จิ้งจกหน้าหวาน ยินดีต้อนรับค่ะ!!
Group Blog
 
All Blogs
 
บทบาทของเทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสารด้านโลจิสติกส์ ในการส่งเสริมความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์กร

บทคัดย่อ

ด้วยการเติบโตที่รวดเร็วของเทคโนโลยี สังคมเศรษฐกิจและชีวิตได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดในศตวรรษที่21 วิธีที่จะได้มาซึ่งความได้เปรียบในการแข่งขันเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดสำหรับองค์กรในแวดวงธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและไม่แน่นอน นักวิจัยหลายคนชี้ว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับองค์กรเพื่อให้ยังคงได้เปรียบในการแข่งขัน การอยู่รอดขององค์กรในยุคเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นพื้นฐานขึ้นอยู่กับว่าจะพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีอย่างไร

ด้วยเหตุผลนี้ องค์กรจึงควรพัฒนาวิธีการที่เพียงพอในการที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านโลจิสติกส์มาใช้อย่างประสบความสำเร็จ และรวมโลจิสติกส์เข้าไปในกลยุทธ์ขององค์กรเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น

จำนวนองค์กรที่เพิ่มขึ้นอยู่ภายใต้ความกดดันจากคู่ค้าที่จะเปลี่ยนรูปแบบการบริหารเดิมๆ ทั้งการด้านการปฏิบัติการและการบริหารองค์กร โดยแทนที่ด้วยระบบที่ช่วยเพิ่มความรวดเร็วและการเปลี่ยนรูปของวัตถุและการไหลของข้อมูลข่าวสาร ในการที่จะได้ระบบดังกล่าวจะต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสาร (ICT) ใหม่ ในรายงานฉบับนี้เราพิจารณา ICT ที่จะเป็นกลไกหรือโครงสร้างที่จะทำให้การสื่อสารข้อมูลธุรกิจระหว่างองค์กรมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

รายงานฉบับนี้มีเป้าหมายคือ 1. เน้นให้เห็นความสำคัญของ ICT ด้านโลจิสติกส์ 2. ทำความเข้าใจผลกระทบของ ICT กับความสามารถในการแข่งขันขององค์กร

รายงานฉบับนี้นำเสนอแบบจำลองแนวคิดสำหรับการนำ ICT ด้านโลจิสติกส์ไปใช้ โดยคำนึงถึง 4 ปัจจัยในการพิจารณาคือ ตัวบุคคล องค์กร เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม และสิ่งแวดล้อม ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างปัจจัยต่างๆ สามารถจำแนกผ่านการคำนวณของปัจจัยก่อนการพิจารณา โดยใช้กลุ่มตัวชี้วัดที่เพียงพอและวิธีการเรขาคณิต กระบวนการเหล่านี้บอกถึงตัวตนของแหล่งที่มาของความในเปรียบในการแข่งขันขององค์กรที่นำ ICT ด้านโลจิสติกส์มาใช้ การวิเคราะห์ ICT ด้านโลจิสติกส์ในรายงานฉบับนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ชนิด เช่น การจำแนกตัวตน การสื่อสารข้อมูล และเทคโนโลยีที่ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูล

หากมองถึงเทคโนโลยีการจำแนกตัวตน องค์กรอาจใช้บาร์โค้ดหรือคลื่นวิทยุ (RFID) ที่สามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลโลจิสติกส์

วันนี้ หากมองถึงเทคโนโลยีที่ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูล องค์กรมักประสบกับสินค้าและข้อมูลจำนวนมากซึ่งหมายความว่าการเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการจัดการและควบคุมข้อมูลด้านโลจิสติกส์ การได้มาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพสามารถช่วยองค์กรส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้องค์กรควรใช้บางเทคโนโลยีที่ทำให้ให้ได้มาซึ่งข้อมูลในด้านโลจิสติกส์ เช่น การสแกนตา การใช้ปากกาและกระดาษจดอิเล็กโทรนิกส์, การจำแนกเสียง และระบบหุ่นยนต์

1. บทนำ

ตั้งแต่มีการเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ ICT มีบทบาทในการช่วยระบบงานภายในองค์กร ในช่วงทศวรรษ1980 ได้มีการศึกษา ICT มากยิ่งขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการริเริ่มสร้างกลยุทธ์

ผู้เขียนหลายคนแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของ ICT ในการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อุตสาหกรรมและองค์กร ICT ได้สร้างบางอุตสาหกรรมใหม่ เช่น การประมูลออนไลน์และตลาดการค้าดิจิตอล อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่สำคัญที่สุดคือการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมที่มีอยู่ ซึ่งถูกกีดขวางโดยต้นทุนที่สูงในด้านการสื่อสาร การรวบรวมข้อมูล และการบรรลุการติดต่อซื้อขาย

ธุรกิจในยุคใหม่ถูกกำหนดรูปแบบโดยจำนวนที่เพิ่มขึ้นของอุปสงค์ การแข่งขันในระดับโลก และแม้แต่การคาดหวังที่สูงขึ้นของลูกค้า หลายกลยุทธ์ทางธุรกิจถูกสร้างขึ้นจากเพียงความสามารถด้านใดด้านหนึ่งในวันนี้ที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วในสังคมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี แต่กระนั้น องค์กรที่ประสบความสำเร็จที่สุดในศตวรรษยังเรียนรู้ที่จะมีความยืดหยุ่นสูง รวบรวมการปฏิบัติงาน และนำเสนอสิ่งที่มีคุณค่าต่อลูกค้า หุ้นส่วน และพันธมิตรในแนวทางที่แปลกใหม่และไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ องค์กรชั้นนำเหล่านี้ดูแตกต่างจากหลายองค์กรที่มีเทคโนโลยีสูงในอดีตที่กลยุทธ์ถูกสร้างบนรากฐานของสุดยอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์

