บอกแล้วไม่ฟัง
Group Blog
 
All blogs
 

=> 'เครดิตบูโร'ไม่ใช่ผู้ร้าย ตัวช่วยผู้บริโภคสร้างเครดิตการเงิน

คอลัมน์: สัมภาษณ์พิเศษ: 'เครดิตบูโร'ไม่ใช่ผู้ร้าย ตัวช่วยผู้บริโภคสร้างเครดิตการเงิน
บ้านเมือง Monday, February 21, 2011 
          ทีมข่าวเศรษฐกิจ
          "เครดิตบูโร" คำๆ นี้ เริ่มติดหูในสังคมไทยมากขึ้นทุกๆ วัน โดยเฉพาะกับบุคคลที่มีความประสงค์ที่จะขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งของเอกชนและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่จะต้องมีการตรวจเช็คข้อมูลเครดิตของตนว่ามีประวัติการชำระหนี้ต่างๆ ดี หรือว่าเคยค้างชำระ หนี้จนเกิดเป็นแบล็กลิสต์ ซึ่งจะส่งผลทำให้สถาบันการเงินปฏิเสธการพิจารณาสินเชื่อหรือไม่
          ซึ่งคำว่า "ติดเครดิตบูโร" นั้น จึงไม่ใช่เป็นภาพที่สวยงามนักในความรู้สึกของสังคม แต่แท้จริงแล้วเครดิตบูโรมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภค แต่จะมีประโยชน์อย่างไรนั้น วันนี้ทีมข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์บ้านเมือง มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ถึงภาระหน้าที่และการดำเนินงานของบริษัท และที่สำคัญเพื่อตอบคำถามว่า จริงๆ แล้ว เครดิตบูโรนั้นเป็นพระเอกหรือว่าผู้ร้าย...กันแน่
          รุกสื่อสารต่อสังคม
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจะจัดเก็บข้อมูลเครดิตบูโร ได้แก่ ข้อมูลประวัติการชำระสินเชื่อ โดยข้อมูลสินเชื่อเมื่อเกิดขึ้นหรือเปิดบัญชีแล้วสถาบันการเงินก็จะส่งเข้ามาที่เครดิตบูโรตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่ส่งข้อมูลเมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ ที่เรียกกันว่าติดบูโรเข้ามา ข้อมูลจะเป็นประวัติเริ่มตั้งแต่เปิดบัญชี มีการชำระเงินอย่างไร จ่ายครบ จ่ายตรงก็จะรายงานว่าไม่ค้างชำระ ถ้าค้างก็รายงานว่าค้าง จะจัดเก็บตามความจริงที่เกิดขึ้น และเมื่อข้อมูลความคลาดเคลื่อน เจ้าของข้อมูลก็มีสิทธิ์ในการทักท้วงและตรวจสอบได้
          ทั้งนี้ หน้าที่เครดิตบูโร คือ เป็นผู้ให้บริการข้อมูลแก่สถาบันการเงินเพื่อใช้ประกอบการอนุมัติสินเชื่อ เมื่อมีการยื่นขอสินเชื่อ ก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน ป้องกันการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบ ไม่ให้เกิดวิกฤติดังเช่นปี 40 ที่ผ่านมา "ภาพลักษณ์เราไม่ใช่บวกไม่ใช่ลบแต่เป็นติดลบในสายตาสังคม ที่ผ่านมามีหลายคนถามว่า "แบล็กลิสต์" คืออะไร คำตอบก็คือ ประวัติการค้างชำระที่อยู่ในประวัติของเรา และเราไม่อยากให้โชว์แต่ต้องโชว์ เพราะหากเราจะไปเอาเงินคนอื่น ซึ่งถ้าเราไม่ต้องการขอสินเชื่อแต่ใช้เงินตัวเองนั้น ก็ไม่มีใครที่จะมาขอดูในส่วนนี้" นายสุรพล กล่าว
          ทั้งนี้ ทิศทางหรือสิ่งที่บริษัทฯ จะเร่งดำเนินการในปี 54 คือ การสื่อสารและให้ข้อมูลกับสาธารณชนและประชาชนทั่วไป ในเรื่องบทบาทของเครดิตบูโรและวินัยทางการเงิน ภายใต้แนวความคิด "เครดิตดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง" รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตหรือการตรวจสอบเครดิตบูโร สำหรับประชาชนทั่วไปให้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และการเร่งพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก
          สำหรับการสร้างภาพลักษณ์เครดิตบูโรในสายตาประชาชนนั้น บริษัทจะร่วมมือกับสมาชิกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน และที่ไม่ใช่สถาบันการเงินต่างๆ ในการเดินทางไปร่วมจัดงานอีเวนท์ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมไปถึงร่วมทำงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาหอการค้าจังหวัด และสภาอุตสาหกรรม เพื่อจัดงานให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในกลุ่มอาชีพต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ครู อาจารย์ และนักเรียน นักศึกษา เป็นต้น โดยบริษัทข้อมูลเครดิตฯ จะเอาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับตัวเครดิตบูโร และอบรมสมาชิกเพื่อให้สื่อสารข้อมูลต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง นอกจากนั้น บริษัทข้อมูลเครดิตจะดำเนินงานร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรต่างๆ วิทยาเขตในจังหวัดต่างๆ และกลุ่มต่างๆ ไปให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ
          "ปีนี้เราจะพูดเรื่องเดียวว่า รายงานข้อมูลเครดิตเคยเห็นกันบ้างหรือไม่ เนื่องจากการจะขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินต่างๆ จะต้องมีการเตรียมตัว ปัจจุบันนี้เอสเอ็มอีในเมืองไทยมักประสบปัญหา คือเรื่องเครดิตบูโร เรื่องแผนธุรกิจ เป็นต้น สิ่งสำคัญเลยคือ มักจะไม่รู้ว่าเครดิตของตนที่อยู่ในมือธนาคารนั้นเป็นอย่างไร จึงเห็นว่าการจะอธิบายอย่างเดียวนั้นคงจะไม่เกิดประโยชน์มากนัก ดังนั้น เราจะมีการปรินท์รายงานเครดิตต่างๆ ให้ด้วย โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม แต่จะระบุว่าเงินที่จ่ายให้เราเป็นค่าธรรมเนียมทั้งจำนวนโดยไม่หักค่าใช้จ่ายนั้นจะนำไป บริจาคเป็นการกุศล เพื่อช่วยเหลือสังคม ปีนี้สิ่งที่ต้องทำเลยค่ะ ช่องทางให้ได้มากที่สุด และการสื่อสาร โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเครดิต และรายงานได้ภายใน 7 วัน" นายสุรพล กล่าว
          ทั้งนี้ ปัจจุบันเรามีธนาคารพาณิชย์เป็นสมาชิก ธนาคารเองก็อยากจะทำซีเอสอาร์ ซึ่งเราก็ทำเรื่องนี้ด้วยการสร้างจุดการให้บริการเข้าถึงรายงานเครดิตได้ง่ายๆ จากเดิมบริษัทฯ เรามีเพียงธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ลำบากในการใช้บริการ แต่ปัจจุบันเรามีธนาคารกรุงไทย นครหลวงไทย และมีตู้เอทีเอ็มของสาขาธนาคาร กรุงไทย และนครหลวงไทย และตามสถานีรถไฟฟ้า รวมไปถึงโมบายแบงกิ้งและระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะคอยให้บริการกับประชาชน
          เช็คบูโรฟรีปีละครั้ง 
         ปัจจุบันประชาชนสามารถตรวจเช็คข้อมูลเครดิตของตน สามารถดำเนินการได้ คือ
1.ไปขอตรวจเช็คข้อมูลจากสาขาของบริษัทข้อมูลเครดิตโดยตรง ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 15 นาที หรือ
2.ไปที่สาขาของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งตอนนี้มีธนาคารที่เข้าร่วมดำเนินการ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด, ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด และธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นต้น ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ คาดว่าจะมีสถาบันการเงินเข้าร่วมดำเนินการอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศว่าการเป็นเอเย่นต์ให้บริการตรวจเช็คข้อมูลเครดิตดังกล่าวนั้น ถือเป็นบริการของธนาคารโดยทั่วไปเหมือนกับเคาน์เตอร์เซอร์วิส
          ทั้งนี้จะต้องมีการเขียนคำขอว่าอยากจะรู้ข้อมูลของตน และแจ้งที่อยู่การส่งข้อมูลดังกล่าวอย่างชัดเจน เพราะมีการแอบอ้างได้ตลอดเวลา จึงต้องมีการเขียนคำขอใช้บริการ และที่ไม่ให้เขียนที่อยู่ในการส่งก็เพราะไม่ต้องการให้มีบุคคลที่สามเข้ามาล่วงรู้ถึงข้อมูลเครดิตของผู้ที่ร้องขอ โดยต้องการส่งให้เป็นการส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งภายในระยะเวลา 7 วันที่เขียนคำขอ บริษัทข้อมูลเครดิตฯ ก็จะดำเนินการตรวจเช็คข้อมูลเครดิตให้กับ ผู้ร้องขอ และดำเนินการจัดส่งข้อมูลเครดิตดังกล่าวกลับไปยังผู้ที่ร้องขอตามที่อยู่ที่แจ้งเอาไว้ โดยบริการดังกล่าวนี้ผู้ร้องขอจะต้องเสียค่าบริการ 120 บาทต่อการทำรายการ 1 ครั้ง
          นายสุรพล กล่าวว่า ขณะนี้กำลังพิจารณาและต้องการที่จะผลักดัน และพัฒนาให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับสหรัฐอเมริกาคือ คนที่ต้องการจะเช็คประวัติของตน สมควรที่จะได้รับบริการตรวจเช็คได้ฟรีปีละ 1 ครั้ง จะใช้สิทธิ์หรือไม่ก็ได้แต่ต้องให้ฟรีปีละ 1 ครั้ง ซึ่งทุกวันนี้เราจะได้รับสเตทเมนท์จากธนาคารในเดือน ม.ค.-ก.พ. ซึ่งถือเป็นการดูเป็นรายบัญชีแต่ไม่ได้เป็นการดูรวมทุกบัญชี และนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะรูปแบบของแต่ละธนาคารต่างกัน
