คุยกับล่ามญี่ปุ่น


คุยกับล่ามญี่ปุ่น

เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้อ่านอีเมลมาถามเกี่ยวกับการเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น  เราไปสัมภาษณ์มาให้แล้ว ด้านล่าง

คำถาม: คุณสิรวดี ทำงานล่ามญี่ปุ่นมากี่ปีแล้วคะ เริ่มต้นอย่างไร ค่าตอบแทนที่ได้รับครั้งแรกเท่าไหร่

-ทำงานล่ามภาษาญี่ปุ่นมาตั้งแต่กลับจากญี่ปุ่นปี 2012 จนถึงปัจจุบันค่ะ ที่ทำงานแรกที่ทำเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นไม่มีประสบการณ์ล่ามได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนเดือนละเกือบ 6 หมื่นบาท (ไม่รวมโอที)ค่ะ

คำถาม: คนที่สนใจทำงานล่ามญี่ปุ่น จำเป็นต้องจบการแปลหรือล่ามมาหรือไม่ หรือควรจบสายไหนเป็นพิเศษ

-คนที่ทำงานล่ามญี่ปุ่นนั้นเท่าที่ทราบคือเกือบทั้งหมดไม่มีใครได้เรียนหลักสูตรการล่ามภาษาญี่ปุ่น (ซึ่งให้วุฒิทางด้านล่าม)มาโดยตรงเนื่องจากในประเทศไทยไม่มีหลักสูตรที่ให้วุฒิการล่ามภาษาญี่ปุ่นอาจมีผู้ที่เรียนการล่ามที่ประเทศญี่ปุ่น แต่หลักสูตรที่ญี่ปุ่นเป็นการล่ามคู่ภาษาระหว่างภาษาญี่ปุ่นกับภาษาอังกฤษแต่ไม่มีคู่ภาษาภาษาญี่ปุ่นกับภาษาไทยเท่าที่ทราบคือในประเทศไทยมีหลักสูตรปริญญาตรีทางด้านภาษาญี่ปุ่นอยู่หลาย ๆมหาวิทยาลัย และในหลักสูตรนั้นมีรายวิชาล่ามอยู่ด้วยประมาณ 1 รายวิชา

การเป็นล่ามนั้นอย่างไรก็แล้วแต่แม้จะไม่สามารถเรียนสายล่ามภาษาญี่ปุ่น-ไทยได้โดยตรงแต่ควรจะมีวุฒิการศึกษาสายภาษาญี่ปุ่นเพื่อเป็นใบรับรองความรู้ความสามารถทางด้านภาษาญี่ปุ่นของล่ามประเภทของวุฒิและการสอบผ่านวัดระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่นจะเป็นตัวกำหนดความสามารถของคนๆนั้นการได้งานจะขึ้นอยู่กับความต้องการของบริษัทว่าต้องการล่ามที่มีความสามารถระดับไหนซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลเรื่องเงินเดือนด้วยเช่นกัน

คำถาม: ล่ามญี่ปุ่นได้ค่าตอบแทนสูงกว่าล่ามไทยอังกฤษใช่มั้ยคะขอทราบเรทค่าล่ามคร่าวๆ ได้มั้ยคะ (เช่น เด็กจบใหม่ เริ่มต้น 20,000 บาท มีประสบการณ์ได้เพิ่มเป็น xxx  สอบผ่าน N1 ควรได้ค่าตอบแทนxxx บาท)

-จากประสบการณ์ที่รับงานล่ามมาขอแบ่งอธิบายเป็น 3 ประเภทคือ

1. ล่ามที่เป็นพนักงานประจำ

กรณีที่เป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น-ไทยที่เป็นพนักงานประจำจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่าล่ามภาษาอังกฤษ-ไทยอย่างเห็นได้ชัด อัตราค่าตอบแทนล่ามแบ่งตามระดับความสามารถทางสามารถญี่ปุ่น

N1-2 50,000 up

N3 20,000 up

N4-5 ไม่มีข้อมูล

เนื่องจากล่ามที่เคยพบจะเป็นล่ามที่สอบได้ N3 ขึ้นไป ดังนั้น จึงไม่เคยพบ N4-5 ที่ได้ทำงานเป็นล่ามแต่อาจจะมีได้ทำงานอื่นซึ่งใช้ความสามารถภาษาญี่ปุ่นที่มีได้ในงานนั้น ๆ

