE ART MAGAZINE (ฉบับที่ 6 เดือน กรกฏาคม 2547) ค่ะ

มีเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะแนวหนึ่งที่เรียกรวมๆว่า "ศิลปะกลุ่มก้าวหน้า" หรือ "Avant-garde" ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงในวงการศิลปะตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ศิลปะกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกระแสหลักและเป็นตัวแทนของศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ทีเดียวนะคะ ลองไปอ่านกันดูได้ค่ะ อาจจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป
(สำนวนอาจจะเป็นบทความวิชาการอยู่บ้างนะคะ ถ้ามีเวลาจะปรับให้อ่านกันสนุกกว่านี้ค่ะ)


Create Date : 06 มกราคม 2548
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2548 0:07:30 น. 6 comments
Counter : 8711 Pageviews.

 
ย้อนกลับไปสู่ความใหม่ : Avant-garde Art

การปฏิวัติความคิดในทุกวงการโดยเฉพาะวงการศิลปะและปรัชญา นำไปสู่อิสรภาพทางความคิดอย่างเต็มที่ซึ่งข้ามพ้นไปจากข้อจำกัดต่างๆที่เคยมีในอดีต ทำให้ยุโรปในศตวรรษที่ 19 ก่อเกิดแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆขึ้นมากมาย และท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นความคิดหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือ Avant-gardism

แล้ว Avant-garde คืออะไร...

Avant-garde เป็นคำในภาษาฝรั่งเศสหมายถึงทหารกองหน้า และมันถูกใช้ในความหมายของผลสรุปใหม่ๆที่มักจะเกิดขึ้นเสมอภายหลังจากการปฏิวัติหรือปฏิรูปสิ่งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบสิ่งใหม่ๆในวงการศิลปะ

นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส Henri de Saint-Simon (1760-1825) ได้ใช้คำนี้เรียกกลุ่มศิลปิน นักวิทยาศาสตร์รวมถึงนักอุตสาหกรรมระดับแนวหน้าที่เป็นผู้บุกเบิกแบบแผนทางสังคมในยุคนั้น คำๆนี้จึงกลายเป็นกุญแจสำคัญอันหนึ่งที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในแก่นสารของความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) ได้ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า Modern art แท้จริงแล้วก็คือ Avant-garde art นั่นเอง

Avant-garde art หรือ “ศิลปะก้าวหน้า” นั้นให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อผลผลิตอันเกิดจากอัจฉริยภาพของศิลปิน การริเริ่มสร้างสรรค์ส่วนตัว และคาดหวังไว้สูงกับลักษณะเฉพาะตัวเหล่านั้นซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ศิลปะพัฒนาไปสู่สิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนคือ ความแปลกใหม่ ในโลกศิลปะ

ผลงานศิลปะกลุ่มนี้จึงแฝงสถานะของความพิเศษ สูงส่ง มีความเป็นต้นฉบับที่บ่งถึงลักษณะเฉพาะในตัวผลงานเหล่านั้นที่ไม่อาจพบได้ในวัตถุอื่นหรือในงานศิลปะชิ้นอื่นๆ หรือแม้แต่ผลงานที่ถูกสร้างโดยศิลปินคนเดียวกันก็ตาม เนื่องจากลักษณะเฉพาะของความเป็นต้นฉบับไม่อาจจะปรากฏซ้ำหรือถูกสร้างขึ้นซ้ำได้

แท้จริงแล้วการให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งใหม่ของศิลปินกลุ่มก้าวหน้านั้น มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับความเชื่อมั่นบางอย่างเกี่ยวกับความจริงของศิลปะ เพราะความเคลื่อนไหวอันนี้ได้เผยให้เห็นถึงพื้นฐานความคิดที่ว่าศิลปะมีโลกแห่งความจริงของตัวเองมีตรรกะของตัวเอง (Inner logic) ที่แยกออกไปจากสิ่งอื่นๆและไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งใดๆไม่ว่าจะเป็นสังคม ศีลธรรมหรือศาสนา

