บอกแล้วไม่ฟัง
Group Blog
 
All blogs
 
=> หลักประกันทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ ตอนที่ 2

หลักประกันทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ ตอนที่ 2


รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ


จากสัปดาห์ที่แล้วที่ได้เรียนเชิญ รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา (อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์จและรองคณบดี วิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง แหล่งรายได้เพื่อการออมเงินสำหรับผู้สูงอายุ และในสัปดาห์นี้ท่านมีข้อมูลเรื่อง "บำนาญ" หลักประกันทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ มานำเสนอต่อค่ะ


"บำนาญ" จัดเป็นหลักประกันทางการเงินที่สำคัญแหล่งหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุ ในช่วงที่ผ่านมาสังคมไทยมีการพูดถึงความจำเป็นของบำนาญกันอย่างหนาหู ไม่ว่าจะเป็นในด้านของความเพียงพอหรือความครอบคลุม เบี้ยยังชีพที่ปัจจุบันได้ถูกประกาศให้เป็นสิทธิของผู้สูงอายุทุกคนแล้วยกเว้นข้าราชการบำนาญและผู้สูงอายุที่ทำงานรับเงินเดือนประจำจากรัฐบาลก็จัดว่าเป็น "เงินบำนาญขั้นพื้นฐาน" แหล่งที่มาของงบประมาณสำหรับเบี้ยยังชีพก็คือภาษีอากรของประชาชนทั่วประเทศ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีระบบบำนาญอื่นๆ อีก ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านก่อนว่า ในปัจจุบันภาพรวมของระบบบำนาญ (โดยภาครัฐ) ของประเทศไทยมีหน้าตาเป็นอย่างไร


หากแบ่งประชากรวัยทำงานเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

ข้าราชการ ลูกจ้างในสถานประกอบการเอกชน และประชากรกลุ่มที่เหลือ จะทำให้เข้าใจภาพของระบบบำนาญในปัจจุบันได้ง่ายขึ้นดังนี้


กลุ่มแรก ข้าราชการมีหลักประกัน 2 ส่วน ได้แก่เงินบำนาญและเงินที่ได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แหล่งที่มาของเงินส่วนแรกมาจากภาษีอากรของประชาชน ส่วนที่สองเป็นระบบบังคับเกิดจากการสะสมเงินของเจ้าตัวร่วมกับการสมทบร่วมของรัฐบาลในฐานะนายจ้าง


กลุ่มที่สอง ลูกจ้างในสถานประกอบการเอกชน มีหลักประกัน 2 ส่วน ส่วนแรกคือ เบี้ยยังชีพ และส่วนที่สอง คือสิทธิประโยชน์ชราภาพ (บำนาญหรือบำเหน็จ) จากกองทุนประกันสังคม คนกลุ่มนี้ถูกบังคับให้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนตามกฎหมายและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน สิทธิการได้รับเงินบำนาญและระดับของเงินบำนาญขึ้นกับรายได้ก่อนเกษียณอายุและระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเป็นสำคัญ ที่ต้องเน้นย้ำคือแหล่งที่มาของหลักประกันที่คนกลุ่มนี้ได้รับมีองค์ประกอบจากทั้งภาษีอากรและการมีส่วนร่วมจ่ายของเจ้าตัวเองด้วยเหมือนกับกลุ่มข้าราชการ


กลุ่มที่สาม ประชากรที่เหลือ ประชากรกลุ่มนี้มีมากถึงสองในสามของจำนวนประชากรวัยทำงานทั้งหมดหรือประมาณ 23 ล้านคน ส่วนใหญ่เรารู้จักกันในนามของ "แรงงานนอกระบบ" เช่น คนขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย เกษตรกร ผู้รับงานไปทำที่บ้านผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น หลักประกันของคนกลุ่มนี้ในปัจจุบันมีเพียงเบี้ยยังชีพเท่านั้น หากสถานการณ์ยังคงเป็นอยู่อย่างในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าเมื่อเข้าสู่บั้นปลายของชีวิตประชาชนกลุ่มนี้คงจะไม่รู้สึกมั่นใจหรืออุ่นใจกับหลักประกันเท่าที่มีอยู่เป็นแน่แท้




แนวทางการสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพสำหรับผู้สูงอายุที่ควรเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักประกันที่ทำให้คนที่ยังขาดหลักประกันที่มั่นคงอย่างกลุ่มที่สามได้รู้สึกอุ่นใจ รัฐบาลจะเพิ่มเบี้ยยังชีพให้มากขึ้นโดยใช้เงินภาษีอากรหรือ? ประชาชนกลุ่มนี้จะร่วมมือร่วมใจกันสร้างหลักประกันแบบเดียวกันกับข้าราชการหรือลูกจ้างในสถานประกอบการเอกชนโดยมีรัฐบาลเป็นตัวตั้งตัวตีหรือ?ทางเลือกสองทางนี้นำไปสู่ภาพรวมของระบบบำนาญของประเทศที่แตกต่างกัน การเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพโดยใช้ภาษีอากรนอกจากจะก่อให้เกิดภาระผูกพันทางการเงินการคลังกับรัฐบาลในอนาคตแล้ว ที่สำคัญกว่านั้นคือภาระจะตกอยู่กับประชากรวัยทำงานและจะทวีความหนักหน่วงยิ่งขึ้นเมื่อสังคมไทยประสบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรโดยที่ประชากรเด็กและวัยทำงานมีแนวโน้มลดน้อยลงเรื่อยๆ กระนั้นก็ตาม แม้ว่าประชาชนกลุ่มนี้จะยินดีสร้างหลักประกันด้วยการมีส่วนร่วมจ่ายแบบลงขันกันในลักษณะเดียวกับกองทุนประกันสังคม กล่าวคือหนุ่มสาววัยกลางคนและวัยใกล้เกษียณมาร่วมลงขันกันตามกติกาที่กำหนด ใครที่อายุถึงเกณฑ์ก่อน (แก่ก่อน) ก็มารับเงินบำนาญรายเดือนไปการสร้างหลักประกันในลักษณะนี้จะรับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร หนุ่มสาวที่เข้ามาสู่ระบบทีหลังต้องแบกภาระทางการเงินเพื่อรองรับผู้สูงอายุที่รับบำนาญ ซึ่งมีมากขึ้น


ภายใต้สถานการณ์และข้อจำกัดทางประชากร รัฐบาลชุดปัจจุบันโดยกระทรวงการคลังพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างหลักประกันให้กับประชาชนกลุ่มที่สามนี้โดยสมัครใจ ระบบนี้จะให้สมาชิกออมเงินขั้นต่ำเป็นรายเดือนตามกฎหมายกำหนดเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้าง รัฐบาลสมทบร่วมด้วยตามอายุสมาชิก อายุ 20-30 ปี รัฐสมทบร้อยละ 50 อายุ 30-50 ร้อยละ 80 และอายุ 50-60 ปี ร้อยละ 100 ของเงินออมขั้นต่ำรายเดือนแต่ละคนจะมีบัญชีส่วนตัวของตัวเอง เงินออมและเงินสมทบร่วมของรัฐบาลของแต่ละคนจะไม่ปะปนกัน รัฐบาลจะนำเงินของแต่ละคนไปบริหารจัดการให้เกิดดอกออกผลเมื่ออายุ 60 ปี มีเงินสะสมในบัญชีของตนเท่าไรก็จะนำมาคำนวณเป็นเงินบำนาญรายเดือน คนที่มีรายได้น้อยหรือรายได้ไม่สม่ำเสมอก็ค่อยๆ ออมในระบบนี้ได้เนื่องจากการขาดส่งเงินออมจะไม่ทำให้ถูกตัดออกจากสมาชิกภาพ แต่เงินบำนาญที่ได้จะน้อยลงตามส่วน สัปดาห์หน้าจะขอมาเจาะลึกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมทั้งปิดท้ายด้วยพูดคุยถึงเรื่องหลักประกันทางการเงินในประเด็นสำคัญอื่นๆ


รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ด้านประชากรศาสตร์ จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาประจำการบอกเล่าเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับประชากรไทย ทุกๆ วันอาทิตย์ ในคอลัมน์ 100 ปีปรีดิ์เปรม--จบ--


ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์





Create Date : 15 กันยายน 2553
Last Update : 20 กันยายน 2553 17:51:20 น. 0 comments
Counter : 624 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

amaridar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add amaridar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.