Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
26 ธันวาคม 2554
 
All Blogs
 
คลื่นสูงนักท่องเที่ยวติดเกาะ10ชีวิต

คลื่นสูงนักท่องเที่ยว 10 ชีวิตติดเกาะยังออกจากพื้นที่ชุมพรไม่ได้ รำลึก 7 ปีสึนามิเกาะพีพีจัดเรียบง่ายทำบุญ 3 ศาสนาให้ผู้ล่วงลับ วงเสวนา “โมเดลเรียนรู้ภัยพิบัติ” ผ่าน 7 ปีสึนามิ ไทยยังขาดการเรียนหลักสูตรภัยพิบัติ จันทบุรีนำเสาไฟฟ้าปลดระวางทำฝายกักน้ำใช้หน้าแล้ง

26ธ.ค.2554 นายบรรยงค์ อินทมาตย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต. )บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร เปิดเผยว่า หลังจากที่เกิดปรากฏการณ์คลื่นสูงพัดเข้าหาชายหาด ทำให้ขณะนี้พบว่ามีนักท่องเที่ยวยังตกค้างอยู่ที่เกาะพิทักษ์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ รวม 10 คน ด้วยกัน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้ให้การดูแลเป็นอย่างดี ส่วนที่ หมู่ 13 ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน มีที่อยู่อาศัยรวม 16 หลังคาเรือน ที่ได้รับความเสียหาย ต้องอพพยพออกมา เพราะคลื่นสูงกว่า 4 เมตร ขณะนี้ได้อพยพไปยังพื้นที่ๆปลอดภัยแล้ว

นายอภิญญา คนดี ปลัดอาวุโส รักษาการนายอำเภอหลังสวน จ.ชุมพร กล่าวว่า ได้สั่งการให้อพยพชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ไปยังสถานที่ๆปลอดภัย เบื้องต้นคาดว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนมากกว่า 400 คน

ด้านนายวิชัย อนันตเมฆ นายกเทศเทศบาลปากน้ำหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร กล่าวว่า คาดว่าในส่วนของเทศบาล จะมีทรัพย์สินของทางการที่ได้รับความเสียหายมากกว่า 20 ล้านบาทโดยเฉพาะเขื่อนกั้นทรายที่ถูกคลื่นซัดจนเสียหาย ที่เป็นห่วงก็คือนับจากนี้ไปความแรงของคลื่น
ที่ขาดแนวป้องกันจะยิ่งสร้างความเสียหายในระดับที่รุนแรงขึ้น



ประจวบฯประกาศ4อำเภอเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันที่ 26 ธ.ค.ยังคงมีคลื่นลมแรงซัดกระหน่ำเข้าชายฝั่ง อ.หัวหิน,อ.สามร้อยยอด อ.กุยบุรี อ.เมือง และ อ.ทับสะแก ตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 05.00 น.โดย พบว่ายังมีคลื่นสูง 2-3เมตร น้ำทะเลยังมีสีขุ่น ซัดเข้าชายหาดตลอดทั้งวัน แต่คลื่นลมเริ่มอ่อนกำลังลง

นายอภินันท์ จันทรังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่าขณะนี้จากการตรวจสอบความเสียหายของทาง สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประจวบฯ มีพื้นที่ อ.หัวหิน อ.สามร้อยยอด,อ.กุยบุรี อ.ทับสะแก ทั้ง 4 อำเภอขณะนี้ทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ประกาศเป็น”พื้นที่ภัยพิบัติ วาตภัยคลื่นซัดชายฝั่ง” ในบางตำบลของพื้นที่อำเภอแต่ละแห่งที่ได้รับความเสียหายไปแล้ว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วยเหลือในด้านต่างๆต่อไป



รำลึก7ปีสึนามิเกาะพีพีจัดเรียบง่ายทำบุญ3ศาสนาให้ผู้ล่วงลับ

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่บริเวณลานกีฬาโรงแรมพีพีคาบาน่า เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ นายประสิทธิ์ โอสถานน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้เป็นประธานในพิธีเปิด งานรำลึกสึนามิครอบรอบ 7 ปี ประจำปี 2554 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ธรณีพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เกาะพีพี มีผู้เสียชีวิต 700 คน ภายในงานมีพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศล ทั้ง 3 ศาสนา ได้แก่ศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่จากไปด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบง่าย มีญาติผู้เสียชีวิต ทั้งชาวไทยและชาวต่างเข้าร่วมในพิธีประมาณ 300 คน บรรยากาศเป็นไปอย่างเศร้าสลด

จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้อ่านสารของนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันป้องกันภัยแห่งชาติ และยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต มอบพวงมาลาสแตนเลส ให้แก่ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปวางไว้ในอนุสาวรีย์สึนามิใต้น้ำ ห่างจากบริเวณหน้าอ่าวต้นไทรเกาะพีพี ประมาณ 800 เมตร ลึกกว่า20 เมตร จากนั้นประธานในพิธีและญาติผู้เสียชีวิตได้นำดอกไม้ไปวางไว้ที่ใต้ต้นไทร เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต นอกจากนั้นมีการจัดนิทรรศการ ป้องกันภัยจากส่วนราชการและเอกชน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัย

นายพันคำ กิตติธรกุล นายกอบต.อ่าวนาง กล่าวว่า เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปี 47 สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะเกาะพีพีมีผู้เสียชีวิตกว่า 700 คน ดังนั้นเพื่อเป็นการรำลึกเหตุการณ์ สึนามิ และไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต ทางอบต.อ่าวนาง ร่วมกับ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กระบี่ ชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะพีพี รวมทั้งประชาชนชาวเกาะพีพี จึงได้ร่วมกันจัดงานรำลึกสึนามิขึ้น เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่วายชนม์ และเพื่อเตือนสติพี่น้องประชาชน ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ เพื่อลดความสุญเสียที่อาจเกิดขึ้นตลอดเวลา

ถึงแม้ว่าโศกนาฏกรรมภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มเกาะพีพี และฝั่งอันดามัน ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านมาแล้วร่วม 7 ปี แต่ความโศกเศร้ายังคงมีให้เห็นระหว่างที่มีการทำพิธีไว้อาลัย ญาติของผู้เสียชีวิตยังคงมีน้ำตาคลอเบ้า และบางคนร่ำไห้

ผ่านมา7ปีไทยยังขาดการเรียนหลักสูตรภัยพิบัติ

ที่บริเวณสวนสาธารณะโลมา หาดป่าตอง ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงานมหกรรมเด็กไทยเรียนรู้ ระวัง ตั้งรับ ภัยพิบัติ ซึ่งทางสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ อบจ.ภูเก็ต เทศบาลเมืองป่าตอง และมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จัดขึ้น

พร้อมกันนี้ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “โมเดลเรียนรู้ภัยพิบัติกับการจัดการภัยสึนามิและเยาวชนไทยเรียนรู้อะไร จากมหันภัยพิบัติธรรมชาติ” โดยมี ดร.สมิทธ ธรรมสาโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิพย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค.เข้าร่วมการนำเสนอชุดการเรียนรู้สึนามิโมเดล และคาราวานมหันตภัยธรรมชาติ ผลงานของคณะครูและนักเรียนโรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสค.

รวมทั้งกิจกรรมชุดการเรียนรู้เตรียมพร้อมท่ามกลางภัยพิบัติ ในโอกาสรำลึกเหตุการณ์สึนามิครบรอบ 7 ปี โดยมีเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆในภูเก็ตที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิเข้าร่วม ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านไสน้ำเย็น โรงเรียนบ้านกะหลิม โรงเรียนสตรีภูเก็ต และโรงเรียนอบจ.เมืองภูเก็ต โอกาสเดียวกันนี้ยังได้มีการมอบโล่รางวัลให้กับเด็กนักเรียนที่ชนะการประกวดวาดภาพการเรียนรู้สึนามิด้วย

ดร.สมิทธ ธรรมสาโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวในวงเสวนาฯ ว่า การเรียนรู้ในปัจจุบันควรบรรจุการเรียนการสอนภัยพิบัติไว้ในหลักสูตร ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสึนามิ ดินถล่ม ไฟป่าหรือน้ำท่วม เพราะจะทำให้เด็กและเยาวชนแต่ละจังหวัดได้ศึกษาค้นคว้าเรียนรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเอง อันจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง และควรให้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมจากที่ต่างๆ ซึ่งถือเป็นการส่งความรู้จากในห้องสู่นอกห้องให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง

ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิพย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยแม้จะผ่านเหตุการณ์สึนามิมาแล้ว 7 ปี แต่ก็ยังไม่มีหลักสูตรการเรียน แต่จากประสบการณ์ของการเกิดภัยพิบัติในหลายพื้นที่ก็สอนให้รู้ว่าการไม่ตระหนักรู้จะนำมาซึ่งการสูญเสียมากกว่าที่ควรจะเป็น และควรที่จะให้ความรู้ในเรื่องของความตระหนักรู้ถึงคุณลักษณะของการเอาชีวิตรอด เช่น กรณีเกิดแผ่นดินไหวหรือสึนามิ ก็จะต้องนำผู้สูงอายุและเด็กไปยังจุดหลบภัย เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเราต้องรับทราบว่า จะไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณมือถือ เป็นต้น