N1 บางคน เป็นล่ามที่เป็นพนักงานประจำและได้รับเงินเดือนเกือบหนึ่งแสนบาทซึ่งเป็นกรณีที่หายากสักหน่อยในเศรษฐกิจปัจจุบันและสังคมที่เปลี่ยนไป

2. ล่ามสัญญาจ้าง

กรณีที่เป็นล่ามที่ไม่ใช่พนักงานประจำ ซึ่งรับงานเป็นรายวันรายสัปดาห์ รายเดือนหรือรายปี แล้วแต่จะตกลงทำสัญญากับบริษัทที่จ้างงานเปรียบเทียบกับล่ามญี่ปุ่นที่เป็นพนักงานประจำแล้วมีทั้งที่ได้รับค่าจ้างมากกว่าและได้น้อยกว่าแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความสามารถภาษาญี่ปุ่นและความสามารถอื่นของล่าม

แต่ส่วนใหญ่แล้วจะได้มากกว่า ในหลักที่ไม่เกิน 1-2หมื่นบาทต่อเดือน แต่แลกกับความเสี่ยงคือฝ่ายบริษัทเสี่ยงที่จะได้ล่ามที่ไม่ได้เก่งจริง แต่ต้องจ้างมาเฉพาะกาลเพื่อใช้ในโปรเจคและล่ามเสี่ยงในแง่ที่ หากหมดสัญญาจ้างแล้วจะไม่ได้รับการต่อสัญญาหรือเสี่ยงที่จะถูกยกเลิกสัญญากลางทันแบบกะทันหัน(หากเจอบริษัทที่ไม่เป็น professional) หากได้งานสัญญาจ้างฉบับใหม่หรือมีการทำสัญญาจ้างต่อ ล่ามก็จะมีรายได้ต่อไปแต่ถ้าหมดสัญญาจ้างแล้วไม่มีคนจ้างต่อก็ขาดรายได้ ถือได้ว่าไม่มีความมั่นคงในงาน ความเสี่ยงอีกเรื่องของล่ามสัญญาจ้างกรณีที่รับงานผ่านบริษัทตัวกลางที่ส่งต่อให้บริษัทที่ทำงานอีกที่หนึ่งหากมีการเลิกสัญญากลางคันโดยไม่ชดเชย หรือการเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมก็ต้องมีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันเองตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเท่านั้น ไม่เหมือนล่ามที่เป็นพนักงานประจำที่อย่างไรเสียบริษัทก็ยังมองว่าล่ามประจำเป็นพนักงานของบริษัทด้วยคนหนึ่งหรือล่ามสัญญาจ้างที่บริษัทเป็นผู้จ้างโดยตรง ที่บริษัทต้องให้การดูแล

ในส่วนค่าตอบแทนนั้นกรณีของล่ามสัญญาจ้างก็เช่นกันเท่าที่ทราบคือจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่าล่ามภาษาอังกฤษ-ไทย

3. ล่ามที่เป็นฟรีแลนซ์

กรณีของล่ามฟรีแลนซ์ อาจตอบได้ว่าล่ามญี่ปุ่น-ไทยเปรียบเทียบกับล่ามอังกฤษ-ไทยแล้วล่ามญี่ปุ่น-ไทยได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าโดยส่วนใหญ่เนื่องจากเป็นคู่ภาษาสองภาษาและการใช้งานล่ามฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่จะจ้างเป็นรายวันซึ่งสามารถเรียกค่าตอบแทนได้ตั้งแต่วันละ 3,000 บาทต่อวันขึ้นไปและล่ามบางคนได้วันละ 10,000 บาทหรือมากกว่าก็มี และไม่รวมค่าล่วงเวลาแต่กรณีที่ล่ามแปลพูดพร้อมได้ อัตราค่าตอบแทนการจ้างสูงมาก เป็นวันละ 7,000-20,000บาทขึ้นไปได้เลยทีเดียว แล้วแต่ความสามารถของล่ามที่บริษัทต้องการใช้และหากบริษัทต้องการจ้างล่ามฟรีแลนซ์โดยให้อัตราค่าตอบแทนเป็นรายวันแต่จ้างยาวหนึ่งเดือนสองเดือนสามเดือน และอาจต่อไปเรื่อย ๆ อัตราค่าตอบแทนการจ้างล่ามจะอยู่ที่ราวๆ 3,000-5,000 บาทต่อวันขึ้นไป ไม่รวมค่าล่วงเวลา

