ที่พักนักตระเวนแดนฝัน
Group Blog
 
All blogs
 

ว่าด้วยการเขียนชื่อตัวละคร

ประเดิมเอนทรี่แรกอย่างจริงจัง ด้วยเมล์จากสหาย คุณ Blue Mouse หรือ 27149 (ชมมายไอดีและนิยายได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้เลยครับ)

//my.dek-d.com/bluemouse/



ข้อความในเมล์

เผอิญเมื่อไม่นานมานี้ ระหว่างที่เขียนนิยายอยู่ดันนึกถึงเรื่องไร้สาระขึ้นมาได้

เรื่องที่ว่าคือ ‘การสะกดชื่อตัวละคร’

อ๋อ ไม่ขอรับ ผมไม่คิดไปไกลโพ้นลึกล้ำถึงขนาดว่า ต้องสะกดให้ถูกต้องตามหลักเทียบเสียงคำทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน อะไรแบบนั้นหรอกขอรับ เพราะชื่อที่ใช้ส่วนใหญ่ก็ไม่เชิงเป็นภาษาต่างประเทศทีเดียว จะเป็นภาษาอุบัติ(เอาเองตามความมันของคนเขียน)ซะมากกว่า


ที่อยากจะถามคือเรื่องการใช้วรรณยุกต์ในการสะกดน่ะครับ

พวกชื่อที่ออกเสียงสามัญอย่าง มาเรียน หรือออกเสียงไปตามปรกติของการผันเสียงอยู่แล้วโดยไม่ต้องเติมวรรณยุกต์อย่าง อาคุส อะไรแบบนี้ไม่มีปัญหา

แต่พวกที่ไม่เติมวรรณยุกต์แล้วจะให้ออกเสียงต่างจากที่สะกดนี่สิขอรับ

หากจะให้เติมไปตามปรกติตามการผันวรรณยุกต์ เช่นนั้น เราก็ต้องเขียนชื่อ เฮอร์เจ๊ส นี้ฟ งั้นรึ

หรือถ้าจะไม่เติมเลย มันจะกลายเป็น เซเรเนียน ดิกซี พองโก รึเปล่า


สำหรับผม ตอนนี้ยึดอยู่สองหลักคือ

หนึ่ง เห็นแล้วน่าจะรู้ได้เองว่าอ่านว่าอะไรก็ไม่ต้องเติมวรรณยุกต์ อย่างเช่น เอกัลตีส ทุกผู้ย่อมอ่านว่า เอกัลตี๊ด คงไม่มีใครอ่านว่า เอกัลตีด หรอก (มั้งนะ)

กับ สอง ยึดตามหลักที่ในเว็บพจนานุกรมราชบัณฑิตฯ บอกไว้ว่า

"การใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์ การเขียนคำทับศัพท์ ไม่ต้องใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ ยกเว้นในกรณีที่คำนั้นมีเสียงซ้ำกับคำไทย จนทำให้เกิดความสับสน อาจใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ได้"


แต่ก็รู้สึกไม่ครอบคลุมยังไงไม่รู้

อย่างหลักข้อที่ว่าถ้าไม่ซ้ำกับคำไทยนี่

ยกตัวอย่าง ชื่อ เร้ค ผมไม่ต้องใส่ไม้โทก็ได้สินะ เพราะคำไทยไม่มีคำว่า เรค

เอ แล้วสมมุติถ้าผมจะให้ตัวละครชื่อ roke ผมก็ต้องสะกดว่า โร้ค เพื่อไม่ให้ไปพ้องกับคำว่า โรค งั้นสิเนี่ย หรือต้องใช้ โรก เพื่อไม่ให้ซ้ำกับคำไทย

งั้น แฮร์รี่ เขียนว่า แฮร์รี ก็ไม่น่าจะผิด

วู้ด ก็ไม่ต้องเติมไม้โทก็ได้สิ คำไทยไม่มีคำว่า วูด นี่ เอ๊ะ หรือมี -_-a


และก็คิดไร้สาระต่อไปว่า ถ้าไม่เติมวรรณยุกต์ก็อาจเจอเจ้าพวกก้ำกึ่งอย่าง

โรนัลด์ อ่านว่า โรนัน หรือ โรนั่น

โอเวน อ่านว่า โอเวน หรือ โอเว่น ส่วนใหญ่อ่านโอเว่น แต่ อาร์เวน (จากLotr) ไม่เห็นอ่านว่า อาเว่น เลย

ดัมเบิลดอร์ อ่านว่า ดัมเบินดอ หรือ ดัมเบิ้นดอ

เซรีญา อ่านว่า เซรียา หรือ เซรีย่า (แต่อันนี้คาดว่าคงเป็นอย่างแรก)

