ALLABOUTCHOM Chompu moment ชม(พู่)กันแป๊บนึงนะ

ไปตรังกัน ที่กันตัง

 หลังจากที่พาหลงไปเกาะลิบงกันมาแล้วขอดึงกลับมาเที่ยวตรังในแบบกว้าง ๆ กันบ้าง

          ต้องอธิบายก่อนว่า เนื่องจากเป็นวันหยุดทางพระพุทธศานา อาสฬหบูชาเข้าพรรษาหยุดต่อเนื่องตั้งแต่เสาร์ยันอังคารเราจึงวางแผนไปเที่ยวตรังกันแบบคุ้มที่สุด

คราวนี้จะมาแบบรีวิวภาพ จากเอคุง บ้างไม่ได้เขียนอะไรมากมายเพราะถ่ายเก็บเกือบทุกช็อต

          เริ่มจากที่เหยียบแผ่นดินเมืองตรังปุ๊บก็เรียกใช้บริการรถตุ๊ก ๆ หน้ากบปั๊บ เพื่อจะนำเราทะยานไปยังโรงแรมที่เราจับจองไว้ก่อนถึง ซึ่งระหว่างทางช่วงที่เราไปนั้นเป็นช่วงแข่งวัวชน ระหว่างที่มือเราจับเกาะขอบรถกบ ตาเราก็ชมวิวทิวทัศน์เห็นคนเดินจูงน้องวัวชนตัวใหญ่โหนกสูงมาตามข้างทาง (อันนี้ถ่ายแล้วเบลอมาก ก็นะใช้คำว่าทะยานไหนต้องใช้มือจับเกาะแน่นเสียวหล่นยิ่งกว่าลูกขนุน)



         มาอาศัยที่นี่ค่ะ 2 วัน 2 คืน ทำเลดีใจกลางเมือง บรรยากศดี สะอาด ใกล้สถานีรถไฟ และตลาดไนท์ ของกินมากมายเช่ามอเตอร์ไซค์ที่โรงแรมได้เลย วันละ 250 บาท แว๊นให้ทั่ว



         ระหว่างที่เดินไปหาอะไรกินยามเช้าที่ตลาด ผ่านร้านขายเครื่องประดับไข่มุก ร้านอยู่ใกล้บริเวณโรงแรมที่พักเลยเลย รูปแรกที่คอเราเอคุงจัดมาให้บอกเท่ดี เป็นเปลือกหอย แต่ส่วนตัวไม่ค่อยใส่สร้อยอยู่แล้ว เลยไม่สนใจเท่าไหร่ รูปต่อมา ซื้อฝากคนที่บ้านคือท่านแม่ (ที่อุตส่าห์เลี้ยงแมวให้ยามเราหนีเที่ยว5555+) ร้านนี้ราคาย่อมเยา แม่ค้าพูดจาดี แนะนำดี ไม่เร้าหรือเกินหน้าเกินตา



         เมื่อเช่ามอ'ไซค์ก็พากันออกไป "ถ้ำเลเขากอบ" ไปทางอำเภอห้วยยอด โดยคำแนะนำจากนาเดีย รีเซปท์ชั่นโรงแรมที่เราพักนั่นเอง 



          บรรยากาศก่อนเข้าถ้ำตื่นเต้นแล้ว เข้าไปยิ่งกว่านี้อีก เย็นยะเยือก โดยเฉาะ ถ้ำมังกร หรือ ถ้ำลอด ที่ไม่สามารถ่ายรูปได้เลยจมูกเกือบติดเพดานถ้ำ มืดก็มืด ระยะทางไม่ได้สั้น ๆ ตื่นเต้น โฮก ๆ ครั้งนึงในชีวิตต้องมากันนนะคะ








ขับรถแบบไม่โต๋เต๋เพราะแพลนมาแล้วจากนาเดีย เลาะตามเส้นทางไปยัง หาดปากเมง ระหว่างทางก่อนถึง ก็แวะเลี้ยวเข้าไปใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ที่มีพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำราชมงคล ตั้งในบริเวณหาดราชมงคล แต่เราไม่ได้เข้าไปคิดคำนวณเวลาแล้วไม่น่าจะเที่ยวกันตังทันเลยข้ามไป มีที่ตั้งเด่นตระหง่านริมหาดคือ หอประภาคาร และลุยต่อหาดปากเมง ที่คึกคักนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและเทศ โชคดีฝนไม่ตก










        ทีนี้เราก็มุ่งหน้าไป กันตัง เมืองท่าเก่าที่สำคัญที่หนึ่งในยุคอดีตการคมนาคมทางน้ำ ทางรถไฟ เป็นเส้นทางสายคลาสสิค ที่เรายังสัมผัสถึงความทันสมัยในยุคนั้นได้อยู่ ตอนนั้นหิวข้าวมากเลยกะว่าจะหาไรรับทานที่ กันตัง 





        ระหว่างทางที่มุ่งไปก็อดที่จะแวะข้างทางไม่ได้ไหน ๆ มาแล้ว ทั้ง ๆ ก็หิวนะ ทนได้ แวะที่บ่อน้ำร้อน คนน้อยมาก นับได้ประมาณ 20 คน ชื่อ บ่อน้ำร้อน ควนแคง





          จะถึงกันตังแล้ว ซิ่งมาทีแวะถามทางมาตลอด พอเห็นต้นยางพาราต้นแรกในประเทศไทย อยู่นี่เอง ต้นยางนี้ไม่ได้สูงใหญ่พิเศษแตกต่างจากยางทั่วไปอะไร แต่มันคือจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจที่มีสะพัดตลอดมาจนปัจจุบันนี้ (ใครบ้างไม่รู้ว่ายางพาราในไทยทำเงินเข้าประเทศสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก) และต้นนี้ก็อยู่ข้างถนนหน้าปากซอยเอคุงเข้าใจว่ามันต้องเข้าไปอีก เราก็บอก ไม่ใช่ มีแค่นี้แหละ ต้นนี้แหละ



          และแล้วก็มาถึง กันตัง เราเข้าไปจอดแวะเที่ยว สถานีรถไฟกันตัง สุดคลาสสิค บรรยากาศยามเย็นท้องฟ้าแจ่มใส ไม่เหมือนฤดูฝน พอดีมีจัดงานอีเว้นท์อะไรสักอย่าง เราก็เนียนเข้าไปชิมอาหารถ่ายรูปเก๋ ๆ









  เสียงความหิวโหยร้องคำรามในท้องเป็นระยะ ๆ เราขี่รถวนไปเซอร์เวย์โดยรอบ ตัดสินใจว่าทานที่ ร้านริมน้ำ อยู่ติดกับท่าเรือกันตัง นี่แหละดูขลังเก่าแก่การันตีจาก ท่านอดีตนายก คุณชวน หลีกภัย แต่ว่าราคานี่ แบบว่าไม่ได้ถูกเลยนะ รสชาดถือว่าโอเค เทียบกับปริมาณถือว่าแพงพอสมควร ระดับภัตราคาร 
          เราเลือก สั่งไม่กี่อย่าง กุ้งซอสมะขาม ยำปูนิ่ม แกงส้มปลาสำลี (คิดแบบชั่งนน.ปลาสำลีถูกสุดแล้ว) และก็อีกอย่างนะไม่ได้ถ่ายไว้น่าจะหอยนางรม (สูตรร้านนี้ไม่มีน้ำจิ้มซีฟู๊ดและพริกเผามาเคียงมีแต่พริกสด กระเทียม กระถิน มะนาว และเกลือ)







                          บรรยากาศรวม ๆ จาก กันตัง ก่อนพระอาทิตย์จะโบกมือลา







          กลับมาตั้งหลักปรักฐานที่ที่พัก มานั่งพักสักแป๊บค่อยออกมาหาของกินเล่นตลาดไนท์ โดยที่หน้าสถานีรถไฟเปลี่ยนเป็นเวทีแสดงความสามารถของเยาวชนลูกเด็กเล็กแดง ซื้อของไปมาหยุดพักชมดูการแสดงมีกล่องทำบุญเมื่อท่านอยากสนับสนุนกิจกรรมนี้ให้คงอยู่ต่อไป แล้วก็เดินช๊อบปิ้ง มีร้านน้ำชาสไตล์ปักษ์ใต้พร้อมโรตี และร้านอาหารนั่งฟังเพลงติดกัน เราอาศัยนั่งร้านโรตีแล้วหาซื้ออาหารมากินเอาหลายๆ อย่าง รวมทั้งหอยนางรมที่แบบว่าถูกกว่าใหญ่กว่าร้านริมน้ำด้วย - - *







         รับรุ่งอรุณยามเช้าก็ซิ่งกันไปต่อ ไปกินหมูย่างเมืองตรังที่อบมาอุ่น ๆ กับขนมจีบ ติมซำ แวะสักการะเจ้าแม่กวนอิมเพื่อการเดินทางโดยสวัสดิภาพและความเป็นศิริมงคล 

