เหรียญมีสองด้าน แล้วแต่คุณจะเลือกมองด้านไหน
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
19 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
ภาษีในระบบเศรษฐกิจ

ภาษีในระบบเศรษฐกิจ

หากพิจารณาองค์ประกอบของระบบเศรษฐกิจ นอกเหนือจากภาครัฐแล้ว สามารถแบ่งกลุ่มทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆได้แก่ ภาคครัวเรือน ผู้เป็นทั้งผู้บริโภคและเจ้าของปัจจัยการผลิต ภาคธุรกิจที่ใช้ปัจจัยการผลิตเพื่อผลิตสินค้าและบริการออกสู่ตลาด และตลาดเงิน ซึ่งเป็นตลาดที่สนองตอบผู้ที่ต้องการเงินลงทุนและผู้ที่ต้องการออมเงินที่เหลือจากการใช้จ่าย จากแผนภาพ แสดงการหมุนเวียนของรายได้และรายจ่ายในระบบเศรษฐกิจอย่างง่าย ซึ่งจากแผนภาพ การหมุนเวียนของกระแสเงินจะหมุนเวียนตามเข็มนาฬิกา ขณะที่กระแสของสินค้าและบริการ หรือที่เรียกว่า Real Flow จะหมุนเวียนในทิศทางย้อนเข็มนาฬิกา ทั้งนี้ ในแผนภาพจะแสดงเพียงกระแสรายได้และรายจ่ายในระบบเศรษฐกิจเพื่อการวิเคราะห์ภาษีเท่านั้น



จากแผนภาพ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบปิด รายได้ (1) ที่ครัวเรือนได้รับ จะถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภค (3) และส่วนที่เหลือจะถูกนำไปออม (2) ในตลาดเงิน เงินที่ผู้บริโภคใช้จ่ายจะเข้าสู่ตลาดสินค้า กลายเป็นรายรับของธุรกิจ (6) ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าและบริการ ขณะที่เงินออมของครัวเรือนจะเข้าสู่ตลาดเงิน ผ่านไปเป็นเงินกู้ยืมกลายเป็นเงินลงทุน (4) แก่ผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าในส่วนสินค้าทุน สินค้าดังกล่าวจะถูกขายในตลาด กลายเป็นรายได้ของธุรกิจ (5) เช่นเดียวกับสินค้าอุปโภคบริโภค รายได้ของธุรกิจจากทั้งสองส่วน (7) จะถูกนำไปใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ (8) รายจ่ายดังกล่าว ส่วนหนึ่งจะถูกกันไว้เป็นค่าเสื่อม (9) ส่วนที่เหลือจึงนำไปใช้จ่ายแก่แรงงานในรูปของเงินเดือน (11) และเจ้าของทุนในรูปของกำไร (12) รายจ่ายดังกล่าวนี้เอง ที่เป็นรายได้ของเจ้าของปัจจัยการผลิต คือค่าจ้างแรงงาน (13) และผลตอบแทนของทุน (14) อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนบางส่วน ถูกกันไว้เป็นกำไรสะสมของธุรกิจ (15) เพื่อสำรองไว้ใช้จ่ายในอนาคต จากกำไรสะสมในส่วนนี้และเงินกันค่าเสื่อมจะถูกออมไว้เป็นเงินออมของภาคธุรกิจ (16) กลับเข้าสู่ตลาดเงินรวมกับเงินออมของครัวเรือน (2) ต่อไป

จากระบบเศรษฐกิจดังกล่าว หากเทียบกับการจัดเก็บภาษีตามโครงสร้างของประเทศไทยจะพบว่า ภาษีจะถูกจัดเก็บตั้งแต่รายได้ของครัวเรือน (1) เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อผู้บริโภคมีการใช้จ่าย (3) ก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อผู้บริโภคนำเงินส่วนที่เหลือจากการใช้จ่ายไปออม (2) ก็จะต้องเสียภาษีเงินได้จากดอกเบี้ย และเงินออมส่วนนี้จะผ่านตลาดเงินไปสู่ผู้กู้ที่มีความต้องการที่จะลงทุน (5) ซึ่งการลงทุนดังกล่าวนี้ จะเป็นการลงทุนในตลาดสินค้าทุนเป็นสำคัญ และการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนดังกล่าว จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน อย่างไรก็ดี หากการใช้จ่ายนี้เป็นการใช้จ่ายเพื่อการผลิต ผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิหักคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายเพื่อการลงทุนดังกล่าวได้ การใช้จ่ายจากทั้งตลาดสินค้าผู้บริโภคและตลาดสินค้าทุน จะกลายมาเป็นรายได้ของธุรกิจ (7) ซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภายหลังจากที่หักภาษีเงินได้จากรายได้แล้ว ธุรกิจจะทำกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าเสื่อม (9) จากนั้นจึงใช้จ่ายให้แก่แรงงาน (11) และผู้ถือหุ้น (12) ต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับเงินได้ทั้งสองส่วนจำเป็นต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อธุรกิจใช้จ่ายเพื่อการผลิตแล้ว เงินส่วนที่เหลือจะถูกออมไว้เป็นกำไรสะสม (15) เป็นเงินออมร่วมกับการกันค่าเสื่อม และเข้าสู่ตลาดเงิน (16) ต่อไป และรายได้จากเงินออมดังกล่าว จะต้องเสียภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาเช่นกัน

