ใต้ฟ้าเดียวกัน.... ForGet mE nOt
Group Blog
 
All blogs
 

กายนครคำกลอน (หน้า 21-25 ค่ะ )



อนึ่งพระองค์อย่าหลงตัณหานัก
จะชวนชักให้เสียกรุงยุ่งกระฉ่อน
ทั้งขุนนางพวกพ้องสองบังอร
คอยแต่วอนให้คิดเดินผิดทาง

พวกเหล่านี้ถึงพะวงลุ่มหลงรัก
แม้นศึกหนักเข้าจริงคงทิ้งขว้าง
เหลือองค์เดียวเปลี่ยนกายจนวายวาง
นิราศร้างจากจรนครกาย ฯ

จิตราชพงศ์นรินทร์ผู้ปิ่นเกศ
ทรงฟังเหตุโหรามาทูลถวาย
ทรงรู้สึกนึกพรั่นพลันละลาย
ค่อยเสื่อมคลายจากตัณหาอวิชชา

ได้สติตริระบอบเห็นชอบล้ำ
ทรงรับทำตามเหตุเทศนา
พลางเอื้อนอรรถวัจนังสั่งเสนา
ให้ตรวจตรานัคเรศเขตมณฑล
22
ขุนทิฏฐิมาโนเจ้าโวหาร
กราบทูลสารเสนอความตามนุสนธิ์
ขอเดชะนรินทรอย่าร้อนรน
จงถือตนถือตัวอย่ากลัวใคร

ตามเยี่ยงอย่างกระษัตริย์ใหญ่มิใช่น้อย
อย่าทรงถอยหลังขยาดคิดหวาดไหว
อย่างอนง้อขอยอมอดออมใคร
กลัวอะไรไพรีมีเพียงนั้น ฯ

อวิชชาตัณหามาทูลสนอง
ว่าละอองบาทานราสวรรค์
มีบุญยาผาสุกทุกคืนวัน
สารพันจะประกอบชอบพระทัย

เป็นกระษัตริย์ขัตติย์วงศ์อันทรงศักดิ์
แม้นเหมือนหลักโยกเขยื้อนยังเคลื่อนไหว
ราษฏรก็จะข้อนนินทาไป
อย่าเชื่ออ้ายโหราคนอาธรรม์
23
อันสติโหราปัญญาโฉด
แกล้งยกโทษเติมเหตุแช่งเขตขัณฑ์
ข้าศึกไหนจะกล้ามาโรมรัน
พระทรงธรรม์อย่าทรงหลงลมพาล

พระจิตราชลุอำนาจนางตัณหา
กลับโกรธาเคืองพระทัยดังไฟผลาญ
รับสั่งให้ไล่สติโหราจารย์
จากสถานอย่าให้ล้ำมากล้ำกราย

พวกเสนาวงศ์ตัณหาพยาบาท
ไล่พิฆาตโหรสติตีด้วยหวาย
บ้างทุบถองเตะซ้ำช้ำทั้งกาย
โหรกลัวตายรีบร้อนหนีซ่อนตน

แต่นั้นมาเสนาที่ซื่อสัตย์
ไม่อาจขัดทูลสนองพร้อมนุสนธิ์
ด้วยเกรงผิดกริ้วกราดไม่อาจทน
ต่างหลบตนหนีหน้าจากปราการ ฯ
24
จิตราชหลงสวาทนางตัณหา
ไม่ตรวจตราคอยระวังเมืองสังขาร
อวิชชาพาเหลิงระเริงลาน
ไม่ตรองการณ์เขตขัณฑ์จะอันตราย

หลงสวาทมาตุคามกามกิเลส
ตั้งจิตเจตน์ไปข้างทางฉิบหาย
เพราะโมหะระคนสกนธ์กาย
ไม่ละอายบาปกรรมยิ่งทำไป

ทั้งคบคิดมิจฉาทิฏฐิหลง
จนงมงงเห็นดีเป็นนิสัย
ที่สิ่งผิดคิดเห็นเป็นชอบไป
เสพเมรัยและสุรานั้นว่าดี

คบพวกพาลล้วนเลวเหลวเลอะเทอะ
ทำสะเออะองอาจดังราชสีห์
ล้วนเป็นเหตุย่อยยับทั้งอัปรีย์
ด้วยถึงที่เสียเขตนคร ฯ
25
ท่านผู้อ่านผู้ฟังเชิญตั้งจิต
ตริตรองคิดให้เห็นเป็นปัญหา
อย่าอ่านเล่นเป็นข้อพอเพลินตา
เพราะเหตุว่าบทกลอนนครกาย

เป็นแต่เทียบเปรียบเรื่องเมืองสมมติ
ใช่กำหมดเป็นจริงสิ่งทั้งหลาย
ไม่ตรองความหลงตามเค้านิยาย
ต้องคลาดหมายผลล้ำในธรรมา

ขอยกเปรียบเทียบความตามประสงค์
ยังมีองค์จรทศทิศา
ดำรงเมืองเรืองฤทธิ์อิสสรา
นามพระยามัจจุราชอำนาจครัน

ครองนครมรณาพาราใหญ่
ไม่มีใคร่ต่อเดชทุกเขตขัณฑ์
ออกพระนามขามกลัวไปทั่วกัน
จอมอาธรรม์เชี่ยวชาญการสงคราม





 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 7 พฤษภาคม 2550 7:57:56 น.
Counter : 1040 Pageviews.  

