เรื่องราวหลากหลายเทคโนโลยีน่ารู้เพื่อคุณ
Group Blog
 
All Blogs
 

เพนซีฟ (pensieve) จากเรื่อง Harry Potter กำลังจะเป็นจริง

ที่มา Computerworld

สำหรับเรื่องที่จะเล่าให้ฟังวันนี้ถ้าใครเป็นแฟนของ Harry Potter คงทราบดีนะครับว่าเพนซีฟคืออะไร ส่วนคนที่ไม่ใช่แฟนของ Harry Potter ผมก็ขออธิบายให้ฟังสักเล็กน้อยนะครับ เพนซีฟก็คึอวิธีการที่พ่อมดจะนำเอาความทรงจำของตัวเองลงไปเก็บไว้ในภาชนะ โดยความทรงจำที่เก็บนี่จัดเก็บเหมือนหนังเลยนะครับ คือมีรายละเอียดครบถ้วน และสามารถที่จะเข้าไปดูหรือพาคนอื่นไปดูความทรงจำนั้นได้ตามที่ต้องการ

เอาละครับคราวนี้นักวิจัยที่ ไอบีเอ็ม ซึ่งหัวหน้าโครงการก็คือ คุณ Eran Belinsky ก็ต้องการจะพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สามารถทำงานได้ในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน (ซึ่งเขาก็เรียกมันว่าเพนซีฟด้วย) เรียกว่าไม่ได้ใช้มนต์วิเศษใด ๆ แต่จะใช้ความสามารถของโปรแกรมในการทำงานดังกล่าว

สำหรับเหตุผลที่เขาคิดโปรแกรมนี้ขึ้นมาก็คือ ตอนนี้เขาเห็นว่าพวกเราหลายคนกำลังเกิดอาการข้อมูลท่วมตัวครับ ทีนี้พอข้อมูลมากไปเราก็มีปัญหาแล้วใช่ไหมครับ ผมคิดว่าพวกเราคงเคยเป็นเหมือน ๆ กันทุกคนนะครับ คือเหมือนกับคุ้น ๆ ว่าเคยทำเรื่องนี้ หรืออ่านเรื่องดีดีที่เขียนโดย motokop มาแล้ว แต่จำรายละเอียดไม่ได้ ดังนั้นเจ้าโปรแกรมนี้ละครับที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเจ้าโปรแกรมดังกล่าวจะใช้รูปภาพ เสียง และข้อความที่อยู่บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (เช่นมือถือ) ในการที่จะช่วยให้เราจำเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ หน้าตา การสนทนา หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเพนซีฟจะเก็บและจัดโครงสร้างของข้อมูล และช่วยให้ผู้ใช้สามารถดึงข้อมูลดังกล่าวขึ้นมาใช้ได้โดยง่าย เช่นหลังจากเราถ่ายรูปเก็บเอาไว้จากมือถือของเรา เราก็เอารูปไปเก็บไว้บนเซอร์ฟเวอร์ ซึ่งนอกจากจะเก็บแค่รูปอย่างเดียวเราก็อาจจะเก็บข้อมูลอื่น ๆ พ่วงไปด้วยเช่นเวลาที่ถ่ายรูป และถ้าโทรศัพท์เรามีจีพีเอส เราก็อาจเก็บข้อมูลตำแหน่งที่เราถ่ายภาพนั้นลงไปด้วย เมื่อเราส่งรูปดังกล่าวไปที่เซอร์ฟเวอร์ โปรแกรมก็สามารถเชื่อมโยงรูปดังกล่าวเข้ากับปฏิทินแบบออนไลน์ของเรา เพื่อให้รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ในตอนนั้น ดังนั้นจะเห็นนะครับว่ารูปของเรานั้นจะถูกจัดโครงสร้างตามเวลา สถานที่และเหตุการณ์ในตอนนั้น คราวนี้ถ้าเราเห็นรูปนี้บนมือถือของเรา เราก็จะสามารถรู้รายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรูปนี้ได้

