ibaz.org
Group Blog
 
All Blogs
 
วิธีการเลี้ยงกบในกระชัง

การเลือกสถานที่ที่จะสร้างคอกกบ หรือ บ่อเลี้ยงกบ
1. ควรเป็นที่ที่อยู่ใกล้บ้าน สะดวกต่อการดูแลรักษา และป้องกันศัตรู
2. เป็นที่สูง ที่ดอน เพื่อป้องกันน้ำท่วม
3. พื้นที่ราบเสมอ สะดวกต่อการสร้างคอกและแอ่งน้ำในคอก
4. ใกล้แหล่งน้ำ เพื่อสะดวกต่อการถ่ายเทน้ำ
5. ให้ห่างจากถนน เพื่อป้องกันเสียงรบกวน กบจะได้พักผ่อนเต็มที่และโตเร็ว
บ่อหรือคอกเลี้ยงกบ
ที่ที่จะทำบ่อเลี้ยงกบ ไม่ว่าจะเป็นสภาพบ่อปูนหรือคอกเลี้ยง จะต้องไม่ควรอยู่ไกลจากที่อยู่อาศัยมากนัก เพราะศัตรูของกบมีมาก โดยเฉพาะกบนั้นเมื่อตกใจเพราะมีภัยมา มันจะไม่ส่งเสียงร้องให้เจ้าของรู้เหมือนสัตว์อื่น ๆ ศัตรูของกบส่วนมากได้แก่ งู นก หนู หมา แมว และที่สำคัญที่สุดได้แก่ คน ดังนั้นถ้าบ่อเลี้ยงหรือคอกเลี้ยงกบ อยู่ห่างจากที่อยู่อาศัยมาก ก็จะถูกคนขโมยจับกบไปขายหมด นกนั้นมีทั้งกลางวันและกลางคืน นกกลางคืนโดยฉพาะนกเค้าแมวสามรถลงไปอยู่ปะปนและจับกบกินอย่างง่ายดาย แมวนับว่ามีส่วนทำลายกบมากเพราะถึงแม้มันจะจับกบกินก็เพียงตัวเดียวแล้วก็อิ่ม แต่เมื่ออิ่มแล้วมันก็ยังจับกบตัวอื่น ๆ มาหยอกเล่น และทำให้กบตายในที่สุด
พันธุ์กบที่นำมาเลี้ยง
กบที่เหมาะสมจะนำมาทำการเพาะเลี้ยงนี้ ได้แก่ กบนา ซึ่งถ้าเลี้ยงอย่างถูกต้องตามวิธีการและใช้เวลาเพียง 4-5 เดือน จะได้กบขนาด 4-5 ตัว/กก. เป็นกบที่มีความเจริญเติบโตเร็ว โดยมีอัตราการแลกเปลี่ยนอาหาร 3.4 กก. ได้เนื้อกบ 1 กก. ทั้งยังเป็นกบที่มีผู้นิยมนำไปประกอบอาหารบริโภคกันมากกว่ากบพันธุ์อื่น ๆ ลักษณะของกบนานั้นตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่ากบตัวเมีย และ ส่วนที่เห็นได้ชัดก็คือกบตัวผู้เมื่อจับพลิกหงายขึ้นจะเห็นมีกล่องเสียงอยู่ใต้คางแถว ๆ มุมปากล่างทั้งสองข้างในช่วงฤดูผสมพันธุ์ กบตัวผู้จะเป็นผู้ส่งเสียงร้อง และในขณะที่ร้องนั้นส่วนของกล่องเสียงจะพองโตและใส ส่วนตัวเมียนั้นจะมองไม่เห็นส่วนของกล่องเสียงดังกล่าว กบตัวเมียก็ร้องเช่นกันแต่เสียงออกบา ถ้าอยู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ กบตัวเมียที่มีไข่แก่จะสังเกตเห็นส่วนของท้องบวมและใหญ่กว่าปกติ ขณะเดียวกันที่กบตัวผู้จะส่งเสียงร้องบ่อยครั้งและสีของลำตัวออกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือมีสีเหลืองที่ใต้ขาเห็นชัดกว่าตัวเมีย ถึงอย่างไรสีของกบจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัย
สำหรับกบบลูฟร็อกจะแตกต่างไปจากกบนาอย่างเห็นได้ชัด โดยมีผิวหนังส่วนใหญ่เรียบแต่มีบางส่วนขรุขระและป็นสีน้ำตาลปนเขียว มีจุดสีน้ำตาล ลักษณะเด่นเห็นชัดคือมีส่วนหัวที่เป็นสีเขียวเคลือบน้ำตาลและที่ข้างท้องมีลายน้ำตาลใต้ท้องเป็นสีขาว ขาทั้งสี่เป็นลายน้ำตาลดำ ลำตัวอ้วนโดยเฉพาะส่วนท้องใหญ่กว่ากบนา กบที่โตเต็มที่จะมีลักษณะกระเดียดไปทางอึ่งอ่าง ด้วยลักษณะประจำตัวเช่นนี้ จึงเป็นหตุให้ไม่มีกบชนิดนี้วางจำหน่ายทั้งตัวในตลาดสด เพราะนอกจากจะมีลักษณะไม่ชวนให้ซื้อหามาประกอบอาหารแล้ว รสชาติของเนื้อกบบูลฟร็อก ยังมีคุณภาพสู้กบนาไม่ได้อีกด้วย ส่วนลักษณะกบตัวผู้นั้นจะมีวงแก้วหูใหญ่อยู่ด้านหลังตาและใหญ่กว่าตา และ กบบลูฟร็อกตัวผู้ทุกพันธุ์ใต้คางจะเป็นสีเหลืองส่วนกบตัวเมียจะเห็นวงแก้วหูเล็กกว่าตาสำหรับผู้ที่คิดจะเลี้ยงกบบลูฟร็อกจะต้องคำนึงถึงตลาด ถ้าท่านไม่มีตลาดต่างประเทศรองรับ หรือไม่ใช่พื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศ ควรเลี้ยงกบนาซึ่งมีตลาดทั้งในและนอกประเทศอีกทั้งระยะเวลาเลี้ยงยังน้อยกว่าอีกด้วย

การเพาะพันธุ์กบ
โดยธรรมชาติ กบจะเริ่มจับคู่ ผสมพันธุ์และวางไข่ในฤดูฝน ถ้าเกษตรกรมีพ่อแม่พันธุ์อยู่แล้ว ก็จะนำพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป และเป็นกบที่จับคู่กันแล้วนำไปเลี้ยงในบ่อเพาะแต่อย่าจับผิดคู่กัน เพราะกบที่จับคู่กันแล้วถูกแยกออกเป็นคนละตัว และนำไปเลี้ยงในบ่อเพาะ ถ้าไม่ใช่คู่ของมันแล้วมันจะไม่ผสมพันธุ์กัน
