บอกแล้วไม่ฟัง
Group Blog
 
All blogs
 
=> เคล็ด (ไม่) ลับบริหารเงินหลังเกษียณ! ใช้จ่ายอย่างไร? สุขใจบั้นปลาย

เคล็ด (ไม่) ลับบริหารเงินหลังเกษียณ! ใช้จ่ายอย่างไร? สุขใจบั้นปลาย
ทีมวาไรตี้


เข้าสู่ปลายเดือนกันยายนทีไร จะมีอีกหลายชีวิตก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเกษียณอายุ หลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆอย่างในชีวิตกำลังจะเปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพการดำเนินชีวิต และที่จะลืมกล่าวถึงไม่ได้ คือเรื่องของสถานะทางการเงิน!!


แล้วจะวางแผนการใช้จ่ายอย่างไรให้สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีความสุข...มีเงินพอเลี้ยงชีวิตไปจนถึงสิ้นอายุขัย??


พจณี คงคาลัยเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายบริหารความสัมพันธ์และการขายสายงานลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงเทพ เผยถึงวิธีการใช้จ่ายเงินหลังชีวิตเกษียณให้ฟังว่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากถ้ามีการวางแผนและเก็บออมเงินไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังทำงานอยู่


เมื่อชีวิตเกษียณเดินทางมาถึง...การบริหารเงินที่ได้มาจากการเกษียณในรูปแบบของเงินบำนาญซึ่งเป็นเงินที่ได้รับจำนวนเท่า ๆ กันทุกเดือนไปจนกว่าจะเสียชีวิต ทำได้โดยจัดแบ่งเงินที่มีอยู่เป็น 2 ส่วนในส่วนแรกเป็น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆซึ่งจะเป็นส่วนของ การดำรงชีวิตประจำวัน คำนวณดูว่าเดือนหนึ่งจะใช้เท่าไร


อีกส่วนหนึ่งเป็น เงินออมโดยการออมนี้ มีทั้งการออมในระยะสั้น โดยส่วนหนึ่งแบ่งมาออมในรูปของ บัญชีออมทรัพย์ซึ่งอาจจะเป็นฝากประจำระยะสั้น 3 เดือน หรือ6 เดือน แต่ไม่ควรเกิน 1 ปีหากมีความรู้ในเรื่องกองทุนก็สามารถแบ่งเงินอีกส่วนหนึ่งมาลงทุนในกองทุนจำพวกพันธบัตร หรือกองทุนตราสารหนี้ ที่ไม่มีความเสี่ยงมากเท่าไรนักได้อีกด้วย


"การลงทุนในรูปแบบของกองทุนนั้น สามารถซื้อขายได้ทุกวัน ซึ่งจะดีในแง่ของอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจะสูงกว่าการฝากเงินแบบออมทรัพย์ปกติ แต่ผู้เกษียณจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการลงทุนเหล่านี้ด้วย"




เมื่อผ่านไประยะหนึ่งเงินที่ฝากไว้หรือเงินที่นำไปลงทุนในรูปแบบของกองทุนจะมีมากขึ้น ตรงนี้หากมีความรู้ในเรื่องการลงทุนสามารถนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้หรือพันธบัตรรัฐบาลต่อได้ ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่จะต้องมีระยะเวลาไม่ยาวนัก คือ ไม่ควรเกิน 3 ปี ในช่วงของคนหลังเกษียณ


"การลงทุนในรูปแบบนี้จะต้องประเมินตนเองด้วยว่าทำได้หรือไม่ เพราะอาจจะมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ การเจ็บป่วย ต้องดูด้วยว่าประกันที่ทำไว้คุ้มครองหรือไม่ หรือมีสวัสดิการของรัฐรองรับหรือไม่ ถ้ามีรองรับในส่วนนี้ หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นก็ไม่มีสิ่งที่น่ากังวลใจ


แต่ถ้ายังมีความเสี่ยงเช่น มีโรคประจำตัว ซึ่งสวัสดิการของรัฐหรือการคุ้มครองของประกันไม่ครอบคลุมก็ไม่ควรนำเงินไปลงทุนในระยะยาว 3 ปี แต่อาจจะทำได้ในรูปแบบของฝากประจำ3 เดือน 6 เดือน หรืออาจจะเป็นกองทุนรวมที่มีลักษณะสามารถซื้อ-ขายได้ทุกวัน"


สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการใช้เงิน คือต้องมีวินัยในการใช้เงินพอสมควรมีการแบ่งเงินไว้อย่างชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเดือนหนึ่งใช้เท่าไร อีกส่วนหนึ่ง คือเงินเก็บ ก็ต้องเก็บจริง ๆ แต่ก็มีผู้เกษียณหลายคนที่ถูกรบกวนโดยลูกหลาน ญาติหรือเพื่อน จึงต้องมีวิธีการจัดการในเรื่องนี้ให้ดี ชี้แจงให้เข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย


"หากจะต้องให้ก็ต้องให้โดยที่ตนเองไม่เดือดร้อนและต้องให้แบบรู้คุณค่าด้วยโดยการสอนให้รู้จักการออมเงินไปด้วยในตัว ไม่ใช่ว่าให้ไปแล้วเอาไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ซื้อเสื้อผ้า โดยที่ไม่เกิดคุณค่าขึ้นมา แต่อาจจะให้ในรูปแบบของเงินฝาก เปิดบัญชีให้จำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นให้หลานเก็บเงินฝากเองเพื่อสร้างพฤติกรรมในการออมให้กับเด็กต่อไปที่สำคัญจะต้องใจแข็งเข้าไว้ ก่อนที่จะตัดสินใจต้องคิดให้รอบคอบ"


ส่วนเงินหลังเกษียณที่ได้มาในรูปแบบของเงินบำเหน็จเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารกล่าวเพิ่มเติมว่า เงินในส่วนนี้จะได้มาเป็นเงินก้อนแบบครั้งเดียวจบ ซึ่งเงินก้อนนี้ทำให้ผู้เกษียณอายุปวดหัวไปหลายต่อหลายคนแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะจัดสรรปันส่วนกับเงินก้อนนี้อย่างไรดีที่จะทำให้มีใช้ เลี้ยงตนเองไปได้นานจนกว่าจะเสียชีวิต โดยที่ไม่เป็นภาระของลูกหลาน เพราะถ้าให้เลือกได้เกือบทุกคนจะเลือกเงินหลังเกษียณในรูปแบบของเงินบำนาญกันทั้งนั้น


แต่หากไม่มีทางเลือกเมื่อได้เงินบำเหน็จมาแล้ว การจัดการสิ่งแรก คือ ไม่ว่าจะได้เงินมาเท่าไรให้แบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน โดยเงินในส่วนแรก จะเป็น เงินที่นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอาจจะรวมไปถึง ค่ารักษาพยาบาลเล็กน้อย และค่าทำบุญ ทำกุศล ด้วย


โดยเงินก้อนแรกในส่วนนี้ควรจะเก็บไว้ในรูปของบัญชีออมทรัพย์เพื่อจะได้ถอนง่าย ใช้สะดวก มีสภาพคล่องสูง ไม่ควรเก็บเงินสดไว้กับตัวเอง แม้ไม่สะดวกสำหรับผู้สูงอายุในการไปเบิกถอนก็ตามแต่อยากให้เก็บเป็นเงินสดไว้เพียงให้พอที่จะใช้ในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น เช่น ในแต่ละเดือนใช้เท่าไรก็ควรมีเงินสดเท่านั้นหรืออาจจะมากกว่าเล็กน้อย




"ในส่วนที่ 2 จะเป็นเงินในรูปแบบของการออมซึ่งจะเป็นเงินออมฉุกเฉิน เก็บไว้เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลหรือเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยมาก ๆตรงนี้ก็เช่นกันต้องดูด้วยว่ามีประกันครอบคลุมไปถึงเรื่องของสุขภาพหรือไม่ หรือมีสวัสดิการของรัฐเข้ามาช่วยเหลือในส่วนนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม แนะนำให้เก็บไว้เพราะไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น ถ้าต้องผ่าตัดใหญ่ อาจจะต้องใช้เงินก้อนนี้ ถ้าไม่มีเก็บไว้ก็จะต้องลำบากหรือเดือดร้อนลูกหลานได้"


เงินในส่วนนี้จะอยู่ในรูปของเงินฝากประจำ 3 เดือนหรือ 6 เดือน รวมทั้ง จะลงทุนในกองทุนรวมที่สามารถซื้อ-ขายได้ทุกวันก็ได้ ตลอดจน เงินฝากประจำที่สามารถได้รับดอกเบี้ยเป็นรายเดือนเพราะการฝากเงินแบบนี้จะทำให้เหมือนกับมีบำนาญใช้ส่วนหนึ่ง อาจจะน้อยกว่าแต่เงินต้นยังคงอยู่ ตรงนี้เป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับผู้สูงอายุว่าเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นอาจจะไปถอนเงินก้อนใหญ่ออกมาใช้ก่อนกำหนดได้ และในขณะเดียวกันก็ได้รับดอกเบี้ยเป็นรายเดือนด้วย


ถัดมาที่เงินก้อนสุดท้ายถ้าเกษียณจริง ๆ คือ ไม่ได้ทำงานอีกต่อไปแล้ว อาจจะต้องเอาเงินส่วนนี้ไปเพิ่มให้งอกเงยมากขึ้นในส่วนนี้เผื่อไว้สำหรับเงินเฟ้อด้วย โดยผู้สูงอายุบางรายที่มีความรู้ในเรื่องหุ้น หรือเรื่องการลงทุนสามารถทำได้ 2 อย่าง คืออย่างแรก ลงทุนใน กองทุนรวมที่ไม่เกิน 3 ปีซึ่งกองทุนรวมเหล่านี้จะมีผลตอบแทนทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือนโดยจะมีเงินกลับคืนเข้ามาให้ในบัญชี เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ เพราะมีความเสี่ยงน้อยถึงแม้ว่าผลตอบแทนจะไม่หวือหวาเท่าที่ควรก็ตาม