อยากใช้กันแล้วใช่ไหมครับ เป็นที่น่าเสียใจครับที่โปรแกรมนี้ยังไม่เสร็จ และก็ยังไม่มีกำหนดว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ แต่ข่าวดีก็คือตอนนี้เขาบอกว่าตอนนี้โปรแกรมนี้กำลังอยู่ในช่วงการทดสอบครับ โดยพนักงานของไอบีเอ็มเอง นั่นก็หมายความเราน่าจะมีโอกาสได้ใช้กันนะครับ อาจจะเร็ว ๆ นี้ครับ อ้อจริง ๆ แล้วมีโครงการที่คล้ายกับโคงการนี้อยู่แล้วนะครับ โดยนักวิจัยที่ไมโครซอฟต์ชื่อ คุณ Gordon Bell ได้ทำโครงการที่เรียกว่า MyLifeBits ซึ่งเขาได้บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาแทบทุกอย่าง เช่นหนังสือที่เขาเขียน วิดีโอที่เขาไปบรรยายตามที่ต่าง ๆ เป็นต้น เอาไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ และตอนนี้นักวิจัยที่ไมโครซอฟต์ก็กำลังพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อสนับสนุนการจัดเก็บ การจัดโครงสร้างของข้อมูลต่าง ๆ เช่นกัน และโครงการนี้ทำมาเก้าปีแล้วครับ (นี่อาจเป็นเหตุผลที่นักวิจัยที่ไอบีเอ็มไม่กล้าบอกว่าโปรแกรมนี้จะเสร็จเมื่อไร)

ตอนนี้ผมคิดว่าก็อาจมีพวกเราหลาย ๆ คน เริ่มบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ลงคอมพิวเตอร์กันบ้างแล้วใช่ไหมครับ ตัวอย่างเช่นอัลบั้มรูปบนเว็บ หรือแม้แต่การมาเขียนบล็อกนี่ก็เป็นการบันทึกเหตุการณ์และความทรงจำของเราและเอามาแบ่งปันให้กับคนอื่น ๆ วิธีหนึ่ง ซึ่งถ้าเจ้าซอฟต์แวร์นี้สำเร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นของไอบีเอ็มหรือไมโครซอฟต์ เราก็น่าจะมีวิธีการการจัดการข้อมูลที่เป็นระบบมากขึ้นนะครับ (ถ้ามันไม่แพงเกินไป) ซึ่งผมคิดว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนใจของนักวิจัยชาวไทยเช่นกันนะครับ




 

Create Date : 03 สิงหาคม 2551    
Last Update : 11 สิงหาคม 2551 23:23:49 น.
Counter : 1943 Pageviews.  

มาเล่นเกมที่สร้างจากคอมพิวเตอร์กันเถอะ

สวัสดีครับวันนี้ผมขอแนะนำเกมให้เล่นกันครับ (หลายคนอาจรู้จักแล้วก็ได้) แต่ต้องบอกก่่อนนะครับว่าไม่ใช่เกมยิงกันเลือดสาด หรือเกมผจญภัยอะไร แต่เป็นเกมความคิด เกมกระดาน คล้าย ๆ เกมโอเอกซ์ เกมนี้ชื่อ Yavalath ครับ เกมนี้จะเป็นเกมส์ที่เล่นกันสองคนครับ จุดประสงค์คือเราจะต้องเรียงตัวเบี้ยของเราให้ได้เป็นแถวความยาวสี่ตัวหรือมากกว่า แต่ห้ามเรียงติดกันสามตัวก่อนที่จะได้สี่ตัว ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจต้องลองเล่นดูครับ ลองเข้าไปดาวน์โหลดและดูวิธีเล่นที่เว็บนี้นะครับ Yavalath

แต่มีสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกมนี้ครับ ซึ่งที่มาก็มาจากเว็บนี้ครับ //www.news.qut.edu.au/cgi-bin/WebObjects/News.woa/wa/goNewsPage?