          "ดังนั้นจึงเห็นว่าทำไมไม่ยกเลิกแบบนี้ และให้สิทธิ์ไปเลยว่าใน 1 ปี ทุกๆ คนสามารถตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนได้ฟรี 1 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาในแต่ละปีค่าใช้จ่ายตรงนี้ของทุกธนาคารที่ต้องดำเนินการอยู่ในระดับหลายร้อยล้านบาท ผมเลยต้องการที่จะผลักดันระบบให้ประชาขนสามารถตรวจเช็คได้ฟรี 1 ปีมาใช้ และจากนั้นบริษัทข้อมูลเครดิตฯ ก็ไปดำเนินการคิดเงินกับธนาคารสมาชิกเอง โดยอาจจะสร้างสูตรในการคำนวณค่าใช้จ่ายที่จะเรียกกับจากธนาคารขึ้นมา เงินส่วนที่เหลือที่ธนาคารเคยเสียไป ก็ขอให้เอาไปทำในเรื่องของการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการศึกษามากกว่า ซึ่งจะถือว่ามีประโยชน์มากกว่า แทนที่จะให้กลายเป็นเพียงแค่จดหมายขยะเท่านั้น" นายสุรพล กล่าว
          ทั้งนี้ ที่ผ่านมากฎหมายกำหนดว่าใน 1 ปี ธนาคารต่างๆ จะต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบว่า ธนาคารต่างๆ ส่งข้อมูลอะไรไปให้บริษัทเครดิตบูโรบ้าง ดังนั้น เราจึงบอกว่าถ้าบางทีประชาชนต้องการจะรู้ ก็น่าที่จะเปิดสิทธิ์ให้ไปเลย ซึ่งหากจะมีการผลักดันตรงนี้ก็จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายก่อน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรก็ตามที่ให้เจ้าของข้อมูลรู้สึกว่าข้อมูลดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้ง่าย และสะดวก ซึ่งหากมีปริมาณที่มากขึ้นก็จะทำให้ราคาลดต่ำลง ทั้งนี้ จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าในปี 50 มีผู้มาขอตรวจสอบข้อมูลเครดิต 4 พันรายการต่อเดือน แต่ขณะนี้ 2.5 หมื่นรายต่อเดือนแล้ว
          "ที่ผ่านมาคนมาขอตรวจเช็คข้อมูลเครดิตน้อย เพราะคนมักจะรู้สึกว่าต้องมีปัญหาก่อนถึงจะเข้ามาขอดูข้อมูล แต่ความเป็นจริงนั้นเราควรที่จะตรวจเช็คข้อมูลบ่อยๆ เพราะเราจะไปรู้ได้อย่างไรว่า อยู่ๆ วันหนึ่งอาจมีบัญชีเพิ่มขึ้นมาในชื่อของเราก็ได้ ตอนนี้ผมอยากจะคิดด้วยว่า ถ้าไม่อยากได้บัญชีที่เต็มรูปแบบ ก็ให้ทำบัญชีที่สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน กล่าวคือ ทุกครั้งที่มีบัญชีใหม่เกิดขึ้นในประวัติของบุคคลคนหนึ่งในเดือนใดก็ตาม ก็ให้มีการส่งข้อความอัตโนมัติเพื่อเตือนให้เจ้าของชื่อบัญชีนั้นรับรู้ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง ว่าไม่ได้ไปอนุมัติสินเชื่อที่ไหน ทำไมถึงมีบัญชีใหม่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นมาตรการในการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค โดยมองว่าการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีที่สุดคือ ต้องทำให้ผู้บริโภคนั้นรู้รับได้ด้วยตนว่าสิ่งเหล่านี้มันมีความสำคัญ ซึ่งก็จะทยอยออกมาตรการต่างๆ" นายสุรพล กล่าว
          ผุดเครดิตสกอริ่ง
          นายสุรพล กล่าวว่า บริษัทได้เร่งพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก ด้วยการจัดทำเครดิตสกอริ่ง หรือคะแนนเครดิต ซึ่งเป็นข้อกำหนดว่าจะต้องดำเนินการตามแผนแม่บทพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ฉบับที่ 2 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อประเมินความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อ และทำให้สถาบันการเงินมีข้อมูลในเชิงลึกขึ้น เพื่อใช้ในการอนุมัติสินเชื่อจะทำให้รู้ถึงสถานะที่แท้จริงของผู้กู้นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำข้อมูลจากสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศมาทำการทดสอบว่าแม่นยำหรือไม่ หลังจากนั้นจะยื่นเรื่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณา โดยปัจจุบันระบบคะแนนเครดิตนี้เสร็จแล้วตั้งแต่เดือน พ.ย.53 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ 3 เดือน คือช่วงเดือน ธ.ค.53-ก.พ.54 โดยทางเครดิตบูโรตั้งเป้าว่าจะนำระบบคะแนนเครดิตมาใช้ให้ได้ในช่วงหลังสงกรานต์เดือน เม.ย. หรืออย่างช้าสุดก็เดือน พ.ค.54
          ทั้งนี้ เครดิตสกอริ่งถือเป็นเครื่องมือวัดพฤติกรรมและความตั้งใจการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยวัดว่าคนที่มาขอสินเชื่อนี้มีพฤติกรรมและประวัติการก่อหนี้ การชำระหนี้ที่ผ่านมาตามที่ปรากฏในข้อมูลที่มีอยู่จนถึงปัจจุบันนั้น
เมื่อใช้เทคนิคทางสถิติมาคำนวณแล้วในจำนวน 1 หมื่นรายมีโอกาสที่จะชำระหนี้ได้ตรงตามกำหนดกี่ราย จะมีโอกาสที่จะผิดนัดเกิน 90 วันกี่ราย ทั้งนี้ จะเป็นการประเมินในอนาคต 12 เดือนข้างหน้า
          ขณะที่ผู้ที่มาขอตรวจเครดิตบูโรก็จะรู้ว่าตัวเองมีคะแนนเท่าใด ถ้าคะแนนสูงก็มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระน้อยเมื่อเทียบกันใน 1 หมื่นคนแล้ว ก็จะสามารถต่อรองได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง เพราะตนมีประวัติที่ดีสะท้อน ถึงวินัยทางการเงินที่ดี เหมือนกับในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แต่ถ้าได้คะแนนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดแสดงว่าการผิดนัดชำระหนี้มากจะมีผลต่อการขอสินเชื่อในครั้งต่อไป ทั้งนี้คะแนนที่ได้รับมีตั้งแต่ระดับสูงสุด คือ เอเอ จนถึงแย่สุดคือเอชเอช นอกจากนี้จะมีการระบุเหตุผลด้วยว่าคะแนนที่ได้รับการประเมินครั้งนี้เป็นผลมาจากอะไร
          ทั้งนี้ ก็จะส่งผลทำให้สถาบันการเงินหันมาให้ความสำคัญกับคนที่มีวินัยทางการเงิน เพราะมีเครื่องมือแยกแยะได้ดีมากขึ้น การคิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามความเสี่ยงก็จะเกิดขึ้นสอดคล้องกับทิศทางสากล
          "เรามีการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก เช่น คะแนนเครดิต เพื่อให้ประเมินความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อมีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะของ behavior score ใช้วัดพฤติกรรมหรือความตั้งใจในการชำระหนี้ควบคู่ไปกับ application score ที่ใช้วัดความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า และเมื่อวัดคะแนนออกมาแล้วพบว่าได้คะแนนสูง คาดว่าน่าจะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้น้อย ก็สามารถต่อรองเพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง เนื่องจากมีประวัติสะท้อนวินัยทางการเงินที่ดี โดยจะเริ่มใช้ในช่วงหลังสงกรานต์ปีนี้" นายสุรพล กล่าว
          ค้างน้ำ-ไฟใส่บูโร
          นายสุรพล กล่าวว่า ในปัจจุบันแนวโน้มในการใช้ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน (Non Financial data) มาประกอบกับข้อมูลที่จัดเก็บอยู่เดิมของเครดิตบูโรในหลายประเทศมีหลายประเภทมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในข้อมูลที่สะท้อนวินัยทางการเงินของบุคคลก็คือการชำระค่าสาธารณูปโภค หากการจ่ายชำระเงินในส่วนนี้ตรงตามเวลาในจำนวนที่ครบถ้วนก็จะสะท้อนความรับผิดชอบของบุคคลคนนั้นได้อย่างชัดเจนขึ้น เรื่องนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะเหมาะกับประเทศไทยหรือไม่ สำหรับความเป็นไปได้ในการจัดเก็บข้อมูลสาธารณูปโภคในประเทศไทยจะดำเนินการให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น ยังต้องมีกระบวนการและข้อพิจารณาอยู่มากพอควร ในขณะนี้เครดิตบูโรมีโครงการศึกษาและระดมความเห็นในเบื้องต้น
          ทั้งนี้ การเก็บประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคนั้น หากจะมองให้เป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปในแง่ของประชาชนรายย่อยที่ไม่เคยมี สเตทเมนท์ (Statement) หรือยังไม่เคยมีประวัติการชำระสินเชื่อกับสถาบันการเงินใดๆ เมื่อไปขอสินเชื่อสถาบันการเงินก็จะไม่มีข้อมูลอะไรให้เห็นเลย อาจทำให้ไม่ได้รับการอนุมัติข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภค ตัวนี้จะเป็นตัวพิสูจน์ตนเองและสะท้อนวินัยทางการเงินให้สถาบันการเงินได้เห็น และใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสินเชื่อรายย่อยที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงินให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนรายย่อยได้เข้าถึงระบบสถาบันการเงิน ด้วยการใช้ข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคที่จะสามารถสะท้อนวินัยในการชำระเงิน