หากเป็นกรณีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดแล้ว ระบบภาษีด้านการค้าและการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศ โครงสร้างภาษีจะมีความต่างออกไปจากโครงสร้างภาษีภายในประเทศ เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บภาษีจากการค้าขายสินค้าและบริการ เช่น อากรขาเข้า และอากรขาออก สำหรับรายได้จากการขายสินค้าและบริการจะต้องเสียภาษีเงินได้เช่นเดียวกับธุรกิจภายในประเทศ ขณะที่การเคลื่อนย้ายเงินทุนจะมีลักษณะเดียวกันกับผู้มีเงินได้จากเงินทุนหรือการออมภายในประเทศ

แม้การจัดเก็บภาษีจะช่วยให้รัฐบาลมีรายได้เพื่อการใช้จ่ายตามแนวนโยบายที่วางไว้ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาษีมีหน้าที่มากกว่าการเพิ่มรายได้ให้รัฐบาล โดยภาษีบางอย่างสามารถใช้ควบคุมพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของประชาชนได้ เช่นภาษีบาป และภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ขณะที่ภาษีบางอย่างสามารถใช้ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้ เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ภาษีบาป (Sin Tax) เป็นภาษีที่จัดเก็บอยู่บนสินค้าและบริการที่นำมาซึ่งอบายมุข เช่น สุรา เบียร์ และยาสูบ เป็นต้น ซึ่งการบริโภคสินค้าดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการมอมเมาของคนในสังคม อันอาจจะทำให้รัฐบาลต้องมีภาระและต้นทุนในการจัดการดูแลความสงบสุขเรียบร้อยของสังคมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ภาษีนี้จะช่วยให้ต้นทุนการบริโภคสินค้าดังกล่าวสูงขึ้น อันจะช่วยให้ความต้องการในการบริโภคสินค้าดังกล่าวของประชาชนลดน้อยลง

ภาษีสิ่งแวดล้อม (Environmental Tax) ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นภาษีที่จัดเก็บอยู่บนการก่อให้เกิดมลภาวะของสินค้านั้นๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ในประเทศไทย ตัวอย่างภาษีสิ่งแวดล้อมยังไม่ชัดเจนนัก แม้จะมีการจัดเก็บภาษีจากสินค้าน้ำมันก็ตาม เนื่องจากวัตถุประสงค์แรกเริ่ม เป็นการลดความต้องการในการบริโภคสินค้าน้ำมัน เพราะประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าน้ำมันเป็นจำนวนมาก ทั้งเพื่อการผลิต และเพื่อการบริโภค

ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย (Luxury Tax) ภาษีนี้ในทางทฤษฎีเป็นภาษีที่มีความเป็นไปได้ในการจัดเก็บน้อยมาก เนื่องจากตามทฤษฎีภาษีที่เหมาะสม (Optimal Tax Theory) แล้ว การจัดเก็บภาษีสินค้าเพื่อเพิ่มรายได้ที่ดีนั้น ควรจัดเก็บบนสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่ำหรือสินค้าจำเป็น หากมีการจัดเก็บภาษีบนสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งโดยปกติเป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นสูงแล้ว ผู้บริโภคจะหันไปบริโภคสินค้าชนิดอื่นแทน


Create Date : 19 ธันวาคม 2550
Last Update : 19 ธันวาคม 2550 23:13:29 น. 0 comments
Counter : 10564 Pageviews.

TheShadow
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ข่าวเศรษฐกิจไทย
ข่าวต่างประเทศ


ข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศ
ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ
ค้นคว้าข้อมูลทั่วไป
แหล่งเชื่อมโยงอื่นๆที่น่าสนใจ
Friends' blogs
[Add TheShadow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.