เหรียญมีสองด้าน แล้วแต่คุณจะเลือกมองด้านไหน
Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
17 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
ปัญหาซับไพร์มในสหรัฐ

ภายใต้โลกยุคโลกาภิวัตน์ โลกของตลาดเงินเป็นโลกไร้พรมแดน ไม่มีรัฐ ไม่มีสัญชาติ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ณ ที่ใดแห่งหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภายหลังจากการแตกของฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ ปัญหาก็ได้ลุกลามไปในตลาดเงินของสหรัฐและภูมิภาคอื่นทั่วโลก ทำให้กองทุนขนาดใหญ่ทั้งในสหรัฐและยุโรปต้องปิดตัวลง และอีกหลายกองทุนในแต่ละภูมิภาคของโลกได้รับผลกระทบไปตามๆกัน อีกทั้งยังไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายเป็นตัวเงินที่แท้จริงได้ เพราะการนำเอาสินเชื่อคุณภาพต่ำ (Sub-prime) มาเป็นหลักประกันในการออกอนุพันธ์ทางการเงินนั้น มีความสลับซับซ้อน จนยังไม่สามารถประเมินค่าที่หลงเหลืออยู่ของกองทุนได้

การเงินระหว่างประเทศ

ระบบการเงินของโลกได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา จากวิวัฒนาการที่เป็นผลมาจากการเปิดเสรีภาคการเงินตามกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งนักวิเคราะห์ของ Morgan Stanley ได้ประเมินว่า ปัจจุบันมูลค่าของอนุพันธ์ทางการเงินนั้นเพิ่มขึ้นจาก 5.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2533 มาเป็น 415.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปลายปี 2549 หรืออีกนัยหนึ่งคือมูลค่าของอนุพันธ์ทางการเงินนั้นเพิ่มจากร้อยละ 26 ของ GDP ของโลกมาเป็นร้อยละ 780 ของ GDP ของโลก ในช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเงินในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

อนุพันธ์การเงินในปัจจุบัน มีวิวัฒนาการและความหลากหลายเพิ่มขึ้นมาก แต่ก็ยังคงลักษณะเฉพาะไว้ คือการอาศัยสินทรัพย์ประเภทต่างๆ มาเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้อนุพันธ์ดังกล่าวมีรูปแบบของความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป ตามความต้องการของผู้ลงทุนที่สามารถแบกรับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน รวมถึงการกระจายความเสี่ยงของผู้ลงทุน อันเป็นประโยชน์ต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม เนื่องจากผลกระทบใดๆที่เกิดขึ้นจะไม่เกิดกับผู้ลงทุนรายใดรายหนึ่ง แต่จะกระจายออกไปยังผู้ลงทุนรายอื่นในปริมาณที่ลดลง

ตัวอย่างเช่น เมื่อธนาคารปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ ธนาคารสามารถผลักภาระความเสี่ยงออกไปได้โดยการนำสินเชื่อเหล่านี้แปลงเป็นทุน (Securitization) โดยการว่าจ้างให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน สร้างอนุพันธ์ประเภทต่างๆ โดยอาศัยสินทรัพย์ดังกล่าว (การชำระค่างวดสินเชื่อของลูกหนี้) เป็นหลักประกันมูลค่าของอนุพันธ์ ทั้งนี้อนุพันธ์การเงินประเภทต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นมา อาจมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเมื่อนำไปขายเป็นหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนต่างๆ จะให้ผลตอบแทนแตกต่างกันออกไปตามความเสี่ยงของอนุพันธ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับมูลค่าและความเสี่ยงของสินทรัพย์นั้นๆ

