VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
ไอเอส บนเส้นทางที่มืดมน







ไอเอส บนเส้นทางที่มืดมน

โดย

พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

ลงพิมพ์ในวารสาร "หลักเมือง"​ ของกระทรวงกลาโหม ฉบับเดือน มีนาคม พ.ศ.2560

และ นิตยสาร "ท้อปกัน" ฉบับเดือน เมษายน พ.ศ.2560

สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำเพื่อการค้าและการพาณิชย์ อนุญาตให้เผยแพร่เพื่อเป็นความรู้และวิทยาทานแก่บุคคลทั่วไป


อนาคตของกลุ่ม "ไอเอส" หรือกลุ่ม "รัฐอิสลาม" (IS : Islamic States) กำลังเป็นที่จับตามองจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากลุ่ม "ไอเอส" ได้กลายเป็นภัยคุกคามสันติภาพของประชาคมโลกอย่างแท้จริง

ความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของกลุ่มดังกล่าว ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของชาติต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในยุโรปและอเมริกา ที่ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่ม "ไอเอส" อย่างต่อเนื่อง

สำหรับมหาอำนาจสหรัฐอเมริกานั้น ถึงกับยอมรับว่ากลุ่ม "ไอเอส" มีผลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวอเมริกัน ดังคำเปรียบเปรยที่ว่า .. "ในโลกยุคก่อการร้าย" นั้นสวนดอกไม้อันสวยงามหน้าบ้านของคุณ ก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นสมรภูมิรบอันนองเลือดได้ ..

กลุ่ม "ไอเอส" มิใช่เป็นกลุ่มก่อการร้าย ที่มีลักษณะเป็นหน่วยกองโจรขนาดเล็กที่ "จรยุทธ์" หรือเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ตามแรงกดดันของฝ่ายตรงข้าม หากแต่เป็นกองกำลังทางทหารขนาดใหญ่ ที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยจำนวนมาก มีรัฐบาลและดินแดนที่เป็นอาณาจักรของตนเอง มีนักรบมืออาชีพที่อดีตเคยเป็นทหารประจำการในกองทัพต่างๆ ทั่วโลก ทั้งจากยุโรป สหรัฐอมริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง นักรบเหล่านี้มีขีดความสามารถสูง จนสามารถเอาชนะทหารอาชีพจากกองทัพซีเรียและกองทัพอิรัก ซึ่งถือว่าเป็นทหารที่มีการฝึกฝนมาอย่างดีและมีอาวุธชั้นเยี่ยม

การที่กลุ่ม "ไอเอส" สามารถเอาชนะกองทัพซีเรียและกองทัพอิรักได้ในหลายๆ พื้นที่ ทำให้ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ เงินสด ตลอดจนทองคำและสิ่งของมีค่าได้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กลุ่ม "ไอเอส" กลายเป็นกองกำลังทางทหารที่มีความแข็งแกร่งอย่างมาก ดังเช่น การยึดเมือง "โมซูล" (Mosul) ของอิรัก เมื่อปี ค..2015 กลุ่ม "ไอเอส" สามารถยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอิรักได้เป็นจำนวนมาก อาวุธเหล่านี้มีจำนวนมาก จนสามารถจัดตั้งกองพลได้เป็นจำนวนถึง 3 กองพลเลยทีเดียว

กลุ่ม "ไอเอส" ยังมีเงินทุนสนับสนุนจำนวนมหาศาล จนได้รับการยอมรับว่า เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ร่ำรวยที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก ทั้งนี้เพราะพวกเขาสามารถยึดครองพื้นที่ยุทธศาสตร์ทั้งฐานขุดเจาะน้ำมัน โบราณสถาน และเมืองใหญ่ๆ ทำให้ได้รับเงินทุนจากการขายน้ำมันและการเก็บภาษีจากพื้นที่ยึดครอง ทั้งภาษีการค้า ภาษีการนับถือศาสนาอื่น และภาษีเถื่อน