การดูลักษณะเพศของกบ ถ้าเป็นกบตัวผู้จะห็นกล่องเสียงอยู่ใต้คางทั้งสองข้าง ขากรรไกรเป็นลักษณะวงกลมสีคล้ำ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ กบตัวผู้จะส่งเสียงร้อง ส่วนของกล่องเสียงนี้จะพองโปน แต่ลักษณะนี้จะไม่มีในกบตัวเมียซึ่งตัวเมียนั้น เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ที่ส่วนท้องจะขยายใหญ่ และกบตัวเมียที่ยังมีไข่อยู่ในท้องจะมีความสากข้างลำตัวทั้งสองด้าน เมื่อใช้นิ้วสัมผัสจะรู้สึกได้ และเมื่อไข่ออกจากท้องไปแล้ว ปุ่มสากเหล่านี้ก็จะหายไป
อนึ่ง กบตัวเมียก็จะส่งเสียงร้องเช่นกัน แต่เป็นเสียงที่เบามาก และกบตัวเมียที่รู้ตัวว่ามีไข่แก่อยู่ในท้องจะเป็นผู้ดินทางมาหาตัวผู้ตามเสียงร้อง
บ่อผสมพันธุ์หรือบ่อเพาะ อาจเป็นบ่อซีเมนต์ หรือถังส้วม หรือจะเป็นกระชังมุ้งไนลอนก็ได้ ภายในมีพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักตบชวาเล็กๆ แต่ไม่ควรมีน้ำสูงเกิน 5 ซม. ถ้ามีน้ำมากจะไม่สะดวกในการที่ตัวผู้โอบรัดตัวเมีย และ ขณะที่ตัวเมียเบ่งไข่ซึ่งต้องใช้แรงขาหลังยันยืนพื้นจนหัวทิ่มน้ำ ซึ่งถ้าน้ำมากขาหลังก็จะลอยน้ำทำให้ไม่มีกำลัง เป็นเหตุให้ไข่ออกมาไม่มาก และขณะที่กบตัวเมียปล่อยไข่ออกมา กบตัวผู้ก็จะปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสมกับไข่ทันที อนึ่ง กบจะผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วง 04.00-06.00 น. แต่ถ้าอากาศเย็นชุ่มฉ่ำ เช่น มีฝนตกพรำ อาจจะเลยไปถึง 08.00 น. ก็ได้ เมื่อเห็นว่ากบออกไข่แล้วจึงนำพ่อแม่พันธุ์ออกจากบ่อเพาะเพื่อป้องกันไม่ให้แพไข่แตก เนื่องจากการเคลื่อนไหวของกบ บ่อผสมพันธุ์นี้เมื่อปล่อยพ่อแม่กบลงไปแล้ว ไม่ควรไปรบกวนหรือมีสิ่งอื่นใดทำให้กบตกใจซึ่งเป็นเหตุให้กบไม่ผสมพันธุ์ และออกไข่ได้
การให้กบผสมพันธุ์และออกไข่นอกฤดู
ปัจจุบัน มีการดัดแปลงและเลียนแบบธรรมชาติเพื่อหลอกให้กบผสมพันธุ์และวางไข่ในฤดูอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ฤดูฝน โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ทำให้มีลูกกบเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี วิธีการเริ่มแรกด้วยการถ่ายเทน้ำก่าในบ่อออกและนำน้ำใหม่ที่สะอาดใส่ลงไปแทน เป็นการเพิ่มความกระชุ่มกระชวยให้แก่กบในขั้นแรก ถ้าหากเป็นคอกเลี้ยงกบที่มีลักษณะเป็นบ่อซีเมนต์อยู่ตรงกลางก็ต้องใส่น้ำในบ่อให้เต็มอยู่เสมอ และจะต้องฉีดน้ำลงบนพื้นที่ภายในคอกให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ วันละ 1-2 ครั้ง โดยฉีดน้ำทำฝนเทียมติดต่อกัน 6-7 วัน แล้วหยุดไปอีก 6-7 วัน พอถึงวันที่ 8 เริ่มทำฝนเทียมขึ้นอีกเมื่อเวลา 17.00 น. โดยฉีดขึ้นไปบนหลังคาให้สูง 4-5 เมตร ฉีดให้ทั่วคอกประมาณ 15 นาที พอตกกลางคืนกบจะส่งเสียงร้องเรียกหาคู่ ในวันที่ 9 จึงทำฝนเทียมขึ้นอีกในช่วงเวลาเที่ยงและบ่าย 2 ครั้ง ๆ ละ 30 นาที ซึ่งกบจะร้องหาคู่ในเวลากลางวันที่กำลังฉีดน้ำอยู่ พอตกกลางคืนให้สังเกตดูกบจะเริ่มกระโดด เล่นน้ำและจับคู่กัน จึงนำกบที่จับคู่กันไปใส่ลงในบ่อเพาะในตอนหัวค่ำ ควรฉีดน้ำในบ่อเพาะนี้ให้ชุ่มทั่วบ่อประมาณ 15 นาที แล้วให้สังเกตว่ากบที่ปล่อยเป็นคู่นั้นมีการแยกคู่กันหรือเปล่า ถ้าไม่แยกคู่กบจะออกไข่ประมาณ 04.00-05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เมื่อพบว่ากบออกไข่แล้วควรนำพ่อแม่ออกจากบ่อเพาะ และใช้เครื่องพ่นฟองอากาศช่วยในการเพาะฟักซึ่งจะทำให้เปอร์เซ็นต์การฟักสูงขึ้น 80-90% แต่ถ้าไม่ใช้เครื่องพ่นฟองอากาศไข่จะมีโอกาสฟักเป็นตัวเพียง 30% เท่านั้นเอง

การอนุบาลลูกกบวัยอ่อน