โครงสร้างดังกล่าวถูกพัฒนาเพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับวิธีที่แพร่หลายของ ICT ในโลกธุรกิจ การนำนวัตกรรมของ ICT มาใช้สร้างสภาพแวดล้อมที่การปฏิบัติงานแบบเก่าถูกเลิกใช้และแทนที่ด้วยกฎใหม่ กฎเหล่านี้สร้างเงื่อนไขที่องค์กรต้องไม่เพียงปฏิบัติงานเท่านั้น แต่ต้องสร้างทางเลือกเชิงกลยุทธ์ด้วย

ICT เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจและวิธีการดำเนินธุรกิจในหลายรูปแบบ ICT บังคับให้องค์กรหาหนทางใหม่ในการขยายตลาดแข่งขัน เพื่อที่จะดึงดูดใจและรักษาลูกค้าเอาไว้โดยมีสินค้าและบริการให้เลือกหลากหลาย และปรับโครงสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อให้ได้มาซึ่งความสามารถในการแข่งขัน

กลยุทธ์ระบุว่าธุรกิจจะแข่งขันในตลาดที่เลือกได้อย่างไร ต้นแบบกลยุทธ์ทางธุรกิจวันนี้ควรมีการหลอมรวมด้านการตลาดและส่วนประกอบของนโยบาย กลยุทธ์ทางการตลาดคือรูปแบบการประสานงานในสภาพแวดล้อมทางการตลาดเพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่องค์กรผ่านทางการพัฒนาด้านเศรษฐศาสตร์ เช่น เมื่อองค์กรแข่งขันกับคู่แข่งโดยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่หรือโดยใช้กลยุทธ์ทางด้านราคา กลยุทธ์เชิงนโยบายคำนึงถึงรูปแบบการปฏิบัติภายใต้นโยบายเพื่อสร้างคุณค่าสำหรับองค์กรโดยการพัฒนาสถานะเศรษฐกิจโดยรวมขององค์กร โอกาสแรกคือการทำความเข้าใจนโยบายที่เกิดขึ้นภายในรัฐ ประเทศ และส่วนอื่นของโลก รวมถึงด้านขนบธรรมเนียม นโยบายใหม่นี้เสนอโอกาสที่ดีกว่า ไม่เพียงแต่ในการแข่งขันตามกฎเกณฑ์แต่ในการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดและเพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

Porter และ Millar (1985) โต้เถียงว่า ICT ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันใน 3 ทาง 1) ICT อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมและเปลี่ยนกฎการแข่งขัน 2) ICT อาจจะถูกใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยังยืนและทำให้องค์กรมีเครื่องมือในการแข่งขันตัวใหม่ 3) ธุรกิจใหม่ของ ICT อาจจะถูกพัฒนาขึ้นในกิจกรรมที่มีอยู่ขององค์กร

ตามที่กล่าวมานี้ การนำ ICT มาใช้อาจจะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ที่ทำให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายด้วยความชัดเจนของข้อมูลในโซ่คุณค่าขององค์กร Porter (2001) กล่าวว่า เครื่องมือพื้นฐานที่จะสร้างความเข้าใจต่ออิทธิพลของ ICT ในองค์กรคือโซ่คุณค่าหรือกลุ่มกิจกรรมที่สร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการและส่งต่อถึงลูกค้า การแข่งขันในอุตสาหกรรมใดก็ตาม องค์กรจะดำเนินการด้วยกิจกรรมต่างๆ จำนวนหนึ่งที่แตกต่างกันแต่เชื่อมกันด้วยการสร้างมูลค่า เช่น ดำเนินงานขาย การผลิตชิ้นส่วน หรือ การส่งมอบผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้มีจุดเชื่อมกับกิจกรรมของผู้จัดหาวัตถุดิบ ช่องทาง และลูกค้า สำหรับ Porter (2001) แล้ว โซ่คุณค่าเป็นกรอบที่ระบุถึงทุกกิจกรรมและวิเคราะห์ว่ามันส่งผลต่อทั้งต้นทุนขององค์กรและคุณค่าต่อผู้ซื้ออย่างไร เพราะว่าทุกๆ กิจกรรมเกี่ยวข้องกับการสร้าง การดำเนินการ และการสื่อสารข้อมูล ICT จึงมีอิทธิพลตลอดโซ่คุณค่า

ข้อดีพิเศษของอินเตอร์เน็ตคือการที่สามารถเชื่อมกิจกรรมต่างๆ และสร้างข้อมูลปัจจุบันของกิจกรรมได้ ทั้งในองค์กรและกับผู้จัดหาวัตถุดิบ ช่องทาง และลูกค้า วันนี้ องค์กรมักจะรวมเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในการออกแบบกระบวนการใหม่เพื่อเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน องค์กรทางธุรกิจสามารถมีความได้เปรียบในการแข่งขันโดยดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำเหมือนกับบริษัทคู่แข่งแต่ทำให้ดีกว่า และโดยการวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ ทำสิ่งที่แตกต่างจากคู่แข่งที่จะทำให้สามารถส่งต่อคุณค่าในแบบเฉพาะให้แก่ลูกค้าได้

2. เทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสาร และต้นแบบธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์

ต้นแบบธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ถูกนำไปจัดแบ่งหมวดหมู่อย่างหลากหลาย Torbay (2001) กล่าวว่า นักเขียนส่วนใหญ่เสนอแนะ 2 มิติสำหรับจัดแบ่งรูปแบบทางธุรกิจ คือ การรวมลักษณะการทำงานและระดับของนวัตกรรม, ลักษณะความสัมพันธ์และระดับความสำคัญของปัจจัยภายนอก, อำนาจของผู้ขายและผู้ซื้อ เขาระบุในงานเขียนว่า มิติหลักสำหรับจำแนกรูปแบบธุรกิจคือ 1) บทบาทของผู้ใช้ 2) รูปแบบของปฏิกิริยา 3) รูปแบบการนำเสนอ 4) ระบบราคา 5) ระดับของการผลิตเพื่อลูกค้าเฉพาะกลุ่ม 6) ข้อกำหนดทางเศรษฐกิจ 7) ระดับของความปลอดภัยเพื่อเฝ้าดูและพิสูจน์การซื้อในระบบ 8) ระดับของการรวมคุณค่า 9) คุณค่าหรือต้นทุนที่นำเสนอ 10) ปริมาณกิจกรรมที่เกิดขึ้น 11) ระดับของนวัตกรรม 12) ผู้ซึ่งมีอำนาจในการต่อรอง (ผู้ซื้อหรือผู้ขาย)