ขณะที่ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค.กล่าวในเรื่องเดียวกันนี้ว่า จากการศึกษาบทบทเรียนมหาอุทกภัยและภัยธรรมชาติจากต่างประเทศ สามารถสรุปการบริหารจัดการในวิกฤตภัยได้ 12 บทเรียน คือ รัฐบาลต้องตั้งศูนย์บัญชาการในยามพิบัติภัย แต่ต้องไม่รวมศูนย์อำนาจเพียงจุดเดียว, เน้นการประสานงานที่รับฟังทุกภาคส่วน, ใส่วิธีคิดเรื่องการลดความเสี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติเข้าไปอยู่ในวิธีคิดของทุกภาคส่วน ,การสื่อสารท่ามกลางวิกฤตต้องยึดหลักความถูกต้องของข้อมูล ไม่สร้างความตระหนกและแปลงข้อมูลให้เข้าใจง่าย, ให้ความสำคัญกับการลงทุนป้องกันในพื้นที่ยากจน เพราะมักเป็นพื้นที่ที่สูญเสียมากที่สุด, การให้ความรู้ทางเทคนิคในระดับพื้นที่เกี่ยวกับมาตรการและเครื่องมือในการป้องกันสถานที่สำคัญ, รัฐจะต้องร่วมกับท้องถิอ่นจัดการดูแลระบบป้องกัน, ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีล้ำสมัยในการสื่อสาร

ท้องถิ่นต้องได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบอย่างเป็นทางการในการวางระบบป้องกันและเยียวยาภัยพิบัติ,ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแก้ปัญหาภัยธรรมชาติ, ครูและโรงเรียนเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการรับมือภัยธรรมชาติ และคนยากจนมักได้รับผลกระทบสูงสุด การให้เงินช่วยเหลือจึงไม่ควรเป็นมาตรฐานเดียวกัน


จันทบุรีนำเสาไฟฟ้าปลดระวางมาทำฝายกกักน้ำใช้หน้าแล้ง

นายสุเนส เฉียงเหนือ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลจันทเขลม อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ได้ขอเสาไฟฟ้าที่ปลดระวางจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดจันทบุรี เพื่อนำมาทำฝายกักเก็บน้ำแก้ปัญหาภัยแล้งฝายกั้นน้ำคลองจันตะแป๊ะ หมู่ 2 ตำบลจันทเขลม( จัน - ทะ - เขม ) ซึ่งเป็นฝายที่นำเสาไฟฟ้าที่ชุดรุดไม่ได้ใช้งาน มารีไซเคิลใช้ประโยชน์ เพื่อเดินตามรอยเท่าพ่อหลวง ที่ทรงให้ใช้ทุกอย่างที่ที่มีอยู่ก่อประโยชน์ให้มากที่สุด แม้แต่สิ่งของเหลือใช้ก็นำมาใช้ได้ พร้อมกับลดต้นทุนในการก่อสร้างด้วยงบประมาณเพียงแค่ 1แสน2หมื่นบาท และการก่อสร้างเทศบาลตำบลจันทเขลมได้รับน้ำใจจากแรงงานของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นแรงงานหลักในการก่อสร้าง ขนาดฝายกว้าง 12 เมตร สูง 3 เมตร

หลังจากการทำฝายเสร็จสิ้นทาง เทศบาลตำบลจันทเขลมและชาวบ้านได้เรียนเชิญการไฟฟ้าภูมิภาค มาทำพิธีเปิดฝ่ายกักเก็บน้ำขนากเล็ก ที่สามารถกักเก็บน้ำเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรกว่า 70 ครัวเรือน แก้ปัญหาภัยแล้งของเกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง



ปภ.รายงานคลื่นสูงถล่มใต้เสียหาย4จังหวัด


นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ภัยหนาวแล้ว 22 จังหวัด 218 อำเภอ 1,733 ตำบล 20,057 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคเหนือ 11จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก น่าน ตาก พะเยา ลำปาง และลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร เลย หนองคาย นครพนม อุบลราชธานี มหาสารคาม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และบุรีรัมย์ ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี และราชบุรี

สำหรับเหตุการณ์คลื่นลมแรงพัดสู่เข้าชายฝั่งและน้ำทะเลหนุนสูง บริเวณภาคใต้ส่งผลให้บ้านเรือนและสิ่งสาธารณูปโภคได้รับความเสียหาย ใน 4 จังหวัด รวม 8 อำเภอ ชุมพร 1 อำเภอ ได้แก่ อ.หลังสวน ประจวบคีรีขันธ์ 4 อำเภอ ได้แก่ ทับสะแก หัวหิน กุยบุรี และสามร้อยยอด นครศรีธรรมราช 1 อำเภอ ได้แก่ อ.ปากพนัง สุราษฎร์ธานี 2 อำเภอ ได้แก่ ดอนสัก และ ไชยา ทั้งนี้ ปภ.จังหวัดในพื้นที่ประสบภัยและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้การช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นแล้ว พร้อมเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นค่าวัสดุซ่อมแซมบ้านเรือน อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์คลื่นซัดชายฝั่งสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง


Create Date : 26 ธันวาคม 2554
Last Update : 26 ธันวาคม 2554 18:03:41 น. 0 comments
Counter : 721 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

wattana13
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add wattana13's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.