Group Blog
 
All blogs
 

บริษัทและห้างหุ้นส่วนใหม่ต้องทำอย่างไรบ้าง

หน้าที่ของบริษัทและห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน

1. ต้องจัดให้มี "ผู้ทำบัญชี" ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตามพรบ.บัญชี พ.ศ. 2543 ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีของบริษัทละ 1 คน เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีของนิติบุคคล ทั้งนี้อาจเป็นพนักงานของนิติบุคคล ผู้รับทำบัญชีอิสระ หรือสำนักงานรับทำบัญชีก็ได้

2. จัดทำบัญชีตามกฏหมาย นับตั้งแต่วันที่ได้รับจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำได้แก่
3.1 บัญชีรายวัน ได้แก่ บัญชีเงินสด บัญชีธนาคาร บัญชีรายวันซื้อ บัญชีรายวันขาย บัญชีรายวันทั่วไป
3.2 บัญชีแยกประเภทสินทรัพย์ หนี้สิน ทุน รายได้และค่าใช้จ่าย ลูกหนี้ เจ้าหนี้
3.3 บัญชีสินค้า
3.4 บัญชีรายวันและแยกประเภทอื่นตามความจำเป็น

3. ส่งมอบเอกสารประกอบการลงบัญชี ให้แก่ "ผู้ทำบัญชี" ให้ครบถ้วนถูกต้อง

4. จัดให้มีการปิดบัญชี ครั้งแรกภายใน 12 เดือน และปิดบัญชีทุกรอบ 12 เดือน นับแต่วันปิดบัญชีครั้งก่อน

5. จัดทำงบการเงิน อย่างน้อยครั้งหนึ่งทุกรอบสิบสองเดือน ซึ่งงบการเงินดังกล่าวจะต้องมีรายการย่อตามที่อธิบดีกำหนด และงบการเงินต้องมีผู้สอบบัญชีอย่างน้อยหนึ่งคนตรวจสอบ แล้วนำเสนอที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นอนุมัติงบการเงินภายใน 4 เดือน นับแต่วันปิดรอบปีบัญชี พร้อมทั้งยื่นงบการเงินต่อสำนักบริการข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันอนุมัติงบการเงิน (สำหรับห้างหุ้นส่วนต้องจัำดทำงบการเงินยื่นภายใน 5 เดือน นับแต่วันปิดบัญชี) ทั้งนี้รวมถึง บริษัท และห้างหุ้นส่วนที่แม้ว่าจะยังมิได้ประกอบกิจการก็ตาม จะต้องส่งงบการเงินด้วย มิฉะนั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

6. เก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี โดยเก็บรักษาไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี

7. จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (เฉพาะกรณีบริษัทจำกัด) ณ วันที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นและให้นำส่งต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร หรือที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดแล้วแต่กรณี ภายใน 14 วัน นับจากวันที่ประชุม มิฉะนั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

8. ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญ (เฉพาะกรณี บริษัท จำกัด) ภายหลัง 6 เดือน นับแต่วันจดทะเบียน เป็นนิติบุคคล และจัดประชุมครั้งต่อไปอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุกระยะเวลา 12 เดือน

9. ต้องจัดทำใบหุ้น (เฉพาะกรณี บริษัท จำกัด) มอบให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท มิฉะนั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

10. ต้องจัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท (เฉพาะกรณี บริษัท จำกัด) มิฉะนั้นมีความผิดต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

11. การดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหรือเลิกและชำระบัญชี ในกรณีที่ บริษัท จำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนั้นได้ตกลงที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรายการใด ๆ ที่ได้จดทะเบียนไว้เป็นอย่างอื่น หรือผู้ถือหุ้น/ผู้เป็นหุ้นส่วนประสงค์จะเลิกกิจการ ก็จะต้องไปดำเนินการขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมรายการนั้น ๆ หรือจดทะเบียนเลิกและเสร็จการชำระบัญชี ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทที่ห้างนั้นมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ การจดทะเบียนจัดตั้งและแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องดำเนินการตามวิธีและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายและระเบียบของทางราชการได้กำหนดไว้




 

Create Date : 07 มกราคม 2551    
Last Update : 7 มกราคม 2551 14:31:59 น.
Counter : 557 Pageviews.  