เมื่อไข่กบฟักออกเป็นตัวอ่อนแล้ว ช่วงระยะ 2 วันแรกไม่ต้องให้อาหารเพราะลูกอ๊อดยังใช้ไข่แดงที่ติดมาเลี้ยงตัวเอง หลังจากนั้นจึงเริ่มให้อาหาร เช่น รำละเอียด ปลาบด ไข่แดงต้ม ไข่ตุ๋น ลูกไร ตลอดจนใบผักกาด ผักบุ้ง ที่นำมานึ่งให้อ่อนตัว หรือจะให้อาหารปลาดุกชนิดเม็ดลอยน้ำ บางรายอาจใช้ปลาสวายย่างทั้งตัวและผูกหัวท้ายให้ปลาเรี่ยน้ำ การให้อาหารลูกอ๊อดเหล่านี้ควรสังเกตการกินมากกินน้อยของลูกอ๊อด เพราะถ้าอาหารเหลือมากจะหมักหมมอยู่ภายในบ่อ เป็นต้นเหตุให้น้ำเสีย ควรเอาใจใส่ดูแลรักษาโดยการดูกของเหลือทิ้งหรือมีการถ่ายน้ำเปลี่ยนใหม่ ซึ่งถ้าทำได้บ่อยครั้งโอกาสที่ลูกอ๊อดจะเจริญเติบโตและแข็งแรงมากทีเดียว
ลูกอ๊อดจะมีอายุ 20-30 วัน จึงเป็นลูกกบเต็มวัย ในช่วงนี้จะต้องหาไม้กระดาน ขอนไม้หรือแผ่นโฟมลอยน้ำเพื่อให้ลูกกบเต็มวัยขึ้นไปอาศัยอยู่ลูกอ๊อดจะเป็นลูกกบเต็มวัยไม่พร้อมกัน โดยจะเป็นลูกกบ 70% ส่วนอีก 30% ยังอยู่ในสภาพไม่พร้อม เช่น ขางอกไม่ครบทั้ง 4 ขา หรือหางหดไม่หมด ถ้าหากในช่วงนี้ไม่มีวัสดุลอยน้ำให้กบเต็มวัยขึ้นอาศัยอยู่ มันจะถูกลูกอ๊อดตอดหางที่เพิ่งจะกุด จนเป็นบาดแผล ซึ่งถ้าโดนตอดมาก ๆ อาจถึงตายได้ ขณะเดียวกันลูกอ๊อดที่เจริญเติบโตเป็นกบเต็มวัยรุ่นเหล่านี้ก็จะถูกลูกกบรุ่นแรกที่ใหญ่กว่ารังแกเอาบ้าง ดังนั้นจึงต้องมีการคัดขนาดเพื่อแยกลูกกบที่โตเท่า ๆ กันนำไปปล่อยลงเลี้ยงในบ่ออื่น ๆ ต่อไป
บ่อเลี้ยงลูกอ๊อด ในระยะที่ลูกอ๊อดออกเป็นตัวใหม่ ๆ ไม่ควรให้มีน้ำลึกเกิน 30 ซม. บางแห่งมีระดับน้ำเพียง 1-2 นิ้ว ในระยะหลังที่ลูกอ๊อดเจริญเติบโตเต็มที่มีขาหลังงอกแล้วน้ำในบ่อเลี้ยงจะเพิ่มถึง 50 ซม. สำหรับระยะแรก ๆ นั้นควรให้ฟองอากาศช่วยหายใจ ผักบุ้งหรือพืชน้ำอื่น ๆ เพื่อความร่มเย็นและให้ลูกอ๊อดได้เกาะอาศัย ลูกอ๊อดที่อยู่ในบ่อเพาะ อาจจะใช้บ่อกลม บ่อเหลี่ยม หรือกระชังเลี้ยงไปจนป็นกบเต็มวัยจึงคัดขนาดเท่า ๆ กันนำไปเลี้ยงในบ่ออื่น ๆ ส่วนที่เหลือที่มีขนาดเท่า ๆ กัน ก็ใช้บ่อหรือกระชังเดิมเลี้ยงต่อไป
การดูแลและเลี้ยงกบเต็มวัยจนเป็นกบโต
ลูกอ๊อดเจริญเติบโตเป็นกบเต็มวัยแล้ว มันจะขึ้นจากน้ำไปอาศัยอยู่บนบกหรือวัสดุอื่น ๆ ที่ลอยน้ำ เมื่อคัดขนาดนำไปเลี้ยงในบ่อแล้วต้องเตรียมอาหารให้ ถ้าเป็นลูกอ๊อดที่เคยให้อาหารเม็ดกินแต่แรก ก็สามารถให้อาหารเม็ดดังกล่าวกินได้ต่อไป แต่ถ้าหากเป็นลูกกบที่ไม่เคยได้รับการฝึกมาก่อน ก็ต้องมีการฝึกการกินอาหารในขั้นต่อไป เพราะโดยธรรมชาติลูกกบจะกินอาหารเป็นสิ่งที่มีชีวิต เช่น แมลง ไส้เดือน ปลวก หนอน ลูกปลา ลูกกุ้ง ฯลฯ แต่การเลี้ยงกบนั้นไม่สามารถที่จะหาอาหารสิ่งมีชีวิตดังกล่าวให้ได้โดยตลอด เพราะอาหารหลักคือเนื้อปลา เกษตรกรจึงต้องใช้วิธีการฝึกให้ลูกกบกินปลา โดยการเพาะหนอนแล้วนำไปใส่ในกองปลาสับที่อยู่ในถาดให้อาหาร หนอนจะชอนไชอยู่ในกองปลาสับ ลูกกบจะเข้ามากินหนอนแต่ก็ติดปลาสับเข้าไปด้วย พอวันที่สองใส่หนอนลงบนกองปลาสับน้อยกว่าวันแรก วันที่ 3 และวันที่ 4 ก็เช่นเดียวกัน คือ ลดจำนวนหนอนลงเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันก็เพิ่มปริมาณปลาสับมากขึ้น ๆ จนวันที่ 5 บนถาดอาหารจะมีเฉพาะกองปลาสับเพียงอย่างเดียวลูกกบก็เข้ามากินปลาสับตามปกติ และเมื่อลูกกบมีขนาดโตขึ้น อาหารปลาสับละเอียดก็เปลี่ยนเป็นชิ้นเล็ก ๆ และมีขนาดเพิ่มขึ้น ๆ ตามขนาดของปากกบ หรือเมื่อกบโตเต็มที่ก็อาจจะโยนปลาที่มีขนาดพอเหมาะกับปากให้ทั้งตัวก็ได้
ปริมาณการแลกอาหารเปลี่ยนเป็นเนื้อกบ 3.4 : 1