นอกจากนี้กลุ่ม "ไอเอส" ยังมีเครือข่ายโลกออนไลน์ที่ทรงประสิทธิภาพ ในการเกณฑ์กำลังพลจากทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วมขบวนการ สิ่งเหล่านี้ คือ ภาพลักษณ์ของกลุ่ม "ไอเอส" ที่เหนือกว่ากลุ่มก่อการร้ายดั้งเดิม อย่างเช่น กลุ่มอัล กออิดะห์ ของ โอซามาบิน ลาเดน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมากลุ่ม "ไอเอส" ถูกรุมกระหน่ำโจมตีจากชาติมหาอำนาจต่างๆ อย่างไม่ยั้งมือ ทั้งรัสเซีย สหรัฐอเมริกา ที่ร่วมกับชาติพันธมิตรจากยุโรป และกลุ่มประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง แถมยังมีกลุ่มมุสลิม ชีอะห์ และกองกำลังชาวเคิร์ด เข้าร่วมโจมตีอีกด้วย

ทำให้กลุ่ม "ไอเอส" ต้องสูญเสียพื้นที่ยึดครองไปเป็นจำนวนมาก เช่น สูญเสียพื้นที่ยึดครองในอิรักไปกว่า 40% ส่วนในซีเรีย ต้องสูญเสียดินแดนไปกว่าครึ่ง เพราะรัฐบาลซีเรียได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียอย่างเต็มที่

จนกระทั่ง ออสติน ลอง (Austin Long) นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย "โคลัมเบีย" (Columbia University) และเคยเป็นที่ปรึกษาของกองกำลังนานาชาติในอิรัก ถึงกับลงความเห็นว่า "ไอเอสกำลังจนมุม"

ออสติน ลอง วิเคราะห์ว่า กำลังพลของกลุ่ม "ไอเอส" ที่คาดการณ์ว่ามีจำนวนกว่า 60,000 คน กำลังได้รับความสูญเสียอย่างหนัก มีทั้งบาดเจ็บ เสียชีวิต และถอนตัวกลับประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน คาดว่าในปัจจุบันมีกำลังพลของกลุ่มไอเอส เหลืออยู่ประมาณ 36,000 คนหรือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น พื้นที่ยึดครองบางแห่ง มีนักรบ "ไอเอส" เหลืออยู่เพียงไม่กี่ร้อยคน จากแต่เดิมที่เคยมีอยู่นับพันคน

เป็นที่น่าสังเกตุว่า ในจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น มีนักรบผู้เจนศึกรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ทำให้ "ไอเอส" ต้องรีบระดมพลผ่านสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง และในระยะหลังนี้การระดมพลจะพุ่งเป้าไปที่ กลุ่มทหารหรือผู้ก่อการร้าย ที่มีประสบการณ์มากกว่าที่จะมุ่งไปที่พลเรือนธรรมดา

ทั้งนี้เพื่อลดเวลาในการฝึกลง และสามารถส่งนักรบเหล่านี้ เข้าสู่แนวหน้าได้ทันที ดังจะเห็นได้จาก ความพยายามในการดึงทหารจากกองทัพมาเลเซีย และผู้ก่อการร้ายกลุ่ม "เจไอ" หรือ "เจ๊ะมาอะห์ อิสลามิยะห์" ที่ต้องโทษอยู่ในเรือนจำของประเทศอินโดนีเซีย เป็นผลให้ผู้ต้องโทษเหล่านี้ มุ่งหน้าสู่สมรภูมิในซีเรียทันทีที่พ้นโทษ

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการเกณฑ์กำลังพลจากทั่วโลก เพื่อเข้าร่วมรบในซีเรียและอิรักก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะรัฐบาลของชาติต่างๆ เริ่มมีประสบการณ์ในงานด้านการข่าว สามารถสกัดกั้น การเดินทางออกนอกประเทศของพลเมืองตนเองอย่างได้ผล

ส่วนช่องทางการโอนเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ ก็ถูกหน่วยข่าวกรองต่างๆ ตรวจค้นอย่างละเอียดยิบ จนยากที่จะถึงมือกลุ่ม "ไอเอส" ดังเช่น การจับกุมกลุ่มทนายความชาวสิงคโปร์ผู้สนับสนุนด้านการเงินแก่กลุ่ม "ไอเอส" เมื่อไม่นานที่ผ่านมา

คำกล่าวที่ว่า "การให้ได้มาซึ่งชัยชนะนับว่ายากแล้ว แต่การรักษาไว้ซึ่งชัยชนะนั้น กลับยากยิ่งกว่าหลายเท่าตัวนัก" ดูจะเป็นความจริงสำหรับกลุ่ม "ไอเอส"