เมื่ออนุพันธ์กระจายสู่ระบบการเงินอย่างแพร่หลาย และมีมูลค่าสูงเกือบ 8 เท่าของ GDP ของโลกแล้ว ความเสี่ยงดังกล่าวมีมากน้อยแค่ไหน เพราะจากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่าอนุพันธ์ทางการเงินมีมูลค่าคิดเป็นหลายเท่าของสินทรัพย์ที่มีอยู่จริงในโลก นั่นหมายความถึงมูลค่าที่แท้จริงของอนุพันธ์ทางการเงินดังกล่าวย่อมมีน้อยกว่าที่ออกอนุพันธ์ในครั้งแรก ความยิ่งใหญ่เกินไปย่อมเป็นที่หวาดกลัวของผู้คน และ ณ วันนี้ ปัญหาที่หลายคนหวดกลัวอยู่เริ่ม ก็ได้เริ่มแสดงอาการออกมา โดยเฉพาะปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Sub-prime Loan) ของสหรัฐ ร้อนถึงธนาคารกลางทั่วโลก ผู้ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลระบบการเงินของแต่ละประเทศต้องออกมาดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

อะไรคือสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือซับไพร์ม

สินเชื่อการกู้เงินยืมเงินรวมถึงการผ่อนชำระค่าสินค้าโดยทั่วไป จำเป็นต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้ให้กู้ว่า แม้ลูกหนี้จะผิดนัดชำระเงิน ผู้ให้กู้ยังสามารถนำสินทรัพย์ค้ำประกันไปขายทอดตลาดเพื่อชดเชยกับรายได้ที่หายไป หรือในกรณีของการผ่อนชำระสินค้า สินทรัพย์ก็คือสินค้านั้นๆที่ผู้ซื้อได้ซื้อไป ผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ที่ผ่อนชำระสินค้าก็ดี นับเป็นสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต จึงมีผู้ลงทุนสนใจในตัวสินทรัพย์ดังกล่าว กอปรกับผู้ให้กู้บางรายมีความจำเป็นทางการเงิน ความต้องการทั้งสองจึงก่อให้เกิดอนุพันธ์การเงินแบบใหม่ขึ้นมา

ตัวอย่าง บริษัทลิสซิ่งแห่งหนึ่ง ต้องการเงินทุนมาขยายสินเชื่อตนเอง เพื่อขยายฐานลูกค้าสินเชื่อ แม้บริษัทต้องการที่จะกู้ยิมเงินจากธนาคารเพิ่ม ก็ติดปัญหาที่วงเงินสูงสุดที่ได้รับอนุมัติแล้ว และหากจะรอเงินค่างวดจากลูกหนี้ ที่จะค่อยๆทยอยจ่ายต่อไปในอีกหลายเดือนข้างหน้า ก็อาจจะเสียโอกาสในการขยายสินเชื่อของตนได้ ขณะนี้ สินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่และพอจะเป็นความต้องการของผู้ลงทุนได้ คือลูกค้าสินเชื่อของตนเอง โดยบริษัทสามารถขายลูกค้าสินเชื่อให้กับนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) ซึ่งผลประโยชน์ตอบแทนของสินทรัพย์ดังกล่าวคือ เงินค่างวดที่ลูกค้าสินเชื่อต้องจ่ายในทุกๆงวด เมื่อขายสินทรัพย์ดังกล่าวแล้ว บริษัทจะได้เงินสดเพื่อนำไปขยายสินเชื่อตนเองเพิ่มได้อีก พร้อมทั้งยังสามารถโอนความเสี่ยงของลูกค้าสินเชื่อออกไปได้อีกด้วย ขณะที่ SPV จะเป็นผู้ทำหน้าที่ออกตราสารมาขายให้ผู้ที่ต้องการลงทุนอีกทอดหนึ่ง โดยมีเงินค่างวดที่ลูกค้าสินเชื่อจะทยอยนำมาชำระในอนาคต มาหนุนหลังตราสาร โดยที่ความเสี่ยงของตราสารดังกล่าวนี้ จะขึ้นอยู่กับกระแสรายได้หรือเงินสดที่จะได้ในอนาคต หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความเสี่ยงจะอยู่ที่ลูกค้าสินเชื่อนั่นเอง