                                                  โบส์ถคริสต์ในเมือง


                                         วิวเมืองตรังจากยอดเขาเจ้าแม่กวนอิม


บ้านนี้เป็นบ้านเกิดของ คุณจี๊ด หรือ จิรนันท์ พิตรปรีชาอีกด้วยนะคะ เอคุงดูรายการพื้นที่ชีวิตมา

วงเวียนพะยูนบริเวณแถวศาลากลางตรัง
ร้านนี้ร้านแรกที่มาลอง "ร้านจีบขาว"


























ไปทัวร์ต่อที่เกาะสี่เกาะ เกาะมุก(ถ้ำมรกต) เกาะกระดาน เกาะเชือก เกาะไหง สตาร์ทที่ท่าเรือปากเมง ที่แว๊นมาเมื่อวาน




          ปรากฏว่า ฟ้าฝนในหน้าฝนเริ่มสำแดงฤทธิ์ สั่งพายุจะเข้า คลื่นจะแรง เข้าถ้ำมรกตไม่ได้ อดแวะเกาะมุก T^T เลยข้ามสเตปไปเกาะกระดานเลย แล่นห่างออกไปไกลสุด แถมคลื่นแรง คนบนเรืออ้วก เพลียหลับกันเป็นแถบ ๆ รวมถึงเราที่เกือบอ้วกเนื่องจากเดินไปเข้าห้องน้ำบนเรือมาโอ้ (ปกติไม่เคยเมารถเมาเรือ) จนกระทั่งถึง เกาะกระดาน (ที่เขาทำพิธีวิวาห์ดำน้ำที่นี่แหละ) มีเวลาให้แวะรับทานอาหาร(บนเรือนั่นเอง) และอยู่บนเกาะประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ไม่ถึง 40 นาที เดินชื่นชมเกาะไม่เท่าไหร่ พายุก็ไล่ตามมาติดๆ ไกด์เรือเรียกให้กลับขึ้นเรือ









ปิดท้าย ทริปทัวร์เกาะ ท้ายสุดของวันและรีวิวนี้  ด้วยภาพใต้ท้องทะเลฝีมือเอคุงนะคะ ทะเลตรังทะเลอันดามันในวันที่คลื่นแรง ลมแรง แต่ก็สนุกดีค่ะจะเหนื่อยมากแค่ไหน พอได้เห็นสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลแล้วมันชื่นใจ (ปล.เราดำเองนอกจากใส่ชูชีพแล้วยังเซฟตัวเองโดยการเกาะห่วงยางด้วย น่าอายจัง ก็เรากลัวนี่นาา อิอิ) ภาพทั้งหมดนี้อยู่ในทริป 2 วัน 2 คืน ก่อนจะไปเกาะลิบง อยู่อีกลิงค์นี้ค่ะ //apuleeonly.blogspot.com/2013/08/blog-post_24.html













^__^




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2556   
Last Update : 28 สิงหาคม 2556 8:44:28 น.   
Counter : 2339 Pageviews.  

สัมผัสบรรยากาศเกาะลิบงที่มั่นคงความเชื่อ แรงศรัทธา และมิตรแปลกหน้า


สัมผัสบรรยากาศเกาะลิบงที่มั่นคงความเชื่อ แรงศรัทธา และมิตรแปลกหน้า

          ไปตรังคราวนี้เราได้พำนักค้างแรมกันที่โรงแรมศรีตรัง 2 คืน ที่เสิร์ชจากพันทิป เป็นโรงแรมดีมากๆๆ สำหรับเราไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา ความสะอาดและทำเลที่ใกล้กับสถานีรถไฟ ใจกลางเมือง พร้อมความประทับใจที่เราจะไม่เอ่ยถึงไม่ได้คือ พนักงานต้อนรับ นาเดีย ที่สวมผ้าคลุมฮิญาบหน้าสวยคนนี้ พอได้พูดคุยกันกับเราในเรื่องของการวางแผนเที่ยวตรังแบบครบ ๆ นางแนะนำมาแบบจัดเต็มแต่ราคาสบายกระเป๋าเลยทีเดียว อำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง ตั้งแต่วันแรก และนาทีสุดท้ายที่ออกจากโรงแรมเพื่อไปค้างที่อื่นแทน คืนที่ 3 ของทริปตรังนี้ เราจะไปค้างที่ เกาะลิบง ที่อยู่ของพะยูน ธรรมชาติ ชาวประมง ศาสนาอิสลาม วัฒนธรรม ภาษาและวิถีชีวิต

โรงแรมศรีตรัง


          รุ่งเช้า นาเดีย จัดแจงเตรียมรถตู้มารับถึงหน้าโรงแรมในเวลา 9 โมงได้ ผู้โดยสารสายบ้านหาดยาวมีไม่มาก คือเป็นชาวบ้านที่โดยสารไปลงระหว่างทางไปบ้านหาดยาว นอกนั้นมีเรา เอคุง และนักท่องเที่ยวที่นอกเหนือจากเราอีกแค่ 1 คน มุ่งหน้าไปเกาะลิบงเช่นกัน เขาคือชาวต่างชาติ เราฉีกยิ้มไปให้ เขาก็พูดสวัสดีตอบ (พูดไทยมาเล้ย) 
        ระหว่างเดินทาง เส้นทางเดิมที่เราเคยเช่ามอเตอร์ไซค์ขับมากันตั้งแต่วันแรกที่ถึงตรัง เราเลยไม่ได้สนใจข้างทางเท่าไหร่ เรากลับหลังหันไปเซย์ฮัลโลกับชายต่างชาติจากที่มัวซุบซิบ ๆ อยู่กับเอคุงว่าจะทักดีมั้ย ในใจเอาวะ ฝึกพูดภาษาอังกฤษนอกสถานที่ คำแรกที่ทักคือ Hello Where’re you going? เขาก็ตอบมาประมาณว่าไปหาดยาว แล้วก็ไปเกาะลิบง ตอบกลับว่า Me too หลังจากนั้นก็ มั่ว ๆ ซั่ว ๆ ไปเลยจ้า
          แต่ก็ได้ความมาว่าเพื่อนเดินทางคนใหม่ของเราคนนี้ชื่อว่า แองเจโล่ เป็นชาวอิตตาลี เขาเพิ่งมาอยู่เมืองไทยได้ 2 สัปดาห์ เดินทางมาสอนภาษาอังกฤษนักเรียนประถม 6 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในหาดใหญ่(จำชื่อไม่ได้) พอเขาถึงกทม.ก็เดินทางโดยสารทางรถไฟเพื่อมาลงสถานีหาดใหญ่ เขาเล่าว่าสนุกมากทั้งขบวนน่าจะมีเขาเป็นชาวต่างชาติคนเดียว มีคนนำอาหาร ขนม มาให้กิน นั่งมาจากกรุงเทพฯ หลายชั่วโมง ทั้งนั่งทั้งนอน (เดาเองว่าน่าจะเป็นชั้น 3 เพราะเขาวาดที่นั่งไม้ แล้วนอนบนที่นั่ง) เขามีกำหนดการอยู่เมืองไทยแค่ 3 เดือน แล้วการเที่ยวของเขาก็ต้องการแบบประหยัด เขาอยากไปที่แหลมจูโหยบนเกาะลิบงเป็นอุทยานที่มี Dugong(พะยูน) แถมไปดูที่พักฟรี (นึกในใจทำไมนาเดียไม่บอกเรามีที่พักฟรี แถมโทรจองให้เราแล้วเสร็จสรรพ) เขาพกกระดาษสำเนามาจากหนังสือไกด์ในการเที่ยวเกาะลิบง แล้วก็ชี้ให้เราดู 
         นอกจากที่เราพอจะรู้เรื่องเขาบ้าง เรากับเอคุงยังจะแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในฐานะเจ้าของถิ่นและนักเดินทางในไทย กับประสบการณ์สน็อกเกอร์ดำน้ำดูประการัง ไม่พลาดที่จะแนะนำ เกาะหลีเป๊ะ แถมโชว์รูปประการัง ที่เซฟไว้ในไอพอดให้อีก แองเจโล่ร้องเลย โอ้อะเมซิ่ง แต่พอพูดถึงราคาทัวร์ราคาเดินทางเท่านั้นแหละ แองเจโล่ถอยทัพเลยสู้ไม่ไหว บอก อะลอทออฟ ฮ่าๆๆ 