อีกส่วนหนึ่งนำไป เล่นหุ้นแต่การลงทุนในส่วนนี้สำหรับผู้สูงอายุไม่ควรจะลงทุนมากนัก และไม่อยากให้เล่นในลักษณะของการเก็งกำไร และควรเล่นหุ้นที่มีพื้นฐานดี อาจจะเป็นหุ้นธนาคารหุ้นพลังงาน ซึ่งเป็นหุ้นที่จ่ายแบบปันผล ซึ่งจะได้รับเงินปันผลเป็นระยะ ๆ ถึงแม้จะขายทิ้ง ราคาก็ไม่ได้ต่างจากตอนที่ซื้อมามากนัก


บางคนเมื่อเกษียณแล้วต้องการท่องเที่ยวเป็นหลักก็ควรมีส่วนที่ 4 โดยจะต้องจัดวางแผนไว้ว่าใน 1 ปี จะเดินทางไปท่องเที่ยวกี่ครั้ง ในแต่ละครั้งใช้เงินเท่าไร ก็ต้องเก็บเงินก้อนนี้ไว้ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเงินฝาก หรือกองทุนรวมที่หมุนเวียนถอนได้ทุกวัน


โดยภาพรวมแล้ว การบริหารเงินหลังเกษียณ 30 เปอร์เซ็นต์ ควรอยู่ในรูปของเงินสด ที่มีสภาพคล่องสูงส่วน 35 เปอร์เซ็นต์ ควรอยู่ในรูปของเงินฝาก ซึ่งเป็นเงินออมที่สามารถถอนเมื่อไรก็ได้ส่วนอีก 40-45 เปอร์เซ็นต์อาจจะอยู่ในรูปของกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมต่าง ๆ ส่วนใครที่อยากเล่นหุ้นก็ให้ใช้ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อย่ามากเกินไปกว่านี้ เพราะมีความเสี่ยงสูง


"เรื่องการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การซื้อที่ดินการซื้อทอง ไม่แนะนำเพราะเมื่อซื้อแล้วจะเป็นภาระที่จะต้องนำมาเก็บรักษา เมื่อถึงเวลาต้องรีบขายเพราะราคาขึ้น ขายไม่ได้ก็ปวดหัว เครียดอายุมากขึ้นไม่ควรจะต้องมานั่งคิดอะไรมากแล้ว รวมทั้งอันตราย เมื่อนำทอง นำที่ดินมาเก็บไว้ที่บ้าน อาจโดนปล้นหรือลูกหลานมาขอ ทำให้ลำบากในการตัดสินใจ อีกทั้งทรัพย์สินเหล่านี้เมื่อเสียชีวิตก็เอาไปไม่ได้ ฉะนั้น อะไรที่เป็นทรัพย์สินที่จับต้องได้ควรพยายามหลีกเลี่ยง ควรเก็บเป็นเงินไว้จะดีกว่า เมื่อยามเดือดร้อนเจ็บป่วยสามารถนำออกมาใช้ได้ทันที"

ในส่วนของคนที่มีหนี้สินหลังเกษียณ ควรจะนำเงินที่ได้จากการเกษียณมาจ่ายชำระให้หมดเสียก่อนหากไม่ใช่เงินจำนวนมากนัก แต่ถ้าเป็นเงินจำนวนมากก็ค่อย ๆ ทยอยจ่าย โดยอาจจะนำเงินในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยที่ได้จากการฝากเงินหรือลงทุนในกองทุนรวม รวมทั้งการเล่นหุ้นมาจ่ายชำระเป็นงวด ๆ ไปจนกว่าจะหมด


พจณีกล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ผู้สูงอายุจะต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก หากสามารถบริหารเงินหลังเกษียณได้จะเป็นเรื่องดี จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจหากลูกหลานไม่ดูแลเมื่อมีเงินมีทองแล้ววาจาจะศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่ใช่ไม่ให้เลยต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปอย่าให้โดยที่เขาไม่รู้คุณค่าของเงินนั้นเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นก็จะต้องให้กันอีกเรื่อย ๆ


หากทำได้เช่นนั้น ชีวิตหลังเกษียณ จะเป็นไปอย่างราบรื่น มีความสุข สมวัยเพราะได้เตรียมการไว้แล้วนั่นเอง.


"สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือต้องมีวินัยในการใช้เงินพอสมควร มีการแบ่งเงินไว้อย่างชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเดือนหนึ่งใช้เท่าไร อีกส่วนหนึ่ง คือเงินเก็บก็ต้องเก็บจริง ๆ "


ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์




Create Date : 28 กันยายน 2553
Last Update : 29 กันยายน 2553 8:56:26 น. 0 comments
Counter : 1773 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

amaridar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add amaridar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.