แล้วสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือซับไพร์ม (Sub-prime Loan) คืออะไร ในประเทศสหรัฐ มีการให้ความสำคัญกับเรื่องความน่าเชื่อถือ (Credit) ของผู้ขอสินเชื่อค่อนข้างมาก จึงมีการแบ่งระดับของความน่าเชื่อถือเป็น Prime และ Sub-prime Rate ซึ่งซับไพร์มจะมีความน่าเชื่อถือต่ำกว่าไพร์ม ทำให้มีเงื่อนไขที่มากกว่าไพร์ม เช่น ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า หรือมีเงื่อนไขในการผ่อนชำระที่เข้มงวดมากกว่า ทั้งนี้เพราะสินเชื่อแบบซับไพร์มมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นหนี้สูญ (NPL)

ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซับไพร์ม คือ การปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน หรือลูกหนี้ที่มีประวัติการจ่ายคือหนี้ที่ไม่ดี ในปัจจุบันมีการประเมินว่า ตลาดเงินของสหรัฐ มีการให้สินเชื่อประเภทนี้ประมาณ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของสหรัฐซึ่งมีมูลค่า 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว คิดเป็นร้อยละ 0.6 หรือคิดเป็นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับการให้สินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด

ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ ได้มีการสร้างอนุพันธ์ทางการเงินในลักษณะที่กล่าวกล่าวไปตอนต้นเช่นกัน โดยเฉพาะในตลาดซับไพร์ม กล่าวคือ ผู้ให้กู้ได้ใช้สินทรัพย์ของลูกหนี้ด้อยคุณภาพเป็นสินทรัพย์หนุนหลังเพื่อขายให้แก่ SPV หลังจากนั้น SPV จะออกอนุพันธ์ที่มีสินทรัพย์ซับไพร์มหนุนหลัง เช่น CDO (Collateralized Debt Obligation) และเสนอขายให้กับนักลงทุน โดยผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงตามการจ่ายค่างวดหรือดอกเบี้ยของลูกหนี้ พร้อมกับความเสี่ยงที่สูงตาม อย่างไรก็ดี นักลงทุนกลุ่มนี้ อาจจะทำการโอนความเสี่ยงออกไปอีกทีนึง โดยการออกอนุพันธ์ประเภท CDS (Credit Default SWAP) เพื่อเสนอขายความเสี่ยงให้กับกองทุนประกันความเสี่ยง (Hedge Funds) หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูง (High Risk Fixed-Income Fund) จะเห็นได้ว่า ความเสี่ยงดังกล่าวได้ถูกนำมาซื้อขายกันแล้ว โดยความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับการจ่ายเงินค่างวดหรือดอกเบี้ยของลูกหนี้นั้นๆ กล่าวคือ หากรายได้ในอนาคตเป็นไปตามที่ผู้ลงทุนคาดการณ์ไว้ในตอนแรก ผู้ลงทุนก็จะได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูงมาก ในทางตรงข้าม หากลูกหนี้ประสบภาวะที่ไม่สามารถชำระคืนเงินได้ ผู้ลงทุนดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เหตุการณ์ซับไพร์ม

ย้อนกลับไปเมื่อคราวปัญหาฟองสบู่ภาคอินเทอร์เน็ตแตก กอปรกับผลกระทบต่อความมั่นใจ จากการที่สหรัฐถูกก่อการร้าย เมื่อ 11 กันยายน 2544 (เหตุการณ์ 911) ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐในขณะนั้น ได้ปรับลดดอกเบี้ยลงมาอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 6 เหลือเพียงประมาณร้อยละ 1 ในปี 2547 ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ นำโดยการปรับเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์



