ความรับผิดทางแพ่งของนักแปลและล่าม (ตอนที่ 3)


ความรับผิดทางแพ่งของนักแปลและล่าม(ตอนที่ 3)

หน้าที่และความรับผิดของนักแปลและล่ามในฐานะผู้รับจ้าง

ในสัญญาจ้างทำของเมื่อผู้รับจ้างตกลงจะรับทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้แก่ผู้ว่าจ้างผู้รับจ้างจะต้องทำการสิ่งนั้นจนเสร็จหรือสำเร็จ ผู้รับจ้างจึงมีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องทำการงานตามที่ตกลงกันให้แก่ผู้ว่าจ้างและจะต้องทำการงานนั้นจนเสร็จ อีกทั้งงานที่ทำจะต้องทำให้เสร็จโดยไม่ชักช้าและไม่บกพร่อง (ไผทชิต: 2560) หน้าที่และความรับผิดของผู้รับจ้างมีดังนี้

1. ผู้รับจ้างต้องทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้าง

วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างทำของคือการให้ผู้รับจ้างกระทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จแก่ผู้ว่าจ้างตามมาตรา587 สำหรับสัญญาว่าจ้างให้แปลนั้น ผู้รับจ้างมีหน้าที่แปลให้ผู้ว่าจ้างจนเสร็จสิ้นหากนักแปลหรือล่ามไม่ทำงานตามที่ตกลงกันไว้กับผู้ว่าจ้าง นักแปลหรือล่ามนั้นเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องรับผิดต่อผู้ว่าจ้างเช่น ล่ามที่ทำหน้าที่แปลในงานประชุมก็ต้องแปลจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจจะทิ้งงานไปก่อนไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วย่อมถือว่าล่ามทำการสิ่งนั้นไม่สำเร็จและถือเป็นการผิดสัญญาว่าจ้างให้แปล อย่างไรก็ตามนักแปลหรือล่ามอาจว่าจ้างผู้อื่นต่อให้ทำงานแทนตนทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้เว้นแต่สาระสำคัญแห่งสัญญานั้นอยู่ที่ความรู้ความสามารถของนักแปลหรือล่ามคนนั้นตามมาตรา 607 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า“ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งการแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำอีกทอดหนึ่งก็ได้เว้นแต่สาระสำคัญแห่งสัญญานั้นจะอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้างแต่ผู้รับจ้างคงต้องรับผิดเพื่อความประพฤติหรือความผิดอย่างใด ๆของผู้รับจ้างช่วง”แต่ในสัญญาว่าจ้างให้แปลนั้นมักมีประเด็นเรื่องความลับของลูกค้าหากนักแปลหรือล่ามมอบงานบางส่วนหรือทั้งหมดให้แก่ผู้รับจ้างช่วงนักแปลหรือล่ามจะต้องระวังเรื่องการรักษาความลับของลูกค้า ซึ่งหลาย ๆประเทศกำหนดให้การรักษาความของลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งจรรยาบรรณวิชาชีพนักแปลและล่ามด้วยทั้งนี้ ต้องดูสัญญาด้วยว่าการโอนงานหรือมอบงานทำได้หรือไม่ซึ่งคู่สัญญาสามารถตกลงเป็นอย่างอื่นได้เพราะมาตรา 607ไม่ใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

2.ผู้รับจ้างต้องยินยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนตรวจตราการงาน

มาตรา 592 บัญญัติว่า“ผู้รับจ้างจำต้องยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนของผู้ว่าจ้างตรวจตราการงานได้ตลอดเวลาที่ทำอยู่นั้น”เหตุผลของมาตรานี้คือผู้ว่าจะได้ตรวจดูว่าผู้รับจ้างได้ลงมือทำงานหรือยังหรือมีข้อบกพร่องที่ไม่ตรงตามสัญญาประการใดในกรณีของสัญญาว่าจ้างให้แปลเอกสารหรือหนังสือนั้นผู้ว่าจ้างอาจเรียกดูงานแปลที่นักแปลได้เริ่มทำไว้แล้วได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนคงมีเพียงสิทธิตรวจดูเท่านั้นคงไม่ถึงกับมีสิทธิที่จะไปสั่งหรือไปบังคับให้นักแปลหรือล่ามต้องทำเช่นนั้นเช่นนี้ได้ต่างกับสัญญาจ้างแรงงาน(ไผทชิต: 2560)

3.ผู้รับจ้างต้องลงมือทำงานและทำงานโดยไม่ชักช้าหลังจากทำสัญญาและก่อนส่งมอบ

มาตรา 593 บัญญัติว่า“ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควรหรือทำการชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดีหรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้างจนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดีผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบของนั้นเลย”

มาตราดังกล่าวเมื่อปรับกับกรณีสัญญาว่าจ้างให้แปลอาจเป็นกรณีที่นักแปลได้รับว่าจ้างให้แปลเอกสารจำนวนหลายร้อยหน้าเมื่อใกล้ถึงวันกำหนดส่ง ผู้ว่าจ้างขอดูงานที่ได้เริ่มแปลไปแล้วบางส่วนแต่กลับพบว่านักแปลยังไม่ได้เริ่มแปลเลย เช่นนี้ถือว่านักแปลซึ่งเป็นผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควรซึ่งผู้ว่าจ้างคาดหมายล่วงหน้าได้ว่างานแปลนั้นไม่น่าสำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้หรืออาจสำเร็จแต่คุณภาพของงานต่ำผู้ว่าจ้างสามารถเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดเวลาส่งจริง ๆ อย่างไรก็ตาม การชักช้านั้นต้องไม่ใช่ความผิดของผู้ว่าจ้างเช่นผู้ว่าจ้างกำหนดเวลาส่งมอบงานให้นักแปลแล้วแต่ยังไม่ส่งเอกสารที่เป็นต้นฉบับให้แปลเสียทีจนกระทั่งใกล้กำหนดส่งมอบงานจึงได้มอบเอกสารต้นฉบับให้แปล นักแปลย่อมแปลไม่ทันถือว่าเป็นความผิดของผู้ว่าจ้าง

