หวานเย็นผสมโซดา | รวิวารี | Mahal Kita | NamPhet
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
14 พฤศจิกายน 2556
 
All Blogs
 
สรุปคำตัดสินศาลโลก ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

สรุปคำตัดสินศาลโลก ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖



   มติเอกฉันท์ “ศาลโลก” พิพากษาไทยแพ้คดีพระวิหาร รับมีอำนาจวินิจฉัยคำพิพากษาปี ๒๕๐๕ ชี้พื้นที่บริเวณโดยรอบปราสาทอยู่ในเขตอธิปไตยกัมพูชาเช่นเดียวกับตัวปราสาทฯ สั่งไทยถอนกำลังทหาร-ตำรวจ ออกจากพื้นที่พิพาท เตือน ประเด็นพื้นที่ ๔.๖ ตร.กม. ให้ ๒ ประเทศร่วมประชุมหารือจัดการพื้นที่ร่วมกันหลังขึ้นเป็นมรดกโลก ท่ามกลาง “ยูเนสโก” เข้ามาควบคุมดูแล ด้าน “ทูตวีรชัย” เผยกัมพูชา ไม่ได้รับพื้นที่ ๔.๖ ตร.กม.ตามคำขอในสำนวน ได้เพียงพื้นที่แคบ ๆ รอบปราสาทและศาลไม่ได้ชี้ขาดเรื่องเส้นเขตแดน ด้านนายกฯฮุนเซน ได้ทีไล่บี้ไทยถอนกำลังทหาร ขณะที่นายกฯปู จัดทีมเจรจา ยืนยันปกป้องอธิปไตยเต็มที่

   เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๑๑ พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ องค์คณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน ๑๗ คน ได้อ่านคำพิพากษา กรณีกัมพูชายื่นขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ โดยมีคณะของกัมพูชา และคณะฝ่ายไทยนำโดย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม นายวีรชัย พลาศรัย ในฐานะตัวแทนไทยดำเนินการทางกฎหมายปราสาทพระวิหาร พร้อมทีมงานเข้าร่วมรับฟัง

   นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลโลก กล่าวความเป็นมาของคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ระบุว่า กัมพูชาได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ ๘ มิ.ย. ๒๐๑๑ อ้างถึงมาตรา ๖๐ และ ๙๘ ของธรรมนูญศาล และ ร้องขอให้ศาลตีความปราสาทพระวิหาร วันเดียวกันกัมพูชาอ้างมาตรา ๙๖ และ ๗๓ ของศาล ขอให้มีมาตรการชั่วคราวเพราะมีการล่วงล้ำของประเทศไทยเข้าสู่ดินแดนกัมพูชา ต่อมาศาลมีมาตรการชั่วคราวให้แก่ทั้งสองฝ่ายในปี ๒๐๑๑

   โดยจะขอเริ่มต้นอ่านคำพิพาษาในวรรคที่ ๑๔ ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเงื้อมผาเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นพรมแดนสองประเทศคือ กัมพูชาตอนใต้ และไทยตอนเหนือ ในเดือน ก.พ. ๑๙๐๔ กัมพูชาอยู่ใต้อารักขาของรัฐฝรั่งเศส ที่เทือกเขาพนมดงรักเป็นไปตามสันปันน้ำ ซึ่งเป็นไปตามการประกาศของคณะกรรมการเตรียมการ เรื่องงานที่เสร็จสิ้นคือ การเตรียมการและตีพิมพ์เผยแพร่แผนที่ที่ได้รับ ซึ่งภารกิจนั้นมอบให้เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส ๔ นาย ต่อมาในปี ๑๙๐๗ ทีมก็ได้เตรียมแผนที่ ๑๗ ระหว่าง อินโดจีนกับไทย และมีแผนที่ขึ้นมา มีคณะกรรมการปักปันระหว่างอินโดจีนกับสยาม ทำให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา หลังจากที่กัมพูชาประกาศอิสรภาพ ปี ๑๙๕๓ ต่อมาประเทศไทยได้ยึดครองปราสาทในปี ๑๙๕๔ แต่การเจรจาไม่เป็นผล ปี ๑๙๕๙ กัมพูชาร้องต่อศาล และไทยก็คัดค้านตามมา และศาลปฏิเสธการรับฟังของไทย และมีคำพิพาทเกิดขึ้นจริง ซึ่งเทือกเขาดงรักที่เรียกว่า แผนที่ภาคผนวก ๑ นั้น อยู่ในกัมพูชา โดยมีผลบังคับระหว่างรัฐประเทศตามที่กัมพูชากล่าวอ้าง แต่ในแง่การมีผลผูกพันเหตุการณ์ระหว่างสองประเทศต้องยืนยันตามสันปันน้ำ