      จากนั้นเราก็มาถึงบ้านหาดยาว ท่าเรือที่จะนำเราไปยังเกาะลิบง ท่าเรือหางยาวราคาชาวบ้าน โดยสาร 15 ที่นั่ง ต่อลำ ราคาต่อคนคือ 30 บาท เดินทางครึ่งชั่วโมงถึง ตกนาทีละบาท โหย ถูกมาก แต่ไม่ใช่วันนั้นค่ะ เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงรอนมฎอน ช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิมนี่เอง ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะไม่สัญจรเข้าเมืองเหมือนช่วงอื่นที่มีคนพลุกพล่านเสมอ เรา 3 คนก็รอกันไป ให้เหมาเรือไป 3 คนจากคนละ 30 เป็น 150 บาทนะฮะ รอก่อน ๆ อธิบายแองเจโล่ไป อย่างนี้ ๆ นะ และก็ได้ข้อมูลมาว่าแหลมจุโหยที่แองเจโล่จะไปนั้นต้องเหมาเรือไปเองคนเดียวก็ 900 บาท ที่พักฟรีจริงแต่เหมาเรือไปทางเดียวไม่มีถนนถึงที่นั่น ทำให้แองเจโล่ถอยทัพกลับลำสู้ราคาไม่ไหว

          จนมีคนมาสบทบอีก 2 คน เหลืออีก 10 คน เพื่อ 30 บาท แองเจโล่ยังเล่นมุกตอบกลับ โห งั้นคงเดินทางพรุ่งนี้ ฮ่าๆ เราก็เดินเล่นแถวท่าเรือไปพลาง ๆ รอเวลาคนมาสบทบ นั่งเล่นแมว ออกไปเดินถ่ายรูป เจอเด็ก ๆ ลูกหลานชาวบ้านแถวนั้นยืนถ่ายรูปสักพักเวลาล่วงเลยมาเป็นชั่วโมง จำนวนผู้โดยสารยังเท่าเดิม จึงได้มีการไปต่อรองราคากัน คือ คนละ 90 บาท พอดี 5 คน 450 บ. เรามีหน้าที่ไปตามแองเจโล่ ด้วยประโยคนี้เลยมั่นใจ Do you go now? แองเจอโล่ตอบไปเลยอย่างรวดเร็ว สงสัยจะหิวด้วย

แองเจโล่กับเด็กซ่าบ้านหาดยาว

            เรานั่งกันไป เกิน 6 ชีวิต เหตุผลคือ ผู้โดยสาร 5 คนขับ 1 และมีญาติน้องเมียคนขับอีก 4-5 คนค่ะ เราส่งต่อแองเจโลให้อามิน หนุ่มเกาะลิบงที่ทำงานในเมืองแล้วจะกลับบ้านที่ลิบง เขาโดยสารมาด้วยกันตั้งแต่แรก พูดภาษาอังกฤษคล่องกว่าเรานิดนึง อิอิ คอยเป็นสารถีพาแองเจโล่เที่ยวแทนเราจะดีกว่า จึงได้แยกย้ายกันที่ท่าเรือ เกาะลิบง โดยอามินพาเราไปหาที่เช่ามอ'ไซค์เพื่อเดินทางไปยังที่พักของเรา คือ หาดหลังเขา อยู่ไกลจากท่าเรือ ประมาณ 5-6 กิโลได้ ส่วนอามินก็ขี่มอ’ไซค์ อามินขี่รถออกจากท่าไปโดยด้านหลังคือแองเจโล่โบกมือบ้ายบาย ตะโกนว่า See you คือคุยกันว่าพรุ่งนี้กลับพร้อมกันประมาณนั้น
         เมื่อเราเช่ามอ’ไซค์ในราคา 350 บาทเสร็จปุ๊บ เอคุงเช็คน้ำมัน เติมลมพร้อมลุย จุดเติมน้ำมันมีอยู่ทั่วเกาะ เป็นแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ (ไม่ได้ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานเลย) ส่วนทางที่จะไปหาดหลังเขาก็ง่ายนิดเดียว คือ ตามถนนเส้นหลังของอิฐตัวหนอนไปเรื่อย ๆ ทางราบเรียบไม่เหมือนเกาะอื่นที่เราไปต้องขึ้นเนินสูง ๆ อาจเพราะเกาะลิบงมีพื้นที่ใหญ่ ถ้าขับ ๆ ไปคิดว่าหลงก็หยุดถามชาวบ้าน ชาวบ้านก็ชี้ลงไปอีก ๆ และแล้วเราก็มาถึง หาดหลังเขา จนได้

ถนนอิฐตัวหนอน กับท่าเกาะลิบง

         เราต้องเลี้ยวซ้ายเข้าไปในตรอกเหมือนพื้นที่ส่วนตัวบ้านชาวบ้านชาวประมงสักพักเลยกว่าจะเจอที่พัก sunset ดูร้าง ๆ ที่มีแต่แมวและหมา 1 ตัว (จริง ๆ แล้วเหมือนมีแมวอยู่ทุกบ้าน ทั่วเกาะ) ไม่มีใครมาพักเลย มีพักอยู่ห้องเดียวทั้งรีสอร์ทพิเศษจากนาเดีย ปกติไม่ใช่ช่วงเขาจะไม่เปิด รีสอร์ทตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่ 3 หมู่บ้านใหญ่ มองที่ชาดหาดเป็นหินดำแทรกทราย มีเรือชาวประมงจอดอยู่บ้างไกล ๆ เมื่อเก็บของเข้าที่พักเรียบร้อย เราเห็นว่ามีร้านอาหารตามสั่งเปิดอยู่แถวนั้น มีร้านเดียวเลยอยู่ริมหาด บรรยากาศจัดแบบชาวบ้านเพราะได้วิวสวยจากทะเลอยู่แล้ว มีลูกค้ากิตติมศักดิ์กลุ่มเดียวที่อยู่ในร้านกับเราคือพวกเด็ก ๆ ที่ไม่เคร่งช่วงรอมฎอน เด็ก ๆ จะพูดว่า บวชแตก คล้าย ๆ เจแตกภาษาวัยรุ่นเข้าใจง่ายน่ารักดี

อาหารมื้อแรกบนเกาะ 

        เมื่อเที่ยวเตร่แถวนั้นมาสักพักแล้วรู้สึกอ่อนเพลียเนื่องจากเที่ยวติดต่อมาหลายวันแล้วเลยกลับเข้าที่พักกันก่อน พอร่างกายได้พักเต็มอิ่ม ก็เลยว่าจะขับรถไปหาอะไรกินมื้อเย็น รอมฎอนนั้น ช่วงนี้ก็ต้องมีคนออกมาขายอาหารกินกันแน่นอนเลย ตะวันตกดินแล้วนี่นา แต่ปรากฏว่าผิดคาดค่ะ ขี่รถออกมาจนหมดหมู่บ้านก็เงียบเชียบไม่มีของกินของขาย ขี่ไปเรื่อย ๆ มาถึง หมู่บ้านปาตูบูเต๊ะ ก็ยังไม่มีร้านขายอาหาร ที่ผ่านมามีแต่ ร้านขายของชำเท่านั้น สุดท้าย ความหิวก็ชนะทุกสิ่ง แวะกินมาม่าต้มที่ร้านโชว์ห่วยแห่งหนึ่งทางไปท่าเรือที่ใช้โดยสาร ขึ้น-ลงเรือ มีอยู่ท่าเดียว เจ้าของร้านโชว์ห่วยรวยน้ำใจทั้ง 2 คนอัธยาศัยดีมาก บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ และรับฟังเรื่องราวของเรา จึงมีการช่วยแนะนำเรือที่จะพาเราไปเที่ยวแหลมจุโหยและพากลับที่บ้านหาดยาว บอกว่าไหน ๆ มาถึงนี่แล้วน่าจะไปให้ครบ เขาเองเป็นคนที่นี่แท้ ๆ ยังไม่ค่อยได้ไปแหลมจุโหยเลย

มองออกไปจากในห้อง รีสอร์ทซันเซท

         พอรุ่งเช้าเราขี่รถมอ’ไซค์ออกไปเยี่ยมชมมุมต่าง ๆ บนเกาะ ไปแวะสอบถามที่พักที่อื่นบ้าง จนเมื่อเราผ่านหมู่บ้านบาตูปูเต๊ะ เข้าไปมีหมู่บ้านชาวประมง ไม่มีหน้าหาด มีท่าเรือยาว ๆ ออกไป ฝนเริ่มไล่ เราก็แวะข้างทาง มีชาวบ้านแกะกรรเชียงปูนึ่งอยู่ จึงแวะซื้อมากิน สด อร่อยมาก มีร้านขายขนมชิ้น 5 บาท ขนมฝีมือชาวบ้านทำสด ๆ ร้อน ๆ ไว้ขายในช่วงเย็น (บ่าย3-5 โมงเย็น เมื่อคืนที่ขี่รถหาของกินนั่นตลาดเขาวายแล้ว) บาตูปูเต๊ะเป็นหมู่บ้านใหญ่ มีคนอยู่แบบชุมชน ๆ ชาวบ้าน เราขี่มาด้านนอกมีร้านอาหารอยู่แถวบริเวณหน้าโรงเรียนบาตูปูเต๊ะ เลยแวะกินขนมจีบไก่ กระเพาะปลาในยามเช้า