เพราะในช่วงแรกๆ ของการกำเนิดกลุ่ม "ไอเอส" พวกเขาสามารถพิชิตชัยได้อย่างรวดเร็ว และน่าทึ่ง แต่การรักษาดินแดนยึดครองเอาไว้นั้น กลายเป็นปัญหาที่หนักหน่วง เนื่องจากกำลังคนที่มีอยู่อย่างจำกัด ตลอดจนเส้นทางการส่งกำลังบำรุงที่ห่างไกล และเปราะบางทำให้ความพ่ายแพ้ปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็ว

กลุ่ม "ไอเอส" สูญเสียเมืองที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญของตนเป็นจำนวนมาก เช่น เมือง “ทิกริต” (Tikrit), เมือง“ซินจาร์” (Sinjar), เมือง“ไบจี” (Baiji) และเมือง"รามาดี" (Ramadi) เป็นต้น

โดยเฉพาะเมือง "ไบจี" ของอิรักที่เป็นฐานสำคัญของกลุ่ม "ไอเอส” เนื่องจากเป็นบ่อน้ำมันที่ทำรายได้ให้อย่างมหาศาล กลุ่ม "ไอเอส" ทุ่มกำลังพลกว่า 1,500 นาย ต่อสู้รักษาเมืองเอาไว้อย่างเหนียวแน่น จากกองทัพอิรักที่มีจำนวนมากกว่าถึง 10เ ท่าคือ 15,000 นาย โดยแบ่งออกเป็นทหารกองทัพอิรัก 5,000 นาย และกองกำลังมุสลิม “ชีอะห์” ที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลอิรักอีกกว่า 10,000 นาย ซึ่งประกอบด้วย กองกำลังติดอาวุธ "คาตา'อิบ เฮซบุลเลาะห์  (Kata'ib Hezbollah) และกำลังพลจากกองพลน้อย "บาดร์"(Badr Brigades) สนับสนุนด้วยเครื่องบินรบแบบ “ทอร์นาโด จีอาร์ 4” (Tornado GR4) ของอังกฤษ ที่เข้าโจมตีทางอากาศด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีแบบ "ไบร์มสโตน” (Brimstone) ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 7 ธันวาคม ค..2015 จนกลุ่ม "ไอเอส" ต้องล่าถอยออกจากเมืองในที่สุด

เวยน์ ไวท์ (Wayne White) นักวิเคราะห์สถานการณ์ด้านอิรัก ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหลายสมัยกล่าวว่า ความสำเร็จในการพิชิตกลุ่ม “ไอเอส” นี้ ส่วนหนึ่งมาจากนักรบของกองกำลังติดอาวุธชาวชีอะห์ ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่ากองทหารอิรักหลายเท่าตัว และที่สำคัญคือ กองกำลังชาวชีอะห์นี้ มีความจงเกลียดจงชังชาวสุหนี่และกลุ่ม "ไอเอส" อย่างมากนั่นเอง

นอกจากนี้ กลุ่มนักรบเคิร์ด "เปชเมอร์กา" (Peshmerga) ยังได้ทำการโจมตีโรงงานผลิต "รถบรรทุกระเบิดพลีชีพ" (Suicide Truck Bomb) ที่ใช้เป็นอาวุธหลักของกลุ่ม "ไอเอส" โดยใช้จรวดนำวิถีต่อสู้รถถังแบบ "มิลาน" (MILAN) ที่ได้รับการสนับสนุนจากเยอรมัน ส่งผลให้การผลิตรถบรรทุกระเบิดพลีชีพต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิง พร้อมๆ กับการทำลายคลังอาวุธ และคลังกระสุนขนาดใหญ่ของกลุ่ม "ไอเอส" นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่า ภายในคลังอาวุธดังกล่าว บรรจุเงินสดนับล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งก็ได้ถูกเผาทำลายลงด้วย

ในช่วงปีที่ผ่านมา การโจมตีทางอากาศทั้งของสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตร รวมทั้งรัสเซียเหนือพื้นที่ยึดครองของกลุ่ม "ไอเอส" เป็นไปอย่างรุนแรง เพื่อพยายามแข่งขันกันในการทำลายเป้าหมาย

ดังเช่น เครื่องบินของรัสเซียที่ปฏิบัติภารกิจถึง 60 เที่ยวบินต่อวัน ในขณะที่ฝ่ายสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตร จะบินเฉลี่ยเพียงวันละ 7 เที่ยวบินต่อวันเท่านั้น จนกระทั่งฝ่ายสหรัฐอเมริกา ต้องปรับความถี่ในการโจมตีเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งทำให้กลุ่ม "ไอเอส" ตกเป็นเป้าหมายอย่างถี่ยิบ