แต่ล่ามฟรีแลนซ์กรณีที่เป็นล่ามสามภาษา คือ ญี่ปุ่น-ไทย-อังกฤษหรือ ข้ามคู่ภาษาเป็น ญี่ปุ่น-อังกฤษ นั้น อัตราค่าตอบแทนการจ้างสูงมาก เป็นวันละ 7,000 ขึ้นไปเช่นกัน

จากข้อมูลข้างต้นสิรวดีไม่สามารถตอบแทนได้ว่าค่าตอบแทนขั้นสูงสุดที่แท้จริงในการจ้างล่ามเป็นเท่าไหร่เนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง คือความยากง่ายของเนื้อหาที่จ้างล่ามไปแปล(เช่น การประชุมระดับประเทศล่ามควรจะได้ค่าตอบแทนสูง) ความสามารถและความฉลาดเฉลียวส่วนตัวและความสามารถในการแปลของล่ามซึ่งเป็นจุดสำคัญ คอนเนคชั่นกับบริษัท งบประมาณบริษัทเป็นต้น

โดยสรุปแล้ว สิรวดีมีความเห็นว่าล่ามฟรีแลนซ์ที่เป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น-ไทย,ญี่ปุ่น-ไทย-อังกฤษ หรือล่ามภาษาอังกฤษ-ไทย สามารถเรียกค่าตอบแทนได้พอๆ กันขึ้นอยู่กับความสามารถทางภาษา ความสามารถในการแปล ฝีมือและสติปัญญาของล่ามและชนิดของงานที่แปล เช่น งานล่ามด้านกฎหมายหรือศาลเมื่อความยากของงานกำหนดอยู่แล้ว ย่อมต้องการล่ามที่มีความสามารถมากเป็นพิเศษดังนั้นอัตราการจ้างล่ามของทั้งภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษ ควรอยู่ในระดับเดียวกัน

คำถาม: ล่ามญี่ปุ่นมักจะได้รับการว่าจ้างให้ทำงานในส่วนอุตสาหกรรมไหนเป็นพิเศษและคิดว่าเพราะอะไร (เช่น การแพทย์ เพราะคนญี่ปุ่นมารักษาตัวที่ไทยเยอะ)

-ทุกอุตสาหกรรมที่เป็นบริษัทญี่ปุ่นหรือมีเชื้อสายญี่ปุ่นจะต้องการล่ามญี่ปุ่นเสมอหากจะให้ตอบว่าอุตสาหกรรมไหนเป็นพิเศษไม่สามารถตอบได้ แต่ตอบได้ว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นจะใช้ล่ามญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากเช่น บริษัทญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยเจ้าหนึ่ง มีล่ามสัญญาจ้าง 35-40 คนและยังจ้างล่ามฟรีแลนซ์สำหรับโปรเจค (1-3 เดือน) อีกหลายสิบคนอีกด้วยเนื่องจากเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ คือมีพนักงานประมาณ 9,000 (รวมพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว)จึงมีพนักงานชาวญี่ปุ่นที่มาประจำที่เมืองไทยมาก (สามร้อยคน) ด้วยทำให้ความต้องการล่ามต่อจำนวนพนักงานชาวญี่ปุ่นสูงขึ้นตาม เป็นต้นเมื่อเทียบกับบริษัทผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอื่นซึ่งมีจำนวนพนักงานอยู่ที่หลักร้อยหรือพันต้นๆ และจำนวนพนักงานชาวญี่ปุ่นที่มาประจำมีจำนวนหลักสิบทำให้ความต้องการจำนวนล่ามของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนั้นๆ น้อยลงไปด้วยซึ่งบางโรงงานใช้ล่ามหนึ่งคนแปลทั้งโรงงาน (เรียกได้ว่าใช้จนคุ้ม)แต่หลายๆที่จะมีล่าม 1-4 คน สำหรับโรงงานที่มีพนักงานจำนวนน้อยจนถึงหลัก 1,xxx คน