เป็นผู้สอบบัญชีได้อย่างไร

มาเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตกัน



การเตรียมตัวเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตควรต้องรู้ข้อบังคับของก.บช.ที่กำหนดไว้ว่าผู้ที่จะเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ซึ่งข้อบังคับของ ก.บช. กำหนดไว้ว่า

ผู้ที่จะเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้นั้น ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1.เป็นผู้รับปริญญาทางการบัญชี หรือประกาศนียบัตรทางการบัญชี ซึ่งก.บช. เทียบว่าไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี
หรือเป็นผู้ได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตรไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีที่มีการศึกษาวิชาการบัญชีซึ่งทาง ก.บช.
เห็นสมควรให้เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้

2.เคยปฎิบัติงานเกี่ยวกับการสอบบัญชีมาแล้ว โดยก.บช. เห็นว่าทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้

3.มีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์แล้ว

4.มีสัญชาติไทยหรือสัญชาติของต่างประเทศที่ยินยอมให้บุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้สอบบัญชีในประเทศนั้นได้

5.ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

6.ไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีที่ ก.บช. เห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

7.ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ และ

8.ไม่ประกอบอาชีพอย่างอื่นที่ไม่เหมาะสม หรือทำให้ขาดความเป็นอิสระในหน้าที่ผู้สอบบัญชี

ในคุณสมบัติข้อ 2 เคยปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสอบบัญชีมาแล้วโดย ก.บช.เห็นว่าทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชี รับอนุญาตได้นั้นคือจะต้อง

(1) ฝึกหัดงานสอบบัญชีเป็นเวลาต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปีบริบูรณ์ และมีเวลาฝึกหัดงานไม่น้อยกว่า 3,000 ชั่วโมง

ซึ่งการฝึกงานจะกระทำในระหว่างการศึกษาเพื่อรับปริญญาหรือหลังจากได้รับปริญญาแล้วก็ได้ แต่ถ้าฝึกหัดงานในระหว่าง การศึกษาจะเริ่มฝึกหัดงานหลังจากได้สอบผ่านวิชาการบัญชีตามที่ ก.บช. กำหนดไม่น้อยกว่า 4 รายวิชา และวิชาสอบบัญชี
ไม่น้อยกว่า 1 รายวิชา ซึ่งรวมทุกวิชาแล้ว ไม่น้อยกว่า 15 หน่วยกิต

วิชาการบัญชีที่ก.บช. กำหนดต้องศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรีเพื่อเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตมีดังนี้

1. การบัญชีขั้นต้น/ชั้นต้นและการบัญชีขั้นกลาง/ชั้นกลาง 3 รายวิชา

2. การบัญชีขั้นสูง/ชั้นสูง 1 รายวิชา

3. การสอบบัญชี 1 รายวิชา

4. การบัญชีต้นทุน 1 รายวิชา

5. การภาษีอากร 1 รายวิชา

รวม 7 รายวิชา

ผู้ที่จะฝึกหัดงานสอบบัญชีจะต้องปฏิบัติดังนี้

หาสำนักงานสอบบัญชีที่จะเข้าไปฝึกหัดงาน และควรตรวจสอบกับสำนักงาน ก.บช. ด้วยว่าผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่ท่านเข้าฝึกหัดงานด้วยนั้นยังเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
ให้ยื่นคำข้อแจ้งการฝึกหัดงานต่อสำนักงาน ก.บช. ตามแบบ ก.บช. 2 ในทันทีที่เริ่มฝึกหัดงาน เพราะจะเริ่มนับระยะเวลา และจำนวนชั่วโมงฝึกหัดงานในวันที่ยื่นแบบ ก.บช. 2
ทุกรอบ 12 เดือนที่ฝึกหัดงานจะต้องรายงานผลการฝึกหัดงานต่อสำนักงาน ก.บช. ตามแบบ ก.บช. 3 เช่น ฝึกหัดงานวันที่ 15 ก.ย.43 เมื่อถึงวันที่ 14 ก.ย.44 จะต้องรายงานผลการฝึกงาน ตามแบบ ก.บช.3
ในระหว่างฝึกหัดงาน ถ้ามีเหตุใดๆ ก็ตามที่ทำให้ท่านต้องเปลี่ยนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่รับรองการฝึกหัดงานของท่าน จะต้องแจ้งต่อสำนักงาน ก.บช. ตามแบบ ก.บช. 6 ภายใน 1 เดือน ถ้าแจ้งเลยกว่า 1 เดือน จะต้องเริ่มนับระยะเวลาและจำนวนชั่วโมงฝึกหัดงานใหม่
เมื่อฝึกหัดงานครบ 3 ปี และได้จำนวนชั่วโมงฝึกหัดงานไม่น้อยกว่า 3,000 ชั่วโมง ให้แจ้งต่อสำนักงาน ก.บช. เพื่อปิดการฝึกหัดงานตามแบบ ก.บช. 7