หมู่บ้านชาวประมงหมู่บ้านบาดูปูเต๊ะ


มื้ออาหารที่สามารถเจอในเดือนนี้

          เมื่อทานเสร็จก็แว๊บเข้าหมู่บ้าน ไปทางลิบงแคมป์ ซึ่งเราเข้าใจว่าน่าจะเป็นที่แองเจโล่มาพัก ราคาถูก ที่นี่สวยมาก มีบ้านพักทำด้วยไม้หลังคามุงจาก ตัดกับชายทะเลและต้นมะพร้าวเรียงยาว มีสระบัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เมื่อเจอกับเจ้าของบังกะโล จึงได้สอบถามว่ามีฝรั่งมาพักมั้ยเมื่อคืน เขาบอกว่าไม่มีนะ เรากับเอคุงเลยคิดสงสัยไปพักกับอามินรึป่าว เอคุงโทรถามอามิน(มีให้เบอร์ก่อนแยกกันไว้) เพราะว่าเผื่อยังไม่กลับจะได้ไปเที่ยวแหลมจุโหยกัน เมื่อโทรไป อามินบอกว่าแองเจโล่กลับไปแล้ว ตอนนั้นประมาณ 9 โมงเช้าได้ นึกในใจ โห กลับเร็วจังเนาะ เสียดายจะได้ไปแหลมจุโหยแบบไม่ต้องเหมาไปคนเดียว



        เมื่อส่งคืนรถเช่า และได้เจอน้องคนขับเรือที่เจ้าของร้านโชว์ห่วยคนสวยติดต่อมา ได้เวลามาล่องเรือเที่ยวชมธรรมชาติ บุกไปตามดู พะยูน ตัวเป็น ๆ สักที นาเดียบอกว่า ขอให้โชคดีได้เจอด้วยเถอะ เราก็คาดหวังอย่างนี้แหละที่ถือว่ามาถึงตรังจริง ระหว่างทางที่นั่งเรือก่อนไปชมนกชมไม้ เอคุงเห็นโลมากระโดดและไม่ได้ตัวเดียวนะ มาคู่กัน แต่เรามัวแต่ อะไร ไหน ไม่มี ไม่เห็น เสียดายง่ะ เราชอบโลมามากกกก!

      พอไปถึงจุดชมนก จะเป็นเกาะเล็กจิ๋วหลิวมีแต่ต้นไม้ชายหาดเล็ก ๆ ให้นกจ้องกินปูหาปลา คนขับเรือ เขาบอกว่าเป็น นกหนีหนาว มาจาก ไซบีเรีย "นกอีก๋อย"เราก็ดูไม่เป็นว่าใช่จริงรึป่าว แต่คนขับพยายามไปใกล้สุดมันก็บินไปเกาะยอดไม้ พอจะเข้าไปใกล้อีกพวกมันก็พากันบินไปเป็นฝูงเลย

     ชมนกชมไม้กันเสร็จแล้ว เขาก็แล่นเรือพาเราวนกลับมาที่ แหลมจุโหย พามาจอดเรือให้เราเดินเที่ยวชมแหลม ก็เป็นสไตล์อุทยาน มีต้นสนอยู่ริมหาด ชายหาดกั้นปูนกันน้ำทะเลเซาะ แต่บริเวณนั้นมีหญ้าทะเลอาหารหลักของบรรดาพะยูน เดินไปมีบอร์ดอธิบายกรณีศึกษา ต้นกำเนิด พะยูน นู่นนี่แล้วก็รูปปั้น พะยูน เอ่อ ลืมอธิบายว่าตอนจอดเรือจะมีผู้ชายคนนึงเขาขึ้นไปบนหอ คล้าย ๆ นั่งร้าน ทำด้วยปูนอยู่บนท่าเรือยื่นออกไปตรงแหลมนี่แหละ แล้วเขาก็พกกล้องไปตัวนึง เพื่อถ่ายรูปพะยูนเก็บเป็นสถิติ วันนั้นเขาก็เจอไปแล้วเหมือนกัน

       ช่วงที่เราเดินบนเกาะ คนขับเรือวิ่งมาตามบอกว่าพะยูนมาอยู่แถวที่เรือเราจอด เราก็รีบไปดูดิ ไม่เจอแล้ว เสียดายอีกแล้ว พี่เขาเลยชวนเราปีนบันไดลิงขึ้นไปบนหอที่เขาถ่ายรูป เมื่อคำนวณเวลาเกรงว่าจะไม่น่าทันกลับเลยไม่ขึ้นไปดีกว่า

       นั่งเรือพร้อมความเสียดายแต่คอไม่ตกนะพยายามมองทะเลเรายังพอมีความหวังก่อนไปถึงบ้านหาดยาว ระหว่างนั้นเองความโชคดีก็ได้บังเกิดขึ้นกับเราสักที ได้เห็น โลมา ธรรมชาติ มาทั้งคู่คู่เดิมรึป่าวไม่รู้ โดดเล่นน้ำกันเราเห็นแค่รอบเดียว เอคุงเห็น 2-3 รอบ แต่ถ่ายวิดิโออัดไม่ทัน น่าเสียดายอีกครั้ง เราคิดว่าไม่เป็นไรถ้าเที่ยวใน พ.ศ. นี้แล้วยังเห็นว่ายังมีสิ่งมีชีวิตน่ารักอยู่คู่ทะเลไทยบ้านเราก็ใจชื้น กลับไปก็คุ้มที่ได้เห็นโลมาที่ชอบแทนพะยูนเจ้าถิ่นขึ้นชื่อลิบง

ท่องเรือชมท้องทะเลฝั่งอันดามัน

บรรยากาศเกาะลิบง(ภาพล่างโลโก้ของเอคุงให้เครดิตตากล้องสักหน่อย)

        ขากลับรถแท็กซี่มาส่งที่โรงแรมศรีตรังเหมือนเดิมเพื่อไปขึ้นเครื่องซึ่งเกือบไม่ทันเนื่องจากไม่มีรถตู้มาที่บ้านหาดยาวสักที รอเป็นชั่วโมง เลยมีการโบกรถเข้าเมือง ได้รถกระบะที่ไปไกลสุดคือ กันตัง เราต้องเหมาแท็กซี่ที่กันตรังอีกที เขารับรองว่ามีตลอดสาย สุดท้ายก็มาทันโดยมีรถตุ๊ก ๆ หน้ากบแสตนบายรอเพื่อส่งเราไปสนามบินจัดเตรียมโดยนาเดียน่ารักมากที่คอยรับฝากเข้าของบางส่วนเรากับหมูย่างเมืองตรังที่สั่งเขาไว้ ก่อนจากกันบอกนาเดียว่าไม่เห็นพะยูนนะเห็นแต่โลมา เขาปลอบใจว่าก็โชคดีแล้วค่ะ
จบแล้วจริง ๆ ผู้อ่านที่รักทั้งหลายเกาะลิบงนี่เป็นที่ ๆ เราไม่ได้ทำการบ้านก่อนมาเที่ยวอะไรมาก รู้แค่ว่าเป็นเกาะใหญ่ ชาวบ้านประมงอยู่กันจริง เป็นแหล่งพะยูน ยังคงธรรมชาติวิถีชุมชนคือจังหวะที่เรามาเนี่ย มันเป็นวันหยุดยาว วันสำคัญทางพุทธศาสนา แต่เมื่อมาเที่ยวเกาะลิงบงครั้งนี้ เลยไม่ได้มีโอกาสเข้าวัดทำบุญตามแบบพุทธศาสนิกชนเพราะไม่มีวัด ที่นี่มีแต่มัสยิดประจำหมู่บ้าน แถมอยู่ในช่วงถือศีลอด เราจึงเห็นวิธีการละหมาดแทน ถึงจะอย่างนั้น สิ่งที่เรามองเห็นได้นั่นคือแรงศรัทธา และความเชื่อ ที่มนุษย์เรายังต้องการพึ่งพาจิตใจให้ผ่องใส เกิดเป็นแสงสว่างนำทางเพื่อเป็นพลังในการดำรงชีวิตต่อไปตลอดชั่วลูกชั่วหลาน




 

Create Date : 25 สิงหาคม 2556   
Last Update : 28 สิงหาคม 2556 10:48:55 น.   
Counter : 3341 Pageviews.  