4. ผู้รับจ้างต้องรับผิดในงานที่ชำรุดบกพร่องหรือฝ่าฝืนข้อสัญญาระหว่างการทำงานก่อนส่งมอบ

มาตรา 594 บัญญัติว่า“ถ้าในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่นั้นเป็นวิสัยจะคาดหมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่าการที่ทำนั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่องหรือจะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญาเพราะความผิดของผู้รับจ้างไซร้ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดีหรือทำการให้เป็นไปตามสัญญาภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไปท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะเอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไปได้ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสี่ยงความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น”

มาตรานี้หมายความว่าผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกกล่าวนักแปลหรือล่ามให้แก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดีหรือทำการให้เป็นไปตามสัญญานั้น เพราะหากนักแปลหรือล่ามยังคงทำไปผลสุดท้ายงานที่ว่าจ้างก็จะออกมาบกพร่อง ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรอให้ถึงเวลาส่งมอบงานเพราะหากรออาจจะสายเกินที่จะแก้ไขความบกพร่องนั้น (ไผทชิต:2560) เช่น สำนักพิมพ์ขอดูตำราเรียนที่นักแปลแปลไปบ้างแล้วต่อมาสำนักพิมพ์พบว่ามีการแปลเนื้อหาผิด เช่นนี้สำนักพิมพ์สามารถบอกให้นักแปลแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะหากล่วงเลยมาจนถึงเวลาที่ตีพิมพ์ตำราเรียนออกจำหน่ายแล้วความเสียหายย่อมเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหากงานแปลบกพร่องเกินกว่านักแปลคนแรกจะแก้ไขได้อาจจะเป็นเพราะนักแปลคนแรกขาดความรู้ที่เพียงพอแต่ยังขืนรับงานมาหรือจะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่สำนักพิมพ์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างสามารถเอางานไปให้บุคคลภายนอกแก้ไขหรือทำต่อไปได้และนักแปลคนแรกจะต้องออกค่าใช้จ่ายตามมาตรา 594 ตอนท้าย ตลอดจนความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้นด้วย (นนทวัชร์: 2559)

5.ผู้รับจ้างต้องส่งมอบงานโดยไม่ชักช้า

มาตรา 596 บัญญัติว่า“ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดีหรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดีผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลาก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้”

มาตรานี้กำหนดสิทธิให้แก่ผู้ว่าจ้างสองประการ

ประการแรกคือ สิทธิในการขอลดสินจ้างซึ่งสิทธิในการขอลดสินจ้างนี้จะใช้เฉพาะกรณีที่สาระสำคัญของสัญญามิได้อยู่เวลาหมายความว่า แม้ผู้รับจ้างจะส่งมอบการงานที่จ้างล่าช้ากว่ากำหนดไปบ้างแต่งานที่ทำนั้นยังคงเป็นประโยชน์ต่อผู้ว่าจ้าง เช่นในสัญญาว่าจ้างให้แปลนิยายนั้น ผู้ว่าจ้างไม่ได้ต้องการใช้นิยายนั้นเพื่อการอื่นที่มีกำหนดเวลาเพียงแต่ต้องการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น หากนักแปลส่งมอบงานล่าช้าผู้ว่าจ้างสามารถขอลดสินจ้างได้เพราะงานที่แปลยังคงเป็นประโยชน์ต่อผู้ว่าจ้างอยู่ (นนทวัชร์:2559)

ประการที่สอง คือสิทธิในการเลิกสัญญา หากปรากฏว่าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลาแล้วนักแปลส่งมอบงานชักช้า ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาได้แต่ถ้าคู่สัญญาไม่ถือว่าการชักช้านั้นเป็นสาระสำคัญแล้วผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิเลิกสัญญา (ไผทชิต: 2560)ในสัญญาว่าจ้างให้แปลเอกสารส่วนใหญ่นั้น สาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลาอาจเป็นเพราะผู้ว่าจ้างจะต้องใช้เอกสารในการธุระที่มีการกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัดเช่น การแปลเอกสารกฎหมายลูกความอาจต้องรีบเอกสารเพื่อนำไปประกอบคดีให้ทันเวลายื่นฟ้องหรือการแปลบทความที่นิสิตนักศึกษาจะต้องรีบนำไปใช้ประกอบการวิจัยเพื่อให้ทันกำหนดเวลาส่งเป็นต้น