Torbay et al. (2001) แนะนำรูปแบบเพื่อแจกแจงและเปรียบเทียบแบบจำลองทางธุรกิจ เขายกตัวอย่างวิธีการแปรขั้นตอนหลักของแบบจำลองทางธุรกิจเป็นกลุ่มตัววัดที่สัมพันธ์กันสำหรับแต่ละส่วนของกรอบที่นำมาใช้ แบบจำลองนี้ประกอบด้วย 4 ส่วน

1. กลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการที่เสนอโดยองค์กรและแสดงถึงคุณค่าสำคัญต่อลูกค้าเป้าหมาย (ข้อเสนอด้านคุณค่า) ส่วนประกอบนี้เกี่ยวกับคุณค่าที่องค์กรนำเสนอต่อลูกค้าเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเฉพาะ ICT มีผลกระทบสำคัญที่สุดในการสร้างและนำเสนอคุณค่าด้วยวิธีใหม่ การสร้างตามความประสงค์เฉพาะของลูกค้า (Customization) เป็นอีกข้อเสนอด้านคุณค่าทั่วไปของผู้เขียนที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วของ ICT

2. การลงทุนด้านความสัมพันธ์กับลูกค้าที่องค์กรสร้างและรักษาไว้เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน (การจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า) ICT เสนอโอกาสใหม่เพื่อหาประโยชน์จากความสัมพันธ์กับลูกค้าที่มีอยู่และบอกถึงความต้องการของลูกค้าเพื่อสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ที่ยืนยาว

3. โครงสร้างและเครือข่ายของหุ้นส่วนที่จำเป็นในการสร้างคุณค่าและรักษาการจัดการความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนอย่างเพียงพอ ส่วนประกอบของโครงสร้างอธิบายการปรับเปลี่ยนระบบคุณค่าที่จำเป็นในการนำเสนอด้านคุณค่า นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรภายใน และ/หรือ ของหุ้นส่วน, สินทรัพย์, กิจกรรม, และเครือข่าย

4. ปัจจัยด้านการเงินที่พบในส่วนประกอบทั้ง 3 เช่น ต้นทุนและโครงสร้างรายได้ ปัจจัยด้านการเงินหมายถึงต้นทุนที่ต้องใช้สร้างผลผลิตและโครงสร้างที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม และรวมถึงรายได้ที่เกิดขึ้นจากการขาย ความแตกต่างระหว่างรายได้และต้นทุนบอกถึงความสามารถในการสร้างกำไรขององค์กร

อ้างถึง Rashid และ Al-Qirim (2001), 4 ปัจจัยที่มีผลกระทบซึ่งกันและกันภายในองค์กรและเป็นเหมือนโครงสร้างการประเมินเพื่อตัดสินแนวโน้มการนำนวัตกรรมมาใช้ในองค์กรและส่งผลกระทบโดยตรงถึงขั้นตอนการตัดสินใจของ CEO

1. ปัจจัยส่วนบุคคล – การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ของผู้ตัดสินใจและความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อการนำนวัตกรรมมาใช้

2. ปัจจัยองค์กร – มีอิทธิพลต่อการนำมาใช้ครอบคลุมในแง่ ขนาดขององค์กร, คุณภาพของระบบข้อมูลที่มีอยู่, ข้อมูลนำไปผ่านกระบวนการมากเพียงใด, ระดับความชำนาญขององค์กร, และระดับการนำไปใช้ที่เตรียมการโดย CEO

3. ปัจจัยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม – เกี่ยวกับประเด็น เช่น ผลดีที่เกี่ยวเนื่องจากนวัตกรรม, ความซับซ้อน, ความสามารถในการเข้ากันได้, ต้นทุน, และภาพลักษณ์โดยรอบนวัตกรรม

4. ปัจจัยสิ่งแวดล้อม – ผลกระทบที่เกิดจากการนำไปใช้ เช่น ความกดดันจากคู่แข่งและภายในห่วงโซ่อุปทาน, นโยบายสาธารณะ, และบทบาทของภาครัฐ

Rashid และ Al-Qirim (2001) ชี้ว่า ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งหรือทั้งหมดอาจจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการนำ ICT ไปใช้ หลายๆ ปัจจัยองค์กรรวมกันจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรของธุรกิจที่เกี่ยวกับการนำนวัตกรรม ICT ไปใช้ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกระทบรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัดกับการนำไปใช้ในประเด็นเกี่ยวกับสภาพตลาดและจุดยืนในตลาดขององค์กรมีอิทธิพลโดยตรงต่อนำเทคโนโลยีไปใช้ การเพิ่มความร่วมมือด้าน ICT ในองค์กรจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการทำงานในองค์กร, การเพิ่มผลผลิต, และความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ ปัจจัยส่วนบุคคลรวมเกณฑ์การจัดการต่อธุรกิจและมีอิทธิพลอย่างเห็นได้ชัดต่อการตัดสินใจใดๆ เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ อ้างถึง Allan et al. (2003) ระดับการนำ ICT ไปใช้โดยองค์กรต้องเจาะจงในแง่ขั้นตอนการวิวัฒนาการ การวิวัฒนาการของธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์สำหรับองค์กรถูกอธิบายในงานเขียนแสดงถึงการเปลี่ยนโดยทั่วไปจำแนกเป็นลำดับขั้นจากการใช้อีเมล์, เว็บไซต์, ร้านค้าออนไลน์ ไปจนถึงพื้นฐานดิจิตัลสำหรับธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ วิวัฒนาการขององค์กรมีขึ้นในขั้นตอนการวิวัฒนาการ เริ่มด้วยการใช้เทคโนโลยีในวงจำกัดผ่านไปสู่การรวมขั้นตอนอัตโนมัติทางธุรกิจทั้งหมดอย่างที่เห็นได้ในองค์กรดิจิตัล

3. เทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสารด้านโลจิสติกส์

ในเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นหลัก การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสิ่งแวดล้อมที่ไม่แน่นอนทำให้องค์กรพบความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดว่าจะย่อยเหตุการณ์ปัจจุบันและได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างไร

มีหลายงานที่ชี้ถึงความสำคัญของ ICT ในการตัดสินความได้เปรียบทางการแข่งขัน อ้างถึง Bowersox และ Closs (1996) สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ที่ ICT ดูเหมือนจะทำให้เกิดการนำเสนอด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าและบริการที่ดีกว่า

อ้างถึง Langley (1986) ICT สำคัญต่อโลจิสติกส์เพราะมันทำให้มีข้อมูลที่ถูกต้องถูกที่และถูกเวลา ตัวอย่างโลจิสติกส์ที่ได้รับความนิยมนี้ (ที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่จับต้องได้) แสดงถึงความเกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียมในด้านการจัดการข้อมูล Introna (1991) แสดงให้เห็นว่าขณะที่ระบบโลจิสติกส์เปลี่ยนวัตถุดิบเป็นผลิตภัณฑ์ ผ่านการสร้างคุณค่าแก่ลูกค้า ระบบข้อมูลและการสื่อสารเปลี่ยนรายละเอียดต่างๆ เป็นข้อมูลเพื่อช่วยตัดสินใจในด้านการจัดการ ผู้เขียนทั้งสองลงความเห็นว่าข้อมูลเป็นทรัพยากรที่ถูกใช้สำหรับการตัดสินใจที่จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพ, ประสิทธิผล, และความยืดหยุ่นด้านโลจิสติกส์ ผลลัพธ์คือ ปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้องค์กรมีโอกาสแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น

การลงทุนในเทคโนโลยี ICT ขั้นสูงสามารถแบ่งองค์กรที่เป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์จากองค์กรทั่วไป ทีมวิจัยโลจิสติกส์โลกตัดสินให้ ICT เป็น 1 ใน 7 ความสามารถที่จะรวมขั้นตอนโลจิสติกส์และสร้างผลงานระดับโลก การนำ ICT ไปใช้ให้ประสบความสำเร็จนับเป็นรากฐานของความสำเร็จด้านโลจิสติกส์

นักวิจัยหลายคนพบว่า ICT เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กรในการได้มาซึ่งความได้เปรียบในการแข่งขัน

Nixon (2001) ส่งเสริมแนวคิดนี้โดยแนะนำว่าองค์กรควรใช้ ICT เพื่อเพิ่มความสามารถด้านการบริการในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ แต่ Mason-Jones และ Towill (1999) และ Sauvage (2003) กำหนดว่าองค์กรต้องส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินการผ่านการนำข้อมูลไปใช้อย่างต่อเนื่องหรือเทคโนโลยีอัตโนมัติอย่างสอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ICT เป็นบทบาทที่มีอำนาจความสำคัญในโลจิสติส์ หลายการสำรวจถูกจัดทำขึ้นเพื่อสำรวจการใช้และความสำคัญของ ICT เพื่อส่งเสริมการดำเนินการโลจิสติกส์ องค์กรต้องสามารถจัดการกับข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและรวมหลายๆ กิจกรรมโลจิสติกส์ ทั้งการขนส่งภายในและภายนอก, การกระจาย, การคลัง และการจัดการขนส่ง เพื่อให้เกิดการไหลของผลิตภัณฑ์ของบริษัทลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

ICT ที่ใช้ในองค์กรเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันแบ่งได้ 3 ประเภท 1) เทคโนโลยีการจำแนกตัวตน 2) เทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูล 3) เทคโนโลยีเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล

สำหรับเทคโนโลยีจำแนกตัวตน องค์กรอาจใช้บาร์โค้ดหรือ RFID ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกการเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านโลจิสติกส์

สำหรับเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูล องค์กรอาจใช้ Electronic Data Interchange (EDI), แฟ็กซ์, อินเตอร์เน็ต, Value Added Network (VAN), Point of Sales System (POS), Electronic Ordering System (EOS), ระบบข้อมูลโลจิสติกส์, Computer Telephony Integration, และ Enterprise Information Portals จากหลายๆ เทคโนโลยีเหล่านี้ ดูเหมือนว่าแฟ็กซ์และ EDI จะถูกใช้งานในด้านโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก

สำหรับเทคโนโลยีเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล องค์กรมักจะต้องจัดการกับสินค้าและข้อมูลจำนวนมาก การเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลจึงสำคัญมากสำหรับการจัดการและควบคุมข้อมูลทางด้านโลจิสติกส์ การได้ข้อมูลที่มีคุณภาพสามารถช่วยให้องค์กรนำเสนอสินค้าให้แก่ลูกค้าได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป้าหมายนี้ องค์กรควรใช้บางเทคโนโลยีเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลทางด้านโลจิสติกส์ เช่น Optical Scanning, Electronic Pen Notepads, Voice Recognition, และระบบหุ่นยนต์

3.1 ผลกระทบของเทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสารด้านโลจิสติกส์