กายนครคำกลอน (หน้าที่ 11-20 ค่ะ)





11
ทหารสององค์อนงค์นาฏ
ล้วนสามารถแต่งกายทั้งซ้ายขวา
พระทรงฤทธิ์จิตราชกระษัตรา
ตั้งเสนาบดีทั้งสี่นาย

สำหรับดูบ้านเมืองจะเคืองเข็ญ
วิบัติเป็นยับบุบสลาย
ขุนปฐวีมีสิบเก้าทั้งบ่าวนาย
ดินกระจายร้าวรานประการใด

คอยเพิ่มเติมเสริมที่ทรุดให้หยุดอยู่
ที่เป็นอู่ลุ่มลาดชลาไหล
ก็สะสมถมเติมให้เติมไป
ระวังระไวป้อมคูประตูวัง

ขุนอาโปสิบสองตรึกตรองชอบ
ว่าที่รอบกรมท่าทั้งหน้าหลัง
ดูวารีมากน้อยคอยระวัง
หมั่นปิดบังมิให้ล้นขึ้นบนนา
12
ถ้าน้ำน้อยถอยถดลดลงมาก
ต้องลำบากวิดวักไว้หนักหนา
ขุนเตโชทั้งสี่มีเดชา
บังคับว่าข้างไฟทั้งไพร่นาย

ทั้งสี่คนขนเชื้อเผื่อไว้เสร็จ
กลัวมีเหตุไฟดับกลับสูญหาย
เที่ยวตีฆ้องร้องป่าวเหล่าหญิงชาย
ให้ขวยขวายเร่งระวังทั้งฟืนไฟ

ขุนวาโยหกเหล่าเจ้าความคิด
เตรียมเชือกชิดผันแปรคอยแก้ไข
ลมพายุบุลั่นสนั่นไป
ต้องไม้ไล่ล้มเอนระเนนนอน

ทั้งปรางค์มาศราชวังบัลลังก์แก้ว
ต้องล้มแล้วทานไม่หยุดแทบหลุดถอน
เอาเชือกรั้งเย่าเรือนแก้เคลื่อนคลอน
มิให้อ่อนระทวยช่วยประทัง
13
ทั้งหอกกลองป้อมคูประตูสม
คราวเมื่อลมพัดมาต้องหน้าหลัง
ต่างป่วนปั่นหันเหียนเจียนจะพัง
เอาเชือกรั้งค่อยดำรงทรงกายา

มีเสนีสามเหล่าเข้าเฝ้าพร้อม
คอยห้อมล้อมจอมวังเมืองสังขาร์
เหล่าหนึ่งนั้นคนดีมีอัชฌาสย์
ยี่สิบห้าคนรวมร่วมใจกัน

ไม่เข้าด้วยอวิชชาตัณหาสอง
พวกหนึ่งรองมิใช่ชั่วตัวขยัน
ครบสิบสี่นี้หยาบช้าใจอาธรรม์
ล้วนพงศ์พันธุ์ตัณหาอวิชชา

คอยประจบจอมท้าวเจ้าสถาน
ให้โปรดปรานผูกพันนางตัณหา
พวกหนึ่งนั้นอัญญสมานา
ท่านกล่าวว่าโดยนามสิบสามคน
14
เข้าประสบคบคล่องทั้งสองข้าง
เป็นกองกลางคอยสังเกตดูเหตุผล
เห็นบาปมากก็ไถลเข้าไปปน
แม้นได้ยลบุญมีก็รี่ไป

ท่านผู้ฟังอย่ากังขานะท่านเอ๋ย
ใช่อื่นเลยเจตสิกเราพริกไหว
ห้าสิบสองกลอกกลับเกิดดับไป
ย่อมไถลเชือนแชไม่แนนอนฯ

ฝ่ายในกรุงรุ่งเรืองเป็นเมืองใหญ่
พลไกรคั่งคับสลับสลอน
ไพร่ผู้ดีมีสะพรั่งทั้งนคร
ราษฎรดาษดื่นนับหมื่นพัน