สำหรับลูกกบที่จับตามธรรมชาติแล้วนำมาเลี้ยงรวมในบ่อเป็นเวลา 1-2 วัน จึงเริ่มให้อาหารกบ ลูกกบเหล่านี้เคยกินอาหารตามธรรมชาติมาแล้ว และเมื่อปล่อยเลี้ยงใหม่ ๆ ยังเหนื่อยและตื่นกับสภาพแวดล้อมใหม่ จึงไม่สนใจกับการกินอาหาร และถ้าผู้เลี้ยงจะไม่ฝึกให้กินหนอนร่วมกับปลาบด โดยให้ปลาบดหรือปลาสับแต่เพียงอย่างเดียวโยนให้กินพอแต่น้อย ๆ ก่อน ซึ่งกบจะกินเพราะความหิว ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง คือตอนเช้า 07.00 น. และตอนเย็น 17.00 น. ปริมาณให้อาหารในอัตรา 10% ของน้ำหนักตัว คือ ถ้าปล่อยกบลงเลี้ยงมีน้ำหนักรวม 100 กก. ก็จะให้อาหารวันละ 10 กก. แบ่งออกเป็น 2 เวลาดังกล่าว หลังจากเลี้ยงได้นาน 2 อาทิตย์ ลูกกบก็จะเริ่มชินกับอาหาร และ เมื่อกบโตขึ้น ก็เปลี่ยนเป็นปลาหั่นเป็นชิ้น ๆ หรือโยนปลาให้ทั้งตัวเมื่อปลามีขนาดพอ ๆ กับปากกบ
แต่สำหรับผู้เลี้ยงกบบางรายที่หาอาหารสดไม่พอ อาจใช้ปลายข้าว 1 ส่วน ผักบุ้ง 2 ส่วน ต้มรวมกับอาหารสด คือเนื้อปลา เนื้อหอยโข่ง หรือ ปูที่เด็ดเอาก้ามออกทิ้งก่อน เมื่อต้มแล้วปล่อยให้เย็นจึงนำไปให้กบกินได้เช่นกัน อนึ่งการเปิดไฟล่อให้แมลงมาเล่นไฟ และตกลงไปเป็นอาหารกบไม่สู้จะเป็นผลดีเท่าใดนัก เพราะจะทำให้กบอดหลับอดนอนคอยเฝ้าแมลงที่จะตกลงมาให้กบกิน อีกทั้งแมลงที่มาเล่นไฟเหล่านี้บางครั้งจะเป็นอันตรายต่อกบ เช่น แมลงที่มีพิษอยู่ในตัว แมลงที่ไปถูกยากำจัดศัตรูพืชและไม่ตายโดยทันทีเมื่อมาเล่นไฟและตกลงไปให้กบกิน กบกินพิษยากำจัดแมลงเข้าไปด้วยและตายในที่สุด จึงเป็นเหตุให้ผู้เลี้ยงพบกบตายโดยไม่มีบาดแผล และการตายในลักษณะเดียวกันนี้ ยังพบกับกบที่กินอาหารบูดเสีย ซึ่งเนื่องจากผู้เลี้ยงปล่อยปละละเลยไม่ทำความสะอาดภาชนะที่ให้อาหารกบ ดังนั้น เมื่อให้อาหารมื้อเช้าเวลา 07.00 น. แล้วควรเก็บเศษอาหารที่เหลือและนำภาชนะไปล้างทำความสะอาดเมื่อเวลา 10.00 น. ส่วนมื้อเย็นให้เวลา 17.00 น. ปล่อยทิ้งไว้ตลอดคืนได้เพราะในช่วงกลางคืนอากาศเย็น โอกาสที่อาหารจะบูดเสียมีน้อย อีกทั้งอุปนิสัยของกบชอบหาอาหารกินในเวลากลางคืนอยู่แล้ว ดังนั้นกว่าจะถึงตอนเช้าอาหารจะหมดเสียก่อน
อัตราการให้อาหารที่เลี้ยงในลักษณะคอก มีบ่อน้ำตรงกลาง เป็นคอกขนาด 4 x 4 เมตร ปล่อยกบ 1,000 ตัว ให้อาหารดังนี้
กบอายุ 50 วัน ให้อาหารสด 400 กรัม/วัน
กบอายุ 60 วัน ให้อาหารสด 600 กรัม/วัน
กบอายุ 90 วัน ให้อาหารสด 1.5 ก.ก./วัน
กบอายุ 120 วัน ให้อาหารสด 3 ก.ก./วัน
กบอายุ 150 วัน ให้อาหารสด 4 ก.ก./วัน
ในการเลี้ยงกบ จำเป็นต้องคอยคัดขนาดของกบให้มีขนาดเท่า ๆ กันลงเลี้ยงในบ่อเดียวกัน มิฉะนั้น กบใหญ่จะรังแกและกินกบเล็ก ซึ่งจะทำให้ต้องตายทั้งคู่ ทั้งตัวที่ถูกกินและตัวที่กิน
การเลี้ยงกบในบ่อดิน ใช้พื้นที่ประมาณ 100-200 ตารางเมตร ภายในคอกเป็นบ่อน้ำลึกประมาณ 1 เมตร บางแห่งอาจจะทำเกาะกลางบ่อเพื่อเป็นที่พักของกบและที่ให้อาหาร แต่บางแห่งก็ใช้ไม้กระดานทำเป็นพื้นลาดลงจากชานบ่อก็ได้ ส่วนพื้นที่รอบ ๆ ขอบบ่อภายในที่ห่างจากรั้วคอกอวนไนลอน กว้าง 1 เมตร ปล่อยให้หญ้าขึ้น หรือบางรายอาจปลูกตะไคร้เพื่อให้กบใช้เป็นที่หลบอาศัยภายในบ่อที่เป็นพื้นน้ำจะมีพวกผักตบชวา หรือพืชน้ำอื่น ๆ ให้กบเป็นที่หลบซ่อนภัยและอาศัยความร่มเย็นเช่นกัน คอกที่ล้อมรอบด้วนอวนไนลอนนี้ ด้านล่างจะใช้ถังยางมะตอยผ่าซีก หรือแผ่นสังกะสีฝังลึกลงดินประมาณ 1 ศอก เพื่อป้องกันศัตรูบางชนิด เช่น หนู ขุดรูลอดเข้าไปทำอันตรายกับกบที่อยู่ในบ่อหรือในคอก ส่วนด้านบนของบ่อมุมใดมุมหนึ่ง จะมุงด้วยทางมะพร้าวเพื่อเป็นร่มเงา และยังใช้เป็นที่ให้อาหารกบอีกด้วย นอกจากนั้นบางแห่งยังใช้เสื่อรำแพนเก่า ๆ ที่ใช้ทำเป็นฝาบ้าน นำมาวางซ้อนกัน โดยมีลำไม้ไผ่สอดกลางเพื่อให้เกิดช่องว่างให้กบเข้าไปหลบอาศัย และด้านบนนั้นก็เป็นที่รองรับอาหารที่โยนลงไปให้กบกินได้เช่นกัน