จากการแก้วิกฤตการณ์ในครั้งนั้น เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า สามารถแก้ปัญหาฟองสบู่อินเตอร์เน็ตแตกได้ โดยการสร้างฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์มาแทนที่ โดยราคาบ้านในสหรัฐปรับเพิ่มขึ้นปีละร้อยละ 15 และเมื่อราคาสินทรัพย์หลักของครัวเรือนสหรัฐได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้แต่ละครัวเรือนสามารถกู้ยืมเงินเพื่อการบริโภคได้อย่างต่อเนื่อง ธุรกิจต่างๆ มีผลกำไรและรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งเป็นการสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจโลกจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐอีกด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง นโยบายดอกเบี้ยต่ำของสหรัฐทำให้เศรษฐกิจสหรัฐและโลกถูกขับเคลื่อนด้วยการบริโภคของสหรัฐนั่นเอง



ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐโดยเฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้อนุพันธ์การเงินพลอยเติบโตสูงตามไปด้วย ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมหลักทรัพย์ และตลาดการเงิน (Security Industry and Finance Market Association) พบว่ามูลค่าของเงินลงทุนในตราสารหนี้ประเภท CDO ในช่วง ปี 2547-2549 เพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าตัวจากระดับ 157,000 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2547 เป็น 249,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2548 และเป็น 489,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2549

ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงในปี 2550 กอปรกับการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมติดต่อกัน 17 ครั้งจากประมาณร้อยละ 1 เมื่อกลางปี 2547 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.25 ในกลางปี 2549 เป็นผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดเงินได้ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้สินเชื่อการจำนองบ้านที่ด้อยคุณภาพหรือซับไพร์ม เกิดปัญหาที่ลูกค้าไม่สามารถชำระเงินค่าจำนองบ้านได้ตามกำหนด จึงก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสียและหนี้คงค้าง

ความเสียหายทางการเงินที่เกิดจากสินเชื่อด้อยคุณภาพ ทำให้มูลค่าของอนุพันธ์ทางการเงินลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ลงทุนประสบกับปัญหาการขาดทุน และมีการไถ่ถอนการลงทุนดังกล่าวมากขึ้นตามลำดับ ดังปรากฏเป็นข่าวการปิดกองทุนขนาดใหญ่หลายแห่ง เนื่องจากภาวะการขาดทุน ขณะที่การไถ่ถอนการลงทุนใน CDO เพื่อการหาเงินสดมาคืนให้แก่ผู้ลงทุน ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอนุพันธ์ทางการเงินประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะอนุพันธ์ที่มีสภาพคล่องสูงคือหุ้น ดังที่ปรากฏการณ์การเทขายหุ้นในตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ถึงกลางเดือนสิงหาคม 2550 และการถอนเงินลงทุนกลับไปยังบริษัทแม่ในสหรัฐ ทำให้เกิดการขาดแคลนสภาพคล่องในตลาดเงินขึ้น เนื่องจากมีการขายหุ้นในสกุลเงินท้องถิ่นและซื้อเป็นเงินสกุลดอลลาร์ ช่วงเวลาดังกล่าวค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจึงแข็งค่าขึ้น

การเทขายหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐส่งผลให้ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของสหรัฐปรับตัวลดลง 387.18 จุด หรือร้อยละ 2.83 ปิดที่ระดับ 13,270.68 เมื่อวัน 9 สิงหาคม 2550 และได้ส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อนักลงทุนทั่วโลกในวันถัดมา

วันที่ 10 สิงหาคม 2550 ตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียได้ปรับตัวลดลงในทุกตลาด โดยดัชนีหุ้นนิกเคอิในตลาดโตเกียวปรับตัวลดลงร้อยละ 2.37 ปิดที่ระดับ 16,764.09 ส่วนดัชนีหุ้นคอมโพสิตของเกาหลีใต้ ลดลงร้อยละ 4.2 ปิดที่ระดับ 1,828.49 ดัชนีหุ้นสเตรตส์ ไทมส์ ของสิงคโปร์ ลดลงร้อยละ 3.17 ปิดที่ระดับ 3,304.86 ส่วนที่ออสเตรเลีย ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมากสุดนับจากเหตุการณ์ก่อการร้ายในสหรัฐเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 โดยดัชนีหุ้นออล ออร์ดินารีส์ ร้อยละ 3.7 ปิดที่ระดับ 5,924