มีรูปร่างหลายอย่างทั้งเล็กใหญ่
ล้วนอาศัยอยู่เสร็จในเขตขัณฑ์
นามกรกิมิชาติฉกาจฉกรรจ์
เป็นตัวกลั่นนายเหล่าเลขเข้าเดือน
15
แต่พวกนี้มีจิตเป็นมิจฉา
ทั้งปากกล้าทรชนทำปนเปื้อน
คบศัตรูเป็นมิตรจิตฟั่นเฟือน
เป็นครัวเรือนไส้ศึกฮึกทั้งนั้น

ทราบถึงจอมจักรพงศ์ทรงกริ้วโกรธ
ให้ลงโทษเนรเทศจากเขตขันฑ์
ที่เหลืออยู่รู้ประจบสงบพลัน
พอประเวียงชัยมิให้โทรม

มีหลวงชาติเป็นพระญาติวงศา
ของชายาสองอนงค์ผู้ทรงโฉม
เป็นปู่ย่าตาเฒ่าคอยเล้าโลม
ไม่จู่โจมใจดีมีปรีชา

อันเมืองนี้ที่จะร่างสร้างสำเร็จ
ก็เพราะเหตุหลวงชาติฉลาดหา
เดิมเป็นสมุทรกว้างสุดคณนา
ทั้งคงคาเป็นคลื่นอยู่ครื้นครัน




16
เหล่าฝูงสัตว์มัจฉาล้วนปลาร้าย
เที่ยวแหวกว่ายวนเวียนอยู่เหียนหัน
เห็นแต่น้ำกับฟ้าน่าอัศจรรย์
จะตั้งมั่นหันคว้างกลางนที

ทั้งแดดลมระดมดื่นเป็นคลื่นซัด
เกิดวิบัติสูญหายไม่เห็นผี
เป็นหลายครั้งจึงได้ตั้งเป็นธานี
ในวารีหลวงชาติฉลาดทำ

กลางนทีเกาะจำเพาะเกิด
กุศลเลิศช่วยชุบอุปถัมภ์
ค่อยสะสมถมเติมมาเสริมซ้ำ
ได้ก่อกรรมบ้านเมืองเป็นเรื่องราว

สมุทัยต่อไปในจตุสัจจ์
จะขอตัดยกไว้ไม่สืบสาว
จะเทียบความตามโลกยังยืดยาว
จะขอกล่าวเปรียบปานนิทานไป ฯ
17
มีหมู่โจรปัจจามิตรคอยคิดร้าย
หกกองกายรอบเสมาพาราใหญ่
แต่หลวงชาติผู้ชำนาญต้านทานไว้
สงบได้เล็กน้อยแล้วค่อยกวน

แต่แรกตั้งสังขารมานานช้า
ยี่สิบห้าปีเต็มเกษมสรวล
ทั่วภูมิพื้นชื่นฉ่ำเป็นน้ำนวล
ประกอบถ้วนในสถานการสบาย

ทั้งไพร่บ้านพลเมืองไม่เคืองเข็ญ
ได้อยู่เย็นพร้อมพรั่งสิ้นทั้งหลาย
เหมือนหมู่หนอนฟอนกินอยู่ในกาย
ทั้งหญิงชายเกษมสุขทุกทิวา

นครนี้มีฤดูอยู่ทั้งสาม
คือมีนามสุขทุกข์อุเบกขา
พระทรงฤทธิ์จิตราชกระษัตรา
ทรงเสวยเวทนาชั่วตาปี
18
เป็นสุขบ้างทุกข์บ้างละวางเฉย
ตามคราวเคยเปลี่ยนฤดูคู่กรุงศรี
อวิชชาตัณหาสองนารี
พระสามีพิสวาทไม่ขาดวัน

คอยยุยงส่งซ้ำแต่คำผิด
หุ้มห่อจิตทะยานไปใหญ่มหันต์
ในฝ่ายกุศลคุณเป็นบุญธรรม์
คอยเกียจกันเสียมิให้เข้าใกล้กราย

คนไหนดีมีศรัทธาปัญญายิ่ง
คอยค้อนติงไล่ขับให้รับหาย
ส่วนพงศ์พันธ์พาลชนคนสิ้นอาย
ทูลถวายความชอบให้ตอบแทน

ท้าวจิตราชลุอำนาจนางตัณหา
อวิชชาสองศรีนี้เหลือแสน
เฝ้าเคล้าเคลียทั้งคู่ไม่ดูแคลน
ห่อนเคียดแค้นตามจิตเป็นนิจรันดร์
19
เหล่าพวกพ้องสองนางไม่ห่างเฝ้า
ยุให้เข้าแต่ข้างบาปหยาบมหันต์
ทะยานอยากอย่างยิ่งทุกสิ่งอัน
นับร้อยพันทั่วพิภพไม่จบเลย ฯ

ฝ่ายสติโหราปรีชาหาญ
ตรึกตรองการณ์ในบุรีมิเมินเฉย
ดูฤกษ์บนรู้เหตุสังเกตเคย
ไม่ช้าเลยศึกจะมาติดธานี