ลักษณะบ่อเลี้ยงกบเช่นนี้ มีเลี้ยงกันมากที่อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัยโดยใช้พันธุ์กบที่ซื้อมาจากนักล่ากบในท้องที่ ๆ ออกจับกบตามธรรมชาติ เป็นลูกกบขนาด 20-30 ตัวต่อกิโลกรัม ซื้อขายกันในราคา กก.ละ 20-30 บาท และ จะนำลูกกบที่มีน้ำหนักรวม 100 กก. ปล่อยลงในเนื้อที่ 100 ตารางเมตร หลังจากปล่อยลูกกบแล้ว 2-3 วัน จึงเริ่มให้อาหารเพราะเมื่อปล่อยลูกกบลงเลี้ยงใหม่ ๆ ก็ยังเหนื่อยและตื่นต่อสภาพที่อยู่ใหม่ อาหารที่นำมาให้ไม่เป็นไปตามที่มันเคยกิน คือ เป็นปลาสับหรือปลาบดที่โยนให้กินทีละน้อย ๆ ก่อน จนกว่าลูกกบจะเคยชินและเมื่อกบโตขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นปลาหั่นเป็นชิ้น ๆ หรือถ้าเป็นปลาเล็กก็โยนให้ทั้งตัว หรือถ้าเป็นปูนาก็ต้องเด็ดขาก้ามทิ้งเสียก่อน หรือถ้าเป็นหอยโข่งก็ทุบเอาเปลือกออกเอาเฉพาะเนื้อใน แล้วโยนลงบนแผงที่ให้อาหารในบ่อเพื่อให้กบกินต่อไป
การเลี้ยงกบในคอก เป็นการเลี้ยงกบอีกแบบหนึ่ง โดยเมื่อปรับพื้นที่ราบเรียบเสมอกันดีแล้ว ก็ทำการขุดแอ่งน้ำไว้ตรงกลางคอก เช่น คอกขนาด 4 x 4 เมตร ขนาด 6 x 6 เมตร หรือขนาด 8 x 8 เมตร ต้องทำแอ่งน้ำขนาด 2 x 3 เมตร มีความลึกประมาณ 20 ซม. เป็นบ่อซีเมนต์และลาดพื้นแอ่งน้ำขัดมันกันรั่ว ใส่ท่อระบายน้ำจากแอ่งขนาด 0.5 นิ้ว รอบ ๆ แอ่งน้ำเป็นพื้นที่ชานบ่อทั้ง 4 ด้าน เพื่อสะดวกต่อการให้อาหารและที่กบได้พักอาศัย รอบ ๆ คอก ปักเสาทั้ง 4 ด้านให้ห่างกัน ช่วงละ 2 เมตร ผูกเคร่าบนและล่างยึดเสาไว้ นำอวนสีเขียวมาขึงรอบนอก ส่วนด้านล่างให้ฝังอวนลงใต้ดินลึก 20 ซม. แล้วเหยียบดินให้แน่น จากนั้นจึงนำไม้มาวางพาดด้านบนและผูกให้ติดกับเคร่าห่างช่วงละ 1 เมตร นำทางมะพร้าวแห้งมาพาดให้เต็มแต่อย่าแน่นเกินไป แล้วหากระบะไม้ กะละมังแตก หรือกระบอกไม้ไผ่อันใหญ่ ๆ มาวางไว้ในคอกเพื่อให้กบหลบซ่อนตัวในเวลากลางวัน ส่วนกระบะหรือรังไม้ที่นำมาวาง ให้เจาะประตูเข้าออกทางด้านหัวและท้ายเพื่อสะดวกต่อการจับกบจำหน่าย


การทำคอกเลี้ยงกบแบบนี้ มีอัตราปล่อยกบลงเลี้ยง คือ
คอกขนาด 4 x 4 เมตร ปล่อยกบลงเลี้ยงได้ไม่เกิน 1,000 ตัว
คอกขนาด 6 x 6 เมตร ปล่อยกบลงเลี้ยงได้ไม่เกิน 1,200 ตัว
คอกขนาด 8 x 8 เมตร ปล่อยกบลงเลี้ยงได้ไม่เกิน 2,500 ตัว
การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์ เป็นการเลี้ยงที่มีผู้นิยมกันมากในปัจจุบันเพราะดูแลรักษาง่าย กบมีความเป็นอยู่ดีและเจริญเติบโตดี อีกทั้งเป็นการสะดวกสบายต่อผู้เลี้ยงในด้านการดูแลรักษา บ่อกบดังกล่าวนี้สร้างด้วยการก่อแผ่นซีเมนต์ หรือที่เรียกว่าแผ่นซีเมนต์บล๊อก และฉาบด้วยปูนซีเมนต์ ปูนที่ฉาบจะหนาเป็นพิเศษ ตรงส่วนล่างที่เก็บขังน้ำ คือมีความสูงจากพื้นเพียง 1 ฟุต พื้นล่างเทปูนหนาเพื่อรองรับน้ำ และมีท่อระบายน้ำอยู่ตรงส่วนที่ลาดสุด พื้นที่ ๆ เป็นที่ขังน้ำนี้ นำวัสดุลอยน้ำ เช่น ไม้กระดาน ขอนไม้ ต้นมะพร้าวทิ้งให้ลอยน้ำเพื่อให้กบขึ้นไปเป็นที่อาศัยอยู่ บางแห่งในส่วนพื้นที่ใต้น้ำยังเป็นที่เลี้ยงปลาดุกได้อีก โดยปล่อยปลาดุกลงเลี้ยงร่วมกับกบในอัตรา กบ 100 ตัว ต่อ ปลาดุก 20 ตัว ซึ่งเป็นผลดีเมื่อเปรียบเทียบเห็นได้ชัด คือ ปลาดุกจะช่วยทำความสะอาดภายในบ่อโดยเก็บเศษอาหารและมูลกบกิน ทำให้น้ำในบ่อสะอาดและอยู่ได้นานกว่าบ่อที่ไม่ได้ปล่อยปลาดุก ซึ่งนอกจากจะเป็นการทุ่นแรงงานแล้วยังทำให้ผู้เลี้ยงมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย อีกทั้งระยะเวลาเลี้ยงตลอดจนการจำหน่ายกบปละปลาดุกอยู่ในเวลาเดียวกัน
สำหรับด้านบนของบ่อจะเปิดกว้างเพื่อให้แดดส่องลงไปทั่วถึง ซึ่งกบจะขึ้นมาตากแดดกันอย่างปกติสุข นอกเสียจากตัวแห้งมาก ๆ มันก็จะกระโดดลงในน้ำแล้วขึ้นมาใหม่ แต่ถึงอย่างไรที่มุมใดมุมหนึ่งของบ่อก็ต้องหาวัสดุ เช่น ทางมะพร้าว เพื่อเป็นส่วนของร่มและปิดบังเงาวูบวาบของนกที่บินผ่าน ซึ่งทำให้กบตกใจและไม่กินอาหาร รวมทั้งจะไม่ผสมพันธุ์อีกด้วย
บ่อเลี้ยงกบแบบนี้ เป็นขนาด 3 x 4 เมตร ปล่อยกบลงเลี้ยงได้ 1,000 ตัว และปลาดุกอีก 200 ตัว