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยิน วลีทองอันหนึ่ง.. นั่นคือ “ศิลปะเพื่อศิลปะ” (Art’s for art’s sake)

วลีนี้มักจะถูกประกาศออกมาเสมอๆ ก็เพื่อตอกย้ำแนวคิดนี้นั่นเอง โดยเหตุนี้ กระบวนการสร้างสรรค์ จึงถูกมองว่าเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะนำไปสู่ความจริงภายในของศิลปะได้ และผลงานศิลปะต่างๆจึงอยู่ในฐานะของสิ่งที่สามารถแทนค่า (representation) ความจริงเชิงสุนทรียภาพได้อย่างเท่าเทียม เช่นเดียวกับที่สมการคณิตศาสตร์ สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์เชิงกายภาพต่างๆได้ในทางฟิสิกส์

หากเราจะมองผ่านมุมมองแบบมนุษยนิยม (humanism) อันเป็นแนวคิดกระแสหลักที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกสมัยใหม่แล้ว การคาดหวังสิ่งใหม่ๆในงานศิลปะก็คือตัวแทนความเชื่อมั่นในอำนาจการสร้างสรรค์ของมนุษย์นั่นเอง การเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่เป็นผู้รับรู้ เป็นผู้แสวงหาและสุดท้ายก็เป็นผู้ค้นพบความจริง ได้ส่งผลให้ศิลปินอยู่ในฐานะของผู้สร้างสรรค์หรือองค์ประธาน (the subject) ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการของการสร้างสรรค์เพื่อให้มนุษย์สามารถเข้าใกล้หรือบรรลุถึงความจริงเชิงสุนทรียภาพได้

ประเด็นเกี่ยวกับ “ความแปลกใหม่” และ “การสร้างสรรค์” จึงมักจะถูกหยิบยกให้เป็นหัวใจสำคัญของงานศิลปะก้าวหน้าอยู่เสมอ และความหมายของความแปลกใหม่ก็สามารถโยงไปถึง “สิ่งที่ไม่เคยมี” หรือ “ไม่เหมือนสิ่งใดๆที่เคยมี” “สูงค่า” “เป็นของแท้” “มีเพียงชิ้นเดียว” ทั้งยังเป็นกระบวนการเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ล้ำหน้ากว่า

ดังนั้นแรงผลักดันในการสร้างสรรค์ศิลปะแบบ Avant-garde จึงเป็นการมองพัฒนาการของศิลปะอย่างมีจุดหมายปลายทาง คือมองว่าศิลปะที่เป็นผลจากการสร้างสรรค์จะสามารถพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเรื่อยไปและจะบรรลุถึงความจริงหรืออุดมคติของศิลปะได้ในที่สุด

ผลผลิตของ “ความแปลกใหม่” เหล่านั้นในเชิงรูปธรรมก็คือผลงานศิลปะที่ถูกยกให้เป็นงานต้นฉบับ เช่น งาน Master piece ต่างๆในโลกศิลปะ ซึ่งกลายเป็นหลักฐานชั้นดีที่แสดงถึงความสำเร็จของการสร้างสรรค์นั่นเอง

แนวคิดเช่นนี้นี่เองที่สนับสนุนให้เกิดการแบ่งแยกระดับของงานศิลปะให้เป็นศิลปะชั้นสูง (high art) กับศิลปะชั้นต่ำ (low art) ในโลกสมัยใหม่ ทำให้เกิดกรอบมาตรฐานบางอย่างที่กลายเป็นแนวทางสร้างสรรค์งานศิลปะบริสุทธิ์ (pure art) นับแต่นั้นมา…

และหากเรามองย้อนกลับไปท่ามกลางพัฒนาการอันยาวนานของ Avant-garde art ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การรวมตัวของศิลปินกลุ่มหนึ่งในฝรั่งเศสที่ปฏิเสธแนวการสร้างงานศิลปะตามแบบแผนนิยม (academic) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (ที่ศิลปะแนวนี้อาจจะยังคงความเคลื่อนไหวอยู่…)