ขณะที่ดัชนีหุ้นหั่งเส็งในตลาดฮ่องกงลดลงร้อยละ 2.88 ปิดที่ระดับ 21,792.71 ดัชนีหุ้นซีเอสไอ 300 ซึ่งติดตามหุ้นในตลาดเซี่ยงไฮ้และเสิ่นเจิ้นของจีน ลดลงร้อยละ 1.06 ปิดที่ระดับ 4,726.68 โดยดัชนีหุ้นเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต ลดลงร้อยละ 0.1 ปิดที่ระดับ 4,749.37 ขณะดัชนีหุ้นเสิ่นเจิ้น คอมโพสิต ลดลงร้อยละ 2.17 ปิดที่ 1,319.55 ส่วนดัชนีหุ้นไทเอ็กซ์ของไต้หวัน ลดลงร้อยละ 2.74 ปิดที่ 8,931.31

ด้านตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ดัชนีหุ้นคอมโพสิตลดลงร้อยละ 3.05 ปิดที่ 3,281.96 ขณะที่ดัชนีหุ้นจาการ์ตา คอมโพสิต ของอินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 2.71 ปิดที่ 2,180.57 ส่วนดัชนีหุ้นกัวลาลัมเปอร์ คอมโพสิต ของมาเลเซีย ลดลงร้อยละ 2.19 ปิดที่ 1,284.59 และดัชนีหุ้นไทยปิด 804.86 จุด ลดลงเพียง 6.99 จุด หรือร้อยละ 0.86 หลังจากเปิดตลาดช่วงเช้าลดลงไปกว่า 21 จุด

ด้านตลาดหุ้นยุโรปได้ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยดัชนีเอฟทีเอสอียูโรเฟิสต์ 300 สำหรับหุ้นชั้นนำของยุโรปปิดตลาดปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 มาอยู่ที่ระดับ 1,498.00 หลังจากปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 2 ทันทีหลังเปิดตลาด ดัชนีเอฟทีเอสอี 100 ของอังกฤษ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 ส่วนดัชนีแด็กซ์ของตลาดหุ้นเยอรมนี ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.9 และดัชนีซีเอซี 40 ของฝรั่งเศส ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7

จะเห็นได้ว่าปัญหาซับไพร์มที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงในตลาดสินเชื่อด้อยคุณภาพเท่านั้น หากแต่ส่งผลกระทบยังสินเชื่อที่มีคุณภาพด้วย จากวิวัฒนาการทางการเงินที่เกิดขึ้น ซับไพร์มดังกล่าวได้ถูกนำไปแปรสภาพในรูปของการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (Securitization) ในการหนุนหลังการออกตราสารเพื่อขายให้แก่นักลงทุนหรือกองทุนทั่วโลก เช่น กองทุนทั้ง 3 ของบีเอ็นพี พาริบาส์ วาณิชธนกิจชั้นนำของฝรั่งเศส อันประกอบด้วย พาร์เวสต์ ไดนามิค เอบีเอส (Parvest Dynamic ABS) บีเอ็นพี พาริบาส์ เอบีเอส ยูริเบอร์ (BNP Paribas ABS Euribor) และบีเอ็นพี พาริบาส์ เอบีเอส อีโอเนีย (BNP Paribas ABS Eonia) ซึ่งยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ จนถึงขั้นประกาศปิด 3 กองทุนชั่วคราว เนื่องจากบริษัทไม่สามารถคำนวณมูลค่าของกองทุนได้ และห้ามนักลงทุนไถ่ถอนหน่วยลงทุน ขณะที่การประเมินมูลค่าของกองทุนดังกล่าวจะเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อมีสภาพคล่องกลับคืนมา นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายกองทุนทั่วโลก ที่ลงทุนอนุพันธ์ประเภทนี้ ขณะที่ประเทศไทยเอง มีสถาบันการเงิน 4 แห่งที่ลงทุนใน CDO มูลค่า 715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งแม้จะเป็นตราสารหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือ แต่หากประสบปัญหาสภาพคล่องแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อกองทุนของสถาบันการเงินดังกล่าวได้