คำถาม: มีงานไหนที่ให้ทำล่ามญี่ปุ่นทางโทรศัพท์มั้ยคะ(ของออสเตรเลียมีให้ทำล่ามทางโทรศัพท์ได้)

-มีค่ะ เป็นบริษัทที่เป็นบริษัทอเมริกาที่สหรัฐอเมริกาติดต่อจ้างงานให้สิรวดีทำการล่ามผ่านทางโทรศัพท์ให้กับสถานฑูตไทยสถานีตำรวจ และอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีฉุกเฉินค่ะ

คำถาม: วัฒนธรรมญี่ปุ่นมีผลอย่างไรต่อการทำงานของล่าม ยกตัวอย่าง (เช่นต้องแต่งตัวเรียบร้อย ต้องโค้งคำนับหัวหน้า ต้องเข้างานตรงเวลาถ้าหัวหน้าด่าลูกน้อง ก็อย่าด่าตามแต่ให้ลดทอนน้ำหนักลงมา หรือให้ด่าไปตรงๆ? etc.)

-ในเรื่องของวัฒนธรรมต้องคุยกันยาว ในหลายๆ มีทั้งเรื่องที่สามารถแชร์ได้กับเรื่องที่ไม่ควรพูดเอาเป็นว่าเรื่องวัฒนธรรมมีผลต่อการทำงานของล่ามอย่างแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์แต่เมื่อเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นแล้วก็ต้องทำงานให้กับบริษัทญี่ปุ่น จึงต้องพยายามเข้าใจและให้การยอมรับในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นด้วยแม้ว่าจะขัดกับวัฒนธรรมไทยหรือความรู้สึกของเราก็ตาม

คำถาม: การมีคอนเน็กชั่นช่วยให้ได้งานล่ามญี่ปุ่นง่ายขึ้นมั้ยคะ

-มีส่วนทำให้ได้งานง่ายขึ้นค่ะ เพราะล่ามจะรู้จักกัน มีไลน์กลุ่มจึงมีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลกันในการนำเสนองานล่ามได้ด้วย และคอนเน็กชั่นกับบริษัทก็สำคัญหากเคยแปลให้บริษัทไหนแล้วบริษัทถูกใจการแปลของล่ามบริษัทก็จะเรียกใช้ล่ามคนนั้นอย่างสม่ำเสมอและอาจมีการบอกต่อไปยังบริษัทอื่นเป็นการแนะนำล่ามไปในตัวด้วย

คำถาม: ช่วยยกตัวอย่างการทำงานของล่ามญี่ปุ่นสักหนึ่งวัน (เช่น เข้างาน 8 โมง ตอกบัตรไปรายงานตัวกับหัวหน้า ร้ับคำสั่ง ติดต่อพนักงานในทีมสอบถามตารางงานว่าจะให้ทำอะไร etc.) 

-ล่ามญี่ปุ่นในโรงงานบางวันจะเริ่มงานก่อน 8โมงเช้า เช่น 7:45 สัปดาห์ละหนึ่งวันเพื่อมาประชุมรวมทั้งโรงงานตอนเช้าหรือบางแห่งอาจให้เริ่มประชุมภายในฝ่ายในตอนเช้าตั้งแต่ 7:55 แล้วประชุมรวมกับฝ่ายอื่น 8:05 เป็นต้น

-การตอกบัตร ต้องตอกตั้งแต่ตอนมาทำงาน คือมาถึงก็ clock inเลย แล้วสวัสดีทักทายหัวหน้า และผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ

-ประชุมเช้าเสร็จก็มานั่งแปลงานที่แปลค้างไว้พอเสร็จงานแปลชิ้นนึงก็แปลงานชิ้นถัดไปต่อ หากไม่มีการนัดประชุมไว้ล่วงหน้าและไม่มีใครเรียกให้ไปแปลให้นาย (กรณีมีนายคนเดียว)หรือหากต้องซัพพอร์ตคนญี่ปุ่นหลายคน ก็จะมีการเรียกไปแปลให้คนญี่ปุ่นเป็นระยะ ๆสลับกับนั่งแปลงาน ซึ่งเป็นอย่างนี้ไปตลอดวัน

-การพักมีพักเบรกช่วงเช้า 10 นาที พักเที่ยงเป็นไปตามรอบที่แต่ละบริษัท/โรงงานกำหนดอาจมีรอบ 11:30, 11:45, 12:00 เป็นต้น มีพักเบรกตอนเย็นช่วง 15:00อีก 10 นาที