ศิลปะจึงกลายเป็นสิ่งที่ผูกยึดอยู่กับวาทะกรรม “ความใหม่” “ความก้าวหน้า” “การพัฒนา” และ ”การสร้างสรรค์” ตลอดมา การผลิตงานศิลปะออกมาสักชิ้นหนึ่ง จึงต้องมีการนำเสนอสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การทำงานศิลปะภายใต้แนวคิดเช่นนี้จึงเต็มไปด้วยความคาดหวังให้ศิลปินสร้างสรรค์สิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดงานที่เป็นต้นฉบับชิ้นใหม่ต่อไป

ในแง่นี้เองศิลปินจึงเป็นเสมือนนักผจญภัย ที่ล่องเรือโดดเดี่ยวท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลแต่เพียงลำพัง เพื่อแสวงหาดินแดนที่ยังไม่มีใครเคยพบเจออย่างไม่รู้ชะตากรรม ซึ่งดูจะน่าตื่นเต้นท้าทาย และกดดันอย่างน่าหวั่นใจในภยันตรายที่ซ่อนเร้นอยู่ในหนทางข้างหน้าในเวลาเดียวกัน

แต่ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในวงการศิลปะว่ายากที่จะสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ในงานศิลปะ ดังเช่นศิลปินกลุ่มก้าวหน้าได้สร้างไว้เป็นมาตรฐานอีกต่อไป และเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่าการสร้างสรรค์ศิลปะที่แปลกใหม่จะยังคงมีความเป็นไปได้หลงเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด

ศิลปินกลุ่มก้าวหน้า กำลังเผชิญหน้าอยู่กับคำถามอันท้าทายเหล่านี้ !

ความเชื่อที่ว่าการคิดค้นของศิลปินเกิดจากความสามารถเชิงสุนทรียภาพบางอย่างซึ่งอยู่เหนือพ้นและลึกลับซับซ้อนเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจ ประกอบกับแนวทางการสร้างงานศิลปะที่มุ่งไปสู่การค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปินแต่ละคน ก็ได้กลายเป็นกรอบที่พวกเขาสร้างขึ้นเพื่อขังตัวเองให้อยู่ในวงของการสร้างสรรค์ส่วนตัว ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะจึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะเกี่ยวเนื่องอยู่ในเฉพาะกลุ่มแวดวงศิลปิน นักวิจารณ์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเท่านั้น

ผลที่ติดตามมาอย่างเห็นได้ชัดก็คือ โลกของศิลปะค่อยๆถูกแยกออกไปเป็นส่วนเอกเทศมากขึ้นและแยกตัวออกจากความเข้าใจของคนทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ ศิลปะแบบ Avant-garde จึงกลายเป็นสิ่งที่สูงส่ง พ้นไปจากความสามารถคิดเข้าใจได้ของคนสามัญ และจำกัดพื้นที่ของความเข้าใจไว้ภายในสายตาของผู้ชำนาญการเท่านั้น

ในสามทศวรรษที่ผ่านมาวงการศิลปะตกอยู่ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมและเทคโนโลยีต่างๆ ส่งผลให้ท่าทีของศิลปะเปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านเทคนิควิธีการ และมโนทัศน์สำคัญๆ ศิลปะในปัจจุบันนั้นอยู่ท่ามกลางความเฟื่องฟูของสื่อและวัฒนธรรมมวลชน (mass culture)

มันจึงถูกสร้างขึ้นในรูปของวัตถุเพื่อการบริโภคที่คำนึงถึงการผลิตในเชิงปริมาณมากกว่าคุณค่าที่สูงส่งของของงานชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ศิลปะเริ่มถูกสร้างขึ้นจากคัดลอกหรือผลิตซ้ำ (copy) ในเชิงปริมาณไปพร้อมๆกับการคัดลอกในเชิงรูปแบบทางศิลปะหรือการย้อนเอารูปแบบที่มีอยู่เดิมมาใช้ (retro-style) อย่างไร้ขอบเขต