ด้วยพระหลงอวิชชาตัณหาสอง
ทั้งพวกพ้องจะมายุ่งเสียกรุงศรี
หลงโลโภโมหาชั่วตาปี
เฝ้าพาทียุแต่ให้มีภัยพาล

เราจะนิ่งอยู่ฉะนั้นก็มิชอบ
จำนบนอบทูลพระองค์ด้วยสงสาร
แกรีบมาพระโรงครันมิทันนาน
ก้มกราบกรานทูลพลันโดยทันใด
20
ขอเดชะฤกษ์อากาศประหลาดนัก
ปรปักษ์จะมาแน่นหนาใหญ่
ขอพระองค์เตรียมเสบียงกันเวียงชัย
จึงจะได้รบรอต่อไพรี ฯ

จิตราชฟังโหรามาทูลเหตุ
พระทรงเดชร้อนพระทัยไม่ผ่องศรี
จึงตรัสถามโหรพลันในทันที
เมื่อฉะนี้จะป้องกันเป็นฉันใด ฯ

โหรเคารพนบทูลกิจ
ขอทรงฤทธิ์ผันแปรคอยแก้ไข
จัดโยธาธรรมาวุธที่ว่องไว
ตั้งอยู่ในศีลทานฝ่ายการบุญ

ทรงสวดมนต์ภาวนาเมตตาจิต
จงจำกิจคำพระพุทธเข้าอุดหนุน
อย่าระเริงหลงตามกามคุณ
เพื่อเป็นทุนทรัพย์มั่นกันนคร




 

Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 7 พฤษภาคม 2550 7:57:18 น.
Counter : 2025 Pageviews.  

กายนครคำกลอน ( หน้า 1-10 ค่ะ )



คำปรารภ กายนครคำกลอน

กายนครคำกลอนเป็นหนังสือธรรมะที่สำคัญยิ่งเรื่องหนึ่ง
ที่น่าจะได้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ให้ดำรงอยู่คู่
กับพระบวรพุทธศาสนา และ ชาติไทย
เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังๆ ได้มีโอกาสอ่านสัมผัสอมตรส
แห่งปรมัตถธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในกายนครคำกลอนเล่มนี้ นักปราชญ์นิรนามท่านหนึ่ง
ได้แต่งกลอน สมมุติ ชีวิต ซึ่งประกอบด้วยส่วนทั้ง 5 คือ
เบญจขันธ์ ว่าเป็นเมือง เรียกว่า กายนคร
คือ เมืองร่างกาย สมมุติรูป คือ ร่างกาย เป็นเมือง มี
ประมาณเป็นมาตรฐาน คือ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ
มีประตู 9 แห่ง หมายถึง ทวารทั้ง 9 คือ ตา 2 หู 2 จมูก 2 ปาก 1
ทวารหนัก 1 ทวารเบา 1 สมมุติ วิญญาณ
เป็นราชา ผู้สร้างนคร มีนามว่า จิตราช สมมุติ เจตสิก
คือ เวทนา สังขาร เป็นอำมาตย์ สมมุติ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ
เป็นฝ่ายข้าศึกมาโจมตี จนกายนครแตก
พระเจ้าจิตราชต้องสร้างนครมาใหม่ สร้างขึ้นอีกก็ถูกโจมตีอีก
สมมุติ ไตรลักกษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็น
พระฤาษีผู้เป็นอาจารย์ของพระเจ้าจิตราชมาช่วยคิดอ่านแก้ไข
ฝ่ายข้าศึกจึงทำอันตรายไม่ได้ ต้องเลิกทัพกลับไป
หมายความว่า เมื่อถึงพระนิพพานแล้ว ก็ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกต่อไป
ในบทกลอนนี้ วนารีขอมอบอานิสงส์ทั้งหมดให้กับ
เจ้าของผู้แต่งซึ่ง วนารีก็ไม่ทราบนามผู้แต่งค่ะ






1
จะแถลงแต่งกลอนอักษรสาร
มโนน้อมแทนบุปผาสุมามาลย์
หัตถ์ประสานเหนือเศียรแทนเทียนทอง


มนัสการรัตนังสิ้นทั้งสาม
โดยมีความเลื่อมใสมิได้หมอง
จะเปลี่ยนแปลงแต่งความตามทำนอง
ให้ถูกต้องบทกลอนนครกาย


ซึ่งแต่งเป็นเวียงวังเมืองสังขาร
เรื่องโบราณร่ำชี้คดีขยาย
เปรียบในร่างเราทุกสิ่งทั้งหญิงชาย
เป็นนิยายให้คิดอนิจจัง


มิใช่เรื่องชวนเพลินเจริญจิต
แต่ที่คิดปรับปรุงเพราะมุ่งหวัง
เพื่อจะให้เรื่องนี้อยู่จีรัง
ให้ผู้ฟังตรึงตรองในครองธรรม