พื้นล่างของบ่อดังกล่าว นอกจากเป็นพื้นน้ำทั้งหมดและใช้วัสดุลอยน้ำให้กบได้อาศัยอยู่แล้ว บางแห่งอาจจะใช้ก่อปูนในลักษณะเกาะกลาง คือ เป็นพื้นซีเมนต์และเป็นเนินลาดจากตรงกลางซึ่งไม่ควรทำแบบพื้นก้นกะทะ และมีชานบ่ออยู่ริมโดยรอบบ่อ เพราะจะทำให้กบมีแรงจากเท้าหลังยันพื้นกระโดดสูงไปได้แต่ถ้าเป็นลักษณะเนินตรงกลางและมีพื้นน้ำรอบ ๆ กบก็จะไม่สามารถมีแรงกระโดดขึ้นจากในน้ำได้ การเลี้ยงกบในบ่อลักษณะนี้ กบก็ไม่สามารถมองเห็นโลกภายนอก และไม่คิดดิ้นรนจะกระโดดหนีออกไปอยู่แล้ว
การเลี้ยงกบในกระชัง โดยใช้กระชังเลี้ยงเช่นเดียวกับกระชังเลี้ยงปลามีความกว้างประมาณ 1.50 เมตร และยาว 4 เมตร กระชังดังกล่าวนี้สืบเนื่องมากจากการเพาะพันธุ์กบ คือ เมื่อเพาะกบและเลี้ยงลูกอ๊อดจนเป็นจนเป็นกบเต็มวัยแล้วจึงคัดขนาดลูกกบนำไปเลี้ยงในบ่อซีเมนต์หรือในกระชังอื่น ๆ หรือจำหน่าย ส่วนที่เหลือก็เลี้ยงต่อไปในกระชังต่อไป พื้นที่ใต้กระชังใช้แผ่นกระดาน หรือแผ่นโฟมสอดด้านล่าง เพื่อให้เกิดส่วนนูนในกระชังและกบได้ขึ้นไปอยู่อาศัยส่วนรอบ ๆ ภายนอกกระชังใช้วัสดุ เช่น แฝกหญ้าคา หรือทางมะพร้าว เพื่อไม่ให้กบมองเห็นทิวทัศน์นอกกระชัง มิฉะนั้นกบจะหาหนทางหลบหนีออกโดยกระโดดและชนผืนอวนกระชังเป็นเหตุให้ปากเป็นบาดแผลและเจ็บปวดจนกินอาหารไม่ได้ ส่วนด้านบนกระชังก็มีวัสดุพรางแสงให้เช่นกัน
การจับกบจำหน่าย
เนื่องจากสภาพบ่อเลี้ยงมีความแตกต่างกัน ทำให้ความสะดวกในการดูแลรักษาย่อมแตกต่างกันดังกล่าวแล้ว ยังรวมไปถึงการจับกบจำหน่ายก็แตกต่างกันอีกด้วย กล่าวคือ



1.
การเลี้ยงกบในบ่อดิน ลักษณะการเลี้ยงกบแบบนี้จะจับกบจำหน่ายได้ครั้งเดียวในเวลาที่พร้อมกัน ไม่มีการจับกบจำหน่ายปลีก หรือเป็นครั้งคราว ทั้งนี้เพราะสภาพบ่อเลี้ยงไม่เอื้ออำนวย ถึงแม้จะเป็นการจับเพียงครั้งเดียวให้หมดบ่อจะต้องใช้ผู้จับหลายคนลงไปในบ่อเลี้ยงที่มีสภาพโคลนตมและต้องเก็บพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักตบชวา ขึ้นให้หมดก่อน จึงต้องใช้เวลาและแรงงานมากที่จะเที่ยวไล่จับกบในที่หลบซ่อนให้หมดในครั้งเดียว
2. การเลี้ยงกบในคอก สามารถจับกบได้ทุกโอกาสไม่ว่าจะจับหมดทั้งคอกหรือมีการจำหน่ายปลีก โดยมีกระบะไม้และทำเป็นช่องเข้าออกในด้านตรงกันข้ามวางอยู่หลายอันบนพื้นดินภายในคอก ซึ่งกบจะเข้าไปอาศัยอยู่ เมื่อถึงเวลาจะจับกบก็ใช้กระสอบเปิดปากไว้รออยู่ที่ช่องด้านหนึ่งแล้วใช้มือล้วงเข้าไปในช่องด้านตรงข้าม กบจะหนีออกทางอีกช่องหนึ่งที่มีปากกระสอบรอรับอยู่และเข้าไปในกระสอบกันหมด เป็นการกระทำที่สะดวก กบไม่ตกใจและชอกช้ำ


3. การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์ สามารถจับกบได้ทุกโอกาสไม่ว่าจะจับหมดทั้งบ่อหรือจับจำหน่ายปลีก โดยใช้คนเพียงคนเดียวพร้อมทั้งสวิงเมื่อลงในบ่อซึ่งมีน้ำเพียง 1 ฟุต กบจะกระโดดลงไปมุดอยู่ในน้ำ จึงใช้สวิงช้อนขึ้นมา หรือใช้มือจับใส่สวิงอย่างง่ายดาย ในบ่อหนึ่ง ๆ ขนาด 12 ตารางเมตร เลี้ยงกบประมาณ 1,000 ตัวใช้คน ๆ เดียวจับเพียง 1 ชั่วโมงก็แล้วเสร็จ
อนึ่ง การเลี้ยงกบควรคำนึงถึงระยะเวลาเลี้ยงควบคู่ไปกับระยะเวลาที่จะจับกบจำหน่าย เนื่องจากในฤดูฝนกบจะมีราคาถูกถ้าผู้เลี้ยงจะต้องจับกบจำหน่ายในช่วงนี้ ก็จะได้รับผลตอบแทนน้อยแต่ถ้ากะเวลาเลี้ยงและเวลาจับจำหน่ายให้ถูกต้อง คือเมื่อรู้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงกบนาน 4 เดือน จึงต้องกะระยะเวลาเดือนที่ 4 ให้ตรงกับอยู่ในช่วงฤดูหนาวหรือฤดูร้อน เพราะในช่วงนี้กบราคาแพง ผู้เลี้ยงสามารถขายได้ในราคาที่ดีคุ้มกับการลงทุน อีกทั้งผู้ที่ต้องการจำหน่ายปลีก ควรจะติดต่อตกลงราคาและจำนวนกับผู้ซื้อไม่ว่าจะเป็นตลาดสดหรือร้านอาหารให้เป็นที่แน่นอนก่อนจึงจะจับกบไปส่งจำหน่ายได้ต่อไป
ในการลำเลียงกบไม่ว่าจะเป็นกบเล็กกบใหญ่ ในภาชนะลำเลียงกบควรมีน้ำเพียงเล็กน้อย และจะต้องมีวัสดุ เช่น หญ้า ฟาง ผักบุ้ง ผักตบชวา เพื่อให้กบเข้าไปซุกอาศัยอยู่ มิฉะนั้นในระหว่างเดินทางกบจะกระโดดเต้นไปมาเกิดอาการจุกเสียดแน่นและเป็นแผล
