กาพย์เห่เรือ ฝีพาย และการฝึกซ้อม
“สุพรรณหงส์ทรงภู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม” เมื่อพูดถึงบทเห่เรือ ที่ติดอยู่ในความทรงจำใครหลายคน โดยเฉพาะคาบวิชาภาษาไทย ตอน ม.ปลาย กับกาพย์กลอนที่เราเคยทำความรู้จัก รวมไปถึงการสอบอ่านบทอาขยาน หน้าชั้นเรียนแบบกลุ่ม สวมบทสมมติเป็นพนักงานเห่และฝีพาย กับการเกริ่นโคลง และร้องรับในจังหวะมูลเห่ หยิบยกมาจากพระนิพนธ์ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร(เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีแห่งยุคสมัยของกรุงศรีอยุธยา การหาต้นเสียงในการอ้างอิงความถูกต้องไม่ใช่เรื่องง่าย บ้างก็เอื้อนเพี้ยน บ้างก็ลากเสียงกันผิดจังหวะ หรือเจอการไกด์ไลน์ที่ไม่ถูกต้อง แล้วเถียงกันว่าตกหายไปจังหวะนึง ถึงเรื่องนี้จะเป็นสิ่งดูที่ไกลตัวไปหน่อย ยกเว้นพวกที่ตั้งใจสอบเข้าทหาร อาจมีแพชชั่นฝันถึงในสักวันหนึ่ง ที่พวกเขาจะไป เข้าร่วมคัดเลือกเป็นพลฝีพายฯ แต่เชื่อว่านักเรียนไทยสายสามัญ ต่างก็ต้องเคย ผ่านการฝึกอ่านบทเห่เรือกันแทบทั้งนั้น ในปีนี้ (2567) หลังจากมีประกาศอย่างเป็นทางการ เรื่องงานเรือพระราชพิธีฯ ที่จะจัดช่วงเดือนตุลาคม เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 6 รอบ ของในหลวงรัชกาลที่ 10 และทางกองทัพเรือได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบหน้าที่นี้โดยตรง
ขั้นตอนการฝึก ครูฝึกฝีพาย การฝึกฝีพายบนเขียง ที่แยกฝึกตามหน่วยต่าง ๆ ได้เริ่มกันมาตั้งแต่ช่วงต้นปี จนกระทั่งมาถึงขั้นตอนฝึกพายในน้ำ บริเวณบ่อเรือแผนกเรือพระราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ จึงได้ทำการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้กลุ่มจาก หน่วยงาน หมู่คณะ และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าเยี่ยมชม ที่ตั้งของสถานที่ฝึก กว่าเราจะหาเวลาเดินทางมาที่นี่ได้ ก็ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ที่ตั้งของ กองเรือเล็ก พบว่าเคยมีกระทู้สอบถามการเดินทางยังสถานที่ดังกล่าวเยอะพอสมควร (ทำให้เพิ่งรู้ว่ามี พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ตั้งอยู่ที่นี่อีกด้วย) บางคนก็มาทางสะพานปิ่นเกล้าและพบว่าเส้นทางค่อนข้างลึกลับ ที่ง่ายสุดก็คือทะลุผ่าน รพ.ศิริราชและข้ามสะพานอรุณอมรินทร์
⭗ ภาพที่ตั้งกองเรือเล็ก จากบนสะพานอรุณอัมรินทร์
รอบบ่ายของวันนั้น มีคณะเยี่ยมชมที่มาถึงก่อหน้ากำลังนั่งประจำที่กันอย่างเป็นระเบียบ ในเครื่องแบบทหารเรือสีกากีที่คุ้นตา ต่างไปจากที่เห็นในภาพข่าวรอบเช้าที่มักเป็นกลุ่มเด็กนักเรียน วิทยากรกำลังเริ่มอธิบายถึง เรือพระราชพิธี จำนวนฝีพาย และความรู้เกี่ยวกับการเห่เรืออยู่พอดี ไม่แน่ใจว่าท่านนี้เป็นหนึ่งในผู้ขับกาพย์เห่เรือด้วยมั้ย มาไม่ฟังช่วงบรรยายเริ่มแรกเลยไม่ทันได้รู้ชื่อ ขณะนั้นเหล่าฝีพาย ก็ได้นั่งเตรียมพร้อมอยู่บนลำเรือลอยน้ำที่ผูกโยงยึดไว้