อันเค้าเรื่องนั้นก็ดีอยู่ถี่ถ้วน
แต่กลอนล้วนเต็มเข็ญไม่เป็นส่ำ
จึงคิดเพิ่มเติมแต่งแปลงถ้อยคำ
ให้แม่นยำถูกถ้วนกระบวนกายฯ

ดำเนินความตามเรื่องเมืองสังขาร
เป็นนิทานอ่านปลงจำนงหมาย
มีเมืองหนึ่งพึงตริอธิบาย
นครกายเรื่องธรรม์รำพันพจน์

ว่ากว้างศอกยาววาทั้งหนาคืบ
มีสืบๆ เป็นลำดับนับไม่หมด
มีกำแพงสี่ชั้นเป็นหลั่นลด
ที่หนึ่งจดตามระยะชื่อตโต

ชั้นที่สองรองคือชื่อมังสัง
เลือดหล่อหลั่งน้ำหนักตั้งอักโข
ชั้นที่สามนามว่านหาโย
เป็นสายโซ่ร้อยทั่วรอบรั้ววัง
3
ชั้นที่สี่อัฏฐินี้แน่นหนา
กั้นพาราให้โตใหญ่ดังใจหวัง
มีคูป้อมล้อมสี่ทิศติดประดัง
ป้อมหนึ่งตั้งนามเกศาดังวาที

ดูดำขลับระดับอย่างสนามหญ้า
ชื่อโลมาป้อมสองถัดรองที่
ป้อมที่สามนามนขาสง่าดี
ป้อมที่สี่ทันตาหน้าสงคราม

นครนี้มีประตูอยู่เก้าแห่ง
จัดตั้งแต่งคนไว้ให้ไต่ถาม
เฝ้าประตูดูระวังและนั่งยาม
ตะเกียงตามไฟแดงทุกแห่งไป

ประตูต้นรับขนของถวาย
แต่เช้าสายสนธยาปัจจุสมัย
ขนานนามทวาราที่ว่าไซร้
ประตูชัยมุขะทวารา
4
ของถวายจ่ายให้ชาวในนั้น
กินไม่ทันบูดเน่าเสียหนักหนา
ขุนวาโยให้ร่นขนออกมา
ทวาราที่สองซึ่งต้องทำ

ชื่อประตูอุจจาระน่าโสโครก
ถูกลมโกรกกลิ่นเหม็นไม่เป็นส่ำ
ที่สามนามปัสสาวะขาประจำ
คอยถ่ายน้ำไหลหลั่งดั่งลำธาร

ยังอีกคู่ประตูที่สี่ห้า
ขุนวาตานั่งยามตามสถาน
รูปกลิ้นพร้อมหอมเหม็นเป็นราชการ
นามขนานฆานะทวาโร

ประตูที่หกเจ็ดเขตระยะ
ชื่อโสตะทวารบานเปิดโร
รับความดีความชั่วตัวพาโล
เกิดสุโขทุกขังประดังกัน
5
ประตูที่แปดเก้าแสงวาวแวว
ดังแว่นแก้วทั้งคู่ดุเฉิดฉัน
ชื่อจักษุทวาราน่าอัศจรรย์
เป็นสำคัญทัศนาทั่วปราการ

มีปราสาทห้าแห่งเป็นแหล่งหลัก
หนึ่งชื่อจักษุปราสาทราชฐาน
ประดับด้วยเนาวรัตน์ชัชวาล
สูงตระหง่านที่กระษัตริย์เคยทัศนา


มีสนมนางงามประจำที่
ล้วนผ่องศรีเฝ้าฝ่ายทั้งว้ายขวา
ตัวนายนามพธูชื่อรูปา
คอยตรวจตราและระวังดังจะนง


ที่สองชื่อโสตะคอยสดับ
เป็นที่รับเสียงฟังดังประสงค์
นางสำหรับขับกลอมห้อมล้อมองค์
พิณพาทย์วงมะโหรีปี่ชะวา

6
สดับข่าวสารบอกนอกนิเวศน์
ทุกประเทศมากมายหลายภาษา
ทั้งถ้อยความตามตำแหน่งแพ่งอาญา
ร้องฎีกาถวายสัตย์ปฏิญาณ

นางแน่งน้อยหัวหน้ามียะโส
นามสัทโทสุ้มเสียงสำเนียงหวาน
ปราสาทสามนามฆานะงามตระการ
แจ้งวิตถารหอมเหม็นเป็นสำคัญ

เป็นที่สรงทรงเครื่องสุคันธรส
หอมปรากฏยวดยิ่งทุกสิ่งสรรพ์
มีนารีที่เฝ้าอยู่เหล่านั้น
นางชื่อคันธานางสำอางนวล