การดูแลรักษา นอกจากจะเอาใจใส่ในเรื่องการให้อาหาร การรักษาความสะอาดภาชนะ ที่ให้อาหารดังกล่าวแล้ว ในการเลี้ยงกบจะต้องคำนึงถึงความสะอาด โดยเฉพาะในแอ่งน้ำหรือการเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์ ต้องมีการขัดล้างถ่ายเทน้ำในบางครั้งทั้งนี้ถ้าที่อยู่อาศัยของกบสะอาดและมีสุขลักษณะที่ดี ความเป็นอยู่และการเจริญเติบโตของกบก็ดี ลดอัตราการเป็นโรคพยาธิเบียดเบียน แต่กบเป็นสัตว์ที่ตื่นและตกใจง่าย ซึ่งเมื่อเกิดการตกใจดังกล่าวกบจะเกิดอาการชัก เป็นตะคริวและถึงกับช็อกตายได้ หรือเมื่อเกิดตกใจก็จะกระโดดเต้นไปมาในบ่อ และจะเกิดอาการกระทบกระแทก เป็นแผลฟกช้ำจุกแน่นจุกเสียด เมื่อเป็นมาก ๆ ก็มีโอกาสถึงตายได้เช่นกัน ดังนั้น การทำความสะอาดภายในบ่อเลี้ยงกบ จึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้
1. งดให้อาหารกบ เพราะถ้ากบกินอาหารแล้วต้องกระโดดเต้นไปมาเพราะตกใจเนื่องจากคนลงไปรบกวนที่อยู่อาศัย โอกาสจุกเสียดแน่นถึงตายมีมาก
2. หาวัสดุที่โปร่งเป็นโพรง เช่น ทางมะพร้าวสุมทุมเพื่อให้กบเข้าไปหลบซ่อนตัวเมื่อเข้าไปทำความสะอาด โดยเฉพาะในบ่อซีเมนต์เมื่อปล่อยน้ำเก่าทิ้งจนแห้ง กบจะเข้าไปหลบตัวในสุมทุมนั้น จะไม่ออกมากระโดดเต้นจนเป็นเหตุให้เจ็บป่วย
3. หลังจากทำความสะอาดแล้ว อาหารมื้อต่อไปควรผสมยาลงไปด้วยทุกครั้งเพื่อบรรเทาการอักเสบลงได้ อนึ่ง ลักษณะการงดให้อาหารเช่นนี้จะต้องกระทำทุกครั้งที่มีการลำเลียงเคลื่อนย้ายกบ ไม่ว่าจะเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หรือลูกกบก็ตาม ยาที่ผสมในอาหารให้กบกินนั้นถ้ามีอาการไม่รุนแรงนักก็ใช้ออกซีเตตร้าซัยคลิน 1 ช้อนแกง ผสมลงในอาหาร 3 กก. เช่นกัน ทั้งนี้เพราะตัวยาแรงผิดกันและให้กบกินมื้อเดียวแล้วหยุดไปประมาณ 5-6 วัน (เฉพาะอาหารที่ผสมยา) เพื่อสังเกตดูอาการของกบว่าทุเลาลงแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่มีอาการดีขึ้นก็ให้อาหารผสมยาขนาดดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 1 มื้อ
โรคกบ
ปัญหาโรคกบที่เกิดขึ้นนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากความผิดพลาดทางด้านการเลี้ยงและการจัดการ ทำให้มีการหมักหมมของเสียต่าง ๆ เกิดขึ้นในบ่อ โดยเฉพาะการเลี้ยงกบในปัจจุบันมักจะใช้บ่อซีเมนต์ และเลี้ยงกันอย่างหนาแน่น มีการให้อาหารมาก ประกอบกับการขาดความเอาใจใส่ และไม่เข้าใจเรื่องความสะอาดของบ่อรวมถึงน้ำที่เลี้ยง โอกาสที่กบจะเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจึงมีมากขึ้น เท่าที่ได้รวบรวมข้อมูลทางด้านโรคต่าง ๆ ที่ตรวจพบจากกบนั้นพอจะแบ่งออกได้ดังนี้
1. โรคติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่ทำความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงกบมากที่สุด ทั้งในช่วงที่เป็นลูกอ๊อด และกบเต็มวัย ซึ่งในที่นี้จะแยกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1.1 โรคติดเชื้อแบคทีเรียในระยะลูกอ๊อด พบได้ตั้งแต่ระยะที่ไข่ฟักเป็นตัวจนกระทั่งพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย อาการที่สังเกตได้คือ ลูกอ๊อดจะมีลำตัวด่าง คล้ายโรคตัวด่างในปลาดุก จากนั้นจะเริ่มพบอาหารท้องบวมและตกเลือดตามครีบหรือระยางค์ต่าง ๆ
สาเหตุของการเกิดโรคมักจะมาจากการปล่อยลูกอ๊อดในอัตราหนาแน่นเกินไปมีการให้อาหารมากทำให้คุณภาพน้ำไม่เหมาะสม โดยเฉพาะค่าพีเอชของน้ำจะต่ำลงมาก นอกจากนี้ลูกอ๊อดยังกัดกันเองทำให้เกิดเป็นแผลตามลำตัว เปิดโอกาสให้เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค คือ แบคทีเรียในกลุ่ม Flexibacteris เข้าทำอันตรายได้ง่ายขึ้น อาการของโรคทวีความรุนแรงถ้าคุณภาพน้ำที่ใช้เลี้ยงเสียมากขึ้น และ เลี้ยงลูกอ๊อดหนาแน่นเกินไป ดังนั้นวิธีการป้องกันคือ อนุบาลลูกอ๊อดในความหนาแน่นที่เหมาะสมตารางเมตรละ 1,000 ตัว และทำการคัดขนาดทุก