จากที่ได้ศึกษาเรื่องหน้าที่และความรับผิดของนักแปลและล่ามซึ่งเป็นผู้รับจ้างในสัญญาว่าจ้างให้แปลนี้ผู้เขียนเห็นว่าอาจมีปัญหาเรื่องการวินิจฉัยความประมาทเลินเล่อของนักแปลหรือล่ามเพราะที่ผ่านมาศาลไทยยังไม่เคยมีคำพิพากษาที่วินิจฉัยเรื่องความประมาทเลินเล่อของนักแปลหรือล่ามอันจะทำให้เกิดความรับผิดตามสัญญาอีกทั้ง มาตรฐานการทำงานของนักแปลและล่ามยังไม่มีความเป็นเอกภาพทำให้ยากต่อโจทก์ที่จะพิสูจน์ว่านักแปลหรือล่ามผิดหน้าที่ความระมัดระวังตามมาตรฐานของนักแปลและล่ามอย่างไร หากจะถือว่าการผิดสัญญาว่าจ้างแปลคือการที่นักแปลทำงานผิดพลาดในจุดเล็กๆ เช่น การพิมพ์ผิดซึ่งจะก่อให้เกิดสิทธิของสำนักพิมพ์ในการเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการที่สำนักพิมพ์ต้องเรียกคืนหนังสือและต้องตีพิมพ์หนังสือใหม่ก็อาจจะไม่เป็นธรรมกับนักแปล เพราะความเสียหายกับค่าตอบแทนที่นักแปลได้รับนั้นแตกต่างกันมากอีกทั้งสัญญาว่าจ้างให้แปลไม่มีการกำหนดเกณฑ์ว่าความผิดพลาดในการแปลมากน้อยเท่าใดจึงจะถือเป็นการผิดสัญญาประเด็นปัญหายังมีอีกว่าเป็นความผิดของสำนักพิมพ์ด้วยหรือไม่ที่ไม่ตรวจทานให้ดีก่อนตีพิมพ์การวินิจฉัยว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นการผิดสัญญาหรือไม่ผิดสัญญาส่งผลต่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์เพราะถ้ากรณีดังกล่าวไม่ใช่การผิดสัญญาโจทก์ที่เป็นคู่สัญญาก็จะขาดสิทธิที่จะเรียกร้องตามสัญญาไปซึ่งการฟ้องตามมูลสัญญามีข้อดีคืออายุความยาวนานกว่าการฟ้องตามมูลละเมิดปัญหานี้จะได้วิเคราะห์ต่อไปในบทที่5

หน้าที่และความรับผิดของผู้ว่าจ้าง

หน้าที่และความรับผิดของผู้ว่าจ้างตามสัญญาว่าจ้างให้แปลคือหน้าที่ในการจ่ายสินจ้างให้แก่นักแปลหรือล่ามตามมาตรา587 ที่ว่า “...และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น”แสดงให้เห็นว่า การที่ผู้รับจ้างรับจ้างทำงานนั้น ผู้รับจ้างไม่ได้ทำให้เปล่า ๆผู้รับจ้างหวังที่จะได้รับสินจ้างตามจำนวนและเวลาที่ตกลงไว้กับผู้ว่าจ้างผู้ว่าจ้างจึงมีหน้าที่จะต้องจ่ายสินจ้างให้แก่ผู้รับจ้างตามจำนวนและเวลาที่ตกลงกันไว้สินจ้างที่ผู้รับจ้างมีสิทธิได้รับนี้อาจเป็นเงินตราหรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ซึ่งทรัพย์สินรวมถึงสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิในการพักอาศัย การให้รับประทานอาหารเป็นต้น

ความรับผิดทางละเมิดของนักแปลและล่าม

นอกจากความรับผิดตามสัญญาจ้างทำของที่นักแปลหรือล่ามอาจต้องรับผิดต่อคู่สัญญาแล้วนักแปลหรือล่ามอาจต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาด้วยหากการกระทำของนักแปลหรือล่ามทำให้ผู้อื่นเสียหายซึ่งนักแปลหรือล่ามก็ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ต้องเสียหายจากการกระทำนั้นเพื่อเยียวยาผู้นั้นให้กลับคืนสู่สภาพเดิมที่สุดเท่าที่จะทำได้ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีคำพิพากษาศาลที่พิพากษาให้นักแปลหรือล่ามต้องรับผิดในทางละเมิดอีกทั้งประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่กำหนดความรับผิดในทางละเมิดของนักแปลหรือล่ามโดยเฉพาะดังนั้นในการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของนักแปลหรือล่ามจึงต้องพิจารณาบทบัญญัติในเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งละพาณิชย์ดังนี้

ความรับผิดเพื่อละเมิดโดยการกระทำของตนเอง

ความรับผิดเพื่อละเมิดโดยการกระทำของตนเองนี้ปรากฏตามมาตรา420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดีอนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดีท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรานี้เป็นแม่บทของลักษณะละเมิดเป็นความรับผิดของบุคคลในการกระทำของตนเอง (ไพจิตร: 2558)หลักเกณฑ์แห่งการกระทำละเมิดของนักแปลและล่ามสามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้

การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

การกระทำหมายความถึงการกระทำของบุคคลการกระทำนี้พิจารณาเทียบเคียงกับการกระทำในทางอาญาซึ่งก็คือการกระทำที่ผู้กระทำรู้สึกตัวเป็นการเคลื่อนไหวอิริยาบถโดยรู้สำนึกรู้ตัวในการกระทำถ้าไม่รู้สำนึกก็ไม่ถือว่ามีการกระทำ จึงไม่ต้องรับผิดฐานละเมิด (เพ็ง: 2558)การกระทำรวมถึงการงดเว้นการกระทำแล้วเกิดความเสียหายด้วยการงดเว้นกระทำคือการไม่เคลื่อนไหวร่างกายภายใต้บังคับของจิตใจซึ่งการงดเว้นดังกล่าวเป็นการงดเว้นการที่จักต้องทำเพื่อป้องกันผลการป้องกันผลเสียหายมิให้เกิดนั้นต้องมีหน้าที่ที่จะต้องป้องกัน (สุษม: 2555) ในกรณีของนักแปลหรือล่ามนั้นนักแปลหรือล่ามมีหน้าที่ตามวิชาชีพหากนักแปลหรือล่ามงดเว้นไม่กระทำตามวิชาชีพและความเสียหายเกิดขึ้นนักแปลหรือล่ามก็ต้องรับผิดทางละเมิด ([1]เทียบกับกรณีวิศวกรหรือสถาปนิกทำละเมิดโดยพรทวี :2555)