   ศาลพูดถึงข้อปฏิบัติการในคำพิพากษา ตัดสินว่า พระวิหารอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา และไทยมีผลผูกพัน หรือในบริเวณข้างเคียง และมีพันธกรณีที่ต้องนำวัตถุทั้งหลายที่ได้นำออกไปให้นำส่งคืน หลังจากมีคำพิพากษา ๑๙๖๒ ไทยก็ได้ถอนกำลังออกจากพระวิหาร และมีการทำรั้วลวดหนาม หลังจากที่เป็นไปตามมติครม.ของไทยในวันที่ ๑๑ ก.ค. ๑๙๖๒ แต่ไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่

   ทั้งนี้ ศาลระบุว่า กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาหลังจากที่คำพิพากษา เป็นต้นมา ในมุมมองของไทยคือ ได้ออกจากบริเวณปราสาทและไทยได้กำหนดฝ่ายเดียวว่า เขตพระวิหารอยู่ที่ใดซึ่งตามคำพิพากษาในปี ๑๙๖๒ ได้กำหนดตำแหน่งเขตปราสาท ที่ไทยต้องถอนและได้จัดทำรั้วลวดหนาม ปราสาทไม่ได้เกินไปกว่าเส้นกำหนดตามกัมพูชาประท้วงว่า ไทยถอนกำลังออกไปนั้นก็ได้ยอมรับว่า ปราสาทเป็นของกัมพูชาจริง แต่กัมพูชาได้ร้องว่า ไทยสร้างรั้วรุกไปในดินแดนกัมพูชาซึ่งไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลและในมุมมองของกัมพูชาต้องการเสนอยูเนสโก แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองมีข้อพิพาทในความหมายและขอบเขตในคำพิพากษาปี ๑๙๖๒ จริง

   ทั้งนี้ ศาลระบุว่า กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาหลังจากที่คำพิพากษา เป็นต้นมา ในมุมมองของไทยคือ ได้ออกจากบริเวณปราสาทและไทยได้กำหนดฝ่ายเดียวว่า เขตพระวิหารอยู่ที่ใดซึ่งตามคำพิพากษาในปี ๑๙๖๒ ได้กำหนดตำแหน่งเขตปราสาท ที่ไทยต้องถอนและได้จัดทำรั้วลวดหนาม ปราสาทไม่ได้เกินไปกว่าเส้นกำหนดตามกัมพูชาประท้วงว่า ไทยถอนกำลังออกไปนั้นก็ได้ยอมรับว่า ปราสาทเป็นของกัมพูชาจริง แต่กัมพูชาได้ร้องว่า ไทยสร้างรั้วรุกไปในดินแดนกัมพูชาซึ่งไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลและในมุมมองของกัมพูชาต้องการเสนอยูเนสโก แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองมีข้อพิพาทในความหมายและขอบเขตในคำพิพากษาปี ๑๙๖๒ จริง

   โดยข้อที่ ๑ ศาลเข้าใจว่า ปราสาทอยู่ในดินแดนกัมพูชา ท้ายที่สุดศาลก็ได้ดูเรื่องปัญหาที่สองฝ่ายเห็นต่างคือ พันธกรณีการถอนกำลังออกจากปราสาท ในดินแดนของกัมพูชา และให้ข้อพิพากษาเรื่องการสื่อสารการเข้าใจของสองประเทศในการนำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลกและการปะทะแสดงว่า มีความเข้าใจที่แตกต่างกันจริง คำพิพากษามีความสำคัญ ๓ แง่ คือ คำพิพากษาไม่ได้ตัดสินว่า มีข้อผูกพันเป็นเขตแดนระหว่างสองประเทศหรือไม่ ๒.มีความสัมพันธ์กรณีความหมายและขอบเขตของวลีที่ว่า บริเวณใดเป็นของกัมพูชา และ ๓.มีข้อพิพาทในกรณีให้ไทยถอนกำลัง คือ เป็นไปตามข้อปฏิบัติข้อที่สอง