-เลิกงาน 17:00 แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เลิก ต้องทำโอทีต่อ

-กลับบ้าน 1-2 ทุ่ม

***ล่ามญี่ปุ่นที่ทำงานล่ามอย่างเดียว จะไม่มีทีมที่ทำงานเพราะล่ามจะเป็นงานของตัวเองที่ไม่ต้องประสานการทำงานหรือทำงานอื่นกับพนักงานคนอื่นการทำงานที่เกี่ยวข้องเช่น การจัดลำดับการแปลเอกสาร ล่ามจะเป็นคนบริหารจัดการเองส่วนการแปลการประชุม หากทางบริษัทจะให้ล่ามเข้าไปแปลเดี๋ยวบริษัทจะแจ้งให้ทราบบางครั้งแจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่หลายครั้งไม่แจ้งล่วงหน้าเรียกปุ๊บให้ไปแปลปั๊บเลยจึงต้องเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา

คำถาม: คุณสิรวดีทำงานล่ามญี่ปุ่นหรืองานแปลญี่ปุ่นเป็นหลักคะ เพราะอะไร

-สิรวดีทำงานล่ามภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก เนื่องจากเริ่มต้นมาแบบนี้ (หัวเราะ...)ซึ่งที่เริ่มต้นเป็นล่ามได้เนื่องจากเรามีความถนัดในการพูดภาษาญี่ปุ่นเพราะไปเรียนจบมาจากญี่ปุ่นซึ่งพอมาทำงานล่ามก็ทำให้ตัวเองไม่ลืมภาษาญี่ปุ่น ฝึกภาษาในตัวอยู่เสมอ และค่าตอบแทนที่ได้ก็น่าพอใจอีกด้วย

ตรงกันข้ามสิรวดีแปลกใจกับตลาดงานแปลในประเทศไทยมากเพราะงานแปลภาษาญี่ปุ่นซึ่งต้องใช้ความสามารถในการแปลมากกว่าภาษาอังกฤษ กลับทำค่าตอบแทนให้สิรวดีได้น้อยกว่างานล่ามภาษาญี่ปุ่นและงานแปลภาษาอังกฤษเสียอีกบางที่ให้ค่าตอบแทนงานแปลภาษาญี่ปุ่นหน้าละ 300 บาท ตกเฉลี่ยต่อคำได้ไม่ถึงคำละ 1บาท ในขณะที่ภาษาอังกฤษได้มากกว่า เมื่อมีการกดค่าแปลนักแปลภาษาญี่ปุ่นมากเพื่อที่บริษัทแปลคนกลางจะบวกmargin ทำให้นักแปลเก่ง ๆ ไม่รับงานแปลราคาถูกบริษัทแปลไม่ง้อและส่งงานแปลให้ผู้แปลที่มีความสามารถกลาง ๆ ซึ่งยอมแปลให้ในราคาที่บริษัทกำหนดท้ายที่สุดจึงส่งผลต่อคุณภาพของงานแปล(ซึ่งแน่นอนลูกค้าที่จ้างแปลงานอาจไม่รู้เรื่องเพราะไม่ทราบว่าภาษาไทยแปลไม่ตรงกับภาษาญี่ปุ่นเนื่องจากไม่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่นผิดกับภาษาอังกฤษที่คนไทยคุ้นเคยมาเป็นสิบๆปี) นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับจรรยาบรรณนักแปลและความขี้เหนียวของบริษัทแปลที่เหลือเกินจ้างนักแปลราคาถูกแต่จะเอาคุณภาพงานราคาแพง เหมือนซื้อเสื้อผ้าราคา 2 ร้อยบาท แล้วคาดหวังว่าสีเสื้อผ้าจะไม่ตก ไม่ยืด ไม่หดซึ่งเป็นการคาดหวังที่ไม่ถูกที่ถูกทาง แต่บางบริษัทก็จงใจจ้างนักแปลราคาถูกไม่เน้นคุณภาพงานแปลเน้นในเรื่องของราคาที่ถูกใจลูกค้าอย่างเดียว อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักอยู่ที่ลูกค้านั่นเอง และบางทีนักแปลเองกลัวไม่ได้งานก็ยอมลดราคาค่าตอบแทนลดระดับของตัวเองลงไปเพื่อให้ได้งาน เหล่านี้เป็นสังคมและตลาดงานแปลภาษาญี่ปุ่นในไทยในปัจจุบันที่ความสามารถทางการแปลที่สูงกลับไม่ได้ค่าตอบแทนที่สูงตาม