 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2554 15:47:35 น.
Counter : 469 Pageviews.  

=> ญี่ปุ่น สังคมที่กลืนกินตัวเอง

ญี่ปุ่น สังคมที่กลืนกินตัวเอง


ภาพเหตุการณ์เมื่อเดือนมกราคม ปี 2009 เมื่อบรรดานักธุรกิจชายหญิงในโตเกียวร่วมชุมนุมสวดอ้อนวอนให้วันเวลาแห่งความรุ่งโรจน์กลับมาอีกครั้ง


ในแวดวงวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้น
บ่อยครั้งตามพลังพลวัตทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยหยุดนิ่งทั่วโลก ในยามที่ประเทศครึ่งหนึ่งของโลกเกิดปัญหาเศรษฐกิจระดับวิกฤต ศัพท์คำหนึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาครั้งแล้วครั้งเล่า พยายามศึกษาทำความเข้าใจ ไม่ใช่ด้วยความคาดหวัง ไม่ใช่ด้วยอารมณ์คึกคัก ทะเยอทะยาน แต่เปี่ยมด้วยความหวั่นกลัว หวาดผวาว่าสภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับสังคมของตนเอง


"แจแปนิฟิเคชั่น-Japanification" เป็นอย่างญี่ปุ่น? ฟังดูเรียบง่าย ไม่มีพิษภัย ทำไมต้องหลีกหนี ทำไมต้องไม่เป็นอย่างที่ญี่ปุ่นกำลังเป็นอยู่ในเวลานี้?


ญี่ปุ่น คือตัวอย่างของประเทศหนึ่งซึ่งเกิดการพลิกผันของชะตากรรมเชิงเศรษฐกิจอย่าง รุนแรง และยาวนานชนิดที่น้อยประเทศนักจะพบพานในประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย ครั้งหนึ่ง ญี่ปุ่น คือ ตัวอย่างของ "ความสำเร็จแห่งเอเชีย" ผู้คนจากดินแดนแห่งอาทิตย์ยามอุทัยแห่งนี้มีวิถี และรูปแบบของการใช้ชีวิต เป็นที่อิจฉา ริษยาของผู้คนทั่วโลก


ทศวรรษ 1980 คือทศวรรษที่ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติแรกจากเอเชียที่มีศักยภาพเกินพอต่อการท้าทายการครอบงำทั้งโลกที่อยู่ในกำมือของชาติตะวันตกมายาวนาน


แม้กระทั่ง ในปี 1991 นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังพากันคาดการณ์ว่า ภายในทศวรรษแรกของศตวรรษใหม่ นั่นคือในปี 2010 ญี่ปุ่นจะผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกแทนที่สหรัฐอเมริกา นักธุรกิจญี่ปุ่นยืดอกอย่างทะนงรับรู้นิยามที่ผู้คนในแวดวงเดียวกันจากทั่วโลกพาดพิงถึงว่า ยะโส โอหัง


คำว่า "สัตว์เศรษฐกิจ" ไม่เพียงปรากฏอย่างดกดื่นแฝงนัยประชดประเทียดเท่านั้น ยังซุกงำความยกย่อง ชมเชย และประหลาดใจไว้ในตัวอีกด้วย


ในความเป็นจริง ญี่ปุ่นในปีนี้ ไม่เพียงมีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงอย่างยิ่งกับเมื่อ 10 หรือ 20 ปีก่อนเท่านั้น สัตว์เศรษฐกิจตัวนี้ยังสูญเสียจิตวิญญาณของตัวเองไปโดยสมบูรณ์แบบอีกด้วย


ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นในปี 2010 มีมูลค่า ณ อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันอยู่ที่ 5.7 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่จีดีพีของสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงเวลาเดียวกันเป็น 14.7 ล้านล้านดอลลาร์


เดือนสิงหาคมปีนี้ ญี่ปุ่นไม่เพียงหยุดนิ่งอยู่กับที่ ยังถูกจีนแซงหน้าขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 แทน


สังคมญี่ปุ่นเต็มไปด้วยปัญหาการเมือง ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ตกอยู่ในสภาวะ "อัมพาต" ในห้วงเวลาดังกล่าวนี้ ญี่ปุ่นมีนายกรัฐมนตรีรวมทั้งสิ้น 14 คน ไม่มีผู้ใดสามารถแม้เพียงแค่ "จุดประกาย" ให้ความหวัง และแรงบันดาลใจกับสังคมญี่ปุ่นได้


บริษัทธุรกิจในญี่ปุ่นเรื่อยไปจนถึงปัจเจกบุคคล สูญเสียคิดเป็นมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์ในตลาดหุ้น ที่ตอนนี้มีมูลค่ารวมเหลือเพียงแค่ 1 ใน 4 ของที่เคยมีเมื่อปี 1989


ราคาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเคยเบ่งบานสุดขีด ชนิดที่มีการตีมูลค่าพระราชวังอิมพีเรียลไว้สูงถึงขนาดซื้อรัฐแคลิฟอร์เนียได้ทั้งรัฐ หลงเหลือเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ของระดับราคาที่เคยทะยานขึ้นไปสูงสุดเมื่อปี 1974 และในความเป็นจริง ราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่เคยขยับขึ้นอีกเลย นับตั้งแต่ปี 1983 เป็นต้นมา


นาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น


รัฐบาลญี่ปุ่นทำได้เพียงแค่การกระตุ้น กระตุ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจ หว่าน และอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบครั้งแล้วครั้งเล่า อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแทบเป็น 0 เปอร์เซ็นต์มานานปีดีดัก ผลลัพธ์ที่ได้คือ ญี่ปุ่น กลายเป็นประเทศที่มีหนี้ภาครัฐสูงที่สุดในโลก


สูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี!