   เมื่อกัมพูชาได้ร้องขอ ศาลจึงรับคำร้องขอของกัมพูชา ศาลเห็นว่ามีข้อพิพาทของทั้งสองฝ่าย ตามข้อ ๖๐ ของธรรมนูญศาล ด้วยเหตุนี้ศาลจึงมีอำนาจรับไว้พิจารณา ศาลจึงคำนึงถึงข้อ ๖๐ ทำให้ขอบเขตมีความชัดเจนขึ้น ด้วยเหตุนี้ศาลจึงต้องดูอยู่ภายใต้ขอบเขตเคร่งครัด ไม่สามารถหยิบเรื่องที่ได้ข้อยุติไปแล้ว ดังนั้น การพิจารณาขอบเขตและความหมายจึงยึดถือข้อปฏิบัติที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยได้ต่อสู้ว่า หลักการกฎหมาย ห้ามไม่ให้ศาลตีความเกินการตีความในปี ๑๙๖๒ และได้ถูกกล่าวย้ำในข้อต่อสู้ของคู่ความ อย่างไรก็ตาม ศาลไม่สามารถตีความที่ขัดแย้งกับคำพิพากษาในปี ๑๙๖๒ ได้ และกัมพูชาเห็นว่า ข้อสรุปในปี ๑๙๖๒ ทำให้เห็นว่า ศาลได้วินิจฉัยประเด็นต่าง ๆ ตามข้อวินิจฉัยในปี ๑๙๖๒ และขณะนั้นได้ใช้ข้อ ๗๔ เป็นข้อบังคับในขณะนั้น ซึ่งไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา และบทสรุปเป็นเพียงบทสรุปของคำวินิจฉัย ไม่ถือเป็นปัจจัยที่มีผล กระทบต่อหลักปฏิบัติ

   ประเทศไทยยังได้กล่าวอ้างถึงพฤติกรรมของปี ๑๙๖๒ และเดือน ธ.ค. ๒๐๐๘ ที่มีเหตุการณ์ปะทุขึ้นมา คำพิพากษาไม่ถือว่า เป็นสนธิสัญญา หรือตราสารที่ผูกพันคู่ความ การตีความที่อาจจะมีผลกระทบกับพฤติกรรมต่อ ๆ ไป ดูได้จากสนธิสัญญา ณ กรุงเวียนนา การตีความจะดูว่าศาลได้พิพากษาอะไร ขอบเขตและความหมายไม่อาจที่จะเปลี่ยนแปลงไปของพฤติกรรมของคู่ความ และการตีความศาลจะไม่พิจารณาในประเด็นนั้น มีลักษณะ ๓ ประการในคำพิพากษา ๑๙๖๒

   ๑. พิจารณาว่า เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของที่ตั้งปราสาทพระวิหาร และศาลไม่มีหน้าที่ปักปันเขตแดน ศาลจึงกลับไปดูคำพิพากษา ๑๙๖๒ โดยดูในคำคัดค้าน ว่า เป็นเขตอำนาจอธิปไตยมากกว่าเขตแดน ดังนั้น ข้อเรียกร้อง ๑-๒ ของกัมพูชาในภาคผนวก ๑ ศาลจะรับเท่าที่เป็นเหตุ โดยไม่มีการกล่าวถึงภาคผนวก ๑ หรือสถานที่ของเขตแดน ไม่มีการแนบแผนที่ในคำพิพากษา ประเด็นต่าง ๆ ที่คู่ความได้กล่าวอ้างก็มีความสำคัญในการกำหนดเขตแดน