(2) ผ่านการทดสอบของคณะกรรมการทดสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสอบบัญชี วิชาที่ทดสอบมี 5 วิชาคือ

1.การบัญชี
2.การสอบบัญชี 1
3.การสอบบัญชี 2
4.กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี
5.การใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดทำและตรวจสอบบัญชี

จะต้องสอบผ่านให้ได้ทั้ง 5 วิชา โดยมีคะแนนในแต่ละวิชาไม่น้อยกว่า 60 คะแนน ข้อสอบจะเป็นปรนัย 40 ข้อ (40 คะแนน) อัตนัย 3 ข้อ (60 คะแนน) เวลาสอบ 3 ชั่วโมงต่อ 1 วิชา วิชาที่สอบผ่านแล้ว สามารถเก็บผลคะแนนไว้ได้ไม่เกิน3 ปี นับแต่วันที่ผ่านการทดสอบ
ก.บช. จะจัดสอบปีละ 3 ครั้ง คือ เดือนมิถุนายน กันยายน และธันวาคม ซึ่งจะสอบวันอาทิตย์ จะเปิดรับสมัครสอบก่อนถึงวันสอบ 2 เดือน โดยเดือนแรกจะเปิดรับสมัคร ส่วนเดือนที่สอง ก.บช. จะใช้พิจารณา คัดเลือกผู้สมัครที่จะมีสิทธิเข้าสอบ
ผู้ที่ผ่านการฝึกหัดงานครบถ้วนตามเงื่อนไข และผ่านการทดสอบครบทั้ง 5 วิชา ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต่อสำนักงาน ก.บช. เมื่อ ก.บช. ออกใบอนุญาตท่านก็จะเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้อย่างสมศักดิ์ศรีด้วย
ความภาคภูมิใจ




 

Create Date : 17 กันยายน 2550    
Last Update : 17 กันยายน 2550 20:22:02 น.
Counter : 467 Pageviews.  

ทำความรู้จักบัญชีภาษี

รู้จักบัญชี
การบัญชี หมายถึง การจดบันทึก การจำแนกให้เป็นหมวดหมู่ และการสรุปผลสิ่งสำคัญในรูปตัวเงิน รายการ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทางด้านการเงิน รวมทั้งการแปลความหมายของผลการปฏิบัติดังกล่าวด้วย

การบัญชีมีความหมายที่สำคัญ 2 ประการ คือ

1. การทำบัญชี (Bookkeeping) เป็นหน้าที่ของผู้ทำบัญชี (Bookkeeper) ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้

1.1 การรวบรวม (Collecting) หมายถึง การรวบรวมข้อมูลหรือรายการค้าที่เกิดขึ้นประจำวันและหลักฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ เช่น หลักฐานการซื้อเชื่อและขายเชื่อ หลักฐานการับและจ่ายเงิน เป็นต้น
1.2 การบันทึก (Recording) หมายถึง การจดบันทึกรายการค้าที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งให้ถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป พร้อมกับบันทึกข้อมูลให้อยู่ในรูปของหน่วยเงินตรา
1.3 การจำแนก (Classifying) หมายถึง การนำข้อมูลที่จดบันทึกไว้แล้ว มาจำแนกให้เป็นหมวดหมู่ของบัญชีประเภทต่างๆ เช่น หมวดสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของเจ้าของ รายได้และค่าใช้จ่าย
1.4 การสรุปข้อมูล (Summarizing) เป็นการนำข้อมูลที่ได้จำแนกให้เป็นหมวดหมู่ดังกล่าวมาแล้วมาสรุปเป็นรายงานทางการเงิน (Accounting report) ซึ่งแสดงถึงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของธุรกิจตลอดจนการได้มาและใช้ไปของเงินสดในรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง

2. การให้ข้อมูลทางการเงิน เพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เช่น ฝ่ายบริหาร ผู้ให้กู้ เจ้าหนี้ ตัวแทนรัฐบาล

นักลงทุน เป็นต้น นอกจากนี้ข้อมูลทางการเงินยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ทางด้านการเงิน การจัดทำงบประมาณ การปรับปรุงระบบบัญชี เป็นต้น

รู้จักภาษีอากร

ผู้จัดการในธุรกิจขนาดย่อมส่วนใหญ่ มีความสามารถด้านเทคนิค เพื่อให้งานหลักในธุรกิจของตนดำเนินไปด้วยดี แต่ขาดความรู้ความเข้าในการจัดการงานที่เป็นระบบซึ่งเหตุผลเหล่านี้คงจะทำให้เข้าใจถึงคำตอบของคำถามที่ว่าผู้จัดการเหล่านี้จะมีความรู้ความเข้าใจระบบภาษีอากรที่ซับซ้อนได้มากน้อยเพียงไรคำแนะนำต่อไปนี้ อาจจะเป็นประโยชน์บ้างสำหรับผู้จัดการธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งถ้าเมื่อไรก็ตามที่ผู้จัดการมีคำถามเกี่ยวกับภาษีอากร สิ่งที่ควรเข้าใจก็คือ
1. ภาษีอากรมิใช่เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่จะต้องพิจารณาและต้องตัดสินใจเท่านั้น
2. การหลบหนีภาษี (Tax evasion) และการหลีกเลี่ยงภาษี (Tax avoidance) มีความแตกต่างกัน การหลบหนีภาษีหมายถึง การไม่จ่ายชำระภาษีเมื่อถึงกำหนดชำระ ส่วนในกรณีหลัง หมายถึงการจัดการในทางที่จะทำให้ภาระภาษีต่ำลงหรือยืดระยะเวลาออกไป กฏหมายภาษีอากรมิได้กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องทำกำไรให้มากที่สุดเพื่อส่งเสริมรายได้ของรัฐ และก็มิได้ห้ามให้ผู้จัดการตัดสินใจในแนวทางที่จะทำให้ภาระภาษีต่ำลงเช่นเดียวกัน ดังนั้นความพยายามที่จะยืดระยะเวลาการรับภาระภาษีออกไป หากอยู่ในขอบเขตของกฎหมายแล้ว ย่อมถือมิได้ว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย
3. ภาษีอากรเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยทักษะ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและซับซ้อน ขึ้นกับว่าผู้จัดการจะมีเวลาเพื่อใช้ทบทวนในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน หากเกิดปัญหาทางภาษีอากรขึ้นมา ผู้จัดการควรศึกษาพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน หรือไม่เช่นนั้นก็จำต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ แทนการฟังคำบอกเล่าจากบุคคลอื่นหรือเพื่อนฝูง

การเลือกรูปแบบของธุรกิจ

ในทางภาษีอากร ไม่ว่าจะประกอบธุรกิจขนาดย่อมในรูปของห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด ก็ถือว่าเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกัน ดังนั้นการชำระภาษีจะใช้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 30 จากกำไรสุทธิ โดยอาศัยข้อมูลทางบัญชีเป็นหลักในการคำนวณกำไรสุทธิและกำไรทางภาษีอากร

ทางเลือกในอีกรูปแบบหนึ่งคือ การประกอบการในลักษณะเจ้าของคนเดียวหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน ซึ่งจะชำระภาษีในอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเริ่มต้นที่ร้อยละ 5 จนถึงร้อยละ 37 ขึ้นกับเงินได้สุทธิที่เริ่มตั้งแต่มากกว่าศูนย์บาท ถึง 4 ล้านบาทขึ้นไป