ศิลปะมีจึงแนวโน้มที่จะข้ามพันไปจากขอบเขตของการแสวงหาสิ่งใหม่ๆหรือลักษณะเฉพาะตัว บ่อยครั้งเรามักพบเห็นผลงานที่หยิบยืมภาพลักษณ์ต่างๆ (appropriated image) มาใช้อย่างปนเป ยอมรับการลอกเลียนแบบหรือนำเสนอเรื่องราวทั่วๆไปที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน และบ่อยครั้งศิลปะกลายเป็นเพียงเรื่องล้อเล่นสนุกสนานและแฝงนัยทางการค้า เช่น งาน “Pink Panther” (1988) ของเจฟ คูนส์ เจ้าพ่อศิลปะกำมะลอหรือที่เรียกกันอย่างลำลองว่า Kitsch ซึ่งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับอุดมคติของศิลปะที่มุ่งเน้นความเป็นต้นฉบับและเอกภาพที่สูงส่งแบบ Avant-garde art

และที่สำคัญคือผลงานเหล่านี้เริ่มพ้นไปจากความเชื่อถือศรัทธาในการสรรค์ของมนุษย์ตามแนวมนุษยนิยมมากขึ้นทุกที!

ความแปลกใหม่และการสร้างสรรค์แบบที่ผูกโยงกับความเป็นต้นฉบับแบบ Avant-garde art จึงถูกท้าทายโดยความแปลกใหม่ (อย่างน่าตระหนกตกใจ) ที่มาในรูปของการจับเอาผลงานต้นฉบับหรือสิ่งที่เคยใหม่ต่างๆมารวมๆเข้าไว้ด้วยกันแบบจับฉ่าย ก็เพราะว่าศิลปะหลังกลุ่มก้าวหน้า (Post Avant-garde) ต่างก็ไม่เชื่อถือในวาทะกรรม “ความใหม่” และ “การสร้างสรรค์” หรือเอกลักษณ์ใดๆที่เป็นแบบอย่างเฉพาะอีกต่อไป ทั้งยังปฏิเสธความเป็นต้นฉบับว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะเป็นไปได้อีกด้วย

ผลพวงเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏเพียงในวงการศิลปะเท่านั้นหากมันยังรวมถึงวัตถุทั่วไปในชีวิตและประสบการณ์อื่นๆที่เราสามารถสัมผัสได้ทุกเมื่อเชื่อวันอีกด้วย อุดมคติว่าด้วย “ความแปลกใหม่” ที่หลงเหลืออยู่ จึงอาจจะกลายเป็นเพียงเกมส์ในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่ถูกทิ้งไว้เป็นโจทย์หนึ่งให้นักเรียนศิลปะรุ่นหลังๆต้องแก้ให้ตกเท่านั้น


โดย: Text by Antiphist (Antiphist ) วันที่: 6 มกราคม 2548 เวลา:17:27:04 น.  

 
it is very interesting..


โดย: Jack IP: 24.22.102.8 วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:8:06:28 น.  

 
ขอบคุณนะคะ


โดย: wern IP: 58.8.135.171 วันที่: 6 กันยายน 2552 เวลา:15:24:35 น.  

 
ขอบคุณมากครับ


โดย: honz IP: 61.7.136.14 วันที่: 26 กันยายน 2553 เวลา:21:56:38 น.  

 
ละเอียดยิบขนาดนี้หาดูได้ยากจริงๆ


โดย: levelone IP: 124.122.141.6 วันที่: 4 ตุลาคม 2553 เวลา:0:31:57 น.  

 
มีหนังสือที่พออ้างอิงได้ไหมคะ พอดีต้องทำวิจัยค่ะ🙏🏻


โดย: waritsara IP: 27.55.73.185 วันที่: 11 กันยายน 2566 เวลา:17:07:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Antiphist
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Antiphist's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.