มีแม่น้ำโขงให้เห็น มีแม่น้ำใจให้จดจำ

          เทศกาลเปลี่ยนพ.ศ.ต้อนรับปีใหม่เกือบทุกปี เราแทบไม่ค่อยอยู่บ้าน ก็แหงล่ะ เป็นพนักงานออฟฟิสแต่ดันชอบเดินทางอย่างเราต้องโฉบฉวยโอกาสวันหยุดยาวออกต่างจังหวัดตลอด 
         ใครจะว่าเที่ยวช่วงสงกรานต์ ปีใหม่ คนเยอะน่าเบื่อยังไง แต่เสน่ห์มันอยู่ที่การโชว์ของของแต่ละพื้นที่นี่แหละ อย่างวัฒนธรรมภาษาของท้องถิ่นก็แตกต่างกันออกไป เหมือนไปสังขละ จะเจอภาษามอญ ไปดอยอ่างขางก็แต่งตัวแบบเด็กดอย
          ถ้ามีใครถามเราว่าปีใหม่ปีไหนประทับใจที่สุด จริงๆแล้วประทับใจทุกที่ที่ไปนั่นแหละ แต่ที่นี่กลับเป็นที่แรกที่เรานึกถึงเสมอนั่นคือทริปไปเชียงคาน หลงรัก..เลย ช่วงส่งท้ายปี 2551 (นานมากสมัยเรียนม.บูปี 3 ได้)
          สิ่งที่จดจำอย่างโม้ไม่ได้อยู่ที่เชียงคานมากหรอกนะ ไม่ใช่เพราะว่าเชียงคานไม่สวยไม่น่าพรรณา ตอนนั้นเชียงคานสงบมาก บรรยากาศดี ลมเย็น ผู้คนน่ารัก เดินชิลล์ได้เรื่อยๆ ยังไม่มีตลาดถนนคนเดิน แต่สิ่งที่จะโฟกัสเรื่องของผู้คนบวกกับความสัมพันธ์และประสบการณ์อันหน้าตื่นเต้นในฝั่งตรงข้ามพื้นที่แม่น้ำโขง คือ สปป.ลาว เขตเวียงจันทน์นั่นเอง

วันนี้คุณยิ้มหรือยัง ในสำนักงานทำบัตรผ่านแดนจ้า


           เรากับเอคุง(แฟนเราเอง)กะว่าจะไปเที่ยวเล่นเดินชมเมืองลาวแบบวันทริปวันนั้นคือวันสุดท้ายปี 2551 พอดี จึงตัดสินใจไปกัน ทำบัตรข้ามแดนแล้วก็ข้ามเรือไป แค่เรือจะเลิกวิ่งข้ามฟากช่วง 5 โมงเย็นแค่นั้นง่ายๆ เอง ระหว่างทำบัตร เราก็เอะใจตั้งแต่พี่เจ้าหน้าที่เปรยว่าเดินไม่ถึงชั่วโมงเดี๋ยวก็กลับ คิดในใจ เฮ้ย ดูถูกเพื่อนบ้านเกินไปป่าว คิดในแง่ดีไง เราต้องไปพิสูจน์ให้เห็นกับตา
          ปรากฏว่าพอไปถึง ก็ไม่มีอะไรจริงๆ แหละ คือแบบว่าฝั่งเชียงคานเราจ้าบกว่าเยอะ จะว่าอยากย้อนยุคไปอยู่ชานเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มันก็ไม่ได้กลิ่นอายขลังเก่าเท่าไหร่ มันสะเปะสะปะมีแต่ฝุ่นบ้านเรือนสมัยปัจจุบัน แต่ไม่เรียบร้อย แถมราคาไม่ได้ถูกเลย น้ำ บุหรี่ มีคนขับสามล้อมาตื๊อตามยื้อ ไม่เจอสถาปัตยกรรมวัดเจ๋งๆ ไม่เจอตลาดบ้านๆ ของแปลก เจอแต่เบียร์ลาว ที่เขียนว่า เบยลาวที่ดูรู้สึกแตกต่างจากบ้านเราบ้างให้รู้ว่าอยู่เมืองลาวนะบ้างแค่นั้น 

เหยียบแดน สปป.ลาว แขวงเวียงจันทน์


           ด้วยความที่อยากจะเจออะไรมากกว่านี้ แตกต่างจากคนอื่นๆที่เห็น พิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่พี่เจ้าหน้าที่ฝั่งเราพูดเอคุงกับเราเลยลองเดินไปที่คล้ายๆ บขส.บ้านเรา เดินโต๋เต๋เข้าไปถามคนที่อยู่หน้ารถด้านขวา ถามเป็นภาษาไทยนี่แหละ ประมาณว่า รถ 2 แถวนี่มีวิ่งตลอดมั้ย เขาตอบมายังไงไม่รู้ให้เราเข้าใจว่ามีตลอดนะ อยากจะกลับเวลาไหนก็ได้ เราสองคนก็โดดขึ้นหลังรถ รอเวลา รอคน นั่งรถประจำทางกลมกลืนไปกับชาวลาวคละเคล้าไปทุกเพศทุกวัย พร้อมอุปกรณ์อุปเกิน เครื่องปิ้งย่างของสดของแห้ง มีหมด ผู้โดยสารคนอื่นก็มองเราแปลกๆ คิดในใจสงสัยเราจะเป็นนักท่องเที่ยวเขาเลยเล็งมาที่เรากัน เมื่อรถแล่นไปสักพัก บทสนทนาจากสาวลาวคนสวยก็เริ่มขึ้น แต่เนื้อหาใจความน่าวิตกคือ รถที่เรานั่งเนี่ยมีทุกวันแต่เวลาเดินทางแค่ไป-กลับวันละรอบเท่านั้น เอ้า แล้วนี่เราจะไปรึกลับละเนี่ย คือตั้งแต่เราถามคนที่อยู่หน้ารถบอกว่ามีตลอดล่ะ พอมองไปที่ฝั่งคนขับ คนขวาที่เราถามไม่ใช่คนขับนี่ พวงมาลัยมันอยู่ด้านซ้าย เขาขับกันฝั่งซ้ายป้าดดดโธ่ นี่คือสิ่งที่สองถัดจากเบียร์ที่แตกต่างจากบ้านเรา 

ไม่ได้ถ่ายบ้านที่ใต้ถุนสูงในป่ามา ใจมันพะวง แถวนี้เจริญสุดแล้วในเขตชุมชนค่ะ

       สองข้างทางที่เราไม่มีกระจิตกระใจจะดูเพราะมัวแต่พะวงอยู่กับการคิดกลับยังไงล่ะ ลงตรงไหนล่ะ เอาไงดีนั้น เต็มไปด้วยป่าแห้ง ถนนดินแดงคลุกฝุ่น ผมเรานี้แดงยังกะไปย้อมผมมา ในระหว่างที่เรากังวล สาวคนเดิม ชวนพักค้างแรมที่บ้าน แวะบ้านเธอได้ เราเห็นความมีน้ำใจของเธอแต่เราอยากจะกลับเมืองไทยมากกว่า แถมถ้าโดนทำมิดีมิร้ายนอกอาณาเขตบ้านเราเมืองเราโอ้ นั่งมองหน้ากันตาปริบๆ กับเอคุง เค้าจะพาเราไปอยู่ที่ใด จุดหมายเราอยู่ไหน ข้างทางมีแต่ป่า สักพักก็ถึงบ้านของเธอ เป็นบ้านไม้เหมือนๆ กันทุกหลัง คือจะมีพื้นที่ใต้ถุนยกสูง สูง ประมาณ 2 เมตรขึ้นไป อาจจะเพราะเลี้ยงช้างเพราะหลีกทางให้ช้างป่า 
          แล้วเราก็นั่งไปเรื่อย ผู้โดยสารชาวลาวค่อยๆทยอยหายลงกลับบ้าน พี่เอคุงมองหารถที่พอจะสวนทางกับคันเรานั่ง แทบจะไม่เจอ แต่แล้วรถสองแถว คันหนึ่งคันเดียวที่เรานั่งนี่ก็แวะจอดข้างทางระหว่างขนสัมภาระ คนขับรถซึ่งน่าจะเป็นคนแรกที่เราสอบถามทางแต่ไม่ใช่ไง คนนี้คนขับจริง เขาสงสัยถามเราว่าจะไปลงที่ไหน เราก็บอกเขาไป บลาๆๆ เขาก็เหมือนเป็นคนที่เราต้องพึ่งและให้ความช่วยเหลือเรามากที่สุดในเวลานั้น แต่เขาเสนอเงื่อนไขมาว่า เขาจะขับรถไปส่งให้ แต่ในราคาเหมานั่นคือเกือบหนึ่งพันบาทไทยน่าจะได้ เราว่ามันแพงมากแต่เราหลงมาถึงนี่แล้วนะ เอคุงกับเรานั่งรถไปสักพัก คิดๆ ทำไงดี รถที่สวนทางไปทางชายฝั่งไม่มีมาสักคัน มีแต่รถไถ สักพักเหมือนฟ้าเป็นใจ เอคุงเห็นรถกระบะคันนึง จอดข้างทางที่สำคัญทะเบียนไทยด้วย เจอคนบ้านเดียวกัน แถมน่าจะพูดจารู้เรื่อง เจอแล้วว!!