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เกมนี้ไม่ได้คิดขึ้นโดยคนครับ แต่คิดโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชื่อว่า Ludi ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาปริญญาเอกชื่อว่า Cameron Browne (รู้สึกตอนนี้จะเรียนจบแล้วนะครับ) โดย Ludi จะใช้กฏเกณฑ์จากเกมกระดานต่าง ๆ เช่นหมากฮอส และโอเอกซ์ จากนั้นก็คิดเกมออกมา และก็ยังตัดสินใจได้ด้วยว่าเกมไหนน่าจะเป็นเกมที่นักเล่นเกมจะชอบ ซึ่งแนวคิดการทำวิจัยทางด้านเกมด้วยวิธีนี้จะแตกต่างจากงานวิจัยอื่น ๆ ที่เน้นที่จะพัฒนาให้โปรแกรมสามารถแข่งขันกับคนหรือแม้แต่จะเอาชนะคนให้ได้ แต่งานวิจัยนี้จะทำให้ได้เกมที่มีคุณภาพครับ Yavalath จัดเป็นเกมที่มีคุณภาพ และได้รับการยอมรับจากนักเล่นเกมส์มือฉมังจากทั่วโลกครับ ความหมายของเกมส์ที่มีคุณภาพตามความคิดของคุณ Browne ก็คือเกมส์ที่ผู้คนจะเล่นได้โดยไม่รู้เบื่อ ซึ่งจริง ๆ แล้วการจะบอกว่าโปรแกรมใดมีคุณภาพอาจจะต้องใช้เวลาเป็นปี แต่ Ludi สามารถทำได้โดยใช้เวลาไม่นาน กฏเกณฑ์ที่ Ludi ใช้ตัดสินเกมมาจากการที่คุณ Browne ทำแบบสอบถามให้คน 100 คนมาจัดอันดับเกม 79 เกม จากนั้นก็วิเคราะห์หาคุณลักษณะหลักของเกมเหล่านั้น ซึ่งเขาสรุปได้ว่าคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดคือระดับของความไม่แน่นอนครับ คือจะต้องยังไม่มีใครรู้ว่าใครจะชนะจนกว่าเกมจะจบลง สำหรับทฤษฏีพื้นฐานสำหรับ Ludi นี้ก็คือทฤษฏีทางด้านปัญญาประดิษฐ์ครับ จริง ๆ แล้วจากบทความที่ผมไปอ่านมา Ludi ก็สร้างเกมออกมาหลายเกมนะครับ (เสียดายที่เขาไม่ได้บอกว่ามีอะไรบ้าง ผมลองพยายามหาดูก็ยังไม่เจอ) แต่ที่ดังที่สุดก็คือ Yavalath นี่ละครับ อ้อมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับชื่อของ Ludi และ Yavalath ครับ ชื่อ Ludi มาจากภาษาลาตินครับ ซึ่งตามความหมายภาษาอังกฤษคือ Master of the Game แปลเป็นไทยก็น่าจะเป็น จ้าวแห่งเกม นะครับ ส่วน Yavalath นี่เป็นสร้างโดยใช้การสุ่มมาจากรายการของ Tolkien-style word forms (อันนี้ผมก็ไม่ค่อยชัดเจนนะครับว่ามันคืออะไร แต่รู้สึกว่าถ้าใครที่เป็นแฟนหนังสือ Loard of the Ring อาจจะทราบ ถ้าใครทราบก็ขอข้อมูลเพิ่มด้วยนะครับ ) โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า Markovian process (ซึ่งเป็นตัวแบบทางคณิตศาตร์แบบหนึ่งครับ ถ้าสนใจว่ามันคืออะไรก็เชิญที่นี่ครับ //en.wikipedia.org/wiki/Markov_process สำหรับผมตอนนี้ขอบายก่อนครับ )
เป็นอย่างไรบ้างครับแนวคิดของเขาเยี่ยมไหมครับ งานวิจัยนี้เป็นการผสมผสานความฉลาดและความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน ซึ่งจากรายงานเขาบอกว่ากรรมการสอบวิทยานิพนธ์คนหนึ่งถึงกับบอกว่างานวิจัยของคุณ Browne จะเป็นงานวิจัยที่ใช้เป็นงานอ้างอิงมาตรฐานไปอีก 50 ปี นับจากนี้ ซึ่งผมก็เห็นด้วยครับว่างานของเขาเป็นงานที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ




 

Create Date : 26 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 26 กรกฎาคม 2551 22:35:01 น.
Counter : 1356 Pageviews.  