เหนือชิวหาปราสาทสี่ที่เสวย
พระองค์เคยทรงพร้อมรสหอมหวน
เครื่องคาวหวานยักย้ายหลายกระบวน
ทรงรบกวนคนถวายไม่วายวัน
7
เผ็ดขมขื่นกลืนไม่ลงก็ทรงกริ้ว
พระพักตร์นิ่วพิโรธเหล่านางสาวสรรค์
นางรสาโฉมฉายนายกำนัล
กลัวต้องทัณฑ์เฝ้านั่งระวังระไว

มีกายปราสาทศรีเป็นที่ห้า
ที่นิทราแท่นทองงามผ่องใส
พร้อมอนงค์พนักงานการข้างใน
หัวหน้าใหญ่คอยเตือนไม่เคลื่อนคลา

นามผัสโสกรมวังตั้งกำกับ
ที่สำหรับปรางค์มาศปราสาทห้า
ปลัดกรมสมชื่อคือเวทนา
คอยตรวจตราสารพันขยันนัก

อันพระองค์ผู้ดำรงทศพิธ
พระนามจิตราชเรืองประเทืองศักดิ์
มีสองพระมเหสีเป็นที่รัก
นามนงลักษณ์อวิชชาฝ่ายขวานาง
8
องค์ฝ่ายซ้ายนางงามนามตัณหา
ภัสดาพิสมัยมิได้หมาง
สำเร็จกิจทั่วไปที่ในปรางค์
ท้าวเธอวางพระทัยหลงปลงอารมณ์

ไม่เคยคลาดลุอำนาจนางทั้งสอง
เฝ้าประคองเคียงชิดสนิทสนม
ทูลอะไรได้สมหวังดังนิยม
สองทรามชมกำเริบรุกขึ้นทุกที

ทั้งส่วยอากรขนอนตลาด
เที่ยวรุกราษฎร์ด้วยกักชักภาษี
เห็นสิ่งของชาวประชาบรรดามี
ให้ยินดีอยากได้ไปทั้งนั้น

ทำอุบายร้ายดีปรานีนัก
ให้เห็นรักร่วมจิตคิดขยัน
ทำสนิทชิดชอบประกอบกัน
ว่าแบ่งปันซื้อขอพูดล่อลวง
9
อวิชชาตัณหามเหสี
ได้ครองที่นางในเป็นใหญ่หลวง
สาวสนมกรมวังสิ้นทั้งปวง
ทุกกระทรวงเหนือใต้ในพารา

คนขึ้นเฝ้าเอาของกองถวาย
ออกเหลือหลายหลากหลากมากนักหนา
พระทรงฤทธิ์จิตราชกระษัตรา
เชื่อวาจาสองนางไม่ห่างองค์

ทั้งพงศาพวกพ้องสองนางนาฏ
คอยเฝ้าบาทยุให้พระทัยหลง
แต่งตั้งที่ดีล้ำให้ดำรง
นึกว่าตรงซื่อสัตย์ปฏิญาณ

หลวงโทโสโกรธาคู่หน้านั้น
ตัวสำคัญเป็นฝ่ายนายทหาร
หลวงโลโภโมหะได้ประทาน
เป็นทหารทั้งสี่ดีด้วยกัน
10
ถ้าศึกเสือเหนือใต้ใครข่มเหง
ไม่กลัวเกรงรอนราญชาญขยัน
ทั้งโทโสโกรธากล้าฉกรรจ์
เรื่องแทงฟันชกต่อยไม่ถอยรา

หลวงโลโภโมหะไม่ละนิ่ง
สองนายวิ่งเก็บของเที่ยวมองหา
ทั้งเงินทองของเข้าขนเอามา
ถวายนางตัญหาทุกคราไป

นางโฉมยงจัดแจงให้แต่งตั้ง
มีขุนคลังดูแลกุญแจไข
ชื่อขุนมัจฉริยังไม่ฟังใคร
เบิกสิ่งใดยากแค้นแสนทวี

พยาบาทวิหิงสาเสนาใหญ่
เจ้ากรมในราชวังทั้งกรุงศรี
ถ้าเคืองขัดเข่นฆ่าเที่ยวราวี
ถึงสิบปีก็ไม่หายคลายโกรธา


วนารีจะพิมพ์ลงมาให้ทุกท่านได้อ่านจนหมดนะค่ะ
รอตามอ่านคะเพราะทุกบทดีมากๆค่ะ























 

Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2551 16:34:30 น.
Counter : 3717 Pageviews.  