ในการใช้ ICT ด้านโลจิสติกส์หมายถึงด้านฮาร์ดแวร์, ซอฟท์แวร์, การลงทุนด้านเครือข่าย, และรูปแบบที่จะอำนวยความสะดวกในด้านการใช้งานและแลกเปลี่ยนข้อมูล

การประสบความสำเร็จในการใช้ ICT เพื่อรองรับหลายๆ ขั้นตอนของโลจิสติกส์ถูกคาดหวังว่าจะนำผลประโยชน์มาสู่องค์กร เช่น การลดความผิดพลาดจากการป้อนข้อมูล การปรับปรุงการให้บริการลูกค้า เป็นต้น

Lai et al. (2005) ยังชี้ด้วยว่า การใช้ ICT ทำให้องค์กรสามารถตรวจสอบคลังสินค้า, พัฒนาการใช้สินทรัพย์ด้านการขนส่งและการคลัง, และกำจัดกิจกรรมโลจิสติกส์ซ้ำซ้อนในองค์กร ผู้จัดการด้านโลจิสติกส์หลายคนถือว่า ICT เป็นตัวหลักในการพัฒนาผลผลิตและความสามารถในการแข่งขัน และมันยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในระบบโลจิสติกส์อีกด้วย

Closs et al. (1997) แสดงให้เห็นว่า ความสามารถด้าน ICT มีอิทธิพลอย่างเห็นได้ชัดต่อความสามารถโดยรวมของโลจิสติกส์ ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คน ไม่มีปัจจัยเดี่ยวอันใดจะสามารถพัฒนาการดำเนินการด้านโลจิสติกส์ได้ดีกว่า ICT

ในความเป็นจริง ICT ไม่ได้พัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการด้านโลจิสติกส์เท่านั้น การใช้ ICT อย่างประสบความสำเร็จอาจส่งผลต่อกลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างองค์กรอย่างเห็นได้ชัด

ตัวอย่างประโยชน์ที่องค์กรได้จากการใช้ ICT คือ 1) การตอบสนองและเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็ว 2) การให้บริการที่ดีขึ้น 3) ความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น 4) การลดการใช้ข้อมูลและการลดการกรอกข้อมูลซ้ำ 5) การเก็บข้อมูล, นำไปใช้, และสื่อสารได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

การใช้ ICT ในโลจิสติกส์ยังส่งผลสำคัญต่อการได้เปรียบในการแข่งขันขององค์กร Stock (1990) แสดงตัวอย่างขององค์กรที่ใช้ ICT ในโลจิสติกส์เพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม Bourlakis และ Bourlakis (2006) ไม่คิดว่ามันเป็นกระบวนการรวมที่ประสบความสำเร็จระหว่างโลจิสติกส์และ ICT เนื่องจากการรวมนี้เปรียบเทียบการได้เปรียบในการแข่งขันตรงกระบวนการแจกจ่ายสินค้าของผู้ค้าปลีก

Drucker (1988) เชื่อว่า ICT และเครือข่ายจะนำไปสู่การร่วมมือกันขององค์กร ผลกระทบโดยตรงต่อองค์กรโลจิสติกส์ในอนาคตอาจจะเป็นการลดโครงสร้างที่เป็นแบบแผนและเพิ่มเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารหลายองค์กรพบว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องรักษาอำนาจควบคุมภายในต่อทุกๆ กระบวนการในการทำงาน กลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์สามารถใช้และเป้าหมายการทำงานอาจถูกตั้งขึ้นผ่านการทำงานอย่างใกล้ชิดและขอบเขตความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนการค้า ซึ่งการนำ ICT ที่เหมาะสมมาใช้สามารถทำให้เกิดขึ้นได้

การจ้างงานและมีพันธมิตรภายนอกเติบโตขึ้นอย่างมากจากความก้าวหน้าด้านการสื่อสารรวมถึง Electronic Data Interchange (EDI) การมีข้อมูลที่ถูกต้อง ณ เวลาที่ต้องการจะทำให้องค์กรสามารถประสานงานในกิจกรรมระหว่างองค์กรได้

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการนำ ICT มาใช้อาจจะค่อนข้างยากสำหรับองค์กรด้วยเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวกับการลงทุนที่องค์กรอาจจะไม่สามารถหาเงินมารองรับการลงทุนที่สูงของเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ที่จำเป็นได้อย่างเพียงพอ อีกปัจจัยหนึ่งที่ยากแก่การนำ ICT มาใช้คือ องค์กรขาดความเชี่ยวชาญและการช่วยเหลือด้านเทคนิคสำหรับนำ ICT มาใช้

โดยเฉพาะ EDI มันจำเป็นต้องแปลงเป็นภาษามาตรฐานเพื่อทำให้สามารถส่งผ่านข้อมูลไปยังหุ้นส่วนทางธุรกิจได้ ซึ่งมันได้สร้างมาตรฐานสำคัญเช่น Accredited Standards Committee (ASC) X12 และ UN/EDIFACT องค์กรจำเป็นต้องแปลงด้วยมาตรฐานที่มีการแข่งกัน ด้วยเหตุนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนควรพยายามแก้ปัญหาโดยพัฒนารูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การค้าแบบดิจิตัลและเครือข่ายการขนส่ง

4. แบบจำลองแนวคิด

แบบจำลองแนวคิดสำหรับนำ ICT มาใช้ในโลจิสติกส์ถูกเสนอขึ้น ข้อเสนอนี้เป็นต้นแบบและเป็นแนวคิดใหม่ มันถูกเสนอด้วยแนวคิดที่เป็นระบบ โดยแสดงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างปัจจัยกำหนดที่อ้างอิงก่อนหน้านี้ผ่านข้อเสนอของตัวชี้วัดหลายๆ ตัว ตัวกำหนดของปัจจัยหลักอาจช่วยให้เข้าใจการมีส่วนร่วมของแต่ละปัจจัยเพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กร