พิออน อ่านว่า พิออน หรือ พิอ้อน (ผมอ่านอย่างหลัง)


หรือเจ้าตัวละครในภาค 2 ที่ธินเคยส่งรูปมาให้ดู

ซาอิด อ่านว่า ซาอิด หรือ ซาอิ๊ด (ผมอ่านอย่างแรก)

ลูเธียน อ่านว่า ลูเทียน หรือ ลูเที่ยน (ผมอ่านอย่างหลัง)


ไมรอน เอรอน เราก็มักจะอ่านว่า ไมร่อน เอร่อน กัน

แต่ ลอร์ดเซารอน(จาก LoTR) ผมก็ยังไม่เคยเห็นใครอ่านว่า เซาร่อน แฮะ


ชักออกทะเล หลุดไปเรื่องการออกเสียงแล้วตู - -a

อันที่จริงแล้ว จะออกเสียงว่าอะไรก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมานั่งซีเรียส เพราะมันมีช่องว่างทางสำเนียงและอารมณ์ จิปาถะเยอะแยะตู้วู้ ถ้าจะเอาเป๊ะๆ

Anakin มันก็ต้องไม่สะกด อนาคิน แต่เป็น แอ๊นาคิ่น

Harry มันควรจะเขียนว่า แฮ้ร์รี่


ถ้ามันไม่ได้ผิดเพี้ยนสุดกู่เป็นพอ


กลับเข้าเรื่องดีกว่า

ไม่ได้ต้องการจะถามว่า "คำนี้อ่านออกเสียงยังไง" แต่จะถามว่า "ถ้าอยากให้คำนี้ออกเสียงแบบนี้จะเขียนยังไงถึงจะดี" ต่างหาก


มันมีหลักในการใส่วรรณยุกต์รึเปล่าขอรับ หรือจริงๆแล้วจะยังไงก็ได้สำหรับการสะกดชื่อ อิสระ ชิวๆ


นึกครึ้มขึ้นมาเลยอยากถามดูเล่นๆน่ะครับ ไม่ได้จะเอาจริงเอาจังอะไรจ้ะ :)



คำตอบของผม

วิชาแปลอังกฤษเป็นไทยที่คณะผม กำหนดให้ไม่ใส่วรรณยุกต์ใดๆ ในชื่อแปล (จากอังกฤษ เพราะถ้าเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์อยู่แล้วอย่างจีนคงต้องพยายามถอดเสียงให้ตรง)

เคยอ่านนิตยสารรีดเดอร์ไดเจสท์ ใช้กฎนี้เหมือนกัน ตอนแรกก็ขัดๆ ตาอยู่ แต่ต่อมาก็เริ่มชินแล้ว

สำหรับนิยาย เราคนเขียนมีอิสระจะตั้งชื่อตัวละคร ก็คงใช้สะกดได้ตามต้องการถ้าเป็นชื่อแต่งเองแบบภาษาอุบัติ แต่ถ้าเป็นชื่ออังกฤษ น่าจะเขียนให้ตรงตัวเขียน/เสียงอ่าน ในกรณีที่เข้าใจกันได้ด้วย common sense ขอรับ


ส่วนชื่ออังกฤษ ผมว่าก็ทำได้สองแบบ อย่าง Ignatius นามสกุลเอรอน จริงๆ มันอ่านว่า “อิก-เน้ย์-ชั่ส” แต่ผมก็เขียนเป็น อิกเนเทียส แทน อิกเนชัส หรือ อิกเนเชียส เพราะมันทำให้เห็นตัวสะกดมากกว่า หรืออย่างชื่อ Rachel ที่คนเขียนเป็น ราเชล กันเยอะแยะ ทั้งๆ ที่มันต้องอ่านว่า “เร้ย์-เชิ่ล” ก็ไม่ยักเขียนว่า เรเชิล ส่วน เรเชล มีเขียนบ้างแต่น้อยกว่าอย่างแรกสุด

Mia นี่ก็เห็นเขียนเป็น มีอา อันนี้คงเพราะมันพ้องกับคำเรียกผู้ที่ต้องเทิดทูนของบรรดาสามีทั้งหลาย (แหะๆ) แต่ Euphemia เจอหนังสือเล่มนึงเขียนเป็น ยูฟีมีอา ผมว่ามันก็แปลกๆ สู้เขียน ยูฟีเมีย ไปเลยไม่ได้ (ยังไงก็มียูฟีนำหน้า คงไม่มีใครนึกเลยเถิดไกลขนาดนั้น ^^;;;)


เพราะฉะนั้น เรื่องวรรณยุกต์ ผมว่าขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้เขียนครับ ถ้าจะใส่ตัวใด ไม่ใส่ตัวใดก็ย่อมได้ เพราะท่านเป็นเจ้าของเรื่อง ขอแค่ 3 อย่างคือ