   ๒.แผนที่ภาคผนวก ๑ ประเด็นที่แท้จริงคือ คู่ความได้รับรองแผนที่ภาคผนวก ๑ และเส้นแบ่งเขตแดน ที่เป็นผลจากคณะกรรมการปักปันเขตแดน และมีผลผูกพันหรือไม่ ศาลได้ดูพฤติกรรมของคู่ความในการเสด็จของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไปเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารก็เหมือนการยอมรับโดยอ้อมของสยามในอธิปไตย ถือเป็นการยืนยันของประเทศไทยในเส้นแบ่งแดนภาคผนวก ๑ ในปี ๑๙๐๘ และ ๑๙๐๙ ยอมรับในแผนที่ และยอมรับว่า เส้นแบ่งเขตแดนเป็นเส้นแบ่งเขตแดนที่นำไปสู่การยอมรับว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ในกัมพูชา ทำให้แผนที่ภาคผนวกอยู่ในสนธิสัญญา จึงเห็นว่าการตีความสนธิสัญญาจึงต้องชี้ขาดว่า เขตแบ่งตามแผนที่ ๑

   ๓. ศาลมีความชัดเจนว่า ศาลดูเฉพาะบริเวณรอบปราสาทฯ เท่านั้น ซึ่งเป็นบริเวณที่เล็กมาก และในปี ๑๙๖๒ กัมพูชากล่าวว่า ขอบเขตพิพาทนั้นเล็กมาก และถ้อยแถลงอื่น ๆ ก็ไม่มีอะไรขัดแย้งกันในปี ๑๙๖๒ และทันทีหลังจากมีคำพิพากษา ศาลได้อธิบายว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ทางตะวันออกของเทือกเขาดงรัก ในทางทั่วไปถือว่า เป็นเขตแดนของทั้งสองประเทศ ศาลเห็นว่าปราสาทอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา แต่ต้องกลับมาในบทปฏิบัติการ ๒ และ ๓ ที่เห็นว่า ผลของคำพิพากษาที่ ๑ ตำรวจที่ปฏิบัติการในปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียงไม่มีการพูดถึงการถอนกำลัง และไม่มีการกล่าวถึงว่า หากถอนกำลังต้องถอนไปที่ใด พูดเพียงปราสาทและบริเวณใกล้เคียง ไม่มีการกำหนดว่า เจ้าหน้าที่ใดของไทยต้องถอน พูดเพียงว่าเจ้าหน้าที่ที่เฝ้ารักษาการณ์หรือดูแล ศาลจึงเห็นว่าจะต้องเริ่มจากดูหลักฐานที่อยู่ต่อหน้าศาล และพยานหลักฐานเดียวคือ พยานหลักฐานที่ฝ่ายไทยได้นำเสนอ ซึ่งได้มีการเยือนไปยังปราสาทในปี ๑๙๖๑ แต่ในการซักค้านของฝ่ายกัมพูชา พยานเชี่ยวชาญของไทยบอกว่า มีแค่ผู้เฝ้ายาม ๑ คน และตำรวจ มีการตั้งแคมป์ และไม่ไกลมีบ้านพักอยู่ และทนายฝ่ายไทย กล่าวว่า สถานีตำรวจอยู่ทางใต้ของแผนที่ภาคผนวก ๑

   ต่อมาปี ๑๙๖๒ กัมพูชาได้เสนอข้อต่อสู้ว่า จะต้องใช้เส้นสันปันน้ำในการปักปันเขตแดน แต่ศาลเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องใช้สันปันน้ำ ซึ่งฝ่ายไทยเห็นว่า สำคัญ เพราะการแบ่งเส้นต่าง ๆ มีความใกล้เคียงกันสันปันน้ำ การที่สถานีตำรวจตั้งใกล้สันปันน้ำ เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อศาลสั่งให้ไทยถอนกำลัง ก็น่าจะมีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ตามคำเบิกความของไทย เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่า มีเจ้าหน้าที่อื่นใด จึงเห็นว่าควรยาวไปถึงสถานที่ตั้งมั่นของสถานีตำรวจ เส้นแบ่งเขตแดนตามมติ ครม. จึงไม่ถือว่า เป็นเส้นแบ่งเขตแดน ศาลจึงเห็นว่า ชัดเจนมากตามภูมิศาสตร์ ที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้มีหน้าผาที่ชัน และตะวันตกเฉียงเหนือก็เป็นที่ที่อยู่ในเทือกเขาดงรัก หุบเขาทั้งสองนี้เป็นช่องทางที่กัมพูชาสามารถเข้าถึงปราสาท ดังนั้น การทำความเข้าใจใกล้เคียงพระวิหาร ศาลจึงเห็นว่า เขตแดนกัมพูชาทางเหนือไม่เกินเส้นแบ่งเขตแดนตามภาคผนวก ๑ และไม่ได้ระบุระยะที่ชัดเจน