เพียงช่วงครึ่งปีแรกของปี ค..2016 เครื่องบินรัสเซียปฏิบัติการโจมตีกว่า 9,000 ครั้ง ทำให้เมืองต่างๆ เช่น เมือง "รัคก้า" (Raqqa) ซึ่งถือกันว่าเป็นเมืองหลวงของกลุ่ม "ไอเอส" ถูกถล่มแทบจมดิน รัสเซียได้ทำลายอุโมงค์ใต้ดินและคลังเก็บสินค้ายุทโธปกรณ์ของกลุ่ม "ไอเอส" ลงไปเป็นจำนวนมาก แท่นขุดเจาะน้ำมันที่กลุ่ม "ไอเอส" ยึดอยู่ในซีเรีย ถูกเครื่องบินรัสเซียทำลายลงกว่า 200 แห่ง

แม้ว่ากลุ่ม "ไอเอส" จะยังคงควบคุมพื้นที่ชนบทต่างๆ ได้บางส่วน เช่น บริเวณเมือง "ฟัลลูจาฮ์" (Fallujah) ของอิรัก และได้มีการปรับปรุงโรงงาน ให้สามารถผลิตระเบิดแสวงเครื่องและอาวุธอื่นๆ เพื่อทดแทนโรงงานที่ถูกทำลายไป แต่ในระยะเวลาสั้นๆ นี้ก็ไม่อาจจะมีขีดความสามารถเทียบเท่ากับโรงงานที่เมือง "ไบจี" ซึ่งถูกทำลายลง

สถานการณ์ที่เมือง "รามาดี" (Ramadi) ก็ย่ำแย่เช่นกัน เมืองนี้ถูกกลุ่ม "ไอเอส" ยึดไปตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม ค..2015 ด้วยการใช้รถบรรทุกระเบิดพลีชีพ เข้าโจมตีกองกำลังทหารอิรักระลอกแล้วระลอกเล่า ท่ามกลางพายุทรายที่กำลังพัดโหมกระหน่ำเข้าสู่ตัวเมือง จนทำให้กองกำลังอิรักเสียขวัญ และต้องล่าถอยออกจากเมืองในที่สุด กระทั่งในวันที่  13 กรกฎาคม ปีเดียวกัน กองกำลังอิรักพร้อมทั้งกองกำลังติดอาวุธชีอะห์ ได้เปิดยุทธการโจมตีเมือง "รามาดี" อย่างรุนแรง

การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด โดยเฉพาะในวันที่ 26 สิงหาคม กลุ่ม "ไอเอส" ได้โจมตีกองทหารอิรักด้วยระเบิดพลีชีพ ทำให้นายทหารระดับนายพลของกองทัพอิรักเสียชีวิตถึงสองนาย คือ พลตรี อับดุล ราห์มานอาบู-เรกฮีฟ (Maj.Gen Abdul-Rahman Abu-Regheef)  และพลจัตวา ซาฟีน อับดุล-มาจิด (Brig.Gen Safeen Abdul-Majid) ผู้บัญชาการกองพลที่10 (10th Army Division) เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงอุดมการณ์และความเป็นนักรบ "ศักดิ์สิทธิ์" อันแข็งแกร่ง และไม่ยอมแพ้ของกลุ่ม “ไอเอส” ได้เป็นอย่างดี

ในที่สุดวันที่ 25 พฤศจิกายน ค..2015 กองทัพอิรักก็สามารถตัดเส้นทางลำเลียงยุทโธปกรณ์และอาหารเส้นทางสุดท้ายที่เข้าสู่เมือง "รามาดี" ได้ ทำให้ตัวเมืองถูกล้อมอย่างสมบูรณ์ กองทัพอิรักโปรยใบปลิวเพื่อให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์หลบหนีออกจากเมือง ก่อนที่การโจมตีครั้งใหญ่จะเกิดขึ้น และในวันที่ 4 ธันวาคม กองกำลังอิรักก็รุกคืบหน้าเข้าสู่ตัวเมืองทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ เข้าสู่มหาวิทยาลัย "อันบาร์” (AnbarUniversity)