ระบบติดตามผู้สูงอายุ

สวัสดีครับ กลับมารายงานตัวครับ หลังจากหายไปอีกหนึ่งอาทิตย์ตามเคย จริง ๆ ช่วงนี้ก็มีวันหยุดยาวนะครับ น่าจะกลับมาได้เร็วกว่านี้ แต่ปรากฏว่าหยุดสองวันแรกไม่มีโอกาสได้เข้าใช้อินเตอร์เน็ตเลย ถูกคุณลูกยึดไปเล่นซะหมด กลับมาเล่าเรื่องกันดีกว่าครับ

สำหรับเรื่องทื่จะเล่าให้ฟังในวันนี้ ก็จะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุครับ สำหรับที่มาก็จากเว็บนี้ครับ //www.stuff.co.nz/manawatustandard/4611609a6502.html

นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Massey ในประเทศนิวซีแลนด์ ได้พัฒนาระบบที่เขาใช้ตัวย่อว่า SAM ซึ่งชื่อเต็ม ๆ ของมันก็คือ Selective Activity Monitoring โดยระบบนี้จะมีใช้กับผู้สูงอายุซึ่งอาศัยอยู่ตามลำพังครับ ระบบนี้มีการทำงานแบบนี้ครับ จะมีตัวรับสัญญาณซึ่งสามารถติดตั้งไว้ในแผงปลั๊กไฟปกตินี่ละครับ โดยเจ้าตัวรับสัญญาณจะทำหน้าที่ตรวจตราสิ่งผิดปกติที่อาจหมายถึงมีบางอย่างที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเช่น ไม่มีการทำกับข้าวหรือล้างจานเป็น
เวลานาน ๆ ไม่ลุกขึ้นจากเตียงในตอนเช้า ไม่ได้ปิดเตาอบ หรือไม่ได้ปิดทีวีตอนกลางคืน ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น ก็จะส่งสัญญาณไปยังผู้ดูแล หรืออาจจะเป็นเพื่อนบ้านให้ทราบ ข้อดีของระบบนี้มีสองอย่างครับ อย่างแรกคือมันให้ความเป็นส่วนตัว ถ้าเทียบกับการไปติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ในบ้าน ข้อดีประการที่สองคือเจ้าระบบนี้มันทำงานอัตโนมัติ คือผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องไปกดปุ่มอะไรถ้าต้องการความช่วยเหลือ เจ้าระบบต้นแบบนี้ได้รับรางวัลจากการประกวดด้วยครับ นั่นหมายความว่ามันเสร็จแล้วครับ ปัญหาประการเดียวในตอนนี้คือเขาต้องการอาสาสมัครนำไปติดตั้งทดลองใช้ในชีวิตจริงครับ ไม่ทราบมีใครสนใจบ้างไหมครับ

จากเรื่องนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นว่านักวิจัยของเขาพยายามที่จะคิดค้นงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตแล้ว ยังสะท้อนสภาพสังคมอีกด้วย จะเห็นว่าผู้สูงอายุในประเทศตะวันตกนี่ส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังนะครับ ในช่วงที่ผมไปเรียนอยู่ที่ต่างประเทศนี่ก็ได้เห็นผู้สูงอายุที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังต้องไปซื้อของเองโดยไม่มีลูกหลานดูแล เราเป็นคนไทยดูแล้วก็รู้สึกสงสาร เพราะถ้าเทียบกับบ้านเราแล้วก็รู้สึกว่าเราจะมีความอบอุ่นกว่าเยอะ ที่ต้องชมก็คือระบบของเขาครับ คือเขามีการเตรียมพร้อมสำหรับรองรับเรื่องเหล่านี้ไว้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้พิการ และที่ว่าพวกชาวตะวันตกไม่มีน้ำใจไม่สนใจกันนี่ก็ไม่จริงนะครับ ผมเห็นว่าเขาให้ความช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี
กลับมาที่บ้านเราบ้างครับจากการที่วิเคราะห์กันว่าในอนาคตเราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ (ซึ่งผมคงเป็นหนึ่งในนั้น ) ตอนนี้ผมว่าเราก็น่าจะคิดระบบที่รองรับเรื่องเหล่านี้ไว้บ้างนะครับ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ๆ (ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นบ้างแล้วครับในกรุงเทพ) และเรื่องน้ำใจไมตรีซึ่งเคยเป็นจุดแข็งของเรา ตอนนี้ผมก็รู้สึกว่ามันเริ่มจะจางหายไปบ้างแล้วนะครับ ยังไงก็รักษาความดีของเราไว้ และรับสิ่งดี ๆ จากเขามาปรับใช้นะครับ ...




 

Create Date : 20 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 20 กรกฎาคม 2551 1:57:05 น.
Counter : 802 Pageviews.  

แผนที่โรคระบาด

สวัสดีครับหลังจากหายหน้าหายตาไปสักหนึ่งอาทิตย์ จนเพื่อนบางคนเข้ามาเยี่ยมสองสามครั้งแล้ว ก็ได้ฤกษ์ (ไม่ใช่เลิก) กลับมาเขียนบล็อกสักทีครับ สำหรับเรื่องวันนี้ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านที่ต้องเดินทางบ่อย ๆ ครับ โดยที่มาก็มาจากที่นี่ครับ //www.technologyreview.com/Biotech/21060/?a=f

มีการพัฒนาระบบแสดงแผนที่ที่ใช้แสดงการระบาดของโรคที่ชื่อว่า HealthMap ขึ้นครับ โดยการทำงานของเจ้า HealthMap นี้ จะเป็นการรวบรวมข่าวสารที่รายงานการเกี่ยวกับโรคระบาดต่าง ๆ ที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ต จากนั้นก็มาทำเป็นแผนที่ที่แสดงถึงการระบาดของโรค โดยข้อมูลที่เขาเอามาใช้ในการประมวลผลก็จะมาจากหลายแหล่งมากครับ เช่นประกาศแจ้งเตือนจากองค์การอนามัยโลก mailing list อย่าง listserv เว็บไซต์ของสำนักข่าวต่าง ๆ ที่ลงข่าวเกี่ยวกับการระบาดของโรค ซึ่งเขาใช้ข้อมูลจากเว็บเป็นพัน ๆ เว็บเชียวนะครับ และยังไม่ใช่เว็บที่เป็นภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียวแต่เป็นภาษาต่าง ๆ กันถึงหกภาษา (ในตัวบทความไม่ได้บอกครับว่าภาษาอะไรบ้าง ไม่รู้มีภาษาไทยด้วยหรือเปล่า) ยิ่งไปกว่านั้นตัวโปรแกรมที่เขาใช้ประมวลผลข้อมูลที่ได้มายังมีความสามารถที่น่าทึ่งมากครับ คือมันจะสามารถแยกข่าวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคออกไปได้ เช่นในบทความเขายกตัวอย่างว่า ตัวโปรแกรมจะต้องสามารถแยกความแตกต่างของข่าวที่เกี่ยวกับการเกิดโรควัณโรค กับข่าวเกี่ยวกับการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคออกจากกันได้ ความเที่ยงตรงของเจ้าโปรแกรมดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละเก้าสิบห้าครับ จุดเด่นของเจ้า HealthMap อีกประการหนึ่งจะอยู่ที่เวลาในการรายงานผลครับ เนื่องจากข้อมูลทีใช้ในการประมวลผลจะมาจากหลายแหล่ง ซึ่งข้อมูลจากสำนักข่าวต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ก็จะเร็วกว่าข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เขายกตัวอย่างงว่าเขาสามารถรายงานการระบาดของไข้หวัดนกในอินโดนีเซียได้ก่อนหน้าทีองค์การอนามัยโลกจะประกาศประมาณสองถึงสามวัน สำหรับเว็บไซต์ของ HealthMap นี้จะปรับปรุงข้อมูลโดยอัตโนมัติทุกชั่วโมงครับ อยากรู้เว็บไซต์ของเจ้า HealthMap กันแล้วใช่ไหมครับ ก็ตามลิงก์นี้ได้เลยครับ
//www.healthmap.org/en