4.1 การสร้างแบบจำลอง

ในขั้นนี้ แบบจำลองแนวคิดถูกสร้างขึ้นโดยพิจารณา 4 ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนด: ปัจจัยส่วนบุคคล, ปัจจัยองค์กร, ปัจจัยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม, และปัจจัยสิ่งแวดล้อม (รูปที่1 แบบจำลองแนวคิดการนำ ICT ด้านโลจิสติกส์มาใช้)

ปัจจัยส่วนบุคคล โดยทั่วไปเกี่ยวกับประวัติของผู้บริหารสูงสุดในด้านการสร้างความเปลี่ยนแปลง, ความรู้เกี่ยวกับ ICT ด้านโลจิสติกส์, ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์, ความกล้าเสี่ยง

ปัจจัยองค์กรกำหนดโดยขนาดขององค์กร, การมีอยู่ของระบบข้อมูลและการจัดการ, โครงสร้างการปกครองแบบลำดับชั้น, และระดับขององค์กรในวงจรธุรกิจ

ปัจจัยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ชี้วัดความสำเร็จโดยสิทธิบัตร, เทคโนโลยีที่มีอยู่, เหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นภายในองค์กร, และความต้องการที่เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตและการขาย

ปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของขนาดตลาดและอุตสาหกรรม, ความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมที่จะเกิดขึ้น, การแข่งขันในตลาด, และนโยบายสาธารณะที่นำไปสู่การลงทุน ICT ในอนาคต

ในการนำแบบจำลองแนวคิดไปดำเนินการ ปัจจัยกำหนดตัวชี้วัด (IDFi) และคำอธิบาย (D) สำหรับการนำ ICT ด้านโลจิสติกส์มาใช้ ถูกอ้างอิงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ตัวกำหนดและชี้วัดการนำ ICT ด้านโลจิสติกส์มาใช้

ปัจจัยกำหนด (DFi) (i=1,2,3,4)

1. ปัจจัยส่วนบุคคล

ตัวชี้วัด (IDFi) - คำอธิบาย (D)

1.1) การสร้างความเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสูงสุด - ความสามารถของผู้บริหารสูงสุดในการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมภายในและภายนอกองค์กร

1.2) ความรู้เกี่ยวกับ ICT ด้านโลจิสติกส์ของผู้บริหารสูงสุด - ระดับความรู้ของผู้บริหารสูงสุดในเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวกับการนำ ICT ด้านโลจิสติกส์มาใช้

1.3) ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ของผู้บริหารสูงสุด - ความสามารถของผู้บริหารสูงสุดในการพัฒนาวิสัยทัศน์ที่คาดหวังเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจและกลยุทธ์องค์กร

1.4) ความกล้าเสี่ยงของผู้บริหารสูงสุด - นิสัยในการเผชิญหน้ากับโครงการที่มีความเสี่ยงและพัฒนากิจกรรมการประกอบการ และความสามารถในการเปลี่ยนแนวคิดเป็นโอกาสทางธุรกิจ

2. ปัจจัยองค์กร

2.1) ขนาดขององค์กร - ขนาดขององค์กรมีอิทธิพลต่อกระบวนการบริหารธุรกิจ, จำวนผู้ตัดสินใจ, ระดับการใช้เทคโนโลยีอย่างผิดๆ ในกิจกรรมด้านโลจิสติกส์และการผลิต

2.2) ระบบข้อมูลและการจัดการ - ระบบข้อมูลภายในและภายนอกที่ทำให้มีการพัฒนาเครื่องมือจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้าและหุ้นส่วน

2.3) โครงสร้างลำดับชั้นขององค์กร - ระดับขั้นตอนการตัดสินใจ, ระดับการรวมศูนย์กลางการตัดสินใจ, จำนวนระดับชั้นในองค์กร

2.4) ระดับขององค์กรในวงจรธุรกิจ - การแบ่งระดับขององค์กรในวงจรธุรกิจเพื่อระบุระดับการเจริญเติบโตขององค์กร

3. ปัจจัยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม

3.1) สิทธิบัตร - จำนวนรวมของสิทธิบัตรขององค์กรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและกิจกรรมทางด้านเศรษฐศาสตร์

3.2) เทคโนโลยีที่มีอยู่ - ความสามารถในการพัฒนาจากหลายปัจจัยการผลิตที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของสินค้าและกระบวนการ

3.3) เหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นในองค์กร - การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจากภายในองค์กร

3.4) ความต้องการที่เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตและการขาย - การพัฒนาและปรับเปลี่ยนขั้นตอนการผลิตและการขายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากความต้องการที่เจาะจงของผู้บริหารระดับกลางและผู้ปฏิบัติงาน

4. ปัจจัยสิ่งแวดล้อม

4.1) การเปลี่ยนแปลงขนาดของตลาดและอุตสาหกรรม - จำนวนกิจกรรมการผลิตหรือการบริการใหม่ที่นำเสนอตามการเปลี่ยนแปลงโดยสังเกตจากขนาดตลาดและอุตสาหกรรม

4.2) ความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม - จำนวนของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ออกใหม่ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม โดยสังเกตจากสภาพแวดล้อมภายนอก

4.3) การแข่งขันในตลาด - ระดับของการแข่งขันระหว่างองค์กร

4.4) นโยบายสาธารณะ - ระดับการลงทุนที่เกี่ยวกับการนำ ICT มาใช้และเผยแพร่

4.2 การวัดผลแบบจำลอง

ผู้เขียนนำวิธีที่เสนอโดย Stone และ Ranchhod (2006) มาใช้อ้างอิง และเสนอวิธีที่ถูกปรับสำหรับวัดผลแบบจำลอง ในการวางตำแหน่งองค์กรเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันที่เกิดขึ้นจากการนำ ICT ด้านโลจิสติกส์มาใช้

สรุปใจความคือ การมีอยู่ (มาก-น้อย) ของแต่ละตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับ 4 ปัจจัยกำหนดควรถูกคำนวณ เพื่อพิจารณาถึงการวางตำแหน่งขององค์กร ตามแบบจำลองแนวคิดที่เสนอไปนั้น จะได้สมการคือ