การกระทำอันจะเป็นละเมิดตามมาตรา420 จะต้องเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ การกระทำโดยจงใจคือการตั้งใจทำให้คนอื่นเสียหายหรือรู้ว่าทำให้คนอื่นเสียหายส่วนผลเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากหรือน้อยเท่าไรไม่สำคัญ (ศนันท์กรณ์: 2560) ดังนั้นการที่นักแปลหรือล่ามจงใจแปลผิดและก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นนักแปลหรือล่ามย่อมต้องรับผิดทางละเมิด ส่วนการกระทำโดยประมาทเลินเล่อนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้กำหนดนิยามไว้แต่มาตรา 59 วรรค 4ในประมวลกฎหมายอาญาได้มีการบัญญัตินิยามของการกระทำโดยประมาทเอาไว้ว่า“การกระทำโดยประมาท ได้แก่การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนาแต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

ในการวิเคราะห์ว่าการกระทำเป็นประมาทเลินเล่อหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาจากตัวผู้กระทำเอง กล่าวคือ พิจารณาจากวิสัยและพฤติการณ์วิสัยหมายความถึงสภาพภายนอกของผู้กระทำ เช่น อายุ เพศ วิชาชีพซึ่งจะต้องนำเทียบกับวิสัยของบุคคลที่สภาพภายนอกเดียวกับผู้กระทำด้วยเพื่อหาระดับหรือขนาดของความระมัดระวังเช่น แพทย์ก็ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างแพทย์ส่วนพฤติการณ์คือลักษณะของข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำของผู้กระทำ เช่นฝนตกถนนลื่น ผู้กระทำควรขับรถด้วยความเร็วไม่มากในสถานการณ์เช่นนั้น

ในหาระดับหรือขนาดความระมัดระวังของนักแปลและล่ามเพื่อดูว่าการกระทำของนักแปลและล่ามเป็นประมาทเลินเล่อหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาก่อนว่านักแปลและล่ามเป็นผู้ประกอบวิชาชีพหรือไม่ ซึ่งมีนักกฎหมายหลายท่านได้ให้นิยามของผู้ประกอบวิชาชีพไว้ดังนี้

ผู้ประกอบวิชาชีพ หมายถึงผู้ที่ใช้ความรู้เฉพาะทางในการปฏิบัติงานอาชีพหากความรู้ของผู้นั้นไม่ถึงขั้นมาตรฐานเขาก็ย่อมไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้

วิชาชีพ หมายถึงคนที่จะประกอบอาชีพนี้ได้ต้องมีความรู้และคุณสมบัติตลอดจนประสบการณ์พิเศษที่ผู้ประกอบอาชีพทั่ว ๆ ไปในฐานลูกจ้าง ครู พ่อค้า ฯลฯอาจไม่ต้องมี ซึ่งได้แก่วิชาชีพสถาปัตยกรรม วิศวกรรม กฎหมาย แพทย์

เมื่อพิจารณานิยามข้างต้นแล้วจะเห็นว่า อาชีพนักแปลและล่ามถือเป็นวิชาชีพหนึ่งเช่นกัน เพียงแต่ในประเทศไทยไม่มีสภาวิชาชีพสำหรับนักแปลและล่ามเท่านั้นในขณะที่ต่างประเทศมองว่านักแปลและล่ามเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ (profession) หนึ่งโดยพิจารณาจากการที่บริษัทประกันภัยหลายบริษัทในต่างประเทศมีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับนักแปลและล่ามในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรมธรรม์สำหรับความรับผิดทางวิชาชีพ(professionalindemnity insurance policy) ด้วย ดังนั้นในการพิจารณาว่านักแปลหรือล่ามกระทำการด้วยความประมาทเลินเล่อหรือไม่นั้นสามารถพิจารณาได้โดยการสมมติบุคคลขึ้นมาคนหนึ่งเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับบุคคลที่ก่อความเสียหายซึ่งเป็นการพิจารณาความประมาทเลินเล่อในทางอัตวิสัยหมายความว่าการกระทำเกิดขึ้นด้วยความไม่รอบคอบ ไม่เชี่ยวชาญ สะเพร่าซึ่งเป็นด้านที่เกี่ยวกับตัวคนทำโดยตรง (ศนันท์กรณ์ : 2560)เมื่อบุคคลที่ก่อความเสียหายเป็นนักแปลหรือล่ามเราก็ต้องสมมติบุคคลขึ้นมาเป็นนักแปลหรือล่ามที่มีอายุ คุณวุฒิ ประสบการณ์ใกล้เคียงกับนักแปลหรือล่ามที่ก่อความเสียหายนั้นหากบุคคลที่สมมติขึ้นนั้นจะแปลแบบเดียวกับนักแปลหรือล่ามที่ก่อความเสียหายนักแปลหรือล่ามคนนั้นก็ถือว่าไม่ประมาทเลินเล่อ ดังนั้นคดีส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับความประมาทเลินเล่อในวิชาชีพจึงมักอาศัยพยานผู้เชี่ยวชาญเพื่ออธิบายถึงหน้าที่ในการระมัดระวังหรือแนวปฏิบัติในวิชาชีพนั้นแต่ปัญหามีว่า วิชาชีพแปลและล่ามไม่ได้มีแนวปฏิบัติในวิชาชีพชัดเจนและเป็นเอกภาพจะมีก็เพียงแต่ประมวลจริยธรรมล่ามศาลยุติธรรมเท่านั้นอีกทั้งการแปลและล่ามอาจมีเรื่องดุลพินิจหรือศิลปะในการแปลเข้ามาเกี่ยวด้วยทำให้การกำหนดมาตรฐานความระมัดระวังของนักแปลและล่ามยังไม่ชัดเจน