ที่มาของภาพ เว็ปไซต์ พระลาน : Phralan.in.th : https://phralan.in.th//coronation/images/upload/images/Royal_Barge_Intro_008.jpg
รูปแบบการจัดตั้งริ้วขบวนเรือ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ปี 2567 นี้ อิงตามแบบแผนเดิมเหมือนครั้งล่าสุด (ปี 2562)
มีจำนวนเรือทั้งสิ้น 52 ลำ จัดเป็น 5 ริ้ว โดยแบ่งเป็น 3 สาย กำลังพลฝีพายประจำเรือ 2,200 นาย กำลังพลประจำเรือทุกริ้วขบวนมี ทั้งหมด รวม 2,412 นาย
⭗ พื้นที่การฝึก ที่บ่อเรือแผนกเรือพระราชพิธี กองเรือเล็ก เขตบางกอกน้อย
กาพย์เห่เรือ ถูกแบ่งออกเป็นสองแนวทาง 1. ทางกรมศิลปากร เน้นถึงความไพเราะ อ่อนหวาน ใช้เพื่อการแสดงหรือการละครเท่านั้น
2. ทางกองทัพเรือ มีจังหวะที่เน้นความเข้มแข็งและห้าวหาญ รูปแบบการเปล่งเสียงต่าง ๆ ในบทเห่เรือ ใช้เพื่อกำกับจังหวะการพาย ให้เคลื่อนที่ไปตามที่ต้องการ โดยประกอบด้วย โคลง 4 สุภาพหนึ่งบท และกาพย์ยานี 11 มี 4 จังหวะหรือทำนอง ดังนี้
1. เกริ่นโคลง : ส่วนนี้เป็นโคลง 4 สุภาพ หนึ่งบท เมื่อพนักงานเห่เริ่มเกริ่นโคลง พนักงานพายจะอยู่ในลักษณะท่าเตรียมพาย ช่วงลำดับนี้ใช้เวลาประมาณ 2 นาที 2. ช้าลวะเห่ (ช้า-ละ-วะ-เห่) : เป็นการเห่จังหวะช้า ๆ และขบวนจะเริ่มทำการเคลื่อนที่ จังหวะนี้ขึ้นต้นคำว่า “เห่ เอ๋ย” เมื่อลูกคู่หรือฝีพายร้องรับก็จะพายเรือออกไปยังตำแหน่งที่กำหนดไว้
3. มูลเห่ (มูน-ละ-เห่) : จะมีความไวกว่า ช้าลวะเห่ โดยจะแบ่งช่วงวรรคคำ 2 / 3 / 3 / 3 ลูกคู่หรือฝีพาย จะร้องรับว่า ชะ, ชะ, ฮ้าไฮ้ และ เฮ้ เฮ เฮ้ เฮ เฮ เห่ เฮ เฮ้ ฯ การกำหนดให้มีความยาว-สั้นของ บทเห่เรือนั้นขึ้นอยู่กับระยะของขบวนด้วย โดยที่รูปแบบปัจจุบันนี้จะเริ่มที่ ท่าวาสุกรี → วัดอรุณฯ เป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร ประกอบกับจำนวนเรือที่มีทั้งหมด 52 ลำ รูปของขบวนเรือมีความยาว 1.2 กิโลเมตร ความกว้างขบวน 90 เมตร บทมูลเห่อาจใช้เวลา 15 นาที ไปจนถึงหนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ตัวแปรของเวลาจะขึ้นอยู่กับ กระแสน้ำ กระแสลม ของแต่ละวันที่ทำการซักซ้อม 4.สวะเห่ (สา-วะ-เห่) หรือ บทเก็บพาย : พนักงานเห่จะเริ่มบทนี้เมื่อขบวนเรือเคลื่อนมาถึง ตำแหน่งก่อนถึงที่หมายระยะ 200 เมตร โดยจะขึ้นต้นว่า “ช้าแลเรือ”
⭗ วิทยากรผู้ทำหน้าที่บรรยายรายละเอียดเบื้องต้นในรอบบ่าย และบรรดาคณะเยี่ยมฯ