1. อย่าเขียนผิดหลักของภาษาไทย เช่น เอาไม้ตรีกับจัตวาไปใส่อักษรสูงและอักษรต่ำ อย่าง โน๊ต แทนที่จะเป็น โน้ต หรือ เตอยู๋ แทนที่จะเป็น เตอหยู - -a

2. ระวังแบบเดียวกับกฎพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน (อย่างที่คุณ Blue Mouse ยกมา) บวกกับระวังคำไม่สุภาพเพิ่มเติม

ข้อหลัง ผมเคยเจอกับตัวเองตอนแปลชื่อ Dodi Alfayed ตรงพยางค์หลังใส่ไม้ไต่คู้เต็มเปาโดยไม่คิดอะไร อาจารย์ท่านวงมาให้ถึงได้รู้ตัว

ปกติ เห็นเขาแปลหลบเป็น อัลฟาเยด หรือ อัลฟายเอด

3. ถ้าเป็นชื่อที่มีในภาษาต่างประเทศอยู่แล้ว อิงตามเสียงอ่านโดยรักษารูปตัวสะกดในภาษาเดิม หรือ รักษารูปตัวสะกดอย่างเดียว ถ้าคิดว่าผู้อ่านนึกคำภาษาเดิมตามได้

อย่างชื่อ ไอริส ถ้าสะกดเป็นไอริช ความหมายมันจะเพี้ยนเป็นอีกคำไปเลย


แต่เสียงอ่านจริงๆ ก็คงต้องให้เป็นแล้วแต่ท่านผู้อ่านล่ะขอรับ (หรือถ้าจริงจังว่าอยากให้อ่านอย่างนี้นะ ก็อาจอัดเสียงขึ้นเว็บไว้ ^^;;;)


เขียน เรค ผมก็อ่าน เร้ค เหมือนชื่อ เจ๊ค แม้จะชอบสะกด เร้ค และเจค มากกว่า - -a

แต่ โร้ค คงต้องใช้ไม้โท เพราะถ้าเลี่ยงเป็น ก เสียงหลังจะกลายเป็น g แทน k


แฮร์รี ผมว่าไม่ผิด แต่พวก ไม้โท น่าจะเติมมั้งครับ เพราะเสียง เรค กับ วูด อ่านตรงๆ แล้วมันไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือนคำต้น สรุป เติมโทเข้าท่ากว่า

ว่าแต่ ผมเป็นคนอ่าน โอเว่น ดัมเบิ้นดอ เซรียา (ไม่เคยเห็น ญ ในตัวสะกดภาษาอังกฤษ) พิอ้อน ซาอิด ลูเที่ยน (อันที่จริงเป็นเสียง th ซึ่งคนไทยออกกันลำบาก) แฮะ

แปลกตรง อาเว่น ที่ผมอ่านอาเว่น อารากอร์น ผมก็อ่าน อาราก้อน (ทั้งๆ ที่จริงๆ มันจะเป็น อารากอรฺน พยางค์หลังยังยาวอยู่) โฟรโด ผมก็อ่าน โฟรโด้ แต่เซารอน ก็อ่านเซารอน ไม่ได้อ่านเซาร่อน


ผมอ่านไมร่อน กับ เอร่อน เหมือนคุณ Blue Mouse แต่เคยคุยกับคนอ่านที่อ่านชื่อ เอรอน ว่า เอ-รอน


หลักของผม...เอ มันก็คงไม่ได้เรียกว่าหลักกระมังครับ เป็นแต่มาคิดเล่นๆ ว่าไหงถึงสะกดอย่างนี้มากกว่า ^^a

ผมเขียน เอรอน เพราะ เอร่อน ชวนให้นึกถึง ร่อนไปร่อนมา

ผมเขียน พิออน เพราะ พิอ้อน ชวนให้นึกถึง ผีขี้อ้อน - -a

ผมเขียน อิกเนเทียส/ลูเครเทียส เพราะไปเจอเสียงอ่าน อิกเนเชียส/ลูเครเชียส ทีหลัง และคิดว่าคงตัวสะกดไว้ดีกว่า

ผมเขียน อาร์เซนิกซ์ ทั้งๆ จริงๆ แล้วอ่านว่า “อา-เซ-หนิก”

เคยเขียน สิมูน เป็น ซิมูน จนอาจารย์นักเขียนท่านหนึ่งได้อ่านต้นฉบับเก่าเข้า แล้วอ่านชื่อนี้ว่า “ซิ-มูน” จริงๆ ในฉบับใหม่เลยเปลี่ยนเป็นอย่างที่เห็น