สังคมเล่า? ประชากรญี่ปุ่นหดตัวลงอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก ระดับ "คนยากจน" เพิ่มขึ้นตามอัตราว่างงาน เช่นเดียวกับอัตราการฆ่าตัวตาย


โดยเฉลี่ยแล้วมีผู้กระทำอัตวินิบาตกรรมในญี่ปุ่นมากกว่า 30,000 คนต่อปี มากถึงขนาดตามเส้นทางรถไฟในกรุงโตเกียว จำเป็นต้องติดไฟสีน้ำเงินนวลตาเอาไว้เรียงรายตลอดแนวราง


โดยหวังว่ามันจะช่วยปลอบประโลม หรือเปลี่ยนการตัดสินใจใครก็ตามที่มาที่นี่เพื่อปลิดชีวิตตัวเอง


สังคมญี่ปุ่นชราลงอย่างรวดเร็ว เป็นสังคมที่ "ชราภาพ" มากที่สุดในโลก ในข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีอีกข้อเท็จจริงซุกงำอยู่อย่างชวนตกตะลึง


"โซเง็น คาโตะ" มีชื่ออยู่ในบันทึกของเทศบาลนครโตเกียวว่าเป็นชายที่มีอายุยืนที่สุดในเขตเมืองหลวงของประเทศแห่งนี้ นับถึงตอนนี้ เขา "ควร" อายุ 111 ปี เจ้าหน้าที่พบเขาอยู่ในสภาพแห้งกรัง มวลเนื้อของร่างกายสูญสลายเหลือเพียงหนังหดแนบแนวกระดูก อยู่บนเตียงนอน มองปราดแรกชวนให้เข้าใจว่าเป็นมัมมี่


บุตรีวัย 81 บอกกับเจ้าหน้าที่ว่า โซเง็น ทะเลาะกับหลานๆ แล้วก็สะบัดหน้าเดินเข้าห้องนอน ไม่ยอมออกมาอีกเลยนับตั้งแต่วันนั้น


นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าหากว่า เหตุการณ์ตามคำบอกเล่าไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน! ลูกๆ หลานๆ ทำอะไรอยู่ในช่วงเวลานานนักหนานั้น?


คำตอบคือ ครอบครัวคาโตะเก็บงำเรื่องทั้งหมดไว้ เพียงเพื่อให้ได้รับบำนาญ และเงินช่วยเหลือพิเศษสำหรับผู้สูงอายุเกิน 100 ปีของทางการได้ต่อไป


นั่นยังไม่ชวนให้ช็อคเท่ากับอีกกรณีของสุภาพสตรีชาวญี่ปุ่นอีกราย เธอ "ควร" มีอายุ 104 ปี ในปีนี้ ถ้าหากเจ้าหน้าที่ไม่ตรวจสอบพบเพียงแค่ "กะโหลก" ของเธอ เก็บไว้เป็นอย่างดีในเป้สะพายหลัง ที่บุตรชายอายุ 64 ปี เป็นเจ้าของ


คำให้การของผู้ลูกสูงวัยก็คือ เมื่อมารดาเสียชีวิต เขาชำระศพอย่างดี จากนั้นชำแหละอย่างระมัดระวังเป็นชิ้นๆ สตัฟฟ์เก็บไว้ในเป้ใบนี้ เหตุผลง่ายๆ สั้นๆ ที่เขาให้กับเจ้าหน้าที่ก็คือ


"ผมไม่มีเงินค่าจัดการศพ"!


เหตุการณ์น่าแตกตื่นทำให้รัฐบาลไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องสั่งตรวจสอบ ส่งเจ้าหน้าที่ไป "พบหน้า" ผู้สูงอายุที่อายุยืนกว่า 100 ปีทุกคนทั่วประเทศ ยิ่งค้น ยิ่งพบ ยิ่งหายิ่งชวนแตกตื่นตกใจ


รวมทั้งหมดทั่วประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นพบว่า มีผู้ที่สูงวัยเกิน 100 ปี มากกว่า 234,000 คนที่อยู่ในทะเบียนผู้สูงวัยพิเศษที่ควรได้รับเงินสนับสนุนพิเศษจากรัฐ ไม่มีตัวตนอยู่จริง หากไม่พบเป็นศพ ก็พบว่าหายตัวไป และควรถูกระบุว่า เสียชีวิตแล้ว เมื่อเนิ่นนานมาแล้ว


คนญี่ปุ่นไม่มีความมั่นใจในอนาคตเศรษฐกิจของประเทศอีกต่อไป


ความเป็นจริงของเหตุการณ์น่าตระหนก แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือ เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนั้น เกิดอะไรขึ้นกับสังคมญี่ปุ่น?


เหตุผลประการแรกที่ทำให้คนตายกลายเป็น "แหล่งรายได้" ของคนเป็น ก็คือ "ไม่รู้" พวกเขาอยู่ห่างกันไกลเกินไปเพราะความ
จำเป็นในการทำมาหาเลี้ยงชีพ จนจำเป็นต้องทิ้งผู้เฒ่าผู้แก่ไว้เพียงลำพังในอีกเมืองหนึ่ง อีกอำเภอหนึ่ง


เหตุผลประการถัดมาก็คือ "หายไป" มีบ้างที่ไร้ร่องรอยให้เสาะหา มีบ้างที่ลูกๆ หลานๆ ไม่ต้องการเสาะหา แต่เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้พวกเขาทั้งหมดไม่รายงานการหายตัวไป หรือการเสียชีวิตของผู้เฒ่าในครอบครัวก็คือ "เงิน"


เงินเพียงไม่กี่พันบาท ที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อคนเป็นมากกว่าจะคำนึงถึงประเพณี และวัฒนธรรมความเหนียวแน่นในครอบครัว และการเคารพผู้อาวุโสอีกต่อไปแล้ว


"ความยากจน" ที่ว่านี้เป็นเพียง "อาการ" หนึ่งที่สะท้อนถึง 2 ทศวรรษแห่งความว่างเปล่าทางเศรษฐกิจ และสังคมของญี่ปุ่น อากิระ เนโมโตะ เจ้าหน้าที่ประจำแผนกดูแลผู้สูงวัยของเขตอาดาชิ ในกรุงโตเกียว สะท้อนอีกอาการหนึ่งออกมา


"ไม่มีใครสนใจเพื่อนบ้านกันอีกต่อไป" เขาบอก ไม่แม้แต่บ้านที่รั้วติดกัน หรืออพาร์ตเมนต์ที่ช่องประตูห่างกันเพียงไม่กี่เมตร


ยิ่งนับวัน คนญี่ปุ่นยิ่งหดตัวเองแคบลง แคบลงเรื่อยๆ เหลือเพียงรัศมีโดยรอบตัวเองไม่กี่ตารางเมตร เริ่มจากผู้สูงอายุ แล้วลุกลามต่อไปยังลูกๆ หลานๆ ทั้งหมดพยายามอยู่ได้ด้วยตัวเอง ใช้จ่ายให้น้อยที่สุด เพื่อดำรงตนให้อยู่ได้นานที่สุด ทำอย่างไร เงินบำเหน็จบำนาญของตัวเอง หรือของผู้เป็นพ่อ-แม่ ที่ได้รับในแต่ละเดือนจึงจะสามารถยังชีพต่อไปได้


"ทุกคนคิดถึงแต่เงิน เงินที่ไม่มากมายเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว" เนโมโตะ บอกอย่างนั้น


มันเริ่มต้นอย่างช้าๆ แต่มั่นคง และแน่วแน่อย่างยิ่ง เริ่มจากซัพพลายเออร์ในอาดาชิ หดหายไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ล้มละลายก็โยกย้ายไปยังจีนพร้อมๆ กับบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ถัดมาร้านรวงในย่านนั้นก็เริ่มปิดตัวลง สุดท้ายแหล่งพบปะของชุมชนคนย่านเดียวกันที่มีอยู่แห่งเดียวก็ร้างราตามไปด้วย


หลังจากนั้น อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นอุตสาหกรรมแล้วอุตสาหกรรมเล่า ยกธงขาวยอมแพ้ให้กับคู่แข่งกระหายชัยชนะ และส่วนแบ่งการตลาดจากเกาหลีและจีน ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีอนาคต คือ สิ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวของผู้คนในญี่ปุ่น


ความเชื่อมั่นทะยานอยาก หดหายไปตามกาลเวลาที่ผ่านไป


เมื่อมาตรฐานการครองชีพลดน้อยถอยลง ประเทศชาติที่เคยมั่งคั่ง และยังมั่งคั่งอยู่ในบางแง่มุมในเวลานี้ ก็เริ่มเสื่อมทรุด ค่านิยมใหม่เริ่มชัดเจนมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว "ความมัธยัสถ์" กลายเป็นเรื่องที่ต้องทำ "ความเสี่ยง" อย่างองอาจ และกล้าหาญ คือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง


คนรุ่นใหม่ เจเนอเรชั่นใหม่ในวัยยี่สิบคิดเห็นเช่นนี้ เพราะในชีวิตของพวกเขาไม่เคยพานพบอหังการของญี่ปุ่น ไม่เคยลิ้มลองความรุ่งโรจน์ของอาทิตย์ยามอุทัย พวกเขารับรู้ และมีประสบการณ์อยู่แต่กับภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ และภาวะเงินฝืด หาได้ยากเย็นอย่างยิ่ง


ไม่แปลกที่พวกเขาปฏิเสธที่จะซื้อรถยนต์หรือโทรทัศน์ ไม่แปลกที่มีน้อยมากที่ตัดสินใจไปศึกษาต่อในต่างแดนชนิดไปตายดาบหน้า
ชาติที่เคยเปี่ยมด้วยพลวัต ท้าทายทุกอุปสรรค กลายเป็นสังคมที่คับแคบ วัฒนธรรมที่คับแคบอย่างน่าสะพรึงกลัว


ภาวะเงินเฟ้อมีอันตรายอยู่ในตัวเอง แต่ภาวะเงินฝืดก็เปี่ยมอันตรายอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน เพราะมันทำให้ปัจเจก และบริษัทธุรกิจไม่อยากจับจ่าย เพราะราคาของทุกอย่างถูกลงจนสิ่งที่เพิ่มค่าขึ้นเรื่อยๆ มีเพียงอย่างเดียวคือ "เงินสด" การถือเงินสดๆ ไว้ในมือคือการลดความเสี่ยงทุกอย่างลงจนหมด


ถ้าภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยาม ผลสะเทือนจะไม่ลึกซึ้งอย่างในญี่ปุ่น ที่ซึ่งภาวะเงินฝืดจำหลักจนกลายเป็นจิตใต้สำนึก โลกที่ชาวญี่ปุ่นเห็นเป็นโลกในแง่ร้ายที่หดหู่ น่าหวาดหวั่น ไร้ความหวังจนกลัวที่จะเสี่ยง เกาะกินสัญชาตญาณดั้งเดิมให้ลังเลที่จะควักกระเป๋า หรือ ลงทุน แต่ยิ่งกลัว ยิ่งผลักดันให้อุปสงค์ในประเทศลดลงมากยิ่งขึ้น และราคาของทุกอย่างยิ่งหดหายไปมากยิ่งขึ้นไปอีก


ฮิซากาซุ มัตสึดะ ประธานสถาบันวิจัยการตลาดบริโภคแห่งญี่ปุ่น (เจซีเอ็มอาร์ไอ) เรียกเจเนอเรชั่นใหม่ในวัย 20 เศษเหล่านี้ว่า "คนยุครังเกียจบริโภค" เขาประเมินเอาไว้ว่า เมื่อคนยุคนี้อายุถึง 60 ปี นิสัยมัธยัสถ์ร่วมสมัยของพวกเขาจะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องสูญเสียมูลค่าการบริโภคไปราว 420,000 ล้านดอลลาร์


"ในโลกนี้ไม่มีเจเนอเรชั่นที่ไหนเหมือนที่นี่อีกแล้ว" มัตสึดะบอก


คนพวกนี้คิดว่าการควักกระเป๋าจ่าย คือ ความโง่เขลาเบาปัญญาไปแล้ว


ในทรรศนะของนักเศรษฐศาสตร์ ญี่ปุ่นคือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า "ทุนนิยม" กลืนกินตัวเองได้อย่างไร และผู้นำทางการเมืองของญี่ปุ่นล้มเหลวคนแล้วคนเล่าได้อย่างไร


"แจแปนิฟิเคชั่น" คือการตกลึกลงไปใน "กับดักภาวะเงินฝืด" ที่เกิดขึ้นเมื่อ อุปสงค์ล่มสลายจากการที่ผู้บริโภคปฏิเสธที่จะใช้จ่าย ส่งผลต่อไปยังบริษัทธุรกิจที่ขยาดกับการลงทุน และบรรดาธนาคารทั้งหลายนั่งอยู่บนกองเงินออมก้อนมหึมา


มันกลายเป็นวัฏจักรของความเลวร้าย ที่อยู่ได้ด้วยตัวเองและกลืนกินตัวเองไปเรื่อยๆ ยิ่งไม่มีการจับจ่าย ยิ่งกดดันให้ราคาข้าวของลดลงมากขึ้น งานหายไปมากขึ้น เงินในกระเป๋าผู้บริโภคยิ่งลดลง และยิ่งมัธยัสถ์มากยิ่งชึ้น ซึ่งยิ่งทำให้ธุรกิจยิ่งตัดทอนรายจ่ายมากยิ่งขึ้น ชะลอแผนขยายตัวออกไปอีกเรื่อยๆ และดูเหมือนยังไม่มีที่สิ้นสุด


ผู้นำญี่ปุ่นผิดพลาดตั้งแต่ปฏิเสธความหนักหนาสาหัสของปัญหาที่ประเทศเผชิญในตอนแรก และยิ่งผิดซ้ำซากด้วยการใช้เวลาเนิ่นนานอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อการสร้างงานผ่านโครงการใหญ่โตของรัฐ ที่ทำได้ก็เพียงแค่เลื่อนระยะเวลาของการ "ปรับโครงสร้าง" เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่เจ็บปวดกว่า ยากเย็นกว่า ออกไปเพียงชั่วครั้งชั่วคราว


จนอาจบางที อาทิตย์อุทัย อาจไม่หลงเหลือให้คาดหวังอีกต่อไปในญี่ปุ่น!




 

Create Date : 11 มกราคม 2554    
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2554 11:53:07 น.
Counter : 727 Pageviews.  

=> โลกผู้สูงวัย

โลกผู้สูงวัย

28 ธันวาคม พ.ศ.2553


ในช่วงปี 2553 ที่กำลังจะผ่านไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า มีการพูดถึงสังคมผู้สูงอายุกันอย่างจริงจังด้วยความเป็นห่วง เกรงว่าลูกหลานที่มีอายุ 15 - 59 ปี ที่อยู่ในวัยศึกษาและวัยแรงงานต้องรับภาระเลี้ยงดูและหากเกินกำลัง อาจทำให้ผู้สูงอายุถูกละเลยหรือถูกทอดทิ้งเพิ่มมาก


ตัวเลขจากสำนักงานสติถิแห่งชาติ สำรวจ 3 ครั้ง ที่ผ่านมา พบประเทศไทยมีจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากปี 2537 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ แค่ร้อยละ 6.8 ของประชากรทั้งประเทศ มาในปี 2545 เพิ่มเป็นร้อยละ 9.4 และสำรวจล่าสุด ปี 2550 พบว่า สูงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.7


หากจะสรุปตามคำนิยามของสหประชาชาติ ที่ว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนเกินร้อยละ 10 หรืออายุเกิน 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์


เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยก็ต้องยอมรับสภาพความเป็นสังคมผู้สูงอายุ ตามคำนิยามนั้นและจะต้องทำความเข้าใจและต้องหาทางดูแลจัดหาสวัสดิการให้ตามสมควร


ปีพ.ศ. 2553 ที่กำลังจะก้าวข้ามไป ประเทศไทยมีตัวเลขผู้สูงอายุขึ้นไปถึง 8,010,946 คน คิดเป็นร้อยละ 11.90 แต่ในอีก 10 ปีจะเพิ่มเป็น 12,272,035 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.51 ของประชากร ซึ่งตัวเลขสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบผู้สูงอายุ 2 ใน 3 มีรายได้หลักจากบุตรคู่สมรส พี่น้อง ญาติ ตามด้วยได้จากการทำงาน เงินบำเหน็จ/บำนาญ เงินออมและทรัพย์สินและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เรียงตามลำดับ


ส่วนภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุมักจะป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ข้อมูลจากกรมการแพทย์ พบเนื้องอกร้ายที่หลอดคอ หลอดลม ปอด และโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ


นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรที่มีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้ารุนแรง หดหู่ต่อเนื่อง เซ็งเศร้า เสียใจ อ้างว้าง เบื่อหน่ายท้อแท้ หมดอาลัย นอนไม่หลับ ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้มากกว่าวัยอื่น


การให้ความรู้ ความเข้าใจผู้สูงวัย จึงเป็นความสำคัญทั้งในและนอกระบบการศึกษาที่ต้องถือเป็นความสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องอื่นเช่นกัน


ที่มา : “โลกผู้สูงวัย.” ใน คอลัมน์ ‘เลาะเลียบคลองผดุงฯ’ โดย ตุลย์ ณ ราชดำเนิน. ข่าวสด 24 ธันวาคม 2553 : 26





 

Create Date : 28 ธันวาคม 2553    
Last Update : 29 ธันวาคม 2553 8:52:46 น.
Counter : 448 Pageviews.  

=> โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

28 ธันวาคม พ.ศ.2553


ปัจจุบันจำนวนประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น โรงพยาบาลกรุงเทพจึงมีข้อควรรู้มาฝากเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่ดีของผู้สูงวัยทุกท่าน ปกติร่างกายคนเราจะเริ่มมีการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป การเสื่อมลงของระบบในร่างกายนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหลายชนิด อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคทางสมอง โรคกระดูกพรุน เป็นต้น นอกจากภาวะทางด้านร่างกายแล้ว ทางด้านจิตใจก็มีผลต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ มักเกิดกับผู้ที่มีโรคเรื้อรังทางกาย ทำให้ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรืออาจเกิดจากการที่ต้องอยู่คนเดียวตามลำพัง


โรคทางสมอง พบมากในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ เครียด ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคสมอง และการเสื่อมของเซลล์สมองส่วนใหญ่จะพบในคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยโรคสมองที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อม และโรคอัมพฤกษ์อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น


โรคเกาต์ มักพบในชายสูงอายุมากกว่าหญิง ทำให้เกิดอาการปวดตามข้อชนิดหนึ่ง เกิดจากมีกรดยูริกสะสมในร่างกายจำนวนมากโดยเฉพาะตามข้อ ซึ่งคนแต่ละวัยมีระดับกรดยูริกในเลือดที่แตกต่างกัน เช่น ผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนจะมีระดับกรดในเลือดสูงกว่าคนในวัยอื่นๆ หรือการกินอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เช่น เนื้อเป็ด เนื้อไก่ เครื่องในสัตว์ ถั่วต่างๆ ก็เป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดกรดยูริกในร่างกายมากเกินไป


โรคเบาหวาน เป็นความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ อันส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกิน ก่อให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปัสสาวะและกระหายน้ำบ่อย ดื่มน้ำในปริมาณมากต่อครั้ง อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดโดยไม่มีสาเหตุ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ตาพร่ามัวหรือตาบอด ไตเสื่อม ชาตามปลายมือปลายเท้าและอาจติดเชื้อได้ง่าย


โรคความดันโลหิตสูง คนปกติจะมีความดันโลหิต 120/80-139/89 มิลลิเมตรปรอท หากมีค่าความดันมากกว่านี้จัดว่าเป็นผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคนี้ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดง แต่บางครั้งจะมีอาการใจสั่น ปวดศีรษะ หน้ามืด ตาพร่า ถ้าไม่รักษาตั้งแต่เบื้องต้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น อัมพฤกษ์ ตาบอด ไตวาย หัวใจวาย เป็นต้น


โรคระบบทางเดินปัสสาวะ ในผู้ชายสูงอายุส่วนใหญ่ที่มีอาการต่อมลูกหมากโต จนกดท่อปัสสาวะทำให้ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะกลางคืน ปัสสาวะออกไม่หมดทำให้เหลือบางส่วนไว้ในกระเพาะปัสสาวะ อันเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ ในผู้หญิงสูงอายุมักจะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาจเกิดจากระบบประสาท สุขภาพจิต กระเพาะหรือทางเดินปัสสาวะผิดปกติ เช่น เกิดอาการอุดตัน การติดเชื้อ หูรูดไม่ดี


โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก พบมากในชายสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สาเหตุมาจากภาวะความไม่สมดุลของระบบฮอร์โมนเพศชาย ทำให้เซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมากมีการเจริญเติบโตมากขึ้น การทานอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นต้น โดยในระยะเริ่มแรกของมะเร็งต่อมลูกหมากมักไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อมะเร็งเริ่มลุกลามมากขึ้นอาจทำให้เกิดอาการปัสสาวะที่ผิดปกติ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเมื่อยตามร่างกายและกระดูก


โรคตา ที่ผู้สูงอายุเป็นกันมากคือ โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก โรคต้อหิน และน้ำวุ้นตาเสื่อม ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุและมีอาการที่แตกต่างกัน แต่สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคตาเกิดจากความเสื่อม เนื่องจากอายุที่มากขึ้นทำให้การมองเห็นลดลง ดังนั้น เมื่อเกิดอาการผิดปกติควรรีบพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้อง


โรคไต ในช่วงแรกมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อไตเริ่มเสื่อมมากขึ้นจะทำหน้าที่ลดลง เกิดการคั่งของของเสียมากขึ้น ความผิดปกติและอาการจะแสดงมากขึ้น เช่น อ่อนเพลีย บวม เบื่อง่าย ความดันโลหิตสูง ถ้าเป็นมากใกล้เป็นไตวายเรื้อรังจะเพิ่มอาการซีด คันตามตัว เบื่ออาหาร อันจะนำไปสู่การล้างไต ฟอกเลือด และเปลี่ยนไตในที่สุด โรคหัวใจขาดเลือด สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคนี้ มาจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ พบมากในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ อ้วนลงพุง ขาดการออกกำลังกาย หรือคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจยิ่งทำให้โอกาสเป็นโรคสูงขึ้น อาการที่สำคัญคือ เจ็บแน่นหน้าอกระหว่างราวนม ลิ้นปี่ คล้ายมีอะไรมากดทับ หายใจไม่สะดวก อาจร้าวไปที่คอ กราม แขนซ้ายด้านใน และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก ตัวเย็น เย็นศีรษะ หน้ามืด เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ ใจสั่น ดังนั้นเมื่อเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด


เคล็ดลับดูแลสุขภาพเบื้องต้นเมื่อก้าวสู่วัยสูงอายุ

- ควบคุมโภชนาการให้เหมาะสมกับร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รสเค็มจัด และอาหารรส หวาน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ดื่มน้ำมากๆ ให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
- ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับมาตรฐาน ไม่ให้อ้วนเกินไป
- ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด พักผ่อนอย่างเพียงพอ
- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย เมื่อเกิดอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม เช่น การซื้อยากินเอง การใช้ยาเก่าเพื่อรักษาอาการใหม่ หรือรับยาจากผู้อื่นมาใช้
- ควรพบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อรับคำปรึกษาในการปฏิบัติตัว และการใช้ยาอย่างถูกต้อง
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ทุก 6-12 เดือน

ที่มา : “โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ.” ไทยโพสต์ 28 ธันวาคม 2553





 

Create Date : 28 ธันวาคม 2553    
Last Update : 29 ธันวาคม 2553 8:57:42 น.
Counter : 427 Pageviews.  

=> ผู้สูงอายุในประเทศไทย :: แนวโน้ม คุณลักษณะ และปัญหา

แนวโน้มทางประชากร


ในช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สภาวการณ์ทางประชากรของประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อัตราการเพิ่มประชากรลดลงจากระดับสูง คือ ประมาณร้อยละ 3.0 ต่อปี ในช่วงปี พ.ศ. 2503 มาสู่ระดับที่ค่อนข้างต่ำ ประมาณร้อยละ 1.1 ต่อปีในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงอัตราการเพิ่มประชากรนี้ เป็นผลจากการเปลี่ยนทั้งในด้านภาวะการตายและภาวะเจริญพันธุ์ หากเริ่มพิจารณาจากภาวะการตาย จะเห็นได้ว่าภาวะการตายมีบทบาทอย่างมาก ต่อการเปลี่ยนแปลงทางประชากรไทยในอดีต การลดระดับการตายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ภาวะเจริญพันธุ์ หรือภาวะการเกิดนั้นยังคงอยู่ในระดับสูง อันเป็นเหตุให้จำนวนประชากรไทยในอดีต เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันอัตราการตายของประชากรของประเทศ ได้ลดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 5-6 ต่อประชากรพันคนต่อปี


การลดลงของภาวะการตายของประชากรไทยเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเอาวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่มาใช้ และการดำเนินงานทางด้านการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการขยายบริการทางการแพทย์ เช่น การเพิ่มจำนวนศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาล ไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ หรือการมีโครงการสาธารณสุขขั้นมูลฐาน และการดำเนินการควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอดีต ก็ส่งผลให้รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายในการป้องกันสุขภาพมีมากขึ้น นอกจากนี้การพัฒนาทางสังคม โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและการส่งเสริมสถานภาพสตรี น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนช่วยลดระดับการตาย โดยเฉพาะการตายของทารกและเด็ก ทั้งนี้น่าจะเนื่องมาจากมารดาที่ได้รับการศึกษาที่ดี ย่อมจะมีโลกทัศน์ที่เปิดกว้าง ยอมเปิดรับวิทยาการสมัยใหม่ รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันรักษาสุขภาพให้กับบุตร