⭗ ภาพบางส่วน บริเวณบ่อซ้อมเรือ ตัวเรือจะยังคงใช้แบบผูกโยง เพื่อซักซ้อมท่าพายและสัญญาณ
⭗ โครงเหล็ก สำหรับวางในเรือพระราชพิธีตามลำต่าง ๆ ที่เป็นเหมือนกับหลังคา
ในวันนี้ยังคงเป็นการฝึกความพร้อมเพรียงของฝีพายจากบ่อฝึกซ้อมเรือ ในท่าทางต่าง ๆ ทั้งท่านั่งประจำที่ การพายธรรมดา การพายท่านกบิน ท่าพลราบ ที่จะถูกใช้ตามประเภท ของเรือ รวมไปถึง การวาด การคัด การขยับ การทวน ท่าสัญญาณและการใช้สัญญาณ
หลังจบคำแนะนำของวิทยากร ในลำดับถัดไปก็เป็นการสาธิตการเห่เรือประกอบการพาย จากผู้รับคัดเลือกให้เป็นพนักงานเห่ (ณ วันจริงตำแหน่งนี้ มีผู้ทำหน้าที่ 2 คน) การเริ่มต้นนั้น ถูกนำด้วยเสียงของกรับพวง ที่เคาะเป็นจังหวะส่งสัญญาณต่อฝีพาย กระทั่งหยิบไม้พายขึ้นเตรียมตามขั้นตอน และเกริ่นโคลง ตามลำดับ
จำนวนของบทเห่ ในวันซ้อมนี้ยังคงไม่ได้ถูกใช้แบบเต็มฉบับ เพียงแค่เก็บทำนองทั้ง 4 เพื่อฝึกการพายตามจังหวะให้ครบ รวมถึงการร้องรับ ร้องทวน ที่เหล่าฝีพายจะต้องทำหน้าที่เป็นลูกคู่ไปด้วย ส่วนตัวคิดว่าจังหวะช้าละวะเห่ และสวะเห่ ค่อนข้างที่จะต้องใช้ความจำพอสมควร แถมยังต้องคอยชะลอการพายให้ประสานไปกับเสียงที่ถูกกำกับไว้ เสียดายที่รอบนี้เอาที่บันทึกเสียงใส่ในเป้ แล้วเดินไปมาตลอด กลายเป็นเสียงที่ขลุกขลัก ๆ ซะเยอะ เลยไม่ได้ตัดเสียงมาลงประกอบตามที่คิดไว้
⭗ เตรียมพร้อม
⭗ ครูฝึก ยืนตรวจตราความพร้อมเพียง
⭗ พ.จ.อ. พูลศักดิ์ กลิ่นบัว พนักงานเห่เรือ ที่เป็นต้นเสียงอ่านบทเห่ในวันนี้
⭗ มุมจากด้านหลัง ช่วงซ้อมรอบสอง ฝีพายกำลังยกไม้พายท่านกบิน ทำมุม 45ํ ํ
⭗ ครูฝึก ที่คอยยืนกำกับอีกมุม
⭗ ท่าพาย ของเรือแต่ละลำที่ถูกกำหนดไว้
ในครึ่งแรกของบ่ายนี้ ถ้าไม่นับการบรรยายให้คณะเยี่ยมชม บทเห่เรือและการทวนท่าฝึก ใช้เวลาซ้อมราว 25-30 นาที (แต่ฝีพายก็ยังต้องอยู่บนเรือเพื่อรอซ้อมต่อ) รอบครึ่งหลังเหลือผู้ชมแค่ไม่กี่รายที่แวะเข้ามา ส่วนคณะเยี่ยมชมก็แวะไปชม พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากตรงนี้กันต่อ ในเวลานั้นยังคงมีเรือพระราชพิธีจัดแสดงอยู่ด้านใน ส่วนเรายังสาละวนอยู่ตรงบ่อซ้อมเรือ พอคนน้อยลงแล้ว เดินถ่ายรูปง่ายดี (อย่าได้สงสัยว่าทำไมภาพบางส่วนถึงมีแต่เก้าอี้ขาว)
⭗ ภาพประกอบบนบอร์ดที่ติดแจ้งการปฏิบัติขณะอยู่ในเรือพระราชพิธี
การฝึกซ้อมในน้ำกับเรือผูกโยงนี้ ถือเป็นขั้นตอนสร้างความคุ้นเคยกับเรือ เนื่องจากงานพระราชพิธีนี้ไม่ได้ถูกจัดขึ้นบ่อยนัก อย่างครั้งล่าสุดคือ ปี 2562 นี่จึงอาจเป็น ครั้งแรกของใครหลายคนที่ต้องมาหัดเรียนรู้ และถัดจากนี้กำลังพลฝีพายก็จะย้ายสถานที่ ไปฝึกยัง อู่ทหารเรือธนบุรี และใน แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเข้ารูปขบบวนและเดินทางเป็นรูปขบวน