3.2.1.2กระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

การกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายหมายถึงการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ที่กฎหมายให้ความสำคัญหรือให้ความคุ้มครอง แม้ตัวบทตามมาตรา 420จะใช้คำว่า “โดยผิดกฎหมาย”แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วย่อมไม่เป็นละเมิด แท้จริงแล้วที่ว่า “โดยผิดกฎหมาย” นั้น หมายความกระทำลงโดยไม่มีอำนาจหรือไม่มีสิทธิหรือทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (unlawfully) ดังนั้น ถ้าผู้กระทำได้ทำต่อบุคคลอื่นจนเขาเสียหายโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อการกระทำนั้นก็เป็นละเมิดได้ แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดมีกรณีที่น่าพิจารณาว่า หากล่ามในศาลแปลผิดอาจเป็นละเมิดเพราะเป็นการกระทำโดยไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา13 วรรค 4 บัญญัติว่า “เมื่อมีล่ามแปลให้คำให้การ คำพยานหรืออื่นๆล่ามต้องแปลให้ถูกต้อง ล่ามต้องสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะทำหน้าที่โดยสุจริตใจจะไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล”ได้

3.2.1.3ก่อให้เกิดความเสียหาย

การกระทำจะเป็นละเมิดก็ต่อเมื่อการที่ได้กระทำลงนั้นมีผลให้เกิดความเสียหายอย่างไรจะถือว่าเป็นความเสียหายคงต้องอาศัยการวินิจฉัยของบุคคลธรรมดาหรือปกติชนที่คิดเห็นโดยชอบในสังคมเป็นมาตรฐานอย่างไรก็ตามความเสียหายที่จะทำให้นักแปลหรือล่ามต้องรับผิดในทางละเมิดนั้นจะต้องมีลักษณะที่แน่นอนคือเป็นความเสียหายอันเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันหรือจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนในอนาคตความเสียหายต้องเป็นความเสียหายตามกฎหมาย คือเป็นความเสียหายที่กฎหมายยอมรับหากเป็นความเสียหายโดยพฤตินัย เช่น ผู้เสียหายยินยอมให้กระทำก็ไม่เป็นความเสียหายตามกฎหมายอันจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้และความเสียหายจะต้องเป็นความเสียหายต่อบุคคลอื่น กล่าวคือ เสียหายแก่ชีวิตร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งที่กฎหมายรับรองหรือคุ้มครอง (ศักดิ์: 2556)

3.2.1.4 ความเสียหายและการกระทำต้องสัมพันธ์กัน

แม้นักแปลและล่ามจะกระทำครบองค์ประกอบข้างต้นทุกประการแล้วแต่ถ้าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผลเสียหายที่โจทก์ได้รับเป็นผลจากการกระทำของนักแปลและล่ามแล้วย่อมเอาผิดนักแปลและล่ามไม่ได้การสรุปว่าผลเสียหายเกิดจากเหตุใดเหตุหนึ่งเพียงเหตุเดียวเป็นเรื่องพิสูจน์ยาก(สุษม: 2555)ในการวินิจฉัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล มีทฤษฎีสองทฤษฎี ดังนี้

1. ทฤษฎีเงื่อนไข หรือทฤษฎีผลโดยตรงหรือทฤษฎีความเท่ากันแห่งเหตุ

ทฤษฎีนี้มองว่าถ้าไม่มีการกระทำอันใดอันหนึ่งผลย่อมไม่เกิดขึ้นหากมีการกระทำหลายอย่างอันเป็นเหตุแห่งผลก็ถือว่าเหตุทุกเหตุมีน้ำหนักเท่ากันที่จะก่อให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นดังนั้น ผู้ก่อเหตุต้องรับผิดหากการกระทำของผู้ก่อเหตุเป็นหนึ่งในหลายเหตุที่ก่อให้เกิดผลเพราะถ้าไม่มีการกระทำของผู้ก่อเหตุ ผลเสียหายเช่นนั้นย่อมจะไม่เกิดขึ้นยกตัวอย่างจากตัวอย่างข้างต้นที่ว่าล่ามในโรงพยาบาลแปลอาการที่คนไข้บอกผิดโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้แพทย์วินิจฉัยโรคผิดทำให้คนไข้ตาย หากใช้ทฤษฎีเงื่อนไขนี้ล่ามต้องรับผิดในความตายของคนไข้เพราะการแปลผิดของคนไข้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไข้ตาย ถ้าล่ามแปลไม่ผิดคนไข้ก็คงไม่ตายแต่ทฤษฎีนี้มีข้อเสียอยู่ที่ว่าเป็นการผลักภาระความรับผิดที่เกินกว่าความเป็นจริงและไม่เป็นการยุติธรรมต่อผู้กระทำเพราะในบางกรณีอาจมีเหตุอื่นที่มีน้ำหนักมากกว่าเหตุเดิมแทรกซ้อนขึ้นและเป็นต้นเหตุให้เกิดผลได้อย่างชัดเจนถ้าถือว่าทุกเหตุมีน้ำหนักเท่ากันหมดทำให้ผู้กระทำต้องรับผิดมากเกินกว่าความเป็นจริง

2. ทฤษฎีมูลเหตุเหมาะสมหรือทฤษฎีผลธรรมดา

ทฤษฎีนี้พิจารณาว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเหมาะสมหรือเป็นความเสียหายปกติที่เกิดจากการกระทำหรือไม่เพราะหากความเสียหายที่เกิดขึ้นเหมาะสมกับการกระทำ ผู้กระทำรับผิดเฉพาะความเสียหายที่เหมาะสมหรือเป็นผลปกติจากการกระทำเท่านั้นความเสียหายนอกเหนือจากนั้นแม้จะเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของผู้กระทำผู้กระทำไม่ต้องรับผิด เช่น ถ้า ก. ผลัก ข. ล้มศีรษะกระแทกพื้น ข.ถึงแก่ความตายเพราะกะโหลกศีรษะของ ข. บางกว่าปกติ เช่นนี้ ก.ไม่ต้องรับผิดในผลแห่งความตายของ ข.แต่รับผิดเฉพาะผลธรรมดาอันอาจเกิดขึ้นได้จากการกระทำของ ก.ซึ่งก็คือความรับผิดแค่ทำร้ายร่างกาย ข. เท่านั้น