ด้วยการสนับสนุนจากกองทัพอากาศของอังกฤษ ที่ได้โจมตีเป้าหมายภาคพื้นดินด้วยจรวดนำวิถีแบบ "เพพเวย์4” (Paveway IV) จนสามารถทำลายรังปืนกล พลซุ่มยิง และที่มั่นของนักรบ "ไอเอส" ได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในระหว่างการสนับสนุนทางอากาศเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ได้เกิดความผิดพลาด เมื่อการโจมตีทางอากาศสนับสนุนกองพลน้อยที่ 55 (55thArmy Brigade) ของอิรัก เครื่องบินสหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดพลาดเป้าหมาย ทำให้ทหารอิรักเสียชีวิต 9 นาย

ครั้นเดือนกุมภาพันธ์ ค..2016 กองกำลังอิรัก ก็สามารถยึดเมือง "รามาดี" ได้เกือบทั้งหมด ชาวเมืองได้ลุกฮือขึ้น ต่อต้านกองกำลัง "ไอเอส" ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ชาวเมืองนิกายสุหนี่ ได้ทำการเผากองบัญชาการของกลุ่ม "ไอเอส" เนื่องจากโกรธแค้นที่นักรบ "ไอเอส" กระทำทารุณกรรมสุภาพสตรี ดังนั้นเมื่อกลุ่ม  "ไอเอส" ต้องเผชิญทั้งศึกนอกและศึกใน จึงตัดสินใจล่าถอยออกจากตัวเมือง แล้วกลับไปตั้งมั่นที่เมือง "ฟัลลูจาฮ์"

ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของกลุ่ม "ไอเอส" ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงลางหายนะอย่างชัดเจน ที่อาจจะส่งผลถึงการล่มสลายลงของกองกำลังกลุ่ม "ไอเอส" เลยทีเดียว

แต่นักวิชาการตะวันตกหลายคน เช่น ไบรอัน เจนกินส์ (Brian Jenkins) และโคลิน คลาร์ก  (Colin Clarke) ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายของแคนาดา ได้ออกมาเตือนชาวโลกว่า เรายังไม่ควรสร้าง "ภาพลวงตา" ที่แสดงถึงความพ่ายแพ้ของกลุ่ม "ไอเอส" ในเวลานี้ เพราะกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าว มีรากฐานขององค์กรที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะถูกโค่นลงอย่างง่ายดาย

ในทางตรงข้าม ไบรอัน เจนกินส์ แนะนำว่าสิ่งที่น่าจับตามองคือ การปรับแผนของกลุ่ม "ไอเอส" หรือที่เรียกกันว่า "แผนบี" (Plan B) เพื่อให้กลุ่มยังคงสถานะอันน่าเกรงขามและความน่าสะพรึงกลัวในสายตาประชาคมโลกต่อไป แม้จะยังไม่มีใครทราบแน่นอนว่า แผนนี้มีเป้าหมายอย่างไร

แต่ก็พอคาดการณ์ได้ว่า กลุ่ม "ไอเอส" คงจะเริ่มโหมกระหน่ำการก่อการร้ายทั่วทุกมุมโลกอีกครั้ง โดยใช้การสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ และเครือข่ายที่กระจายอยู่ในหลายประเทศ โคลิน คลาร์ก วิเคราะห์ถึงเป้าหมายของ "แผนบี" ว่าอาจมุ่งสร้าง "การปะทะกันของอารยธรรม" (Clash of Civilization) หรือ "สงครามครูเสด" ครั้งใหม่ ซึ่งปัจจุบันเริ่มส่อเค้าให้เห็นขึ้นบ้างแล้ว เช่น การโจมตีมัสยิดในประเทศแคนาดา หรือ การกำหนดนโยบายต่อต้านผู้คนจากตะวันออกกลางของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ส่วน โคลิน คลาร์ก ถึงกับกล่าวว่า  ".. ณ เวลานี้เรายังไม่ถึงจุดที่ใกล้เคียงกับความพ่ายแพ้ของกลุ่มไอเอสเลย ..”

โลกคงต้องจับตามองกันต่อไปว่า ในสถานการณ์ที่ "จนตรอก" และบนย่างก้าวที่ "อับจน" ของกลุ่ม "ไอเอส" จะทำให้เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญชาวโลกขึ้นมาอีกหรือไม่ เพราะในห้วงเวลานี้ กลุ่ม "ไอเอส" พร้อมที่จะแลกทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะของพวกเขาอีกครั้ง ดังที่ ออสติน ลอง สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า กลุ่ม "ไอเอส" จะไม่มีวันยอมแพ้ในสงครามครั้งนี้อย่างแน่นอน




Create Date : 29 มีนาคม 2560
Last Update : 26 เมษายน 2560 7:45:50 น. 0 comments
Counter : 1501 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.