และมีชื่อที่เปลี่ยนแน่ๆ เวลาแก้ WoH คือ เอสเตลล่า จาก เอสเทลล่า เพราะเสียง ท ตาม ส ในภาษาอังกฤษจะกลายเป็นเสียง ต โดยปริยาย เราถึงได้อ่าน สตาร์ ไม่ใช่ สทาร์ อันนี้เรียกว่าเขียนผิดเพราะไม่รู้

อนึ่ง ชื่อใน WoH กับ เม็ดทรายฯ เวอร์ชั่นก่อน ผมคิดก่อนมาเรียนอักษรฯ เยอะ เลยสะกดแบบใส่วรรณยุกต์เยอะครับ ส่วนตำนานจูมิก็แปลก่อนเรียนอักษร เลยใส่วรรณยุกต์ในชื่อ อย่างไดอาน่า ซานดร้า

คงมีตำนานคนจรฯ กับบุปผาฯ ที่ไม่ใส่วรรณยุกต์เลย (ยกเว้นซาน่า เพราะผมไม่อยากให้ไปนึกถึงนาข้าว) ทั้งนี้เพราะผมนึกถึงกฎไม่ใส่วรรณยุกต์ แล้วก็อ่านตามสำเนียงไทยที่เขียนจริงๆ ด้วย นอกจากจะลองพูดเป็นภาษาอังกฤษเวลาไม่มีใครอยู่ (เดี๋ยวเขาเห็นควรต้องส่งรพ. ศรีธัญญา แค่นี้ก็บ้าพอแล้ว ^^;;)

โมโน ไม่อ่าน โมโน่

ยาฮีม ไม่อ่าน ย้าฮีม หรือ หย่าฮี่ม

อะโกร ไม่อ่าน อะโกร้ (ยังกะอะโกโก้ - -a)

เอมอน ไม่อ่าน เอม่อน

ซิลฟา ไม่อ่าน ซิลฟ่า

ดินาห์ ไม่อ่าน ดิน่าห์

อูเนเก็น ไม่อ่าน อูเนเก้น (บีทาเก้น? ไฮเนเก้น?)

ชินูยา ไม่อ่าน ชินูย่า

ยาซีน ไม่อ่าน ย้าซีน หรือ หย่าซี่น

ดอร์มิน ไม่อ่าน ดอร์มิ่น (ไม่ใช่ขมิ้น - -a)

สิมา ไม่อ่าน สิม่า หรือ ซีม่า (...)

กรณียกเว้นคือ เนมอส อ่านว่า เนม้อส (แต่ก็ไม่ใส่วรรณยุกต์โทที่มอส) ไม่ใช่เสียงวรรณยุกต์เดียวกับตัวมอด และ สิมาริเมส อ่านว่า สิมาริเม้ส


สรุป ผมคิดว่าจะสะกดชื่ออย่างไรก็แล้วแต่ผู้เขียน ขอให้ตรงตามหลักการสะกดและวรรณยุกต์ไทย ไม่ไปตรงกับคำแสลงใดๆ และหากเป็นชื่อที่มีที่มาจากต่างชาติแล้วต้องการใช่ชื่อในบริบทของวัฒนธรรมนั้นจริงๆ ก็น่าจะถอดเสียงอ่านโดยสะกดเหมือนตัวเขียนในภาษาเดิมในระดับหนึ่งครับ ถ้าไม่ยากเกินที่จะสืบค้น (แต่ถ้าเป็นโลกแฟนตาซีก็มักปล่อยฟรีในจุดนี้ เพราะถ้าเขียนให้เสียงอ่านมันยากต่อลิ้นคนไทยนัก คนอ่านจะพลอยจำชื่อตัวละครไม่ได้ ^^;;;)



แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะครับ




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2550    
Last Update : 22 สิงหาคม 2550 22:17:24 น.
Counter : 588 Pageviews.  

ทักทายกันนิด

ด้วยความที่สนใจเรื่องการเขียนนิยาย และเคยเรียนวิชา Introduction to Fiction กับ Creative Writing กับวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนิยายในชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัยพอสมควร ก็อยากเก็บเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าสู่กันฟังกับผู้ที่สนใจเหมือนกัน

ทั้งนี้ ออกตัวไว้ก่อนว่าผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญแม้แต่น้อย เป็นแต่เก็บๆ เรื่องที่เรียนกับเรื่องที่คิดหรือเจอมาบอกเล่าต่อยอดกันเท่านั้นขอรับ

แต่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจตามสมควรนะครับ

(โฮ่...ลงท้ายยังกะคำนำรายงานเชียวข้าพเจ้า




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2550    
Last Update : 22 สิงหาคม 2550 21:46:36 น.
Counter : 247 Pageviews.  


Anithin
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add Anithin's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.