จากสองทฤษฎีที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าทฤษฎีแรกทำให้ผู้ทำละเมิดรับผิดมากไปในผลที่ตนไม่ได้ทำแต่ทฤษฎีที่สองผู้ทำละเมิดอาจรับผิดน้อยไป เป็นการไม่ยุติธรรมกับผู้เสียหายจึงเกิดทฤษฎีที่สาม

3. การใช้ทฤษฎีร่วมกัน

เนื่องจากทฤษฎีทั้งสองทฤษฎีที่กล่าวไปข้างต้นต่างมีข้อดีข้อเสียนักกฎหมายจึงได้มีการนำหลักจากสองทฤษฎีนี้มาใช้ร่วมกันโดยนำทฤษฎีความเท่ากันแห่งเหตุหรือทฤษฎีเงื่อนไขมาใช้ในตอนต้นแล้วนำทฤษฎีมูลเหตุเหมาะสมมาใช้ในตอนปลาย เป็นการดูผลที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง ๆว่าผลต่าง ๆที่เกิดขึ้นมานั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุแรกเหตุเดียวหรือมีเหตุอื่นแทรกด้วยถ้าปรากฏว่าได้มีเหตุอื่นมาแทรกจนกระทั่งเหตุแรกหมดความสำคัญลง เช่นนี้ถือว่าผลที่เกิดขึ้นต่อ ๆ ไปนั้น ผู้ก่อเหตุแรกไม่ต้องรับผิดคงรับผิดเฉพาะเหตุที่ตนเป็นผู้ก่อขึ้นเท่านั้นโดยถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับผลของการกระทำขาดตอนลง

จากแนววินิจฉัยของศาลฎีกาความเสียหายนั้นต้องเป็นผลโดยตรงจากการละเมิด แต่ต้องไม่ไกลกว่าเหตุ คือไม่มีเหตุสอดแทรกหรือเหตุแทรกแซงอื่นมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลขาดตอนลง

ในการทำละเมิดของนักแปลและล่ามนั้นมีประเด็นปัญหาว่าความประมาทเลินเล่อของนักแปลหรือล่ามสัมพันธ์กับความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่และความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น นักแปลหรือล่ามจะคาดหมายได้หรือไม่ผู้เขียนได้กล่าวไปบ้างแล้วว่าในกระบวนการทำงานของนักแปลและล่ามนั้นมักมีบุคคลอื่นมาเกี่ยวข้องด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลหลายท่านเห็นพ้องต้องกันว่า ในการทำงานแปลนักแปลมีหน้าที่ที่จะต้องตรวจทานงานให้รอบคอบเสมอ แต่ในงานบางอย่าง เช่นในการแปลเอกสารกฎหมายนั้นทนายความที่ใช้เอกสารกฎหมายที่แปลโดยนักแปลนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องตรวจทานเอกสารนั้นก่อนนำไปใช้ในคดีของลูกความหรือไม่หากทนายความไม่ตรวจทานและเอกสารเช่นว่ามีความผิดพลาดก่อให้เกิดความเสียหายในคดีของลูกความนักแปลจะต่อสู้ได้หรือไม่ว่า ในฐานะทนายความแล้ว ทนายความมีหน้าที่จะต้องตรวจทานเอกสารหากทนายความตรวจทานแล้วอาจพบความผิดพลาด ความเสียหายก็อาจไม่เกิดแก่ลูกความการไม่ตรวจทานของทนายความนี้จะถือเป็นการตัดความสัมพันธ์ระหว่างการแปลผิดของนักแปลและความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่หรือในกรณีของสำนักพิมพ์ จากข่าวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่นานที่ว่าสำนักพิมพ์หนึ่งมีการตีพิมพ์หนังสือเรียนออกมาโดยไม่มีการตรวจทานความถูกต้องจนมีคนท้วงติงว่ามีการแปลผิดทำให้สำนักพิมพ์ต้องเรียกคืนหนังสือเรียนดังกล่าวทั้งหมดสร้างความเสียหายให้แก่สำนักพิมพ์เป็นอย่างมาก สำนักพิมพ์จะฟ้องนักแปลหรือผู้เขียนได้หรือไม่ว่าเพราะความประมาทเลินเล่อของผู้เขียนหรือนักแปลที่แปลผิดทำให้สำนักพิมพ์เสียหายและนักแปลจะต่อสู้ได้หรือไม่ว่าสำนักพิมพ์ตรวจสอบความเสียหายก่อนตีพิมพ์และแจ้งให้นักแปลแก้ความเสียหายก็คงจะไม่เกิด นอกจากสำนักพิมพ์จะได้รับความเสียหายแล้ว ความเสียหายยังตกแก่ลูกค้าที่เสียเงินซื้อแล้วแต่ไม่ได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้จากหนังสือเรียนดังกล่าวซึ่งประเด็นนี้จะได้มีการวิเคราะห์ต่อไปในบทที่ 5

