เช็กความพร้อมยักษ์ "เอไอเอส" อนาคตสัมปทาน-ประมูล 3G

 

งวดเข้ามาเต็มแก่สำหรับการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ที่ค่ายมือถือเฝ้ารอมาหลายปี ปีที่แล้วลุ้นที่สุดก็ต้องแห้วไป ปีนี้หลายฝ่ายมั่นใจมากกว่าทุกครั้ง แต่ก็ยังเผื่อใจไว้บ้าง แม้ไม่อาจช้าไปกว่านี้ได้อีกแล้ว จากปัญหาความถี่ที่มีจำกัดจำเขี่ย จนกระทบคุณภาพบริการอย่างที่เห็น ๆ กันอยู่

2 ซีอีโอ "ดีแทค-ทรูมูฟ" ออกมาแสดงความเห็นในทำนองเดียวกันว่า อยากให้แต่ละใบอนุญาตมีความถี่เท่า ๆ กันที่ 15 MHz เพราะกลัวว่าจะมีปัญหา

มีพี่ใหญ่ "เอไอเอส" ที่ประกาศชัดมาตลอดว่า ต้องการคลื่นสูงสุดเต็มเพดานที่ 20 MHz



"ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับ "วิเชียร เมฆตระการ" หัวหน้าคณะผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ดังนี้

- ร่างครอบงำมีโอกาสนำมาใช้ล้มประมูล

อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ แสงสว่างความมั่นใจของผมดับวูบไปตั้งแต่ล้มประมูลคราวก่อน (หัวเราะ) โดยส่วนตัวเฉย ๆ กับประกาศนี้ แต่ถ้าจะยกเลิกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาได้ก็ดีกว่า ถ้ามีใครหยิบมาฟ้องร้องผู้ประกอบการ เอไอเอสอาจไม่พ้นด้วยก็ได้ เพราะโครงสร้างผู้ถือหุ้นเหมือนกับคนอื่น มีสิทธิ์โหวต 1 ต่อ 1 เหมือนกัน

ประมูลจะล้มหรือไม่คงบอกไม่ได้ ถ้ามีปัญหาคงเป็นการฟ้องผู้ประกอบการ แล้วถ้าฟ้องกันจนเหลือผู้เข้าประมูลรายเดียว ถามว่า การประมูลจะเดินต่อหรือหยุด ถ้าเดินต่อจะเป็นที่ครหาไหม หรือถ้าต้องหยุดรอก่อน ศาลจะพิจารณาคดีได้เร็ว ?

- กังวลไหมว่าการประมูลจะเลื่อน

ผมกังวลเรื่องปัจจัยการเมืองมากกว่า วันนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ตั้งแต่มีเรื่องตบตีกันในสภา และก็ไม่มีใครรับลูกกัน ถ้าต่อไปต้องเผชิญหน้ากันจริง ๆ เราจะเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จัดประมูลกันต่อไปจะเป็นไปได้หรือ

- จะเกิดอะไรขึ้น

ก็ได้รับบริการแย่ ๆ กันต่อไป เอไอเอสคงเสียภาพความเป็นโครงข่ายที่ดีที่สุด ภาพลักษณ์ที่สั่งสมมาคงเสียหายกันไป ก็ต้องยอมรับ ถ้าเราประมูลไม่ได้ก็คงต้องไปรับจ้างทีโอทีทำงานกันต่อไป

- อัตราการไหลออกของลูกค้า

ผมเชื่อว่าลูกค้าปัจจุบันถือซิมมากกว่า 1 ค่ายอยู่แล้ว แยกกันว่า อันนี้ไว้โทร.ออก อันนี้ไว้เล่นดาต้า เวลานี้แต่ละค่ายมีข้อดีข้อด้อยต่างกัน ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าแต่ละค่ายก็แย่พอ ๆ กัน คือต้องเข้าใจก่อนว่า ในการทำธุรกิจเซลลูลาร์ ไม่ใช่ใครอยากลุกขึ้นมาทำก็ได้ ต้องใช้เวลาเป็นปี สร้างโครงข่าย อย่างน้อย 2-3 ปี

อย่างถ้ามีคลื่นความถี่ใหม่จะเริ่มเห็นการลงทุนใหม่ครั้งใหญ่ แล้วค่อย ๆ เปิดให้บริการไปเรื่อย ๆ แต่จะใช้เวลาเท่าไรคงต้องถามว่า จะเอาคุณภาพแค่ไหน

- กสทช.กำหนด 50% ใน 2 ปี

เงื่อนไขนี้ผมไม่แน่ใจ ต้องดูด้วยว่า กสทช.จะนำคลื่น 1800 MHz ออกมาประมูล ซึ่งนำไปให้บริการ LTE (4G) ได้ แล้วจะบังคับให้สร้างบน 2.1 GHz เยอะ ทำไม 50%-80% ไปเร่งสร้างบนคลื่นที่ สปีดเร็วกว่าไม่ดีหรือ แต่ถ้าเป็นกฎเกณฑ์บังคับให้ต้องทำก็ต้องทำ แต่การลงทุนต้องดูด้วยว่า 50% ของอะไร เพราะวันนี้โครงข่ายเก่าถ้าใช้ด้านเสียงอย่างเดียวก็มีคุณภาพดีอยู่แล้ว แต่ดาต้าก็รู้ ๆ อยู่ว่า มีเทคโนโลยีที่ดีกว่ามาอยู่แล้ว คุณต้องกำหนดว่า 50% นี้ของอะไร จะเอาสปีดสูงสุดที่เท่าไร ผู้ได้รับใบอนุญาตจะได้รู้ นี่คือจุดที่ กสทช.จะต้องทำต่อไป

