space
space
space
<<
ธันวาคม 2563
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
space
space
14 ธันวาคม 2563
space
space
space

เลี้ยงแมลงหางหนีบ (Earwigs) ควบคุมศัตรูพืช


               แมลงหางหนีบ เป็นแมลงห้ำที่ช่วยควบคุมประชากรของแมลงศัตรูพืชหลายชนิด มีทั้งชนิดตัวสีน้ำตาลและสีดำ พบทั่วไปในธรรมชาติมักหลบซ่อนตัวอยู่ภายในลำต้นและตามซอกกาบใบอ้อยหรือข้าวโพดหรือตามซอกดินที่มีเศษใบไม้ มีความสามารถในการเสาะหาเหยื่อตามซอกมุมได้ดีโดยกินทั้งไข่และตัวหนอน เช่น หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกออ้อย รวมทั้ง เพลี้ยอ่อนข้าวโพด ไข่และตัวอ่อนของด้วงกุหลาบ นอกจากนี้ยังพบตามแปลงปลูกพืชผักโดยเฉพาะพืชตระกูลกะหล่ำ เป็นต้น
               แมลงหางหนีบจะเข้าทำลายเหยื่อ ถ้าเป็นเหยื่อขนาดเล็กหรือเป็นเพลี้ยอ่อนจะใช้ปากกัดกินโดยตรง หากเหยื่อเป็นตัวหนอนจะใช้แพนหางซึ่งมีลักษณะคล้ายคีมหนีบลำตัวเหยื่อให้สลบหรือตายก่อนแล้วจึงกัดกินเป็นอาหาร ถ้าแมลงหางหนีบกินอาหารอิ่มแล้วมันจะใช้แพนหางหนีบตัวหนอนให้ตาย แล้วจะทิ้งไว้โดยไม่เก็บกินเป็นอาหารต่อและจะไปห้ำหนอนตัวอื่นต่อไป
               ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดขอนแก่น (ศทอ.ขอนแก่น) ได้ดำเนินการผลิตแมลงหางหนีบเพื่อนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ควบคุมศัตรูพืชในแปลงอ้อยโดยเฉพาะหนอนกออ้อย ซึ่งสามารถควบคุมในระยะไข่และตัวหนอนขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ควบคุมหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด เพลี้ยอ่อนข้าวโพด รวมทั้งใช้ควบคุมแมลงศัตรูมะพร้าว ได้แก่ หนอนหัวดำและแมลงดำหนามอีกด้วย
               สำหรับรูปร่างและลักษณะการเจริญเติบโตแมลงหางหนีบ Euborellia sp. มีการเจริญเติบโตเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่-มีลักษณะทรงกลมผิวเรียบ สีขาวนวล วางไข่เป็นกลุ่มใต้ดิน ไข่ 1 กลุ่ม มีไข่ประมาณ 30-40 ฟอง ระยะไข่ 8-10 วัน ระยะตัวอ่อน-มีรูปร่างคล้ายตัวเต็มวัยแต่มีขนาดเล็กกว่า ระยะตัวอ่อนมี 3 วัย รวมอายุประมาณ 55 วันและระยะตัวเต็มวัย-ลำตัวสีดำ ไม่มีปีก มีแพนหางเรียบสีดำ มีหนวดแบบเส้นด้าย ตัวเต็มวัยอายุประมาณ 90 วัน
               ในการใช้แมลงหางหนีบ Euborellia sp. ควบคุมศัตรูพืชให้ปล่อยแมลงหางหนีบวัย 3 (อายุประมาณ 1 เดือนขึ้นไป) จนถึงตัวเต็มวัย เพื่อควบคุมศัตรูพืช โดยใช้อัตราการปล่อย 100-2,000 ตัวต่อไร่ (ขึ้นกับปริมาณศัตรูพืชในแปลงปลูกพืช) ปล่อย 1-2 ครั้ง ต่อฤดูปลูกและกระจายทั่วแปลงพืช
               ด้านนายคำภีร์ เชิมชัยภูมิ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในระยะต่อไปคาดว่าจะมีการเพาะเลี้ยงในระดับเกษตรกรได้ โดยเฉพาะในศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) หรือศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อย โดยสามารถขอสนับสนุนพ่อแม่พันธุ์ได้ที่ ศทอ. ขอนแก่น นอกจากนี้ ผู้สนใจสามารถเข้ามาศึกษา ดูงาน วิธีการเพาะเลี้ยงได้ที่ศูนย์ฯ ในวัน เวลา ราชการ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 043 203 512
 
ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร


Create Date : 14 ธันวาคม 2563
Last Update : 14 ธันวาคม 2563 16:51:43 น. 0 comments
Counter : 928 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6126135
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6126135's blog to your web]
space
space
space
space
space