ชีวิตตรงธรรมะ



เป็นสตรีไม่มีศีล ก็สิ้นสวย
บุรุษด้วยไม่มีศีล ก็สิ้นศรี
เป็นสมณะไม่มีศีล ก็สิ้นดี
เป็นทหารไม่มีศีล ก็ไม่ได้ความ
เป็นสตรีไม่มีธรรม ก็ทรามชั่ว
บุรุษทั่วไม่มีธรรม ต่ำศักดิ์ศรี
เป็นสมณะขาดธรรม ก็อลัชชี
เป็นข้าราชการธรรมะไม่มี ก็หยาบคาย
พ่อแม่ขาดธรรม ลูกก็ช้ำจิต
เป็นลูกศิษย์ขาดธรรม อาจารย์ก็ช้ำใหญ่
ถ้าเป็นสามีขาดธรรม ภรรยาก็ช้ำหัวใจ
คนทั่วไปขาดธรรม โลกก็ช้ำทั้งแผ่นดิน





ธรรมะสาระของการมีชีวิต จักเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อต้องเพียรพยายาม
พิจารณาว่ากรรมใดที่เป็นสาเหตุให้ เวียนตาย เวียนเกิด
จักต้องละซึ่งกรรมนั้นนั้น และกรรมใดใด เป็นเหตุให้หลุดพ้น
ต้องเพียรพยายาม ปฏิบัติกรรมนั้นนั้นให้จงได้





เราเกิดมา แรกแรก เราใช้กิเลส
เรามีเครื่องนุ่งห่ม มีอาหาร ร่างกายเราเจริญเติบโต
เราใช้มันและมันก็ให้ประโยชน์กับเรา ขณะเดียวกัน
กิเลสมันเป็นนายเราอยู่ มันคอยที่จะครอบงำเราขณะเผลอ
ขณะที่เราไม่เท่าทัน หรือรู้ไม่จริง มันจะแอบแฝง
มากับของที่เราชอบ ของที่เราปฏิเสธมันไม่ได้
ของที่มีความจำเป็น จนเราคิดไม่ได้ แยกไม่ออก
ว่ามันคือมิตรหรือศัตรู








ความรัก ความพอใจ เป็นเหตุให้เกิดธรรม และ อธรรมทั้งหลาย
ความจำ ความยึดถือ ความทะยานอยาก เป็นเหตุให้เกิดการกระทำ
ทั้งดี และชั่ว ความสบอารมณ์ ความพึงพอใจ เป็นเหตุให้ยุติการกระทำ


สมาธิเป็นพลังของพฤติกรรม ความตั้งมั่น
ความระลึกรู้เป็นผู้ช่วย สนับสนุนพฤติกรรม
ความใคร่ครวญไตร่ตรอง เป็นเครื่องรอง เป็นสาระปราศจากโทษ
คือ ประโยชน์ของพฤติกรรม


เงินเก่ามีอยู่มากมายหากใช้บ่อย
เงินก็น้อยลงได้ใช้หมดสิ้น
บุญเก่ามีอยู่มากมายใช้อยู่กิน
บุญก็สิ้นหมดลงได้หากไม่เติม






กิเลสยึดครองโลก


เมื่อกิเลสไหลนองยึดครองโลก
มันสุดแสนโสโครกที่โกรกไหล
เมื่อกระแสไฟตัณหาไหม้พาไป
ทิ้งซากไว้ระเกะระกะอนิจจัง

กลับยกย่องว่านั่นสิ่งศิวิไลซ์
ยั่วความใคร่เพิ่มเหยื่อแก่เนื้อหนัง
เป็นเครื่องล่อกามาบ้าติดตัง
ทั่วโลกคลั่งก็ยิ่งคล้ายอบายภพ

ทั้งแก่เฒ่าสาวหนุ่มล้วนจมกาม
เกลียดศีลธรรมเห็นเป็นหนามระคายขบ
อาชญากรรมลุกลามสงครามครบ
ร้อนตลบโลกกิเลสสังเวชจริง ฯ




 

Create Date : 10 มกราคม 2550    
Last Update : 10 มกราคม 2550 17:32:49 น.
Counter : 1070 Pageviews.  

ประวัติกฐิน




แต่ปางหลังครั้งสองพระทรงศรี
จอมมุนีโลกนาถแพร่ศาสนา
ประทับวัดเชตวันอันโอฬาร์
ณ.เมืองสา วัตถีบุรีรมย์

ถึงวัสสานฤดูมีหมู่สงฆ์
สามสิบองค์ เดินทางอย่างขื่นขม
จากเมืองท่า ปาฐาอุราตรม
หมายบังคม ยุคลบาทพระศาสดา

แต่พอถึง สาเกตประเทศน้อย
วันเดือนคล้อย เข้าปุริ ม พรรษา
ทุกอกองค์ อั้นอันตันปัญญา
หยุดไคลครา จำพรรษาครบสามเดือน

ครั้นถึงวัน ปวารณาพรรษาแล้ว
ดังได้แก้ว ดีใจหาใดเหมือน
ต่างรีบร้อน คราไคลไม่แชเชือน
ก็คล้อยเคลื่อน เข้าเขตเชตวัน

ตลอดทาง ต่างย่ำโคลนเปรอะเปื้อน
ด้วยเป็นเดือน พิรุณลาคราวสันต์
ไตรจีวร เปียกเปื้อนเหมือนเหมือนกัน
รีบผายผัน เฝ้าบาทพระศาสดา