          เราลงจากรถสองแถวคันหนึ่งคันเดียวนี้ก่อนถลำไปไกลเกิน เดินไปหาเจ้าของรถกระบะ เขาเป็นน้าชายรูปร่างใหญ่ กำยำหัวโล้น เหมือนจะโหด พอเขาทราบเรื่องราวทั้งหมด ก็บอกกับเราว่าจะไปส่งให้แต่ต้องรอหน่อยนะ ภรรยาเขาเป็ช่างแต่งหน้าเจ้าสาวต้องไป 2 ที่ เราสังเกตเห็นมีงานเหมือนทำบุญบ้าน น่าจะเป็นงานนี้ที่แกจอดรถรอภรรยาอยู่ เราก็ใจชื้นขึ้นความชิลล์กลับมาเยือนอีกครั้ง สิ่งแรกที่ทำคือแวะขอเข้าห้องน้ำ ห้องน้ำชาวบ้านถานั้นเลย หลังคามุงจาก ส้วมซึมจะพี่น้อง แต่ไม่มีที่ล็อกประตู ดีกว่าเข้าป่าละกัน สงสัยเวียงจันทน์นี่คือเมืองหลวงใช่มั้ย?

เดินไปเรื่อยๆ

เดินไปเรื่อยๆ
           

          ระหว่างที่รอภรรยาพี่โล้นใจดีมางานแต่งงานชาวลาว ฝั่งตรงข้ามงานมีบ้านหรือร้านอาหารตามสั่งเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยเด็กและคนชราจ้า แม่ค้าต้อนรับด้วยรอยยิ้มที่จริงใจ อันที่จริง ดูยิ้มต้อนรับจริงใจกันทั้งร้านที่อยู่บริเวณนั้น ส่วนเมนูหลักเขาก็คือ ส้มตำนั่นเอง ! นั่งกินส้มตำลาวแท้ๆ ผงชูรสเยอะมาก แต่แซ่บมาก จริงๆ อร่อยมากคือน้ำซึมเข้าไปเส้นมะละกอสับละเอียด เสริ์ฟพร้อมอุปกรณ์ตะเกียบคีบ เฮ้ย เอางี๊เลยหรอ

 

ส้มตำแซ่บหลาย ผงชูรสแทนน้ำตาลเลยทีเดียว มื้อกลางวันมื้อแรงแขวงเวียงจันทน์


          บทจะควักกล้องออกมาถ่ายที่ กล้องคอมแพคนี่แหละค่ะ ลาวมุงทั้งหลายมองตามตาเป็นประกาย เด็กๆ ตั้งแต่แบเบาะ ยันคนแก่เลย มองจนเขินอ่ะ จะหยิบจับอะไรที อารมณ์แบบเหมือนเราเจอฝรั่งพูดไม่ได้แค่ส่งยิ้มหวานจนเขาขนานนามว่าสยามเมืองยิ้ม โห เข้าใจอารมณ์นั้นละ สยามเมืองยิ้มคงเปลี่ยนมาอยู่ ณ จุดนี้แทน เมื่อการรอคอยเสร็จสิ้น แต่แล้วก็ดันมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น คนวิ่งกันไปดูว่ามีอะไร พบว่า วัยรุ่นคนเมาจากในงานนี่แหละ ขับรถไถลงข้างทาง โอ่ย ถามว่าเป็นอะไรมากมั้ย นึกสภาพขับรถไถคล้ายรถพ่วงส่งน้ำแข็งบ้านเราแต่ทำด้วยไม้ ก็จะมีอาการมึนเมา เป็นแผลถลอกฟกช้ำ แต่พี่โล้นใจดี และศรีภรรยาอาสาพาไปส่งที่อนามัย ค่ะ ไม่มีโรงพยาบาล แถวนี้คืออนามัย ไม่ต้องมีเครมประกัน มีแต่น้ำใจและความตื่นตระหนกแบบคูณสอง ซึ่งวิถีนิสัยคนไทยแทบจะไม่มีแล้ว เอคุงและพลเมืองดีชาวลาว ช่วยกันหามร่างชายลาวนอนมึนร้องโอดครวญข้างทางขึ้นหลังกระบะรถ แล้วเราก็ไปอนามัยกัน

สาวน้อยทั้งหลาย

 

บักหำน้อย อิอิ


           เราเริ่มภารกิจพาคนเจ็บไปอนามัย แวะไปงานแต่งงานอีกงานหนึ่งที่ศรีภรรยาพี่โล้นใจดีเป็นช่างแต่งหน้า แต่คราวนี้เร็วกว่าเดิม เหมือนมารับทรัพย์มากกว่า ระหว่างนั้นเราก็ได้พูดคุยกันในรถว่าพี่โล้น(ขอโทษจริงๆ จำชื่อไม่ได้แล้ว) เขาเป็นชาวไทยอีสานบ้านเราแต่ไปได้เมียลาวเลยไปๆ มาๆ ไทยลาว โชคดีที่เจอพี่เขาจริงๆ 

          ด้วยเกรงว่าจะไม่ทันรอบเรือข้ามฝาก พี่โล้นใจดีจัดแจงพามาถึงท่าเรือ กราบขอบคุณงามๆ ต่อความมีน้ำใจที่ไม่มีวันลืมมันยิ่งใหญ่ไม่แพ้แม่น้ำโขงนี้เลย จากนั้นเหมาเรือกลับมาเท่าไหร่ไม่รู้ นาทีนั้น ฟินแล้วครับได้กลับมาเคาท์ดาวน์เมืองไทย แถมเป็นปีแรกเลยที่ผู้ว่าราชการจ.เลยมาเปิดพิธีงานต้อนรับปี 2552 ริมน้ำโขงเชียงคาน จุดพลุใหญ่ ไชโย!

          จากวันนั้นล่วงเลยมาจะส่งท้ายปี 2553 ปีใหม่ไปไหนดี? เอคุงเสนอไปเวียงจันทน์กันเนาะ นั่งรถไฟไปทางหนองคาย เราตอบในใจยังไม่เข็ดสินะ หรือติดใจอะไรเข้าแล้วไม่รู้ ^^    




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2556   
Last Update : 13 สิงหาคม 2556 10:01:36 น.   
Counter : 1585 Pageviews.  

หยุดเวลาไว้เลย ที่เชียงคาน

หยุด ๆ ชีวิต หยุดกับคนนี้แม้ว่าใครจะดีซักแค่ไหน

อ่อ ... ก่อนอื่นต้องกล่าว สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๒จ้า

กระแสการท่องเที่ยวของช่วงปีใหม่ ก็คงหลีกไม่พ้น ปายที่แม่ฮ่องสอน หรือจะไปเที่ยว เชี่ยงใหม่ ตามแบบอารมณ์นักท่องเที่ยวที่หนีร้อนไปพึ่งเย็นอะไรอย่างงั้น

แต่ปีใหม่ปีนี้ ขอนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวที่หนึ่ง ที่ ๆ สงบ มันคงเหมาะกับพวกback pageที่ไปเที่ยวเอาความไม่มีอะไร ไม่มีอะไรที่ว่าคือ ความสะดวกสบาย ความทันสมัย และธุรกิจ

เช้า ๆ มายืนรับลมหนาว ดูทะเลหมอกริมฝั่งโขง ที่อ.เชียงคาน จ.เลย คร่า

เห็น บ้านเรือน ความเป็นชุมชน เห็นความงดงามของธรรมชาติ รวมถึง ความงามของจิตใจด้วย

ก้าวกันไปช้า ค่อย ๆ เดินเก็บบรรยากาศไปเรื่อย ๆ ทิ้งความวุ่นวาย หยุดเคลื่อนไหวซักครู่ รับรองว่าคุณต้องได้อะไรจากที่ ๆ เห็นว่าไม่มีอะไรนี่แน่นอน



นี่ค่ะ ภาพที่เราเก็บมาฝาก


หมอก ริมโขง
บ้านริมโขง

ปั่นจักรยานชิวๆ เรียบถนนริมฝั่งโขง ปีใหม่ ๕๑-๕๒
ปั่นจักรยานชิวๆ เรียบถนนริมฝั่งโขง ปีใหม่ ๕๑-๕๒

อุ๊นอุ่น
อุ๊นอุ่น


เก็บผัก ระหว่างทางไป อำเภอปากชม


แมวอ้วนสามตัวที่รั้ววัด


ภาวนา

ภาวนาริมโขง































ตักบาตรข้าวเหนียว




สงบ เย็นสบาย

ใครที่รักสงบ ต้องหลบมาพักสักหย่อนที่นี่ค่ะ บรรยากาศดีเซเว่นยังเข้าไม่ถึง ผู้คนยิ้มแย้มเเจ่มใส น่ารัก ที่พักราคาไม่เเพง มีให้เลือกเป็นโฮมสเตย์ก็มีค่ะ

ไม่ต้องรอหนาว อยู่ใกล้โขงก็เย็นค่ะ








 

Create Date : 28 มีนาคม 2553   
Last Update : 13 พฤษภาคม 2557 15:49:16 น.   
Counter : 232 Pageviews.  