ภาวะเจริญพันธุ์เป็นอีกกระบวนการหนึ่งทางประชากร ที่ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่ออัตราการเพิ่มประชากรของประเทศไทย อัตราเจริญพันธุ์รวมยอด หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีคนหนึ่งจะให้กำเนิดได้ตลอดวัยเจริญพันธุ์ ได้ลดลงจาก 6.3 ในช่วงปี พ.ศ. 2503-2508 จนเหลือประมาณ 2 คนในปัจจุบัน


การที่ระดับเจริญพันธุ์ในกลุ่มสตรีไทยลดลงอย่างมากในช่วงเวลาไม่นานนัก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากนโยบายประชากร ที่เน้นการวางแผนครอบครัวโดยการสมัครใจในกลุ่มคู่สมรสที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2513 ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การวางแผนครอบครัวแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ก็คือ การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพของโครงการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ นอกจากนี้การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคมตลอดจนการมีส่วนร่วมของสตรี ในการพัฒนาด้านต่างๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อการมีบุตร กล่าวคือ จะคำนึงถึง "คุณภาพ" มากกว่า "ปริมาณ"


การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอายุเป็นประชากรสูงวัย


จากการเปลี่ยนแปลงด้านภาวะการเจริญพันธุ์ และภาวะการตายของประชากรดังกล่าว ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางอายุของประชากรไทย กล่าวคือ พบว่าในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาทั้งจำนวนและสัดส่วนของประชากรไทยในวัยเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ลดลง ในขณะที่จำนวนของประชากรในวัยแรงงาน (อายุ 15-29 ปี) ยังคงเพิ่มขึ้น สำหรับประชากรสูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต กล่าวคือ ประชากรสูงอายุจะเพิ่มจากประมาณ 5 ล้านคนในปัจจุบันเป็นประมาณ 10 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า และเป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราเพิ่มของประชากรสูงอายุ จะเร็วกว่าประชากรโดยรวมทั้งหมด ดังจะเห็นได้จาก ระหว่างปี 2523 ถึงปี 2533 ประชากรสูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 47 แต่เมื่อเปรียบเทียบการเพิ่มระหว่างปี 2523 ไปจนถึงปี 2563 จะพบว่าประชากรสูงอายุ จะเพิ่มสูงถึงกว่าร้อยละ 300 (ตารางที่ 1)


สาเหตุของการเพิ่มจำนวนประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะภาวะเจริญพันธุ์ที่เคยสูงในอดีต และภาวะการตายที่ลดลงเป็นลำดับอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังสงครามโรคครั้งที่ 2 ทำให้ประชากรในรุ่นที่เคยเป็นเด็ก ซึ่งเกิดมาเป็นจำนวนมากในอดีต ได้ค่อยๆ ทยอยเข้าสู่วัยแรงงานและวัยสูงอายุในที่สุด


นอกจากนี้ยังพบว่า ในกลุ่มประชากรสูงอายุจะมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มอายุมากๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับเช่นในปี พ.ศ. 2533 มีผู้ที่มีอายุ ตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป เพียงประมาณ 700,000 คน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1,400,000 คน ในราวปี พ.ศ.2553 และคาดว่าจะเพิ่มเป็นกว่า 2 ล้านคนในปีพ.ศ. 2563


เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย จะพบว่าจำนวนผู้สูงอายุที่เป็นเพศหญิง จะมีมากกว่าเพศชาย และเมื่อพิจารณาอัตราส่วนทางเพศของประชากรในประเทศไทยจะพบว่า อัตราส่วนทางเพศเมื่อแรกเกิด จะมีเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง แต่ในกลุ่มสูงอายุกลับพบว่า มีผู้สูงอายุเพศหญิงมากกว่าผู้สูงอายุเพศชาย สะท้อนถึงอัตราการตายที่สูงกว่าของประชากรเพศชาย หากพิจารณาจากความคาดหมายการคงชีพเมื่อแรกเกิด (Life expectancy at birth; co) จะพบว่าประชากรไทยมีความหมายการคงชีพเมื่อแรกเกิด เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยที่เพศหญิงมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวกว่าเพศชาย ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจการเปลี่ยนแปลงประชากร พ.ศ. 2538-2539 แนวโน้มความคาดหมายการคงชีพ ในกลุ่มประชากรที่มีอายุ 60 และ 70 ปี จะพบว่าประชากรที่มีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 60 ปี มีโอกาสที่จะอยู่รอดเพิ่มสูงอีกเป็นลำดับ จากข้อมูลการสำรวจการเปลี่ยนแปลงประชากร พ.ศ. 2528-2529 และ พ.ศ. 2538-2539 แสดงให้เห็นว่า ประชากรเพศชายที่มีอายุ 60 ปี มีจำนวนโดยเฉลี่ยที่จะมีชีวิตอยู่รอดต่อไป เพิ่มประมาณ 4.8 ปี และเพศหญิงเพิ่มประมาณ 5.4 ปี คือเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้สูงอายุเพศหญิงมีโอกาส หรือจำนวนปีโดยเฉลี่ยที่จะมีชีวิตอยู่รอด สูงกว่าผู้สูงอายุเพศชายอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามประเด็นที่ควรสนใจ คือ ความยืนยาวของชีวิตที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นการเพิ่มความยืนยาวที่มีภาวะสุขภาพที่ดีหรือไม่


คุณลักษณะที่น่าสนใจและปัญหาของผู้สูงอายุ


คุณลักษณะของผู้สูงอายุและปัญหาต่างๆ ที่ผู้สูงอายุในปัจจุบันกำลังประสบ เป็นข้อมูลที่สำคัญ ที่สามารถใช้สะท้อนถึงแนวโน้มของปัญหา อันสืบเนื่องมาจากการที่จะมีประชากรผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นในอนาคต ตลอดจนสามารถใช้เป็นแนวทางในการวางนโยบาย และแผนการดำเนินงานที่เหมาะสม เกี่ยวกับผู้สูงอายุต่อไปในอนาคต วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ และได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 10 ปี


ข้อมูลจากโครงการสำรวจระดับประเทศ ที่ทางวิทยาลัยดำเนินการร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2539 คือโครงการสำรวจสภาวะผู้สูงอายุในประเทศไทย พบว่าคุณลักษณะของผู้สูงอายุในปัจจุบัน มีความแตกต่างไปจากผู้สูงอายุในอนาคตในหลายด้าน เช่น ผู้สูงอายุในปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อย ที่มีความสามารถในการอ่านอย่างจำกัด หรืออ่านหนังสือไม่ออก และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้สูงอายุเพศชายกับเพศหญิง จะเห็นถึงความแตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือผู้สูงอายุเพศหญิงมีสัดส่วนของผู้ที่อ่านไม่ออก หรืออ่านหนังสือได้ลำบากสูงกว่าผู้สูงอายุในเพศชาย อย่างไรก็ตามในสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ไม่รู้หนังสือ คงจะลดลง ทั้งนี้ เนื่องจากการขยายการศึกษาภาคบังคับเป็นลำดับ


ความแตกต่างในระดับการศึกษา ระหว่างผู้สูงอายุปัจจุบันและในอนาคตนี้อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุ อาทิเช่น ผู้สูงอายุในอนาคตที่มีการศึกษาดีขึ้น อาจจะชอบหรือเลือกรูปแบบการอยู่อาศัย ที่แตกต่างกันไปจากผู้สูงอายุในปัจจุบัน เช่น อาจจะเลือกที่จะอยู่กันเองตามลำพังมากกว่าจะอาศัยอยู่กับลูกหลาน


นอกจากนี้ผลการวิจัยที่ผ่านมา ยังชี้ให้เห็นว่า ปัญหาสำคัญที่ผู้สูงอายุไทยประสบคือ ปัญหาทางเศรษฐกิจและ สุขภาพ เกือบครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุ มีรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ และ 2 ใน 3 มีสุขภาพอยู่ในระดับปานกลางถึงไม่ดีมาก โรคที่มีการรายงาน ว่าเป็นกันมากในกลุ่มผู้สูงอายุ คือ ปวดหลัง ปวดเอว ไขข้ออักเสบ ความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะ โรคหัวใจ นอกจากนี้ยังพบว่า ภาวะการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุนี้ เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ผู้สูงอายุ ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้