   ศาลสรุปว่าชะโงกหน้าผาที่อยู่เหนือแผนที่ภาคผนวก ๑ อยู่ภายใต้อธิปไตยกัมพูชา และศาลถือเป็นหัวใจของข้อขัดแย้งครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องดำเนินการตามพันธกรณีด้วยความเคารพ ทั้งนี้กัมพูชามีอธิปไตยเหนือพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ดังนั้น ไทยยังมีพันธกรณีถอนกำลังทหาร ตำรวจ ออกจากบริเวณเหล่านั้นกัมพูชาและไทย ต้องคุยกันเองโดยมียูเนสโก ควบคุมในฐานะมกดกโลก ภายใต้บริเวณนี้ ขอสรุปว่ากัมพูชามีอำนาจเหนือชะโงกหน้าผา ไทยต้องถอนกำลังทหารในพื้นที่เหล่านั้น

   ด้วยเหตุเหล่านี้ ศาลมีมติเอกฉันท์ การขอตีความคดีของกัมพูชา ศาลมีอำนาจรับฟ้อง คำพิพากษา ๑๕ มิ.ย. ๑๙๖๒ พิพากษา กัมพูชามีอธิปไตยในดินแดนทั้งหมดเหนือปราสาทพระวิหาร ไทยต้องถอน กำลัง ทหาร ตำรวจ และกำลังอื่น ทั้งหมดออกจากบริเวณดังกล่าว

   ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลโลกได้ใช้เวลาอ่านคำพิพากษาเป็นเวลาประมาณ ๕๓ นาที

   ต่อมา นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร แถลงภายหลัง ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีคำพิพากษา คดีที่กัมพูชาได้ร้องขอให้ตีความคำพิพากษาเดิม กรณีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี ๒๕๐๕ โดยระบุว่า ๑. ศาลพิพากษาว่ามีอำนาจพิจารณาตีความคำร้องของกัมพูชา

   นายวีรชัย กล่าวอีกว่า ๒. ศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน โดยกัมพูชาไม่ได้รับ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร หรือ ๔.๗ ตารางกิโลเมตร หรือ ภูมะเขือ เว้นแต่บริเวณที่แคบมาก ๆ ซึ่งสองฝ่ายต้องหารือกัน ๓.ที่สำคัญมากคือศาลไม่ได้ระบุว่า แผนที่ ๑ ต่อ ๒ แสนตารางกิโลเมตรเป็นส่วนหนึ่งของคำตัดสินเมื่อปี ๒๕๐๕ ทั้งนี้ศาลโลกได้แนะนำให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันดูแลปราสาทพระวิหารในฐานะมรดกโลก

   ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า ผลการตัดสินของศาลโลกออกมาเป็นที่น่าพอใจของทั้งสองฝ่าย โดยไทยกับกัมพูชาจะหารือในคณะกรรมาธิการร่วมระดับทวิภาคีต่อไป

   ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. (ตามเวลาประเทศไทย) หรือราว ๑๒.๐๐ น. (ตามเวลาในกรุงเฮก) ศาลได้เปิดเผยรายละเอียดคำพิพากษาอย่างละเอียด เป็นภาษาอังกฤษ มีความยาว ๓๙ หน้าด้วยกัน โดยสามารถอ่านคำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่ //www.icj-cij.org/docket/files/151/17704.pdf

   สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเฮก ว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ไอซีเจ ของสหประชาชาติ ณ กรุงเฮก มีคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาเมื่อวันจันทร์ ว่า พื้นที่รอบ ๆ โบราณสถานปราสาทพระวิหารบนเขตแดนไทย เป็นของกัมพูชา

   โดยผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ปีเตอร์ ทอมกา กล่าวว่า องค์คณะผู้พิพากษามีมติเป็นเอกฉันท์ โดยอาศัยการตีความตามคำพิพากษาปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ของ ไอซีเจ ซึ่งระบุว่า กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ทั้งหมดของยอดแหลมเขาพระวิหาร ดังนั้นฝ่ายไทยจึงมีพันธกรณีที่จะต้องถอนกำลังทหาร ตำรวจ หรือหน่วยรักษาความปลอดภัยทั้งหมด ออกพ้นจากพื้นที่ดังกล่าว

   ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้ว ไอซีเจ หรือ ศาลโลก มีคำตัดสินว่าทั้งไทยและกัมพูชา ควรถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาท ซึ่งเป็นยอดแหลมอยู่เหนือหน้าผาในกัมพูชา แต่สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าจากฝั่งไทย ในที่สุดไทยและกัมพูชาสั่งถอนทหารหลายร้อยนายออกจากพื้นที่พิพาทในเดือน ก.ค. ๒๕๕๕ โดยนำเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยรักษาความปลอดภัยเข้าไปประจำการแทน

   รายงานระบุอีกว่า นายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ในศาลด้วยระหว่างการอ่านคำพิพากษา ได้กล่าวต่อบรรดาผู้สื่อข่าวภายหลังว่า เป็นคำตัดสินที่ดีมาก ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของ ไอซีเจ ในครั้งนี้มีผลผูกพันตามกฎหมาย และไม่สามารถยื่นอุทธรณ์คัดค้านได้

   สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สมเด็จ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ใจความว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินว่า กัมพูชาควรได้สิทธิอธิปไตยเหนือพื้นที่พิพาทโดยรอบปราสาทพระวิหาร และมีคำสั่งให้ไทยถอนกำลังออกจากพื้นที่บริเวณนั้น พร้อมระบุคำตัดสินของผู้พิพากษา ปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลโลกว่า “กัมพูชามีอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ ดังนั้น ไทยจึงต้องถอนกำลังทหาร ตำรวจ การ์ด และผู้ดูแลทั้งหมดออกจากพื้นที่โดยรอบตัวปราสาทพระวิหาร”

   ที่ทำเนียบรัฐบาล ตึกสันติไมตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงการณ์ผ่านรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ภายหลังที่ศาลโลกอ่านคำพิพากษาตีความกรณีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย กับ กัมพูชา จากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ว่า รัฐบาลเห็นว่าเป็นคำพิพากษาที่ให้ความสำคัญกับการที่ ๒ ประเทศจะต้องเจรจากันและมีหลายส่วนที่เป็นคุณกับประเทศไทย

   โดยมีประเด็นหลัก ๆ ดังนี้ ๑. ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของไทย และได้ตัดสินยืนยันที่จะตัดสินภายในขอบเขตของคำพิพากษาเดิมเมื่อปี ๒๕๐๕ ๒..ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของไทยโดยยืนยันว่าคำพิพากษาเดิมเมื่อปี ๒๕๐๕ นั้นไม่ได้ตัดสินเกี่ยวกับประเด็นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา เพราะเป็นประเด็นที่อยู่นอกเหนือจากคำพิพากษาเดิม ซึ่งหมายความว่าศาลไม่รับพิจารณาข้อเรียกร้องของกัมพูชาเหนือพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตรและที่สำคัญศาลไม่ได้ตัดสินว่าแผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒ แสนผูกพันกับไทย โดยผลของคำพิพากษาเมื่อปี ๒๕๐๕