ที่มีทั้งแบบซ้อมย่อย ไปจนถึงแบบเต็มรูปขบวนเสมือนจริง ในเดือนตุลาคมอีกสองหน กำหนดการในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค คือวันที่ 27 ตุลาคม 2567 หากนับตั้งแต่ต้นยุครัตนโกสินทร์มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน การจัดริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 30 เราคิดหาโอกาสกลับมาดูอีกครั้ง อยากเห็นผลลัพท์จากการฝึกที่ใช้เวลายาวนานหลายเดือน ในรูปแบบเต็มชุด บรรดาเรือมีชื่อต่าง ๆ ที่เคยรู้จักจะถูกนำกลับมาโลดแล่นบน แม่น้ำเจ้าพระยา เหล่ากำลังพล เจ้าพนักงานผู้ทำหน้าที่ต่าง ๆ จะสวมเครื่องแต่งกายที่จำลองมา จากยุคโบราณ พร้อมเสียงบทเห่เรือที่ใช้กำกับจังหวะพาย โดยไม่ต้องทะลุมิติข้ามเวลา แต่เป็นราชประเพณีเก่าแก่ที่ได้ปรากฏผ่านในรูปแบบทางมรดกทางวัฒนธรรม …….. *เนื้อหาบางส่วน สรุปจากบันทึกเสียงการบรรยายจากวิทยากร ช่วงวันฝึกซ้อม : 27 มิ.ย. 2567 และการบรรยายในงานพระราชพิธีฯ : 27 ตุลาคม 2567 *ลำดับการฝึกซ้อม : 1. การฝึกครูฝีพาย ระหว่างวันที่ 12 กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2567 รวม 20 วัน
2. การฝึกฝีพายบนเขียง ระหว่าง 18 มีนาคม - 16 พฤษภาคม 2567 รวม 40 วัน โดยทำการแยกฝึกตามหน่วยต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่สัตหีบ
3. การฝึกฝีพายในหน่วย ในเรือ ในน้ำ ระหว่าง 28 พฤษภาคม - 30 กรกฎาคม 2567 รวม 40 วัน
การฝึกซ้อมเป็นขบวน ซ้อมย่อย เป็นรูปขบวนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 10 ครั้ง วันที่ 1, 8, 15, 22 สิงหาคม วันที่ 3, 12, 19, 26 กันยายน วันที่ 1 และ 10 ตุลาคม
ซ้อมใหญ่ จำนวน 2 ครั้ง ในวันที่ 15 และ 22 ตุลาคม
และซ้อมเก็บความเรียบร้อย วันที่ 24 ตุลาคม
ข้อมูลอ้างอิง : https://www.navy.mi.th/index.php/nst6hicbybtw, https://www.navy.mi.th/fplnuirk1qtv
*กระบวนพระยุหยาตราชลมารค ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ : https://dev.prd.go.th/royal_barge/ *กาพย์เห่เรือที่ใช้ในขบวนพยุหยาตรา ปี 2567 ประพันธ์โดย พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย มีจำนวนทั้งสิ้น 4 บท ประกอบไปด้วย 1. บทสรรเสริญพระบารมี 2. บทชมเรือกระบวน 3. บทบุญกฐิน 4. บทชมเมือง *ผู้ทำหน้าที่เป็นพนักงานเห่เรือ ครั้งนี้ มีจำนวน 2 คน โดยนั่งตรงหน้าบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
Create Date : 31 ตุลาคม 2567 |
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2567 22:24:19 น. |
|
5 comments
|
Counter : 441 Pageviews. |
|
|
ของจริงคนไปดูกันเยอะเหมือนกัน