หลักพิจารณาง่าย ๆ ในการเลือกรูปแบบของธุรกิจ ก็คือ สมมติให้ผลประกอบการมีกำไรสุทธิ 1 ล้านบาท ธุรกิจในรูปนิติบุคคล จะต้องเสียภาษี 300,000 บาท ในขณะที่ธุรกิจในรูปของบุคคลธรรมดา จะเสียภาษีเพียง 145,000 บาท เท่านั้น ซึ่งข้อสมมตินี้ถึงแม้อาจจะดูสุดโต่งไปบ้าง แต่ก็พอทำให้ผู้จัดการธุรกิจเห็นความสำคัญของการเลือกรูปแบบธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

การเลือกปีภาษีสำหรับผู้เริ่มเข้าทำธุรกิจ

ประมวลรัษฎากรกำหนดให้รอบปีภาษีของธุรกิจมีระยะเวลา 12 เดือน โดยกิจการในรูปของบุคคลธรรมดาทุกประเภท กฎหมายภาษีอากรบังคับให้ปิดบัญชีทุกวันสิ้นปี 31 ธันวาคม ดังนั้นรูปแบบของธุรกิจในลักษณะเจ้าของคนเดียวหรือห้างหุ้นส่วนไม่จดทะเบียน คงต้องตัดประเด็นการเลือกปีภาษีออกไปในส่วนของนิติบุคคล สามารถเลือกวันสิ้นสุดของปีภาษีได้ตามที่เจ้าของธุรกิจเห็นว่าเหมาะสม ซึ่งปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาอาจเป็นดังนี้
1. รายได้และค่าใช้จ่ายควรมีความเหมาะสมกันและอยู่ในปีภาษีเดียวกัน เพื่อป้องกันการขาดเงินสดในมือโดยไม่จำเป็น
(unnecessary cash distortion) ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่ขายสินค้าตามฤดูกาล เช่น ครีมทาผิวสำหรับฤดูหนาว อาจจะมีรายได้เข้ามาในธุรกิจช่วงประมาณเดือนกันยายน-มีนาคม จำนวนเดือนที่เหลือคงต้องเป็นการรับภาระต้นทุน กิจการก็อาจจะเลือกให้มีการปิดบัญชีในราวเดือนมีนาคม แทนการเลือกวันปิดบัญชีในเดือนธันวาคม หรือธุรกิจประเภทที่ต้องทำตามสัญญาจ้าง ก็ควรพยายามเก็บเงินจากผู้รับจ้างให้ได้ในปีภาษีเดียวกับที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น บางครั้งถ้าจำเป็นก็คงต้องหลีกเลี่ยงการเซ็นสัญญาจ้างในช่วงใกล้สิ้นปีภาษี แต่เพิ่มการเซ็นสัญญาในช่วงต้นปีภาษีแทน ทั้งนี้ก็เพื่อยืดระยะเวลาการรับรู้รายได้ออกไปนั่นเอง
2. ควรเลือกระยะเวลาปิดบัญชีที่มีสินค้าคงเหลือน้อย เช่นในกรณีของครีมทาผิวสำหรับฤดูหนาว หากปิดบัญชีในช่วงเดือนมีนาคม จะทำให้สินค้าคงเหลือในวันปิดบัญชีน้อยลง มีผลทำให้ต้นทุนการผลิตที่นำไปเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีสูงขึ้น