คำถาม: ข้อผิดพลาดที่พบได้บ่อยในงานล่ามญีปุ่นที่อยากแนะนำน้องๆให้พึงระวังมีอะไรบ้าง

-ข้อผิดพลาดที่พบได้บ่อยสุดและต้องพึงระวังให้มากที่สุด คือ การแปลที่คลาดเคลื่อนจากความตั้งใจของผู้พูดแน่นอนว่าการแปลที่คลาดเคลื่อนไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของล่ามทั้งหมด 100% ปัจจัยที่ทำให้เกิดการแปลคลาดเคลื่อนเช่น

1. สภาพแวดล้อมในการแปล

-การแปลในห้องประชุมที่เงียบสงบกับการแปลในโรงงานที่มีเสียงเครื่องจักร หรือเสียงภายนอกอื่นใดมารบกวนการแปลจะส่งผลต่อคุณภาพของการแปลพูด

2. สื่อที่ใช้ในการแปล

-เช่น กรณีแปลในห้องประชุมที่ไม่มีการไม่ใช้ไมค์ในการสื่อสารเสียงจากผู้พูดเพื่อให้ล่ามแปลในหลายครั้งส่งไปไม่ถึงล่าม ล่ามไม่ได้ยินหากสามารถสอบถามได้ล่ามจะสอบถามยืนยันข้อความอยู่แล้วแต่หลายๆครั้งจะมาสอบถามกันทุกประโยค หรือบ่อย ๆ นั้นไม่มีล่ามคนไหนทำกัน(ถามบ่อยๆ จะโดนมอง) ดังนั้นในหลายครั้งล่ามจะแปลเฉพาะใจความที่จับได้ หรือเท่าที่เดาได้

หรือกรณีแปลในการประชุมที่ควรต้องมีไมค์เล็กและมีหูฟังแจกให้ผู้เข้าประชุมเพื่อที่ล่ามจะได้แปลพร้อมไปเลย ไม่ต้องมานั่งจำประโยคยาว ๆ หรือต้องมานั่งทำความเข้าใจในใจความที่จับได้จากผ้พูด

3. ความสามารถของผู้แปลเอง

-คือทักษะความสามารถในการแปล และความสามารถภาษาญี่ปุ่นนั้นเอง

4. ความพร้อมของผู้พูดให้ล่ามแปล

-ให้จินตนาการถึงผู้พูดที่เมาค้างจากเมื่อวาน งานเตรียมไม่ทันไม่รู้จะพูดอะไร พูดไม่เป็น พรีเซนต์ไม่ได้ ไม่มีความรู้ในเรื่องที่จะพูดแต่ถูกบังคับให้มารายงานและอื่น ๆ หรือแค่การไม่รู้วิธีพูดให้ล่ามแปล ส่งผลต่อการแปลที่คาดเคลื่อนทั้งหมดเนื่องจากพูดให้ล่ามเข้าใจไม่ได้ เมื่อล่ามไม่เข้าใจก็จะแปลออกไปแบบไม่ 100%กรณีนี้เกิดกับการแปลแบบล่ามภาษาพูดสลับ (Consecutive interpretation) หรือล่ามพูดตามเพราะล่ามต้องรอผู้พูดพูดให้จบประโยคก่อนจึงจะแปลได้จึงต้องใช้ความจำและความเข้าใจในประโยคของผู้พูด ผิดกับล่ามแปลฉับพลัน ล่ามพูดพร้อมหรือล่ามกระซิบที่เมื่อผู้พูดพูดปุ๊บล่ามสตาร์ทแปลได้เกือบทันทีและแปลไปเลยโดยล่ามยังไม่ต้องทำความเข้าใจเนื้อหาก่อนเพื่อแปล

เมื่อโดนปัจจัยหลายๆอย่างบีบคั้นล่ามที่เก่งจะมีทักษะในการเอาตัวรอดได้ซึ่งต้องไปดูที่ทฤษฎีการแปลอีกครั้งว่าทำอย่างไรจะเอาตัวรอดได้