จากที่ผมลองเข้าไปดูการระบาดของไข้หวัดนก ปรากฏว่าเป็นข่าวดีครับที่ประเทศไทยของเราไม่มีรายงานปรากฏในแผนที่ครับ นับว่าเป็นข่าวดีท่ามกลางข่าวไม่ดีทั้งหลายทั้งปวงในตอนนี้นะครับ




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 12 กรกฎาคม 2551 23:24:48 น.
Counter : 1046 Pageviews.  

ระบบขับเคลื่อนด้วยลิ้น

สำหรับวันนี้ก็มีเรื่องเทคโนโลยีที่น่าสนใจสำหรับช่วยเหลือคนพิการมาเล่าให้ฟังอีกครับ คราวนี้จะเป็นผู้พิการซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรงที่กระดูกสันหลัง สำหรับที่มาก็ตามลิงก์นี้เลยครับ
//gtresearchnews.gatech.edu/newsrelease/tongue-drive.htm
อาจารย์ที่ Georgia Institute of Technology ชื่อ Maysam Ghovanloo และนักศึกษาชื่อ Xueliang Huo  ได้พัฒนาระบบขับเคลื่อนด้วยลิ้นขึ้นครับ โดยหลักการก็คือจะใช้การขยับลิ้นในการควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ แนวคิดคร่าว ๆ ก็คือเขาจะฝังแม่เหล็กไว้ที่ลิ้นของผู้พิการจากนั้นถ้ามีการขยับลิ้นก็จะเกิดการส่งสัญญาณแม่เหล็กไปที่ตัวรับที่อาจจะอยู่ที่ที่สวมหัวหรือฝังไว้ในปาก จากนั้นตัวรับก็จะส่งสัญญาณไปที่คอมพิวเตอร์แบบพกพาซึ่งอาจจะใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือติดตั้งไว้ที่วีลแชร์ ซึ่งคอมพิวเตอร์ก็จะทำหน้าที่ประมวลผลสัญญาณดังกล่าว โดยระบบดังกล่าวจะสามารถแปลความหมายของการเคลื่อนไหวของลิ้นเป็นคำสั่งต่าง ๆ และยังสามารถจะกำหนดชุดคำสั่งให้เหมาะกับแต่ละคนได้อีกด้วย  เหตุผลที่ว่าทำไมต้องใช้ลิ้นเป็นตัวควบคุมก็เนื่องจากลิ้นนั้นสามารถส่งสัญญาณเชื่อมต่อโดยตรงไปยังเส้นประสาทโดยไม่ต้องผ่านไขสันหลัง ยิ่งไปกว่านั้นการบังคับลิ้นยังทำได้ง่ายอีกด้วย ตัวงานวิจัยนี้คิดว่าใกล้สำเร็จแล้วนะครับเขามีวีดีโอสาธิตการใช้ระบบในการควบคุมวีลแชร์ให้ดูด้วย  โดยถ้าสนใจจะดูวีดีโอก็ให้เข้าไปที่ตัวบทความตามลิงค์ที่ให้ไว้ข้างบนนะครับ 






Free TextEditor




 

Create Date : 04 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 4 กรกฎาคม 2551 20:49:15 น.
Counter : 692 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

motokop
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




สวัสดีครับ สำหรับบล็อกนี้ผมก็ตั้งใจจะให้เป็นข่าวสารที่น่าสนใจทางคอมพิวเตอร์ ทั้งข้อมูลด้านเทคโนโลยีที่น่าสนใจ การพัฒนาโปรแกรม และงานวิจัยต่าง ๆ อาจแทรกไปด้วยเรื่องอื่นๆ บ้าง ตามแต่อารมณ์และสถานการณ์ครับ ยินดีรับความคิดเห็นของทุกคนครับ
Visit InfoServe for backgrounds.

เพื่อนที่กำลังชมบล็อก:

ผู้ชมทั้งหมด:

Friends' blogs
[Add motokop's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.