บ้านเราต่างกับที่อื่น ในต่างประเทศมีการอัพเดตไปเรื่อย ๆ แต่บ้านเรามีวันหมดอายุสัมปทาน แล้วยังบอกไม่ได้ว่าวันที่หมดอายุจะมีเหตุการณ์เหมือนจอดำหรือเปล่า หรือยังให้ใช้โครงข่ายเก่าต่อได้ ตอนนี้ต้องเห็นใจทรูมูฟกับดีพีซีมาก เหลืออีกปีเดียว โดยเฉพาะทรูมูฟมีลูกค้าหลายล้านจะโอนลูกค้าได้หรือเปล่า สัมปทานไม่ได้บอกว่าหมดแล้วจะอย่างไรกับลูกค้าต่อ วันนี้ เราต้องมองลูกค้าเป็นหลักว่า ลูกค้าต้องใช้บริการต่อได้ ไม่ใช่จอดำตายกันหมด

- เตรียมรับมือหลังดีพีซีหมดสัมปทาน

เริ่มคุยกับ กสทฯแล้ว แต่ยังมีส่วนที่ไม่ชัดเจนว่าหมดสัมปทานแล้วคลื่น 1800 MHz จะไปอยู่กับใคร กสทฯมองว่าคลื่นนี้จัดสรรโดย กบถ. และไม่ได้กำหนดวันหมดอายุ จู่ ๆ มีกฎหมายใหม่กำหนดให้เอาความถี่คืน มีกฎหมายไหนระบุไว้ กฎหมายแค่บอกว่าคลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติ และต้องประมูลเท่านั้น

เป็นหน้าที่ไอซีที กสทช. กสทฯต้องเคลียร์ให้ชัด เอไอเอสเป็นแค่ผู้ประกอบการ มีอะไรให้ทำก็บอกมา คลื่นไปอยู่ที่ใคร อยู่ตรงไหนก็บอกจะได้รู้ว่าควรไปคุยกับใคร ตรงนี้ต้องชัดเจนก่อน นักลงทุนจะได้มั่นใจว่าจะมีไลเซนส์ใหม่ให้ทำธุรกิจต่อไปได้หรือต้องมานั่งอยู่กับการตีความ

- จะทำอย่างไรกับลูกค้าต่อไป

ลูกค้ามีแค่ 8 หมื่น ทุกคนเป็นอิสระที่จะโอนย้ายด้วยการใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย แต่ลูกค้าไม่ได้ตื่นตัวเรื่องการต้องโอนย้ายเพราะสัมปทานจะหมด ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราต้องการคลื่นความถี่มาบริหารต่อ

- โครงข่ายเก่าของดีพีซี

ตอนนี้โอนให้ กสทฯตามเงื่อนไขสัมปทานเกือบหมดแล้ว เหลือบางส่วนที่กำลังจะปิดบัญชีเคลียร์กัน คงต้องพูดคุยกันไปเรื่อย ๆ

- เตรียมตัวสำหรับเอไอเอสด้วย

เริ่มคุยกับทีโอทีมาระยะหนึ่งแล้ว ในหลาย ๆ เรื่อง แต่จะเอาดีพีซีเป็นโมเดล เพราะมีความคล้ายคลึงกัน ถ้าคลื่นความถี่กลับมาเป็นของทีโอทีได้ ก็จะไปขอทีโอทีทำต่อ ส่วนปัญหาข้อพิพาทต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการหรือกระบวนการศาล บางเรื่องคงไม่จบ แม้สัมปทานจะหมดไปแล้ว ถ้าไม่ใช่เรื่องการเมืองมันก็ไม่ค่อยมีปัญหา

- คลื่น 1800 MHz น่าสนใจกว่า 2.1 GHz

ไม่ว่าคลื่นไหนก็น่าสนใจพอกัน แม้มี 4G แล้ว แต่อย่างไรก็ต้องทำ 3G ก่อน มันไม่มีเรียนลัด ทุกวันนี้ต้องเรียนอนุบาลก่อนไปประถม เหมือนเงื่อนไขประมูลถ้า กสทช.ทำให้ผ่านออกมาทุกขั้นตอนแล้ว อย่างไรเราก็ต้องยอมรับ มีทางเลือกแค่ว่า จะเข้าประมูลหรือไม่

- เตรียมพร้อมประมูลครั้งนี้

เตรียมมา 2 ปีกว่า กระเป๋าที่แพ็กไว้เก็บตัวเข้าประมูลหนก่อนยังอยู่เลย (หัวเราะ) ตอนนี้รอแค่กฎเกณฑ์เงื่อนไขที่ชัดเจนเท่านั้น

* ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ *




Create Date : 08 กรกฎาคม 2555
Last Update : 8 กรกฎาคม 2555 18:29:25 น. 0 comments
Counter : 1894 Pageviews.

angelica0819
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add angelica0819's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.