การรับมือของธนาคารกลางทั่วโลก

หลังจากปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพได้ลุกลามไปยังตลาดอนุพันธ์อื่นๆ ในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ส่งผลให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศได้เข้ารับมือกับปัญหาที่กำลังลุกลามดังกล่าว

วันที่ 9 สิงหาคม 2550 ธนาคารกลางสหรัฐ ได้ดำเนินการอัดฉีดเงินจำนวน 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ระบบการเงินของตน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ระบบการเงิน ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปได้อัดฉีดเงินสดเกือบ 95,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 130,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าสู่ระบบการเงินของตนเช่นกัน นับเป็นการอัดฉีดเงินครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรป ก่อนจะอัดฉีดเงินเพิ่มอีก 61,000 ล้านยูโร ในวันถัดมาอีกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบการเงินอยู่ในภาวะชะงักงัน หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปยุติการจัดหาเงินทุนระยะสั้นให้ระหว่างกัน ด้านธนาคารกลางแคนาดาได้อัดฉีดเงินจำนวน 1,640 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือ 1,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมออกแถลงการณ์เพื่อเพิ่มความมั่นใจกับนักลงทุน ว่าจะช่วยจัดหาสภาพคล่องเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงิน รวมทั้งยืนยันว่าจะจับตามองตลาดอย่างใกล้ชิด และจะเข้าแก้ไขในทันที หากเกิดปัญหาขึ้น

วันที่ 10 สิงหาคม ธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางออสเตรเลีย ได้อัดฉีดเงินสดเข้าสู่ระบบธนาคาร เพื่อบรรเทาความวิตกในตลาดการเงินอันเป็นผลมาจากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐโดยธนาคารกลางญี่ปุ่นได้อัดฉัดเงินเข้าสู่ระบบ 1 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 8,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะมองว่า ปัญหาซับไพร์มจะมีผลกระทบต่อตลาดเงินของญี่ปุ่นในวงจำกัดก็ตาม ด้านธนาคารกลางออสเตรเลียได้อัดฉีดเงินสู่ระบบธนาคารจำนวน 4,950 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ 4,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ต่างระบุว่า พร้อมที่จะเข้าแทรกแซงตลาดหากเกิดความจำเป็นขึ้นมา ด้านทางการสิงคโปร์ก็เตรียมพร้อมสำหรับการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ แม้จะเห็นว่าตลาดเงินสิงคโปร์ค่อนข้างมีเสถียรภาพก็ตาม ด้านธนาคารฮ่องกงระบุว่ายังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบธนาคาร โดยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของฮ่องกงยังคงมีเสถียรภาพ และระบบการเงินสามารถรับมือกับความผันผวนได้ แต่ก็ยังคงคอยจับตาสถานการณ์อยู่

ในประเทศไทยเอง มีธนาคารพาณิชย์ที่ไปลงทุนในตราสารต่างประเทศที่มีสินทรัพย์อ้างอิง (CDO) จำนวน 4 แห่ง รวมมูลค่า 715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.6 ของสินทรัพย์รวมของ 4 ธนาคาร เฉพาะ CDO ที่มีสินเชื่อซับไพร์มรองรับมีเพียงร้อยละ 0.1 ของสินทรัพย์รวมของ 4 ธนาคารเท่านั้น ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมากล่าวให้ความเชื่อมั่นต่อตลาดว่า หากเกิดปัญหาลุกลามขึ้นมายังประเทศไทย ก็มีผลกระทบอยู่ในวงจำกัด

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ดังที่เคยได้กล่าวไปแล้ว เศรษฐกิจแต่ละประเทศมีการเชื่อมโยงกันอยู่ 2 ทาง คือ ภาคการค้าและภาคการเงิน