ผลงานตอนเรียน-สารคดีท่องเที่ยว เวนิสอัมพวา

          ไปเที่ยวอัมพวาเมื่อปี 2549 สมัยที่คนไทยเพิ่งบูมของเก่าใหม่ๆ จึงหยิบยกเรื่องนี้ ถ่ายทอดมาส่งอาจารย์ ตอนสมัยปี 2 ซึ่งแน่นไปด้วยคำบรรยาย เพราะรู้สึกแบบนั้นจริงๆ ชอบค่ะชอบ อัมพวาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว Smiley



เวนิสอัมพวา



          หากคุณเป็นคนหนึ่งที่หลงรักความเป็นเอกลักษ์ของวิถีชีวิตและความเป็นธรรมชาติ  ไม่ว่าจะเป็นอาชีพการทำสวนผัก ผลไม้ การเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าว หรือ เที่ยวชมตลาดน้ำที่ยังคงสภาพตลาดเก่าแบบชาวบ้านของชุมชนริมคลอง สิ่งที่ดิฉันนำเสนอในวันนี้คงจะถูกใจคุณไม่มากก็น้อยค่ะ  เชื่อว่าหลายคนพอได้ยินคำว่าตลาดน้ำ ก็คงจะเข้าใจไปว่า ตลาดน้ำดำเนินสะดวกหรือเปล่า เพราะที่นี่โด่งดังความเป็นตลาดน้ำยามเช้า มีการพูดถึงตามสื่อท่องเที่ยวต่าง ๆ อีกทั้งยังเนืองแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ แต่วันนี้ดิฉันจะนำพาคุณไปที่ตลาดน้ำยามเย็นแทนค่ะ ที่มีเฉพาะวันหยุดศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ของสัปดาห์ ที่นี่ก็คือตลาดน้ำอัมพวา ซึ่งต้องขอแนะนำให้คุณได้รู้จักกับแหล่งที่ตั้งของตลาดน้ำแห่งนี้กันก่อน
          อัมพวาตั้งอยู่ในเขตของจังหวัดสมุทรสงคราม โดยจังหวัดนี้เป็นจังหวัดเล็ก ๆ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 416 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที ซึ่งหลักฐานการสร้างเมืองนั้นไม่ปรากฏอย่างแน่ชัด แรกเดิมเป็นแขวงหนึ่งของราชบุรี เรียกว่า “สวนนอก” ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องกับสมัยกรุงธนบุรี จึงแยกจากราชบุรี เรียกว่า “เมืองแม่กลอง”ค่ะ
          เมื่อกล่าวถึงการเดินทางอย่างง่ายและสะดวก โดยเริ่มออกจากกรุงเทพฯ มาที่นี่ โดย รถส่วนตัว รถประจำทาง หรือรถตู้จะใช้เวลาประมาณชั่วโมงเดียวก็ถึง แต่ถ้าหากคุณอยากสัมผัสกับธรรมชาติที่เรื่อย ๆ ลุย ๆ อย่างนักท่องเที่ยวและจ่ายในราคาย่อมเยา ดิฉันแนะนำให้คุณโดยสารรถไฟแทนค่ะ โดยขึ้นรถไฟที่สถานีวงเวียนใหญ่ไปลงที่มหาชัย นั่งเรือข้ามฝากที่ท่าฉลอมเพื่อขึ้นรถไฟต่อไปถึงสถานีแม่กลอง (เรียกแบบชาวบ้านคือสถานีหุบร่ม)ซึ่งดิฉันก็ได้เดินทางมาทางนี้ บอกได้เลยค่ะว่าสนุกมาก รถไฟนี่เฉียดจมูกดิฉันไปนิดเดียวเองค่ะ
เมื่อคุณมาถึงอัมพวาแล้ว คุณก็ไม่ต้องกังวลใจในเรื่องของที่พักเลยค่ะ เพราะที่นี่ก็จะมีบริการ Home stay ริมคลองอัมพวาให้เราเลือกสรรกันหลากหลายสไตล์ทั้งสวย หรู หรือสำหรับคนที่ชอบสัมผัสกับวิถีชีวิตจริงๆ เป็นแบบบ้านของเจ้าของถิ่นเองเลยก็เข้าทีนะคะ เรื่องของราคามีให้เลือกมากมายเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วราคาที่พักหนึ่งคืน จะมีให้เลือกตั้งแต่ 200-500 บาทต่อหนึ่งท่านโดยประมาณ คุณสามารถเลือกเอาตามความชอบของแต่ละบุคคลได้เลยค่ะ จะมาเดี่ยว มาคู่หรือมาเป็นหมู่คณะได้ทุกรูปแบบ ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ปลายฝนต้นหนาว) ก็ตาม สถานที่นี้ก็สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
          หลังจากที่เราจับจองที่พักเป็นที่เรียบร้อย แค่เพียงคุณเดินออกมาตามชานหน้าบ้าน   เวลากลางวันเมื่อเดินไปตามทางเรื่อย ๆ ก็จะเห็นบรรยากาศห้องแถวเรือนไม้สองฟากคลองของเก่าแก่ ให้ได้ย้อนอดีตกลับไปชื่นชมกัน เห็นป้ายเตือนจราจรทางบกซะจนชินตา แต่ทางคลองก็มีเช่นกันค่ะ เขาเขียนอย่างประนีประนอมในเขตชุมชน (ซึ่งน่าจะเป็นฝีมือของชาวบ้านเอง)ว่า “เรือจ๋าช่วยขับช้า ๆ หน่อยชาวบ้านเดือดร้อน”
          ความประทับใจของดิฉันอีกเรื่องคือการได้ยินเสียง “ตื่อตือตือตื๊อตือตื่อตือตื๊อ” เสียงนี้ไม่ได้ไล่มาจากถนน แต่มาจากทางลำคลองแทน นั่นคือเสียงจากเรือไอศครีมเนสเล่ เห็นปลาตีนอยู่ข้างทางเต็มไปหมด บอกได้เลยค่ะว่าสภาพป่าชายเลนแถวนี้ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ ไม่ใช่เฉพาะปลาตีนเท่านั้น ยังพบเห็นตัวเงินตัวทองว่ายน้ำควบคู่มากับเรือด้วย และดิฉันก็ได้ฟังเรื่องเล่ามาจากป้าแดงที่ขายข้าวแกงและขนมจีนแสนอร่อยบอกว่า “นี่ไง (แกยื่นมือมาให้ดู ก็เห็นนิ้วหัวแม่มือพันผ้าก๊อดอยู่) และบอกต่อว่า ป้าโดนมันกัดตอนล้างมือในคลอง เพราะมันอาจจะได้กลิ่นคาวเลือดไก่ ก็เลยมากัดที่มือป้าแบบไม่ปล่อยง่าย ๆ ด้วย (น่ากลัวนะคะ)
เมื่อถึงเวลาตอนช่วง 3 โมงเย็นก็จะเห็นชาวบ้านแถวนั้นเริ่มทยอยพายเรือกันออกมาเพื่อขายกับข้าว ซึ่งบริเวณที่แม่ค้าพ่อค้าพายเรือไปจอดกันคือบริเวณสะพานเลียบนที (อ่านว่า เลียบ-นะ-ทีนะคะ ไม่ใช่ เลีย-บน-ทีค่ะ) โดยอาหารก็มีหลายอย่างค่ะ เช่น ข้าวแกง ขนมจีน ขนมเบื้องญวน กระเพาะปลา ผลไม้ หมึกเผา กุ้งแม่น้ำเผา ก๋วยเตี๋ยวหมู หอยทอด ก๋วยจั้บ ขนมใส่ไส้ น้ำตาลสด เป็นต้น คุณอาจจะเรียกให้แม่ค้าพายเรือมาจอดให้คุณสั่งขึ้นมาชิมกันที่หน้าชานบ้านนั้นเลย หรืออาจเดินไปซึมซับกับบรรยากาศของตลาดไปนั่งชิมตรงบันไดใต้สะพานเลียบนทีพร้อมกับผู้คนที่หลากหลายค่ะ
          ตลาดน้ำอัมพวานั้นเป็นตลาดเก่าแก่ เมื่อสัก 50-60 ปีก่อน ที่นี่ถือเป็นตลาดนัดทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในสมุทรสงครามเลย แต่ก็เหมือนกับที่อื่น ๆ ค่ะก็คือพอถนนหนทางสะดวกมากขึ้น ตลาดการค้าก็ย้ายไปอยู่ริมถนนกันหมด เหมือนที่คุณชาตรี (เจ้าของHome stay) เล่าให้ฟังว่า “เมื่อก่อนดีกว่านี้ เพราะตั้งแต่มีถนน รถราก็เยอะขึ้น วิถีชีวิตผู้คนก็เปลี่ยนไป จากที่มีแต่ตลาดน้ำก็มีตลาดบกมาแทน” แต่ถึงอย่างไรชาวอัมพวาก็ยังคงอนุรักษ์รูปแบบการตั้งถิ่น ฐานบ้านเรือนไว้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ จนได้รับรางวัลชุมชนอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี 2545 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
หากเดินเที่ยวชมตลาดน้ำโดยจะมีทั้งตลาดน้ำและตลาดบกจนหนำใจแล้ว ก็อย่าลืมที่จะชมความเป็นธรรมชาติที่ริมคลองโดยมีให้เลือกลงเรือแจวพาชม ค่าเรือคนละ 20 บาท มีเสื้อชูชีพเพื่อความปลอดภัยให้ใส่กันทุกคน แต่หากอยากได้บรรยากาศล่องเรือแบบส่วนตัว เขาก็มีเรือพายนั่งได้ลำละ 2-3 คนจัดไว้ให้เหมือนกัน โดยค่าเรือคนละ 30 บาท  
          ความที่เป็นตลาดน้ำยามเย็นที่มีเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ อีกทั้งบริเวณนั้นเป็นพื้นที่ที่มีต้นลำพูขึ้นอยู่ มีแมลงที่อาศัยอยู่ตามกิ่งก้านของต้นนี้เป็นจำนวนมาก นั่นก็ คือหิ่งห้อยหรือนางฟ้ายามราตรีนั่นเอง อัมพวาจึงมีการจัดกิจกรรมนั่งเรือไปชมหิ่งห้อยตัวน้อยเปล่งแสงระยิบระยับกันอย่างสวยงาม ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งทุ่มเป็นต้นไป ติดต่อกันได้ที่ท่าเรือเทศบาลอัตราค่าบริการคนละ 60 บาท ใช้เวลาอยู่บนเรือประมาณ 1 ชั่วโมง คนขับเรือจะพาเราไปโดยรอบพื้นที่นั้น เมื่อใกล้ต้นลำพูเขาก็จะดับเครื่องยนต์เพื่อให้เราสัมผัสถึงกับธรรมชาติ แต่ถ้าจะชมหิ่งห้อยให้สวยเขาแนะนำให้ไปชมกันในคืนเดือนมืดไม่ถึงกับต้องเป็นแรม 15 ค่ำ แต่เป็นคืนที่พระจันทร์ยังไม่ขึ้นช่วงหัวค่ำก็เป็นอันใช้ได้ค่ะ
           หากคุณเป็นคนที่ชอบตื่นมาดูดซับอากาศที่บริสุทธิ์เย็นสบายยามเช้า ท่ามกลางสายหมอกบาง ๆ คลอเคลียเหนือผิวน้ำ คุณก็จะได้เห็นภาพชาวบ้านแถวนั้นลุกขึ้นมาตักบาตร โดยที่พระหรือลูกวัดจะพายเรือมาเทียบท่าที่หน้าบ้าน คุณอาจจะเป็นคนหนึ่งที่เดินไปซื้อกับข้าวแล้วนิมนต์พระมาเทียบที่ริมท่าเพื่อทำบุญใส่บาตรซึ่งคุณจะหาบรรยากาศแบบนี้ได้อีกคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ

          เมื่อเอ่ยถึงเรื่องของการทำบุญ โดยเฉพาะเมืองไทยนั้นเป็นเมืองพุทธแล้ว ขาดไม่ได้เลยก็คือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งที่นี่มีวัดอยู่มากมายเนื่องมาจากเจ้าขุนมูลนายสมัยโบราณมีความเชื่อว่าการสร้างวัดเป็นการปูเส้นทางไปสู่สรวงสวรรค์เมื่อตนไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ดิฉันจึงขอแนะนำวัดที่น่าสนใจให้แก่คุณค่ะ
          โดยที่แรกคือ  วัดบางแคน้อย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ภายในอุโบสถมีไม้สักแกะสลักที่น่าสนใจ และหาดูได้ยาก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เวลาและฝีมือการแกะสลักที่ปราณีตโดยละเอียด จะใช้ช่างที่มีความชำนาญ จึงเห็นได้ว่าเป็นอุโบสถที่มีความสวยงาม มีคุณค่าทางด้านศิลปะเป็นอย่างยิ่ง ที่ต่อมาคือ วัดบางกุ้ง วัดที่มีต้นโพธิ์ปรกโบสถ์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกับค่ายบางกุ้ง เป็นสถานที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่เกิดวีรกรรมของชาวแม่กลอง ภายในบริเวณมีอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน นอกจากโบสถ์ศาลเจ้าพ่อดำที่มีลักษณะพิเศษโดยถูกปกคลุมด้วยต้นไทรทั้งหลัง รู้สึกร่มรื่น ภายในอุโบสกเย็นสบาย  และที่สุดท้ายก็คือ วัดอัมพวันเจติยาราม ติดกับอุทยานร.2 พระอุโบสถของวัดมีจิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าเหตุการณ์สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ไว้อย่างสวยงาม รวมถึงภาพฝาผนังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จลงฝีพระหัตถ์เป็นปฐมไว้ด้วย
          สถานที่ที่สำคัญอย่างยิ่งที่คุณไม่ ควรพลาด เมื่อคุณมาที่อัมพวา คืออุทยานพระบรม ราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2) เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้พระราชทาน ศิลปวัฒนธรรมอันงดงามไว้ เป็นมรดกแก่ชาติ จนได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจาก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) บริเวณที่ก่อสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์นี้ พระราชสมุทรเมธี เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยารามเป็นผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย มีพื้นที่ประมาณ 11 ไร่ พื้นที่บริเวณนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นสถานที่ พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดป้ายอุทยานเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2522 และเปิดให้ประชาชนเข้าชมภายในอุทยานได้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2530อยู่ห่างจากตลาดน้ำอัมพวา 200 เมตร
          หากคุณเดินทางมาในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ดิฉันขอแนะนำแหล่งอาหารทะเลสด ๆ อย่างดอนหอยหลอด ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและน่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม บริเวณนี้เป็นสันดอน ปากน้ำแม่กลองที่เกิดการตกตะกอนของดินปนทราย ซึ่งมี 2 แห่งคือ ดอนนอกอยู่บริเวณปากอ่าว ดอนในอยู่ชายหาดหมู่บ้านบางบ่อ ตำบลบางแก้ว และชายหาดหมู่บ้านฉู่ฉี่ ตำบลบางจะเกร็ง บริเวณสันดอนนี้มีหอยอาศัยอยู่หลายชนิด และยังมีบริการเก็บหอยหลอดด้วยนะคะ ถ้าอยากมีประสบการณ์เก็บหอยก็ลองไปที่นี่เลยค่ะ
          หลังจากที่คุณกลับจากดอนหอยหลอดแล้ว รับรองว่าคุณจะได้อาหารทะเลใหม่ สด อร่อยมารับประทานกันที่ หน้าบ้านพักอย่างอิ่มหนำสำราญ  เมื่อได้รับความสุขอย่างล้นเอ่อจากทริปครั้งนี้ ก่อนกลับคุณลองเดินเลียบริมคลองไปที่ร้านค้าต่าง ๆ ที่มีของที่ระลึกแนวอนุรักษ์ศิลปะขายมากมายอย่าลืมเขียนโปสการ์ดส่งกลับบ้าน ที่นี่มีโปสการ์ดรูปสวย ๆ อยู่หลากหลายมุมมองตลอดทุกช่วงเวลาที่อยู่ในอัมพวา หรือจะเดินซื้อของไปฝากคนที่บ้านแถวนั้นก็มีให้เลือก ทั้งของกินต่าง ๆ โดยเฉพาะขนมหวาน ที่นี่จะอร่อยมาก เข้มข้นด้วยเครื่อง (ไม่หวงเครื่อง) เพราะเป็นแหล่งของการทำน้ำตาลมะพร้าว จะไม่เข้มข้นไม่ได้แล้ว หรือจะซื้อผลไม้อย่างลิ้นจี่แม่กลองก็เนื้อแน่นหวานช่ำใจจริง ๆ ค่ะ
          ลองเปลี่ยนบรรยากาศมาเที่ยวที่ใกล้ๆ แต่สุดแสนจะคลาสสิกที่นี่ดู คุณจะเกิดความรู้สึกเหมือนดิฉันหรือเปล่ามิทราบ คืออยากบอกต่อกับทุก ๆ คน Venis of the east , Amphawa of the west     และไม่พลาดที่จะกลับมาเยือนที่เวนิสอัมพวาอีกครั้ง



เดี๋ยวจะลงรูปตามาที่หลังนะคะ Smiley




 

Create Date : 14 มกราคม 2553   
Last Update : 14 มกราคม 2553 0:06:02 น.   
Counter : 1986 Pageviews.  

1  2  

Bethyl
Location :
ระยอง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




carpe'dium

[Add Bethyl's blog to your web]