เมื่อพิจารณาถึงสภาวะสุขภาพ ในลักษณะของจำนวนปีที่คาดว่า จะมีสุขภาพดีในผู้สูงอายุไทย (ตารางที่ 2) พบว่า การที่ประชากรไทยมีชีวิตยืนยาวขึ้น มิได้หมายถึงประชากรผู้สูงอายุมีสุขภาพดีขึ้น แต่ดูเหมือนว่าช่วงชีวิตที่ยืนยาวขึ้นนั้น จะเป็นช่วงชีวิตที่มีการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับด้วย ดังจะเห็นได้จากจำนวนปีที่คาดหวังที่จะมีชีวิตอยู่อย่างสุขภาพดี (Healthy life expectancy) ลดลงเป็นลำดับ ตามอายุของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทั้งในประชากรเพศชาย และเพศหญิง และเมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนร้อยของอายุคาดหวัง ที่มีสุขภาพดีต่อความคาดหมายการคงชีพ จะพบว่า ในแต่ละอายุกว่าครึ่งหนึ่งเล็กน้อย ของจำนวนปีที่คาดหวังมีชีวิต จะเป็นปีที่มีชีวิตอยู่อย่างสุขภาพดี และอัตราส่วนจะลดลงเป็นลำดับ ตามอายุที่เพิ่มสูงขึ้น


นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีโอกาสมีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ชาย แต่มิได้หมายความว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เพราะจากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่า อัตราส่วนของจำนวนปีที่คาดหวังที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพด ีต่อจำนวนปีที่คาดหวังจะมีชีวิต และอัตราส่วนร้อยที่ผู้สูงอายุของเพศหญิง จะต่ำกว่าเพศชายอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงวัยสูงอายุตอนปลาย


ประเด็นหนึ่ง ที่มักจะมีการพูดถึงกันบ่อยด้วยความห่วงใย คือ เรื่องของการที่ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง อย่างไรก็ตามผลการวิจัยที่ผ่านมากลับพบว่า ประเทศไทยยังโชคดี ที่ครอบครัว และเครือญาติยังคงเป็นสถาบันหลัก ในการดูแลผู้สูงอายุ ในปัจจุบันประมาณร้อยละ 72 ของผู้สูงอายุที่มีบุตร อาศัยอยู่กับบุตรแต่มีเพียงร้อยละ 2 ของผู้สูงอายุที่มีบุตรแต่อยู่คนเดียว อย่างไรก็ตามพบว่า ผู้สูงอายุเหล่านี้ ยังได้รับการเยี่ยมเยียนจากบุตร


ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรซึ่งมีอยู่น้อยมาก เพียงประมาณร้อยละ 4 ของผู้สูงอายุทั้งหมด ส่วนใหญ่ก็อยู่กับญาติพี่น้อง มีเพียงร้อยละ 18 ที่อยู่ลำพังคนเดียว แต่ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ เกือบครึ่งหนึ่งก็พบปะกับญาติพี่น้องทุกวัน


โดยสรุปภาพจากงานวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุไทยปัจจุบันมีไม่มากนักที่ถูกทอดทิ้งจากครอบครัว หรือญาติพี่น้อง สถาบันครอบครัวยังคงเป็นสถาบันหลัก ในการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรชะล่าใจภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถของครอบครัว ในการเกื้อหนุนผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าห่วงใย ทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชากรที่มีอายุยืนยาวขึ้น มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นภาระของบุตรหลาน ช่วยเหลือตนเองได้ทั้งทางสังคม และเศรษฐกิจ ในส่วนนี้กระทรวงสาธารณสุข คงมีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งเสริม และดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ สำหรับคนที่เข้าใกล้วัยสูงอายุนั้น ควรรณรงค์ให้มีการเตรียมตัวก่อนเป็นผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ การเตรียมการนี้ควรส่งเสริม ทั้งในด้านการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เช่น การออกกำลังกาย การกินอยู่ การตรวจสุขภาพ การเตรียมการด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนที่อยู่อาศัย ส่วนในกลุ่มวันสูงอายุนั้น ควรมีมาตรการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หรือลดโอกาสที่จะเกิดการเจ็บป่วยให้น้อยที่สุด


ตารางที่ 1 การคาดประมาณแนวโน้มของประชากรสูงอายุในประเทศไทย โดยมาตรวัดต่างๆ ทางประชากรศาสตร์. พ.ศ. 2513-2593 มาตรวัด251325232533254325532563257325832593


1) จำนวนประชากร (พันคน) รวม35,74546,71855,558060,49564,56867,79870,73572,67872,969
60+1,1752,5273,7195,2456,95510,20714,89718,86120,489
65+1,10771,6492,4133,5014,7586,75510,22014,02315,860
70+6169221,4772,1423,0974,1416,4829,51211,637
75+3134848031,1491,7292,3673,6005,5327,475


2) แนวโน้มการเพิ่มประชากรจาก ปี 2523 (ร้อยละ)
รวม--19.029.538.245.151.455.656.2 มาตรวัด251325232533254325532563257325832593
60+--47.2107.6175.2303.9489.5646.4710.8
75+--65.9137.4257.2389.0643.81403.01444.4


3) สัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยสูงอายุ 1546.240.031.825.221.620.119.018.718.6
60+4.85.46.78.710.815.121.126.028.1
65+3.03.54.35.87.410.014.419.321.7


4) อัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุ
รวม9.89.910.913.115.923.235.146.952.7
ชาย9.04.54.95.87.110.415.921.323.8
หญิง10.65.46.07.38.912.919.225.728.8


5) อัตราส่วนพึ่งพิงรวม 104.183.262.751.147.954.266.880.887.5
ที่มา : Napaporn Chayovan 1998. Calculated from data provided in United Nations (1996) World Population Prospects, the 1996 Revision, p. 794 and The Sex and Age Distribution of the World Populations, the 1996 Revision, p. 788.789.


ตารางที่ 2 ความยืนยาวของชีวิต ในทวีปเอเชีย

Figures are the life expectancy of people born in these years.
Source U.S. Bureau of Census/International Data Base


1. โครงสร้างประชากร

1.1 แนวโน้มปิรามิดประชากรในอนาคต


จากโครงการของประชากรในแต่ละช่วง 10 ปี เห็นได้ว่าประชากรในวัยเด็กมีสัดส่วนลดลง แต่ประชากรผู้สูงอายุนั้นมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


2. ผู้สูงอายุกับการเป็นภาระ

2.1 อัตราการเป็นภาระ


อัตราการเป็นภาระโดยรวมนั้นภาคใต้มีสัดส่วนสูงสุด รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคกลาง ส่วนกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนการเป็นภาระน้อยที่สุด นอกเขตเทศบาลมีสัดส่วนการเป็นภาระมากกว่าในเขตเทศบาล นอกจากนี้การเป็นภาระในวัยเด็กของภาคใต้มีสัดส่วนสูงที่สุด แต่การเป็นภาระในวัยชราภาคเหนือมีสัดส่วนสูงที่สุด


2.2 แนวโน้มอัตราการเป็นภาระ


อัตราการเป็นภาระโดยรวมในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2533-2553 และค่อยๆ เพิ่มขึ้นหลังจากปี 2553-2563 เนื่องจากอัตราเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็วจนถึงระดับทดแทนและอายุขัยเฉลี่ยของประชากรที่สูงขึ้นมีผลทำให้กลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทั้งสัดส่วนและจำนวน ดังนั้นอัตราการเป็นภาระในวัยเด็กจึงลดลง ในขณะที่การเป็นภาระในวัยชรามีอัตราเพิ่มขึ้น


3. ความยืนยาวของชีวิต อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดและเมื่ออายุ 60 ปี


รูปกราฟ


อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดทั้งเพศหญิงและชายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (จากปี 2517-19 ถึงปี 2528-29) แต่หลังจากปี 2528-29 เป็นต้นไปมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนอายุขัยเฉลี่ยเมื่ออายุ 60 ปี ลดลงเล็กน้อยจากปี 2517-19 ถึงปี 2528-29 หลังจากนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยทั้งสองเพศ และอายุขัยเฉลี่ยของเพศหญิงสูงกว่าชาย


รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ รูฟโฟโล วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

* เอกสารประกอบการอภิปราย เรื่อง "การส่งเสริมสุขภาพกับปีสากลว่าด้วยผู้สูงอายุปี 2542"


//hp.anamai.moph.go.th/soongwai/statics/about/soongwai/topic004.php




 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 13 ธันวาคม 2553 8:00:01 น.
Counter : 717 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  

amaridar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add amaridar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.