   ๓.ศาลรับตีความในประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวกับพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทตามคำพิพากษาเดิมเมื่อปี ๒๕๐๕ โดยศาลอธิบายว่าเป็นพื้นที่ขนาดเล็กมาก ซึ่งกำหนดขึ้นตามสภาพภูมิศาสตร์ที่ประกอบขึ้นเป็นยอดเขาพระวิหาร โดยไม่ได้กำหนดเส้นเขตแดน และที่สำคัญไม่ร่วมพื้นที่ภูมะเขือ ซึ่งในส่วนของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทนี้ทั้ง ๒ ประเทศจำเป็นต้องหารือกันในรายละเอียดต่อไปโดยกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ ๔.ศาลได้แนะนำให้ความสำคัญกับการที่ทั้ง ๒ ฝ่ายจะร่วมมือกันในการอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทพระวิหารในฐานะที่เป็นมรดกโลก

   ดังนั้นรัฐบาลได้สั่งให้ทีมที่ปรึกษากฎหมายศึกษารายละเอียดและสาระสำคัญของคำพิพากษาเพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปประกอบพิจารณา ดำเนินการของรัฐบาลต่อไป ต่อจากนั้นไทยและกัมพูชาจะต้อองเจรจาหารือภายใต้กลไกที่มีอยู่ระหว่างทั้ง ๒ ประเทศเพื่อให้ได้ข้อยุติ ให้เป็นที่ยอมรับของทั้ง ๒ ฝ่าย และจะคำนึงถึงขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

   “ยืนยันว่า การดำเนินการของรัฐบาลจะรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง รวมทั้งเกียรติภูมิของชาติและความเป็นประชาคมอาเซียน พร้อมกันนี้รัฐบาลได้สั่งการและกำชับให้ฝ่ายทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังคงรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณชายแดน รักษาอธิปไตยและดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินขิงประชาชนในพื้นที่ เพื่อสันติภาพ สันติสุข และความสงบเรียบร้อย ดังนั้นทั้ง ๒ ประเทศจึงจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้ง ๒ ประเทศ” นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า ในวันที่ ๑๒ พ.ย.จะนำเอาผลการตัดสินของศาลโลกเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.).

   ข้อมูลจำเพาะ : กรณีพิพาทเขตแดนกลุ่มอาเซียน

   ข้อพิพาททางทะเลที่เกิดขึ้นกับชาติสมาชิกอาเซียน (สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) อยู่ที่เขตทะเลจีนใต้ ซึ่งมีหลายชาติไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และ บรูไน รวมไปถึงไต้หวันและชาติมหาอำนาจอย่างจีน ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนบางส่วนในหมู่เกาะและเกาะแก่งต่างๆ เช่น หมู่เกาะสแปรตลีย์ในเขตทะเลจีนใต้ ซึ่งมีรายงานว่า มีแหล่งทรัพยากรที่สำคัญอย่างน้ำมัน และ แก๊สธรรมชาติ รวมไปถึงการเป็นเส้นทางสัญจรทางทะเลที่สำคัญสำหรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ และพื้นที่ทำการประมง

   ชาติสมาชิกอาเซียนได้นำปัญหานี้เข้าสู่ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนมาแล้วทุกครั้ง เพื่อให้บรรลุซึ่งพันธกรณีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติทางทะเล ไม่ให้เกิดข้อพิพาทรุนแรงถึงขั้นการทำสงคราม โดยเฉพาะกับชาติมหาอำนาจอย่างจีน ซึ่งกำลังขยายแสนยานุภาพทางทะเล เช่น มีเรือบรรทุกเครื่องบินไว้ประจำการในกองทัพ เป็นการสร้างดุลแห่งอำนาจ อย่างไรก็ตาม ชาติสมาชิกอาเซียนก็ไม่เคยนำข้อพิพาททางทะเลนี้ขึ้นสู่การพิจารณาและตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ





ขอขอบคุณรายละเอียดข่าวจาก เดลินิวส์ นะคะ




Create Date : 14 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2556 19:08:21 น. 0 comments
Counter : 1515 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หวานเย็นผสมโซดา
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 34 คน [?]




คนขี้เหงา...เจ้าน้ำตา
ใช้ชีวิตเหว่ว้าบนโลกกว้าง
ท่ามกลางความวุ่นวาย...สบายดี
New Comments
Friends' blogs
[Add หวานเย็นผสมโซดา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.