ในภาคการค้า ประเทศสหรัฐถือเป็นผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่ของไทย โดยในปี 2549 สหรัฐมีสัดส่วนในการนำเข้าสินค้าของไทยถึงร้อยละ 15.32 หรือประมาณ 16,996.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ภาคบริการนั้น ในปี 2549 นักท่องเที่ยวจากสหรัฐที่มาเที่ยวเมืองไทยมีจำนวน 694,258 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.2 ของนักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากตลาดซับไพร์มของสหรัฐ จะส่งผลให้ความมั่งคั่งของครัวเรือนในสหรัฐลดลง ผลกระทบที่ตามมาจะเกิดขึ้นกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคของคนอเมริกัน (Wealth Effect) รวมถึงการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องหาทางรองรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากในปัจจุบัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยพึ่งพิงการส่งออกอย่างมาก แนวทางที่เป็นไปได้คือ การหาตลาดรองรับใหม่ๆ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากผลกระทบอันเกิดจากการพึ่งพิงประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป

ขณะที่ภาคการเงินนั้น ส่วนที่ได้รับผลกระทบเป็นส่วนแรกคือตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นตลาดที่นับได้ว่ามีสภาพคล่องมากที่สุดในบรรดาตราสารทางการเงินทั้งหมด จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า ในเดือนสิงหาคม 2550 ซึ่งเป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มของสหรัฐ นักลงทุนต่างประเทศทำการขายหุ้นไทยสุทธิ 35,301.28 ล้านบาท สูงกว่าเดือนธันวาคม 2549 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ซึ่งในเดือนดังกล่าว นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ 31,909.64 ล้านบาท

ด้านตราสารหนี้ของประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากตลาดพันธบัตรของสหรัฐ ที่ผลตอบแทนพัธบัตรสหรัฐได้ปรับตัวลดลง โดยผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ได้ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดที่ร้อยละ 5.29 ในเดือนมิถุนายน 2550 เป็นร้อยละ 4.68 ในเดือนสิงหาคม อันเนื่องมาจากความผันผวนในตลาดเงิน ส่งผลให้นักลงทุนย้ายการลงทุนมายังพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า การปรับตัวลดลงของผลตอบแทนดังกล่าว ส่งผลให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ไทยปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยในเดือนสิงหาคม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลวัดจากดัชนีผลตอบแทนสุทธิของพันธบัตรรัฐบาลในเดือนสิงหาคม ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.19 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม

ด้านกองทุนต่างๆในตลาดการเงินของไทย ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะกองทุนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย เช่น กองทุน LTF ในเดือนสิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา มีเงินลงทุนรวม 34,716.43 ล้านบาท ลดลงประมาณ 746.46 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.10 จากเงินลงทุนรวม 35,462.90 ล้านบาทในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มูลค่าเงินลงทุนที่ลดลงดังกล่าว มีสาเหตุหลักมาจากการปรับตัวลดลงในตลาดหลักทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็นสำคัญ

ความผันผวนในตลาดเงินโลกจะยังคงดำเนินต่อไป และจะพัฒนาไปตามวิวัฒนาการทางการเงิน การเตรียมพร้อมรับความผันผวนดังกล่าว เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไทยจำเป็นที่ต้องพัฒนาประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศของตนเองให้มีความแข้มแข็ง และมีเสถียรภาพมากขึ้น อันได้แก่ การกระจายความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ ไม่ให้มีการพึ่งพิงการนำเข้าหรือส่งออกจากประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป หรือการพัฒนาโครงสร้างการออมของไทย ให้รู้จักวิธีใช้การบริหารความเสี่ยงมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดภาวะการพึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศ เป็นต้น


Create Date : 17 กันยายน 2550
Last Update : 17 กันยายน 2550 23:06:48 น. 0 comments
Counter : 5717 Pageviews.

TheShadow
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ข่าวเศรษฐกิจไทย
ข่าวต่างประเทศ


ข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศ
ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ
ค้นคว้าข้อมูลทั่วไป
แหล่งเชื่อมโยงอื่นๆที่น่าสนใจ
Friends' blogs
[Add TheShadow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.