จากที่กล่าวไปในบทที่ 2เรื่องลักษณะการประกอบอาชีพของนักแปลและล่าม และบทที่ 3ในเรื่องกฎหมายไทยที่อาจนำมาปรับในกรณีนักแปลและล่ามประกอบอาชีพผิดพลาดนี้จะเห็นได้ว่ามีความเป็นไปได้ที่นักแปลและล่ามอาจถูกฟ้องให้รับผิดในทางละเมิดเพราะจริงอยู่ที่การทำงานทุกอาชีพหรือวิชาชีพมีโอกาสผิดพลาดแต่ด้วยลักษณะเฉพาะในการทำงานของนักแปลและล่ามบางประการอย่างเช่นว่านักแปลไม่ได้เป็นเพียงท่อส่งข้อมูลแต่นักแปลมีการประมวลผลข้อมูลก่อนแล้วจึงถ่ายทอดความหมายหรือในกรณีล่ามที่นอกจากจะต้องนึกคำที่ต้องแปลโดยไม่ต้องเปิดพจนานุกรมแล้วยังต้องนึกให้ได้ภายในเวลาอันรวดเร็วด้วย โอกาสผิดพลาดจึงมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะกรณีล่ามอาสาในศาลที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมก็ยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

แม้ว่าอาจจะฟังดูห่างไกลที่นักแปลหรือล่ามจะโดนฟ้องแต่หากเกิดกรณีที่ผู้เสียหายไม่สามารถตามตัวผู้ที่เป็นคู่สัญญาในสัญญาได้ เช่นทนายความ ผู้เสียหายก็อาจเลือกที่จะฟ้องนักแปลได้อีกทั้งกฎหมายไทยยังไม่มีบทกฎหมายที่จำกัดหรือยกเว้นความรับผิดเพื่อละเมิดของนักแปลหรือล่ามแต่อย่างใดจึงทำให้นักแปลหรือล่ามบางส่วนเกิดความกังวลใจเพราะความเสี่ยงที่จะโดนฟ้องนั้นไม่คุ้มกับค่าตอบแทนที่ได้รับ

3.2.2ความรับผิดของผู้ว่าจ้างในการกระทำละเมิดของผู้รับจ้างทำของ

เนื่องจากเราได้ศึกษาความรับผิดของนักแปลและล่ามตามสัญญาว่าจ้างให้แปลซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของแล้วผู้เขียนจึงเห็นว่าควรจะศึกษาความรับผิดของผู้ว่าจ้างอันเกี่ยวกับสัญญาว่าจ้างให้แปลประกอบด้วย

มาตรา 428 บัญญัติว่า“ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง”

มาตรา 428เป็นลักษณะความรับผิดที่แยกออกไปจากมาตรา 420 เป็นการที่บุคคลหนึ่งมีนิติสัมพันธ์กับอีกบุคคลหนึ่งตามสัญญาจ้างทำของเรียกว่า ผู้ว่าจ้างฝ่ายหนึ่งและผู้รับจ้างอีกฝ่ายหนึ่งโดยที่ผู้รับจ้างไปก่อความเสียหายแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ได้รับว่าจ้างมาจากผู้ว่าจ้างซึ่งผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อ 3.1 เรื่องความรับผิดทางสัญญา : สัญญาว่าจ้างให้แปลว่า สัญญาว่าจ้างให้แปลเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ตามหลักแล้วผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในการกระทำของนักแปลหรือล่าม เพราะผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิที่จะออกคำสั่งบังคับบัญชาผู้รับจ้างเหมือนนายจ้างกับลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิควบคุมวิธีการทำงาน จึงถือว่าเป็นงานของผู้รับจ้างเอง (ไพจิตร: 2558)แต่ในกรณีต่อไปนี้ผู้ว่าจ้างอาจต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการทำงานของผู้รับจ้างซึ่งความรับผิดของผู้ว่าจ้างตามมาตรานี้เป็นความรับผิดของผู้ว่าจ้างโดยส่วนตัวไม่ใช่ความรับผิดเพื่อละเมิดของผู้รับจ้าง (ศนันท์กรณ์ : 2560)

1.ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ

หากการงานที่ว่าจ้างนั้นเป็นละเมิดต่อบุคคลอื่นเช่น คนงานของจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างขุดเจาะทางเท้าจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สายเคเบิลไฟฟ้าใต้ดินของโจทก์ที่ฝังอยู่ใต้ดินโดยชอบเป็นการประมาทและละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1เป็นผู้ที่มีส่วนผิดอยู่ด้วยในส่วนของการงานที่สั่งให้จำเลยที่ 1 ทำ จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายดังกล่าว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5939/2534)หากจะให้เปรียบกับกรณีสัญญาว่าจ้างแปล อาจเป็นการที่ผู้ว่าจ้างจ้างให้นักแปลแปลหนังสือโดยหนังสือเล่มนั้นผู้ว่าจ้างยังไม่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับลิขสิทธิ์จากผู้เขียนเมื่อนักแปลทำการแปลก็อาจถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อผู้เขียน

2. ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในคำสั่งที่ตนให้ไว้

กล่าวคือแม้การงานที่สั่งให้ทำจะไม่เป็นละเมิดในตัวเอง แต่ผู้ว่าจ้างอาจสั่งให้ผู้รับจ้างทำโดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นผลให้ผู้อื่นเสียหายก็ได้เช่นผู้ว่าจ้างแนะนำให้ช่างทำรางน้ำชายคาของบ้านใกล้ชิดกับแนวเขตที่ดินข้างเคียงของผู้อื่นเมื่อฝนตก น้ำก็ไหลตกลงในที่ดินใกล้เคียงนั้น ในกรณีสัญญาว่าจ้างให้แปลอาจเป็นการที่ผู้ว่าจ้างกำหนดให้นักแปลใช้โปรแกรมแปลอัตโนมัติเมื่อนักแปลใช้แล้วแปลออกมาผิดพลาด เป็นผลเสียหายแก่ผู้ที่นำงานแปลไปใช้