IDFi = (Value – min) / [(max-min)/10]

สำหรับจุดมุ่งหมายที่จะกำหนดขอบเขตการนำ ICT ด้านโลจิสติกส์มาใช้ ผู้เขียนเสนอการคำนวณค่าเฉลี่ยสำหรับตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับแต่ละปัจจัยกำหนด ตัวอย่างเช่น ในส่วนของปัจจัยบุคคล ค่าเฉลี่ยของตัวชี้วัดคือ การสร้างความเปลี่ยนแปลง, ความรู้เกี่ยวกับ ICT ด้านโลจิสติกส์, ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์, และความกล้าเสี่ยงของผู้บริหารสูงสุด ซึ่งถูกนำมาคำนวณ หลังจากนั้นค่าเฉลี่ยจะถูกใช้เพื่อแสดงด้านบนของแกน y และใช้วิธีเดียวกันนี้ในการคำนวณแกน x หลังจากนั้นผลรวมของแต่ละส่วนจะถูกคำนวณด้วยวิธีดังนี้

ผลรวมของ ADFij = AIO + AIE + ATIO + ATIE

โดยที่

AIO = ปัจจัยบุคคล x ปัจจัยองค์กร x 0.5

AIE = ปัจจัยบุคคล x ปัจจัยสิ่งแวดล้อม x 0.5

ATIO = ปัจจัยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม x ปัจจัยองค์กร x 0.5

ATIE = ปัจจัยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม x ปัจจัยสิ่งแวดล้อม x 0.5

ตามวิธีที่เสนอโดย Stone และ Ranchhod (2006) กับจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงปัจจัยหลัก เส้นจะถูกวาดขึ้นจากจุดเริ่มต้น [0,0] ถึงจุดเปลี่ยน ซึ่งก็คือคู่ (ค่าเฉลี่ยของแกน x, ค่าเฉลี่ยของแกน y) ความยาวของเส้นนี้ถูกคำนวณโดยใช้ทฤษฎีของปิทาโกรัส

5. บทสรุป

บทความได้แนะว่าข้อมูลเป็นทรัพยากรที่มีค่าของโลจิสติกส์ การไหลของข้อมูลมีความสำคัญเทียบเท่าการไหลของวัตถุดิบในช่องทางโลจิสติกส์

ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เน้นความสำคัญของโลจิสติกส์ไม่ว่าจะเป็นฐานแห่งความได้เปรียบในการแข่งขันหรือกลยุทธ์ที่มีความสำคัญ ซึ่งหมายถึงระดับความพึงพอใจของลูกค้าที่สูงขึ้นและความสำเร็จที่มากขึ้นขององค์กร การเปลี่ยนแปลงบางส่วนที่อ้างถึงเกี่ยวกับธุรกิจในยุคโลกาภิวัฒน์, วงจรอายุผลิตภัณฑ์ที่สั้นลงเรื่อยๆ, ความรุนแรงในการแข่งขัน, และลำดับความสำคัญในการแข่งขันแบบใหม่

ความสำคัญของโลจิสติกส์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ คำสั่งซื้อ และข้อมูลในหลายๆ จุด (ฝ่ายการผลิต, การคลัง, การขายปลีก, และการขนส่ง) ทำให้องค์กรคำนึงถึงการดำเนินการ การควบคุม และจัดการแต่ละส่วนงานของโลจิสติกส์มากยิ่งขึ้น

การใช้ ICT ด้านโลจิสติกส์อย่างมากด้วยเทคโนโลยีการได้มา การสื่อสาร และการจำแนกตัวตน การไหลของข้อมูลที่ถูกใช้โดยองค์กรจะต้องมีประสิทธิภาพเพื่อเสริมความได้เปรียบด้านการแข่งขันที่มีอยู่หรือสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันใหม่ๆ

ในบทความนี้มีการเสนอแบบจำลองแนวคิดสำหรับการนำ ICT ด้านโลจิสติกส์ไปใช้โดยนำ 4 ปัจจัยกำหนดมาพิจารณา: ปัจจัยส่วนบุคคล, ปัจจัยองค์กร, ปัจจัยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม, และปัจจัยสิ่งแวดล้อม ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างปัจจัยกำหนดที่กล่าวมาสามารถแสดงด้วยการคำนวณของปัจจัยหลัก โดยใช้กลุ่มตัววัดที่เพียงพอและวิธีการทางเรขาคณิต การดำเนินการนี้อาจระบุถึงปัจจัยหลักที่จะกำหนดความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์กรที่เกิดขึ้นจากการนำ ICT ด้านโลจิสติกส์มาใช้

สุดท้ายนี้ สำหรับแนวทางในการวิจัยต่อไป ผู้เขียนขอแนะนำการพัฒนาการศึกษาแนวตั้งที่รวมทฤษฎี 3 แนวทาง คือ วงจรธุรกิจขององค์กร, ICT ด้านโลจิสติกส์, และความสามารถในการแข่งขัน โดยคำนึงถึงแบบจำลองแนวคิดที่ได้เสนอไป การศึกษาในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาเพื่อระบุถึงปัจจัยที่จะกำหนดความได้เปรียบในการแข่งขันที่จะได้มาโดยการนำ ICT ด้านโลจิสติกส์มาใช้ในแต่ละระดับวงจรธุรกิจขององค์กร

บทวิเคราะห์

ความน่าเชื่อถือของบทความ

บทความนี้มีความน่าเชื่อถือ ทั้งจากประวัติของผู้เขียนและวิธีการนำเสนอบทความ โดย

ผู้เขียน

Garrido Azevedo, Susana เป็นนักวิจัยสังกัด Universidade da Beira Interior ในเมือง Covilha ประเทศโปรตุเกส ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 10 ของประเทศโปรตุเกส (อ้างอิงจาก //www.webometrics.info) ซึ่งมีงานเขียนในฐานข้อมูลขององค์กร Research Papers in Economics อยู่ 5 เรื่อง ในด้านต่างๆ ต่อไปนี้ Business Economics, Economics of Strategic Management, Entrepreneurship, Information & Communication Technologies, Knowledge Management & Knowledge Economy, และ Marketing