ๆ 2-3 วันต่อครั้ง จนกระทั่งเป็นลูกกบแล้วอนุบาลให้ได้ขนาด 1-1.58 ซม. ในอัตราความหนาแน่นตารางเมตรละ 250 ตัว จากนั้นจึงปล่อยลูกกบลงเลี้ยงในอัตราตารางเมตรละ 100 ตัว ซึ่งเป็นความหนาแน่นที่เหมาะสมและลดปัญหาการเกิดโรค ทั้งนี้ต้องการเปลี่ยนถ่ายน้ำสม่ำเสมอ และรักษาความสะอาดของบ่ออนุบาลเมื่อพบกบเริ่มแสดงอาการตัวด่างควรใช้เกลือแกงแช่ในอัตรา 0.5% (5 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร) นาน 3-5 วัน หรือในรายที่มีอาการมากอาจใช้ยาออกซีเตตร้าซัยคลินแช่ในอัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ติดต่อกันทุกวันนาน 3-5 วัน และไม่ควรใช้ยาและเกลือแกงในเวลาเดียวกัน เพราะเกลือจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดต่ำลง
1.2 โรคติดเชื้อแบคทีเรียในระยะเต็มวัย พบทั้งในกบขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ องค์ประกอบที่จะทำให้อาการที่จะทำให้อาการของโรครุนแรงมากหรือน้อย คือ สายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรีย Aeromonas และ Pseudomonas และระยะเวลาของการเป็นโรคอาการของโรคโดยทั่วไปที่พบได้แก่ การเกิดแผลที่มีลักษณะเป็นจุดแดง ๆ ตามขาและผิวตัวโดยเฉพาะด้านท้อง จนถึงแผลเน่าเปื่อยบริเวณปาก ลำตัวและขา เป็นต้น
เมื่อเปิดช่องท้องเพื่อดูอวัยวะภายในจะพบว่ามีของเหลวในช่องท้อง ตับมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีจุดสีเหลืองซีด ๆ กระจายอยู่ทั่วไป ไตขยายใหญ่บางครั้งพบตุ่มสีขาวขุ่นกระจายอยู่ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรค คือ สภาพบ่อสกปรกมาก ดังนั้นจึงควรจัดการทำความสะอาดเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย ๆ ควบคุมปริมาณอาหารให้พอเหมาะ และอย่าปล่อยกบลงเลี้ยงหนาแน่นเกินไป เมื่อกบเป็นโรค ควรใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ออกซีเตตร้าซัยคลินผสมอาหารให้กบกินในอัตรา 3-5 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัมต่อวัน กินติดต่อกันจนกว่าอาการจะดีขึ้น หรือให้กินไม่น้อยกว่าครั้งละ 5-7 วัน
2. โรคที่เกิดจากโปรโตซัวในทางเดินอาหาร โดยทั่วไปจะพบในกบเล็กมากกว่ากบโต อาการทั่วไปจะพบว่ากบไม่ค่อยกินอาหาร ผอม ตัวซีด เมื่อตรวจดูในลำไส้จะพบโปรโตซัวในกลุ่ม Opalina sp. และ Balantidium sp. อยู่เป็นจำนวนมาก การติดเชื้อโปรโตซัวในทางเดินอาหารนี้ถ้าเป็นติดต่อกันเป็นเวลานานก็จะทำให้กบตายได้ การรักษาควรจะใช้ยา Metronidazole ผสมอาหารให้กินในอัตรา 3-5 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม กินติดต่อกันครั้งละ 3 วัน แล้วเว้นระยะ 3-4 วัน แล้วให้ยาซ้ำอีก 2-3 ครั้ง หรือจนกว่ากบจะมีอาการดีขึ้น และกินอาหารตามปกติ
3. โรคท้องบวม โดยทั่วไปจะเกิดกับลูกอ๊อดในฟาร์มที่ใช้น้ำบาดาล การเปลี่ยนน้ำอย่างรวดเร็วโดยใช้น้ำบาดาลที่ไม่ได้พักไว้ก่อน จะทำให้ความดันก๊าซที่ละลายอยู่ในน้ำลดต่ำลงอย่างเฉียบพลัน มีผลให้ร่างกายของลูกอ๊อดต้องปรับความดันก๊าซในตัวเองลงมาให้เท่ากับความดันของก๊าซในน้ำ ทำให้เกิดฟองก๊าซขึ้นในช่องว่างของลำตัว ท้องลูกอ๊อดจึงบวมขึ้นมา การแก้ไขจะกระทำได้ยากมากจึงควรป้องกันโดยระมัดระวังในเรื่องการถ่ายน้ำอย่าเปลี่ยนน้ำปริมาณมาก ๆ ในเวลาสั้น ๆ และควรจะมีการพักน้ำและเติมอากาศให้ดีก่อนนำมาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำบาดาล

https://sites.google.com/site/banraisrisutus/kar-leiyng-kb


Create Date : 26 มิถุนายน 2558
Last Update : 26 มิถุนายน 2558 5:59:23 น. 0 comments
Counter : 933 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

taurolar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add taurolar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.