3.ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในการเลือกหาผู้รับจ้าง

การที่ผู้ว่าจ้างจ้างคนที่ตนรู้หรือควรจะรู้ว่าไม่ใช่ผู้ที่มีความสามารถหรือระมัดระวังอันควรแก่สภาพของการงานที่จ้างให้ทำเป็นกรณีที่โดยสภาพของการงานไม่ก่อความเสียหาย โดยคำสั่งก็ไม่ก่อความเสียหายแต่ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเลือกคนไม่เหมาะสมกับงาน เช่น ผู้ว่าจ้างจ้างล่ามให้ทำการแปลให้กับคนไข้ในโรงพยาบาลโดยที่ล่ามผู้นี้ไม่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการล่ามและไม่มีความรู้ในคำศัพท์แพทย์แม้แต่น้อยเป็นต้น

3.2.3การชดใช้เยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการทำงานผิดพลาดของนักแปลและล่าม

นักแปลหรือล่ามจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายหากการทำงานผิดพลาดของนักแปลและล่ามเป็นการละเมิดซึ่งการชดใช้ค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นมุ่งเยียวยาผู้เสียหายให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนความเสียหายนั้นมิได้เกิดขึ้น

หลักในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนปรากฏตามมาตรา438 ซึ่งบัญญัติว่า “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้นรวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย”

ดังนั้นเมื่อนักแปลหรือล่ามทำงานผิดพลาดแล้วเป็นการละเมิดนักแปลหรือล่ามจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายตามมาตรานี้ถ้าค่าเสียหายที่เกิดเป็นอันแน่นอนและเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของนักแปลหรือล่ามซึ่งความเสียหายดังกล่าวอาจคำนวณเป็นเงินได้ เช่นค่ารักษาพยาบาลที่ผู้เสียหายได้เสียไป หรือไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ เช่นทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิตก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเพราะไม่มีวิธีอื่นที่จะชดใช้ได้ดีกว่านี้แล้วมาตรานี้ยังกำหนดให้ศาลเป็นผู้ประเมินค่าเสียหาย ซึ่งศาลไทยจะพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดพฤติการณ์ตามมาตรานี้คือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยส่วนความร้ายแรงแห่งละเมิดคือผลหรือระดับของความเสียหายอันสืบเนื่องมาจากลักษณะแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยศาลจะกำหนดให้เกินกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่ได้ อย่างไรก็ตามถ้าโจทก์สามารถแสดงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ในการทำละเมิดของจำเลยให้ปรากฏต่อศาลศาลก็ให้ตามที่โจทก์นำสืบได้ตราบเท่าที่โจทก์นำสืบพิสูจน์ความเสียหายที่แท้จริงได้เมื่อพิจารณาความรับผิดของนักแปลหรือล่ามแล้ว จะเห็นได้ว่า ถ้าโจทก์เสียหายจริงตามที่โจทก์นำสืบนักแปลหรือล่ามก็ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่โจทก์เสียหายแม้ความเสียหายที่เกิดจะไม่ได้สัดส่วนกับค่าตอบแทนที่นักแปลหรือล่ามได้รับซึ่งทำให้เกิดปัญหาว่านักแปลหรือล่ามบางคนอาจไม่มีกองทรัพย์สินมากพอที่จะใช้ให้โจทก์ได้ โจทก์จึงไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่ไม่สมกับเจตนารมณ์ของกฎหมายละเมิดที่มุ่งชดใช้เยียวยาผู้เสียหายให้กลับคืนสภาพเดิมให้มากที่สุด




Create Date : 12 มีนาคม 2561
Last Update : 12 มีนาคม 2561 12:42:00 น.
Counter : 1639 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Natchaon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 314 คน [?]



Sawaddee ka. My name is Nat. I am a certified translator. I have been in the translation industry since 2004.

I graduated a master degree in English-Thai translation from Chulalongkorn University, Thailand.

I have the following accreditation:
- NAATI Accreditation for EN < > TH translation (Australia)
- Court Expert Registration for EN < > TH translation (Thailand)
- Member (MCIL), Chartered Institute of Linguists (U.K.)

See details about my services here https://www.nctranslation.net
https://www.expertthai.net

For a quick quote, email your document to natchaon@yahoo.com.

รับแปลเอกสารวีซ่าออสเตรเลียพร้อมประทับตรา NAATI ปรึกษาฟรีที่ natchaon@yahoo.com หรือ Line: Natchaon.NAATI

See below my locations:
- Bangkok: 1 Dec 2018 - 12 Jan 2019

NAATI ออสเตรเลีย, NAATI เมลเบิร์น, NAATI ประเทศไทย, NAATI กรุงเทพ, แปลเอกสารพร้อมประทับตรา NAATI, แปลเอกสารโดยนักแปล NAATI, NAATI Australia, NAATI Melbourne, NAATI Thailand, NAATI Bangkok, NAATI translation, NAATI accredited translation, Australia Visa, Partner Visa, Fiance Visa, Prospective Visa, Skilled Migrant, Student Visa, Work Visa, Work and Travel Visa, Online Visa, วีซ่าออสเตรเลีย, วีซ่าแต่งงาน, วีซ่าคู่หมั้น, วีซ่าทำงาน, วีซ่านักเรียน, วีซ่าทำงานและท่องเที่ยว, วีซ่าออนไลน์
Thai – English translation, English – Thai Translation, แปลอังกฤษเป็นไทย, แปลไทยเป็นอังกฤษ

*บทความทั้งหมดในบล็อกนี้ สงวนลิขสิทธิ์ทุกประการ*
มีนาคม 2561

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
13
15
16
17
18
19
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
All Blog