Matos Ferreira, Joao เป็นนักวิจัยสังกัด Universidade da Beira Interior ในเมือง Covilha ประเทศโปรตุเกส ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 10 ของประเทศโปรตุเกส (อ้างอิงจาก //www.webometrics.info) ซึ่งมีงานเขียนในฐานข้อมูลขององค์กร Research Papers in Economics อยู่ 9 เรื่อง ในด้านต่างๆ ต่อไปนี้ Business Economics, Economics of Strategic Management, Education, European Economics, Entrepreneurship, Economic Geography, Information & Communication Technologies, Innovation, Knowledge Management & Knowledge Economy, และ Marketing

Carlos Correia Leitao, Joao เป็นนักวิจัยสังกัด Universidade Tecnica de Lisboa ในเมือง Lisboa ประเทศโปรตุเกส ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของประเทศโปรตุเกส (อ้างอิงจาก //www.webometrics.info) ซึ่งมีงานเขียนในฐานข้อมูลขององค์กร Research Papers in Economics อยู่ 26 เรื่อง ในด้านต่างๆ ต่อไปนี้ Business Economics, Industrial Competition, Economics of Strategic Management, Education, European Economics, Entrepreneurship, Finance, Financial Markets, Economic Geography, Human Capital & Human Resource Management, Information & Communication Technologies, Innovation, Intellectual Property Rights, Knowledge Management & Knowledge Economy, Microeconomics, Marketing, Network Economics, Regulation, Social Norms & Social Capital, Sociology of Economics, Sports & Economics, และ Urban & Real Estate Economics

การนำเสนอบทความ

ในการนำเสนอบทความ เมื่อผู้เขียนมีการอ้างอิงรายละเอียดต่างๆ จากผู้เขียนอื่นก็จะมีการใส่วงเล็บชื่อผู้เขียนและปีที่เขียนไว้ท้ายข้อความอย่างชัดเจน และในส่วนของ References ก็จะมีการบอกรายละเอียดที่ผู้เขียนได้นำมาอ้างอิงทั้งหมดตามหลักการเขียนหนังสืออ้างอิง

ความเห็นที่มีต่อบทความ

ผู้เขียนนำเสนอบทความอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและมีการแบ่งรายละเอียดในหัวข้อต่างๆ ออกมาอย่างชัดเจนทำให้เข้าใจได้ง่ายและมีความเห็นด้วยกับบทความส่วนใหญ่ที่ผู้เขียนได้มีการนำเสนอ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึง วิธีวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการคำนวณตามแบบจำลองแนวคิดและการวิธีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กร ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่อ่านบทความนี้อ่านจบแล้วก็จบไป ไม่ได้มีการนำแบบจำลองดังกล่าวไปลองใช้จริง เนื่องจากไม่ทราบว่าทำแล้วจะให้ประโยชน์ “ในการวางตำแหน่งองค์กรเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันที่เกิดขึ้นจากการนำ ICT ด้านโลจิสติกส์มาใช้” ได้อย่างไร

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากบทความนี้

1. ผลกระทบที่เกิดจากการนำ ICT ด้านโลจิสติกส์มาใช้

2. ปัญหาที่เป็นตัวขัดขวางการนำ ICT ด้านโลจิสติกส์มาใช้

3. ประเภทของ ICT ที่สามารถนำมาใช้ในด้านโลจิสติกส์

4. ปัจจัยที่จะต้องพิจารณาในการนำ ICT ด้านโลจิสติกส์มาใช้

5. วิธีการนำปัจจัยที่จะต้องพิจารณาในการนำ ICT ด้านโลจิสติกส์มาใช้ไปคำนวณตามหลักการทางคณิตศาสตร์

เอกสารอ้างอิง

Garrido Azevedo, S., Ferreira, J., Leitao, J. (2007). "The Role of Logistics' Information and Communication Technologies in Promoting Competitive Advantages of the Firm." Munich Personal RePEc Archive. Paper No. 1359. Retrieved June 28, 2008 from //mpra.ub.uni-muenchen.de/1359/.

การอ้างอิงงานเขียนนี้:

ศรินดา วงศ์โกศลสุข (2551) "บทบาทของเทคโนโลยีข้อมูลและีการสื่อสารด้านโลจิสติกส์ ในการส่งเสริมความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์กร" ค้นคืนวันที่ ... จาก //www.bloggang.com/viewblog.php?id=angelsandy&date=04-02-2009&group=1&gblog=2.

To cite this article:

Wongkosolsuk S. (2008). "บทบาทของเทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสารด้านโลจิสติกส์ ในการส่งเสริมความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์กร." Retrieved ..., from //www.bloggang.com/viewblog.php?id=angelsandy&date=04-02-2009&group=1&gblog=2.


Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2552 13:16:17 น. 3 comments
Counter : 163 Pageviews.

 


ขอเป็นกำลังใจให้ในทุกสิ่งที่ทำนะคับ

...โจ...พลังชีวิต


โดย: พลังชีวิต วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:22:03:04 น.  

 
ศึกษารายละเอียดในเว็บไซด์นี้ อาจเปลี่ยนชีวิตคุณได้

//www.i-amagel.com/leader.php?id=salakchit


โดย: pjpaphs วันที่: 11 เมษายน 2552 เวลา:13:19:38 น.  

 
55555555555+


โดย: วิ้งๆ IP: 124.157.212.185 วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:18:47:27 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จิ้งจกหน้าหวาน
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add จิ้งจกหน้าหวาน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.