พระพุทธองค์ ทรงมีปฏิสันถาร
พระบรรหาร หวานเสนาะเพราะนักหนา
ดำรัสตอบ ชอบใจในเจตนา
ที่อุตส่าห์ บากบั่นด้วยมั่นใจ

ทอดพระเนตร สังเกตผ้ากาสาสงฆ์
แต่ละองค์ มัวหมองไม่ผ่องใส
จึงเอื้อนโอษฐ์ โปรดบัญญัติตรัสวินัย
ประทานให้ สงฆ์ที่ได้ปวารณา

จำพรรษา มาจบครบไตรมาส
อนุญาต ให้เสาะแสวงหา
ผ้าสำหรับ จะทำจีวรา
แล้วนำมา เย็บย้อมเป็นจีวร

ภายในเพ็ญ เดือนสิบสองให้ครองได้
บัญญัติไว้ แล้วพระองค์ทรงสั่งสอน
ให้หมู่สงฆ์ ช่วยกันไม่เกี่ยงงอน
หาไม้ท่อน มาทำเป็นสะดึง

สมัยนั้น การจะทำเย็บปะผ้า
จักต้องหา อาศัยไม้สะดึงขึง
ไม้สะดึง ซึ่งทำให้ผ้าตึง
เป็นอันหนึ่ง ที่สำคัญในวงงาน

ไม้สะดึง ซึ่งเรียกกฐิน
ประกอบชิ้น จีวร เป็นสัณฐาน
จึงเรียกว่า ผ้ากฐิน แต่โบราณ
รวมทั้งกาล เวลา ทำผ้าไตร

เรียกกันว่า กฐินกาล งานกฐิน
เขตสุดสิ้น เดือนสิบสอง เพ็ญผ่องใส
ให้พระสงฆ์ ตกลงกัน ว่าฉันใด
ยกผ้าที่ ทำเสร็จให้ ได้ครอบครอง

มอบแก่พระ ภิกษุเพียงรูปหนึ่ง
เป็นพระซึ่ง สงฆ์ยอม พร้อมถวาย
เป็นพระผู้ งดงาม ตามวินัย
นอกนั้นไซร้ สาธุใน โมทนา

เช่นนี้เรียก ว่าสงฆ์ กรานกฐิน
เป็นสุดสิ้น ปฐมเหตุ เทศนา
ต่อมามี มหาอุ บาสิกา
วิสาขา นามกระเดื่อง เรื่องใจบุญ

ได้รู้เรื่อง เริงรื่น ฉ่ำชื่นจิต
ด้วยนางคิด ที่จะสนับสนุน
จึงจัดหา ผ้ากฐิน สิ้นเงินทุน
ด้วยการุณ ในพระสงฆ์ทรงวินัย

ทอดถวาย เป็นรายแรก หนึ่งในโลก
จึงอาโภค เพียบพูน บุญมโหย
บัดนี้เล่า พวกเรา ชนชาวไทย
ก็พร้อมใจ กันทอด กฐินทาน

เอาเยี่ยงอย่าง แม่นาง วิสาขา
ด้วยศรัทธา พร้อมพรัก สมัครสมาน
เพื่อบูชา ไตรรัตน์ อันโอฬาร
ให้ยืนนาน วัฒนา ชั่วฟ้าดิน

ผลผลา อานิสงฆ์ จงสัมฤทธิ์
แด่ญาติมิตร ชื่นชม สมถวิล
เป็นอันจบ ครบเครื่อง เรื่องระบิล
เรื่องกฐิน ย่อเค้า เท่านี้เอย








ที่มาของวันเข้าพรรษา พระพุทธเจ้าต้องการให้
พระภิกษุรวมตัวเป็นปึกแผ่นได้สงเคราะห์ชาวบ้าน
ชาวบ้านได้ทำบุญฟังธรรมจากพระ
พระผู้ใหญ่ได้อบรมพระผู้น้อย ที่มาบวชเรียนกัน






 

Create Date : 05 มกราคม 2550    
Last Update : 8 มกราคม 2550 6:28:14 น.
Counter : 1069 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  

วนารี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




หัดเขียนเพื่อเรียนรู้ค่ะ
^^^^^^^^^^^^
ความรัก เสลาสลักสวยใส
งามใดเล่า งามใด
เทียบได้งดงาม ความรัก
จรดลึก ในความทรงจำ
ลึกล้ำ ย้ำรอยสลัก
นิรันดรนั้น นานหนัก
แต่รักเรา นานกว่านั้น
^^^^^^^^^^^^

เขาว่าเรา เราอย่าโกรธ ลงโทษเขา
ในเมื่อเรา นั้นไม่เป็น เช่นเขาว่า
หากเราเป็น จริงจัง ดังวาจา
เมื่อเขาว่า อย่าโกรธเขา เราเป็นจริง
Friends' blogs
[Add วนารี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.