ในปี 2549 หม่อเอเหม่ ผู้ใหญ่บ้านเลตอคุ และ ฤๅษีองค์ที่ 9 ได้นำงาช้างคู่กลางและพระแก้ว มอบให้กับกะเหรี่ยงพุทธ ปรากฏว่า ได้การต่อต้านอย่างรุนแรงจากชาวกะเหรี่ยงลุ่มแม่จัน
บ้านเลตอคุ เป็นหมู่บ้านชายแดนติดกับพม่า ชาวบ้านที่นี่มีความสัมพันธ์อย่างมากกับญาติพี่น้องในฝั่งพม่า ในยุคสงครามประชาชน หัวหน้างานนี้ซึ่งครอบคลุมเบิ่งเคลื่งด้วยชื่อ จอบือ เป็นอดีตลูกศิษย์ฤๅษี ก่อนมาเข้าร่วมกับ มิตรจากตะวันออก เขามีความเชี่ยวชาญภาษาพม่า และเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีความสามารถเป็นเลิศ เพราะต้องทำงานแนวร่วมกับ ฤๅษีและกะเหรี่ยงอิสระ
หม่อเอเหม่เป็นผู้ใหญ่บ้านเลตอคุหลายสมัย พื้นเพเดิมเป็นชาวบ้านชอแมะ หมู่บ้านนี้เป็นกะเหรี่ยงโพล่ง ห่างจากม่งคั๋วะมาทางใต้ ประมาณ 4 กิโลเมตร ส้มโออร่อยมาก ปัจจุบันหมู่บ้านได้เปลี่ยนเป็นหมู่บ้านร้างไปแล้ว บางส่วนย้ายไปม่งคั๋วะ และตะละโค่ง
หม่อเอเหม่ มีบุคลิกแข็งกร้าว จึงมีอำนาจปกครองสูง ชาวบ้านเลตอคุมีความหวาดเกรง เขาได้ขยายอำนาจในการจัดการกิจการของสำนักฤๅษี จนดูเหมือนว่าสามารถครอบงำฤๅษีองค์ปัจจุบัน
ด้วยความเป็นหมู่บ้านชายแดน หม่อเอเหม่ต้องมีการติดต่อกับทั้งกะเหรี่ยงอิสระหรือเคเอ็นยู กะเหรี่ยงพุทธหรือดีเคบีเอ และพม่า
ชาวบ้านเล่าให้ฟังด้วยตัวอบ่างการเก็บภาษีเป็นข้าวสารของกองกำลังบริเวณนั้น พม่าไม่เก็บ กะเหรี่ยงอิสระอาจจะเก็บ 5 ถุง ส่วนกะเหรี่ยงพุทธจะเก็บเพียง 2 ถัง
ถ้าหมู่บ้านไหนไม่จ่ายภาษีให้กะเหรี่ยงอิสระ กองกำลังนี้จะขู่ว่า จะไปโจมตีกองทหารพม่าที่อยู่ใกล้เคียง แน่นอนชาวบ้านกังวลมาก เพราะนำความเดือดร้อนมาให้ จึงจำใจต้องจ่ายให้กะเหรี่ยงอิสระ นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ กะเหรี่ยงพุทธ สามารถอิทธิพลเหนือกว่ากะเหรี่ยงอิสระ
ในช่วงดังกล่าว กะเหรี่ยงพุทธมีสถานะเข้มแข็งมากและชาวบ้านให้การยอมรับสูง จึงทำให้ หม่อเอเหม่ ต้องการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกะเหรี่ยงพุทธให้เหนี่ยวแน่นมากขึ้น นี่อาจจะเป็นสาเหตุทำให้ หม่อเอเหม่พยายามหว่านล้อมให้ ฤๅษีองค์ที่ 8 มอบงาช้างและพระแก้วให้กับกะเหรี่ยงพุทธ ในที่สุด ฤๅษีก็ยอมมอบให้
เมื่อข่าวการมอบงาช้างและพระแก้วให้กับกะเหรี่ยงพุทธแพร่ออกไป ได้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากชาวกะเหรี่ยงลุ่มน้ำมัน ในการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่ และหน่วยราชการของอำเภออุ้มผางเกิดขึ้น ผู้ใหญ่จากหมู่บ้านลุ่มน้ำแม่จัน ตั้งแต่บ้านเลตอคุจนถึงแม่จันทะ ได้แสดงท่าทีแข็งกร้าว
ชาวบ้านพูดถึงความกังวลว่า งาช้างและพระแก้วอยู่กับพวกเรามานาน ถ้าไปที่อื่นอาจจะเกิดเหตุไม่ดีกับพวกเรา พวกเขาเล่าว่า งาช้างคู่ใหญ่เคยมีการขอเพื่อถวายให้พระเทพฯ เมื่อเฮลิคอปเตอร์มาถึงบ้านเลตอคุ ปรากฏว่า ฟ้าปิด เมฆดำเต็มท้องฟ้า เฮลิคอปเตอร์ต้องบินกลับ เมื่อบินกลับถึง ปรากฏว่าฟ้าเปิด เฮลิคอปเตอร์บินกลับมาใหม่ มาถึงก็ฟ้าปิดอีก ชาวบ้านจึงแจ้งว่า งาช้างคงจะไม่ต้องออกจากบ้านเลตอคุ การถวายครั้งนั้นจึงยกเลิก
หลังจากการประชุม นายอำเภออุ้มผาง จึงนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการประสานงานชายแดนไทย-พม่า (ทีบีซี) จังหวัดตาก ฝ่ายกะเหรี่ยงพุทธ ก็ยอมส่งคืน แต่ฤๅษีบอกว่า เมื่อมอบไปได้ไม่สามารถรับคืนได้ งาช้างและพระแก้วจึงได้รับการเก็บไว้ที่กองร้อย ต.ช.ด.อุ้มผาง