การเลือกนโยบายทางบัญชีที่สำคัญ


นโยบายการบัญชีทั่วไป
ในการเลือกนโยบายการบันทึกบัญชีต่าง ๆ ควรจะสอดคล้องกับที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ เช่น การใช้เกณฑ์คงค้าง การกำหนดอายุการใช้งานของสินทรัพย์ เป็นต้น เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย จะได้ไม่ต้องมีการปรับปรุงรายการบัญชีให้ตรงกับที่กฎหมายภาษีอากรกำหนดไว้ให้ยุ่งยากในภายหล
สินทรัพย์ประเภทที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และการคิดค่าเสื่อมราคา
โดยหลักทั่วไปจะบันทึกรายการประเภทนี้ไว้ในหมวดสินทรัพย์ ด้วยวิธีราคาทุนที่ได้รับ (Acquisition cost) หลังจากนั้นจึงนำราคาทุนนี้ไปเฉลี่ยเป็นค่าใช้จ่ายในรูปของค่าเสื่อมราคาตามอายุการใช้งานที่ถูกกำหนดขึ้นของสินทรัพย์นั้น ๆ
-
สินทรัพย์เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ อาจมีราคาทุนสูง บางกรณีธุรกิจที่กำลังเจริญเติบโตอาจต้องการขยายงานและลงทุนเพิ่มเนื่องจากมีรายได้เข้ามามาก ในลักษณะเช่นนี้ผู้จัดการจึงอาจต้องการนำราคาทุนของสินทรัพย์มาคิดเป็นค่าใช้จ่ายทันทีเพื่อทำให้กำไรน้อยลง ซึ่งก็จะขัดกับหลักการบัญชีและกฎหมายภาษีอากรที่กำหนดให้คิดค่าเสื่อมราคา เพราะถือว่าราคาทุนของสินทรัพย์เหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายประเภทลงทุน (Capital expenditures) ต้องนำมาเฉลี่ยเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating expenditures) ตามอายุการใช้งานในภายหลังเท่านั้น ผู้จัดการจึงอาจใช้เทคนิคโดยการแยกราคาทุนของส่วนประกอบต่าง ๆ ของอุปกรณ์ออกมา (ในกรณีที่อุปกรณ์สามารถคิดแยกส่วนได้) แทนการรวมราคาทุนทั้งหมดไว้ในตัวอุปกรณ์เพียงตัวเดียว จะเท่ากับเป็นการกระจายอายุการใช้งานของอุปกรณ์ขนาดใหญ่ไปให้กับส่วนประกอบเล็ก ๆ เหล่านั้น ทำให้อายุการใช้งานอาจน้อยกว่า 1 ปี ก็เป็นได้ และก็สามารถนำราคาทุนของส่วนประกอบเหล่านั้นบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ทันที
-
นโยบายค่าเสื่อมราคาถือได้ว่ามีผลกระทบอย่างสำคัญต่อค่าใช้จ่ายของธุรกิจที่มีการลงทุนในอาคาร โรงงาน เครื่องจักร และอุปกรณ์ หลักทั่วไปในประมวลรัษฎากรกำหนดให้มีการคิดค่าเสื่อมราคาตามวิธีที่หลักการบัญชีกำหนดไว้ แต่จำกัดอายุของการใช้งานต้องไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด เช่น อาคารจะต้องคำนวณจากอายุการใช้งาน 20 ปี หรืออายุการใช้งาน 5 ปีสำหรับอุปกรณ์ เป็นต้น วิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาทางบัญชีมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น คิดค่าเสื่อมในปีแรกสูงและต่ำลงในปีหลังหรือกลับกัน หรือคิดเฉลี่ยเท่ากันทุกปี สิ่งที่ผู้ประกอบการควรสังเกตได้ก็คือ ควรเลือกวิธีการที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของตนเองว่าต้องการให้มีค่าใช้จ่ายสูงในช่วงปีแรกหรือปีหลังภายในระยะเวลาของอายุการใช้งานที่กฎหมายกำหนด

การตีราคาสินค้าคงเหลือ

ประมวลรัษฎากรกำหนดให้มีการคำนวณราคาสินค้าคงเหลือด้วยวิธีราคาทุนหรือราคาตลาดที่ต่ำกว่า (Lower of cost or market value) โดยวิธีราคาทุนให้ใช้ตามวิธีที่หลักการบัญชีกำหนด ซึ่งมีหลายวิธีด้วยกัน ผู้จัดการควรพิจารณาว่าวิธีการทางบัญชีวิธีใดที่ทำให้สินค้าคงเหลือปลายงวดมีมูลค่าต่ำ ซึ่งวิธีนั้นจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และเมื่อค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระก็ย่อมลดลงเช่นกัน




 

Create Date : 04 กันยายน 2550    
Last Update : 11 กันยายน 2550 14:55:02 น.
Counter : 385 Pageviews.  


ac.account
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





สำนักงานบัญชี เอ.ซี 71/64 ม.4
บางแม่นาง บางใหญ่ นนทบุรี 11140
โทร 083-119-4999 ,02-101-2025
ac.account @ hotmail.com

Friends' blogs
[Add ac.account's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.