คำถาม: คิดว่าถ้าคนที่ทำงานสายภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้วออกมาทำเป็นฟรีแลนซ์ล่ามญี่ปุ่น จะรอดมั้ยคะ มีปัจจัยอะไรที่ต้องคิดถึง  (ไม่แน่ใจว่าวงการนี้แข่งขันสูงมั้ย)

-รอดหรือไม่ ต้องถามว่าคนคนนั้นคาดหวังค่าตอบแทนที่เท่าไหร่การเป็นล่ามญี่ปุ่นฟรีแลนซ์ถ้าล่ามไม่ได้งานต่อเนื่องทุกวัน หรือทุกสัปดาห์จะมีปัญหาในเรื่องเงินในการใช้ชีวิตได้ หากเป็นกรณีที่ล่ามไม่มีหนี้สิน (หนี้บ้านหนี้รถ หนี้บัตร เลี้ยงดูบิดามารดา หรืออื่น ๆ)การเป็นล่ามฟรีแลนซ์ก็อาจให้ชีวิตอิสระ ซึ่งหากเป็นล่ามฟรีแลนซ์เก่ง ๆจะสร้างคอนเนคชั่น หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่องานต่อเนื่องในอนาคตได้ แน่นอนว่าวงการล่ามมีการแข่งขันสูงและมีบริษัทจัดหาล่ามให้กับบริษัทลูกค้าอีกทีนึงที่ให้ค่าตอบแทนล่ามได้ไม่เท่ากับรับงานเองหากเข้ากับคนที่ติดต่องานไม่ได้ก็อาจไม่ได้รับการแนะนำงานล่ามมาให้(โดยที่ล่ามเองไม่รู้ตัว)แต่หากล่ามมั่นใจว่าตัวเองเก่งมีความสามารถทางการแปล และภาษาญี่ปุ่นมากก็ไม่จำเป็นต้องกลัวการแข่งขันเพราะงานล่ามเป็นงานที่อาศัยความสามารถจริง ๆอย่างไรก็ตามหากล่ามมีหนี้ที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ต้องจ่ายทุกเดือน สิรวดีไม่แนะนำเพราะจะมีปัญหาการเงินได้




Create Date : 03 เมษายน 2561
Last Update : 3 เมษายน 2561 19:38:35 น.
Counter : 5201 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Natchaon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 314 คน [?]



Sawaddee ka. My name is Nat. I am a certified translator. I have been in the translation industry since 2004.

I graduated a master degree in English-Thai translation from Chulalongkorn University, Thailand.

I have the following accreditation:
- NAATI Accreditation for EN < > TH translation (Australia)
- Court Expert Registration for EN < > TH translation (Thailand)
- Member (MCIL), Chartered Institute of Linguists (U.K.)

See details about my services here https://www.nctranslation.net
https://www.expertthai.net

For a quick quote, email your document to natchaon@yahoo.com.

รับแปลเอกสารวีซ่าออสเตรเลียพร้อมประทับตรา NAATI ปรึกษาฟรีที่ natchaon@yahoo.com หรือ Line: Natchaon.NAATI

See below my locations:
- Bangkok: 1 Dec 2018 - 12 Jan 2019

NAATI ออสเตรเลีย, NAATI เมลเบิร์น, NAATI ประเทศไทย, NAATI กรุงเทพ, แปลเอกสารพร้อมประทับตรา NAATI, แปลเอกสารโดยนักแปล NAATI, NAATI Australia, NAATI Melbourne, NAATI Thailand, NAATI Bangkok, NAATI translation, NAATI accredited translation, Australia Visa, Partner Visa, Fiance Visa, Prospective Visa, Skilled Migrant, Student Visa, Work Visa, Work and Travel Visa, Online Visa, วีซ่าออสเตรเลีย, วีซ่าแต่งงาน, วีซ่าคู่หมั้น, วีซ่าทำงาน, วีซ่านักเรียน, วีซ่าทำงานและท่องเที่ยว, วีซ่าออนไลน์
Thai – English translation, English – Thai Translation, แปลอังกฤษเป็นไทย, แปลไทยเป็นอังกฤษ

*บทความทั้งหมดในบล็อกนี้ สงวนลิขสิทธิ์ทุกประการ*
เมษายน 2561

1
2
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog